โนโลโก้

ลดราคา!

฿405.00฿495.00


รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำขอบคุณ

บทนำ โยงใยแห่งยี่ห้อ

ไม่มีที่ว่าง

บทที่ 1 โลกติดยี่ห้อใบใหม่

บทที่ 2 ยี่ห้อขยายตัว โลโก้กลายเป็นดาวเด่นกลางเวทีได้อย่างไร

บทที่ 3 ทางเลือกนอกกระแส ตลาดวัยรุ่นกับการส่งเสริมความเจ๋ง

บทที่ 4 ติดยี่ห้อให้การเรียนรู้ โฆษณาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

บทที่ 5 เมื่อผู้หญิงมีบทบาท ชัยชนะของการตลาดอัตลักษณ์

ไม่มีทางเลือก

บทที่ 6 การระเบิดของยี่ห้อ แฟรนไชส์ในยุคซูเปอร์แบรนด์

บทที่ 7 ควบรวมและผนึกกำลัง การสร้างโลกแห่งธุรกิจในอุดมคติ

บทที่ 8 การเซ็นเซอร์ของบรรษัท ปราการปกป้องหมู่บ้านติดยี่ห้อ

ไม่มีงาน

บทที่ 9 โรงงานที่ถูกเขี่ยทิ้ง การผลิตที่ถูกลดคุณค่าในยุคซูเปอร์แบรนด์

บทที่ 10 การคุกคามและคนงานชั่วคราว จากงานที่ไม่ได้ค่าจ้างสู่เผ่าพันธุ์แห่งมนุษย์งานอิสระ

บทที่ 11 เพาะพันธุ์การทรยศ ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว

ไม่มีโลโก้

บทที่ 12 การป่วนทางวัฒนธรรม เมื่อโฆษณาถูกเอาคืน

บทที่ 13 ยึดถนนคืน

บทที่ 14 ความขุ่นเคืองคุกรุ่น การต่อต้านบรรษัทรูปแบบใหม่

บทที่ 15 แรงสะท้อนกลับของแบรนด์เทคนิคการรณรงค์โดยอาศัยยี่ห้อ

บทที่ 16 เรื่องเล่าของสามโลโก้ เครื่องหมายสวู้ช หอยเชลล์ และโค้งรูปตัวเอ็ม

บทที่ 17 นโยบายต่างประเทศในระดับท้องถิ่น เมื่อนักศึกษาและชุมชนร่วมวงต่อสู้

บทที่ 18 พ้นจากยี่ห้อ ข้อจำกัดของการเมืองที่มุ่งโจมตียี่ห้อ

บทสรุป บริโภคนิยมปะทะความเป็นพลเมือง การต่อสู้เพื่อคนของโลก

เชิงอรรถ

ภาคผนวก

รายชื่อหนังสืออ่านเพิ่มเติม

ดรรชนี

อ่านต่อ >>

เราควรทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวยึดวอลล์สตรีทในปี 2011 อย่างไร?’

นี่ไม่ใช่คำถามที่หนังสือ โนโลโก้ได้ถามเอาไว้ แต่คงไม่เกินเลยหากจะพูดว่า ผู้อ่านอาจเชื่อมโยงที่มาที่ไปของเหตุการณ์หรือทำความรู้จักสาแหรกของขบวนการที่เรียกตัวเองว่าOccupy Wall Street หรือขบวนการที่ถูกขนานนามว่าเป็นพวกต่อต้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในศตวรรษใหม่ได้ผ่านหนังสือเล่มนี้

นับตั้งแต่ โนโลโก้ ของ นาโอมิ ไคลน์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2000 นอกจากจะกลายเป็นหนังสือยอดนิยมในหมู่นักกิจกรรมทางสังคมและปัญญาชนนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่-ว่ากันว่าแม้แต่ผู้บริหารบรรษัทและนักการตลาดเองก็ควรต้องอ่าน-จนขายดีระดับเบสต์เซลเลอร์และได้รับการแปลถึง 15 ภาษาแล้ว ความนิยมในหนังสือเล่มนี้ยังก่อให้เกิดกระแสถกเถียงในหมู่นักวิจารณ์อย่างครึกโครม สื่อยักษ์ใหญ่ของโลกทุนนิยม อย่าง ดิอิโคโนมิสต์ถึงกับต้องออกนิตยสารฉบับ “โปรโลโก้” -Pro Logo : Why Brands Are Good For You-เพื่อตอบโต้และประกาศจุดยืนตรงกันข้าม จนกลายเป็นประเด็นวิวาทะร้อนแรงระหว่างนาโอมิ ไคลน์ กับผู้เขียนบทความใน ดิอิโคโนมิสต์และ คนอื่นๆ บนเว็บไซต์ชื่อดัง นักวิจารณ์บางคนถึงกับกล่าวว่า โนโลโก้คือคำประกาศของเครือข่ายนักกิจกรรมที่ชอบสร้างความปั่นป่วนให้กับการประชุมสุดยอดระดับโลก โดยผูกโยงข้อกล่าวหากับจังหวะเวลาที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาเผยแพร่ครั้งแรก นั่นคือ ภายหลังเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่ซีแอตเติลระหว่างการประชุมองค์การการค้าโลก (WTO) เพียงไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งเหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าวถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่มีอิทธิพลของการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ของบรรษัท (Anti Corporate Globalization Movement) หรือขบวนการความยุติธรรมโลก (Global Justice Movement)

ประเด็นดังกล่าวนี้เองที่นำไปสู่ความย้อนแย้งบางประการ กล่าวคือ ความสำเร็จในแง่ยอดขายบวกกับชื่อเสียงของการเป็นหนึ่งในผู้นำทางความคิดของการเคลื่อนไหว ทำให้ผู้เขียนคือ นาโอมิ ไคลน์ ถูกแปะฉลากจากฝ่ายที่คิดต่างบางกลุ่มให้เธอเป็น“โลโก้” หรือ “แบรนด์” ไปเสียเอง ยังไม่นับประเด็นที่หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งภายหลังได้ผลิตสินค้าในแบรนด์ชื่อ No Logo (ถึงแม้นาโอมิ ไคลน์จะไม่ต้องการรับผลประโยชน์ใดจากการใช้ชื่อดังกล่าวนอกจากค่าต้นฉบับหนังสือก็ตาม)

ไม่ว่าคำวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นแง่บวกหรือลบ การตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในพากย์ภาษาอังกฤษอีกครั้งในวาระครบรอบสิบปี นับเป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่า เนื้อหาของโนโลโก้ยังมีสาระร่วมยุคร่วมสมัย โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ของบรรษัท และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ขณะที่นาโอมิ ไคลน์เองก็ยังมีหนังสือที่เผยแพร่ตามหลังโนโลโก้มาอีกหลายเล่ม เธอกลายเป็นปัญญาชนคนดังและมีบทบาทอยู่ในแวดวงนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมใหม่เรื่อยมา รวมทั้งในการเคลื่อนไหวยืดวอลล์สตรีทอันโด่งดังซึ่งก่อตัวขึ้น ณ ใจกลางของระบบทุนนิยมการเงินเมื่อปี 2011

นาโอมิ ไคลน์ ได้แบ่งเนื้อหาของ โนโลโก้ออกเป็น 4 ภาค แต่ละภาคค่อยๆ ถักร้อยแง่มุมที่ลึกซึ้งของการสร้างตราสินค้าเข้ากับการเคลื่อนไหวตอบโต้โลกาภิวัตน์ของบรรษัท โดยเริ่มจากประวัติศาสตร์ของยี่ห้อ ด้วยการฉายให้เห็นภาพกว้างและ รายละเอียดของการสร้างแบรนด์ ที่ไม่ได้เป็นเพียงฉลากบอกชื่อเรียกผลิตภัณฑ์ แต่เป็นสิ่งผูกโยงอยู่กับกระบวนการแปรทุกอย่างให้เป็นสินค้า (commodification)ของระบบทุนนิยมที่ทำงานบนพื้นที่ระดับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของผู้คน จากนั้นจึงค่อยพาผู้อ่านไปสู่ข้อถกเถียงว่าแบรนด์จำกัดทางเลือกของสาธารณะอย่างไร ก่อนจะนำเสนอตัวอย่างที่เป็นทางออกของพลเมืองโลกในยุคโพสต์โมเดิร์น (คำที่ผู้เขียนใช้เรียกรูปแบบการตลาดและวิถีบริโภคในยุคปัจจุบัน) อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการเจาะลึกเรื่องราวที่ผู้บริโภคและผู้ใช้แรงงานลุกขึ้นมาต่อสู้กับบรรษัทข้ามชาติ ไม่ว่าจะด้วยการรวมกลุ่มเรียกร้องเพื่อทวงคืนสิทธิที่ควรได้ การรณรงค์เพื่อความเท่าทันการบริโภค การชุมนุมประท้วงอย่างบ้าคลั่ง หรือการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า การป่วนวัฒนธรรม

ไม่เพียงเปิดเผยให้เห็นว่า ทุนนิยมในยุคสมัยแห่งแบรนด์ หรือโลโก้ ได้แทรกซึมไปทั่วทุกอณูชีวิตประจำวันของผู้คน จนสามารถเปลี่ยนแปลงรสนิยม ทัศนคติ และการรับรู้ตัวตนได้อย่างแยบยล ในระดับโครงสร้าง โนโลโก้ได้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาล ในประเทศโลกที่สามเองคือผู้สนองตอบและมีบทบาทอย่างสูงต่อการรุกคืบของบรรษัทข้ามชาติ ทั้งการสร้างเขตอุตสาหกรรมส่งออก (Export Processing Zone) ที่เอื้ออำนวย ต่อการลงทุนเสรีอย่างไม่สนใจว่าแรงงานที่เป็นพลเมืองของตนจะมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานแค่ไหน หรือการที่รัฐบาลบางประเทศเลือกปกป้องบริษัทผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ด้วยการสังหารผู้นำการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นพลเมืองตนเองตลอดจนการเข้าแทรกแซง/ขัดขวางทำลายสหภาพแรงงาน เหล่านี้คือปฐมบทของการโยงใยเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก

เนื้อหาใน โนโลโก้คล้ายจะเสนอภาพให้เห็นว่า บรรษัทข้ามชาติมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลและพลเมืองในรัฐชาติหนึ่งๆ แต่ไม่ว่าคำตอบที่ถูกต้องที่สุดจะเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ โนโลโก้ได้ชี้ให้ผู้อ่านเห็นคือแนวโน้มที่ว่า การเป็นผู้บริโภคที่มีสำนึกต่อส่วนรวมไม่ใช่เรื่องง่าย และการเท่าทันการบริโภคจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้คนลุกขึ้นมาตั้งคำถามและเชื่อมโยงวิถีชีวิตประจำวันเข้ากับอิทธิพลของบรรษัทระดับโลก

ในระดับปัจเจก โนโลโก้ได้โยนประเด็นปัญหาหลายประการให้แก่ผู้อ่าน เป็นต้นว่า หากการสร้างตรายี่ห้อจะมีความหมายเพียงการเป็นผู้ช่วยสำหรับการเลือกบริโภคอย่างชาญฉลาด เราคงไม่เห็นเด็กวัยรุ่นผิวดำในชุมชนแออัดก่ออาชญากรรมเพียงเพื่อจะได้ครอบครองรองเท้าไนกี้รุ่นใหม่สักคู่ การเลือกซื้อตุ๊กตาเพื่อเป็นของขวัญตัวต่อไปอาจทำให้ผู้อ่านอดไม่ได้ที่จะกระหวัดคิดถึงฉากสะเทือนใจที่เกิดขึ้นกับโรงงานนรก หรือการกระตุกให้ผู้อ่านฉุกคิดว่าการเลือกซื้อแฮมเบอร์เกอร์ยี่ห้อดังระดับโลกสักชิ้นเป็นการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานที่เอารัดเอาเปรียบในอีกฟากโลกหรือไม่

คำถามที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ เส้นแบ่งระหว่างความเป็นผู้บริโภคเชื่องๆ กับความเป็นพลเมืองของโลกที่มีศักดิ์ศรีคืออะไร

ไม่ว่าปรัชญาจูจิตสึที่นาโอมิ ไคลน์ได้พูดถึงไว้ จะช่วยให้คนตัวเล็กๆ สามารถอาศัยความใหญ่โตของศัตรูโค่นตัวมันเองได้หรือไม่ ภาพการเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้โลกาภิวัตน์ของบรรษัทตามจุดต่างๆ บนโลกในรอบหลายปีที่ผ่านมา ตลอดจนตัวอย่างของการโต้กลับที่นำเสนอทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ อาจนำมาสู่การทำความเข้าใจคำพูดของผู้เขียนที่ว่าท้ายที่สุดประชาชนคือคนที่มีอำนาจและต้องเป็นผู้ลงมือกระทำการเปลี่ยนแปลง

อ่านต่อ >>

กระบวนการสี่ปีที่ใช้ในการผลิตหนังสือโนโลโก้นับตั้งแต่การคิดไปจนสำเร็จออกมาเป็นรูปเล่มถือเป็นช่วงเวลาที่สุขสดชื่นอย่างยิ่ง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ลำบากเสียเลย ฉันได้รับความช่วยเหลือ ความเข้าใจ และพึ่งพาความรู้ความสามารถของผู้คนรอบตัวมากมาย

ฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้หลุยส์ เดนนิส เป็นบรรณาธิการ ความเข้มแข็งทางสติปัญญาและความเชื่อมั่นส่วนตัวที่เธอมีต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดและสิทธิมนุษยชน ช่วยให้ประเด็นต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้เฉียบคมยิ่งขึ้น เธอยังช่วยตกแต่งขัดเกลาสำนวนภาษาให้สละสลวย เธอแปลงโฉมหนังสือเล่มนี้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ผู้ช่วยวิจัยของฉัน พอล่า ธีสเซน ได้ติดตามค้นหาข้อเท็จจริงและแหล่งข้อมูลที่คลุมเครือที่สุด กว่าสองปีที่เธอทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย รวบรวมสถิติตัวเลขต่างๆ ที่กลายเป็นตารางมากมายในหนังสือเล่มนี้ สกัดข้อเท็จจริงจากร้านค้าเครือข่ายจอมระแวดระวัง และขอข้อมูลที่ไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่จากหน่วยงานรัฐบาลทั่วโลก เธอยังเป็นผู้ค้นคว้ารวบรวมภาพประกอบ เป็นพลังที่ปลอบประโลม และเป็นเพื่อน ร่วมงานที่คอยช่วยเหลือตลอดการทำงานที่มักจะโดดเดี๋ยวนี้

บรู๊ชเวสต์วูด และเจนนิเฟอร์ บาร์กลีย์ ตัวแทนจากเวสต์วูดครีเอทีฟอาร์ทิสต์ยอมทำงานที่หลายคนมองว่ามีความเสี่ยงสูงด้วยความกระตือรือร้นและความตั้งใจจริงอย่างไร้ขีดจำกัด พวกเขาท่องไปในวงการหนังสือระดับโลกเพื่อเสาะหาผู้ที่มีจิตวิญญาณเดียวกัน ซึ่งก็คือเรแกน อาเธอร์และฟิลิปส์ กวิน โจนส์ ซึ่งไม่เพียงจัดพิมพ์ โนโลโก้เท่านั้น แต่ยังช่วยส่งให้หนังสือเล่มนี้ไปถึงฝั่งด้วย

ทีมงานที่ไม่ธรรมดาของสํานักพิมพ์นอปฟ์ แคนาดา เป็นทีมที่เปี่ยมด้วยมิตรภาพ อันอบอุ่นและความสุขุมมั่นคงไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรขึ้นก็ตาม ฉันขอขอบคุณไมเคิล โมแลนด์, นิกกี บาร์เร็ต, โนแอลล์ซิตเซอร์และซูซาน เบิร์นส์ รวมทั้งทีมบรรณาธิการมากความสามารถและทุ่มเท ที่ช่วยเพิ่มเติม ขัดเกลา และตรวจเช็กเนื้อหาข้อมูลทั้งดอริส โคแวน, เอลิสัน รีด และเดบราห์เวียตส์

ฉันรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของจอห์น ฮอนเดอริก บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของ โทรอนโตสตาร์อย่างมากที่ให้พื้นที่ฉันเขียนคอลัมน์ประจำตั้งแต่ฉันยังเป็นนักข่าวเด็ก ๆ ตลอดเวลาเกือบห้าปี พื้นที่นั้นช่วยให้ฉันพัฒนาความคิดและทำความรู้จักผู้คนซึ่งกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของหนังสือเล่มนี้ ทีมบรรณาธิการที่ โทรอนโตสตาร์ทั้งแครอลกอร์, แฮรูน ซิดดิก และมาร์ก ริชาร์ดสัน เป็นแรงสนับสนุนสำคัญตลอดเวลาที่ฉันไม่อยู่ และเป็นกำลังใจยามฉันหยุดเขียนคอลัมน์เพื่อทุ่มเทให้หนังสือเล่มนี้อย่างเต็มที่ในตอนแรกโนโลโก้เป็นเพียงบทความเกี่ยวกับการป่วนทางวัฒนธรรมที่ฉันเขียนให้ วิลเลจวอยซ์และ ฉันก็ต้องขอบคุณไมลส์ เซลิกแมน บรรณาธิการ วิลเลจวอยซ์กับความเฉียบคมของเขาและพอล โท บรรณาธิการ แซตเทอร์เดย์ในต์ที่ช่วยฉันด้วยการยึดเวลาปิดต้นฉบับ ช่วยคิดลีดข่าว และมอบหมายประเด็นข่าวที่มีแนวคิดเกี่ยวโยงกับ โนโลโก้รวมทั้งการเดินทางไปยังรูตล์ลอดจ์ ที่ช่วยให้ฉันเข้าใจแรงบันดาลใจในการสร้างดินแดนในฝันของแบรนด์ต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง

ฉันได้รับความช่วยเหลือด้านการค้นคว้าข้อมูลที่มีคุณค่าจากไอเดลลาสเตอริโน, สเตฟาน ฟิลิปา และมายา รอย ส่วนมาร์ก จอห์นสตัน ก็ช่วยฉันในลอนดอน เบิร์น จูกูโนส ที่มะนิลา และเจฟฟ์แบลลิงเจอร์ ที่จาการ์ตา มีผู้คนและองค์กรต่างๆ หลายร้อยแห่งที่มีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลของฉัน ส่วนหนึ่งต้องสละเวลางานปกติมาช่วยหาตัวเลข และข้อมูลให้ฉัน ทั้งแอนดรูว์ แจ็กสัน, จานิซนิวสัน, คาร์ลี สตัสโก, ลีอาห์ รูแมค, มาร์ก ฮอสเลอร์, แดน มิลส์, บ็อบ เจฟฟ์คอตต์, ลินดา ยานส์, ทริมบิสเซลล์, แลร์ดบราวน์ และที่สำคัญสุดเจอราร์ดกรีนฟีลด์ ข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีสีสันแสบๆ คันๆ เดินทางมาถึงทั้งทางไปรษณีย์และอีเมลโดยไม่ต้องร้องขอ ทั้งจากดัก ซอนเดอร์, เจสซี เฮิร์ช, โจอี้ สลิงเจอร์, พอล เว็บสเตอร์ และนางฟ้าแห่งโลกอิเล็กทรอนิกส์อีกนับไม่ถ้วนห้องสมุดหนังสืออ้างอิงแห่งโทรอนโต องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เว็บไซต์เฝ้าระวังบรรษัท เครือข่ายสมานฉันท์มากิลา นิตยสาร แบฟเฟลอร์นิตยสาร แอดบัสเตอร์สนิตยสารออนไลน์เอสซีเอชนิวส์ และกลุ่มรายชื่ออีเมล ทีเอโอคอลเล็กทีฟ ล้วนเป็นสิ่งที่ ประเมินค่าไม่ได้ในการเก็บข้อมูลของฉัน

ฉันยังอยากขอบคุณลีโอ แพนิตช์ และเมล วัตกินส์ ที่เชิญให้ฉันไปพูดในงานประชุมต่างๆ ซึ่งช่วยให้ฉันมีโอกาสทดสอบสมมติฐานตัวเองแต่เนิ่นๆ และขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่กองบรรณาธิการ ธีสแมกกาซีนสำหรับน้ำใจลกำลังใจ

เพื่อนและสมาชิกในครอบครัวหลายคนช่วยอ่านต้นฉบับ ให้คำแนะนำ และเพิ่มเติมข้อมูล ทั้งมิเชล แลนด์สเบิร์ก, สตีเวน ลูอิส, คีโอ แมคเลียร์, แคธีเจมส์ รวมทั้งบอนนี,ไมเคิล, แอนน์ และเซธ ไคลน์ ส่วนมาร์ก คิงเวลล์ ก็เป็นทั้งเพื่อนที่แสนดีและที่ปรึกษาผู้ชาญฉลาด ซารา บอรินส์ เป็นนักอ่านคนแรกและกระตือรือร้นที่สุดตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นข้อเสนอไปจนเป็นร่างต้นฉบับ และซาราคนนี้ยังยืนกรานหนักแน่นว่า โนโลโก้ ต้องมีการ จัดรูปเล่มที่สอดคล้องกับจิตวิญญาณของหนังสือ แนนซี่ ฟรายด์แลนด์, จอห์น มอนเตซาโน, แอนน์เบนส์ และราเชลล์ กีส ยืนเคียงข้างฉันในยามไม่มีที่ไป คุณปู่ฟิลิป ไคลน์ ผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นนักวาดการ์ตูนแอนิเมชั่นให้วอลต์ดิสนีย์ สอนบทเรียนชีวิตที่สำคัญแก่ฉันตั้งแต่ยังเด็กนั่นคือ จงมองหาความสกปรกที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความสว่างสดใสเสมอ

ที่ต้องขอบคุณอย่างที่สุดคือ อาวี ลูอิส สามีของฉัน ผู้ต้อนรับฉันด้วยกาแฟหนึ่งถ้วย และข่าวธุรกิจที่ตัดมาจากหนังสือพิมพ์ปีกใหญ่ทุกเช้าติดต่อกันหลายปี อาวีเป็นคู่คิดที่มีส่วนในการทำหนังสือเล่มนี้ทุกทางที่ทำได้ เขาอยู่จนดึกเพื่อช่วยคิดหาแนวคิดของหนังสือเป็นเพื่อนร่วมทางในการผจญภัยเพื่อเก็บข้อมูลหลายครั้ง ทั้งในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ชานเมืองไปจนถึงเขตการผลิตเพื่อส่งออกในอินโดนีเซีย ช่วยเรียบเรียงต้นฉบับด้วยความตั้งใจยิ่งในหลายขั้นตอน เพื่อ โนโลโก้ เขายอมให้ชีวิตของเราสองคนถูกหนังสือเล่มนี้ติดยี่ห้อให้เสรีภาพและอำนวยความสะดวกเพื่อที่ฉันจะอุทิศเวลาให้หนังสือเล่มนี้ได้อย่างเต็มที่

นาโอมิ ไคลน์

1999

อ่านต่อ >>