6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง (พิมพ์ครั้งที่ 2)

ลดราคา!

฿315.00฿405.00


Back Cover

6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง : ว่าด้วย 6 ตุลา 2519 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เพิ่มเติม

  • ตามหาลูก : จดจำและหวังด้วยความเงียบ
  • การทำร้ายศพเมื่อ 6 ตุลา : ใคร อย่างไร ทำไม
  • คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย : ปาฐกถา 40 ปี 6 ตุลา 2519
รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำผู้เขียน

ภาค 1

บทที่ 1 ความทรงจำ/ความเงียบงันของประวัติศาสตร์บาดแผล:ความทรงจำอิหลักอิเหลื่อเรื่องการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519

บทที่ 2 “เราไม่ลืม 6 ตุลา” : การจัดงานรำลึกการสังหารหมู่ 6 ตุลา ในปี 2539

บทที่ 3 ตามหาลูก : จดจำและหวังด้วยความเงียบ

บทที่ 4 การทำร้ายศพเมื่อ 6 ตุลา : ใคร อย่างไร ทำไม

ภาค 2

บทที่ 5 6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549 :จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี)

บทคัดย่อ

ออกโรง ออกตัว และขอบคุณ

1. ศึกษาอะไรและอย่างไร ?

2. 6 ตุลาคือชัยชนะที่น่ายินดี

3. วาทกรรม 6 ตุลาที่เปลี่ยนไประหว่าง 2520-2539

4. ความทรงจำประมาณ 30 ปีให้หลัง

5. อดีตในทัศนะของฝ่ายขวากับความเงียบที่จำเป็นและจำใจ

6. ทิ้งท้ายว่าด้วยความทรงจำและฝ่ายขวาขนานแท้

ภาคผนวก 1. เอกสารคดี 6 ตุลา ที่หอจดหมายเหตุสำนักงานอัยการสูงสุด

ภาคผนวก 2. ลักษณะและปัญหาของคำให้การพยานตำรวจคดี 6 ตุลา

ภาคผนวก 3. จำแนกประเภทพยานตำรวจในคดี 6 ตุลา

ภาคผนวก 4. รายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

ภาคผนวก

1. จดหมายถึงเพื่อนๆ โดมรวมใจและมิตรสหายเก่าๆ ทั้งหลาย

2. เดือนตุลา เช้าวันพุธ

3. คำประกาศ ณ วาระ 20 ปี 6 ตุลา

ประวัติผู้เขียน

ประวัติการตีพิมพ์

บรรณานุกรม

ดรรชนี

อ่านต่อ >>

หนังสือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2558 เป็นการรวมข้อเขียนเกี่ยวกับ 6 ตุลาของธงชัย วินิจจะกูล ตั้งแต่จดหมายฉบับแรกที่เขียนขึ้นในปี 2538 จนนำมาสู่การจัดงานครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา ในปี 2539 ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปิดเผย “ความทรงจำ” ว่าด้วย 6 ตุลาต่อสาธารณะจากมุมมองของฝ่ายซ้ายผู้ตกเป็นเหยื่อ ในการตีพิมพ์ครั้งแรกนั้น บทความปิดท้ายคืองานศึกษาความทรงจำของ “ฝ่ายขวา” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2550

ในปี 2558 นั้น กองบรรณาธิการไม่ได้คาดคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะกลายเป็นหนังสือ “ขายดี” จนต้องนำมาพิมพ์ใหม่ในระยะเวลาอันใกล้ ทว่าในปีถัดมาคือปี 2559 มีการจัดงานครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา ซึ่งปลุกความสนใจของสาธารณชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจเหตุการณ์ 6 ตุลาอีกครั้ง หนังสือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง จึงถูกถามหาและกลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับของร้านหนังสือบางร้าน

ต่อมาในปี 2560 มีโครงการบันทึก 6 ตุลา (Documentation of Oct 6) เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ผ่านการจัดทำเว็บไซต์ในลักษณะแหล่งข้อมูลออนไลน์ (Online archives) ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลที่ยังกระจัดกระจายเพื่อให้ผู้สนใจเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น ในปีนั้นเองคณะทำงานโครงการบันทึก 6 ตุลาก็ได้ค้นพบ “ประตูแดง” ซึ่งเป็นวัตถุพยานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่จังหวัดนครปฐม อันนำมาสู่การจัดทำหนังสั้นเรื่อง “สองพี่น้อง” ที่นำเสนอความทรงจำของครอบครัวผู้สูญเสีย ทั้งหมดนี้ทำให้ความสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

จนเมื่อปี 2562 มีการเปิดตัวโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา (October 6 Museum Project) โดยนำวัตถุจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลามาเปิดให้สาธารณชนได้รับชมเมื่อวันที่ 5-6 ตุลาคม 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีคนรุ่นหนุ่มสาวจำนวนมากเดินทางมาชมวัตถุจัดแสดงและนิทรรศการในงานดังกล่าว พร้อมกันนั้นสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยก็ทำบทสัมภาษณ์และสารคดีเรื่อง 6 ตุลาเผยแพร่ผ่านหลากหลายช่องทางการสื่อสาร

แม้ยังไม่อาจบอกได้ว่าพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาจะจัดตั้งได้สำเร็จหรือไม่ แต่หนังสือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง ฉบับพิมพ์ครั้งแรกก็หมดลงอย่างรวดเร็ว

ในการพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้มีการเพิ่มเติม 2 บทความเข้ามา ได้แก่ บทที่ 3 “ตามหาลูก : จดจำและหวังด้วยความเงียบ” และบทที่ 4 “การทำร้ายศพเมื่อ 6 ตุลา : ใคร อย่างไร ทำไม” รวมถึง 1 ปาฐกถาในภาคผนวก 4 คือ “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย : ปาฐกถา 40 ปี 6 ตุลา 2519” นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้เขียนคำนำขึ้นใหม่สำหรับการพิมพ์ครั้งนี้โดยเฉพาะอีกด้วย

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะได้รับความสนใจและตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งเพื่อมีส่วนช่วยให้สังคมไทยได้คิดวิเคราะห์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์บาดแผลที่ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” ซึ่งที่สุดแล้วอาจทำให้ผู้คนมองเห็นปัจจุบันได้ชัดเจนขึ้นและไม่กระทำผิดซ้ำรอยอีกในอนาคต

ต่อมาในปี 2560 มีโครงการบันทึก 6 ตุลา (Documentation of Oct 6) เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ผ่านการจัดทำเว็บไซต์ในลักษณะแหล่งข้อมูลออนไลน์ (Online archives) ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลที่ยังกระจัดกระจายเพื่อให้ผู้สนใจเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น ในปีนั้นเองคณะทำงานโครงการบันทึก 6 ตุลาก็ได้ค้นพบ “ประตูแดง” ซึ่งเป็นวัตถุพยานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่จังหวัดนครปฐม อันนำมาสู่การจัดทำหนังสั้นเรื่อง “สองพี่น้อง” ที่นำเสนอความทรงจำของครอบครัวผู้สูญเสีย ทั้งหมดนี้ทำให้ความสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

จนเมื่อปี 2562 มีการเปิดตัวโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา (October 6 Museum Project) โดยนำวัตถุจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลามาเปิดให้สาธารณชนได้รับชมเมื่อวันที่ 5-6 ตุลาคม 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีคนรุ่นหนุ่มสาวจำนวนมากเดินทางมาชมวัตถุจัดแสดงและนิทรรศการในงานดังกล่าว พร้อมกันนั้นสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยก็ทำบทสัมภาษณ์และสารคดีเรื่อง 6 ตุลาเผยแพร่ผ่านหลากหลายช่องทางการสื่อสาร

แม้ยังไม่อาจบอกได้ว่าพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาจะจัดตั้งได้สำเร็จหรือไม่ แต่หนังสือ 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง ฉบับพิมพ์ครั้งแรกก็หมดลงอย่างรวดเร็ว

ในการพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้มีการเพิ่มเติม 2 บทความเข้ามา ได้แก่ บทที่ 3 “ตามหาลูก : จดจำและหวังด้วยความเงียบ” และบทที่ 4 “การทำร้ายศพเมื่อ 6 ตุลา : ใคร อย่างไร ทำไม” รวมถึง 1 ปาฐกถาในภาคผนวก 4 คือ “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย : ปาฐกถา 40 ปี 6 ตุลา 2519” นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้เขียนคำนำขึ้นใหม่สำหรับการพิมพ์ครั้งนี้โดยเฉพาะอีกด้วย

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะได้รับความสนใจและตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งเพื่อมีส่วนช่วยให้สังคมไทยได้คิดวิเคราะห์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์บาดแผลที่ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” ซึ่งที่สุดแล้วอาจทำให้ผู้คนมองเห็นปัจจุบันได้ชัดเจนขึ้นและไม่กระทำผิดซ้ำรอยอีกในอนาคต

อ่านต่อ >>

The Unforgetting หรือ ลืมไม่ได้ จำไม่ลง

6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง พิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงเดียวกับที่หนังสือภาษาอังกฤษเล่มใหม่ของผู้เขียน Moments of Silence : the Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok (University of Hawai’i Press, 2020) ออกเผยแพร่ หนังสือภาษาอังกฤษนี้เป็นผลของการติดตามศึกษาเกี่ยวกับความทรงจำที่เกี่ยวข้องจากเหตุการณ์ 6 ตุลามาเป็นเวลานานมาก ประมวลสาระทั้งหมดในฉบับภาษาไทยอย่างกระชับขึ้น (เช่น ความทรงจำของฝ่ายขวาเป็นเพียงบทหนึ่งในสิบบท) และเพิ่มอีกหลายประเด็นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แนวคิด (concept) หลักที่สุดที่เป็น
กรอบในการอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาใน 40 กว่าปีหลังเหตุการณ์ ตรงกันทั้งในเล่มภาษาอังกฤษและภาษาไทย แนวคิดดังกล่าวปรากฏอยู่ในชื่อหนังสือทั้งสองเล่มนั่นคือ “the Unforgetting” หรือ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง”

ในการตีพิมพ์ซ้ำหนังสือภาษาไทยครั้งนี้ ผู้เขียนขอถือโอกาสอธิบายแนวคิดดังกล่าวโดยเฉพาะในคำนำนี้[1]

ความทรงจำ[2]

มีผู้จัดประเภทความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมหรือความปวดร้าวในอดีต (traumatic past) ไว้แล้ว[3] ผู้สนใจน่าจะได้ประโยชน์จากการจัดประเภทเช่นนั้น แต่ผู้เขียนเห็นว่าในกรณี 6 ตุลา หลายประเภทซ้อนทับปะปนกันจนอาจทำให้ประเด็นที่ต้องการเสนอเบี่ยงเบนไป จึงไม่นำมาใช้ในการศึกษาเรื่องนี้

ความทรงจำกับประวัติศาสตร์[4]

เมื่อกล่าวถึง “ความทรงจำ” คำถามแรกที่มักเกิดขึ้นคือ ความทรงจำกับประวัติศาสตร์ต่างกันตรงไหน ? คำตอบอย่างสั้นและตรงที่สุดก็คือ ต่างกันบ้างแต่มีคุณสมบัติร่วมกันมากเช่นกัน เสมือนวงกลมสองวงที่ซ้อนทับเหลื่อมกัน ดังนั้น ความพยายามจำแนกอย่างเด็ดขาดจากกันว่าอะไรเป็นประวัติศาสตร์อะไรเป็นความทรงจำจึงอาจจะไม่เป็นประโยชน์นักหากเรากำลังศึกษากรณีที่เป็นไปได้ทั้งสองอย่าง เช่น ประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ไม่นานมานี้อย่าง 6 ตุลา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ควรตระหนักถึงความต่างเพราะจำเป็นสำหรับการประเมินและใช้หลักฐานข้อมูล

กล่าวโดยทั่วไป ประวัติศาสตร์หมายถึงความรู้หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับอดีตโดยอาศัยหลักฐานประกอบสร้างขึ้นมา ส่วนหนึ่งของหลักฐานอาจเป็นข้อมูลจากประสบการณ์หรือความทรงจำนั่นเอง ประวัติศาสตร์ยังถือเป็นความรู้ที่ผ่านการศึกษาอย่างเป็นระบบเป็นวัตถุวิสัย (objective) เท่าที่จะเป็นได้ แม้ว่านักประวัติศาสตร์จะรู้กันดีว่าวัตถุวิสัยในการตีความประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องยากก็ตาม นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์หลีกเลี่ยงการประกอบสร้างในทำนองบทประพันธ์ไม่ได้ เช่น ต้องมีกรอบการอธิบายซึ่งนำไปสู่โครงเรื่องแบบหนึ่ง นำไปสู่การให้เหตุผลชุดหนึ่ง อีกทั้งหลักฐานในตัวมันเองมักหนีไม่พ้นการตีความโดยผู้ร่วมเหตุการณ์นั้นๆ และโดยนักประวัติศาสตร์ในภายหลัง

ความทรงจำหมายถึงข้อเท็จจริงและเรื่องเล่าจากประสบการณ์ ไม่อวดอ้างความเป็นวัตถุวิสัย อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณีเราก็ใช้คำนี้ (ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) สำหรับความรับรู้ต่อเหตุการณ์หรือการกระทำหนึ่งๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นประสบการณ์โดยตรงหรือเป็นประจักษ์พยาน บางครั้งเป็นประสบการณ์โดยอ้อมแต่ร่วมสมัย บางครั้งหมายถึงความรับรู้ของคนรุ่นหลังที่ไม่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ด้วยซ้ำไป ในความหมายหลังสุดนี้ความทรงจำจึงต่างกับประวัติศาสตร์น้อยลงไปอีก

อีกมิติหนึ่งที่ทั้งสองต่างกันอยู่บ้างก็คือ ประวัติศาสตร์สนใจบริบทของเหตุการณ์
หนึ่งๆ ความทรงจำเน้นที่ประสบการณ์เชิงประจักษ์ของบุคคล อย่างไรก็ตาม ความต่างในแง่นี้ก็ไม่เคร่งครัดเสมอไป

ความทรงจำส่วนบุคคล (individual memory) กับความทรงจำร่วม (collective memory)[5]

ความทรงจำส่วนบุคคลกับความทรงจำร่วมของกลุ่มคน รุ่น หรือสังคมเกี่ยวพันกันอย่างไร ? หลายคนเข้าใจอย่างง่ายๆ ว่าความทรงจำร่วมเป็นผลรวมของความทรงจำส่วนบุคคลทั้งหมด (Totality of individual memories) แต่ที่จริงเราไม่สามารถรับรู้ความทรงจำส่วนบุคคลทั้งหมดได้และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความทรงจำส่วนบุคคลรวมกันได้อย่างไร เพราะความทรงจำต่อเหตุการณ์หนึ่งๆ ไม่เคยมีแบบเดียว แต่มากมายหลากหลายแตกต่างขัดแย้งกันเต็มไปหมด แค่พยายามหาทางนับว่าความทรงจำร่วมแบบไหนเป็นของคนส่วนมากก็อาจจะทำไม่ได้ เราจึงทำได้แต่เพียงวิเคราะห์ว่าความทรงจำหนึ่งๆ เป็นของคนประเภทไหนหรือกลุ่มไหนที่แสดงตัวให้เราเห็นได้อย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น ปรากฏบ่อยครั้งในที่สาธารณะ ในตำรา หรือมีพิธีกรรมประกอบที่สาธารณชนรู้จักดี หรือมีทางราชการสนับสนุนจนเกิดอนุสรณ์ตอกย้ำความทรงจำนั้นๆ เป็นต้น จึงควรเข้าใจว่าความทรงจำร่วมเป็นพหูพจน์ของความทรงจำส่วนบุคคลที่สามารถศึกษาวิเคราะห์เชิงสังคมได้

ในความเป็นจริง นอกจากความทรงจำร่วมจะไม่ได้มาจากความทรงจำส่วนบุคคลประมวลกันขึ้นมาแล้ว ยังมักกลับกันอีกด้วย กล่าวคือเรื่องเล่าที่กลายเป็นแบบแผนหรือเป็นกรอบที่สามารถครอบคลุม (subsume) ความทรงจำส่วนบุคคลของคนจำนวนหนึ่ง (กลุ่ม ชั้น รุ่น ชาติ ฯลฯ) ได้ จึงกลายเป็นความทรงจำร่วม เรื่องเล่านี้มักก่อร่างสร้างขึ้นจากวาทกรรมสาธารณะ (public discourse) สถานการณ์การเมือง อุดมการณ์ ลัทธิศาสนา ฯลฯ ที่หล่อหลอมความรับรู้ของผู้คนให้เข้าใจ ตีความ และจดจำเหตุการณ์หนึ่งในแบบคล้ายๆ กัน ขอแต่เพียงมีตัวการ (agent) นำเสนอความทรงจำชนิดนั้นในปริมณฑลสาธารณะ จึงไม่ยากที่จะมีผู้รับเอาเรื่องเล่านั้นมาเป็นแบบแผนของความทรงจำของตน ยิ่งถ้าหากเรื่องเล่าแบบแผนนั้นมีอำนาจบางอย่างหนุนให้น่าเชื่อถือ (เช่น อำนาจการเมืองหรือลัทธิศาสนา) เรื่องเล่าแบบแผนนั้นจะยิ่งทรงอิทธิพลต่อความทรงจำของบุคคล ทำให้อยากมีส่วนร่วมหรืออยากเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าแบบแผนนั้น

ลงท้ายกลายเป็นว่าเรื่องเล่าแบบแผน (ซึ่งมีทั้งอุดมการณ์ แนวคิด การตีความ โครงเรื่องประกอบด้วย) เป็นกลไกคัดสรรว่าความทรงจำส่วนบุคคลอย่างไหนจึงจัดว่าเป็นความทรงจำที่สอดคล้องกับเรื่องเล่าแบบแผนจึงดำรงอยู่ต่อไปได้ ดังนั้น คนจำนวนหนึ่งมีความทรงจำคล้ายๆ กันอาจเป็นเพราะพวกเขารับรู้ความจริงตรงกัน หรือเพราะความทรงจำส่วนบุคคลของพวกเขาปรับตัวตกแต่งตัดให้พอเหมาะพอสมกับความทรงจำร่วมที่ตนต้องการสังกัด ถึงที่สุดก็คือความทรงจำส่วนบุคคลจะมีความหมายต่อกลุ่ม รุ่น ชั้น หรือสังคมได้ก็ต่อเมื่อสังกัดเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าแบบแผนที่เรียกว่าความทรงจำร่วม ความทรงจำส่วนบุคคลอย่างไหนที่ไม่เข้าข่ายก็จะกลายเป็นความทรงจำพิเรนทร์ผิดปกติเพี้ยน ถูกเบียดขับให้ไปอยู่ตรงชายขอบหรือกระทั่งถูกลืมไปในที่สุด ในกรณี 6 ตุลา ความทรงจำร่วมที่เป็นเรื่องเล่าแบบแผนเกิดขึ้นพร้อมๆ กับเสียงปืนสงบลง เพราะเรื่องเล่าแบบแผนนี้เป็นผลของการโฆษณาชวนเชื่อ ข่าวลือ และการมอมเมาจากรัฐ

ในการศึกษา 6 ตุลา ผู้เขียนสนใจว่าความทรงจำร่วมเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อไหร่ แล้วมีผลทำให้ความทรงจำส่วนบุคคลที่ไม่สอดคล้องสังกัดความทรงจำร่วมไม่ได้ ถูกขับไสเบียดบังออกไปอยู่ในปริมณฑลความเงียบอย่างไร

ความทรงจำที่เปลี่ยนไปกับการลืม

“เวลา” ในตัวมันเองทำให้ความทรงจำเลอะเลือนหรือถึงกับลืมจริงหรือ ? ทำไมเรายังจำบางอย่างได้ทั้งที่เกิดขึ้นนานแสนนานมาแล้ว แต่กลับจำหลายอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ไม่ได้ ? คำตอบก็คือข้อเท็จจริงเหตุการณ์ต่างๆ มีความหมายหรือคุณค่าต่อแต่ละบุคคล กลุ่ม หรือสังคมไม่เท่ากัน เราจดจำสิ่งที่มีคุณค่าความหมายต่อเราได้ดีกว่าสิ่งที่ไม่สำคัญสำหรับเรา

แล้วอะไรเล่าทำให้บางอย่างมีคุณค่าความหมายมากหรือน้อยต่อบุคคลหรือสังคมนั้น ? นี่เป็นคำถามหลักสำหรับผู้ศึกษาความทรงจำในเชิงสังคมว่า ในสังคมหนึ่งๆ ณ เวลาหรือยุคสมัยหนึ่งๆ มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้บุคคล กลุ่ม หรือสังคมให้คุณค่าความหมายกับบางข้อมูลหรือบางแง่ของเหตุการณ์อย่างไร จนผู้คนสามารถจดจำเหตุการณ์ได้มากหรือน้อย ตรงหรือผิดเพี้ยน หรือตีความไปแบบไหน หรือสร้างเรื่องเล่าในความทรงจำขึ้นมาอย่างไร ปัจจัยเหล่านั้นมักมีมิติทางสังคมอยู่ด้วย อาจจะเป็นการเมือง วัฒนธรรม หรืออุดมการณ์บางอย่าง เป็นต้น

ปัจจัยดังกล่าวยังดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะหรือเปลี่ยนไปแล้วอย่างไร เพราะสามารถทำให้เราย้อนกลับไปจำเรื่องต่างๆ ได้มากหรือน้อยต่างกันด้วย ปัจจัยที่ดำรงอยู่เป็นช่วงระยะเวลานานพอสมควร อาจมีส่วนทำให้ความทรงจำบางอย่างลงหลักปักฐานหรือสามารถผลิตซ้ำๆ จนกลายเป็นสถาบันทางสังคมก็ได้ ในทางกลับกันหากปัจจัยเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไป ความทรงจำอาจเปลี่ยนไปหรือลบเลือนไปก็เป็นได้ ปัจจุบันขณะจึงสามารถเปลี่ยนความทรงจำได้ หมายความว่าปัจจุบันเปลี่ยนอดีตในความรับรู้ของเราก็ได้นั่นเอง

เช่นนี้แล้วความทรงจำทั้งหลายทั้งของบุคคลและความทรงจำร่วมล้วนเป็นการเพ่งมอง (projection) จากปัจจุบันขณะย้อนกลับไปในอดีตทั้งสิ้น (retrospective) ล้วนเป็นการฟื้นสร้างอดีตจากขณะหนึ่งในปัจจุบัน ฟื้นสร้างประสบการณ์เชิงประจักษ์ในอดีตจากปัจจุบันทั้งนั้น สุดแท้แต่ว่า ณ ปัจจุบันขณะกับอดีตที่เกิดประสบการณ์โดยตรงนั้น มีปัจจัยที่ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนความทรงจำไปอย่างไรบ้าง

อีกประเด็นหนึ่งในข้อนี้ก็คือความทรงจำข้ามรุ่น ทั้งๆ ที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานไม่ได้ประสบหรือประจักษ์กับเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยตนเอง แต่ความทรงจำยังสามารถถูกส่งทอดจากผู้ประจักษ์เหตุการณ์นั้นเองไปถึงคนรุ่นถัดไปได้ ในกรณีนี้ ปัจจุบันขณะของคนรุ่นถัดไปย่อมให้คุณค่าความหมายต่อความทรงจำที่รับมาด้วย ส่งผลให้เรื่องเล่าเชิงประจักษ์คงเดิมหรือเปลี่ยนไปหรือถูกดัดแปลงให้เหมาะสมกับยุคสมัยของคนรุ่นถัดไปด้วย

ความเงียบกับภาวะ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” (the unforgetting)

ความเงียบอาจมิใช่ความว่างเปล่าปราศจากความหมาย ความเงียบในดนตรีอาจไม่มีเสียง แต่กลับเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของดนตรีที่ไพเราะ ความเงียบในนวนิยายและภาพยนตร์อาจไม่มีคำหรือความเคลื่อนไหว แต่กลับไม่ใช่ความว่างเปล่าของคำและความหมาย ทั้งมักเป็นความจงใจของผู้เขียนและผู้กำกับหรือนักแสดงที่ต้องการส่งสารบางอย่างด้วยความเงียบเช่นนั้น บางครั้งความเงียบสามารถบอกเนื้อความได้ บางครั้งบอกอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่อาจสื่อออกมาเป็นคำหรือเสียงได้

ความเงียบอาจหมายถึงการหลงลืมปราศจากความทรงจำ จนกระทั่งมีหลายคนมักทึกทักว่าการลืมกับความเงียบเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ที่จริงแล้วเราทุกคนคุ้นเคยกับการเก็บความทรงจำไว้เงียบๆ เป็นอย่างดี ดังนั้น ภาวะที่ความทรงจำหนึ่งๆ ไม่ปรากฏตัวหรือแสดงออกมาจึงมิได้หมายถึงการลืม แต่กลับหมายถึงความทรงจำที่ถูกเก็บไว้เงียบๆ

ยิ่งไปกว่านั้น เราทุกคนคุ้นเคยกับภาวะที่จดจำบางอย่างได้แต่พูดไม่ออกไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ความเงียบชนิดนั้นอัดอั้นไปด้วยความทรงจำเต็มไปหมด แต่กลับไม่ปรากฏตัวแสดงออกในที่สาธารณะได้ง่ายๆ ครั้นพูดออกไปผู้ฟังก็อาจไม่เชื่อหรืออาจรับไม่ได้ ฟังไม่เข้าหู ภาวะที่ความทรงจำถูกเก็บไว้เงียบๆ หรือภาวะที่ไม่สามารถถ่ายทอดความทรงจำออกมาเป็นคำพูดหรือเป็นเรื่องราวที่ผู้อื่นเข้าใจได้ หรือภาวะที่คนคนหนึ่งเล่าเรื่องที่ผู้อื่นรับไม่ได้ไม่เข้าใจทั้งกลับเห็นว่าเป็นความทรงจำที่เพี้ยนผิดปกติหรือไร้สาระ จนเราไม่กล้าถ่ายทอดความทรงจำนั้นออกมา ภาวะเช่นนี้เองที่ผู้เขียนเรียกว่า “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” (the unforgetting)

ความทรงจำ 6 ตุลาอยู่ในภาวะเช่นนี้โดยเฉพาะในช่วง 20 ปีแรกหลังเหตุการณ์

สาเหตุที่ความทรงจำไม่สามารถทำให้กลายเป็นเรื่องราวที่เข้าใจได้มีหลายประการ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ผู้เขียนพยายามอธิบายกรณีความทรงจำ 6 ตุลา

เราคงคิดไปถึงการบังคับปราบปรามโดยรัฐเพื่อให้จำบางอย่างและลืมบางอย่าง เช่น การเซนเซอร์ นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากและมีผลอย่างมากต่อความรับรู้ของสังคมจนบางครั้งเรานึกว่าหากรัฐหยุดเซนเซอร์ก็จะส่งผลให้ความทรงจำเป็นอิสระ แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญหรืออาจสำคัญกว่าการบงการโดยรัฐเสียอีก นั่นคือการบีบคั้นของผู้คนอื่นในสังคมด้วยกัน (social sanction) ที่รังเกียจ (หรือเราเกรงว่าเขาอาจจะรังเกียจ) ความทรงจำของเราแล้วหาว่าเป็นคนผิดปกติผิดเพี้ยน เราจึงสู้เก็บความทรงจำนั้นอัดอั้นไว้ในความเงียบ

อะไรเล่าเป็นเหตุหรือเป็นเกณฑ์ให้ผู้คนในสังคมยินดีรับหรือตั้งข้อรังเกียจต่อความทรงจำบางเรื่องบางแบบ ? ส่วนมากเป็นเรื่องของความเชื่อและอุดมการณ์ อาทิ ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ความเป็นไทย ค่านิยมตามวัฒนธรรมไทยเกี่ยวกับเจ้าและศาสนาพุทธ เป็นต้น ความเชื่อทางประวัติศาสตร์ (historical ideology) มักมีส่วนสำคัญที่ทำให้บางเรื่องฟังดูคุ้นเคยและบางเรื่องแสลงหูไม่น่าเชื่อ ความรู้ประวัติศาสตร์ก็เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งเพราะเป็นฐานของการสร้างอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่ผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาขึ้นและยังกดทับความทรงจำที่ขัดฝืนกับอุดมการณ์นั้นไว้ด้วย ประวัติศาสตร์จึงทั้งมีส่วนก่อเหตุการณ์ 6 ตุลา และมีส่วนทำให้ 6 ตุลาตกอยู่ในภาวะลืมไม่ได้ จำไม่ลง (the unforgetting)

ทั้งหมดจึงทำให้ญาติของผู้เสียชีวิตจำนวนมากยังเห็นว่า 6 ตุลาเป็น “เรื่องละเอียดอ่อน” ที่เขาไม่ปรารถนาจะรื้อฟื้นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยถึงแม้ว่าเขารู้อยู่เต็มอกและจำทุกอย่างได้เป็นอย่างดีก็ตาม เพราะเกรงว่าสิ่งที่พูดจะถูกลงโทษจากรัฐหรือขัดฝืนกับความเข้าใจตามขนบปกติของสังคม จึงอาจนำอันตรายมาสู่เจ้าของความทรงจำนั้น นอกจากนี้ยังมีบางคนที่สมัครใจเลือกที่จะเงียบ เพราะเกรงว่าสิ่งที่เขารู้และจำได้นั้นอาจมีผลกระทบในด้านลบต่อผู้อื่นหรือต่อสังคม ไม่ต้องการนำเสนอความทรงจำของเขาให้ผู้อื่นหรือสาธารณชนรับรู้

เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะลืมไม่ได้ จำไม่ลง (unforgetting) ได้ทั้งสิ้น

ทั้งการเมืองของรัฐ ความเชื่อและอุดมการณ์ทั้งหลาย ความเป็นไทย และความรู้ประวัติศาสตร์ ล้วนเปลี่ยนแปลงไปในจังหวะเวลาต่างๆ กัน ทำให้ความทรงจำที่สาธารณชนรับรู้เปลี่ยนไปด้วย ใน 40 กว่าปีที่ผ่านมา การเมือง จิตวิทยาสังคม และความผันแปรของอุดมการณ์ความเชื่อหลายอย่างที่ส่งผลต่อความทรงจำ 6 ตุลาล้วนเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น เช่น เปิดโอกาสให้ความทรงจำของผู้ถูกกระทำสามารถปรากฏตัวในทางสาธารณะ ได้รับความเข้าใจและไม่ต้องเกรงกลัวการรังเกียจอีกต่อไป แม้ว่าจะยังมีขีดจำกัดยังมีเรื่องห้ามพูดอยู่อีกมากก็ตาม ในทางตรงข้าม ผู้กระทำที่เฉลิมฉลองชัยชนะหลังเหตุการณ์ก็กลับกลายเป็นตราบาปที่พวกเขาพยายามหลบเลี่ยงปฏิเสธเป็นพัลวัน ก็เนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่กระทบต่อความทรงจำ (the chronopolitics of memory) เหล่านั้น[6] การศึกษาประวัติศาสตร์ความทรงจำต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมทางการเมืองจึงต้องสนใจประเด็นนี้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีความเงียบบางชนิดเพื่อเก็บความทรงจำอย่างสมัครใจ อาทิ ความเงียบของจินดา ทองสินธุ์ คุณพ่อของจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ที่ใช้ความเงียบเก็บความทรงจำเกี่ยวกับลูกชายของท่านไว้ ตราบที่ความเงียบนั้นไม่ถูกทำลาย ความทรงจำก็จะมีชีวิตต่อไป ซึ่งหมายถึงความหวังของท่านที่จะได้พบกับจารุพงษ์ยังไม่สิ้นสุด

ลืมไม่ได้ จำไม่ลง vs จำไม่ได้ ลืมไม่ลง

“ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” เป็นภาวะที่อยู่ระหว่างความทรงจำกับการลืม ณ จุดก้ำกึ่งระหว่างการดำรงอยู่กับการสูญสลาย ระหว่างความทรงจำส่วนตัวกับสาธารณะ เป็นภาวะอิหลักอิเหลื่อระหว่างเสียงกับความเงียบ เป็นความเงียบที่ส่งเสียงตลอดเวลา เป็นภาวะที่นานไปอาจจะกลายเป็นการลืมเพราะไม่สามารถส่งทอดได้ แต่อาจจะฟื้นตัวขึ้นจนเป็นความทรงจำที่โดดเด่นในสังคมก็ยังเป็นได้

ทำไมจึงไม่ใช้คำว่า “จำไม่ได้ ลืมไม่ลง” ซึ่งเป็นวลีที่เราคุ้นเคยกันกว่าตามปกติ ? ก็เพราะ “จำไม่ได้” หมายถึงการลืมตามปกติ ไม่ขัดฝืนกับความต้องการที่จะจำ “ลืมไม่ลง” หมายถึงการจำตามปกติไม่ขัดฝืนกับความต้องการที่จะลืม แต่ภาวะอิหลักอิเหลื่อของความทรงจำเป็นการจำและลืมที่ไม่ปกติ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” หมายถึงความทรงจำในภาวะอิหลักอิเหลื่อเพราะขัดฝืนกับความต้องการ อยากจำก็จำยาก อยากลืมก็ลืมไม่สำเร็จ ผู้เขียนใช้วลีที่เราคุ้นเคยกันแต่สลับคำเพียงเล็กน้อย เพื่อให้อ่านสะดุดหรือชวนให้รู้สึกติดขัดสักนิด อาจจะสะกิดให้ฉุกคิดว่ามีความทรงจำอีกประเภทหนึ่งที่ไม่สามารถแสดงออกได้อยู่ในความเงียบ ณ ชายขอบของความจำกับการลืม

ภาวะ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” อาจจะวนเวียนหลอกหลอนเราท่านได้เป็นเวลานานหากเราไม่สามารถจัดการกับความทรงจำประเภทนี้ให้สงบลงได้ ภาวะเช่นนี้อาจหลอกหลอนสังคมหนึ่งได้เป็นเวลานานเช่นกันถ้าหากสังคมไม่รู้จักจัดการอดีตอันเจ็บปวดให้จบลงอย่างมีความหมาย เมื่อถึงจุดนั้น ความทรงจำอันอิหลักอิเหลื่อนั้นก็จะปิดฉากลง แล้วจะสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ

6 ตุลายังไม่ปิดฉาก ยังเป็นอดีตที่ค้างคาเฝ้าเวียนตั้งคำถามต่อสังคมไทยในหลายเรื่องอย่างแรง

การศึกษาความทรงจำ 6 ตุลาที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ การเขียนประวัติศาสตร์ของปีศาจที่รบกวนสำนึกทางสังคม…จนกว่าจะถึงจุดที่ความทรงจำอันอิหลักอิเหลื่อนั้นปิดฉากลง เพื่อจะสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ

 

ธงชัย วินิจจะกูล

ปลายมกราคม 2563

[1] ผู้เขียนอภิปรายเพิ่มเติมทุกประเด็นในคำนำนี้ในบทที่ 1 ของ Moments of Silence (2020)

[2] การศึกษาความทรงจำในเชิงทฤษฎีที่คลาสสิกที่สุด (หมายถึงเป็นฐานให้แก่ผู้อื่นต่อยอดไปมากมายแล้ว แต่ยังคงความสำคัญอยู่) คือ งานของ Maurice Halbwachs ซึ่งผลิตงานระหว่างทศวรรษ 1920 ถึง 1950 ผลงานสำคัญที่สุด 2 เล่มได้แก่ The Collective Memory และ On Collective Memory ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษและตีความไว้หลายสำนวน งานของ Halbwachs เป็นจุดเริ่มของการอภิปรายทุกประเด็นที่กล่าวถึงในคำนำนี้

[3] เกี่ยวกับการจำแนกความทรงจำออกเป็นประเภทต่างๆ ดู Lawrence Langer, Holocaust Testimonies : The Ruins of Memories (New Haven, CT : Yale University Press, 1991) ที่จำแนกความทรงจำของเหยื่อหลังเหตุการณ์สังหารชาวยิวโดยพวกนาซี (Holocaust) ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1) ฝังความเจ็บปวดไว้สนิทข้างในตัวเอง 2) ความอิหลักอิเหลื่ออยากจะจำแต่ก็อยากจะลืมในขณะเดียวกัน 3) ความฝังใจที่ถูกเหยียบย่ำต่ำต้อย จึงพยายามลืมแต่ก็ไม่สำเร็จ 4) ความทรงจำแบบโทษตัวเองว่าตัวเองมีส่วนผิด 5) ความทรงจำแบบคนรอดตายที่สูญเสียความภูมิใจและศักดิ์ศรีในตัวเองจนหมดสิ้น จึงอยู่ไปวันๆ แค่นั้น มีอีกหลายคนที่เสนอการจำแนกความทรงจำเช่นกันด้วยเกณฑ์ที่ต่างออกไป เช่น Steve Stern, Remembering Pinochet’s Chile (Durham, NC : Duke University Press, 2004), 105-12 ส่วน Elizabeth Jelin, State Repression and the Labors of Memory, translated by Judy Rein and Michael Godoy-Anativia (Minneapolis : University of Minnesota Press, 2003), 20–21 จำแนกการลืมเป็น 3 ประเภท 1) ลืมสนิท พยายามลบความทรงจำทั้งข้อเท็จจริงและเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตไปให้หมด 2) ลืมแบบหลบเลี่ยง คือยังลืมไม่ได้หมด จึงพยายามหลบเลี่ยงความทรงจำที่รบกวนจิตใจ 3) จำเป็นต้องลืมเพราะความเจ็บปวดทำให้เดินหน้าในชีวิตต่อไปไม่ได้ เป็นต้น

[4] มีการถกเถียงสำคัญๆ ถึงความเหมือนและต่างระหว่างความทรงจำกับประวัติศาสตร์มากมายตั้งแต่ทศวรรษ 1980 จนเกินกว่าจะประมวลได้หมดในที่นี้ บทความปริทัศน์การศึกษาหัวข้อนี้ก็มีผู้ทำไว้อย่างดีมาจนถึงกลางทศวรรษ 1990 ได้แก่ Susan Crane, “Writing the Individual Back into Collective Memory,” American Historical Review 102, no. 5 (December 1997) : 1372-85. การอภิปรายประเด็นนี้ที่มีผู้กล่าวถึงมากที่สุดแม้ส่วนมากจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ได้แก่ ผลงานจำนวนมากของ Pierre Nora โดยเฉพาะ Les Lieux de Mémoire, 3 vols (1984-1992) ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษไว้หลายสำนวนตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990

[5] การอธิบายว่าความทรงจำส่วนบุคคล (individual memory) กับความทรงจำร่วม (collective memory) เกี่ยวพันกันอย่างไรที่กระชับชัดเจนที่สุด (ในความเห็นของผู้เขียนคำนำนี้) คือ บทความของ Susan Crane (1997 ดูเชิงอรรถที่ 4) นี่เป็นประเด็นสำคัญของ Stern (2004 ดูเชิงอรรถที่ 3) ในการศึกษาความทรงจำร่วมต่อระบอบปิโนเชต์ในชิลี และส่งทอดไปถึงรุ่นลูกหลานอีกด้วย

[6] ผู้เขียนรับความคิดเรื่อง Chronopolitics of Memory มาจาก Carol Gluck, “Operations of Memory : ‘Comfort Women’ and the World,” in Ruptured Histories : War, Memory, and the post-Cold War in Asia, edited by Shella Miyoshi Jager and Rana Mitter (Cambridge, MA : Harvard University Press, 2007), 47-77.

อ่านต่อ >>