การเมืองวัฒนธรรมไทย

ลดราคา!

฿360.00฿440.00


รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำผู้เขียน

บทที่ 1 24 มิถุนาในขบวนการ 14 ตุลา : การเมืองของประวัติศาสตร์

บทที่ 2 พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 : ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง

บทที่ 3 เอกสารฝ่ายก้าวหน้าในหอจดหมายเหตุ มธ. :“อดีต” ที่ไม่เป็น “ประวัติศาสตร์”

บทที่ 4 ปีศาจของกาลเวลา : การรื้อฟื้นงานเสนีย์ เสาวพงศ์ในยุคแสวงหา

บทที่ 5 ชำระประวัติศาสตร์บาดแผล : บทเรียนจากอินโดนีเซีย

บทที่ 6 การเมืองวัฒนธรรมในการต่อสู้ของนักศึกษาไทย

บทที่ 7 86 ปีหนังสือนักศึกษา : ชีวประวัติหนุ่มสาวสยามฉบับลายลักษณ์

บทที่ 8 การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา

บทที่ 9 สงครามความทรงจำกับปฏิบัติการทางการเมือง :ขบวนการนักศึกษาไทยหลัง 6 ตุลา – ปัจจุบัน

บทที่ 10 40 ปีราชาชาตินิยมประชาธิปไตย

ประวัติผู้เขียน

ประวัติการตีพิมพ์

บรรณานุกรม

ดรรชนี

อ่านต่อ >>

ในการเมืองมีวัฒนธรรม และในวัฒนธรรมมีการเมือง

คือสิ่งที่ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้สะท้อนให้เห็นในหนังสือ การเมืองวัฒนธรรมไทย : ว่าด้วยความทรงจำ/วาทกรรม/อำนาจ เล่มนี้

หากพิจารณาจากวาระการตีพิมพ์บทความทั้ง 10 บท จะพบว่าเป็นการเขียนขึ้น ระหว่างปี 2543-2556 ซึ่งในห้วงเวลานั้นผู้เขียนคือประจักษ์ ได้ศึกษาระดับปริญญาโทที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำเร็จการศึกษาด้วยการเขียนวิทยานิพนธ์ “ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษา และปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506-2516)” (2545) อันเป็นฐานทางความรู้และข้อมูลที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ จากนั้นจึงเข้าเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเดียวกัน ต่อมาได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ Political Science Department, University of WisconsinMadison, USA (2008) และศึกษาระดับปริญญาเอกที่ Department of Political and Social Change, Australian National University, Australia (2013) กล่าวได้ว่า งานเขียนในเล่มนี้แวดล้อมประเด็นที่ประจักษ์ศึกษาเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ดังนั้นจึงไม่ แปลกที่งานทั้งหมดนี้จะไม่ใช่แค่การอภิปรายเกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎี ทว่ามีเอกสารหลักฐานรองรับอย่างหนักแน่น

สิ่งที่ประจักษ์นำเสนอในหนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่เราอาจเคยมองข้ามหรือละเลยไม่ได้ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ในแง่ที่เป็นการต่อสู้เพื่อสร้างความหมายต่อเหตุการณ์ดังกล่าวโดยฝ่ายอนุรักษนิยม รวมไปถึงการทำลายมรดกตกทอดของปฏิวัติครั้งนั้นในเวลาต่อมาโดยเผด็จการสฤษดิ์ธนะรัชต์ ประจักษ์เสนอว่า ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประเด็นเช่นที่ว่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตีความ และให้ความหมายทางประวัติศาสตร์แก่เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475

การที่ประจักษ์สนใจตามล่าหาอดีตที่หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ต่อมาเขาสามารถนำเสนอความน่าสนใจของเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ประจักษ์อธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของการปลุกอดีตที่ซ่อนอยู่ขึ้นมาใหม่ เมื่อนักศึกษายุคเดือนตุลา ย้อนกลับไปอ่านความทรงจำของบุคคลร่วมสมัยแล้วทำให้มันกลับมามีชีวิตชีวาและ น่าตื่นเต้นอีกครั้ง ดังเช่นที่แสดงให้เห็นในการรื้อฟื้นงานเขียนของเสนีย์ เสาวพงศ์ ในยุคที่นักศึกษาและปัญญาชนกระหายที่จะเสาะแสวงหาความรู้หลังจากที่สังคมไทยตกอยู่ในภาวะของการความเงียบที่ปกครองโดยเผด็จการทหารมาอย่างค่อนข้างยาวนาน

นอกจากนี้ ประจักษ์แสดงให้เห็นว่า ในหนังสือที่จัดทำโดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้น มีความทรงจำต่อฝ่ายซ้ายในประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งประวัติศาสตร์การเมืองของขบวนการนักศึกษาไทยในห้วงเวลาของการต่อสู้และยุคเกิดวิกฤตศรัทธาซ่อนอยู่เต็มไปหมด อีกทั้งบางเล่มยังน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นมรดกตกทอดที่กลายพันธุ์ในช่วงการต่อสู้กับระบอบทักษิณของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอื่น ๆ อีกมากมาย

ยิ่งไปกว่านั้น ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่อยู่ที่แหล่งข้อมูลที่ประจักษ์นำเสนอในบางบทความ เช่น เอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หนังสือ วารสาร จุลสารต่างๆ ฯลฯ ที่จัดทำโดยนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแหล่งข้อมูล สำคัญทว่ากลับไม่ค่อยมีใครนำมาใช้ในการอ้างอิงหรือกล่าวถึง หลายเล่มบรรจุเรื่องสั้น บทกวี ความเรียง ที่ท้าทายรัฐเผด็จการทหาร อีกทั้งมีความเชื่อมโยงกับปัญญาชนคน สำคัญของฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 2490 หลายเล่มกลายเป็นงานคลาสสิกที่มีอิทธิพลต่อคนรุ่นหลัง ปัจจุบันเอกสารเหล่านี้หาได้ยากเต็มที่ บางชิ้นคนรุ่นใหม่คงแทบไม่มีโอกาสได้เห็น

แต่ประจักษ์ยังนำหลักฐานบางชิ้น เช่น พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ที่ทุกฝ่ายนำมาอ้างเพื่อเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” กลับมาอ่านใหม่ด้วย การสืบค้นเอกสารแวดล้อมเพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์ก่อนจะสรุปว่า เอกสารชิ้นดังกล่าวผ่านการตัดต่อความทรงจำของฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างแยบคาย ส่งผลให้ ทั้งฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายซ้ายรับคำอธิบายมาใช้อย่างผิดฝาผิดตัว แน่นอนว่าการก่อตัว ของแนวคิดกษัตริย์นิยมจนกล้าประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะ “ถวายคืนพระราชอำนาจ” ในปัจจุบัน ก็มีผลมาจากกลวิธีคล้าย ๆ กันนี้ของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้ประจักษ์ได้อธิบายไว้ด้วยแนวคิดการเมืองวัฒนธรรมที่มีความลื่นไหล เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง ข้อเสนอสำคัญของเขาคือ การทำความเข้าใจการเมืองวัฒนธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัย

สุดท้ายแล้ว มนุษย์ให้คุณค่าและความหมายต่อประวัติศาสตร์ผ่านการต่อสู้ช่วงชิง อำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเพื่อสนับสนุนอำนาจของตน หรือลดทอนอำนาจของฝ่ายตรงข้าม และการต่อสู้เพื่อให้คุณค่าและความหมายทางการเมืองนั้นก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย อุดมการณ์บางอย่างอาจจะเลือนหายไปบ้างตามกาลเวลา (และอาจจะย้อนกลับมาเมื่อบริบทเปลี่ยนไป) ในทางกลับกันอุดมการณ์บางอย่างแม้ยังทรงพลังอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่ก็ไม่แน่ว่าจะตลอดไป เพราะขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการเมืองที่จะกำลังเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

อ่านต่อ >>

หนังสือเล่มนี้รวบรวมงานเขียนของผู้เขียนในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเมืองวัฒนธรรม

ผู้อ่านหลายท่านคงสงสัยว่าแล้ว “การเมืองวัฒนธรรม” คืออะไร

ผู้เขียนรู้จักคำว่า “การเมืองวัฒนธรรม” ครั้งแรก จากการอ่านงานของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนมัธยมและเริ่มสนใจเรื่องการบ้านการเมือง (ซึ่งในที่สุดก็ทำให้เส้นทางชีวิตหักเหจากนักเรียนสายวิทย์ฯ มาเรียนทางด้านรัฐศาสตร์ในเวลาต่อมา) เมื่อครั้งที่อ่านเจอศัพท์แสงนี้ครั้งแรก ก็ไม่รู้เข้าใจเท่าไรนักว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่ เพราะสติปัญญาและความรับรู้ยังจำกัดมากในขณะนั้น เท่าที่เคยอ่านหนังสือมาบ้าง ก็รู้สึกคุ้นกับอีกคำหนึ่งมากกว่าคือ คำว่า “วัฒนธรรมการเมือง” สรุปคือ ครั้งแรกที่ได้เจอคำนี้ บังเกิดแต่ความงุนงงมากกว่าความเข้าใจ

ต่อมาเมื่อได้เข้าเรียนในคณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีโอกาสเรียนกับอาจารย์เกษียรซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาการเมืองไทยในแนวการเมืองวัฒนธรรมโดยตรง ผู้เขียนจึงค่อยๆ เข้าใจคำๆ นี้มากขึ้น ว่ามันคือแนวทางการศึกษา วิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจโลกทางการเมืองและปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้อ่านงานของนักวิชาการทั้งไทยและเทศที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางและแตกแขนงออกไปมากขึ้น ก็ยิ่งพบเสน่ห์ของสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองวัฒนธรรม” มันช่วยเปิดโลกให้เราเห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่ไม่เคยมองเห็นมาก่อน เห็นการเมืองไทยเปลี่ยนไป-ลึกขึ้น ซับซ้อนขึ้น พลิกแพลงขึ้น-ช่วยปลดปล่อยเราออกไปจากกรอบการวิเคราะห์แบบเดิมๆ ที่มองการเมืองแบบหยุดนิ่งและคับแคบ

กรอบการวิเคราะห์ทางวิชาการ พูดให้เข้าใจง่ายที่สุด มันก็คือ เลนส์ที่เราใช้ในการมองโลก เราเปลี่ยนเลนส์ โลกที่มันเคยอยู่ของมันแต่เดิม ก็ถูกมองเห็นในแบบใหม่

แนวทางศึกษาเชิงการเมืองวัฒนธรรม หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า cultural politics ให้ความสนใจพินิจพิเคราะห์การต่อสู้ทาง “การเมือง” ในฐานะที่เป็นพื้นที่ของการช่วงชิงการครองอำนาจนำ (hegemony) สนใจวิเคราะห์การเมืองของวัฒนธรรม ซึ่งเป็นระบบความหมายที่มนุษย์ใช้ในการมองโลกและกำกับพฤติกรรมของตนเอง ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน การแต่งกาย รสนิยมทางเพศ ศิลปะ การศึกษา ศาสนา ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงระบบการเมืองการปกครอง พูดง่ายๆ ว่าการศึกษาในแนวนี้ เชื่อว่าในการเมืองมีวัฒนธรรม และในวัฒนธรรมก็มีการเมืองซ่อนอยู่ในนั้น การเมืองไม่ได้สิงสถิตอยู่แค่ในรัฐสภา ในกองทัพ ในพรรคการเมือง ในรัฐธรรมนูญ แต่การเมืองสอดแทรกอยู่ในทุกอณูทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะในนิยาย ภาพยนตร์ ดนตรี ละครหลังข่าว ภาพเขียนศิลปะ แสตมป์ ปฏิทิน งานโฆษณา อาหาร สถาปัตยกรรม แบบเรียน อนุสาวรีย์ งานประติมากรรม ไปจนถึงพิธีกรรมต่างๆ ในพื้นที่หรือสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ซึ่งการศึกษาทางรัฐศาสตร์ในอดีตมักจะมองข้าม มองว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ใช่เรื่องการเมือง กลับถูกศึกษาเจาะลึกโดยนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ อย่างพิสดาร เปิดโปงให้ผู้อ่านเห็นการเมืองของการสร้างอัตลักษณ์และความหมายให้กับสรรพสิ่งต่างๆ ในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ จนเราหูตาสว่างไปหมด ไม่ว่าจะในมิติ ของการเมืองของความรู้ ความจริง หรือตัวตนของเราเอง

การต่อสู้ในเชิงการเมืองวัฒนธรรมเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจนำในการกำหนด หรือสร้างคำนิยามความหมายชุดใหม่ให้กับสิ่งที่เรียกร้องต่อสู้ มันอาจจะไม่ถูกมองเห็นอย่างชัดเจนโดยง่าย ถ้าไม่เพ่งมอง เพราะมันไม่ได้อยู่ในอาคารรัฐสภาหรือห้องประชุมคณะรัฐมนตรี การเมืองแบบนี้เป็นการเมืองที่มีความลื่นไหลเปลี่ยนแปลง ไม่หยุดนิ่งตายตัว เพราะเล็งเห็นว่าองค์ประกอบต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ค่านิยม จารีตประเพณี สถาบันต่างๆรวมทั้งตัวสังคมเองไม่ได้มีความหมายหรือสารัตถะที่แน่นอนเป็นแก่นแท้ตายตัว หากมีคุณลักษณะที่เปิดกว้างให้กลุ่มฝ่ายต่างๆ เข้ามาต่อสู้ช่วงชิงนิยามให้ความหมายแปรเปลี่ยนมันไปตามวาทกรรม เช่น ความหมายต่อคำว่า “ประชาธิปไตย” หรือ “เดโมเครซี” ที่ฝ่ายต่างๆ แย่งชิงกันกำหนดมาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 5 จวบจนกระทั่งปัจจุบัน ถามว่าต่อสู้ช่วงชิงความหมายกันทำไม ตอบว่า ก็เพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์และอำนาจของกลุ่มตน นิยามประชาธิปไตยแบบหนึ่งก็ให้อำนาจกับคนกลุ่มหนึ่ง ดังที่ชนชั้นสยามตั้งแต่โบราณชี้ชวนให้คนไทยเชื่อว่าประชาธิปไตยคือสิ่งแปลกปลอม เป็นของตะวันตก ไม่เหมาะกับสังคมไทย เพราะคนไทยให้ความสำคัญกับเสถียรภาพและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองมากกว่าเสรีภาพ คนไทยนิยมเชื่อฟังอำนาจและไม่ชอบความขัดแย้ง ถ้าจะมีประชาธิปไตยก็ต้องมีประชาธิปไตย “แบบไทยๆ” ในแบบฉบับของเราเองที่ไม่ซ้ำใคร คือมอบอำนาจเด็ดขาดให้กับผู้นำซึ่งเปรียบเสมือนพ่อขุนในสมัยโบราณที่ใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อประโยชน์สุข ของราษฎรและความสงบของบ้านเมือง ดังที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ได้ประดิษฐ์คำ ๆ นี้ขึ้น เพื่อให้ความชอบธรรมกับการปกครองแบบเผด็จการทหารของตน และเมื่อยึดกุมความคิดและจินตนาการของคนได้ จอมพลสฤษดิ์ก็ปกครองได้อย่างสะดวกราบรื่น

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ทางการเมืองในความหมายแบบการเมืองวัฒนธรรม เป็นการเมืองที่มีพลวัตแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่มีใครชนะหรือแพ้ทั้งหมดในการต่อสู้ทางการเมืองเช่นนี้ เพราะการครองอำนาจนำไม่เคยเป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตายตัว หากมีพลวัตเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงได้เสมอ การเมืองวัฒนธรรมจึงเป็นแนวคิดในการศึกษาการเมืองที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวการศึกษาแบบวัฒนธรรมการเมือง (political culture) ที่ครอบงำการศึกษารัฐศาสตร์กระแสหลัก โดยเฉพาะในสังคมไทย ซึ่งมองวัฒนธรรมแบบหยุดนิ่งไม่มีพลวัต โดยนิยามว่าวัฒนธรรมการเมือง คือ แบบแผนของความรับรู้ อารมณ์ความรู้สึก ความเชื่อ และชุดคุณค่าที่บุคคลในสังคมมีต่อระบบการเมืองและสถาบันการเมือง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนด “หน้าตา” ของการเมืองในสังคมนั้นให้ออกมาในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น มีความเชื่อว่าประเทศใดจะมีประชาธิปไตยที่มั่นคงได้ ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมในสังคมนั้นเป็นตัวกำหนด กระทั่งนำมาสู่คำอธิบายประหลาดๆ ว่า ประเทศในเอเชีย ละตินอเมริกา และแอฟริกา จำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างประชาธิปไตย เพราะคนในชาตินั้นมีวัฒนธรรมประจำชาติที่ไม่เหมาะสมกับประชาธิปไตย เช่น ขี้เกียจเฉื่อยชา ยึดถือเรื่อง บุญคุณ งมงาย ไม่นิยมความขัดแย้ง เชื่อฟังต่ออำนาจ ขาดระเบียบวินัย ฯลฯ การมองวัฒนธรรมในลักษณะที่ค่อนข้างเป็นแบบแผนอันหยุดนิ่งนี้ ทำให้การศึกษาเชิงวัฒนธรรมการเมืองมีแนวโน้มมองการเมืองแบบหยุดนิ่งตามไปด้วย

คำถามที่คนศึกษาวัฒนธรรมการเมืองมักจะลืมถามหรือไม่เคยถามเลย คือ สิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมประจำชาตินั้น ใครเป็นคนกำหนด ใครเป็นคนนิยาม และใครได้ประโยชน์จากการนิยาม ถ้าเริ่มถามแบบนี้เมื่อใด เราก็จะเห็นการเมืองที่ซับซ้อนมากขึ้น ที่ผ่านมาใครมีอำนาจนิยามความเป็นไทย ใครเขียนประวัติศาสตร์ ใครสร้างอนุสาวรีย์ ใครแต่งแบบเรียน ใครมีอำนาจชี้นำว่าวัฒนธรรมที่ดี/หนังสือที่ดี/ประเพณีควรมีรูปโฉมอย่างไร ใครเป็นผู้กำหนดว่าค่านิยมที่ดีของคนไทยควรประกอบด้วยอะไรบ้าง และ การกล่อมเกลาให้คนไทยซึมซับรับค่านิยมดังกล่าวนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างไร จะเห็นว่า ยิ่งถามก็ยิ่งชวนให้เราเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมนั้นไม่เคยปลอดจากอำนาจเลย

ในงานชิ้นต่างๆ ที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้ปรับประยุกต์ใช้แนวการศึกษาเชิงการเมืองวัฒนธรรมไปวิเคราะห์พื้นที่และสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ นวนิยาย อัตชีวประวัติของนักโทษการเมือง จดหมาย (พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7) เอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์และฝ่ายซ้ายในไทยและอินโดนีเซีย สิ่งพิมพ์ของนักศึกษา หนังสือรับน้องใหม่ หน้าปกหนังสือและนิตยสาร โปสเตอร์ ป้ายประท้วง ภาพถ่าย บทกวีคำกลอน รวมถึงเพลงและคำขวัญ ปลุกใจในการชุมนุม ทั้งนี้ บางชิ้นเคยตีพิมพ์มาก่อนในหนังสือและวารสารทางวิชาการ บางชิ้นยังไม่เคยเผยแพร่ในโลกภาษาไทย (บทความแปลเรื่องการเมืองวัฒนธรรมในการต่อสู้ของนักศึกษาไทย) ส่วนบางชิ้นก็นำมาปรับปรุงเขียนขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด (40 ปีราชาชาตินิยม)

ดังที่มีคำกล่าวว่า หนังสือทุกเล่มเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงและสติปัญญาของบุคคลจำนวนมากนอกเหนือจากผู้เขียนเสมอ สำหรับการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนอยากจะขอบคุณครูของผู้เขียน อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ที่ถ่ายทอดความรู้และทำให้ผู้เขียนหลงใหลในการเมืองวัฒนธรรม อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ กลายเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นต่อมสมองสนุกตื่นเต้น (กระทั่งหวาดเสียวในบางที) อันมีผลสร้างแรงบันดาลใจมหาศาลให้กับผู้เดินทางมาทีหลังอย่างผู้เขียนขอบคุณ “สิงห์ สนามหลวง” หรือคุณอาสุชาติ สวัสดิ์ศรีที่ทำให้ความรู้ ถ่ายทอดความจำ และแบ่งปันเอกสารล้ำค่าในทางประวัติศาสตร์หลายชิ้น และขอขอบคุณอาจารย์ณัฐพล ใจจริง หนอนหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองผู้คร่ำหวอดในการเก็บรักษาและศึกษาหนังสือเก่า ที่ช่วยให้ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าถึงหนังสือหายากจำนวนมากมาย นอกจากนั้นขอขอบคุณเพื่อนพ้องในวงวิชาการและลูกศิษย์หลายท่านที่คอยสนับสนุนในด้านต่างๆ ตลอดมา ตั้งแต่สมัยผู้เขียนเริ่มสอนหนังสือที่ช่วยตั้งคำถามและกระตุ้นให้ผู้เขียนขบคิดเกี่ยวกับ เรื่องประวัติศาสตร์และการเมืองวัฒนธรรมของไทยอย่างจริงจัง ขอขอบคุณหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้องหนังสือหายาก หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ห้องหนังสือหายาก หอสมุดวิทยบริการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่อำนวยความสะดวกในการใช้บริการหนังสือเก่าทั้งหลาย สุดท้าย ขอขอบคุณสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันและทีมงานที่ให้ความสนใจในผลงานของผู้เขียนเสมอมา ที่ช่วยรวบรวมบทความ จัดทำบรรณานุกรมและดัชนี หารูปประกอบ และ จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างประณีตสวยงาม เฉกเช่นเดียวกับหนังสือรวมบทความเล่มก่อนหน้านี้เรื่อง ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน

ในวันที่การเมืองไทยยังอยู่ในยุคสมัยแห่งความสับสนที่เปลี่ยน (ไม่) ผ่าน ผู้เขียนได้แต่หวังว่างานเขียนแต่ละชิ้นจะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยจากมุมมองของการเมืองวัฒนธรรม และในทางกลับกันก็มองเห็นการต่อสู้ในเชิงการเมืองวัฒนธรรมในบริบททางประวัติศาสตร์ ดังที่หนังสือนี้ตั้งชื่อไว้ มากไปกว่านั้น ผู้เขียนยังหวังใจลึกๆ ว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยส่องสะท้อนย้อนไปในประวัติศาสตร์ ลึกลงไปในระดับวัฒนธรรม และอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจว่า สังคมไทยเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

กันยายน 2558

อ่านต่อ >>