การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง

ลดราคา!

฿115.00฿150.00


รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำบรรณาธิการ

มายาคติและการเมืองของนิทานสอนใจ ว่าด้วยความโง่ จน เจ็บ ของผู้เลือกตั้งชนบท

ประจักษ์ ก้องกีรติ

วาทกรรมเรื่องการซื้อเสียงและการปฏิรูปการเมืองในประเทศไทย

วิลเลียม เอ. คัลลาฮาน

ดาริน อินทร์เหมือน แปล

ธรรมนูญแห่งชนบท

แอนดรู วอล์คเกอร์

จักรกริช สังขมณี แปล

การซื้อเสียงและความเดือดดาลของหมู่บ้านในการเลือกตั้งที่ภาคเหนือของไทย : การปฏิรูปกฎหมายในบริบททางประวัติศาสตร์

แคเธอรีน เอ. เบาว์วี

พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ แปล

การสร้างความมีอำนาจทางศีลธรรมในชนบทไทย : สงครามปราบปรามยาเสพติดแบบไม่ใช้ความรุนแรงของ บรรหาร ศิลปะอาชา

โยชิโนริ นิชิซากิ

วริศา กิตติคุณเสรี แปล

ดรรชนี

อ่านต่อ >>

การศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งและการซื้อเสียงมิใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย หากสามารถสืบย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยกลางทศวรรษ 2510 ที่เริ่มมีบรรยากาศการเมืองแบบเปิดกว้างมากขึ้น หลังจากที่ประเทศต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของระบอบเผด็จการทหารมาเป็นเวลานาน นักวิชาการโดยเฉพาะสาขารัฐศาสตร์ เริ่มตื่นตัวสนใจศึกษาสิ่งที่เรียกว่าพฤติกรรมของผู้เลือกตั้งเพื่ออธิบายและคาดการณ์แบบแผนทั่วไปของการลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนราษฎรของผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ รวมถึงนักกฎหมายจำนวนหนึ่งที่สนใจศึกษากฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองการศึกษาในแนวทางนี้ยังคงได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันท่ามกลางความผันผวนและผกผันของการเมืองไทย ที่สถาบันประชาธิปไตยและกระบวนการเลือกตั้งถูกทำให้สะดุดหยุดลงอยู่บ่อยครั้งจากการยึดอำนาจโดยกองทัพ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความสนใจที่มีต่อเรื่องการเลือกตั้งจะมีมาอย่างต่อเนื่อง และมีปริมาณมิใช่น้อย แต่ทฤษฎี แนวคิด และวิธีวิทยาที่นำมาใช้ในการศึกษากลับขาดความหลากหลายและมีลักษณะหยุดนิ่ง แม้ว่าวงวิชาการไทยในภาพรวมจะพยายามผลักดันให้เกิดการศึกษาในลักษณะสหวิทยาการเพื่อก้าวข้ามพ้นข้อจำกัดของศาสตร์แต่ละแขนงในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม แต่แนวทางการศึกษาแบบสหวิทยาการกลับมิได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาเกี่ยวกับสถาบัน และกระบวนการเลือกตั้ง ความหยุดนิ่งทางวิชาการดังกล่าวส่งผลให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งมีลักษณะหยุดนิ่งตามไปด้วยความรู้กลายเป็นข้อสรุปที่ถูกคาดเดาได้ล่วงหน้าตั้งแต่การตั้งคำถามและการวางสมมติฐานของการวิจัย และนานวันเข้าข้อสรุปเหล่านั้นก็ถูกผลิตซ้ำและเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะจนกลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ติดตลาด และฝังอยู่ในความรับรู้และความเชื่อของสาธารณชน ความเชื่อที่ว่าคนชนบทขาดความสามารถในการใช้สิทธิการเลือกตั้งของตนเพราะขาดการศึกษา ยากจน และดังนั้นจึงถูกครอบงำด้วยอำนาจของเงินตราและอิทธิพล ถูกสถาปนาให้กลายเป็นความจริงเป็นสัจธรรมของการเมืองไทยที่ไม่ต้องตั้งคำถาม ความ เชื่อที่ไม่ถูกตรวจสอบนี้ถูกนำไปใช้เป็นฐานสร้างความชอบธรรมให้กับปฏิบัติการทางการเมืองหลายประการที่ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทย เช่น การรณรงค์ต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียงที่กล่าวโทษและประณามคนต่างจังหวัด การปฏิรูปการเมืองและการร่างรัฐธรรมนูญที่พยายามลดทอนอำนาจของผู้เลือกตั้งชนบท การรัฐประหารของกองทัพล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ

หนังสือรวมบทความ การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง : วาทกรรม อำนาจ และพลวัตชนบทไทย เกิดขึ้นจากความปรารถนาและความตั้งใจทางวิชาการที่จะเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องการเลือกตั้งในสังคมไทย ด้วยการใช้เครื่องมือทางวิชาการที่พ้นไปจากการศึกษาเชิงตัวบทกฎหมายและแนวทางพฤติกรรมนิยม เครื่องมือเหล่านี้ ได้แก่ การวิเคราะห์ในเชิงการเมืองวัฒนธรรม เชิงวาทกรรม และมานุษยวิทยาการเมือง บทความที่นำมารวมตีพิมพ์ในเล่มนี้มีทั้งบทความของนักวิชาการชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งผลิตขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งพยายามตั้งคำถามและชี้ให้เห็นแง่มุมที่ต่างออกไปจากความเชื่อและมายาคติที่แพร่หลายอยู่ก่อนหน้า ที่สำคัญไปกว่านั้น บทความแต่ละชิ้น ช่วยเผยให้เห็นว่า การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งมิควรถูกศึกษาในลักษณะที่เป็นเอกเทศ โดยไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับการศึกษา ทำความเข้าใจโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจอันซับซ้อน และความเปลี่ยนแปลง ทางเศรษฐกิจสังคมในภาคชนบทที่มิเคยหยุดนิ่ง หากปราศจากการเชื่อมโยงมิติดังกล่าวเข้าด้วยกัน เราจะไม่สามารถเข้าใจวิธีคิดและแบบแผนการตัดสินใจทางการเมืองของพลเมืองส่วนข้างมากของประเทศได้อย่างถ่องแท้และเที่ยงตรง

หนังสือเล่มนี้จะมิอาจสำเร็จลงได้หากปราศจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ผลักดันให้มีการแปลและรวบรวมบทความทั้งหมด รวมทั้งการจัดทำต้นฉบับอย่างละเอียดและสวยงาม ขอบคุณผู้แปลทุกท่านได้แก่ คุณดาริน อินทร์เหมือน, ดร. จักรกริช สังขมณี,คุณพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ และคุณวริศา กิตติคุณเสรี ที่ผลิตงานแปลอย่างมีคุณภาพ ขอบคุณ รศ.ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์, ผศ. เวียงรัฐ เนติโพธิ์, ผศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร, คุณฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร, ดร. กานดา นาคน้อย, ดร. ธนาพล ลิ่มอภิชาต และ ดร. สรินณา อารีธรรมศิริกุล ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเขียนและแปลบทความ ที่สำคัญที่สุด ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกท่าน ได้แก่ ดร. วิลเลียม คัลลาฮาน, ดร. แอนดรู วอล์คเกอร์, ดร. แคเธอรีน เอ. เบาว์วี และ ดร. โยชิโนริ นิชิซากิ สำหรับการอนุญาตให้แปลบทความเผยแพร่และความช่วยเหลือที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดทำต้นฉบับ

ท้ายที่สุด ผู้จัดทำมีความหวังใจว่าหนังสือรวมบทความเล่มนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดข้อถกเถียงในหมู่นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา และความสนใจสำหรับสาธารณชนทั่วไป รวมทั้งชี้ชวนให้เห็นลู่ทางการศึกษาแบบใหม่ และข้อมูล ข้อคิด คำถาม ข้อโต้แย้ง และข้อถกเถียงอันหลากหลายที่แตกต่างไปจากความรับรู้แบบเดิม ซึ่งอาจช่วยแผ้วถางเส้นทางไปสู่การท้าทายมายาคติ การลดทอนอคติ และการเสริมสร้างปฏิบัติการทางการเมืองที่กอปรด้วยความรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้งรอบด้านยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประจักษ์ ก้องกีรติ

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ่านต่อ >>