วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ ฝรั่งเศส

ลดราคา!

฿337.00฿427.00


รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

บทบรรณาธิการ

คำนำพิมพ์ครั้งที่ 1

คำนำพิมพ์ครั้งที่ 2

คำนำในการแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 3

บทที่ 1 ระบบฟิวดัล

บทที่ 2 การฟื้นฟูเศรษฐกิจเงินตรา การเกิดเมือง และผลกระทบต่อระบบฟิวดัล

บทที่ 3 รัฐในระบบฟิวดัลยุคหลัง

บทที่ 4 การสิ้นสุดของยุคกลางและวิวัฒนาการรัฐ

บทที่ 5 การขยายพรมแดนของระบบเศรษฐกิจโลกและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม

บทที่ 6 รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฝรั่งเศส

บทที่ 7 รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์อังกฤษ

บทที่ 8 การปฏิวัติอังกฤษ

บทที่ 9 การปฏิวัติฝรั่งเศส

บทที่ 10 อังกฤษและฝรั่งเศส : สงครามและการสร้างรัฐ

บทสรุป

ประวัติผู้เขียน

บรรณานุกรม

ดรรชนี

อ่านต่อ >>

วาระครบรอบ 72 ปี รศ.ดร. กุลลดา เกษบุญชู มี้ด

ในวาระ 72 ปี รศ. ดร. กุลลดา เกษบุญชู มีด หรืออาจารย์กุลลดา ผู้มากด้วยปิยศิษย์ และมิตรสหาย ในฐานะเป็นศิษย์นอกห้องเรียน ผู้เขียนได้รับเกียรติและความไว้วางใจเป็นอย่างมากให้มีส่วนร่วมในโครงการจัดพิมพ์ผลงานทางวิชาการในโอกาสสำคัญเช่นนี้ ทั้งยังขอให้เขียนข้อความเพื่อบอกเล่าวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และไลฟ์ไทม์แมสเสจของอาจารย์ในคราวเดียวกันด้วย

หลังจากตรึกตรองด้วยปัญญาอันจำกัดและโอกาสที่ได้เรียนรู้จากทั้งผลงาน การสนทนาที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการและทัศนคติต่อปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทยโดยเชื่อมโยงกับประชาคมโลกนับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงจุดสิ้นสุดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ผู้เขียนเห็นว่าแนวคิดหลักและรูปแบบการดำเนินของสถานการณ์หลายประการยังสามารถใช้อธิบายหรือเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดต่อไปในอนาคตได้อย่างมีเหตุผลยิ่ง ผู้เขียนพบว่าคุณลักษณะที่ทำให้อัตลักษณ์และผลงานทางวิชาการของอาจารย์กุลลดาควรค่าแก่การศึกษา คือ ความสามารถและความกระตือรือร้นในการเชื่อมโยงบุคคลหลากหลายบทบาทจากห้วงเวลาต่างกันของผู้มากประสบการณ์เชิงประจักษ์กับสถานการณ์ที่สนใจ และทรงความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์นั้นๆ

ความถ่อมตัวเชิงวิชาการในการรับฟังแนวคิดและวิธีการให้เหตุผลจากผู้รู้จริงในแต่ละด้าน บุคคลเหล่านี้ได้ก้าวข้ามขอบเขตทางวิชาชีพมาเป็นมิตรสหาย ทั้งนี้ด้วย จิตที่เปิดกว้าง บุคลิกที่สนุกสนาน ทัศนคติเชิงบวก ความไว้วางใจ และที่ปฏิเสธไม่ได้คือฝีมือด้านการประกอบอาหารของอาจารย์ หากท่านได้ผ่านไปมาในย่านถนนเศรษฐศิริ 2 ท่านจะพบบ้านหลังหนึ่งที่มีบุคคลหลากหลาย ทั้งด้านวัย พื้นฐานทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ อาชีพ แนวคิด กำลังสนทนาในหัวข้อสารพ้นจากเที่ยงวันยันเที่ยงคืน ทั้งนี้ ก็เพราะอาจารย์มีบทบาทเป็นผู้ประสานหรือ link ของบุคคลเหล่านี้ ข้อมูล ขอบเขต ความรู้ที่ช่วยให้ชิ้นข้อมูลรวมกันเป็นภาพใหญ่ของสังคมโดยแสดงให้เป็นพลวัตของภาคส่วนต่างๆ ที่มิได้ดำเนินไปแบบแยกส่วนจากกัน ผู้เขียนขอขยายความบทบาทผู้ ประสานของอาจารย์ออกเป็น 4 ฐานะคือ (1) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ (2) ครู (3) ปัญญาชนสาธารณะ และ (4) ประชาชน

ในฐานะ นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ อาจารย์เป็นตัวประสานระหว่าง “คำถาม” และ “คำตอบ” โดยอาจารย์ให้ความสำคัญกับคุณภาพของแหล่งข้อมูลโดยสืบค้นจากหลักฐานชั้นต้นจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ หากเป็นไปได้หรือการศึกษาจากเอกสารและหลักฐานทุติยภูมิเช่นงานวิจัยหรือบทความต่างๆ ในกรณีที่จำเป็น งานวิจัยและผลงานทางวิชาการของอาจารย์สามารถแสดงอรรถาธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสยามโดยสัมพันธ์กับระบบโลกตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา โดยแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของผู้นำในการเลือกระดับและวิธีการในการปฏิสัมพันธ์กับตัวแสดงและปัจจัยภายนอกด้วย การร้อยเรียงหลักฐานที่น่าเชื่อถือและการวิพากษ์ที่ซื่อสัตย์ต่อหลักฐานและหลักวิชา

ในฐานะของนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ที่มุ่งแสวงหาคำตอบและความจริงเกี่ยวสังคมการเมือง และนักวิชาการรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นที่การสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับสังคมการเมืองโลก รวมถึงเหตุการณ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น หากจะพูดถึงแก่นหรือแนวทางในการทำงานทางรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอาจารย์กุลลดา นั่นคือการเข้าใจสยามและไทย ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบโลกในแต่ละยุคสมัย ที่ซึ่งสยามและไทย ล้วนอยู่ภายใต้โครงสร้างหรือระบบที่ควบคุมทิศทางและชะตากรรมของประเทศนี้ไว้ การจะเข้าใจสยามและไทยจึงจะต้องมองอยู่บนความสัมพันธ์ทางอำนาจของระบบโลกและมหาอำนาจในยุคต่างๆ โดยที่หากกล่าวให้อย่างรวบรัดที่สุดนั้น ชีวิตการทำงานของอาจารย์ในฐานะผู้ศึกษาและบรรยายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจารย์ได้ทำการศึกษาวิจัยและชี้ชวนให้เรามองเห็นสยามและไทยในระเบียบเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงในห้วงเวลา 1 ศตวรรษ

ระเบียบเศรษฐกิจโลกชุดแรกที่อาจารย์ศึกษาคือ ความสัมพันธ์ของสยามกับระเบียบเศรษฐกิจโลกยุคอาณานิคม โดยศึกษาการเปลี่ยนแปลงโดยมีจุดเริ่มต้นที่สนธิสัญญาเบาวิ่ง ซึ่งการดิ้นรนและการปรับตัวเพื่อต่อรองและรักษาสถานภาพทางอำนาจจากระเบียบเศรษฐกิจโลกยุคอาณานิคม ได้กลายเป็นข้อเสนอสำคัญยิ่งของอาจารย์เพื่อแสดงให้เห็นว่าระเบียบทางการเมืองและการเปลี่ยนผ่านสู่สยามสมัยใหม่นั้น เกิดขึ้นจากกลไกภายนอกเป็นสำคัญ

การทำงานอย่างต่อเนื่องของอาจารย์เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าสยามและไทยยังคงอยู่ภายใต้ระเบียบเศรษฐกิจโลก แต่ว่าเป็นระเบียบเศรษฐกิจโลกชุดใหม่ อาจารย์ค้นคว้าและทำการวิจัยเพื่อที่จะทำให้เห็นความสัมพันธ์ของรัฐไทยภายใต้ระเบียบเศรษฐกิจโลกในยุคสงครามเย็น ต่อเนื่องมาจนถึงงานที่มุ่งเน้นให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของรัฐ การดำเนินนโยบาย และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภายใต้ระเบียบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเป็นระเบียบเศรษฐกิจโลกร่วมสมัยที่กำลังถูกท้าทาย และรอวันเปลี่ยนผ่าน

โดยที่เหตุการณ์เชื่อมเหตุการณ์ คนเชื่อมคน ความคิดและอุดมการณ์ที่ถูกส่งผ่านล้วนเป็นผลจากการตัดสินใจในอดีต ในฐานะที่ความสนใจทางวิชาการของอาจารย์นั้นกว้างขวางข้ามยุคสมัย ตั้งแต่การก้าวเข้าสู่สยาม-ไทยสมัยใหม่ จนถึงประเทศไทยยุคใกล้ และยังคงต่อเนื่องมาจนถึงเหตุการณ์ร่วมสมัย คุณค่าของงานและตัวตนของทางวิชาการของอาจารย์จึงเป็น “ผู้ประสาน” ที่เปิดประตูให้เรามองเห็นคำอธิบาย เพื่อเชื่อมโยงสยามและไทยในมิติสัมพันธ์ของโครงสร้างอำนาจโลกก็คงไม่ผิดนัก

ในฐานะ ครู เรารู้จักอาจารย์ในบทบาทของอาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาหลายทศวรรษ แต่ในฐานะที่ผู้เขียนเองไม่ใช่ “ศิษย์ในห้องเรียน” โดยตรง ไม่เคยฟังการบรรยายในห้องเรียนของอาจารย์แม้แต่ครั้งเดียว แต่มีโอกาสได้รู้จักอาจารย์ผ่านงานวิชาการมานานนับสิบปีก่อนจะได้พบปะใกล้ชิดกันในช่วง 2-3 ปีหลัง

จากการสัมผัสตัวตนของอาจารย์ ความรู้สึกและความคิดจากบรรดามิตรสหายที่เป็น “ลูกศิษย์ในห้อง” บทบาทที่สะท้อนตัวตนของอาจารย์คือการเป็น “ผู้ประสาน” ระหว่างลูกศิษย์และความรู้ โดยการเป็นทั้งผู้บรรยาย (lecturer) ที่เตรียมตัวอย่างหนักในการทำวิจัยและค้นคว้าเพื่อประกอบการสอน ผู้ให้คำชี้แนะ (mentor) ที่พร้อมจะให้คำปรึกษา คำแนะนำทั้งในทางวิชาการก็ดีและในทางชีวิตส่วนตัวก็ดี กระทั่งเป็น สหายร่วมรบให้กับลูกศิษย์ อาจารย์พร้อมจะเปิดโอกาสให้ลูกศิษย์มาร่วมงานด้วยเสมอ และพร้อมที่จะให้เกียรติ ให้โอกาส และยกย่องในผลงานของลูกศิษย์หลาย ๆ คน

ซึ่งตัวตนของอาจารย์ได้ส่งผ่านยัง “ศิษย์นอกห้อง” อย่างผู้เขียน โดยที่ห้องเรียนของอาจารย์ไม่ได้จำกัดอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เป็นทุกที่ที่สามารถพูดคุย และแลกเปลี่ยนความคิด บทบาทของอาจารย์จึงไม่ใช่แค่อาจารย์ในห้อง แต่เป็น “ครู” ผู้เป็นประสาน ความรู้ วินัย และความจริงให้กับลูกศิษย์

ในฐานะ ปัญญาชนสาธารณะ อาจารย์กุลลดาเป็นปัญญาชนสาธารณะที่ทำให้เห็นว่าปัญญาชนสาธารณะนั้นมีหลายประเภท แต่อาจารย์เป็นประเภทที่ไม่ต้อง “พูดบ่อย” และไม่ได้ต้องการพื้นที่ในการ “พูดรายวัน” และไม่จำเป็นต้องเป็นหัวขบวนในทุกๆ เรื่อง แต่เมื่ออาจารย์พูด ความเห็นของอาจารย์นั้นควรค่ายิ่งแก่การรับฟังเสมอ เพราะอาจารย์แสดงความเห็นจากประสบการณ์ในการค้นหาความจริง

เป็นเพราะอาจารย์กุลลดาที่พวกเรารู้จักนั้น ทำหน้าที่อย่างแข็งขันในการให้การศึกษาแก่สาธารณะ ผ่านการทำงานทางวิชาการที่เกี่ยวกรำและเข้มข้น และหลายครั้งที่ผู้อ่านงานของอาจารย์ต่างรู้สึกว่า อาจารย์กำลังเล่นบทบาท เป็นเสมือน “นักสืบ” และ “ประจักษ์พยาน” ของแต่ละเหตุการณ์การตั้งคำถาม การแสวงหาหลักฐาน และร้อยเรียงคำอธิบายตั้งแต่เมื่อสยามเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ผ่านมาจนถึงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านอุปสรรคและพงหนาม เรื่อยมาจนถึงความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน

ในฐานะ ประชาชน อาจารย์เป็นผู้ประสานกับความจริง ความจริงที่ว่าประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเป็นธรรมเป็นหลักการสูงสุดที่อาจารย์ยึดมั่น และตั้งใจจะส่งต่อในผลงานหลายชิ้น คือการพยายามสร้างความต่อเนื่องของการแสวงหาสาเหตุ และคำตอบของความล้มเหลวในการหยั่งรากของคุณค่าเหล่านั้นในสังคมไทย โดยที่เราสัมผัสได้เสมอว่าหลักการเหล่านี้เป็นเข็มทิศนำทาง เป็นคุณค่าสำคัญยิ่งในการหาความจริง และศึกษาความจริง

ดังนั้นในวงสนทนาเล็ก ๆ ที่บ้านของอาจารย์จึงเริ่มมีความคิดว่าในวาระครบรอบ 72 ปีของอาจารย์กุลลดา เราจำเป็นจะต้องมีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด และประกอบกับอาจารย์กุลลดาเองก็มีดำริส่วนตัวที่อยากจะนำงานหลายชิ้นกลับมาพิมพ์ใหม่ รวมไปถึงงานบางชิ้นที่ยังไม่เคยเผยแพร่ในวงกว้างจะได้รับการตีพิมพ์ไปในคราวเดียว

พวกเราจึงเสนอว่าน่าจะถือโอกาสครบรอบ 72 ปี ของอาจารย์ ในการที่จะจัดพิมพ์ “ให้พิเศษ” กว่าการจัดพิมพ์ทั่วไปสักเล็กน้อย ให้เป็นหมุดหมายว่าเป็นนัยแห่งการเฉลิมฉลองและมุทิตาคารวะจิต พร้อมกับการส่งผ่านข้อความ และข้อคิดของอาจารย์แก่สาธารณะไปในคราวเดียวกัน โดยผู้ที่ร่วมขบวนการนี้ของให้ได้รับการบันทึกไว้ประกอบด้วย คุณอภิรักษ์ วรรณสาธพ, คุณรจนมน ใจสมุทร และคุณณัฐพงศ์โชติกเสถียร และรวมไปถึงผู้อยู่ไกลอย่างคุณเก่งกิจ กิติเรียงลาภ และคุณจิตติภัทร พูน ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของลูกศิษย์และมิตรสหายของอาจารย์ และได้มอบหมายให้ผู้เขียน ซึ่งเป็นศิษย์ผู้เยาว์ที่สุด ในการดำเนินการช่วยเหลือใด ๆ ก็ตามที่จะให้โครงการฯ ดำเนินการอย่างลุล่วง อย่างไรก็ดีหากโครงการฯ นี้มีประโยชน์อยู่บ้าง ความดีงาม ทั้งปวงนั้นเป็นของ รศ. ดร. กุลลดา เกษบุญชู มีด และหากมีความบกพร่องแม้เพียงนิดเดียว ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้อำนวยการ ขอน้อมรับความผิดแต่เพียงผู้เดียว

หนังสือ วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ ฝรั่งเศส ในกระแสเศรษฐกิจโลก จากระบบฟิวดัลถึงการปฏิวัติ เล่มนี้นั้น เป็นงานที่คลาสสิก ที่เป็นตำราพื้นฐานสำหรับผู้ที่สนใจประเด็นเรื่องรัฐและวิวัฒนาการรัฐเปรียบเทียบ ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ คือการเป็น “เครื่องมือในการประสานประสบการณ์” ระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส และส่งผ่านสู่บทเรียนสำหรับประเทศไทย โดยในการพิมพ์ครั้งนี้ ผู้เขียนในฐานะบรรณาธิการได้ขอให้อาจารย์เขียนบทเพิ่มเติม เพื่อที่จะทำให้เห็นภาพจากประสบการณ์ของอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งในบทแก้ไขเพิ่มเติมนั้นอาจารย์กุลลดา ได้สรุปอย่างน่าสนใจว่า ถ้าหากอุดมการณ์ที่เป็นแรงปรารถนาของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมรดกตกทอดจากฝรั่งเศสคือการปฏิวัติ (revolutionary) มรดกของการเปลี่ยนของอังกฤษ คือการปฏิรูป (reform) ทั้งนี้ในทรรศนะของอาจารย์ที่แสดงอย่างชัดเจนในบทนี้ อาจารย์มองว่าบทเรียนจากการปฏิรูป และจิตวิญญาณของการเปลี่ยนผ่านจากอังกฤษควรจะต้องได้รับการพูดถึงอย่างรอบด้าน ที่จะส่งผลต่อการก่อร่าง-สร้างรัฐที่ดำเนินอยู่ในสังคมไทย ในขณะที่อาจารย์ก็ได้เตือนและชี้ชวนให้พิเคราะห์การปฏิวัติฝรั่งเศส อย่างรอบคอบ

อนึ่งการจัดพิมพ์ครั้งที่ 3 นี้ ได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือเป็นอย่างสูงจากคุณธนาพล อิ๋วสกุล และคุณชัยธวัช ตุลาธน รวมถึงทีมงานของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันทุกท่านที่ช่วยดำเนินการอย่างลุล่วง รวมไปถึงคุณภาสวร สังข์ศร ที่ได้ช่วยเหลือในการปรับปรุงเนื้อหาบางส่วน

 

ชัยวุฒิ ตันไชย

เขียนในนามลูกศิษย์ และมิตรสหายของอาจารย์

อ่านต่อ >>

ในการแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 3

ในการพิมพ์ครั้งที่ 3 โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้เขียนได้เพิ่มบทที่ 10 ซึ่งเป็นการศึกษารัฐอังกฤษเปรียบเทียบกับฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 โดยดูที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐทั้งสองในรูปของสงคราม การทำสงครามระหว่างกัน สงครามเหล่านี้เกิดจากความพยายามของฝรั่งเศสที่จะขึ้นมาเป็นอำนาจนำ (hegemony) ในยุโรป และดินแดนที่เป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจในยุโรป ในต้นศตวรรษที่ 19 สงครามยุติลง ด้วยความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสและอังกฤษสามารถสถาปนาอำนาจนำขึ้นมา ไม่เพียงแต่อำนาจนำในยุโรปเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงระบบโลกด้วย

ผู้เขียนขอขอบคุณชัยวุฒิ ตันไชย ที่กรุณาอ่านทานการพิมพ์ครั้งที่แล้ว และแก้ไขความผิดพลาดให้ นอกจากนั้นยังได้เขียนคำนำที่เป็นเสมือนแผนที่ของงานวิชาการของผู้เขียน หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยความพยายามจะทำความเข้าใจกับการสร้างรัฐไทยในศตวรรษที่ 19 ตอนจบของหนังสือเล่มนี้คือความพยายามมุ่งความสนใจที่กระบวนการสร้างรัฐของไทยในศตวรรษที่ 20 และ 21 งานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวยังอยู่ในรูปแบบต้นฉบับของหนังสือหลายเล่มที่บ้างก็รอหาบทสรุป บางฉบับก็รอบรรณาธิการที่จะมาช่วยแก้ไข

ในที่สุดแล้วผู้เขียนก็คงจะเปิดประเด็นรัฐไทยได้ในระดับหนึ่ง และหวังว่านักวิชาการรุ่นหลังจะรับภาระดังนี้ต่อไป

 

กุลลดา เกษบุญชู มีด

มีนาคม 2561