ฟ้าเดียวกัน 2/3 : คนที่ตายใต้ฟ้าเดียวกัน

฿100.00


สินค้าหมดแล้ว

รหัสสินค้า: 9789749241394 หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

บทบรรณาธิการ

หาเรื่องมาเล่า

อัตลักษณ์ในกระแสโลกาภิวัตน์ ความลงตัวที่เป็นไป (ไม่) ได้ ?

เปิดตัว ‘กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์’ เปิด ความเป็นมาฯ อ่านใหม่อีกครั้ง

รายงานพิเศษ

การต่อสู้ของชาวมุสลิมเพื่อความอยู่รอดใน “ไทยภาคใต้”

ขอบฟ้าความคิด

อิสลาม : ความรุนแรง และการเมืองแห่งอภัยวิถี

สุชาติ เศรษฐมาลินี

ในกระแส

ขบวนการต่อต้านสงครามในอังกฤษกับชาวมุสลิม

ปิยะมิตร ลีลาธรรม

ทัศนะวิพากษ์

สิ่งที่ทำร้ายคนมากที่สุดคือรัฐ

เบเนดิคท์ แอนเดอร์สัน

คนที่ตายใต้ฟ้าเดียวกัน

ชัยวัฒน์สถาอานันท์

ข้อสังเกตต่อประเด็นทางศีลธรรม

มุกหอม วงษ์เทศ

มายาคติ มลายูมุสลิมในสังคมไทย

กองบรรณาธิการ

ข้อเสนอภาคประชาชนต่อสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้

กองบรรณาธิการ

แลมุสลิม ในโลกวรรณกรรมไทยร่วมสมัย

วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์

มุสลิมในการรับรู้ของคนไทย

อาสา คำภา, อรรคพล สาตุ้ม

“พลังประชาชนอย่างเดียวเท่านั้นที่จะชนะ”

เจริญ วัดอักษร

หน้าซ้ายในประวัติศาสตร์

ประกายไฟ ไม่ลามทุ่ง

กองบรรณาธิการ

คำแปลคำปราศรัยของสหายรับผิดชอบในพิธีก่อตั้งกองทหารปลดแอกประชาชนมุสลิมไทย

อ่านต่อ >>

คนที่ตายใต้ฟ้าเดียวกัน

เช้าวันพุธสุดท้ายของเดือนเมษายน 2547 เราก็เหมือนกับคนไทยเป็นจำนวนมากที่ต้องตื่นขึ้นมาพร้อมกับความกระอักกระอ่วนในความรู้สึกนึกคิดนานาประการ เมื่อได้ทราบข่าวการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธระหว่างทหาร ตำรวจ กับ “กลุ่มผู้ก่อการร้าย”

ตลอดทั้งวัน ผู้สื่อข่าวทยอยรายงานสถานการณ์สู้รบอย่างมีอารมณ์ ขณะที่ผู้คนรอบข้างต่างก็คอยเฝ้าติดตามความคืบหน้าจากจอแก้ว บางคนก็ก่นด่าเคียดแค้นอริราชศัตรู บางคนสับสนมึนงง บางคนก็ตื่นเต้นระทึกใจ บางคนอาจจะภาวนาอยู่ในใจเงียบ ๆ จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 5 เป็น 15 เป็น 20 เป็น 35 เป็น 50 กระทั่งถึงศพที่ 112 เป็น ตัวเลขสุดท้ายที่นับได้ในวันนั้น

หลังจากนั้น เราส่วนใหญ่ก็มีหน้าที่เพียงแค่คอยเสพข่าวการไล่ล่า โจรใต้และตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ฆ่ารายวันตามข่าวหน้าหนึ่งควบคู่ไปกับดัชนีขึ้นลงของตลาดหุ้น ทำอย่างนี้เป็นกิจวัตรจนกระทั่ง ความตายกลายเป็นสิ่งที่ชาชินสำหรับสังคมไทยไปเสียแล้ว แม้จะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกวัน แต่เราก็ ห่างเหิน” “ไม่รู้จักกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

ท่ามกลางภาวการณ์เช่นนี้ ในฐานะคนทำสื่อเล็ก ๆ และในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน คิดว่าสิ่งที่เราพอจะทำได้ คือการอุทิศพื้นที่ส่วนหนึ่งของวารสารเล็ก ๆ เล่มนี้เพื่อเป็นสื่อแทนความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นเราพยายามที่จะทำความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งขวนขวายหางานเขียน

จำนวนหนึ่งมาอ่าน หาโอกาสเดินทางไปที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา เพื่อสัมผัสกับสถานการณ์จริง ไปนั่งคุยกับญาติของผู้เสียชีวิต ผู้รู้บางท่าน และเพื่อนมิตรจำนวนหนึ่ง เข้าร่วมวงประชุมสัมมนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องบ้าง รวมทั้งจัดการสัมมนาของฟ้าเดียวกันเอง ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา

ระหว่างเส้นทางของการแสวงหาคำตอบ คำถามกลับยิ่งถาโถมเข้ามาไม่ขาดสาย ตั้งแต่ว่า

ใครเป็นใครในเรื่องที่เกิดขึ้น?

เบื้องหลังภาพปรากฏที่เราเห็นคืออะไร?

สิ่งใดคือแรงจูงใจให้มีปฏิบัติการเช่นนั้น?

มีเงื่อนไขปัจจัยใดบ้างเข้ามาเกี่ยวข้อง?

เราควรมีท่าทีต่อรัฐและอีกฝ่ายหนึ่งเช่นไร?

เราจะมีทางเลือกหรือข้อเสนออะไรได้บ้างหรือไม่?

และเหตุใดข้อเสนอทางเลือกที่เคยมีผู้หวังดีเสนอขึ้นมาจึงดูเหมือนไม่ได้การตอบรับจากสังคมเท่าที่ควร?

ฯลฯ

ร่องรอยการค้นหาส่วนหนึ่งของเราได้ปรากฏอยู่ใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับนี้แล้ว

นอกจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมก็ได้สูญเสียชีวิตที่ทรงคุณค่าไปอีกคนหนึ่ง นั่นคือ คุณเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ซึ่งถูกลอบสังหารณ สี่แยกบ่อนอก จ. ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 เรา – ฟ้าเดียวกัน – ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของคุณเจริญอย่างสุดซึ้ง และเพื่อร่วมระลึกถึงวีรภาพของนักต่อสู้แห่งบ้านบ่อนอกเราขอทำหน้าที่เป็นสื่อกลางถ่ายทอด ผลึกความคิดของเจริญ วัดอักษร ผ่านบทสัมภาษณ์ที่ยังไม่เคยตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อน พร้อมกับบทวิเคราะห์ เปิดขุมข่ายกลุ่มอิทธิพลเมืองประจวบฯเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจว่า ตลอดเส้นทางของนักอนุรักษ์คนหนึ่งของสังคมไทยจำเป็นที่จะต้องเผชิญกับอุปสรรคขวากหนามอะไรบ้าง ถึงแม้เราจะหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณเจริญ วัดอักษร จะเป็น ศพสุดท้ายภายใต้ฟ้าเดียวกันที่จะเสียชีวิตจากการออกมาปกป้องทรัพยากรของชุมชน แต่ถ้าหากว่าบ้านนี้เมืองนี้ยังไม่สามารถปรับโครงสร้างทางอำนาจให้ชุมชนมีอำนาจและความปลอดภัยพอในการทำงานแล้วเชื่อเหลือเกินว่าคุณเจริญจะไม่ใช่ ศพสุดท้ายอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับทุกเล่มที่ผ่านมา กว่าที่จะออกมาเป็นรูปเล่มนอกจากการทำงานของนักเขียน กองบรรณาธิการแล้ว ทุกความช่วยเหลือที่มีให้ เมื่อมีการร้องขอจากเพื่อนมิตรจำนวนมาก ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะขาดไม่ได้ ซึ่งเราต้องขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

…………..

อีกเรื่องหนึ่งที่กองบรรณาธิการ ฟ้าเดียวกัน จำเป็นต้องขอบอกกล่าวกับผู้อ่าน นั่นคือ นับตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไป ฟ้าเดียวกันขออนุญาตปรับราคาของวารสาร จากที่เคยเป็นฉบับละ 80 บาท เปลี่ยนเป็นฉบับละ 100 บาท ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลทางด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หวังว่านี่คงจะไม่เป็นการรบกวนท่านผู้อ่านมากนัก

ด้วยความล่าช้าของวารสาร (อีกเช่นเคย) ฉบับนี้ ทำให้มิตรทางความคิดความอ่านหลายท่านถึงกับติดต่อซักถามมาด้วยความห่วงใย กองบรรณาธิการคงต้องกล่าวขออภัยทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วย สำหรับสำนักพิมพ์เล็ก ๆ อย่างเรา เสียงไถ่ถามถึงของท่านนั้น ย่อมถือเป็นกำลังใจที่กระตุ้นให้เราสร้างสรรค์งานออกมาอีกต่อไป…ฉบับหน้าเราพบกันอีกอย่างแน่นอน ในวาระรำลึก 30 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย

อ่านต่อ >>