ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย

ลดราคา!

฿270.00


รหัสสินค้า: 9789749366240 หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำปรารภพี่สาว ผู้รักษาต้นฉบับ

คำนำบรรณาธิการ

บทกล่าวนำ

รู้จักกับ จิตร ภูมิศักดิ์ โดยสังเขป

ศัพท์สันนิษฐาน

เรื่องของคำไทย

ศัพท์สันนิษฐาน “ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว”

ศัพท์สันนิษฐาน “สรวง – สาง”

ศัพท์สันนิษฐาน “วรำ”

ไทย – เขมร ตอนที่ ๑ กันเมียง

ไทย – เขมร ตอนที่ ๒ สํนุ

ไทย – เขมร ตอนที่ ๓ กูขี่ช้างเบกพล

ไทย – เขมร ตอนที่ ๔ ขยองเหียร (๑)

ไทย – เขมร ตอนที่ ๔ ขยองเหียร (๒)

เรื่องตำรวจ

จังหวัด

กรุงไผทโกรมก่อหล้า ใจเฟือยฟ้าทำทาน

พิมายในด้านจารึก

กระลาโหม

แผดง–กุฦๅแดง

อักษรวินิจฉัย

ลายสือไทย (๑)

ลายสือไทย (๒)

ลายสือไทย (๓)

หลักภาษาไทย (๑)

หลักภาษาไทย (๒)

วิทยานุกรม

เชิงอักษรไทย

อักษรวินิจฉัย ตอนที่ ๑ เชิงอักษร ญ และ ฐ

อักษรไทยก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง

ข้อคิดทางนิรุกติศาสตร์

บรรณานุกรม

ดรรชนี

อ่านต่อ >>

หนังสือ ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัยเป็นการรวบรวมงานนิพนธ์ทางภาษาและนิรุกติศาสตร์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ โดยได้นำเรื่องส่วนมากในหนังสือภาษาและนิรุกติศาสตร์ (ยกเว้นเรื่อง “แชมพูไทย” และ ภาคผนวก “ว่าด้วยชนชาติขอม”) มาจัดพิมพ์พร้อมกับต้นฉบับส่วนอื่น ๆ ที่ตีพิมพ์กระจัดกระจายในวรรณสารต่าง ๆ ที่เพิ่งค้นพบ และรวมถึงต้นฉบับที่ยังไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน เลยนำมารวมพิมพ์รวมเล่มขึ้นในครั้งเดียวกัน

พูดถึงหนังสือ ภาษาและนิรุกติศาสตร์ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๒ สำนักพิมพ์ดวงกมล) แต่ขอเล่าประวัติว่าที่พิมพ์ครั้งแรกจริง ๆ โดยไม่ได้เผยแพร่คือ ฉบับพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยสำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยต่างหาก ในชื่อหนังสือว่า “จิตร ภูมิศักดิ์ อัจฉริยะของประชาชน” เผอิญในช่วงเวลาที่จะจัดจำหน่ายแก่สาธารณะ ได้เกิดเหตุวิกฤต ๖ตุลาคม ๒๕๑๙ ขึ้น หนังสือเล่มดังกล่าวจึงต้องระงับไป อีก ๓ ปีให้หลัง สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการสำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์ในยุคนั้นและเป็นคนเดียวกันกับ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ดวงกมลนำมาจัดพิมพ์ใหม่

หนังสือ ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย นี้ บรรณาธิการได้จัดแบ่งหมวดหมู่ โดยพิจารณาจากความต้องการหรือความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้เขียน สามารถจัดแบ่งผลงานออกเป็นหมวดหมู่ดังนี้

๑. หมวด ไทย – เขมร

จากงานนิพนธ์เรื่อง “กันเมียง” และ “สํนุ” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ตีพิมพ์ใน วงวรรณคดี (ฉบับ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๕ และ มีนาคม ๒๔๙๖ ตามลำดับ) จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ปรารภไว้ตอนหนึ่งว่า

ในวงวรรณคดีฉบับประจำเดือนธันวาคม ๒๔๙๕ ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่อง กันเมียงลงครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษาเขมรโบราณที่ไทยยืมมาใช้เรื่อง สํนุที่เขียนในคราวนี้ก็เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน และเชื่อว่าจะมีเรื่องในทำนองนี้ต่อไปอีกเรื่อย ๆ จึงเกิดความคิดที่จะรวมเข้าเป็นเรื่องเดียวกันให้ชื่อว่า ไทย – เขมรตอนนี้นับเป็นตอนที่ ๒

(วงวรรณคดี มีนาคม ๒๔๙๖ หน้า ๓๕)

งานนิพนธ์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในหมวด ไทย – เขมร นี้ มีพิมพ์เผยแพร่แล้วเพียง ๒ เรื่องข้างต้นเท่านั้น แต่ในการพิมพ์เป็นเล่มหนังสือครั้งนี้ได้นำ เรื่อง ไทย – เขมร ที่จิตรเน้นว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษาเขมรโบราณที่ไทยยืมมาใช้ หรือ คำเขมรโบราณในภาษาไทย หรือ คำเขมรโบราณในวรรณคดีไทย ตอนที่ ๓ คือ “กูขี่ช้างเบกพล” และ ตอนที่ ๔ คือ “ขยองเหียร” มาตีพิมพ์ด้วย งานนิพนธ์ทั้งสองตอนยังไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน

งานนิพนธ์หมวด ไทย – เขมร นี้ เท่าที่ได้อ่านพบจาก “โครงเตรียมการสำหรับวิทยานิพนธ์ คำเขมรโบราณในภาษาไทย” ที่ปรากฏใน โครงร่างวิทยานิพนธ์ เรื่อง คำเขมรโบราณในภาษาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ (ดู วารสาร ฟ้าเดียวกัน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม – ธันวาคม ๒๕๔๖ หน้า ๑๘๓) ยังมีคำอีกอย่างน้อย ๒ คำ ที่จิตรอยากจะเขียนถึง หรือเขียนถึงแล้ว แต่ยังไม่พบต้นฉบับคือเรื่อง “ภูล” (ในวรรณคดีไทยเรื่องเสือโคคำฉันท์) และเรื่อง “ตำเรีย, ดำเรีย” (ในวรรณคดีเรื่อง โคลงนิราศหริภุญไชย)

๒. หมวดศัพท์สันนิษฐาน

หมวดนี้น่าจะเริ่มต้นจากเมื่อครั้งเด็กหนุ่ม ๆ ที่เรียนอยู่ห้อง ๒๒ ๕ จากรั้วเตรียมอุดมศึกษาพญาไท และเด็กปีที่ ๑ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่กี่คนริเริ่มจัดทำนิตยสารสาระบันเทิง “ทรรศนะ” ขึ้น โดยฉบับปฐมฤกษ์ออก มาเมื่อตุลาคม ๒๔๙๓ นิตยสารฉบับดังกล่าวได้เปิดบัญชร “ศัพท์สันนิษฐาน” และอาจารย์มหาฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้ประเดิมเขียนศัพท์คำว่า “ถามุน” จากวรรณคดี “ไตรภูมิพระร่วง” ขึ้นในฉบับแรก

พอขึ้นฉบับที่ สองและสาม (พฤศจิกายน ๒๔๙๓ และ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๔) จิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะบรรณาธิการผู้ช่วยก็ได้เขียนเรื่องศัพท์ “ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว” และเรื่อง “สรวง-สาง” ขึ้น ในหมวดนี้ยังได้พบต้นฉบับเรื่อง “วรำ” ซึ่งยังไม่เคยตีพิมพ์จึงได้นำมาตีพิมพ์สมทบ และเท่าที่ได้ค้นพบร่างลายมือ จิตรยังตั้งใจเขียนศัพท์สันนิษฐานอีกหลายเรื่องด้วยกัน แต่ยังไม่พบต้นฉบับ คือ ๑. “เยียมาสมดอกแห้ง หฤทัย ชื่อแฮ” ๒. อาเวร ๓. ผีฟ้า (เรื่อง “ผีฟ้า” นี้ หากอ่านอย่างสังเกตในงานนิพนธ์ “สรวง-สาง” จะ พบว่าจิตรให้เชิงอรรถไว้ด้วยว่า “เรื่อง ‘ผีฟ้า’มีข้อสันนิษฐานอีกมากจะได้นำลงต่อไป”)

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะอยู่หมวดศัพท์สันนิษฐาน คือเรื่อง “เวลาไทย” ก็ยังไม่พบต้นฉบับเช่นกัน หากอ่านเรื่อง “ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว” ที่ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ ให้เชิงอรรถไว้ในเรื่องเช่นเดียวกันว่า “เรื่อง(เวลาไทย)นี้ จะนำลงในโอกาสต่อไป” ข้าพเจ้าเองในฐานะบรรณาธิการก็ไม่ค่อยมั่นใจนักว่าเรื่อง “เวลาไทย” นี้จะเป็นเรื่องเดียวกันกับที่อาจารย์สมศรี สุกุมลนันทน์ เคยเล่าพูดคุยให้ฟังทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ว่า จิตรเคยเขียนเรื่อง “น้ำอบไทย” หรือเรื่อง “น้ำอบไทย” อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดูเหมือนอะไรก็ตามที่เป็นไทย ๆ จิตรสนใจนัก ตั้งแต่ “แชมพูไทย”, “เวลาไทย” และ “น้ำอบไทย” โดยไม่พักต้องไปโพนทะนารักความเป็นไทยแต่อย่างไร

อาจารย์สมศรี ในฐานะที่เคยเป็นครูโรงเรียนเตรียมอุดม และในฐานะคุณครูของจิตร ยังเล่าเป็นเกร็ดให้ฟังอีกว่า

นายจิตรเก่งภาษาไทย หากครูโค๊ดอะไรมาผิด นิราศต่าง ๆ โค้ดมาผิดเรื่อง เขานั่งกอดอกฟังเฉย และบอกว่าโค๊ดมาผิด ก็ผิดจริง ๆ ด้วย แต่ภาษาอังกฤษไม่เก่ง

คุณพ่อ (คือ พระยาอนุมานราชธน หรือ เสฐียรโกเศศ) ก็เล็งนายจิตรว่าเหมาะจะดูแล หรือ บริหาร เป็นบรรณารักษ์ใหญ่ของหอสมุดแห่งชาติได้

จากหมวดศัพท์สันนิษฐานเรื่อง “ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว” ก็กลายเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นเรื่องราวเล็ก ๆ ขึ้นในชีวิตของจิตร ดังที่ปรากฏในบัญชร “ทรรศนา” ที่สืบเสาะมาโดยผู้ใช้นามปากกาว่า “พร” ใน นิตยสาร ทรรศนะ (ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๔) เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

๒๑ ธนู ๒๔๙๓ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งประเทศไทยผู้หนึ่งเข้าห้องเลกเชอร์ช้าไป ๔๕ นาที ใบหน้าเคร่งเครียด ห้องนี้เป็นห้องเรียนของผู้เขียนเรื่อง ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยวใน ทรรศนะฉบับก่อน

ท่านผู้นี้เริ่มอธิบายคำว่า ปลาผอกด้วยน้ำเสียงขุ่น ๆ ทำนองว่าผู้เขียน ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยวเข้าใจผิดและว่าลบล้างคำนิยาม ปลาผอกที่อาจารย์ผู้นี้เขียนไว้ก่อนอย่างเสียหาย

หมดชั่วโมง ท่านก็ออกจากห้องไป..

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า จงโกรธทุก ๆ คนที่มีความเห็นไม่เหมือนเราและ เดินตามรอยเท้าผู้ใหญ่หมาไม่กัด

๓. หมวดการพิจารณาที่มาของศัพท์

ในหมวดนี้จิตรเน้นเฉพาะศัพท์ที่มักมีปัญหาว่ามาจากภาษาอะไร เช่น ศัพท์ “กระลาโหม” ที่มีข้อสันนิษฐานจากหลายๆ ท่านว่ามาจากภาษาบาลีบ้าง ภาษาสันสกฤตบ้าง หรือศัพท์ “จังหวัด” ว่ามาจากภาษาจีนบ้าง อะไรทำนองนี้ มาแสดงเหตุผลถึงที่มาของศัพท์ว่ามาจากภาษาอะไรกันแน่ ในส่วนนี้นอกจากศัพท์ จังหวัด, กระลาโหม, ตำรวจ, กุํมฦๅแดง (เพิ่งตีพิมพ์เป็นครั้งแรก) แล้ว จิตรยังตั้งใจที่จะพิจารณาที่มาของศัพท์อีกอย่างน้อยก็สองคำ คือ บานแพนกและอัญจล ที่ทราบก็เพราะใน โคลงเตรียมการสำหรับวิทยานิพนธ์ คำเขมรโบราณในภาษาไทย จิตรระบุไว้ว่าจะพิจารณาที่มาของศัพท์ “บานแพนก” (น่าเสียดายที่ค้นหาต้นฉบับเรื่องนี้ไม่พบ) และศัพท์ “อัญจล” ที่จิตรระบุว่าได้เขียนและกำลังตรวจแก้เพื่อส่งไปลงตีพิมพ์ในวารสาร ศิลปากร (เสียดายที่ต้นฉบับไม่พบเช่นกัน) ในเรื่องศัพท์ “อัญจล” นี้ จิตรได้ระบุไว้ตอนหนึ่งว่าจะวินิจฉัยความหมาย และที่มาของศัพท์ อัญจล ใน โครงสรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอัญจน ใน ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างภาษาเขมร ซึ่งแต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และ ศัพท์ อจน ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

จะว่าไปแล้วปี พ.ศ. ๒๔๙๖ – ๙๗ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เขียนผลงานเหล่านี้ อายุเพียง ๒๓ – ๒๔ ปีเท่านั้นเอง งานนิพนธ์บางชิ้นของเขาในหมวดนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงเปรียบเทียบและเปรียบต่างกับงานนิพนธ์ของผู้รู้ที่มีชื่อเสียงอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เช่น เรื่อง “จังหวัด” ตีพิมพ์พร้อมกับงานชื่อเดียวกันของ ปรีดา ศรีชลาลัย ใน ศิลปากร (ฉบับปีที่ ๖เล่ม ๑๒ (ฉบับวันเกิดกรมศิลปากร) พฤษภาคม ๒๔๙๖) หรือ เรื่อง “กระลาโหม” ซึ่งยังเขียนไม่จบ จิตรเขียนเพื่อสนับสนุนข้อเสนอของกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (ธานีนิวัติ) และก็แย้งกับท่านผู้รู้อื่น ๆ อีกหลายท่าน ในเรื่องนี้มีบางตอนในเนื้อความที่จิตรระบุว่า

(ความตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป เขียนอย่างรวบรัดเพราะไม่มีเวลาพอ ถึงเป็นเพียงร่างชั้นหนึ่งก่อน ประกอบกับหนังสือค้นคว้าไม่มีเลย จึงได้แต่ เขียนจากความทรงจำ ไม่มีอ้างอิง)

และในกรณีเห็นต่าง ก็เขียนอย่างอ่อนน้อมถ่อมตัวยิ่งว่า

ตามที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ เป็นการขัดแย้งกับข้อสันนิษฐานของปราชญ์อื่น ๆ โดยเฉพาะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพพระบิดาแห่งปราชญ์ แต่ทั้งนี้ข้าพเจ้ากระทำไปโดยวิสัยของนักศึกษาเชื่อว่าถ้ามีญาณวิถีใดที่สมเด็จจอมปราชญ์พระองค์นั้นทรงทราบ ก็คงจะทรงยินดีรับฟัง และเปิดโอกาสให้วิพากษ์วิจารณ์ อันเป็นวิถีที่ทรงยึดมั่นอยู่เสมอมา

หากจะกล่าวไปนับแต่ปฏิกิริยาที่เขาได้รับจากบทนิพนธ์ศัพท์สันนิษฐานเรื่อง “ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว” (พ.ศ. ๒๔๙๓) จากอาจารย์ผู้สอน คงไม่ได้ทำให้จิตรรู้สึกอะไรมากมายนัก ยังคงมุ่งมั่นศึกษาหาความรู้ อ่านตำรับตำราทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ชนิดที่เคยไปยืมหนังสือครั้งเดียวถึง ๙๗ เล่ม ที่หอสมุดดำรงราชานุภาพ และขอค้นหนังสือจากหอสมุดกลางจุฬาฯ เล่มที่ยังไม่เคยมีผู้ใดยืมเลยตั้งแต่จุฬาฯ ยังเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน สิ่งที่จิตรยึดมั่นในบทนิพนธ์วิเคราะห์พิจารณาที่มาของศัพท์ของเขา คือต้องมีหลักฐานที่มีที่มาที่ไป ที่สำคัญ คือ เรื่องยุคสมัยของคำศัพท์ ไม่ใช่เอาศัพท์คำหนึ่งในเรือน พ.ศ. หนึ่ง ไปเทียบกับศัพท์ในยุคสมัยหรือเรือน พ.ศ. ที่ต่างกัน และไม่ใช่การสันนิษฐานหรือคาดเดาอย่างลอย ๆ เพราะฉะนั้นการที่จิตรเขียนไว้ตอนหนึ่งว่าเขียนจากความทรงจำนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกินเลยจากความจริง หากดูในความวิริยะ อุตสาหะในการเรียนรู้ ในชีวิตช่วงนี้ จิตรก็คงต้องการเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตเหมือนนักปราชญ์รุ่นก่อน ๆ ดังที่ได้แสดงท่าทีที่อ่อนน้อมถ่อมตนอย่างยิ่ง ในกรณีเห็นต่างกับกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังที่ปรากฏอยู่ในงานนิพนธ์ “กระลาโหม” ของเขา

เหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่ทำให้จิตรเปลี่ยนความคิดและวิถีชีวิตไปคือ การที่จิตรถูกจับ “โยนบก” จากหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ตุลาคม ๒๔๙๖ ยิ่งเมื่อจิตรหันไปเป็นนักหนังสือพิมพ์อันเนื่องมาจากการถูกพักการเรียน มีอยู่ครั้งหนึ่งที่จิตรถูก “แสงทอง” (หลวงบุณยมานพพาณิชย์) โต้กลับท้าทายบทวิจารณ์หนังสือ “ภาษาและหนังสือ” ของเขา โดยเฉพาะเรื่อง คำ“หอสมุดแห่งชาติ” หรือ “หอหนังสือแห่งชาติ” “แสงทอง” ว่า “ลอง (ให้จิตร หรือในนามปากกา ‘บุ๊คแมน’) โฆษณา (ให้ใช้คำหอหนังสือแห่งชาติ) ดูก็ดี จะมีโปรเล็ตแทเลียตเป็นคอมหราดร่วมมากเท่าไหน”

“บุ๊คแมน” หรือจิตรก็ได้วิจารณ์โต้กลับมาอีกครั้งว่า เรื่อง “หอหนังสือว่าไม่ใช่คำใหม่ เป็นคำที่ใช้มาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางเป็นอย่างต่ำ” โดยยกพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ พบที่เมืองเพชรบุรี ซึ่งพระโหราธิบดีเรียบเรียงขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นฉบับที่ถูกต้องที่สุดและถือเป็นฉบับมาตรฐานจนบัดนี้ ก็มีบอกไว้ในบานแพนกว่า สมเด็จพระนารายณ์รับสั่งให้พระโหราธิบดีรวบรวมกฎหมายเหตุที่มีอยู่ใน “หอหนังสือ” มาเรียบเรียงเป็นพงศาวดาร และว่าในนิทานโบราณคดีนิทานที่ ๙ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “หนังสือหอหลวง” ก็มีพูดถึงคำ“หอหนังสือหลวง” ไว้ บุ๊คแมนได้โต้ตอบอย่างสบายอารมณ์อย่างผู้รู้มากว่า

ใจคอของแสงทอง จะเหมาเรียกพระโหราธิบดี กวีเอกเชื้อพรหมณวรรณะ และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดรแห่งประวัติศาสตร์ไทยเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ว่า โปรแล็ตแทเรียตและคอมหราดเทียวหรือ?…อนิจจา แสงทอง!

(ดูหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ หน้า ๔ พุธที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๙๓)

นอกจากนี้ยังมีผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ อีกหลายชิ้น ที่ได้ก่อให้เกิดผลสะเทือนขึ้นในแวดวงผู้อ่าน แม้กระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้มีการนำบทความเกี่ยวกับดนตรีไทยของจิตรในนามปากกา “มนัส นรากร” ชื่อ “หลุมฝังศพของดนตรีไทย อยู่ที่อะไร? และที่ไหน?” มาพิมพ์ซ้ำ นักเขียนคอลัมน์บางคนมองว่าบทความชิ้นนี้เป็นการดูถูก “บรรพชน” โต้ตอบอย่างรุนแรงถึงขั้นเรียกกันเป็น “สัมภเวสี” (ดูบทความ “ดูถูกบรรพชน” ของวัลลภิศร์ สุดประเสริฐ พลอยแกมเพชร ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๒๙๖ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗) เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งที่จิตรเสียชีวิตไปแล้วตั้งเกือบ ๔๐ ปี ! และบทความชิ้นดังกล่าวของจิตรได้ เขียนขึ้นเมื่อ ๕๑ ปีที่แล้ว !

ส.ศิวรักษ์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่มักเอ่ยถึง จิตร ในเรื่องการศึกษาหาความรู้โดยเข้าหาพูดคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ เขาได้เขียนไว้ตอนหนึ่งในหนังสือ ช่วงแห่งชีวิต ที่จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ หน้า ๓๘๕ พูดถึง จิตร เข้าเฝ้า ม.จ.หญิงพูนพิศมัยดิศกุล และ พูดถึงเรื่อง “แชมพูไทย” ของ จิตร ที่ตีพิมพ์ในวารสารปาริชาติ แต่ในหนังสือดังกล่าวกลับเขียนเป็น “ชมภูไทย”

และในอีกตอนหนึ่งในเรื่อง “๑๐๐ ปี กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม (ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๘) ส. ศิวรักษ์ เขียนไว้ว่า

ทั้ง ๆ ที่ทรงเป็นเจ้านายสุกุมลชาติ แต่ทรงแสวงหาปราชญ์ แสวงหาผู้รู้อยู่เสมอ คนส่วนมากคงไม่ทราบว่า นายจิตร ภูมิศักดิ์ นั้นเป็นคนโปรดปราน อันเคยประทานน้ำชาให้ได้ร่วมโต๊ะเสวย และทรงซักไซ้ทางด้านวิชาความรู้จากเขาหลายอย่างหลายประการ (หน้า ๒๓)

ความข้อนี้ตรงกับบันทึกของ จิตร ที่เขียนบันทึกไว้ว่า

คนที่ข้าพเจ้าภาคภูมิใจมากในระยะนั้น คือ กรมหมื่นพิทยลาภ (ธานีนิวัติ) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีตะวันออกของสยามสมาคม (SIAM SOCIETY) กรมหมื่นได้ให้ลูกชายมาเชิญข้าพเจ้าไปกินอาหารกลางวันที่วังเพื่อขอทำความรู้จัก ได้พบปะสนทนาถูกคอกันในเรื่องโบราณคดี และอักษรศาสตร์กรมหมื่นได้เขียนหนังสือแนะนำสำหรับข้าพเจ้าฉบับหนึ่ง ให้สิทธิใช้ห้องสมุดของสยามสมาคมได้ โดยที่ข้าพเจ้ายังไม่มีคุณสมบัติตามข้อบังคับของสมาคม ข้าพเจ้า, ในขณะนั้น ถือเป็นเกียรติที่ภาคภูมิใจมากทีเดียว

(ดูหนังสือ หลายชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์ ของ วิชัย นภารัศมี

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ๒๕๔๖, หน้า ๑๖๘)

เรื่องการเข้าพบผู้หลักผู้ใหญ่ ศึกษาหาความรู้ถือว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่ง และผู้หลักผู้ใหญ่ก็มักจะเมตตาปรานีกับคนรุ่นใหม่ เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ เสมอ ในการซักไซ้ไตร่ถามอย่างผู้มีความรู้และสนใจศึกษา

๔. หมวดอักษรวินิจฉัย

ในสมัยเมื่อ ๖๐ – ๗๐ ปีที่แล้ว ผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิวัฒนาการตัวอักษร และเรื่องภาษาเขมร คือ อาจารย์มหาฉ่ำ ทองคำวรรณ ซึ่งเป็นผู้มีภูมิกำเนิดอยู่ที่เมืองพระตะบอง

เสฐียรโกเศศ ได้เคยกล่าวไว้ว่า

ถ้าติดขัดเรื่องศิลาจารึก ก็ไปหามหาฉ่ำ (อาจารย์มหาฉ่ำ ทองคำวรรณ) ถ้าติดขัดเรื่องแบบพระพุทธก็ไปหาคุณหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ แต่ก็จะต้องรู้เรื่องไว้บ้างเป็นทุนเดิม เขาบอกมาอย่างไร ก็พอใช้ความรู้ของเราปรับเข้าได้

(บทสัมภาษณ์ บรรจบ พันธุเมธา

บัญชร “คำบอกเล่าของสามัญชน” ปาจารยสาร ปีที่ ๑๗ ฉบับ ๖

พฤศจิกายน – ธันวาคม ๒๕๓๑)

แต่อาจารย์มหาฉ่ำ ทองคำวรรณ ก็ได้บอกกับอาจารย์ศรีศักรวัลลิโภดม ว่าถ้าหากสิ้นตัวเขาแล้ว ผู้ที่รู้เรื่องภาษาเขมรดีที่สุดในเมืองไทย คือ จิตร ภูมิศักดิ์

อาจารย์มหาฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้เปิดเวทีเขียนในบัญชร “อักษรศาสตร์” สันนิษฐาน เทียบการเขียนอักษรไทยกับอักษรขอม ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ในหนังสือพิมพ์ ศิลปากร ตั้งแต่ปีที่ ๑ เล่ม ๓ ถึงปีที่ ๒ เล่ม ๒ (ตุลาคม๒๔๘๐ – สิงหาคม ๒๔๘๑) ในบางส่วนของงานนิพนธ์ “วิทยานุกรม” ที่ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็เป็นงานในลักษณะเดียวกันกับของมหาฉ่ำ ทองคำวรรณ แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อย หรือซอยย่อยให้เห็นวิวัฒนาการของตัวอักษรในแต่ละยุคสมัยละเอียดกว่า

จิตร กับ อาจารย์มหา เคยพบกันและได้แลกเปลี่ยนวิสาสะเรื่องคำ เรื่องศัพท์ที่ไม่รู้ความหมายกันอยู่เสมอเช่นเรื่องความหมายของคำ “ขยองเหียร” เป็นอาทิ

จิตร ภูมิศักดิ์ นั้นสนใจเรื่องประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของตัวอักษรมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยม และเคยคิดจะทำพจนานุกรม ไทย -เขมร สมัยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๔๙๑ (ดูหนังสือ บทเพลงแห่งรุ่งอรุณ ของ วิชัย นภารัศมี สำนักพิมพ์มิ่งขวัญ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ หน้า ๑๑๗) ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เมื่อเรียนที่จุฬาฯ ปีที่ ๒ และมีอายุเพียง ๒๑ ปี ก็เขียนวิเคราะห์เรื่อง “เชิงอักษรไทย” เสียดายที่วิเคราะห์ได้เพียงตัว “ญ” ซึ่ง ทำให้เรารู้สาเหตุว่าทำไมในงานนิพนธ์ยุคหลัง ๆ ของจิตร จึงเขียน “ญ” ไม่มี เชิงเป็น ‘ญ’แทนที่จะเขียน “ญ” แบบที่เขียนกันทั่วไป อักษร “ฐ” อีกตัวหนึ่งที่จิตรเขียนไม่มีเชิงข้างล่างเป็น ‘ฐ’เสียดายที่เราไม่พบต้นฉบับการวิเคราะห์เชิง “ฐ” บรรณาธิการเองไม่อยากคาดเอาว่าคงเป็นเหตุผลเดียวกับเชิงตัว “ญ” ด้วยไม่มีความรู้ในส่วนนี้เอาเสียเลย น่าที่จะมีผู้รู้ได้ศึกษาต่อไป

ส่วนเรื่อง “อักษรไทยก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง” คงเป็นงานนิพนธ์ที่เขียนในยุคหลังสุดกว่าเรื่องอื่น ๆ ในหมวดนี้ และคงเขียนแบบรีบ ๆ สังเกตได้จากการใช้ตัวย่อ งานนิพนธ์ชิ้นนี้ถือเป็นยุคหลังที่ได้ลบล้างความเชื่อว่าพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทย ซึ่งจิตรมีแนวโน้มจะเชื่อเช่นนั้นในงาน ยุคก่อน ๆ เช่นในงาน “ลายสือไทย”

เรื่อง “หลักภาษาไทย” จิตรเขียนไม่จบ เลยไม่ทราบว่าจิตรมีมิติหรือมุมมองแตกต่างจากผู้อื่นอย่างไรมากนัก

มาในยุคราว พ.ศ. ๒๕๐๔ – ๒๕๐๕ อาจารย์สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ จากวิทยาลัยครูสงขลาในยุคนั้น ได้เปิดบัญชร “ภาษาของใคร” ในนิตยสารมิตรครู (นิตยสารเพื่อการศึกษา) รายปักษ์ ซึ่งมีสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าของ มีคำหลายคำที่นำมาเปิดประเด็นวิเคราะห์ใหม่ ทั้ง กมรเตญ, กมรเตงอัญ, ตวนกู, กลาโหม, ตังกวน ฯลฯ

จิตรคงได้อ่าน มิตรครู ในช่วงระยะถูกจองจำในเรือนจำลาดยาว จึงเขียน “ข้อคิดทางนิรุกติศาสตร์” เผยแพร่

การที่บรรณาธิการได้แบ่งงานนิพนธ์เป็นหมวด ๆ เช่นนี้ ก็เพราะดูจากแนวโน้มที่ผู้เขียนคือ จิตร ภูมิศักดิ์ ตั้งใจหรือมุ่งมั่นจะให้เป็นเช่นนั้นและการ ที่นำบางส่วนเกือบทั้งหมดของหนังสือ ภาษาและนิรุกติศาสตร์ ยกเว้นเรื่อง “แชมพูไทย” ที่จะนำไปรวมกับเล่มอื่นอีกต่างหาก มารวมกับงานเขียนที่เพิ่งค้นพบใหม่และให้ชื่อหนังสือว่า “ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย” ก็ให้เกียรติแก่ จิตร ภูมิศักดิ์ โดยเฉพาะ เพราะชื่อหัวข้อทั้งสอง เป็นชื่อที่จิตรคิดขึ้นเองสำหรับงานเขียนประเภทนี้ของตัวเอง ประจวบกับโครงการสรรพนิพนธ์ จิตร ภูมิศักดิ์ มุ่งหมายที่จะรวบรวมงานแต่ละประเภทที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนขึ้นให้สมบูรณ์ จึงเห็นควรนำมาไว้ ณ ที่เดียวกัน

ท้ายสุดนี้ ขอชี้แจงให้ทราบว่า สำนวนหรือเนื้อความบางส่วนในบางเรื่องของหนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ตรงกับที่เคยพิมพ์มาก่อน ทั้งนี้ก็เพราะทางสำนักพิมพ์ได้ตรวจสอบทานกับฉบับพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารต่าง ๆ และบาง เรื่อง เช่น กระลาโหม, สํนุ ได้ตรวจสอบกับ อักษรานุสรณ์ ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ และ วงวรรณคดี มีนาคม ๒๔๙๖ ซึ่งเป็นหนังสือของจิตรเอง และมีลายมือจิตรแก้ไว้ในหนังสือฉบับพิมพ์ จึงเอาตามที่จิตรได้แก้ไว้

บรรณาธิการขอขอบคุณอย่างจริงใจต่อพี่ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ และคุณนุชจรี ใจเก่ง ผู้ที่เฝ้าเวียนเข้าห้องสมุดเพื่อสอบค้นหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังสงสัย เพื่อที่จะให้หนังสือเล่มนี้ได้ออกมาอย่างสมบูรณ์ที่สุด

 

วิชัย นภารัศมี

๔ พฤษภาคม ๒๕๔๘

อ่านต่อ >>