โลกของคนไร้บ้าน

ลดราคา!

฿207.00฿297.00


รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

บทกล่าวนำ นิธิ เอียวศรีวงศ์

คำนำผู้เขียน

บทที่ 1 จาก “คนเร่ร่อน” ถึง “คนไร้บ้าน”

บทที่ 2 เปิดประตูสู่โลกของคนไร้บ้าน

บทที่ 3 กว่าจะมาเป็นคนไร้บ้าน

บทที่ 4 การใช้ชีวิตรอดบนท้องถนน

บทที่ 5 วังวนของชีวิตคนไร้บ้าน

บทที่ 6 คนไร้บ้าน : ปรากฏการณ์ที่สังคมไทยต้องยอมรับ

ประวัติผู้เขียน

บรรณานุกรม

อภิธานศัพท์คนไร้บ้าน

ดรรชนี

ภาคผนวก คำประกาศรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์

“นี่บุญเลิศ ใช่มั้ย…” พี่ศรี (ชื่อสมมติ) พูดออกมา พร้อมเพ่งตามองหน้าผมอย่างไม่ค่อยแน่ใจ ก่อนจะออกปากต่อมาว่า “ใช่ ๆ บุญเลิศ จริงๆ ด้วย”

พี่ศรี เป็นคนไร้บ้านที่ผมสนิทด้วยมากที่สุดคนหนึ่ง ช่วงที่ผมเก็บข้อมูลเพื่อเขียนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขามานุษยวิทยา ที่สนามหลวง ระหว่างปี 2544-2546 วันหนึ่งในกลางเดือนตุลาคม 2559 ผมมาเดินที่สนามหลวง ช่วงที่ผู้คนมากมายหลั่งใหลกันมาทั่วทุกสารทิศเพื่อแสดงความไว้อาลัยแด่การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผมตั้งใจมาเดินสนามหลวง เผื่อว่าจะพบคนไร้บ้านที่ผมเคยรู้จักบ้าง เพราะคนไร้บ้านมักจะมางานเช่นนี้ งานที่มีแจกอาหารฟรี ส่วนคนอื่นๆ อย่างพี่ศรี ที่ไม่ได้สนใจเรื่องอาหารฟรีมากนัก ก็อาจมาที่นี่เพื่อมาขายพลาสติกปูนั่ง

“นี่บุญเลิศ เรียนจบปริญญาโท แล้วสินะ…. เฮ้ย ไม่ใช่สิ ต้องเรียกว่าจบปริญญาเอกสินะ นี่เราไม่ได้เจอกันตั้งหลายปี” พี่ศรีพูดรำพึงรำพันต่อไปว่า ผมกับแกไม่ได้เจอกันหลายปี อะไรต่อมิอะไรก็เปลี่ยนแปลงไปมาก แกพูดถึงผัวแกที่เลิกกันนาน แล้วไปได้เมียใหม่ ส่วนแกก็ยังกัดฟันขายพลาสติกปูนั่ง หาเงินจ่ายค่าเช่าห้องเอง แกไม่ได้เป็นคนไร้บ้าน ไม่ได้เป็น “ผี” เที่ยวตระเวนหากินฟรีรับแจกข้าวเหมือนคนอื่นๆ ส่วนลูกชายแกที่สนิทกับผมสมัยยังตัวเล็ก เดี๋ยวนี้ก็เป็นวัยรุ่นเต็มตัว ไม่ได้เรียน ไม่ได้ตามแม่ แล้วก็หากินอยู่แถววงเวียนใหญ่

จากนั้นพี่ศรีก็วกมาถามผม “บุญเลิศล่ะ เป็นยังไงบ้าง ตอนนี้สบายแล้วสิ เรียนจบดอกเตอร์แล้ว ทำงานสบาย เงินเดือนเท่าไหร่แล้วล่ะ เป็นหมื่นมั้ย” พี่ศรีถามแต่ยังไม่ทันที่ผมได้ตอบ แกก็พูดของแกคนเดียวต่อไป “โอ๊ยไม่ใช่สิ อย่างบุญเลิศ จบดอกเตอร์แล้ว เงินเดือนต้องไม่ใช่หมื่นเดียวแล้ว ต้องมากกว่าหมื่นสิ ใช่มั้ย โอ้โฮ สบายเลยนะ บุญเลิศ ไม่ต้องตากแดดเดินขายกระดาษเหมือนพี่”

คำทักทายเชิงรำพึงรำพันข้างต้นของพี่ศรี บ่งบอกอะไรหลายอย่างที่ผม ในฐานะผู้ศึกษาและผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ขอถือโอกาสหยิบยกบางประเด็นมาสนทนาและบอกกล่าวกับผู้อ่านที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ในการพิมพ์ครั้งที่สาม อย่างแรก ก็คือ เรื่องเล่าต่าง ๆ ใน “โลกของคนไร้บ้าน” เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2544-2546 หาก จะอ่านหนังสือเล่มนี้ในทศวรรษ 2560 ก็ต้องตระหนักว่าข้อเท็จจริง ๆ บางอย่างเปลี่ยนไปมากแล้ว ดังที่เห็นชัดๆ ว่า พลาสติกปูนั่งเคยขายแผ่นละ 10 บาทก็ขึ้นเป็น 20 บาทแล้ว การไล่จับคนไร้บ้านโดยเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ ก็ไม่ใคร่จะเห็นแล้ว พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของบ้านพักชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้าน ทั้งโดยองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น ศูนย์คนไร้บ้าน โดยมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และองค์กรของรัฐ เช่น บ้านอิ่มใจและบ้านอุ่นใจของกรุงเทพมหานคร บ้านมิตรไมตรี โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ในช่วงปี 2544-2546 นั้น สังคมไทยรู้จักคนไร้บ้านน้อยมาก คนที่นอนในที่สาธารณะมักถูกเรียกขานว่า “คนเร่ร่อน คนจรจัด” พร้อมกับภาพประทับตราตายตัวเชิงลบว่า พวกเขาเป็นคนที่น่ากลัว น่าหวาดระแวง สกปรกและน่ารังเกียจ คนไม่น้อย มีความไม่มั่นใจว่า ถ้าคนอย่าง “พวกเราๆ” ไปพูดคุยกับ “พวกเขา” แล้ว พวกเขาจะคุยด้วยหรือไม่ ดังนั้น งานของผู้เขียนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วจึงเป็น “การเปิดพรมแดน โลกของคนไร้บ้าน” ดังชื่อเต็มเมื่อครั้งยังเป็นวิทยานิพนธ์ กล่าวคือ เป็นการเผยเรื่องราววิถีชีวิตที่สังคมทั่วไปไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเข้าใจว่า พวกเขาเป็นใครมาจากไหน จึงมาใช้ชีวิตอยู่ข้างถนน แล้วชีวิตข้างถนนนั้นกินอยู่กันอย่างไร หากกล่าวให้เป็นภาษาวิชาการ ก็คือ ความพยายามตอบคำถามสามข้อว่า อะไรคือปัจจัยที่ผลักให้พวกเขามาเป็นคนไร้บ้าน พวกเขาใช้ชีวิตรอดบนท้องถนนอย่างไรโดยไม่ต้องเป็นมิจฉาชีพหรือประกอบอาชญากรรม รวมถึงมีความรู้สึกนึกคิดกันอย่างอย่างไร และเหตุใดพวกเขาจึงไม่สามารถหลุดพ้นจากภาวะไร้บ้าน

แต่หากจะพูดในภาษาที่เข้าใจง่ายๆ เรื่องเล่าใน “โลกของคนไร้บ้าน” เป็นความพยายามที่จะฉายภาพความเป็นมนุษย์ให้ผู้อ่านได้รู้จักว่า “พวกเขา” มีความเป็นมนุษย์เหมือน “พวกเรา” พวกเขาหัวร่อเป็นสนุกสนานเป็น ไม่ได้มีชีวิตที่มีแต่ความรันทด หดหู พวกเขาขบคิดกับการหาอยู่หากินบนท้องถนนในแบบที่คนนอกกลุ่มพวกเขาไม่เคยได้รับรู้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการไปรับแจกข้าวสารมาขาย ไปกินอาหารตามงานเลี้ยง ไปหาพลาสติกมาปูขาย หรือจะทำตัวเองให้ดูดีและบอกกับตัวเองอย่างไรว่า ชีวิตของตัวเองก็ไม่ได้แย่เลวร้าย ดังสะท้อนผ่านศัพท์เฉพาะในหมู่พวกเขา เช่น พวก “เดินชนตังค์” พวก “ผีทำเสีย” รวมถึงการสะท้อนความรู้สึกของพวกเขาว่า ทำไมพวกเขาจึงไม่อยากกลับไปหาญาติพี่น้อง เรื่องเล่าเหล่านี้ประกอบกันเข้าเพื่อหวังว่า สังคม และผู้อ่านจะเข้าใจพวกเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีอารมณ์ความรู้สึกไม่ต่างกับพวกเรา นี่คือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะสื่อสารตั้งแต่ปี 2546

อย่างไรก็ดี ด้วยเวลาที่ผ่านมาสิบกว่าปี มองในแง่ดี ผมเข้าใจว่า สังคมมองภาพคนไร้บ้านต่างไปจากเดิมไม่น้อย แม้ภาพเชิงลบจะมีเห็นเป็นข่าวบ้างก็ตาม แต่น้ำเสียงในการพูดถึงคนไร้บ้านที่ปรากฏผ่านสื่อในเชิงเห็นอกเห็นใจมีมากขึ้น มีจิตอาสา ทำกิจกรรมร่วมกับคนไร้บ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการยอมรับการมีตัวตนของคนไร้บ้าน อย่างมีนัยสำคัญทางด้านหน่วยงานรัฐ อย่างกระทรวงพัฒนาสังคมฯ กรุงเทพมหานคร และเทศบาลตามหัวเมืองต่างๆ ก็เปลี่ยนท่าทีจะมาไล่จับ ใช้เท้าเขี่ย ปลุกคนนอนแบบเมื่อก่อนไม่ได้ และเปิดโอกาสให้ตัวแทนกลุ่มคนไร้บ้านที่มีการรวมตัวกันได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาถึงนโยบายที่มีผลกระทบต่อพวกเขามากขึ้น แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม ด้านองค์กรพัฒนาเอกชน จากเดิมมีแค่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ที่ เริ่มทำงานกับคนไร้บ้าน ปัจจุบันก็มีหลายองค์กรมากขึ้น พร้อมกับเรื่องราวของคนไร้ บ้านที่ปรากฏทางสื่อบ่อยและหลากหลายประเด็นมากขึ้นในแวดวงวิชาการไทย ก็มีงานศึกษาและงานเขียนเกี่ยวกับคนไร้บ้านมากขึ้น ทั้งในสาขาสังคมสงเคราะห์ที่ศึกษาสถานสงเคราะห์ (ธนากร 2553) ในสาขาสังคมวิทยา ที่ศึกษาอดีตคนไร้บ้าน ที่เปลี่ยนผ่านไปสู่การมี “บ้าน” ใหม่ (ญาณิกา 2559) จนถึงงานเขียนสะท้อนชีวิตและประสบการณ์ของคนไร้บ้านจากผู้เขียนที่ทำงานวิจัยกับคนไร้บ้านและองค์กรพัฒนาเอกชน (อัจฉรา 2559) และสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ (รุสนี 2556)

ในแง่นี้ หากจะอ่านหนังสือโลกของคนไร้บ้านในปัจจุบัน จำเป็นต้องตระหนักถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากเรื่องเล่าต่างๆ ในหนังสือ แต่มิได้หมายความว่า หนังสือเล่มนี้จะตกยุคสมัย แม้รายละเอียดจะเปลี่ยนไป แต่โดยภาพรวมหนังสือเล่มนี้ยังให้ภาพชีวิตของคนไร้บ้านที่ยังดำรงอยู่ ผู้เขียนมีความยินดีที่ได้ทราบว่า หนังสือเล่มนี้ถูกนำไปใช้เป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอนในหลายสาขาข้ามพ้นพรมแดนของสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาไทย โดยเฉพาะบรรดาวิชาที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวิธีวิจัย อาจจะด้วยเพราะในแวดวงวิชาการไทย ไม่ใคร่จะมีงานที่ใช้แนวทางการศึกษาแบบที่เรียกว่า การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม (participant observation) อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการใช้วิธีการศึกษานี้ในสนามที่ผู้คนมีวิถีชีวิตแตกต่างกับตัวนักวิจัยอย่างมาก ซึ่งเรียกร้องการปรับเปลี่ยนตัวเองสูงนั่นคงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ถูกอ่านอย่างกว้างขวางและไม่ตกสมัย ผู้เขียนขอพักประเด็นนี้ไว้ก่อนและจะขอวกกลับมาในตอนท้าย

อีกเรื่องที่พี่ศรีคุยกับผู้เขียน และกระแทกความรู้สึกบางอย่างที่อยู่ในใจผมตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในฐานะคนทำวิทยานิพนธ์และเขียนหนังสือเล่มนี้ ผมถามตัวเองอยู่บ่อยครั้งว่า วิทยานิพนธ์และหนังสือเล่มนี้จะมีส่วนช่วยคนไร้บ้านให้มีชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร อันที่จริง ผมคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ตอนยังเขียนวิทยานิพนธ์ไม่เสร็จด้วยซ้ำ นักมานุษยวิทยารุ่นใหญ่ท่านหนึ่งช่วยชี้แนะผมว่า นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดที่คิดว่า นักมานุษยวิทยาจะไปช่วยอะไรคนเขาได้ นักมานุษยวิทยาไม่ได้ใหญ่โตมีอำนาจอะไร สิ่งที่นักมานุษยวิทยาทำได้ก็คือ เปิดพื้นที่ให้พวกเขา ให้คนไร้บ้านได้มีตัวตนในสังคมให้คนได้รับฟังเขา คำแนะนำของนักมานุษยวิทยาท่านนี้ ช่วยลดความกังวลใจไปได้มากทีเดียว

แต่ช่วงหลายปีมานี้ ความไม่สบายใจเรื่องนี้กลับมาอีกครั้ง เมื่อรับรู้ว่าคนไร้บ้านอีกไม่น้อยมีชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ อย่างพี่ศรียังคงขายกระดาษต่อไป แม้จะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบ มากกว่านั้น คนที่คุ้นเคยหลายคนจบชีวิตที่ข้างถนน ไม่ว่าจะเป็น พี่ศักดิ์ ที่มักจะไปเอาข้าวจากกุฏิในวัดบวรฯ มาแบ่งให้กิน พี่วิทย์กับเมีย คนเก็บของเก่าที่คอยห่วงใยผู้เขียนว่าจะตกเป็นเหยื่อของคนไร้บ้านคนอื่นก็ตายไปแล้ว ส่วนลูกเล็ก ๆ ของพวกเขาก็กระจัดกระจายกันไป ลุงจิตรที่คุยกับผู้เขียน นับแต่วันแรกๆ ที่ลงสนาม ก็จบชีวิตแล้ว ดีหน่อยที่ตายขณะพักอยู่ที่ศูนย์คนไร้บ้าน ไม่ใช่ข้างถนน ผู้เขียนนึกถึงคำแนะนำของนักมานุษยวิทยาท่านเดิมแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า สิ่งที่ผู้เขียนได้รับจากงานชิ้นนี้ ช่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งความก้าวหน้าในการศึกษา และการงาน แต่สิ่งที่คนไร้บ้าน “ผู้ถูกศึกษา” ได้รับนั้นช่างเป็นนามธรรมมาก คือ “การมีพื้นที่ มีตัวตน” ผู้เขียนมักถามตัวเองอยู่บ่อยๆ สิ่งที่คนไร้บ้านจะได้รับประโยชน์จากงานวิชาการจะมีรูปธรรมมากกว่า “การมีพื้นที่ มีตัวตน” หรือไม่

ถึงจุดนี้ ผู้เขียนเห็นว่า แม้งานศึกษาเกี่ยวกับคนไร้บ้านจะมีมากขึ้น นับแต่ โลกของคนไร้บ้าน ได้ปรากฏตัวขึ้น แต่งานศึกษาหลังจากนั้น ก็ไม่ใคร่จะตอบคำถาม ที่จะช่วยทำความเข้าใจคนไร้บ้าน คืบหน้าไปกว่าเดิมมากนัก โดยเฉพาะคำถามที่ว่าความต้องการของคนไร้บ้าน (ที่แม้จะมีความหลากหลาย) คืออะไร หากจะมีคนที่มี เจตนาดีที่จะช่วยเหลือคนไร้บ้าน อะไรคือสิ่งที่ควรจะทำ คำถามเหล่านี้เป็นประเด็นที่หนังสือเล่มนี้ยังไม่ได้แตะ และงานวิจัยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ก็ยังก้าวไม่ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคิดว่า วิธีการวิจัยแบบการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม มีจุดแข็งที่จะทำความเข้าใจวิธีคิดของ “คนอื่น” เข้าใจมุมมองของ “พวกเขา” คงจะเป็นการดีไม่น้อย หากจะมีนักวิจัยที่จะใช้การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม ผนวกกับวิธีอื่นๆ เพื่อค้นคว้าว่า จะมีแนวทางการสนับสนุนคนไร้บ้านที่สอดคล้องกับความต้องการของ พวกเขามากที่สุดได้อย่างไร เพื่อที่จะให้งานศึกษาวิจัยเกิดมรรคผลแก่คนที่เป็นเพื่อนมิตรของเราในสนามของการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมบ้าง

ผู้เขียนจะมีความยินดีไม่น้อย หากจะมีนักวิจัย นักวิชาการท่านอื่นๆ ได้ผลักให้ประเด็นการเข้าใจคนไร้บ้านขยับคืบหน้าไปกว่าการเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวพวกเขา ซึ่งกล่าวมากแล้วในงานชิ้นนี้ ไปสู่มิติอื่น ๆ ที่ยังขาดอยู่ในงานของผู้เขียน โดยวางอยู่บนการศึกษาภาคสนามที่เข้มข้น

ท้ายที่สุด ผู้เขียนขอขอบคุณหลายๆท่าน ที่มีส่วนสนับสนุนช่วยเหลือผู้เขียน ตั้งแต่ รศ. ดร. ม.ร.ว.อดินรพีพัฒน์ นักมานุษยวิทยาอาวุโส ที่ให้ความกรุณาเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์และสนับสนุนผู้เขียนตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ที่มีใจแก่คนไร้บ้านอย่างน่านับถือ ผศ.ดร. นลินี ตันฑุวนิตย์ ผู้ให้การสนับสนุนนผู้เขียนมากกว่าการเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์หลายเท่านัก อ.ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่กรุณาเป็นกรรมการและตัดสินใจพิมพ์วิทยานิพนธ์ของผู้เขียนทันที่ที่ได้อ่านจบ รศ. ดร. ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ ผู้ทำให้ผู้เขียนมั่นใจว่า วิธีการศึกษาแบบมานุษยวิทยา มีจุดแข็งโดยไม่ต้องหวั่นไหวกับกระแส รศ. อภิญญา เวชชยชัย อดีตคณบดีคณะ สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์ ที่กรุณาแนะนำให้ผู้เขียนได้รับทุนสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่มีอาจารย์เป็นร่มใหญ่ของโครงการ และพร้อมให้คำแนะนำติชมแก่ผู้เขียนดังกัลยาณมิตร ขอขอบคุณมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ชายคาที่ข้าพเจ้าเคยอยู่อาศัยจนเติบโตและก็ยังอาศัยพักพิงอยู่เสมอ ขอขอบคุณคณะกรรมการรางวัล ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ปี 2550 ที่มี ศ.ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์ เป็นประธาน ที่ได้มอบรางวัลอันทรงเกียรติให้กับหนังสือเล่มนี้ และขอขอบคุณ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้อีกครั้ง หลังจากขาดตลาดมาหลายปี

ท้ายที่สุด ขอขอบคุณอย่างสุดจิตสุดใจต่อพี่ ๆ น้อง ๆ ลุง ป้า ตลอดจนเด็กๆ ใน โลกของคนไร้บ้าน ชื่อจริงของท่านไม่ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ แต่ผมจดจำถึงน้ำจิตน้ำใจ ความห่วงใย และความรู้สึกหลาย ๆ รสชาติของทุกคนเสมอ

 

บุญเลิศ วิเศษปรีชา

รังสิต ปลายปี 2559