จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง

ลดราคา!

฿360.00฿450.00


Back Cover
รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำผู้เขียน

ภาค 1
บทที่ 1 แผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมี : อนุสาวรีย์อันเนื่องมาแต่การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือตอนบนกับปฏิบัติการสร้างความทรงจำของรัฐไทย
บทที่ 2 จิตรกรรมเฉลิมพระเกียรติ : กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้
บทที่ 3 9 Land Art : นิเวศน์ศิลป์บนแผ่นดินของกษัตริย์ภูมิพล

ภาค 2
บทที่ 4 เกินแกง
บทที่ 5 Rupture รอยแตกข้างหลังภาพ
บทที่ 6 I’ll never smile again : แผ่นดินที่มีระนาบสายตาเดียวกันบางคนอยู่สูงกว่าความจริงเสมอ
บทที่ 7 ในกรงขังความเงียบ
บทที่ 8 อมพระมาพูดก็ต้องเชื่อ

ภาค 3
บทที่ 9 ปริเทวนาการ : นาฏกรรมของภาพในภาวะเปลี่ยนผ่านรัชสมัย

ประวัติผู้เขียน

ประวัติการตีพิมพ์

บรรณานุกรม

ดรรชนี

อ่านต่อ >>

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” (แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ” หรือ “ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน”) แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งมวล ทรงได้รับการยกย่องทั้งจากพสกนิกรและศิลปินทั่วโลกในพระปรีชาสามารถอย่างหาที่เปรียบมิได้ ทรงเป็นเอตทัคคะในศิลปะหลายสาขา อาทิเช่น

ด้านจิตรกรรม มีภาพฝีพระหัตถ์จำนวนถึง 47 ภาพ สามารถจำแนกได้ใน 3 ประเภท ได้แก่ ภาพเหมือนจริง (realistic) เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (expressionism) และศิลปะแบบนามธรรม (abstractionism)

ด้านประติมากรรม ผลงานประติมากรรมลอยตัว (round relief) ได้แก่ รูปปั้นดินน้ำมันเป็นรูปผู้หญิงเปลือยนั่งคุกเข่า และพระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นอกจากนี้ยังสนพระราชหฤทัยในการสร้างพระพุทธรูปเป็นอย่างยิ่ง

ด้านการถ่ายภาพ ทรงฝึกฝนการถ่ายภาพด้วยพระองค์เองจนเป็นนักถ่ายรูปผู้มีพระปรีชาสามารถยิ่ง และคิดค้นหาเทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอ

ด้านหัตถศิลป์ ทรงสนใจในงานช่าง ได้ทรงประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง เช่น เครื่องร่อน และเรือรบจำลอง เป็นต้น รวมทั้งโปรดที่จะต่อเรือใบฝีพระหัตถ์

ด้านดุริยางคศิลป์ ทรงเครื่องดนตรีหลายชนิด ได้ทรงดนตรีกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับโลก นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ถึง 48 เพลง

ด้านวรรณศิลป์และวาทศิลป์ มีผลงานพระราชนิพนธ์ที่แสดงทั้งความสนใจในเรื่องต่างๆ และพระปรีชาสามารถในการถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษร

ไม่เพียงได้รับการถวายพระเกียรติในด้านศิลปะเท่านั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังได้รับการยกย่องในทุกสาขาวิชา ครั้นสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 มติคณะรัฐมนตรีชุด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เชิดชูสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้ทรงเป็นพระบิดาแห่งศาสตร์ต่างๆ 9 แขนง อันได้แก่ พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ, พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย, พระบิดาแห่งฝนหลวง, พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย, พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย, พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย, พระบิดาแห่งการวิจัยไทย, พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย, พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย

กลับมาที่การถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” ในปี 2529 นั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญดังที่ธนาวิ โชติประดิษฐ ได้ชี้ให้เห็นว่า “การสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีเมื่อปี 2525 ทำให้วงการศิลปะเกิดจิตรกรรมประเภท (genre) ใหม่ขึ้น นั่นคือจิตรกรรมแนวเฉลิมพระเกียรติ นับจากนั้นเป็นต้นมาศิลปินไทยจำนวนไม่น้อยต่างพากัน ‘แข่งกันจงรักภักดี’” (บทที่ 2 “จิตรกรรมเฉลิมพระเกียรติ : กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้”)

ศิลปะแนวเฉลิมพระเกียรติมิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ได้รับการปูพื้นฐานอย่างตั้งมั่นในทศวรรษ 2520 ด้วยการส่งเสริมจากภาครัฐผ่านการครองอำนาจอย่างยาวนานของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (2523-2531) และจากภาคเอกชน เช่น ธนาคารกสิกรไทยผ่านรางวัล “พู่กันทอง”

พระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยิ่งสูงเด่นเมื่อเกิดเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาคม 2535 ซึ่งพระองค์ได้แสดงบทบาทนำในการ “ยุติการนองเลือด” ทำให้พระบารมีแผ่ไพศาล พร้อมๆ กับการเติบโตของชนชั้นกลางไทยในทศวรรษ 2530 ก็ได้สร้างอุตสาหกรรมเฉลิมพระเกียรติที่มีพลังมากกว่าครั้งไหนๆ จุดสูงสุดคืองานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีเมื่อปี 2549 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร ระเบียงหน้า พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่ามกลางพสกนิกรนับแสนคนเฝ้าฯ รับเสด็จและอีกหลายล้านคนที่รับชมผ่านทางโทรทัศน์

แต่ในปี 2549 นั้นเองก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยายนโดยที่คณะรัฐประหารและแนวร่วมได้ชูเรื่องพระราชอำนาจมาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นี่เป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งในการเมืองไทยมาจนถึงปัจจุบัน เพราะรัฐประหาร 2549 แตกต่างจากรัฐประหารทุกครั้งก่อนหน้านั้นด้วยเหตุที่เป็นการรัฐประหารท่ามกลางการเมืองมวลชนที่แบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน

ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่จำกัดพื้นที่แต่เพียงการเมืองของชนชั้นนำในรัฐสภาเท่านั้น แต่ยังขยายออกมาถึงการเมืองบนท้องถนนและลามไปสู่ทุกวงการไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงศิลปะ ที่ซึ่งความขัดแย้งค่อยๆ ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน แม้ว่า “ศิลปะเฉลิมพระเกียรติ” จะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกระแสหลักในสังคมไทย ทั้งยังแสดงออกได้อย่างเต็มที่จนล้นเกิน แต่การตั้งคำถามไปจนถึงการท้าทายความคิดเดิมก็เป็นไปอย่างแหลมคมยิ่งนักแม้ไม่อาจพูดได้อย่างตรงไปตรงมาก็ตาม

จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง: ศิลปะและศิลปินแห่งรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ผลงานของธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนขึ้นระหว่างปี 2553-2562 ธนาวิไม่เพียงเป็นผู้สังเกตการณ์และนักวิจารณ์ผลงานทางศิลปะเฉกเช่นนักวิชาการทั่วไปเท่านั้น เธอยังไม่เคยปิดบังจุดยืนทางการเมือง นั่นคือการไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและการแทรกแซงการเมืองของอำนาจนอกระบบอีกด้วย และเธอก็ได้แสดงออกผ่านผลงานเชิงวิพากษ์ ที่ยึดมั่นในจารีตทางวิชาการที่มีเอกสารหลักฐานประกอบอย่างหนักแน่นและการตีความที่มีกรอบคิดชัดเจน

จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง เป็นหนังสือเล่มที่ 4 ในชุดกษัตริย์ศึกษาของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เป็นการขยายพรมแดนการศึกษาบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยไปสู่ปริมณฑลทางศิลปะ ด้วยเหตุที่เราเชื่อว่าหากจะเข้าใจสังคมไทยอย่างรอบด้าน จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในมิติต่างๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม การตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้จึงเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มความเข้าใจสังคมไทย รวมทั้งการ “คลี่ปม” ความขัดแย้งรอบใหม่ที่เกิดตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

อ่านต่อ >>

หนังสือรวมบทความเล่มนี้เปิดด้วยภาพของแผนที่ฉบับหนึ่งและปิดท้ายด้วยภาพของแผนที่อีกฉบับหนึ่ง ผู้เขียนใช้คำว่า “ภาพของแผนที่” ไม่ใช่ “แผนที่” ด้วยความจงใจ เพราะแผนที่ประเทศไทยที่อยู่ใน “ภาพ” นั้นมีองค์ประกอบอื่นนอกเหนือไปจากตัวรูปขวานทองเองอยู่ด้วย ภาพแรกคือภาพแผนที่ประเทศไทยกำลังจะถูกกลืนกินโดยทหารในเครื่องแบบกองทัพปลดแอกของคอมมิวนิสต์ เป็นภาพที่มีการเผยแพร่กันอย่างแพร่หลายในช่วงประมาณ พ.ศ. 2518 ไม่กี่ปีก่อนการสิ้นสุดของสงครามระหว่างรัฐไทยกับคอมมิวนิสต์ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายแรก พร้อมกับพระบารมีเหนือดินแดนที่เพิ่มขึ้นของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ส่วนภาพที่สองคือภาพแผนที่ประเทศไทยที่มองเห็นเส้นเขตแดนชัดเจน ตัดให้เห็นอาณาเขตที่แยกออกจากประเทศเพื่อนบ้านที่แวดล้อม ริบบิ้นขนาดเล็กสีดำกระจายอยู่ทั่วทั้งในและนอกเขตแดนไทย ภาพแผนที่ภาพนี้คือ “แผนที่แห่งความทรงจำ” (Map of Memory) ที่กรมประชาสัมพันธ์จัดทำขึ้นด้วยความร่วมมือของ Google ภาพดังกล่าวเป็นหน้าเปิดของเว็บไซต์สำหรับลงชื่อถวายความอาลัยที่เปิดโอกาสให้ผู้จงรักภักดีต่อในหลวงภูมิพลที่อยู่ ณ ซอกมุมใดก็ตามในโลกสามารถลงชื่อและปักหมุดแสดงตนได้

บทความในหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยปรากฏการณ์ทางศิลปะที่ล้อไปกับวาระทาง
การเมืองที่รายล้อมสถาบันกษัตริย์ นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นอันเป็นช่วงกลางของรัชกาลจนถึงช่วงเวลาหนึ่งปีหลังการสิ้นสุดของรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ บทความส่วนใหญ่เขียนขึ้นหลังรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดครั้งสำคัญของตัวผู้เขียนเอง วิกฤตการเมืองที่ยาวนานสิบกว่าปีที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางทั้งเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองและทางการศึกษาของผู้เขียน จากนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะถึงอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ศิลปะ ผู้เขียนไม่ประสงค์จะปิดบังจุดยืนของตัวเองไว้ภายใต้คำกล่าวอันไม่เป็นความจริงที่ว่าด้วยความเป็นภววิสัยในงานวิชาการ กระนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลเชิงประจักษ์และข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้จะไม่มีบทบาทสำคัญ ตรงกันข้าม สิ่งเหล่านั้นมีความหมายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับงานวิชาการที่ว่าด้วยฝ่ายที่ตกเป็นรองทางอำนาจ ผู้เขียนเลือกเขียนถึงงานศิลปะและหลากหลายกิจกรรมรณรงค์ที่มีลักษณะเชิงศิลปะด้วยความรู้สึกถึงความจำเป็นอันเร่งเร้าว่าต้องบันทึกและอธิบายให้เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะภาระหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ศิลปะนั้นอยู่ที่การคิดและการเขียนเพื่อทั้งบันทึกและสถาปนาสิ่งที่เขียนถึงนั้นให้ขึ้นแท่นประวัติศาสตร์ศิลปะ งานวิชาการ โดยเฉพาะสายมนุษยศาสตร์อย่างประวัติศาสตร์ศิลปะ อาจไม่มีผลลัพธ์แบบอรรถประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้อย่างทันตาอะไร หอคอยงาช้างก็คือหอคอยงาช้าง ช้า และมักไม่ทันการณ์อยู่เสมอ แต่ถึงอย่างนั้น ผู้เขียน (ซึ่งรู้ตัวเองดีกว่าไม่มีความเป็นนักกิจกรรมอยู่ในตัว) ก็เขียนด้วยความเชื่อมั่นในการเขียน ด้วยความยืนกรานว่าสิ่งเหล่านี้ต้องมีพื้นที่ในโลกวิชาการ มีความเป็นไปได้ที่จะอยู่ในรูปแบบงานวิชาการ และในทางกลับกัน นั่นก็หมายถึงตำแหน่งแห่งที่และความสัมพันธ์ของงานวิชาการในโลกภายนอกด้วย (โดยไม่จำเป็นต้องย่อยให้ง่าย สั้น และรวบรัดจนขาดการถกเถียงอภิปรายเชิงความคิด)

แล้วใครคือคู่สนทนาในโลกวิชาการ ? แม้งานวิชาการด้านศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยในประเทศไทยจะไม่ได้เป็นแวดวงที่ใหญ่โตอะไรนัก (ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่คณะโบราณคดีเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะแห่งเดียวในประเทศ กระนั้น ด้วยความที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะโบราณคดี ภารกิจหลักของภาควิชาก็เน้นไปที่การศึกษาศิลปะโบราณ โลกของยุคก่อนสมัยใหม่) แต่ในขณะที่กำลังตรวจทานต้นฉบับกับสำนักพิมพ์ ผู้เขียนก็ได้พบว่ากำลังจะมีการเปิดตัวโครงการวิจัยใหม่ชื่อ “13 ตุลาคม 2559 กับความเบ่งบานของศิลปะไทย” โดยจะเปิดตัวในช่วงสุดท้ายของการประชุมเสนอผลการวิจัย “ความสำนึกร่วมในพัฒนาการศิลปะและการวิจารณ์ของไทย : หมุดหมายที่สำคัญในช่วง พ.ศ. 2475-2550” อันเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว.) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ผู้เขียนควรต้องเท้าความว่า โครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ” อันครอบคลุมศิลปะห้าสาขา ได้แก่ วรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ ศิลปะการละคร สังคีตศิลป์ และภาพยนตร์ ที่มีเจตนา นาควัชระ เป็นหัวหน้าโครงการและที่ปรึกษาอาวุโสในยุคหลังนั้นได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว. มาอย่างต่อเนื่องถึง 20 ปี (พ.ศ. 2542-2562) โครงการใหม่ “13 ตุลาคม 2559 กับความเบ่งบานของศิลปะไทย” นี้ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรเอกชน และดูจะเป็นสิ่งสืบเนื่องมาจากบทความชิ้นหนึ่งของเจตนา คือบทความชื่อ “พระราชาพาให้ศิลปะเกิดใหม่”[1] (ภาคภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์พร้อมกันชื่อ “Mourning Becomes the Thai People : October 13th and an Artistic Renaissance”) ที่มีใจความสำคัญว่า

วันที่ 13 ตุลาคม ทำให้เราฟื้นความเป็นไทยกลับมาได้ และแม้แต่นักศึกษาศิลปะก็สร้างงานที่น่าประทับใจขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะบูชาอาลัยพระราชาผู้ที่เป็นเยี่ยงพระบิดาของพวกเขา ในกรณีนี้ ศิลปินต้องถวายงานที่ดีที่สุดของตนเป็นราชพลี ไม่ว่าจะในระดับบุคคลหรือในระดับหมู่คณะ เพื่อน้อมรำลึกถึงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นที่รักของปวงชน (น. 19)

การเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ได้ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ทางศิลปะในรูปแบบต่างๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในระดับที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เป็นที่อนุมานได้ว่าความศรัทธาที่มีต่อพระองค์ท่านคงจะฝังอยู่ในจิตวิญญาณของคนไทยมาเป็นเวลานาน (น. 22)

อย่างน้อยเจตนากับผู้เขียนก็เห็นตรงกันอยู่ประการหนึ่งคือว่า เหตุการณ์สวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมและความอาลัยต่อรัชกาลที่ 9 เป็นปรากฏการณ์สำคัญ นั่นคงเป็นความเห็นพ้องเพียงประการเดียว

ในขณะที่งานวิชาการฝั่งอนุรักษนิยมได้รับทุนสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง (ตัวอย่างเช่น 20 ปีสำหรับโครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ”) ผู้เขียนมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้เห็น “ศิลปะ” ในรูปแบบอื่น และ/หรือ “มุมมอง” อื่นเกี่ยวกับศิลปะได้ปรากฏตัวในฐานะงานวิชาการที่เข้มข้นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จำเป็นต้องมี “เสียง” ที่แตกต่าง มีแต่การเสนอข้อถกเถียงเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ ปะทะ โต้แย้ง และท้าทายทั้งโดยตรงและโดยนัยเท่านั้นที่กิจกรรมเชิงความคิดอย่างงานวิชาการจะดำเนินไปได้ หาใช่ความเชื่องเชื่อและศิโรราบ หมอบราบ กราบกราน และคลานเข่า

บทความในหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2562 ชุดหนึ่งเริ่มจากหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม นิทรรศการศิลปะ ผลงานศิลปะ กิจกรรมทางศิลปะ และแคมเปญรณรงค์ทางการเมืองต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นเชิงศิลปะในช่วงเวลาดังกล่าวได้รับการอภิปรายไว้ในทั้งวารสาร อ่าน และ ฟ้าเดียวกัน ความดุเดือดในบางถ้อยคำไม่ปกปิดความเดือดแค้นที่มีต่อสถานการณ์และผู้คน อีกชุดหนึ่งอาจดูสงบมากขึ้น เป็นแบบแผนเคร่งครัด อยู่ในร่องในรอยมากขึ้น เยี่ยงจริตที่นักวิชาการบนหอคอยงาช้างพึงมี (?) ทว่า ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนในภาวะเลือดพล่านหรืองานเขียนในช่วงคลื่นลมสงบ ก็ถูกรวบรวมเข้ามาไว้ด้วยกันเพื่อให้ภาพและคำอธิบายชุดหนึ่งเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางศิลปะและการเมืองในสมัยรัชกาลที่ 9

“แผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมี : อนุสาวรีย์อันเนื่องมาแต่การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือตอนบนกับปฏิบัติการสร้างความทรงจำของรัฐไทย”, “จิตรกรรมเฉลิมพระเกียรติ : กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้” และ “9 Land Art นิเวศน์ศิลป์บนแผ่นดินของภูมิพล” อภิปรายบทบาทของศิลปกรรมประเภทต่างๆ อย่างอนุสาวรีย์, ภาพถ่าย, โปสเตอร์, จิตรกรรม และนิเวศน์ศิลป์ในกระบวนการก่อตัวของพระบารมีของรัชกาลที่ 9 โดยเริ่มจากสมัยสงครามเย็นที่ “ภัยจากภายนอก” อย่างคอมมิวนิสต์เป็นตัวคุกคามความมั่นคงของชาติและราชบัลลังก์ จนถึงการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเนื่องในวาระครบรอบ 200 ปีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2525 และยี่สิบปีหลังจากนั้น

“เกินแกง”, “Rupture”, “I’ll never smile again : แผ่นดินที่มีระนาบสายตาเดียวกัน บางคนอยู่สูงกว่าความจริงเสมอ”, “ในกรงขังความเงียบ” และ “อมพระมาพูดก็ต้องเชื่อ” พินิจพิเคราะห์ศิลปะที่แตะต้องประเด็นต่างๆ ที่อยู่รอบการเมืองหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ของทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านรัฐประหาร บทความทั้งห้าแสดงการปะทะกันของอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างถึงขีดสุดในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2553 (ในปีเดียวกันนี้ “อากง” ชายชราวัย 61 ปีถูกแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการการส่งข้อความในโทรศัพท์มือถือ 4 ข้อความซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี) ศิลปินบางกลุ่มตอบสนองนโยบายปรองดองสมานฉันท์ของภาครัฐ บางกลุ่มแสดงศิลปะเพื่อแสดงตนว่าเป็น
กลางลอยเหนือความขัดแย้ง บางกลุ่มตั้งคำถามและรุกหน้าเข้าร่วมกับนักกิจกรรมฝ่ายต้านรัฐประหาร ส่วนบางนักกิจกรรมก็ทำการรณรงค์ด้วยกลวิธีทางศิลปะ การเมืองเหลือง-แดง-สลิ่มหลากสี พุทธศาสนา การอวดอ้างศีลธรรมในตน กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เสรีภาพในการแสดงออก การทวงถามหาความยุติธรรม และประท้วงต่อการลงโทษผุดโผล่ขึ้นมาพร้อมกับปฏิบัติการทางศิลปะนานาชนิด เช่นเดียวกับในสังคมไทยโดยรวม ในวงการศิลปะเองก็ไม่มีมติเอกฉันท์อีกต่อไป (หรืออันที่จริงก็ไม่เคยมีมาแต่แรก เพียงแต่วิกฤตการเมืองเป็นจุดเปิดโอกาสให้ความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันนี้ได้แสดงตัวจนเป็นที่ประจักษ์) ทั้งห้าบทความแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางอุดมการณ์ของผู้คนในแวดวงศิลปะไปพร้อมกับความหลากหลายของรูปแบบและกระบวนวิธีนำเสนอในช่วงทศวรรษสุดท้ายของรัชกาลที่ 9

“ปริเทวนาการ : นาฏกรรมของภาพในภาวะเปลี่ยนผ่านรัชสมัย” ว่าด้วยบทบาทของ “ภาพ” และ “การมอง” ในช่วงสิ้นสุดของรัชกาลที่ 9 ถึงหนึ่งปีให้หลัง ภาพต่างๆ ทั้งที่เป็นและไม่เป็นศิลปะ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ทั้งเก่าและใหม่ ต่างกรรมต่างวาระ ปรากฏขึ้นในสังคมไทยทั้งในและนอกอินเทอร์เน็ต ภาพแผนที่ หนึ่งในวัตถุคู่พระวรกายหวนคืนกลับมาเล่นบทสำคัญ แต่เป็นบทที่ต่างออกไปจากสมัยสงครามเย็นช่วงกลางรัชกาล ภาพ “แผนที่แห่งความทรงจำ” (Map of Memory) ในเว็บไซต์แสดงพระบารมีที่แผ่ไพศาลเหนือดินแดนชาติอื่น พรมแดนระหว่างชาติจึงไม่เป็นทั้งอุปสรรคและไม่เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งยังไม่ใช่เรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน ณ จุดสิ้นสุดของรัชกาล จินตภาพของราชาชาตินิยมแบบรัชกาลที่ 9 ขยายอาณาเขตกินอาณาบริเวณไปทั่วทุกทวีปในโลกอินเทอร์เน็ต ในโลกเสมือนจริง

มีผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วนที่ให้ความช่วยเหลือตลอดระยะเวลาเก้าปีของการเขียนและตีพิมพ์ต้นฉบับเหล่านี้ ผู้เขียนคงไม่สามารถกล่าวถึงได้ทั้งหมด มีผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจทั้งทางบวกและทางลบ มี “ครู” บางคนที่อาจจะจำตัวเองได้เมื่ออ่านคำนำที่ผู้เขียนทิ้งร่องรอยไว้เพื่อระลึกถึง มีใครหลายคนที่ได้เคยเดินดุ่มถือตะเกียงนำหน้าไปก่อน

 

ธนาวิ โชติประดิษฐ

กรุงเทพฯ

31 มกราคม 2563

 

[1] เจตนา นาควัชระ, “พระราชาพาให้ศิลปะเกิดใหม่ Mourning Becomes the Thai People : October 13th and an Artistic Renaissance,” วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 22, ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2559) : 3-23.

อ่านต่อ >>