ฟ้าเดียวกัน 17/1 : ระบอบ(ที่ใหญ่กว่า)ประยุทธ์

฿250.00


สินค้าหมดแล้ว

รหัสสินค้า: 9786167667799 หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

บทบรรณาธิการ

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทัศนะวิพากษ์

ระบอบ (ที่ใหญ่กว่า) ประยุทธ์ : ข้อพิจารณาสถาบันกษัตร์และกองทัพในการเมืองไทย

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

พระบารมีมากล้นพ้นรำพัน : พระบรมราชานุสาวรีย์อุทยานราชภักดิ์กับปฎิบัติการซ่อมสร้างความทรงจำร่วมท่ามกลางวิกฤตศรัทธา

ประพันธ์ แจ้งกิจชัย

สถาบันที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมการศึกษาที่ใหญ่ยิ่ง : โต้บทวิจารณ์ “กษัตริย์กระฎุมพี”

ปวงชน อุนจะนำ

ยักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ : แนวคิดและพลวัตของศาลรัฐธรรมนูญในการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

นิตยสาร ปิตุภูมิ และ มาตุภูมิ กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรม และความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยในช่วงระหว่างทศวรรษ 2490-2500

ธิกานต์ ศรีนารา

“ยิงเป้า” มาตรา 17 : หนังสือพิมพ์ไทยกับการกลายเป็นลิงของผู้อ่านในวัฒนธรรมเชือดไก่ให้ลิงดู

อิทธิเดช พระเพ็ชร

ผู้นำสหภาพแรงงานไทยกับการเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง : จากรัฐประหาร 2549-รัฐประหาร 2557

นภาพร อติวานิชยพงศ์

อ่านต่อ >>

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” 

การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ 7 มีนาคม 2562
อ่านโดยนครินทร์ เมฆไตรรัตน์

เหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าต้องยุบพรรคไทยรักษาชาตินั้นเพราะการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นการล้มล้างหรืออาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในคำวินิจฉัยได้เอ่ยอ้างถึงระบอบดังกล่าวถึง 14 ครั้ง และนี่เป็นคำวินิจฉัยที่ต่อเนื่องจากพระราชโองการ “ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในเวลา 22.45 น. ของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ได้ออกมาหยุดยั้งการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อเวลา 09.10 น. ของวันเดียวกัน ซึ่งในประกาศดังกล่าวได้อ้างถึง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ถึง 2 ครั้ง

พระราชโองการดังกล่าวไม่เพียงแต่ทำให้ชื่อของอุบลรัตนต้องหลุดจากวงโคจรทางการเมืองเท่านั้นยังทำให้พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี และผู้สมัคร ส.ส. ทั้งระบบบัญชีรายชื่อและระบบเขตต้องถูกระงับสิทธิในการลงสนามการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 รวมถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกนับล้านคนที่ไม่มีสิทธิเลือกผู้แทนของเขาเอง

แต่สิ่งที่เราอาจจะต้องหยุดตั้งคำถามกันจริงๆ ว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ว่านั้นมีมาอย่างยาวนานจนถือเป็นราชประเพณีจริงๆ หรือไม่ หรือระบอบดังกล่าวต่อเนื่องจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่านการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 มาอย่างไร้รอยต่อจริงๆ หรือแท้จริงแล้ว “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” คือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของการเมืองไทยอย่างแท้จริง กล่าวคือ เมื่อมีการปฏิวัติสยาม 2475 เรามีพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 ที่กำหนดให้ “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” มาแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่กษัตริย์ ในรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่มีแม้จะเอ่ยถึงคำว่าประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เพราะคำว่าประชาธิปไตยในห้วงเวลานั้นหมายถึงระบอบสาธารณรัฐ ดังประกาศคณะราษฎร 3 วันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้ประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่า

คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึ่งได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา

แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับ “ถาวร” ที่ผ่านการปรองดองกันระหว่างคณะราษฎรกับคณะเจ้าคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475 ที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวอ้างนั้น ก็ไม่ปรากฏร่องรอยการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด

กว่าที่ระบอบดังกล่าวจะปรากฏขึ้นครั้งแรกก็ต้องรอถึง 17 ปี เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับรอยัลลิสต์ คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 มาตรา 2 ที่ระบุว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

นี่ไม่ได้เป็นเพียงการเขียนขึ้นลอยๆ แต่มาพร้อมกับการถวายคืนพระราชอำนาจให้กับกษัตริย์ เช่น บทบาทขององคมนตรีที่ทรงแต่งตั้งเองเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในหลายกรณี หรือการที่กษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชอัธยาศัย เป็นต้น

แต่ระบอบดังกล่าวก็กลับไปขัดแย้งกับคณะรัฐประหาร 2490 ที่ถืออำนาจจริงในตอนนั้น จึงนำมาสู่การรัฐประหาร 2494 เป็นการหยุด “การปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ไว้ชั่วคราวด้วยรัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495

กว่าที่คำว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” จะกลับมาอีกครั้งก็ต้องรอจนถึงรัฐธรรมนูญ 2511 และก็สะดุดไปอีกครั้งด้วยการรัฐประหารตัวเองของถนอม กิตติขจร ในปี 2514

นิยาม “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” กลับมาอีกในรัฐธรรมนูญ 2517 ที่แม้จะเกิดภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่โดยอุดมการณ์ก็ยังเป็นรอยัลลิสต์อยู่ ระหว่างนั้นมีการรัฐประหาร 2 ครั้งคือในปี 2519 และ 2520 แต่ระบอบดังกล่าวก็ยังอยู่

จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ที่ระบุในมาตรา 2 ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” นอกจากมีการเพิ่มเติมคำขึ้นมาแล้ว ในส่วนของเนื้อหายังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการถวายคืนพระราชอำนาจแก่กษัตริย์ ดังปรากฏในมาตรา 21 ว่าด้วยการสืบราชสมบัติ กล่าวคือแต่เดิมหลังปฏิวัติสยาม 2475 รัฐสภาเป็นส่วนหนึ่งที่ให้ความ “เห็นชอบ” ในการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ คงเหลือแต่การ “รับทราบ” ซึ่งถือเป็นความอิสระโดยสิ้นเชิงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และนี่เป็นวิถีปฏิบัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับนับตั้งแต่นั้นมา และถือได้ว่าเป็นการเข้าสู่อีกยุคหนึ่งของการที่ “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาจนถึงปัจจุบัน

นับแต่นั้นมาเราก็จะเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น เช่น ในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารได้ตั้งชื่อที่แสดงถึงจุดประสงค์อย่างชัดเจนว่าเป็น “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 ที่บอกว่า การแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น “เป็นการกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งก็เท่ากับว่าเป็นการปิดทางที่รัฐสภาทั้งหมดจะมีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง และกรณีล่าสุดในการยุบพรรคไทยรักษาชาติดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ทั้งหมดนี้ทำให้ต้องกลับไปสู่ข้อสรุปของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่สรุปไว้อย่างตรงประเด็นเมื่อ 23 ปีที่แล้วว่า

‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย (เฉยๆ) ที่ประมุขแห่งรัฐบังเอิญเป็นกษัตริย์ แต่เป็นระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบการ ปกครองอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป เป็นคำที่สะท้อนให้เห็นการดำรงอยู่คู่กันระหว่าง สองวัฒนธรรมการเมืองในลักษณะเดียวกับ Guided Democracy (ประชาธิปไตยแบบ มีการนำทาง) ของอินโดนีเซียในอดีต หรือ Socialism with Chinese Characteristics (สังคมนิยมที่มีลักษณะแบบจีน) ของจีนในปัจจุบัน

อ่านต่อ >>