ศาลรัฐประหาร

ลดราคา!

฿315.00฿405.00


รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำผู้เขียน

บทนำ จาก “ตุลาการภิวัตน์” ถึง “ศาลรัฐประหาร”

บทที่ 1 ศาลกับระบอบรัฐประหาร

บทที่ 2 เมื่อศาลเผชิญหน้ากับรัฐประหาร

บทที่ 3 ศาลไทยกับรัฐประหาร

บทที่ 4 ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลรัฐประหาร

บรรณานุกรม

ประวัติผู้เขียน

ประวัติการตีพิมพ์

ดรรชนี

ศาลรัฐประหาร : ตุลาการ ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหาร (2560) ของปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นผลงานลำดับที่ต่อจาก รัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน (2559) เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่พัฒนามาจากบทความของผู้เขียนที่เคยตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ระหว่างช่วงปลายปี 2558 ถึงสิ้นปี 2559 ยกเว้นบทนำซึ่งเขียนขึ้นมาใหม่สำหรับการตีพิมพ์ครั้งนี้

เช่นเดียวกับเล่ม รัฐธรรมนูญ งานที่รวมอยู่ใน ศาลรัฐประหาร เป็นความพยายามของผู้เขียนที่จะเสนอประเด็นในเชิงโครงสร้าง-อุดมการณ์ เพื่อทดลองกำหนดวาระใหม่ของฝ่ายประชาธิปไตยให้แก่สังคมไทย มากกว่าจะเป็นการอภิปรายถกเถียงในประเด็นเชิงเทคนิควิธีทางกฎหมาย

ข้อเขียนของปิยบุตร แสงกนกกุล ทั้งหมดในที่นี้มีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่การสำรวจเชิงเปรียบเทียบถึงบทบาทของฝ่ายตุลาการในประเทศต่างๆ เมื่อเผชิญกับการรัฐประหารและระบอบเผด็จการ เชื่อมโยงไปถึงแนวความคิดและข้อถกเถียงเกี่ยวกับองค์กรตุลาการในระบอบการเมืองสมัยใหม่ โดยมีปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัตน์” กับการรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ของประเทศไทยเป็นฉากหลังและจุดตั้งต้นในการขบคิด

กล่าวสำหรับ “ตุลาการภิวัตน์” นั้น เป็นกระแสใหญ่ในสังคมไทยหลังจากมีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ต่อตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ซึ่งนำไปสู่ปฏิบัติการของฝ่ายตุลาการในการเพิกถอนการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 และถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้งในขณะนั้น ก่อนจะเกิดการรัฐประหารตามมา

กรณีดังกล่าวนับเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองอันสะท้อนลักษณะพิเศษยิ่งของอำนาจตุลาการในระบอบการเมืองของไทย ดังที่นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น ทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภาระบุว่า

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น… หากมีเหตุจำเป็นเรื่องด่วนที่จะต้องสงวนรักษาระบอบการปกครองและความสงบสุขแห่งราชอาณาจักรไว้ พระมหากษัตริย์ย่อมทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านทางศาลได้ ตามรัฐธรรมนูญ [พ.ศ. 2540] มาตรา 3 ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสแก่ประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ดังนั้น การปฏิบัติภารกิจของศาลตามที่ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมมา จึงเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ[1]

ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ให้สัมภาษณ์ในช่วงเวลาเดียวกันว่า

พระเจ้าอยู่หัวท่านครองราชย์มานาน พระองค์เห็นการเมืองมาโดยตลอดรัฐธรรมนูญก็หลายฉบับ และพระองค์ท่านก็เชี่ยวชาญในด้านรัฐธรรมนูญไม่น้อย ที่ท่านแก้ปัญหา [วิกฤตการเมืองปี 2549] ด้วยการให้ตุลาการเข้ามาแก้ ถือเป็นพระอัจฉริยภาพจริงๆ ที่คนธรรมดานึกไม่ออก[2]

            ข้อความข้างต้นแสดงถึงลักษณะของระบอบการเมืองไทยยุคหลัง ซึ่งเกษียร เตชะพีระ เสนอว่า นักนิติศาสตร์ไทยมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นช่างเทคนิคด้านอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ นำเสนอคำอธิบายที่ประสานหลักนิติธรรมให้เข้ากับพระราชอำนาจนำแห่งพระราชา และคอยเกลี่ยเชื่อมรอยต่อระหว่าง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” กับ “ระบอบอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแต่ไม่เป็นประชาธิปไตย” โดยรักษาพระราชอำนาจและประคับประคองสถานะความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์[3]

งานของปิยบุตร แสงกนกกุล เล่มนี้ จะยิ่งคลี่ให้เห็นแจ่มชัดขึ้นถึงแนวความคิด อุดมการณ์ และปฏิบัติการทางการเมืองในนามของ “กฎหมาย” ของนิติศาสตร์และตุลาการไทย โดยเฉพาะสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า “นิติรัฐประหาร” และ “ศาลรัฐประหาร”

ในแง่หนึ่ง ศาลรัฐประหาร : ตุลาการ ระบอบเผด็จการ และนิติรัฐประหาร จึงเป็นความรู้สึกนึกคิดแห่งยุคสมัยของนักนิติศาสตร์รุ่นใหม่ที่วิพากษ์และตอบโต้ต่อ “นิติรัฐประหาร” และ “ศาลรัฐประหาร” เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่นิติรัฐ-ประชาธิปไตย

ทว่าในอีกแง่หนึ่ง แม้ว่าตัวเขาเองจะเป็นนักนิติศาสตร์ แต่ปิยบุตร แสงกนกกุล กลับก้าวข้ามความเป็นนักนิติศาสตร์แบบที่เราคุ้นเคยกัน ด้วยการท้าทาย-ถอดรื้อความศักดิ์สิทธิ์ของ “กฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางกฎหมาย นักกฎหมาย ไปจนถึงองค์กรตุลาการ

กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ข้อเขียนในศาลรัฐประหาร เล่มนี้ได้คืน “ความเป็นการเมือง” ให้แก่ “กฎหมาย” เปลี่ยนสนามของกฎหมายที่เคยถูกทำให้เชื่อว่ามีความเป็นกลาง เป็นอิสระ มีความสมเหตุสมผล เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์แบบภาววิสัยให้กลายเป็นสนามการต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่อนุญาตให้ผูกขาดอยู่แต่ในมือของนักกฎหมายและ “คนใส่ชุดครุยบนบัลลังก์” อีกต่อไป

 

[1]หนังสือของนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา ถึงประธานวุฒิสภา ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2549, ใน “เปิดบันทึก ปธ.ศาลฎีกา เหตุคว่ำบาตร 3 กกต.” มติชนรายวัน, 2 มิถุนายน 2549, 2.

[2]มีชัย ฤชุพันธ์, สัมภาษณ์โดยหทัยกาณจน์ ตรีสุวรรณ, ใน “6 ทศวรรษ… อัจฉริยภาพทางรัฐธรรมนูญ,” มติชนรายวัน, 12 มิถุนายน 2549, 11.

[3]ดู เกษียร เตชะพีระ, “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : ที่มาและที่ไป” ฟ้าเดียวกัน9, 1 (มกราคม-มีนาคม 2254) : 107-10.

อ่านต่อ >>

หลักการแบ่งแยกอำนาจเรียกร้องว่า อำนาจในการตรากฎหมาย (อำนาจนิติบัญญัติ) อำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย (อำนาจบริหาร) และอำนาจในการชี้ขาดข้อพิพาท (อำนาจตุลาการ) ต้องไม่รวมอยู่ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง องค์กรนิติบัญญัติ องค์กรที่ใช้อำนาจบริหาร และองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการต้องตรวจสอบและถ่วงดุลกัน จากหลักการแบ่งแยกอำนาจนี้เอง เรามักเชื่อต่อกันมาว่า “การเมือง” อยู่ในแดนขององค์กรนิติบัญญัติและองค์กรบริหาร “การเมือง” เป็นเรื่องของประชาชนเลือกสมาชิกรัฐสภา และรัฐบาล จากนั้นรัฐสภาก็ตรากฎหมาย และรัฐบาลก็บริหารประเทศไปฝักฝ่ายทางการเมืองต่าง ๆ ก็ต่อสู้กดดันกันไปผ่านรัฐสภา รัฐบาล และภาคสังคม ส่วนองค์กรตุลาการใช้อำนาจในแดนที่เกี่ยวข้องกับ “กฎหมาย” เป็นองค์กรที่ตรวจสอบว่าองค์กรอื่นๆ เคารพกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น ศาลทั้งหลายจึงชี้ขาดเรื่อง “กฎหมาย” ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ “การเมือง”

ความเชื่อเช่นว่านี้ทำให้ศาลกลายเป็นองค์กรที่เป็นกลาง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ศาลใช้อำนาจในนามของ “กฎหมาย” ส่วนเรื่องของ “การเมือง” ก็ให้รัฐบาล รัฐสภา ประชาชน และภาคสังคมต่อสู้แย่งชิงกันไป นานวันเข้าศาลจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นองค์กรที่ชี้ถูกชี้ผิดดัง the last say

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญคือการทำให้ “การเมือง” กลายเป็น “กฎหมาย” การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยศาลก็คือการตรวจสอบเรื่อง “การเมือง” ที่ถูกทำให้กลายเป็นการตรวจสอบโดยใช้ “กฎหมาย” เป็นเกณฑ์ กฎหมายปกครองและกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินทำให้ “การใช้อำนาจของรัฐในชีวิตประจำวัน” กลายเป็นเรื่อง “กฎหมาย” การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจขององค์กรเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองโดยศาลก็คือการตรวจสอบเรื่อง “การบริหารราชการแผ่นดิน” ที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่อง “กฎหมาย”

การเกิดขึ้นของ “รัฐธรรมนูญนิยม” (Constitutionalism) การแพร่หลายของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร การจัดทำรัฐธรรมนูญให้ได้มาตรฐานตามแบบนิติรัฐ-เสรีประชาธิปไตย การเกิดขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง การเกิดขึ้นของระบบการตรวจสอบกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญและระบบการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง รวมถึงการเกิดขึ้นและพัฒนาการของวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและวิชากฎหมายปกครอง ทั้งหลายทั้งปวงคงเป็นประจักษ์พยานได้ดีว่า เรื่องเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการต่อสู้กันทางการเมืองทั้งสิ้น สิ่งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่หลักการแบบ dogmatic แต่เป็นผลผลิตของการต่อสู้ช่วงชิงระหว่างความคิดต่างๆ อย่างยาวนาน

เมื่อเรื่องการเมือง เรื่องอำนาจ ถูกแปลงให้กลายเป็นกรอบกติกา เป็นกฎเกณฑ์ที่อยู่ในรูปของ “กฎหมาย” ยามใดที่ศาลใช้อำนาจในนาม “กฎหมาย” ศาลจึงไม่อาจหลีกหนี “การเมือง” ได้พ้น ไม่ว่าศาลจะพยายามหลีกหนี “การเมือง” เพื่อให้ “กฎหมาย” บริสุทธิ์ผุดผ่องก็ดี ไม่ว่าศาลประสงค์เล่น “การเมือง” แต่เอา “กฎหมาย” บังหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรมก็ดี ทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้ศาลเกี่ยวข้องกับการเมือง มีบทบาท ในทางการเมืองโดยผ่านการตัดสินคดีอยู่เสมอ ดังนั้น ศาลจึงเป็น “ผู้เล่นทางการเมือง” (political actor) ตัวหนึ่งในระบบแห่งอำนาจที่ตีกรอบไว้ในชื่อของ “รัฐธรรมนูญ”

กล่าวโดยเฉพาะกรณีประเทศไทย ศาลเข้ามามีบทบาททางการเมืองเป็นที่ประจักษ์ชัดมากขึ้นนับตั้งแต่การกำเนิดขึ้นของ “ตุลาการภิวัตน์” ซึ่งธีรยุทธ บุญมี สร้างคำนี้ขึ้นมาภายหลังมีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 แรกเริ่มเดิมที สังคมไทยคาดหวังว่า “ตุลาการภิวัตน์” จะเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขวิกฤตการเมืองไทย แต่จนวันนี้ นอกจากจะแก้ไขวิกฤต ไม่ได้แล้ว “ตุลาการภิวัตน์” ยังกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วิกฤตการเมืองไทยหยั่งรากลึกลงไปอีกด้วย

ผลงานของ “ตุลาการภิวัตน์” ชี้ชวนให้เห็นว่า ศาลเป็นผู้เล่นทางการเมือง การตัดสินคดีของศาลคือการกระทำที่เกี่ยวข้องกับแดนทางการเมือง และการนำ“กฎหมาย” มาใช้จัดการวิกฤตการเมืองไม่มีวันสำเร็จได้อย่างถาวร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนำมันมาใช้อย่างไม่ได้มาตรฐาน ไม่เสมอภาค เพื่อรับใช้วัตถุประสงค์ทางการเมือง

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมข้อเขียนต่าง ๆ ของผมที่เกี่ยวกับบทบาทของศาลในทางการเมือง บทบาทของศาลในระบอบเผด็จการ ทัศนคติของศาลที่มีต่อรัฐประหาร อุดมการณ์และความคิดของศาล ซึ่งตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์ “นิติศาสตร์เพื่อราษฎร” ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 ถึงธันวาคม 2559 ผมตั้งใจเขียนบทความชุดนี้เพื่อต้องการกระตุ้นเตือนให้เห็น “ความเป็นการเมือง” ของศาล นักกฎหมายอาจวิจารณ์คำพิพากษาของศาล แต่นักกฎหมายโดยทั่วไปก็ไปไม่ถึงการถอดรื้อศาล พวกเขาหมกมุ่นอยู่กับการวิจารณ์คำพิพากษาโดยใช้ “นิติวิธี” ตรวจสอบตรรกะและความสมเหตุสมผลของการวินิจฉัยในคำพิพากษา แต่ถ้าให้วิจารณ์และตรวจสอบจนนำไปสู่การถอดรื้อกฎหมายและศาลนั้น พวกเขาจะปฏิเสธทันที ดังที่ปรากฏให้เห็นจากกรณีที่แวดวงนิติศาสตร์ไม่ยอมรับการศึกษาตามแนวทางสำนักนิติศาสตร์เชิงวิพากษ์ (critical legal studies) งานเชิงวิพากษ์ศาลในลักษณะถอดรื้อจึงตกไปอยู่ในมือของนักรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ และนักสังคมศาสตร์มากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะว่า หากนักกฎหมายถอดรื้อความคิดหรือโครงสร้างของความเป็นศาลและความเป็นกฎหมายแล้ว ก็เท่ากับเป็นการทำลายวิชานิติศาสตร์ไป หากวิชานิติศาสตร์สั่นคลอน ถูกท้าทายจน มีผู้คนตั้งข้อสงสัย แล้วต่อไปพวกเขาจะผูกขาดอำนาจในนาม “กฎหมาย” หรือผูกขาดอำนาจผ่านความรู้ทาง “นิติศาสตร์” ได้อย่างไร ฉะนั้น นักกฎหมายจึงอาจเถียงกัน แต่การถกเถียงกันของพวกเขาคงไม่มีทางนำไปสู่การทำลายแหล่งทรัพยากรในการทำมาหากิน ความขัดแย้งในหมู่นักกฎหมายคงไม่มีวันไปถึง “การทุบหม้อข้าว” ของตนเองเป็นแน่

การศึกษาความเป็นการเมืองของศาลและความเป็นการเมืองของกฎหมาย ยังเป็นการแข่งขันกันระหว่างนิติศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ ด้วย ยามใดที่นักรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ หรือนักสังคมศาสตร์วิเคราะห์ความเป็นการเมืองของศาล พวกนักกฎหมายจะละเลยไม่ให้ความสนใจ หรือหากให้ความสนใจ พวกเขาก็พร้อมตอบโต้ กลับไปว่า “พวกคุณไม่ใช่นักกฎหมาย คุณไม่เข้าใจวิชานิติศาสตร์ ไม่รู้จักนิติวิธี วิธี การศึกษาของพวกคุณไม่ใช่นิติศาสตร์” ส่วนผมเองถูกฝึกมาทางนิติศาสตร์และถูกแปะป้ายให้เป็นนักกฎหมาย เมื่อนักกฎหมายมาวิเคราะห์ความเป็นการเมืองของศาล ก็น่าจะช่วยลดทอนข้อจำกัดนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย

สำหรับการตีพิมพ์ครั้งนี้ ผมขอขอบคุณคุณฐากูร บุนปาน และกองบรรณาธิการ มติชนสุดสัปดาห์ ที่ให้โอกาสผมเขียนคอลัมน์รวมทั้งอดทนรอต้นฉบับที่ส่งอย่างล่าช้าและไม่สม่ำเสมอ ขอขอบคุณคุณธนาพล อิ๋วสกุล คุณชัยธวัช ตุลาธน คุณสังคม จิรชูสกุล และกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ช่วยกันเรียบเรียงและปรับปรุงบทความต่างๆ จนออกมาเป็นหนังสือได้อย่างสมบูรณ์

ในจดหมายที่ฟรานซ์คาฟกา (Franz Kafka) เขียนถึง ออสการ์พอลลัก (Oskar Polak) ลงวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1904 มีข้อความตอนหนึ่งว่า

เราต้องการหนังสือที่ทำให้รู้สึกทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากโชคร้าย ดังความตายของคนที่เรารัก เฉกเช่นเราถูกปล่อยทิ้งไว้กลางป่าร้างไกลผู้คน เสมือนเราปรารถนาฆ่าตัวตาย หนังสือต้องเป็นดังขวานที่ฟาดน้ำแข็งที่ห่อหุ้มกายเรา

ผมหวังว่าหนังสือเล่มนี้พอจะเป็น “ขวานที่ฟาดน้ำแข็งที่ห่อหุ้มกายเรา” ได้บ้าง ช่วยทำให้คนไทยได้ตื่นรู้ และมีมุมมองใหม่ต่อศาลว่าศาลไม่ใช่องค์กรที่เป็นกลางและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ศาลเป็นผู้เล่นทางการเมืองมีบทบาททางการเมืองผ่านการตัดสินคดี การตรวจสอบถ่วงดุลกับศาลจึงต้องเริ่มต้นจากการถอดรื้อความศักดิ์สิทธิ์ของศาล ทำให้ศาลลงมาอยู่ในระนาบเดียวกับองค์กรทางการเมืองอื่นๆ การวิจารณ์ การใช้อำนาจตอบโต้ และการประท้วงศาลนั้น เป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ที่แต่ละองค์สามารถใช้อำนาจตอบโต้ถ่วงดุลกันเพื่อหาจุดดุลยภาพแห่งอำนาจ หากศาลยังคงถือ “อำนาจ” (authority) บังคับให้บุคคลต้องเชื่อ ผ่านกลไกทางกฎหมาย วัฒนธรรม และอุดมการณ์ดังเช่นทุกวันนี้โดยไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุล เราก็ไม่มีทางที่จะเหนี่ยวรั้งกระบวนการ “ตุลาการภิวัตน์” ได้เลย

การทำงานทางความคิดและการปลูกฝังความคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking : la pensée critique) ต่อศาลย่อมกระแทกเข้ากล่องดวงใจของศาล เสมือนเป็น “รัฐประหารศาล” เพื่อไม่ให้ศาลเป็น “ศาลรัฐประหาร” และเพื่อเปลี่ยนให้ศาลเป็น “ศาลประชาธิปไตย”

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล

19 กันยายน 2560

ครบรอบ 11 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

กรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปารีส

อ่านต่อ >>