ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง

ลดราคา!

฿315.00฿450.00


รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำผู้เขียน

ภาค 1 ประชาธิปไตยแบบไทย

บทที่ 1 ชัยชนะของเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง

บทที่ 2 วาทกรรมพระราชอำนาจหรือประชาธิปไตยแบบคิดสั้น

บทที่ 3 ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา

ภาค 2 รัฐประหาร

บทที่ 4 รัฐประหารของฝ่ายเจ้ากับแรงจูงใจซ่อนเร้น

บทที่ 5 ล้มประชาธิปไตย

บทที่ 6 สัมฤทธิผลนิยม (Pragmatism) ของปัญญาชนไทยกับการรัฐประหาร19 กันยายน 2549

บทที่ 7 เริ่มต้นประชาธิปไตยแบบภูมิปัญญาไทยหรืออภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย

ภาค 3 สังหารหมู่

บทที่ 8 เชื้อร้าย: เมื่อร่างกายทางการเมืองไทยติดเชื้อแดง

บทที่ 9 ฝุ่นตลบหลังมีคนถูกฆ่าตายตรงราชประสงค์

ภาค 4 เปลี่ยน (ไม่) ผ่าน

บทที่ 10 มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน

บทที่ 11 สถาบันกษัตริย์กับฝ่ายต่อต้านเครือข่ายกษัตริย์:ช้างสองตัวในห้องการเมืองไทยกับสภาวะปฏิเสธความเป็นจริง

บทที่ 12 ระบอบสังคมการเมืองที่ขัดฝันการเปลี่ยนแปลงคืออันตรายที่แท้จริง

ประวัติผู้เขียน

ประวัติการตีพิมพ์

บรรณานุกรม

ดรรชนี

อ่านต่อ >>

หนังสือ ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง รวมบทความว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ของธงชัย วินิจจะกูล ที่เขียนขึ้นระหว่างปี 2547-2555 ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ธงชัยได้คลี่ให้เห็นเค้าโครงประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยแบบเป็นกระแสซ้อนกัน โดยดูจากประวัติศาสตร์ในช่วงยาว ซึ่งเริ่มจากการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ ท่ามกลางวิกฤตการเมืองเหลือง-แดงที่ยังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

ในสายธารประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันยาวนาน ธงชัยวิเคราะห์ ให้เราเห็นการต่อสู้ต่อรองของผู้เล่นมากหน้าหลายตา ทั้งการปะทะกันระหว่างสถาบันกษัตริย์และฝ่ายนิยมเจ้า กับคณะราษฎรและผู้เอาใจช่วยระบอบใหม่ที่มีจุดยืนร่วมกันว่า “อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” เพื่อกำหนดสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การปะทะกันระหว่างกองทัพกับฝ่ายเสรีนิยมที่จบลงด้วยชัยชนะอย่างไม่กระโตกกระตากของสถาบันกษัตริย์ รวมถึงความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองและกลุ่มทุนกับขบวนการพลเมืองซึ่งหันไปเป็นพันธมิตรกับฝ่ายนิยมเจ้า ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เล่นที่ธงชัยวิเคราะห์แจกแจงบทบาทไว้อย่างละเอียดและลุ่มลึกที่สุดก็คือ สถาบันกษัตริย์ที่คนส่วนใหญ่มองว่ามีสถานะ “เหนือการเมือง”

กล่าวได้ว่า การวิเคราะห์วิพากษ์บทบาทสถาบันกษัตริย์ของธงชัยเป็นเสียงเตือนที่มาก่อนกาล ดังจะเห็นได้จากภาค 1 “ประชาธิปไตยแบบไทย” ซึ่งทั้งหมดเขียนขึ้นก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ธงชัยชี้ให้เห็นว่า สถานะเหนือการเมืองของสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งในระบบการเมืองไทย และกำลังได้รับความเชื่อถือสูงยิ่งขึ้น เมื่อความไว้วางใจต่อรัฐสภาลดต่ำลง

ธงชัยเตือนหนักๆ ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า ความพยายามต่อสู้กับรัฐบาลบ้าอำนาจด้วยวาทกรรมพระราชอำนาจเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง และยังแนะด้วยว่า จะข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาที่สถาบันกษัตริย์ได้ขึ้นมามีบทบาทนำมากขึ้นนั้น ต้องมองให้ออกว่าประชาธิปไตยไทยเป็นระบบการเมืองแบบสามเส้า ได้แก่ มวลชน ทุนกับนักการเมือง และฝ่ายกษัตริย์นิยม โดยมีสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือระบบการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

เมื่อเกิดรัฐประหาร 2549 ของฝ่ายเจ้าขึ้นจริงตามคาด ในภาค 2 “รัฐประหาร” นอกจากสถาบันกษัตริย์และฝ่ายนิยมเจ้าซึ่งถูกธงชัยวิพากษ์แล้ว บรรดาปัญญาชนทั้งหลายที่ทำตัวเป็นอภิชน pragmatists ให้การรับรองความชอบธรรมในการรัฐประหาร ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายหลักในการวิพากษ์ด้วยเช่นกัน ในส่วนนี้นอกจากบทความที่ “วิวาทะ” กับผู้สนับสนุนรัฐประหารแล้ว ในบทความ “ล้มประชาธิปไตย” ธงชัยได้ “ถอยออกมาหนึ่งก้าว” เพื่อชี้ให้เห็นบริบททางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อเป็นประชาธิปไตย (Democratization) โดยแจกแจงวาทกรรมเชิงยุทธศาสตร์ของฝ่ายเจ้าที่ปูทางมาสู่การรัฐประหารครั้งนี้ ด้วยการชี้ให้เห็นการกลับมาของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย การปรับตัวจนกลายมาเป็นสถาบันกษัตริย์ยุคใหม่ และการเกิดขึ้นของลัทธิกษัตริย์นิยมที่เป็น “ประชาธิปไตย” พร้อมกับวิเคราะห์ให้เห็นด้านกลับของวาทกรรมทำการเมืองให้สะอาดของ “ภาคประชาชน” ที่เกื้อหนุนให้เกิดการรัฐประหารอีกด้วย

ขณะที่ภาค 3 “สังหารหมู่” ไม่แปลกที่จะมีลักษณะอัตวิสัย (subjective) ค่อนข้างสูง เพราะธงชัยเขียนในฐานะผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ 6 ตุลา และถูกกล่าวหาว่าจงใจให้เกิดความรุนแรงในเหตุการณ์ครั้งนั้นเพื่อก่อให้เกิดภาวะ “ตายสิบเกิดแสน” บทความแรกเป็นการวิเคราะห์ปฏิกิริยาของชนชั้นกลางชาวกรุงต่อเหตุการณ์คนเสื้อแดงบุกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีฐานมาจากการครุ่นคิดเรื่องความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทมาเป็นเวลาหลายปี ขณะที่บทความหลังเป็นความพยายามทำความเข้าใจโศกนาฏกรรมสังหารหมู่คนเสื้อแดงตรงราชประสงค์และกระบวนการปรับแปลงลงเป็นประวัติศาสตร์หลังจากนั้น โดยมองผ่านหนังและวรรณกรรม กล่าวได้ว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวทำให้ธงชัย “เข้าใจ” แกนนำเสื้อแดงในฐานะ “มนุษย์” คนหนึ่ง

ในสภาวะปลายรัชกาลที่วิกฤตอันจะเกิดขึ้นจากการสืบราชสมบัติเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป ภาค 4 “เปลี่ยน (ไม่) ผ่าน” ซึ่งประกอบด้วยบทความ 3 ชิ้น ที่ย้อนกลับไปวิเคราะห์ถึงการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามโดยมีประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมเป็นแกนหลัก มาจนถึงสภาวะที่เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่าง “สถาบันกษัตริย์กับฝ่ายต่อต้านเครือข่ายกษัตริย์” ในปัจจุบัน ชัดอยู่แล้วว่าบทความ ดังกล่าวกำลังสื่อสารอะไรกับสังคมไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถาบันกษัตริย์และฝ่ายกษัตริย์นิยม ฉะนั้น อย่าปล่อยให้ “น้อยเกินไปสายเกินการณ์” เรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์บ้าง น่าจะเป็นทางเลือกที่ช่วยให้เจ็บปวดน้อยกว่าในท้ายที่สุด

ในฐานะผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เรา -ฟ้าเดียวกัน- หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยวิธีวิทยาแบบประวัติศาสตร์หลากกระแสหลายมิติที่ธงชัย วินิจจะกูล ได้แสดงให้เห็น ในหนังสือเล่มนี้จะทำให้เราพึงตระหนักว่า การต่อสู้เพื่อเป็นประชาธิปไตยนั้น ต้องถือว่าประชาธิปไตยมิใช่เพียงแค่เครื่องมือ (tool) แต่คือวิถีทาง (means) ที่เป็นจุดหมาย (end) และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมิใช่เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายหรือม้วนเดียวจบแบบที่พูดๆ กัน แต่เป็นการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ เป็นวิถีทางที่ไม่สิ้นสุด และไม่เคยสมบูรณ์

อ่านต่อ >>

ต้นปี 2548 ผู้เขียนได้รับการติดต่อให้เป็นองค์ปาฐกสำหรับปาฐกถา 14 ตุลาในปลายปีนั้นในขณะนั้นเป็นเวลาไม่ถึงปีหลังจากเขียนบทความ “ชัยชนะของเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง” เสร็จ ผู้เขียนจึงบอกกับผู้จัดไว้ล่วงหน้า ว่าจะพูดประเด็นดังกล่าว เพราะขณะนั้นเริ่มเห็นเค้าลางแล้วว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองอย่างที่เป็นอยู่น่าจะเป็นปัญหา และก่อนหน้า ปาฐกถาเพียงไม่กี่เดือนก็ปรากฏว่าปัญหาดังกล่าวเริ่มปะทุขึ้นมาจริงๆ ในระยะนั้นรวมทั้ง ปาฐกถา 14 ตุลาปีนั้น ผู้เขียนจึงได้ย้ำเตือนผู้ที่สนใจ ผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยให้ระวังพวกกษัตริย์นิยมหรือพวกเจ้าในการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง

ปาฐกถาคราวนั้นผู้เขียนร่างและส่งให้ผู้จัดงานตีพิมพ์เสร็จเรียบร้อยเหมือนกับปาฐกถา 14 ตุลาในปีอื่นๆ แต่กลับปรากฏว่า ก่อนวันงาน หนังสือดังกล่าวที่ตีพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้วถูกดึงออกไปให้นักกฎหมายดูก่อนว่า ผู้เขียนพูดอะไรเกินเลยหรือมีสิทธิ์จะก่อปัญหาทางกฎหมายหรือไม่ ถึงแม้ว่านักกฎหมายดูแล้วบอกว่าไม่เป็นปัญหาอะไร แต่กลับปรากฏว่าหนังสือปาฐกถาดังกล่าวในปี 2548 นั้น เป็นหนังสือเล่มเดียวในประวัติปาฐกถา 14 ตุลาที่ถูกดึงเอาไว้และไม่เผยแพร่แจกจ่ายในเช้าวันงาน ลงท้ายจึงเป็นปาฐกถาที่ผู้เข้าร่วมงานไม่มีโอกาสได้เห็นตัวบทไม่ว่าก่อนหรือหลังวันงาน ทั้งที่ตีพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนั้น ก่อนวันกล่าวปาฐกถาเพียงหนึ่งหรือสองวันก็มีคำขู่มาจากหนังสือพิมพ์ดาวสยามยุคใหม่ว่า ให้ระวังไว้ให้ดีว่าจะพูดอะไร เป็นคำกล่าวเตือนในแบบเพื่อนฝูงเก่าๆ แต่ในขณะนั้นไม่ต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์ทางการเมืองอย่างมากมายก็พอดูออกแล้วว่า เหตุร้ายนั้นคงไม่ได้มาจากใครหรอก นอกจากหนังสือพิมพ์คาวสยามยุคใหม่ นั่นเอง ผู้เขียนเดินอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งก่อนหน้าและหลังจากนั้นสองสามวัน จึงต้องมีบอดีการ์ดอยู่ตลอดเวลา นั่นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มาทำงานอยู่ต่างประเทศที่ขณะเดินเข้าประตูเครื่องบิน ผู้เขียนรู้สึกโล่งใจและรู้สึกอย่างเต็มที่ว่าเรากำลังจะกลับ “บ้าน” หมายความว่า นั่นเป็นครั้งแรกที่เมื่อออกจากประเทศไทยกลับ ไปสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนรู้สึกว่ากำลังจะกลับสู่ที่อบอุ่นกว่าปลอดภัยกว่าอย่างเต็มที่ ทั้งที่ไม่เคยรู้สึกเช่นนี้มาก่อนเลยตลอดเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา

บทความในหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นระหว่างปี 2547-2555 หลายชิ้นเขียนขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์หรือความเข้าใจเบื้องต้นซึ่งไม่ชัดเจนนักต่อสถานการณ์หนึ่งๆ ก่อนจะกลับชัดเจนขึ้นในเวลาต่อมา แต่ผู้เขียนต้องการคงเนื้อความตามที่เขียนไว้ตั้งแต่ต้นเป็นส่วนใหญ่ มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยและส่วนใหญ่ไม่สำคัญ เช่น แก้ไขสำนวนหรือถ้อยคำต่างๆ จำนวนหนึ่ง แต่ข้อวิเคราะห์หรือความเห็นต่างๆ ที่สำคัญในบทความเหล่านั้นจะคงไว้ดังเดิมตามที่เขียนไว้แต่ครั้งแรก

เราจะเห็นได้ว่า ความเห็นหรือข้อวิจารณ์บางตอนก็ดูฉลาดหรือเข้าท่าดี ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์นั้นในเวลาต่อมาได้ บางอย่างก็ดูเขลาหรือดูตื้นเขินหรือคาดการณ์ผิดๆ ก็มี บทความอย่างเช่น “เชื้อร้าย : เมื่อร่างกายทางการเมืองไทยติดเชื้อแดง” เขียนขึ้นในเวลาสั้นมาก คือเสร็จในวันเดียวขณะที่เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุม นปช. บุกโรงพยาบาลจุฬาฯ แต่กลับมีพื้นฐานมาจากการที่ผู้เขียนครุ่นคิดเรื่องความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทมาเป็นเวลาหลายปี เพราะฉะนั้นบทความที่เขียนในวันเดียวกลับสามารถมีนัยหรือมีความหมายให้เข้าใจความขัดแย้งหรือวิกฤตที่ผ่านมามากอย่างที่ผู้เขียนก็ไม่ตระหนักในขณะนั้น แต่ว่าบางบทความ อย่างเช่น “ชัยชนะของเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง” เขียนขึ้นก่อนที่จะคาดการณ์หรือล่วงรู้ว่าจะมีวิกฤตการณ์ต่อเนื่องมาจากระบอบการเมืองดังกล่าว

บทความส่วนมากในเล่มนี้เป็นความพยายามถอยออกมาหนึ่งก้าว เพื่อมองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากมุมมองระยะยาว ๆ ทางประวัติศาสตร์ พยายามวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในระยะเวลายาวๆ ชนิดที่ความคิดเห็นสาธารณะต่อสถานการณ์เฉพาะหน้ามักมองไม่เห็น ในทางกลับกัน บทความเรื่อง “สัมฤทธิผลนิยม (pragmatism) ของปัญญาชนไทยกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” ไม่ต้องการให้เป็นข้อเขียนทางทฤษฎีหรือวิชาการแต่อย่างใดเลย แต่เป็น polemic หรือเป็นบทความต่อปากต่อคำกับความคิดเห็นที่แพร่หลายหลังรัฐประหาร 2549 โดยต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ความคิดทางการเมืองของหลายคนที่สนับสนุนการรัฐประหาร เอาเข้าจริงเป็นการคิดสั้นๆ คิดเพื่อหวังผลในระยะสั้น ผู้เขียนพยายามทิ้งประเด็นสำคัญจำนวนหนึ่งไว้ด้วยในทุกๆ บท ซึ่งหวังว่าจะมีผู้หยิบยกมาอภิปรายหรือพัฒนาขึ้นในเวลาต่อไป รวมทั้งตัวผู้เขียนเองก็ยังคิดในหลายประเด็นเหล่านั้นเลยต่อไปจากหนังสือเล่มนี้ ตัวอย่างเช่นเรื่อง hyper-royalism ซึ่งจะขยายความในโอกาสอื่นต่อไป

อันที่จริงผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ไม่เคยค้นเอกสารชั้นต้นเกี่ยวกับช่วง 2475 ถึงปัจจุบันอย่างจริงจังต่อเนื่องเป็นอาชีพ ผู้เขียนเป็นเพียงผู้ศึกษาและสังเกตการณ์ทางการเมืองซึ่งได้เรียนรู้หลายเรื่องจากงานศึกษาของคนอื่น บทความในเล่มนี้จึงนำเอาสิ่งที่หลายท่านศึกษามาใช้ในการช่วยคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่และช่วยคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ในระยะใกล้ ลองเสนอคำอธิบายและการตีความแบบใหม่ๆ ทั้งในฐานะของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองและในฐานะผู้มีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ดังกล่าวเป็นระยะๆ

หลายท่านอาจเห็นว่าการที่ผู้เขียนอยู่นอกสังคมไทยเป็นข้อดีหลายท่านเห็นเป็นข้ออ่อน ผู้เขียนเห็นว่า เรื่องภายนอกภายในต่างมีข้อดีข้ออ่อนไปต่างๆ กัน คำกล่าวที่ว่า คนนอกไม่รู้เรื่องหรอก จะไปรู้ดีกว่าคนไทยได้อย่างไร เป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไร คำกล่าวที่ว่า คนนอกเห็นแง่มุมที่ต่างจากคนในประเทศ อาจได้รับข่าวสารมากกว่าคนที่อยู่ในประเทศเสียอีก อันนี้ก็ไม่จริงนัก ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไรเช่นเดียวกัน และขึ้นอยู่กับคำถามหรือกรอบการคิด การวิเคราะห์ในเรื่องหนึ่งๆ ด้วย ดังนั้น ผู้เขียนจะไม่ขออวดอ้างว่า หนังสือเล่มนี้ดีเด่น เพราะเป็นการมองจากข้างนอก และต้องขอแย้งไว้ล่วงหน้าหากมีคนทึกทักล่วงหน้าว่า หนังสือเล่มนี้ไม่น่าเชื่อถือเพียงเพราะผู้เขียนไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ผู้เขียนคงขอแย้งความเห็นทั้งสองขั้วดังกล่าว

ท่ามกลางสถานการณ์ในคราวสงกรานต์เลือดปี 2552 ผู้เขียนเฝ้าดูการชุมนุมของฝ่ายเสื้อแดงอยู่ห่างออกไปครึ่งโลก ฟังคำปราศรัยทุกๆ คำของคุณวีระ มุสิกพงศ์ ในยามที่เฝ้ารอกองกำลังฝ่ายรัฐบาลบุกเข้ามา ผู้เขียนคงไม่สามารถบอกได้ว่าเข้าใจสถานการณ์ทั้งหมด แต่ในทางกลับกัน กล้าบอกว่าเข้าใจบรรดาผู้นำการชุมนุมใน ครั้งนั้น ปี 2553 ก็เช่นกัน ผู้เขียนจดจ่ออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ผู้นำการชุมนุมขึ้นไปอยู่บนเวทีขณะที่มีการล้อมปราบอย่างหนัก จนถึงนาทีที่ไม่เหลือใครอีกแล้ว กล้องจับนิ่งอยู่แต่ภาพเวทีที่ว่างเปล่าและมีเสียงปืนระดมยิงอยู่เป็นฉากหลัง ในขณะนั้นผู้เขียนพอนึกออกและเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ หรืออยู่ร่วมในสถานการณ์ที่ราชประสงค์ด้วยตัวเองแต่อย่างใด

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์พัฒนาการของประชาธิปไตยในประเทศไทยในมุมมองที่กว้างขึ้น ยาวไกลกว่าเดิม และแตกต่างจากความคิดเห็นที่แพร่หลายครอบงำสังคมไทยอยู่ ถึงแม้ว่าฝุ่นของประวัติศาสตร์จะไม่มีวันสงบอย่างสมบูรณ์เลยก็ตาม

สุดท้าย ในระหว่างเขียนบทความชิ้นต่างๆ ผู้เขียนได้รับการช่วยเหลือ ข้อคิดเห็นจากบุคคลต่างๆ เป็นจำนวนมาก และขอขอบคุณเป็นพิเศษต่อคุณธนาพล ลิ่มอภิชาติ ประจักษ์ ก้องกีรติและธนาพล อิ๋วสกุล ในการช่วยค้นคว้าและจัดทำต้นฉบับของบทความ “ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา” คุณภัควดี วีระภาสพงษ์ สำหรับการแปลบทความ “รัฐประหารของฝ่ายเจ้ากับแรงจูงใจซ่อนเร้น” “ล้มประชาธิปไตย” “สถาบันกษัตริย์กับฝ่ายต่อต้านเครือข่ายกษัตริย์ : ช้างสองตัวในห้องการเมืองไทยกับสภาวะปฏิเสธความเป็นจริง” คุณพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ สำหรับการแปลบทความ “เชื้อร้าย : เมื่อร่างกายทางการเมืองไทยติดเชื้อแดง” และคุณไอดา อรุณวงศ์ สำหรับการแปลบทความ “วาทกรรมพระราชอำนาจหรือประชาธิปไตยแบบ คิดสั้น”

อ่านต่อ >>