สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา

ลดราคา!

฿342.00


รหัสสินค้า: 9799749259312 หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำปรารภพี่สาว ผู้รักษาต้นฉบับ

คำนำบรรณาธิการ

คำนำสำนักพิมพ์ (ฉบับพิมพ์ครั้งแรก)

คำนำสำนักพิมพ์ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓)

คำนำเสนอ

วิวาทะว่าด้วยสังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา

จักรพรรดิราช : กษัตริย์ผู้ “มิได้” หายไปจากพงศาวดาร

ปัญหาวันเดือนปีในกฎหมายที่ตราขึ้นก่อนวันสถาปนากรุงศรีอยุธยา

สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา

ปาฏิหาริย์และเพดานความคิด

อุปาทานในศิลาจารึก

จะมองตำนานอย่างไร?

กฎหมายก่อนสมัยศรีอยุธยา

ความสำนึกทางกฎหมาย

ภาษาราชสำนัก

ร่องรอยในตำนานและศิลาจารึก

อโยทยาศรีรามเทพนคร

เมืองไตรตรึงษ์มิใช่นิยายปรัมปรา

นครศรีธรรมราชและอโยธยา

นครรัฐเพชรบุรี

ความขัดแย้งทางการเมืองเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ขอมแปรพักตร์

กระแสคลื่นแห่งการปลดแอก

ปรัชญาการเมืองของไทยยุคต้นสมัยศรีอยุธยา

ภาคผนวก

จักรพรรดิราช กษัตริย์ผู้หายไปจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

แผนที่สังคมไทยในทัศนะของจิตร ภูมิศักดิ์

แผนที่ ๑

แผนที่ ๒

บรรณานุกรม

ดรรชนี

อ่านต่อ >>

คำกล่าวของเคร็ก เจ. เรย์โนลด์ที่ว่า “จิตร ภูมิศักดิ์เป็นผู้กำเนิดสองครั้ง” ดูจะเป็นบทสรุปตำนานชีวิตของจิตรได้อย่างรวบรัดและชัดเจนที่สุด จากปรากฏการณ์ที่จิตรจบชีวิตลงในชายป่าเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙ และ “เกิดใหม่” หลังจากนั้น ๗ ปี

หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ชีวิตและผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกรื้อฟื้น และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ผลงานของเขาในนามปากกาต่าง ๆ ถูกนำมาเผยแพร่ไม่หยุดหย่อนพร้อม ๆ กับชื่อจิตร ภูมิศักดิ์กลายเป็นแบบอย่างของปัญญาชนปฏิวัติ ซึ่งทวีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นเมื่อมีการสร้างเรื่องเล่า/ตำนานชุดต่าง ๆ ขึ้นมาหนุนเสริม

จนกระทั่งปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านไปกว่า ๓๐ ปี และบทบาทนักปฏิวัติของเขาจะลดความสำคัญลงไป แต่ผลงานของจิตรยังคงปรากฏและสำแดงคุณค่าโดดเด่น โดยเฉพาะในแวดวงประวัติศาสตร์โบราณคดี และภาษาศาสตร์ ผลงานหลายชิ้น เช่น ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา, สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา ฯลฯ ได้รับการยกย่องในฐานะงานที่ “ทะลวงกรอบทะลายกรง” บุกเบิกแง่มุมใหม่จากกรอบคิดเดิม

นั่นเป็นเพราะจิตรเป็นผู้มีความรอบรู้แตกฉานในศาสตร์หลายแขนง ทั้งวิชาประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลป วรรณคดี ดนตรี ภาษา นิรุกติศาสตร์ ฯลฯ ผลงานของจิตรจึงเป็นการศึกษาค้นคว้าโดยใช้ความรู้หลายสาขาผนวกเข้าด้วยกันอย่างที่เรียกว่า “สหวิทยาการ” ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการศึกษาค้นคว้าอย่างนักปราชญ์รุ่นเก่า เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระยาอนุมานราชธน และนักปราชญ์ราชบัณฑิตอีกหลายท่าน ต่างกันแต่เพียงจิตร ภูมิศักดิ์เป็นสามัญชนคนธรรมดา และมีสถานะนักปฏิวัติซึ่งถูกกดขี่คุกคามด้วยอำนาจเผด็จการ ต้องถูกจับกุมคุมขัง ไม่มีโอกาสศึกษาค้นคว้าอย่างเต็มที่ ผลงานส่วนใหญ่ของเขาจึงยังเขียนไม่จบและไม่ได้เผยแพร่ในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลายความตึงเครียดลง ผลงานของจิตร ก็ถูกนำมาเผยแพร่และพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง แต่ก็เป็นเพียงบางชิ้น ผลงานส่วนใหญ่ยังไม่มีการพิมพ์ใหม่ กลายเป็นหนังสือหายากราคาแพงบนแผงหนังสือเก่าเท่านั้น

เพื่อให้ผลงานทรงคุณค่าของจิตรเผยแพร่ออกสู่สังคมอีกครั้ง สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จึงได้จัดตั้ง “โครงการสรรพนิพนธ์จิตร ภูมิศักดิ์” ขึ้น เพื่อรวบรวมผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ทั้งที่เคยตีพิมพ์มาแล้วและที่ค้นพบใหม่ออกพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง โดยมุ่งหวังให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด

ด้วยผลงานจำนวนมากของจิตร ทางสำนักพิมพ์ได้จัดแบ่งหมวดหมู่ตามเนื้อหาออกเป็น ๗ หมวดคือ หมวดประวัติศาสตร์, หมวดงานแปล, หมวดนิรุกติศาสตร์, หมวดรวมบทความวิจารณ์สังคม, หมวดรวมบทความวิจารณ์ศิลปะ, หมวดรวมบทความวิจารณ์วัฒนธรรม, หมวดบันทึกส่วนตัว และได้บรรณาธิกรต้นฉบับใหม่ ตลอดจนจัดทำภาพประกอบ, บรรณานุกรม และดรรชนีเพิ่มเติมเพื่อให้หนังสือชุดนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาความถูกต้องของเนื้อหาให้ตรงกับต้นฉบับลายมือเขียนของจิตรหรือฉบับพิมพ์ครั้งแรกทั้งเครื่องหมายวรรคตอนและสำนวนภาษาที่จิตรเขียนต่างไปจากปรกติ เช่นคำว่า ทาส ใช้ ษ สะกดแทน ส, ตัว ญ เขียน ไม่มีเชิงเป็น ญ ฯลฯ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ทางภาษาที่จิตรใช้ และเขียนบทความอธิบายไว้อย่างชัดเจน

นอกจากจิตร ภูมิศักดิ์ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานแล้ว “โครงการสรรพนิพนธ์ จิตร ภูมิศักดิ์” จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความไว้วางใจจากคุณป้าภิรมย์ ภูมิศักดิ์ ที่อนุญาตให้สำนักพิมพ์เล็ก ๆ เช่นเราได้มีโอกาสผลิตงานของนักคิดที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของสังคมไทย, คุณวิชัย นภารัศมี “เมือง บ่อยาง” บรรณาธิการหนังสือชุด ผู้มีความอุตสาหะ ค้นคว้า รวบรวมผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคำแนะนำอันมีค่าสำหรับกระบวนการบรรณาธิกร, อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการศึกษาผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์, คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว แห่งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ผู้ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในทุกด้าน, คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี, คุณสุรศักดิ์ คงควรสำหรับภาพประกอบ, คุณประชา สุวีรานนท์ ผู้ออกแบบปกหนังสือชุด รวมทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ไม่ได้เอ่ยนามทุกท่านที่ให้ความช่วยเหลือจนหนังสือชุดเล่มนี้สำเร็จออกมาได้

 

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

 

อ่านต่อ >>

หนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ มีนาคม ๒๕๒๖ โดยสำนักพิมพ์ไม้งาม ครั้งที่สอง เมื่อ เมษายน ๒๕๒๗ สำนักพิมพ์ดอกหญ้า การพิมพ์ครั้งที่สองดูจะพิมพ์แบบไม่ใส่ใจนัก ใช้วิธีถ่ายแบบจากฉบับที่พิมพ์ครั้งแรก แล้วไม่ได้แก้คำผิดอื่น ๆ เลยนอกเหนือจากคำที่ระบุให้แก้ไขในคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรกเท่านั้น ส่วนการพิมพ์ครั้งใหม่ฉบับที่ท่านถืออยู่นี้จึง เป็นครั้งที่สาม จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

แรกเริ่มที่หนังสือเล่มนี้ของ จิตร ภูมิศักดิ์ เผยแพร่ออกไป ได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในแวดวงนักวิชาการประวัติศาสตร์พอสมควร มีข้อเขียนทั้งส่งเสริม เห็นด้วย เปรียบเทียบ และเห็นแย้งกับงานชิ้นนี้ ซึ่งว่าไปก็เป็นเรื่องดี ดังที่มีข้อเขียนของ สืบแสง พรหมบุญ เรื่อง “จักรพรรดิราช : กษัตริย์ผู้ “มิได้” หายไปจากพงศาวดาร” (ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๖ฉบับที่ ๑๒ : ตุลาคม ๒๕๒๘) เรื่องนี้ว่าไปแล้ว นอกจากจะอ้างถึงหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา แล้ว ยังตั้งชื่อเรื่องเพื่อความเห็นต่างกับบทความของ “ประภากร” ซึ่งเป็นนามปากกาของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ไม่ค่อยมีใครรู้กันนัก เรื่อง “จักรพรรดิราช: กษัตริย์ผู้หายไปจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา” (บทความชิ้นนี้พิมพ์ครั้งแรกใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๙ : กรกฎาคม ๒๕๒๖) ทั้งบทความของสืบแสง พรหมบุญ และ “ประภากร” นำมาตีพิมพ์รวมในฉบับพิมพ์ครั้งนี้ด้วย

ต่อมาล้อม เพ็งแก้ว นักวิชาการได้เขียนเรื่อง “วัน เดือน ปี ใน กฎหมายที่ได้ตราขึ้นก่อนวันสถาปนากรุงศรีอยุธยา” ในบัญชร “ค้นคำเค้นความ” (ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๕ : มีนาคม ๒๕๒๙) แล้วต่อมา กำธร เลี้ยงสัจธรรม ผู้เคยเขียนเรื่อง “กฎหมายตราสามดวงฉบับพิมพ์” (ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑๒ : ตุลาคม ๒๕๒๗) ก็เขียนแย้งไม่เห็นด้วย ลงในบัญชร “สโมสรศิลปวัฒนธรรม” (ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๖ : เมษายน ๒๕๒๙) และบางส่วนยังให้ข้อสังเกตถึงเรื่อง ศักราช ที่ปรากฏในหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ด้วยเหมือนกัน

ข้อสังเกต ข้อติติง ของนักวิชาการรุ่นไล่เลี่ย หรือ รุ่นหลัง ๆ (จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิตเมื่อ พฤษภาคม ๒๕๐๙ ไม่ใช่ มิถุนายน ๒๕๑๐ หากมีชีวิตอยู่ถึงปัจจุบันก็อยู่ในราว ๗๕ ปี) ถือเป็นสิ่งที่ตรงจุดประสงค์และมีคุณอย่างยิ่งสำหรับวงการประวัติศาสตร์ไทยงานหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา เล่มนี้ ขอให้ผู้อ่านจึงใส่ใจไว้ว่าไม่ใช่บทสรุปตายตัว นอกเหนือจากที่รู้กันว่าจิตรเขียนงานชิ้นนี้ขึ้นในย่านเวลาเดียวกับหนังสือวิชาการอีกเล่มคือ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ แล้ว (คือเริ่มเขียนนับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นไป แน่นอนที่ว่าต้องเขียนขึ้นในขณะถูกจองจำในคุกลาดยาว และบางส่วนอาจมาเขียนต่อเติมเมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้ว) จิตรยังมีระยะเวลาจำกัดจำเขี่ยมากในการเขียนด้วยเป็นระยะท้าย ๆ ของชีวิต หลังจากออกจากคุกในวันสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๐๗ จิตร ยังจะต้องตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตด้วยการเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (จิตรเข้าป่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘) เขาคงไม่มีเวลามาตรวจทานงานที่เขียน และก็ยังไม่นำผลงานชิ้นนี้ไปฝากกับใคร คงเก็บไว้ในหีบลังเก่า ๆ ที่บ้าน ปล่อยทิ้งไปตามกาลเวลา นับว่าโชคดีที่บ้านของเขาไม่ถูกเข้ารื้อค้นโดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐภายหลังจากที่เขาถูกยิงเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๙ มิฉะนั้นคงไม่เฉพาะแต่งานเขียนชิ้นนี้เท่านั้น งานอีกหลายชิ้นที่มีค่าก็อาจสูญหายไปก็ได้ เช่นเดียวกับที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่ามีงานอีกหลายชิ้นของเขาที่หายสาบสูญไปทั้งที่ฝากมิตรสหายไว้ และระหว่างระเหเร่ร่อนร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ฉะนั้น ข้อสังเกต เปรียบเทียบ หรือ ติติง ของนักวิชาการดังกล่าว ข้างต้นจึงเป็นสิ่งที่ควรรับไว้วิเคราะห์ พินิจพิจารณาอย่างยิ่ง โดยส่วนตัว จิตร ภูมิศักดิ์เองก็เปิดใจไว้ตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ว่า “งานประวัติศาสตร์ชิ้นนี้มิใช่จะเป็นผลสรุปที่ยุติตายตัว : สมมุติฐานต่าง ๆ ที่จะมีต่อไปนี้อาจจะต้องแก้ไข ปรับปรุง หรือยกเลิกเสียเลยก็ได้ในอนาคต, เมื่อการขุดค้นทางประวัติศาสตร์ของเราก้าวหน้าไปกว่าปัจจุบัน” และเขายังสรุปจุดมุ่งหมายของการเขียนงานชิ้นนี้ไว้ว่า “เขียนขึ้นเพื่อต่อสู้กับเพดานประวัติศาสตร์ (พ.ศ. ๑๘๙๓) และเพื่อดึงประวัติศาสตร์ที่เป็นนิยายแบบพระอินทร์เนรมิตให้คืนกลับมาสู่สภาพเป็นจริงของสังคมอันเป็นพื้นฐานและบ่อเกิดแห่งเหตุการณ์

ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้สนใจประวัติชีวิตและผลงานของจิตรภูมิศักดิ์ เมื่อได้หวนกลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้งหนึ่ง และในฐานะบรรณาธิการ ก็ใคร่อยากจะฉายภาพบางอย่างให้เห็นดังนี้

จากบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรชิ้นหนึ่งของจิตร เคยเอ่ยถึงความยากลำบากที่ครอบครัวได้ประสบในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยคุณแม่แสงเงิน ฉายาวงศ์ คุณแม่ของจิตรต้องกลับไปทำมาหากินที่ตำบลโก่งธนู อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จิตรและพี่สาวเอง หลังจากเลิกเรียนสุดสัปดาห์หรือช่วงปิดเทอม ก็ได้กลับลพบุรีไปช่วยแม่ทำมาหากินที่นั่น (ผู้สนใจหาอ่านได้ในหนังสือ หลายชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พ.ศ. ๒๕๔๖ หน้า ๑๖๕) ซึ่งในระยะ เวลานั้นจิตรอายุ ๑๗ ปี รุ่นหนุ่มกระทง ภาพที่อยากจะฉายให้เห็นในงานหนังสือเล่มนี้คือประสบการณ์วัยเยาว์ที่ตำบลโก่งธนูแห่งนี้ จิตรได้นำมาอ้างอิงถึงในหนังสือดังกล่าวมากครั้งทีเดียว

เริ่มต้น ครั้งแรก จิตร เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

สมมุติฐานของข้าพเจ้านี้ มีข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์รองรับอยู่ข้อหนึ่งคือ ที่ตำบลโก่งธนู อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี บนฝั่งซ้ายของลำน้ำลพบุรี (ทางใต้ตัวเมืองลงมา) มีหมู่บ้านอยู่หมู่หนึ่งชื่อบ้านท่าเกวียน ชาวบ้านที่นั่น มีตำนานเล่ากันว่า เมื่อท้าวอู่ทองอพยพลงมา (มาจากไหนไม่ทราบ) เกวียนมาหักที่ตรงริมทาฝั่งแม่น้ำนี้, ออกปากขอยืมขวานชาวบ้านซ่อมเกวียนก็ไม่มีใครให้ยืมเลย ใต้บ้านท่าเกวียนลงไปตามริมน้ำราวสักกิโลเมตรเศษ มีวัดอยู่วัดหนึ่ง ชื่อว่าวัดท้าวอู่ทอง มีประวัติว่าท้าวอู่ทองมาพักที่นี่วัดนี้ปัจจุบันยังมีพระภิกษุจำพรรษาทะนุบำรุงอยู่

และ “ถ้าเราจะเชื่อร่องรอยในตำนานของชาวบ้านท่าเกวียน จังหวัดลพบุรี ที่ว่าท้าวอู่ทองขนของบรรทุกเกวียนมาเกวียนหักที่ตรงนั้น แล้วไปพักตรงวัดที่บัดนี้ยังเรียกว่า วัดท้าวอู่ทอง (ตำบลโก่งธนู, อำเภอเมือง ใต้ตัวเมืองลพบุรี), ฉะนี้แล้ว เราก็จะจำกัดเขตที่ตั้งของเมืองเทพนครได้ใกล้ยิ่งขึ้น กล่าวคือ ต้องอยู่ในระหว่างเมืองแพรกกับตำบลโก่งธนู ตรงวัดท้าวอู่ทอง ในจังหวัดลพบุรี เส้นทางอพยพย้ายครัวย้ายเมืองของท้าวอู่ทอง คงจะเลียบเลาะมาตามลำน้ำลพบุรี ถ้าจะหาที่ตั้งเมืองเทพนคร ก็จะต้องหาเลาะลำน้ำลพบุรีขึ้นไปตามฝั่งตะวันออก อันเป็นฝั่งที่ตั้งของบ้านท่าเกวียนและวัดท้าวอู่ทอง

และ “ข้าพเจ้าเคยเดินเท้าลงมาตามลำน้ำลพบุรี เลาะมาตามริมฝั่งน้ำ แล้วแยกออกไปยังอำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ได้พบว่าตามลำน้ำลพบุรีใต้เมืองลพบุรีลงมานั้น มีทรากเมืองโบราณถึงรุ่นทวารวดีอยู่บางแห่ง วัดเก่าแก่รกร้าง ที่มีศิลปทวารวดีก็มีหลายวัด ในเขตอำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง, ที่วัดหลวงพ่อขาว ได้พบกวางหมอบแกะด้วยไม้ตัวขนาดย่อม ฝีมืองามมาก ซึ่งนี่ไม่ต้องสงสัย, ย่อมเป็นกวางหมอบคู่กับธรรมจักรอันเป็นความนิยมของสมัยทวารวดี

ข้าพเจ้าควรจะกล่าวลงไปเสียที่เดียวในที่นี้ว่า เรื่องราวจากการเรียนรู้จากภาคสนามอันเป็นประสบการณ์วัยเยาว์ด้วยตัวเองที่ตำบลโก่งธนู และการรู้จักนำข้อมูลดิบเหล่านี้มาวิเคราะห์ มาสันนิษฐาน เรื่องเช่นนี้คงจะไม่เกิดขึ้นกับคนทั่ว ๆ ไปเป็นแน่ยกเว้นแต่กับผู้ที่มีหัวใจเป็นนักประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงเท่านั้น เมื่อจิตรมาเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว จิตรกับเพื่อนสนิทสองสามคนเคยไปที่ปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมวัน (บ้านมะค่า ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา) ไปสำรวจภาคสนาม ไปคัดลอกจารึก ไปถ่ายภาพ ไปวัดแนวกว้างยาวของตัวโบราณสถาน โดยมีแผนที่มณฑลโคราชติดตัวไปด้วย ก็มีอยู่บางตอนจากการสำรวจที่มาปรากฏอยู่ในผลงานการเขียนชิ้นนี้เช่นกัน แทบไม่ต้องกล่าวถึงปราสาทหินขนาดมหึมาในประเทศกัมพูชาอย่างนครวัด นครธม ที่ว่ากันว่าจิตรเดินได้ทะลุปรุโปร่งเสมือนบ้านของตัวเอง

เราน่าจะกล่าวสรุปในที่นี่ได้ว่า คนที่มีหัวใจเป็นนักประวัติศาสตร์ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะทำได้เช่นนี้

 

วิชัย นภารัศมี

๑๒ กันยายน ๒๕๔๗

อ่านต่อ >>