ทุนนิยมเจ้า

ลดราคา!

฿540.00฿630.00


Back Cover
รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำผู้เขียน

กิตติกรรมประกาศ

บทนำ  กษัตริย์(ยังไม่)สิ้น ทุนนิยมจงเจริญ!

บทที่ 1 กําเนิดสถาบันกษัตริย์กระฎุมพี

บทที่ 2 การผงาดและชัยชนะของสถาบันกษัตริย์กระฎุมพี

บทที่ 3 กษัตริย์ในสายตากระฎุมพี

บทที่ 4 เจ้าผจญไพร่

บทที่ 5 ทรงพระเจริญ

ภาคผนวก

ประวัติผู้เขียน

บรรณานุกรม

ดรรชนี

ในเดือนกันยายน 2551 นิตยสาร ฟอร์บส์ ได้ลงรายงาน “The World’s Richest Royals” ปรากฏว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นกษัตริย์ผู้มีพระราชทรัพย์มากที่สุดในโลกด้วยมูลค่ารวม 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงการต่างประเทศของไทยออกมาตอบโต้แทบจะทันทีว่า “ทรัพย์สินต่างๆ ไม่ใช่ของกษัตริย์ หากแต่เป็นของคนทั้งชาติ” ยังผลให้เกิดวิวาทะเกี่ยวกับพระราชทรัพย์จำนวนมหาศาลของราชวงศ์ไทย ซึ่งตรงข้ามอย่างสุดขั้วกับภาพลักษณ์สมถะพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างไรก็ดี ข่าวนี้จุดประกายการถกเถียงในวงแคบๆ เท่านั้น

ในห้วงเวลานั้นเอง บทบาทของสถาบันกษัตริย์และเครือข่ายที่แทรกแซงการเมืองอย่างเปิดเผยโดยเฉพาะในรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็ถูกจับตาโดยนักสังเกตการณ์ทางการเมืองทั้งไทยและต่างชาติ งานศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในวงวิชาการไทยศึกษา หรือเรียกอย่างลำลองว่า “กษัตริย์ศึกษา” เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 

งานศึกษาของปวงชน อุนจะนำ ที่อยู่ในมือผู้อ่านเล่มนี้คือหนึ่งในกระแสธารดังกล่าว ปวงชนเริ่มจากทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง “The Bourgeois Crown : Capitalism and the Monarchy in Thailand, 1946-2016” (City University of New York, 2017) ต่อมาเขาได้แก้ไขปรับปรุงเป็นหนังสือชื่อ Royal Capitalism: Wealth, Class, and Monarchy in Thailand (The University of Wisconsin Press, 2019) ซึ่งได้รับรางวัลชมเชย Harry J. Benda Prize ประจำปี 2022 จากสมาคมเอเชียศึกษาแห่งสหรัฐอเมริกา (The Association for Asian Studies)

งานของปวงชนมีจุดเด่นคือการปรับใช้ผสมผสานทฤษฎีมาร์กซิสต์คลาสสิคว่าด้วยชนชั้นทางสังคม แนวคิดเรื่อง “ประเพณีประดิษฐ์” ของอีริค ฮอบส์บอว์ม และการต่อยอดแนวคิดว่าด้วย “การแบ่งร่างสถาบันกษัตริย์” ของเอิร์นสต์ คันโทโรวิคซ์ มาทำความเข้าใจสถาบันกษัตริย์ไทยได้อย่างกลมกล่อมลงตัว บทวิเคราะห์ของเขาฉายให้เห็นภาพความเป็นมาและเป็นไปของ “สถาบันกษัตริย์กระฎุมพี” ในประเทศไทยอย่างแหลมคม ยิ่งเมื่อปวงชนผนวกวิธีวิทยาการศึกษาเปรียบเทียบเข้ามาใช้ด้วยแล้ว เขาก็สามารถชี้ให้เราเห็นถึงความเจิดจรัสทุกเหลี่ยมมุมของสถาบันกษัตริย์ไทย ซึ่งเขายกย่องให้เป็น “เพชรน้ำเอก” แห่งวงการเมื่อเทียบกับสถาบันกษัตริย์อื่นๆ ในยุคทุนนิยม นอกจากนี้ ขณะที่งานศึกษาสถาบันกษัตริย์ไทยก่อนหน้านี้มักให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับชนชั้นนำและสถาบันทางการเมืองต่างๆ งานชิ้นนี้ของปวงชนถือได้ว่าเข้ามาช่วยเติมเต็มความเข้าใจถึงปฏิสัมพันธ์ของผู้เล่นที่เป็นมวลชนอย่างนักธุรกิจชั้นนำ ชนชั้นกลางในเมือง ชาวนาชาวไร่ และแรงงานภาคอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมไทย ซึ่งทำให้เรามองเห็นปัญหาเนื้อในของสถาบันกษัตริย์กระฎุมพีโดยเฉพาะในวิกฤตช่วงท้ายของรัชกาลที่ 9 มากขึ้นอีกด้วย 

นอกจากจุดเด่นดังกล่าว ควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่างานศึกษาส่วนใหญ่ที่ปวงชนอ้างถึงนั้น เป็นงานของนักวิชาการต่างชาติ รวมถึงงานของนักวิชาการไทยที่มีข้อถกเถียงทางปัญญาอยู่ในระดับนานาชาติ น้ำเสียงและมุมมองที่นักวิชาการเหล่านี้มีต่อสถาบันกษัตริย์ห่างไกลลิบลับจากงานไทยศึกษาในไทยที่มักมีท่วงทำนองอาเศียรวาทและถูกครอบงำด้วยมุมมองแบบราชาชาตินิยมมาหลายทศวรรษ พูดง่ายๆ คือ ผู้อ่านคนไทยจำนวนหนึ่งอาจไม่คุ้นเคยกับการที่สถาบันกษัตริย์ไทยถูกพูดถึงอีกแบบ (หรือหลายแบบ) แทนที่จะถูกพูดถึงแบบเดียวอย่างที่ตนคุ้นเคยเสมอมา ทั้งที่หากว่ากันตามจริงแล้ว นี่ต่างหากคือสุ้มเสียงบทสนทนาที่ชาวโลกคุยกันเป็นปกติ สิ่งที่ไม่ปกติกลับคือบทสนทนาตามขนบและอย่างเป็นทางการที่เราคุยกันเองใน “บ้าน” ต่างหาก มิพักต้องพูดถึงว่า การพูดถึงสถาบันกษัตริย์แบบตรงไปตรงมาของนักวิชาการนานาชาติเหล่านี้ แท้แล้วกลับอาจเบากว่าหรือเสียดแทงใจน้อยกว่าเสียงซุบซิบนินทาภายใน “บ้าน” ของเราเองเสียอีก

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันภูมิใจที่ได้รับเกียรติให้จัดพิมพ์ ทุนนิยมเจ้า: ชนชั้น ความมั่งคั่ง และสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย ของปวงชน อุนจะนำ ที่แปลมาจาก Royal Capitalism ของผู้เขียน นี่เป็นหนึ่งในโครงการหนังสือชุด “สยามพากษ์” ที่เราคัดเลือกงานที่มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทยในยุคสมัยนั้นๆ และเป็นงานที่ท้าทาย หักล้าง หรือเติมเต็มงานศึกษาก่อนหน้านั้นด้วยข้อมูลใหม่และ/หรือกรอบคิดทฤษฎีที่แตกต่างออกไป

ในฐานะผู้จัดพิมพ์หนังสือ เรายังยืนยันว่าถ้าต้องการเข้าใจสังคมการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน งานชุด “สยามพากษ์” ซึ่งหมายรวมถึงผลงานของปวงชนเล่มนี้ เป็นงานที่คนไทย “ต้องได้อ่าน” ไม่ว่าอ่านแล้วจะเห็นพ้องหรือเห็นต่างก็ตาม

Royal Capitalism: Wealth, Class, and Monarchy in Thailand คือหนังสือที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับระบบทุนนิยมในราชอาณาจักรไทยร่วมสมัย ด้วยเหตุที่หนังสือให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์ในฐานะแก่นกลางในการทำความเข้าใจและวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองไทย อีกทั้งหนังสือยังให้มุมมองในเชิงวิพากษ์ต่อสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา ผู้เขียนเคยเชื่อมาตลอดว่า หนังสือเล่มนี้คงจะเหมาะมากกว่าที่จะปรากฏอยู่ในรูปแบบต้นฉบับที่ถูกประพันธ์ด้วยภาษาอังกฤษ และมันคงเป็นการยากที่จะถูกแปลเป็นภาษาไทย จากที่ได้สังเกตการณ์ดูความเป็นไปในราชอาณาจักรไทย ผู้เขียนตระหนักดีว่า ไม่เพียงแต่งานศึกษาสถาบันกษัตริย์ในเชิงวิพากษ์จะหาได้ยากยิ่ง หากแต่มันยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหานานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเพ่งเล็ง ยึด และดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด โจมตี และด้อยค่าโดยนักวิชาการสายนิยมเจ้า หรือกระทั่งการเซ็นเซอร์ตัวเองของนักเขียนจำนวนไม่น้อยที่อยากนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ต่างไปจากสิ่งที่รัฐ วัง สื่อมวลชน และสถานศึกษาทำการโฆษณาชวนเชื่อมาโดยตลอด แต่ไม่กล้านำเสนอสิ่งที่ตนเองคิดออกมาตรงๆ เนื่องจากหวาดกลัวการถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อ Royal Capitalism ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในรูปแบบปกแข็งที่สหรัฐอเมริกาในช่วงต้น ค.ศ. 2020 โดยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน และได้รับการวางจำหน่ายในระดับนานาชาติในเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้เขียนจึงนึกอยู่ในใจว่า จากนี้ไปหนังสือที่ผู้เขียนประพันธ์ขึ้นมาเองกับมือเล่มนี้คงจะมีชีวิตและอิสระเป็นของตนเองที่นอกเหนือไปจากการควบคุมของผู้เขียน ในขณะที่ผู้เขียนยังคงใช้ชีวิตอยู่ในราชอาณาจักรไทยอันเป็นดินแดนที่เสรีภาพทางความคิดและการถกเถียงทางวิชาการถูกจำกัดและควบคุมอย่างเข้มงวด ผู้เขียนเองก็อดรู้สึกภูมิใจไปไม่ได้ที่อย่างน้อยหนังสือที่ผู้เขียนได้ผลิตมันขึ้นมาจะยังคงเป็นไทจากโซ่ตรวนทางปัญญาอยู่ต่อไป ได้รับการเผยแพร่ในระดับสากล และส่งสารไปถึงผู้ที่สนใจศึกษาปัญหาของความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสถาบันกษัตริย์และทุนนิยมในแผ่นดินเกิดของผู้เขียน 

จะว่าไปแล้ว “ชะตาชีวิต” ของ Royal Capitalism หลังการตีพิมพ์ก็ได้สร้างความรู้สึกหวานอมขมกลืนให้กับผู้เขียนอยู่ไม่น้อย ผู้เขียนขอเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง “ความหวาน” หรือเรื่องที่น่ายินดีที่เกิดขึ้นกับหนังสือเล่มนี้ หลังจากทำยอดจำหน่ายได้ในระดับที่น่าพึงพอใจและได้รับเสียงวิจารณ์โดยทั่วไปในแง่บวก Royal Capitalism ได้รับการตีพิมพ์ในรูปแบบฉบับปกอ่อนในต้นปี 2022 และวางจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าฉบับปกแข็งอยู่พอสมควร และนั่นก็ทำให้หนังสือเล่มนี้เข้าถึงผู้อ่านในวงกว้างได้มากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น หลังการวางแผงของฉบับปกอ่อนไปได้ไม่นาน Royal Capitalism ได้รับรางวัล Honorable Mention of the 2022 Harry J. Benda Prize จากสมาคมเอเชียศึกษาแห่งสหรัฐอเมริกา (Association for Asian Studies) เกียรติยศที่ว่านี้คือรางวัลชมเชยที่สมาคมมอบให้แก่นักวิชาการหน้าใหม่ที่เขียนหนังสือเล่มแรกที่มีเนื้อหาโดดเด่นเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่ผู้เขียนกล่าวถึงการได้รับรางวัลชิ้นนี้มิได้เป็นการอวดอ้างถึงความเก่งกาจหรืออัจฉริยภาพส่วนบุคคลของผู้เขียนแต่อย่างใด หากแต่ผู้เขียนต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ตรงกันข้ามกับข้อครหาของนักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยที่มักจะกล่าวอ้างว่า งานที่ศึกษาสถาบันกษัตริย์คืองานที่ไม่มีความเป็นวิชาการหากแต่เต็มไปด้วยอคติทางการเมือง ไม่มีทฤษฎีในการวิเคราะห์แต่เต็มไปด้วยอคติส่วนบุคคล และไม่ได้มาตรฐานทางวิชาการในระดับสากล Royal Capitalism พิสูจน์ให้เห็นว่า การศึกษาสถาบันกษัตริย์ไทยในแบบที่แตกต่างไปจากค่านิยมเทิดพระเกียรติจนล้นเกินที่ได้รับการผลิตซ้ำในสังคมไทย ในแบบที่วิพากษ์วิจารณ์ผ่านทฤษฎีเศรษฐกิจการเมืองอย่างเข้มข้น และในแบบที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลนั้นเป็นไปได้ มันได้เกิดขึ้นแล้ว และมันจะแผ้วถางทางให้กับนักวิชาการรุ่นต่อๆไปได้ถกเถียง อุดช่องโหว่ และพัฒนาเพื่อก้าวข้ามต่อไปในอนาคต

ที่สำคัญไม่แพ้กัน หลัง Royal Capitalism ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในระดับสากลไปได้ไม่นาน ผู้เขียนก็รู้สึกประหลาดใจอยู่ไม่น้อย แต่ก็แฝงไปด้วยความยินดี ที่ได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันและได้รับการเสนอให้มีการแปลหนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นภาษาไทย เช่นเดียวกัน การที่ผู้เขียนกล่าวถึงกรณีที่ว่านี้มิได้ทำไปเพื่อยกหางตัวเองแต่อย่างใด แท้จริงแล้ว สาเหตุที่ผู้เขียนรู้สึกยินดีที่ได้รับการติดต่อให้มีการแปลงานของตนเองก็เป็นเพราะว่า หลังจากการตีพิมพ์ Royal Capitalism ไปได้ไม่กี่เดือน ได้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ของมวลชนจำนวนมหาศาลในราชอาณาจักรไทย นำโดยคนหนุ่มสาวที่เป็นนักเรียนและนักศึกษา ประชาชนคนธรรมดาสามัญเรือนหมื่นเรือนแสนชุมนุมกันอย่างมืดฟ้ามัวดินบนท้องถนน จัตุรัสกลางเมือง และลานกิจกรรมของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในช่วงปลายปี 2563 เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ตรงกันข้ามกับผู้นำรัฐบาล นายพลชั้นผู้ใหญ่ ผู้พิพากษา นักธุรกิจชั้นนำ และนักวิชาการแนวหน้า กลุ่มผู้ประท้วงไม่ได้ทำเป็นเมินเฉยต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นปัญหาในระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย พวกเขามีความกล้าหาญที่น่ายกย่องในการเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์เปลี่ยนแปลงและปรับปรุงตัวเองครั้งใหญ่เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบการปกครองราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ กระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ส่งผลกระเทือนไปไกลกว่าแค่เขตพระราชฐาน อาคารรัฐสภา และท้องถนน มันได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่บนหิ้งหนังสือ หลังจากที่ถูกครอบงำด้วยงานเขียนที่ปลุกระดมและผลิตซ้ำอุดมการณ์อนุรักษนิยม ชาตินิยม และกษัตริย์นิยมมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ผู้อ่านไทยทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เกิดความกระหายอย่างแรงกล้าที่จะอ่านหนังสือที่นำเสนอมุมมองเชิงวิพากษ์ต่อสถาบันกษัตริย์ ด้วยบริบททางประวัติศาสตร์เช่นนี้ ผู้เขียนจึงมีความรู้สึกยินดีหากงานเขียนของตนจะมีส่วนในการตอบสนองความต้องการของผู้อ่านและทำให้การถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์ในเชิงวิพากษ์ได้รับการกระตุ้น สนับสนุน และสืบสานต่อไป

นอกจากนั้น ผู้เขียนยังตระหนักดีว่า หากไม่มีกระแสของการประท้วงครั้งใหญ่ให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในช่วงที่ผ่านมา คงเป็นการยากที่หนังสือภาษาอังกฤษที่มีความยาวหลายร้อยหน้า เต็มไปด้วยการวิเคราะห์ผ่านทฤษฎีเศรษฐกิจการเมืองที่หนักอึ้ง ใช้ศัพท์แสงทางวิชาการที่จริงจัง และตีพิมพ์ด้วยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยตะวันตก จะได้รับความสนใจถึงขนาดได้รับการแปลและเผยแพร่ให้ผู้อ่านโดยทั่วไปในราชอาณาจักรไทย หากมองในแง่นี้ แทนที่จะเป็นพลังในตัวของมันเอง Royal Capitalism ได้รับการนำเข้าสู่แวดวงวรรณกรรมไทยเพราะพลังของสังคมที่เรียกร้องให้มีการเผยแพร่งานจำพวกนี้ให้มากขึ้นต่างหาก ด้วยเหตุนี้คำขอบคุณแรกที่ผู้เขียนต้องการจะมอบให้ในวาระที่ Royal Capitalism ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในครั้งนี้ จึงเป็นคำขอบคุณต่อผู้ประท้วงและนักกิจกรรมทุกคนที่ขับเคลื่อนให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พวกเขาทำให้สังคมได้ตระหนักมากขึ้นถึงปัญหาเศรษฐกิจการเมืองไทยที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางและทำให้การถกเถียงในเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมามีความเป็นไปได้มากขึ้น คุณูปการที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยแต่อย่างใดในสังคมที่คุ้นชินกับการนำเสนอสถาบันกษัตริย์ในแบบตื้นเขิน มิติเดียว และเชิดชูบูชาจนเกินจริงมาเป็นเวลาเนิ่นนาน

อย่างไรก็ดี แม้จะเต็มไปด้วยเรื่องที่น่ายินดีมากมาย ในระหว่างที่ Royal Capitalism ยังอยู่ในกระบวนการแปลอยู่นั้น มี “ความขม” หรือเรื่องที่น่าขุ่นเคือง น่าเศร้า และน่ากังวลเกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง ด้วยปฏิกิริยาโต้กลับอย่างรุนแรงของภาครัฐผ่านการสลายการชุมนุม การปราบปรามจับกุมดำเนินคดี และการคุมขังผู้ประท้วงและนักกิจกรรมอย่างไม่มีการคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนและหลักยุติธรรมสากล กระแสของการประท้วงให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ค่อยๆ ซาลงไป ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในรอบหลายปีที่ผ่านมา แทนที่จะรับฟัง หันหน้าเข้าหา และร่วมถกเถียงหาทางออก สถาบันกษัตริย์ รัฐบาล กองทัพ ศาล ตำรวจ และสถาบันการศึกษา กลับทำเป็นหูทวนลมต่อข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงและส่งเสริมให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองปัจจุบันที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นแก่นกลางยังได้รับการผลิตซ้ำต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ที่เลวร้ายเป็นที่สุด ประชาชนธรรมดาสามัญคนแล้วคนเล่า ทั้งที่เป็นเยาวชน ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ทั้งที่เป็นนักกิจกรรมตัวยงและผู้เอาใจช่วยการประท้วง และทั้งที่มีเพื่อนฝูงคอยสนับสนุนและที่เป็นหัวเดียวกระเทียมลีบ ต่างก็โดนดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือคดีมาตรา 112 กันเป็นจำนวนมาก จนแทบจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่สังคมไทยจะได้ยินข่าวการจับกุม คุมขัง และพิพากษาผู้ต้องหาคดี ม. 112 กันเป็นรายวัน การใช้ความรุนแรงกวาดล้างและปราบปรามครั้งใหญ่ของรัฐไทยต่อกระแสการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในรูปแบบนี้มีเป้าประสงค์หลักเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่มหาชน เมื่อใดก็ตามที่ใครสักคนอยากจะกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะกล่าวถึงโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่ว่าจะในเชิงถกเถียงอย่างจริงจังหรือในเชิงตลกขบขัน และไม่ว่าจะพาดพิงถึงกษัตริย์โดยตรงหรืออะไรก็ตามที่ยึดโยงโหนสถาบันกษัตริย์ เขาคนนั้นต้องขบคิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ชั่งน้ำหนักดู และประเมินถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นการถูกบุกค้นที่พักโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ การถูกคุกคามข่มขู่ของผู้คนในสังคม และการถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมที่เสียเวลา เลือกข้าง และไม่สมเหตุสมผล นี่คือระบอบแห่งความหวาดกลัวที่รัฐไทยกำลังใช้ในการปกครองและปิดกั้นเสียงของประชาชนอีกครั้ง และนี่คือเมฆดำที่ปกคลุมผู้เขียน ผู้แปล และทีมงานฟ้าเดียวกันในกระบวนการแปล Royal Capitalism 

เท่านั้นยังไม่พอ ภายใต้บริบทของการกดทับ จำกัด และควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ คำถามที่ผู้เขียนเคยได้รับเมื่อตอนที่เริ่มลงมือเขียน Royal Capitalism ได้กลับมาหลอกหลอนผู้เขียนอีกครั้งในขณะที่หนังสือเล่มนี้กำลังถูกแปล มันคือคำถามที่ผู้เขียนมักจะได้รับจาก “เพื่อนนักวิชาการ” ที่ตั้งแง่กับความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า และความปลอดภัยในร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน และอาชีพการงาน ที่อาจจะต้องเป็นราคาที่ต้องจ่ายในการศึกษาสถาบันกษัตริย์ไทยผ่านมุมมองเชิงวิพากษ์ คำถามที่ว่าก็คือ “มีเรื่องอื่นๆ ให้ศึกษาอีกตั้งเยอะ ทำไมถึงแส่หาเรื่องด้วยการเลือกศึกษาสถาบันกษัตริย์ ?” “ที่เอาสถาบันกษัตริย์มาวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ ยังอยากให้อาชีพการงานในฐานะนักวิชาการก้าวหน้าอยู่อีกหรือไม่ ?” “ไม่ห่วงความปลอดภัยของคนรอบข้างตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวหรืออย่างไร ?” และที่สำคัญที่สุดคือ “เขียนเรื่องกษัตริย์ในมุมมองแบบนี้ ถามจริงๆ ว่าพร้อมหรือยังที่จะติดคุก หรือลี้ภัยไปอยู่นอกประเทศ ?” อันที่จริงแล้ว คำถามประเภทนี้หาได้เป็นคำถามที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาคำตอบหรือปลุกเร้าให้มีการสนทนาระหว่างคนถามกับคนที่ถูกถาม แท้จริงแล้ว มันมีเป้าประสงค์เพื่อการอบรมสอนสั่งมากกว่าการสนทนา และมันมีไว้เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้ถามในกรณีที่เกิดปัญหาในชีวิตกับคนที่ถูกถามคำถามขึ้นมาจริงๆ เสียมากกว่า ในกรณีหลังนี้ ผู้ถามคงอมยิ้มและรำพึงในใจอยู่ว่า “เห็นไหม บอกแล้วไม่เชื่อ” แม้ผู้เขียนจะตระหนักดีถึงธรรมชาติของคำถามประเภทนี้ แต่เมื่อใดที่ผู้เขียนได้ยินมัน โดยเฉพาะจากคนในแวดวงวิชาการที่อ้างว่าตนเป็นนักวิชาการเสรีนิยม สายวิพากษ์ ไปจนถึงกระทั่งมาร์กซิสต์ ผู้เขียนก็อดรู้สึกหงุดหงิด ขุ่นเคือง และสงสัยในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ไปไม่ได้ 

อย่างไรก็ดี การที่ Royal Capitalism ในฉบับแปลที่ชื่อ ทุนนิยมเจ้า: ชนชั้น ความมั่งคั่ง และสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย ได้มาอยู่ในมือผู้อ่านในตอนนี้ ย่อมเป็นการพิสูจน์ว่า ผู้เขียน ผู้แปล และทีมงานฟ้าเดียวกันได้เอาชนะความกลัว การตั้งข้อกังขาจากสังคม และความกังขาในตัวเองได้เป็นผลสำเร็จ ผู้เขียนขอขอบคุณผู้แปลซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม ที่ทำการแปลหนังสือออกมาได้อย่างใกล้เคียงกับต้นฉบับ ปรับสำนวนภาษาอังกฤษให้เป็นสำนวนภาษาไทยได้อย่างน่าชื่นชม และรักษากลิ่นอายสำนวนของผู้เขียนที่ปฏิเสธแนวทาง “เขียนไป กราบไป” ได้เป็นอย่างดี คุณอัญชลี มณีโรจน์ บรรณาธิการแปล ที่ช่วยตรวจทานสำนวนการแปลด้วยความอุตสาหะและแก้ไขข้อความที่ตกหล่นหรือไม่ไหลลื่นอย่างละเอียด คุณนฤมล กระจ่างดารารัตน์ ที่ช่วยตรวจทานเรื่องการอ้างอิงให้มีความสมบูรณ์และตรงกับแหล่งข้อมูลภาษาไทยให้มากที่สุด และที่สำคัญไม่แพ้กัน คุณธนาพล อิ๋วสกุล และทีมงานเบื้องหลังของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันทุกคน ที่ให้ความสนใจ เชื่อมั่น และไม่ย่อท้อในการผลักดันให้โครงการแปลนี้บรรลุผลให้จงได้ ในห้วงเวลาที่สำนักพิมพ์เองก็ประสบกับปัญหาการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ การกลั่นแกล้งของเหล่า “ตำรวจความคิด” ในแวดวงวิชาการไทย และการเล่นงานของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับคนที่เห็นต่างทาง
การเมืองในรัฐไทย

ด้วยข้อจำกัดทางด้านการเมือง กฎหมาย และวัฒนธรรม บางข้อความใน ทุนนิยมเจ้า อาจมีการปรับเปลี่ยนไปจาก Royal Capitalism อยู่บ้างเพื่อให้มีความเหมาะสมกับการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย และในบางกรณี แถบดำยังถูกนำมาใช้คาดเพื่อปกปิดข้อความบางอย่างที่เป็นคำหยาบ อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนหรือการปกปิดข้อความดังที่กล่าวมาก็เป็นเพียงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในหนังสือเท่านั้น หาได้ส่งผลกระทบต่อเนื้อหาใจความหลักที่หนังสือต้องการนำเสนอต่อผู้อ่านแต่อย่างใด ผู้เขียนคิดว่า ผู้แปลและทีมงานฟ้าเดียวกันทุกคนได้พยายามเต็มที่แล้วในการแปล Royal Capitalism ภายใต้ข้อจำกัด อุปสรรค และความท้าทายต่างๆ ที่ถาโถม ทุนนิยมเจ้า อาจมีข้อบกพร่องหรือทำให้ผู้อ่านขาดอรรถรสในบางมิติไปบ้าง แต่ในภาพรวม ผู้เขียนก็ขอให้การรับรองว่า ทีมงานทุกคนที่อยู่เบื้องหลัง ทุนนิยมเจ้า ได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ มีความเป็นมืออาชีพ และทำให้หนังสือฉบับแปลเล่มนี้มีความใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในบริบทการเมืองที่มืดหม่นเช่นนี้

ตามธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปแล้ว ผู้เขียนควรจะปิดท้ายคำนำนี้ด้วยข้อความที่แสดงความถ่อมตนว่า “ข้อบกพร่องผิดพลาดใดๆ ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ผู้เขียนก็ควรจะเจียมเนื้อเจียมตัว รู้จักที่ต่ำที่สูง และก้มกราบน้อมรับข้อวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ผู้เขียนตระหนักดีว่า ในวาระที่ Royal Capitalism ได้ “กลับบ้าน” ของตนเสียทีหลังจากที่มีชีวิตอิสระและโลดเเล่นในระดับสากล แทนที่จะเป็นเสียงชื่นชม หนังสืออาจจะต้องเผชิญกับเสียงก่นด่าจากผู้อ่านจำนวนไม่น้อยที่สมาทานอุดมการณ์กษัตริย์นิยม แทนที่จะเป็นการปริทัศน์อย่างจริงจังและการถกเถียงทางวิชาการ หนังสืออาจจะต้องเผชิญกับการตรวจสอบแหล่งข้อมูลและการอ้างอิงในเชิงอรรถอย่างเอาเป็นเอาตายจากนักวิชาการนิยมเจ้า และแทนที่จะได้รับการเผยแพร่ วางแผงในร้านหนังสือ หรือวางบนหิ้งในห้องสมุดมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาได้หยิบยืม ดังที่งานเขียนชิ้นหนึ่งควรจะเป็น หนังสืออาจจะโดนเพ่งเล็ง ยึด ห้ามเผยแพร่ ไปจนถึงดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

อย่างไรก็ดี ด้วยความกังวลที่ว่าแวดวงนักกิจกรรมและนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าของไทยจะจมปลักอยู่กับบรรยากาศของความรู้สึกมืดหม่น ท้อแท้ เฉื่อยชา หรือกระทั่งพ่ายแพ้ จนพานคิดไปว่าความพยายามใดๆ ในการเปลี่ยนแปลงสังคมล้วนเป็นสิ่งที่สิ้นหวัง ผู้เขียนจึงต้องการตอบโต้อาการเสพติดลัทธิพ่ายแพ้นิยม (defeatism) เช่นนี้ด้วยการปิดท้ายคำนำนี้ด้วยข้อความที่ทรงพลัง แน่วแน่ และไม่อ่อนข้อต่อฝ่ายปฏิกิริยาในสังคม ข้อความที่ว่านี้มาจากคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) หนึ่งในนักคิดและนักปฏิวัติสังคมนิยมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนหน้าประวัติศาสตร์ ในการเขียนคำนำให้กับงานเขียนชิ้นสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา มาร์กซ์ยอมรับว่า มันเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่หนังสือของเขาจะรอดพ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบจากนักวิชาการร่วมสมัยหรือผู้คนในสังคมที่เป็นฝ่ายปฏิกิริยาและใช้แต่อคติส่วนตัวในการตัดสินงานของเขา กระนั้นก็ตาม แทนที่จะเสียกำลังใจ กังขาในตัวเอง และสยบยอมให้กับคลื่นกระแสที่เป็นปฏิปักษ์ต่องานเขียนของตน มาร์กซ์ได้กล่าวถึงคติพจน์ประจำใจของเขาที่มีไว้เตือนตนเองอยู่เสมอในยามที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนขอยกคติพจน์ที่ว่านี้ขึ้นมาเพื่อสดุดี เป็นกำลังใจ และแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผู้ประท้วงเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในรอบหลายปีที่ผ่านมาและหลายคนต้องกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงและความอยุติธรรมอย่างน่าเศร้า คติพจน์ที่มาร์กซ์ย้ำเตือนไว้กับตนอยู่เสมอก็คือ 

“จงเดินหน้าไปบนเส้นทางที่ท่านมุ่งหมาย ปล่อยให้คนพล่ามไปเถอะ”

ปวงชน อุนจะนำ

สิงหาคม 2565