รัฐธรรมนูญ ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน

ลดราคา!

฿225.00฿315.00


รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำผู้เขียน

บทที่ 1 ประวัติศาสตร์ข้อความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ

บทที่ 2 อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

บทที่ 3 การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย

บทที่ 4 ผู้ร่างเป็นอย่างไรก็ได้รัฐธรรมนูญอย่างนั้น

บทที่ 5 การสร้างคำอธิบายของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบกษัตริย์นิยม

ประวัติผู้เขียน

ประวัติการตีพิมพ์

บรรณานุกรม

ดรรชนี

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมบทความของปิยบุตร แสงกนกกุล ว่าด้วย “รัฐธรรมนูญ” และแนวความคิดของ “นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ” ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ และวารสาร ฟ้าเดียวกัน แล้วนำมาแก้ไขปรับปรุงใหม่ ที่ผ่านมาตำรับตำราเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญของนักวิชาการไทย ส่วนใหญ่มักจำกัดอยู่ที่การอธิบายเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ และที่ดีขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นการศึกษารัฐธรรมนูญ เปรียบเทียบของประเทศต่างๆ หรือประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางการเมืองของเรา

ทว่าต่างไปจากงานอื่นๆ ที่ผ่านมา งานของปิยบุตร แสงกนกกุลได้ชี้ชวนให้เราให้ความสำคัญและทำความเข้าใจต่อความหมายที่เป็นแก่นแกนของสิ่งที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญ” ในประวัติศาสตร์สังคมการเมืองของมนุษย์

หากกล่าวอย่างรวบรัดที่สุด โดยตัวของมันเองแล้ว รัฐธรรมนูญ ก็คือ การปฏิวัติ

ท่ามกลางพัฒนาการของรัฐสมัยใหม่ รัฐธรรมนูญถือเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อแตกหักกับระบอบการเมืองเก่าแล้วเข้าสู่ระบอบการเมืองใหม่

ในแง่นี้ รัฐธรรมนูญจึงเป็นผลงานรังสรรค์ของมนุษย์หรือ “ประชาชน” -มิใช่สิ่งที่พระเจ้าหรือผู้ปกครองอภิชนในสังคมเก่าประทานลงมาให้-อันแสดงออกซึ่งศักยภาพในการเป็นผู้ทรงอำนาจก่อตั้งรูปแบบการเมืองที่ตนปรารถนา

ดังนั้น เมื่ออาศัยข้อความคิดรัฐธรรมนูญเช่นนี้มาพิจารณาการเมืองไทยปัจจุบัน นักวิชาการหนุ่มแห่งนิติราษฎร์จึงเสนอว่า สิ่งที่สำคัญกว่าในการพิจารณาเรื่องรัฐธรรมนูญในสังคมไทย จึงไม่ใช่มุ่งจมไปยังการแสวงหารูปแบบองค์กรการเมืองหรือการออกแบบสถาบันการเมืองที่ “เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย” แต่คือการแสวงหา “ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นปมปัญหาหัวใจสำคัญแห่งยุคสมัยต่างหาก

ด้วยที่เกริ่นมาทั้งหมดข้างต้น จึงคงไม่เกินเลยไป หากเรา-ฟ้าเดียวกัน-จะ ภูมิใจนำเสนอว่า งานของปิยบุตร แสงกนกกุลเล่มนี้ จะเป็นฐานทางภูมิปัญญาหนึ่งให้แก่ “การเปลี่ยนผ่าน” ไปสู่ประชาธิปไตยของประชาชน ณ หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญแห่งยุคสมัยของสังคมนี้

ไปให้ถึงอำนาจปฐมสถาปนา

อำนาจสถาปนาแสดงถึงการแผ่ขยายแบบปฏิวัติของความเป็นไปได้ของมนุษย์ในการสร้างประวัติศาสตร์และการสรรสร้างสิ่งใหม่ ดังนั้น มันจึงเป็นกระบวนการสัมบูรณ์เด็ดขาดด้วย เมื่ออำนาจสถาปนาได้ดำเนินเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่อาจถูกหยุดยั้งได้ อำนาจสถาปนาไม่มีขีดจำกัด ตรงกันข้าม มันมอบความไร้ขีดจำกัดต่างหากข้อความคิดหนึ่งเดียวที่เป็นไปได้ของรัฐธรรมนูญ คือ ข้อความคิดหนึ่งเดียวที่เป็นไปได้ของการปฏิวัติ

Antonio Negri, Ilpoterecostituente: saggio

sulle alternative del modermo (1992)

“อำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญ” คืออะไร[1]

อำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญ คือ อำนาจแห่งการริเริ่ม อันไร้ขอบเขตข้อจำกัด และเป็นอิสระ เพื่อใช้ก่อตั้งระบอบการเมือง-ระบบกฎหมายขึ้นในห้วงเวลาที่ปราศจาก ระบอบการเมือง-ระบบกฎหมาย

ในห้วงเวลาที่ระบอบการเมืองหนึ่งก่อตั้งขึ้นและดำรงอยู่อย่างปกติ อำนาจปฐม สถาปนารัฐธรรมนูญจะไม่มีทางเกิดขึ้นและปรากฏกายได้ มันจะเผยโฉมออกมาให้เราเห็นก็ต่อเมื่อเกิดการทำลายระบอบการเมืองที่ดำรงอยู่ให้ดับสูญลงและก่อตั้งระบอบการเมืองใหม่ขึ้นแทนที่

ในยุคสมัยใหม่ ประชาชน คือ ผู้ทรงอำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญ หาใช่พระเจ้าหรือกษัตริย์ไม่ ประชาชนจึงเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจกำหนดระบอบการเมืองใหม่ขึ้นตามที่พวกเขาปรารถนา โดยแสดงออกในรูปของ “รัฐธรรมนูญ” ในนัยนี้เอง การสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับแรกทางประวัติศาสตร์ (la premiére constitution historique) ที่แท้จริง คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญโดยปราศจากเงื่อนไขใด

การกำเนิดรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของมนุษย์ใน การเป็นผู้ทรงอำนาจก่อตั้งระบบการเมืองการปกครอง นับตั้งแต่นี้ พระเจ้าหรือกษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้กำหนดรูปแบบการเมืองและความเป็นไปของชีวิตรัฐอีก รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรแสดงถึงการแตกหักในทางประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงจุดสิ้นสุดของระบอบเก่าและจุดเริ่มต้นของระบอบใหม่ เรื่องราวประสบการณ์ในระบอบแบบเก่าก็ดี ชีวิตรัฐในระบอบแบบเก่าก็ดี อำนาจของศาสนาก็ดี อำนาจของกษัตริย์ก็ดี อำนาจของผู้ปกครองในระบอบแบบเก่าก็ดี ทั้งหลายเหล่านี้ได้สิ้นสุดลง แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นระบอบใหม่ หากจะมีสิ่งใดตกค้างอยู่ สิ่งนั้นก็ต้องเป็นไปตามรูปการณ์ของระบอบใหม่

Dieter Grimm ศาสตราจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญชาวเยอรมันและอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสนอไว้ว่า รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่แท้จริงจะบังเกิดได้ ต้องอาศัยสังคมที่หลุดพ้นจากการครอบงำของศาสนาและกษัตริย์ ความคิดแบบศาสนาและกษัตริย์ไม่เปิดกว้างและไม่สนับสนุนให้ประชาชนได้ถูกเถียงถึงรูปแบบการเมืองที่พวกเขาปรารถนาได้ เพราะติด “เพดาน” เรื่องต้องห้ามตามแบบศาสนาและกษัตริย์ พูดง่ายๆ คือ ไม่สามารถคิดฝันได้สุดทางนั่นเอง

มีแต่รัฐที่ถูก secularized ออกจากทั้งสองเรื่องนี้เท่านั้นที่สามารถสร้างรัฐธรรมนูญ ในความหมายแบบสมัยใหม่ได้ระบอบประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่ไม่ได้ หากไม่จัดการ “ปลดแอก” ความคิดออกจากการครอบงำของสองสิ่งนี้

 

ผมได้เรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญครั้งแรกในปี 2541 สมัยอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี รศ. ดร. วิษณุ วรัญญู เป็นผู้สอน อาจารย์เป็นผู้ที่ทำให้ผมรู้จักข้อความคิดเรื่อง “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมก็หลงใหลข้อความคิดนี้จนกระทั่งผมไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสและมีโอกาสศึกษาค้นคว้างานทางทฤษฎีในภาษาต่างประเทศมากขึ้น ผมพยายามหาคำตอบว่า“รัฐธรรมนูญ” ที่เราท่องจำกันมาตลอดว่ามันคือกฎหมายสูงสุดนั้น เกิดจากอำนาจชนิดใด และเมื่อไรที่ “constitution” ถูกยกระดับให้กลายเป็นคำที่มีความหมายถึง “กฎหมายสูงสุด”

ยิ่งพอศึกษาประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของหลายประเทศเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยแล้ว ก็เกิดความสงสัยใคร่รู้ว่า ตกลงแล้ว ในระบอบการเมืองของไทย ใครคือผู้ทรงอำนาจสูงสุด และใครคือ “ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ”

วิกฤตการเมืองไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ได้เผยให้เห็นถึงความขัดแย้งอันเป็นรากฐานของสังคมการเมืองไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขนับตั้งแต่ปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ความขัดแย้งนั้น ได้แก่ ใครคือผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ใครคือผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจก่อตั้งระบอบการเมืองให้เป็นในลักษณะตามที่ตนต้องการ

ทว่าเราไม่เคยมีโอกาสถกเถียงอภิปรายอย่างเต็มที่โดยปราศจากเพดานข้อจำกัดว่าเราต้องการระบอบการเมืองแบบใด

เราละเลยประเด็นปัญหาอันเป็นรากฐานของสังคมการเมืองสมัยใหม่ที่ว่า ใครคือผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

เรามัวถกเถียงอยู่กับเรื่องการออกแบบสถาบันการเมือง การออกแบบระบบการเลือกตั้ง การสร้างองค์กรอิสระใหม่ๆ ขึ้นมาตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

เราถูกทำให้เชื่อว่าวงจรชีวิตรัฐธรรมนูญไทยวนเวียนอยู่กับ “วงจรอุบาทว์” รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ->มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ->รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ->ร่างรัฐธรรมนูญใหม่->มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง วนเวียน เช่นนี้เรื่อยมา จน “ติดกับ” ความคิดไปเสียแล้วว่านี่คือเรื่องปกติในสังคมการเมืองไทย

หากพิจารณาเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของตะวันตก อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยใช้เวลาไปกับการทำรัฐธรรมนูญเพื่อ “แก้ไข” ปัญหาที่ชนชั้นนำ จารีตประเพณีคิดว่าเป็นภัยของระบอบ รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือของการต่อสู้กันระหว่างพลังทางการเมืองของสองความคิด เรายังไม่เคยมีโอกาส “สถาปนา” รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยในความหมายที่แท้จริงเลย

 

หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากการรวบรวมข้อเขียน 4 ชุดที่ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “นิติศาสตร์เพื่อราษฎร” ใน มติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2557 ถึง 2 ตุลาคม 2558 ได้แก่ ข้อความคิดรัฐธรรมนูญ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างเป็นอย่างไรก็ได้รัฐธรรมนูญอย่างนั้น นอกจากนี้ ยังได้นำบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร ฟ้าเดียวกัน เรื่อง “การสร้างคำอธิบายของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบกษัตริย์นิยม” มารวบรวมไว้อีกด้วย

ผมขออนุญาตกล่าวขอบคุณ พี่โต้ง ฐากูร บุนปาน คุณสุวพงศ์ จั่นฝังเพชร และกองบรรณาธิการ มติชนสุดสัปดาห์ ที่เปิดโอกาสให้ผมได้เขียนคอลัมน์ในนิตยสาร ผมติดตามอ่าน มติชนสุดสัปดาห์มาตั้งแต่สมัยยังเรียนชั้นประถม 5 สมัยนั้นพ่อซื้อ มาอ่าน ผมก็ได้ตามอ่านไปด้วย จนกระทั่งปัจจุบันพ่อก็ยังคงรับหน้าที่ซื้อนิตยสารฉบับนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง และผมก็ต้องรออ่านหลังจากพ่ออ่านเสร็จเหมือนเมื่อครั้งผมยังเด็ก ผมเติบโตมากับมติชน ความคิดทางการเมืองและความรู้ที่ผมมีอยู่ทุกวันนี้ หลายส่วนได้มาจากการอ่าน มติชน เมื่อมีโอกาสได้เขียนคอลัมน์ลงใน มติชนสุดสัปดาห์ ผมจึงภูมิใจและดีใจมาก

ขอบคุณ พี่ปุ๋ ธนาพล อิวสกุล และพี่ต้อม ชัยธวัช ตุลาธน และกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่ตัดสินใจนำข้อเขียนของผมมารวมเป็นเล่ม และช่วยตรวจทาน ขัดเกลาต้นฉบับให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ผมเขียนงานชิ้นนี้ขึ้น เพราะต้องการทดลองกำหนด “วาระ” ใหม่ดูบ้าง หลายปีที่ผ่านมา เราทุ่มเทเวลาไปถกเถียงในประเด็นที่นักกฎหมายฝ่ายไม่เป็นประชาธิปไตยกำหนดสร้างขึ้น ในหลายประเด็นเป็นการบิดผันการตีความแบบศรีธนญชัย ในหลายประเด็นเป็นเรื่อง “เทคนิควิธี” ที่ถกเถียงไปคงไม่มีประโยชน์เท่าไรนักหากปัญหาเชิงระบอบโครงสร้างยังไม่ถูกแก้ไข

ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การนำเสนอเรื่องที่สะท้อนถึงโครงสร้างอุดมการณ์อาจเป็นประโยชน์กว่า เราเสียเวลากับการเดินตามเส้นทางที่พวกเขาขีดเส้นบังคับให้เราเดินมากจนเกินไปแล้ว

ไปให้พ้นจาก “วงจรอุบาทว์” รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ->ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ -> มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ->รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ->ร่างรัฐธรรมนูญ ใหม่ ->มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

ไปให้ถึงอำนาจปฐมสถาปนา

นี่คือ ศักยภาพของมนุษย์ในการสร้างประวัติศาสตร์

นี่คือ การเมืองของความเป็นไปได้

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

มีนาคม 2559

[1] “อำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญ” เป็นคำที่ ศ. ดร. เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดขึ้นเพื่อใช้แทนคำว่า pouvoirconstituantoriginaireเมื่อผมเห็นครั้งแรกก็รู้สึกชอบมาก เพราะเป็นคำที่กระชับ สวย และเก็บความได้ครบ จึงขออนุญาตนำคำนี้มาใช้

อ่านต่อ >>