สยามยามเปลี่ยน (ไม่) ผ่าน

ลดราคา!

฿75.00


รหัสสินค้า: 9786167667096 หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำเสนอจากสยามเก่าสู่สยามใหม่ กับเงาอดีตที่ทาบทับ

ประจักษ์ ก้องกีรติ

มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน

ธงชัย วินิจจะกูล

2 แนวโน้มที่แยกแย้งของระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

เกษียร เตชะพีระ

เศรษฐศาสตร์ (ของ) การเมืองไทย : ความเหลื่อมล้ำกับภาษีทรัพย์สิน

ผาสุก พงษ์ไพจิตร

สิทธิเสรีภาพหลังทักษิณ” / “หลังอภิสิทธิ์

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์

ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

(จะ) 80 ปี ผ่านไปไวเหมือนโกหก

จากสยามเก่าสู่สยามใหม่ กับเงาอดีตที่ทาบทับ

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ปัญญาชนที่ไม่ถูกลืม

เมื่อครั้งที่ลูกศิษย์ลูกหาจัดพิมพ์หนังสือครบรอบ 60 ปีให้อาจารย์ชาญวิทย์ ปัญญาชนผ้าม่วงอย่างอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยเขียนในเชิงพยากรณ์ถึงชะตากรรม ของชาญวิทย์กับข้าพเจ้าอย่างตัดพ้อเอาไว้ว่าหากมองย้อนไปในระยะยาว หลังจากนี้ อีกสักสิบปียี่สิบปี คนก็คงลืมเราและผลงานของเรา ทั้งนี้ก็เพราะธรรมชาติของมนุษย์โดยเฉพาะก็มนุษย์สยาม มีจิตสำนึกไม่แม่นในเรื่องของอดีต

แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์ว่าคำพยากรณ์ดังกล่าวไม่จริง แม้ในส่วนที่พูดถึงความหลงลืมของมนุษย์สยามจะมีเชื้อมูลแห่งความจริงอยู่มากทีเดียว แต่อะไรๆ ในสยามประเทศก็เปลี่ยนแปลงไปมากมายเหลือเกินในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ จนกระทั่งอะไรที่ไม่เคยได้เห็น ก็ได้มาเห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้วดังที่อาจารย์ชาญวิทย์ได้สรุปรวบยอดเอาไว้อย่างคมคายลึกซึ้ง

ท่ามกลางทศวรรษแห่งความพลิกผันปั่นป่วน โกลาหลอลหม่านยิ่งกว่าสมัยบ้านเมืองของเราลงแดงเมื่อครั้ง 6 ตุลา 2519 ก็มีมนุษย์สยามพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย จำนวนมากได้เรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆที่หลั่งไหลพรั่งพรูออกมาจนตาสว่างและก่อเกิดเป็นจิตสำนึกในอดีตที่หนักแน่นและแม่นยำ จนก่อให้เกิดอาการประหวั่นพรั่นพรึงในหมู่ชนชั้นนำสยามเก่า ที่ตระหนกตกใจว่าสำนึกอดีตแบบยากล่อมประสาทที่ตนเองสร้างไว้ได้หลุดลอยจากการยึดกุมของตนเสียแล้ว จนอาจทำให้อำนาจนำที่ครอบงำสังคมมาหลายสิบปีดีดักก็อาจจะหลุดมือตามไปด้วย

ในสิบปีที่ผ่านมา ปัญญาชนชื่อชาญวิทย์ไม่ถูกลืม ทั้งตัวและผลงานยังคงยืนเด่นโดยท้าทายตรงกันข้ามกับการถูกหลงลืม เสียงของเขากลับดังขึ้น ตัวตนแจ่มชัดขึ้น ความคิด ความเห็น และความเคลื่อนไหวปรากฏอยู่ในที่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ หลายเรื่องหลายประเด็นก็สร้างผลสะเทือนในวงกว้าง เช่น เรื่องความขัดแย้งระหว่างไทยกัมพูชาในกรณีเขาพระวิหาร ที่ถูกโหมกระพือจากความขัดแย้งภายใน จนนำไปสู่ความบาดหมางกับประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่จำเป็นเลยแม้แต่น้อย มีการปลุกกระแสความเกลียดชัง และการก่อสงครามโดยสื่อและสิ่งที่เรียกว่าภาคประชาชนแต่อาจารย์ชาญวิทย์ก็สู้กับอคติด้วยความรู้ สู้กับความเกลียดโกรธด้วยการสร้างความเข้าใจ และความรัก ในสปิริตแบบคนยุคซิกส์ตี้ที่เคยผ่านการต่อต้านสงครามเวียดนาม ด้วยมอตโต้อันเก๋ไก๋ว่า “make love not war” มิวายก็ถูกใส่ร้ายป้ายสีด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณาชวนเชื่อที่ถนัดในการขายข่าวที่สร้างความเกลียดชังในสังคม โดยฝีมือของอดีตลูกศิษย์ตัวเองบ้าง อดีตเพื่อนอาจารย์ร่วมสถาบันบ้าง ที่มหัศจรรย์คือ เจ้าตัวไม่เคยถือโทษโกรธเคือง ไม่ขุ่นมัว และไม่เคยตอบโต้กลับ ซ้ำยังให้อภัยลูกศิษย์ที่โจมตีตัวเองอย่างเสียหายด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ

นับเป็นจิตใจที่ยิ่งใหญ่และเปี่ยมล้นไปด้วยความเป็นครูที่หาได้ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร เพราะผู้อาวุโสสยามส่วนใหญ่ที่พบเจอมักจะชอบเทศนาเรื่องการให้อภัย แต่ไม่เคยปฏิบัติได้จริง ชอบพูดเรื่องความเมตตา แต่ทำในทางตรงกันข้าม

อาจารย์ชาญวิทย์มีทั้งปัญญาและเมตตาให้กับคนรอบข้าง โดยไม่เคยเทศนา

ปัญญาชน (บริการ) สาธารณะ

ใน .. 2555 สังคมไทยมีปัญญาชนหลากวัย หลายประเภท ทั้งเนติบริกร รัฐศาสตร์บริการ มานุษยวิทยาพยากรณ์ ดาษดื่นจนกระทั่งเฟ้อ แต่ปัญญาชนแบบ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มีคนเดียว

ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน

ในห้วงยามที่สังคมไทยกำลังอยู่ในระยะที่เปลี่ยน (ไม่) ผ่าน เราได้เห็นปัญญาชน จำนวนมากหลงลืมที่จะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา มิหนำซ้ำกลับเป็นผู้เผยแพร่อวิชชาและมุสาวาจา โดยการสื่อสารข้อความอันเป็นเท็จ ปลูกฝังอคติและการโฆษณาชวนเชื่อ โหมกระพือสารแห่งความเกลียดชัง บิดเบือนประวัติศาสตร์ ซ้ำเติมเหยื่อผู้สูญเสีย รับใช้อำนาจและฉวยโอกาสทางการเมือง บางคนใส่ร้ายป้ายสีกระทั่งผู้บริสุทธิ์ ลูกศิษย์ มิตรสหาย และครูของตนเอง จนหาปัญญาชนที่คนรุ่นหลังจะเคารพนับถือและยกมือไหว้ได้อย่างสนิทใจในความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ และความกล้าหาญทางจริยธรรมแทบจะไม่มี

อาจารย์ชาญวิทย์เป็นหนึ่งในปัญญาชนที่ยืนหยัดอย่างมั่นคงท่ามกลางพายุลมแรง หากใช้คำของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็ต้องถือว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อนเป็นเสาหลักทางปัญญาให้ลูกศิษย์ลูกหาและกัลยาณมิตรได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง เป็นต้นไม้ใหญ่ให้ใครๆ ได้พักพิง เป็นเข็มทิศช่วยชี้แนะหนทางที่ควรเดิน นักศึกษา ปัญญาชน และนักกิจกรรม คนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้แสวงหาประชาธิปไตยและความเป็นธรรมตั้งแต่หลังเกิดการรัฐประหาร 2549 ได้พึ่งพาอาศัยผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อนคนนี้นับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลืออย่างเต็มใจจากครูคนนี้เสมอมา แม้ว่าบางครั้งเรื่องที่เคลื่อนไหวจะเป็นประเด็นที่แหลมคม ร้อนแรง และอ่อนไหวในสังคมสยามประเทศอย่างมาก เสี่ยงต่อการที่ทำไปแล้วจะงานเข้าแต่อาจารย์ก็ไม่เคยหลบเลี่ยงหรือปฏิเสธ หากเป็นเรื่องที่เห็นว่าเป็นการต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นธรรมและประชาธิปไตยให้มีขึ้นในสังคม อาจารย์เคยพูดกับลูกศิษย์จำนวนหนึ่งต่อเรื่องนี้ทำนองว่าผมอายุมากขนาดนี้แล้ว ผมไม่มานั่งกังวลหรอกว่า เขียนหรือทำอะไรแล้ว คนจะมาด่าผมอย่างไรบ้าง ผมทำในสิ่งที่อยากทำและเห็นว่ามัน ถูกต้อง

และแล้วงานก็เข้าอาจารย์ชาญวิทย์ไปหลายครั้ง แต่ครูคนนี้ก็ยังไม่ถอย

หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยทศวรรษ 2510 ที่เสนาคณาธิปไตยครองบ้านครองเมือง มาจนถึงยุคเผด็จการซ่อนรูปในทศวรรษ 2550 จะพบว่าเส้นทางชีวิตทางปัญญาของอาจารย์ชาญวิทย์คงเส้นคงวาอย่างประหลาดคือ เมื่อลงจากหอคอยงาช้าง แกไม่ได้เดินเข้าทำเนียบ ไม่วิ่งเข้าหาฝ่ายผู้มีอำนาจดังที่ปัญญาชนที่มีชื่อเสียงจำนวนมากกระทำ แต่เลือกที่จะรับใช้สังคมด้วยการบริการสาธารณะทางปัญญา ผ่านการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ วีดิทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การทำนิทรรศการ การจัดอภิปรายสัมมนา การจัดทัศนศึกษา อย่างสนุกและมีสาระ จนถ้าจะนับสถิติกันแล้ว ก็เชื่อได้ 100 เปอร์เซ็นต์เลยว่าไม่มีนักวิชาการในสังคมไทยคนไหนเป็นตัวตั้งตัวตีขยันทำงานบริการวิชาการสู่สาธารณชนได้ดีเท่าและมากเท่าอดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์คนนี้ ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรือในอนาคต (ขอพยากรณ์กับเขาบ้าง)

อาจารย์เครก เรย์โนลส์ (Craig Reynolds) นักประวัติศาสตร์ไทยอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับอาจารย์ชาญวิทย์ตั้งแต่สมัยอยู่ร่วมสำนักคอร์แนล และตอนนี้เกษียณอายุแล้วที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เคยพูดแบบขำๆ ให้ผมฟังว่าชีวิตชาญวิทย์คือชีวิตของการแคมเปญ ถ้าแกไม่ได้แคมเปญอะไร ชีวิตแกจะอยู่ไม่เป็นสุขพูดจบก็ชี้ให้ดูเสื้อยืดที่แกใส่มาในวันนั้น ซึ่งเป็นเสื้อฉลองการจัดงาน 30 ปี 14 ตุลาที่อาจารย์ชาญวิทย์ เป็นโต้โผจัดขึ้น แกยังบอกอีกว่าแกสะสมเสื้อรณรงค์ของชาญวิทย์ไว้เกือบครบ ไม่ว่าจะ เสื้อรณรงค์เรื่องย้ายธรรมศาสตร์ เปลี่ยนชื่อประเทศจากไทยเป็นสยาม เรื่องอาเซียน เรื่องเขาพระวิหาร ฯลฯ ผมเลยยุไปว่าน่าจะมีการจัดนิทรรศการเสื้อยืดเหล่านี้กันสักครั้งหนึ่ง

ปัญญาชนเสรีนิยม

หากจะกล่าวว่าปัญหาอย่างหนึ่งในสังคมไทยอยู่ตรงที่ว่า อุดมการณ์เสรีนิยมนั้นอ่อนแอก็เห็นจะได้ เราไม่มีกลุ่มปัญญาชนเสรีนิยมที่เข้มแข็งและต่อสู้เพื่อหลักการ อันเป็นคุณค่าว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่เป็นปัจเจกจะไม่ถูกจำกัดจากอำนาจรัฐ รวมทั้งจากชุมชน ปัจเจกภาพของมนุษย์ที่จะต้องได้รับการเชิดชู และความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลายในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่คนคิด เชื่อ และบูชาสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน (ที่เรียกกันอย่างขรึมขลังว่าขันติธรรม) ทีแรก การต่อสู้สมัย 14 ตุลา ดูเหมือนจะช่วยสร้างอุดมการณ์เสรีนิยมให้ก่อตัวขึ้นมาในสังคมสยาม แต่ไม่ช้าไม่นาน ปัญญาชนเสรีนิยมที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาก็ดูจะเปลี่ยนรูปแปลงร่างกลายเป็นอนุรักษนิยม เสนานิยม หรือกระทั่งไฮเปอร์รอยัลลิสต์กันไปเสียหมด เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ที่ปัญญาชนอาวุโสจำนวนมากของไทยสนับสนุนการรัฐประหาร ตุลาการภิวัฒน์ และการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ล้าหลังมาเป็นอาวุธทำลายคนที่เห็นต่างทางการเมือง

อาจารย์ชาญวิทย์เป็นคนส่วนน้อยในหมู่ปัญญาชนอาวุโสของไทย เป็น minority ของ minority ในความที่มีสปิริตแบบปัญญาชนเสรีนิยมเต็มเปี่ยม มีวิญญาณอิสรเสรี มีวิญญาณขบถอยู่ในตัว ชื่นชอบความแตกต่างหลากหลาย และปฏิเสธการใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆ มากดทับปิดกั้นการแสดงออกของปัจเจกชน นี่อาจจะเป็นผลพวงจากยุคซิกส์ตี้ของไทยบวกฝรั่ง ทำให้อาจารย์ชาญวิทย์ไม่นิยมสงคราม ไม่นิยมอำนาจแบบจารีต ไม่นิยมการครอบงำทางการเมืองของกองทัพ ไม่บูชาระบบอาวุโส หรือพิสมัยค่านิยมที่จัดลำดับคนในสังคมตามยศฐาบรรดาศักดิ์ หากมีความหวังกับพลังสร้างสรรค์ของคนหนุ่มสาว ให้ความสำคัญกับการต่อสู้ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เป็น counter culture ในขณะเดียวกันก็มีความอดทนอดกลั้นเป็นอย่างสูงต่อคนที่คิดแตกต่างจากตัวเอง

กล่าวได้ว่าอาจารย์ชาญวิทย์สืบทอดและรักษาอุดมการณ์รวมทั้งจิตวิญญาณแบบ 14 ตุลา ไว้ได้มากกว่าใครๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาชนรุ่นเดียวกัน หรืออดีตนักศึกษาสมัยนั้น ซึ่งเปลี่ยนสีแปรธาตุกันไปหมดแล้ว

ทั้งหมดนี้ทำให้อาจารย์ชาญวิทย์เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เหมือนผู้ใหญ่แบบฉบับมาตรฐานในสังคมไทย ที่พออายุมากขึ้นก็มักจะลงเอยเหมือนกันเกือบหมดคือ ดีกรีอนุรักษนิยมในตัวสูงขึ้น เทศนาธรรมถี่ขึ้น เริ่มหมดไฟ ไม่เป็นตัวของตัวเอง สยบยอมต่อระบบ ทำตัวหงอยๆ เหงาๆ และมีมาดแบบข้าราชการกันไปเสียหมด (ไม่ว่าจะรับราชการมาก่อนหรือไม่ก็ตาม) กล่าวคือ เจ้ายศเจ้าอย่าง มีพิธีรีตอง ทำตัวขรึมขลังเข้าถึงยาก และกดคนรุ่นเยาว์ไว้ด้วยอำนาจของความอาวุโส ประมาณว่าแก่ตัวแล้วมีฟอร์มแบบอธิบดีกรมหรือปลัดกระทรวงกันเกือบหมด แปลกตรงที่อาจารย์ชาญวิทย์ซึ่งรับราชการมาตลอดชีวิต (กรุงเทพมหานคร กระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) กลับไม่มีมาดแบบข้าราชการอาวุโส ใครที่เคยสัมผัสตัวเป็นๆของอาจารย์ย่อมประจักษ์ในความจริง ข้อนี้เป็นอย่างดี และเป็นที่ชื่นชมอย่างมากในหมู่คนรุ่นใหม่ที่อึดอัดกับท่านผู้ใหญ่ทั้งหลายในสังคมไทย

ปัญญาชนสยามใหม่ : ให้อดีตนำทางเราไป แต่อย่ากักขังเรา

ผลงานวิชาการที่รวมอยู่ในหนังสือฉลองวาระครบรอบ 70 ปีของอาจารย์ชาญวิทย์ ที่ทุกท่านกำลังถืออยู่นี้ เป็นประจักษ์พยานอย่างดีถึงความรอบรู้และความสนใจอันหลากหลายครอบคลุมประเด็นปัญหาในลักษณะที่ข้ามสาขาวิชา อาจารย์ชาญวิทย์เป็นปัญญาชนสยามหนึ่งในไม่กี่คนที่สนใจปัญหารอบด้านในลักษณะที่ไม่ยึดติดอยู่กับกรงขังของศาสตร์วิชาก่อนที่วงวิชาการไทยจะเห่อแนวคิดที่เรียกกันเท่ๆ ติดปากในปัจจุบันว่าสหวิทยาการเสียอีก ความซาบซึ้งดื่มด่ำทางวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมือง และการเมืองวัฒนธรรมร่วมสมัยปรากฏอยู่ในบทความทั้งห้าชิ้น ซึ่งผู้เขียนที่ประกอบไปด้วย บรรดาลูกศิษย์ลูกหา เพื่อนร่วมงาน และกัลยาณมิตรทางวิชาการได้ร่วมกันขบคิด อภิปราย และตอบโจทก์สำคัญอันท้าทายยุคสมัยที่ยังเปลี่ยน (ไม่) ผ่านของสยามประเทศ

สยามประเทศของเรายังอยู่ในยุคเปลี่ยน (ไม่) ผ่าน ก็เพราะเรายังอยู่กับกับดักที่เป็นมรดกตกทอดจากอดีต เงาจากอดีตนี้ยังทาบทับอยู่ในปัจจุบันสมัย เป็นเงาที่ทอดยาวยาวจนสามารถสืบสาวกลับไปได้ไกลถึงยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7) ดังที่บทความอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ชี้ให้เห็น ปัญหาว่าจะอยู่กับมรดกนี้อย่างไรไม่ใช่เรื่องที่จะหาหนทางกันได้ง่ายๆ เพราะมนุษย์สยามนั้นตีความอดีตไปคนละทาง และจินตนาการถึงอนาคตของสังคมไปคนละแบบ บทความของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ซึ่งอภิปรายปรากฏการณ์ที่เกิดสองแนวโน้มในการตีความระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแตกต่างกัน ช่วยชี้ให้เห็นการต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมร่วมสมัยอันคุเดือดเข้มข้น การต่อสู้ทางการเมืองที่ปะทุขึ้นมาในรอบหลายปีที่ผ่านมามีปัจจัยเชิงโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรองรับอยู่ หากไม่แก้ปมปัญหานี้ ก็มีโอกาสสูงที่ความรุนแรงจะระเบิดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ บทความของอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร วิเคราะห์ที่มาและพยายามเสนอหนทางเยียวยา นอกจากนั้นการต่อสู้ทางการเมืองที่ดุเดือดเลือดพล่านก็พ่นพิษทำให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนถูกกดทับปิดกั้น บทความอาจารย์อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ชี้ให้เห็นข้อมูลที่น่าตกใจว่า ประเทศไทยอันเป็นที่รักของเราได้ตกต่ำจนไปอยู่ในสถานะที่ใกล้เคียงกับประเทศอย่างเบลารุส พม่า จีน คิวบา และซาอุดิอาระเบียเสียแล้ว การเซ็นเซอร์ตัวเองและบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวดูจะถ่างกว้างขึ้น ชนชั้นนำของไทยเลือกที่จะปิดหูปิดตาปิดปากประชาชน โดยหวังว่าจะควบคุมระยะเปลี่ยนผ่านนี้ไปได้ตามใจปรารถนา ความพยายามนี้ได้รับความช่วยเหลือแบบเนียนๆ จากนักเขียนและกวีร่วมสมัยกลุ่มหนึ่งที่ใช้ความสามารถทางวรรณศิลป์มากลบเกลื่อนอาชญากรรมของรัฐ พร้อมกับสร้างความหมายเชิงลบให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง จนอาชญากรกลายเป็นวีรบุรุษ และเหยื่อกลายเป็นผู้ร้าย ปรากฏการณ์วรรณกรรมยุคเปลี่ยนผ่านนี้ได้รับการอภิปรายไว้อย่างพิสดาร ในบทความของอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

คำถามก็คือ ในยุคที่คนในสังคมเกิดจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่หลุดพ้นไปจากประวัติศาสตร์แบบราชาเสนานิยมหรือพูดง่ายๆ ว่าตาสว่างเสียแล้ว การปิดฟ้าด้วยฝ่ามือนี้จะทำได้อีกล่ะหรือ

ภาวะการอ้างสถานการณ์ไม่ปกติในสังคมไทยเพื่อที่รัฐจะใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนภาวะไม่ปกตินั้นถูกทำให้กลายเป็นปกติและความแปลกประหลาด อัปลักษณ์ กระทั่งวิปริตวิปลาสที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องไม่ประหลาด ที่ดูจะเป็นของคู่กันกับสยามในยุคเปลี่ยนผ่านจากเก่าไปสู่ใหม่ อันมีมาตรา 112 เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ชนชั้นนำสยามเก่านำมาใช้ แต่คำถามก็คือ ภาวะเยี่ยงนี้ จะอยู่ไปได้อีกนานเท่าไร ความอดทนอดกลั้น และความไม่ไว้วางใจกันจะหมดลงเมื่อไรรวมไปถึงคำถามที่ว่าละครเรื่องการปรองดอง (ซ่อนมีด)” ระหว่างชนชั้นนำสยามเก่ากับสยามใหม่จะปิดฉากลงอย่างไร

หนทางที่พลเมืองไทยจะได้ปลดปล่อยตัวเองไปสู่ความเสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพ ที่กอปรด้วยศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์จะเป็นไปได้โดยปราศจากความรุนแรงหรือไม่ นับเป็นคำถามที่ท้าทายแห่งยุคสมัย ในภาวะที่ระเบียบสังคมการเมืองแบบสยามเก่ากำลังจะมลายไป แต่สยามใหม่ก็ยังไม่จุติ และปีศาจกำลังอาละวาดอยู่นี้เสียงของอาจารย์ชาญวิทย์ยังกังวาน และส่องสะท้อนให้เราก้าวเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านแบบไม่ขลาด ไม่เขลา ไม่ขึ้นฝืนความเปลี่ยนแปลง แต่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรู้เท่าทันด้วยสำนึกประวัติศาสตร์ที่ส่องนำทางเราไป

อาจารย์ชาญวิทย์เดินทางมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัย 14 ตุลา (อายุ 32 ปี) จวบจนเหตุการณ์เมษาพฤษภามหาโหด 53 (69 ปี) และยังคงอยู่บนขบวนรถไฟสายประวัติศาสตร์นี้ร่วมไปกับทุกคนที่แสวงหาความจริง ความยุติธรรม และประชาธิปไตย

ประวัติศาสตร์สยามประเทศจะคลี่คลายไปอย่างไร ยังไม่มีใครรู้

เหมือนอย่างไม่เคย เหมือนจะไม่รู้ แต่อีกไม่นานเธอจะรู้ (เอง) เพราะเค้าลางของความเคลื่อนไหวได้ปรากฏอยู่รางๆ ที่ขอบฟ้าแล้ว ในระหว่างนี้ก็ครวญเพลงเพื่อชีวิตฝรั่งเพลงโปรดของอาจารย์ชาญวิทย์ที่เคยชักชวนนักศึกษาให้ร่วมกันร้องไว้ตั้งแต่สมัยก่อน การปฏิวัติ 14 ตุลา

“We Shall Overcome”

อ่านต่อ >>