ฟ้าเดียวกัน 11/1 : 9 ปี ไฟใต้

ลดราคา!

฿225.00


สินค้าหมดแล้ว

รหัสสินค้า: 9786167667171 หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

บทบรรณาธิการ

กระบวนการสันติภาพเพิ่งจะเริ่ม อย่าเพิ่งล้มโต๊ะ

มหาชนทรรศนะ

การสร้างคำอธิบายของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบกษัตริย์นิยม

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ทัศนะวิพากษ์

อ่าน “ภูมิศาสตร์ในจินตนาการปลายด้ามขวาน ผ่านนวนิยายชายแดนใต้ยุคความรุนแรงผงาด

ศรัณย์ วงศ์ขจิตร

อยู่กับความรุนแรงความรุนแรงในพื้นที่ทางโลกย์ของมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

ครูไทยพุทธ: ในสงครามแห่งวาทกรรม

สิริไพลิน สิงห์อินทร์

ความจริงจริงๆบางสิ่งที่หายไปในเรื่องเล่า ครูไทยพุทธ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะใกล้หรือไกลเพียงไร? : เปรียบเทียบกระบวนการสันติภาพฟิลิปปินส์ และไทย

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช, อัญชลี มณีโรจน์ แปล

รายงานพิเศษ

ราชินีวิกตอเรีย เบื้องหลังราชวงศ์ที่สมบูรณ์แบบ

สำนักข่าวบีบีซี ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แปลและเรียบเรียง

อ่านคำพิพากษาสมยศ พฤกษาเกษมสุข : ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองและปัญหา พระราชอำนาจในระบอบประชาธิปไตย

ธนาพล อิ๋วสกุล

คำพิพากษาศาลอาญาในพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ คดีดำหมายเลข อ. 2962/2554 คดีแดงหมายเลข อ. 272/2556

บทความปริทัศน์

ประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ สยาม : จาก ประวัติและบทเรียนบางประการของพรรคเราวิรัช อังคถาวรถึงกำเนิดพรรค คอมมิวนิสต์สยาม ของเออิจิ มราชิมาธิกานต์ ศรีนารา

อ่านต่อ >>

กระบวนการสันติภาพเพิ่งจะเริ่ม อย่าเพิ่งล้มโต๊ะ

นับจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ตัวแทนรัฐไทยได้ลงนามใน ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับ ผู้คนที่มีความคิดเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทยโดยมีประเทศมาเลเซียทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในกระบวนการดังกล่าวนั้น จนถึงปัจจุบัน (5 พฤษภาคม 2556) ความรุนแรงก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เป็นเหตุให้คนบางกลุ่มเรียกร้องให้ทบทวนหรือยกเลิกกระบวนการพูดคุย-เจรจาด้วยข้ออ้างหลักๆ เช่น ยังไม่ถึงเวลาเจรจา, รัฐไทยยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้, มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อการน้อยเกินไป กระบวนการพูดคุย-เจรจาจะเป็นตัวเร่งให้กลุ่มผู้ก่อการใช้ความรุนแรงเพื่อยกระดับการ เจรจา เป็นต้น

ฟ้าเดียวกัน เห็นว่าปฏิบัติการทางการทหารของรัฐไทยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา นับจากเกิดเหตุโจมตีค่ายทหารกองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 นั้น พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแก้ปัญหาไม่ได้ ซ้ำยิ่งเติมเชื้อไฟแห่งความคับแค้นให้ทบทวีมากขึ้น เพราะปฏิบัติการภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก เปิดช่องให้เกิดการปฏิบัติแบบลัดขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ส่งผลให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย ชาวบ้านในพื้นที่ยิ่งรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย เกิดความรู้สึกแปลกแยกต่อเจ้าหน้าที่รัฐไทยมากขึ้น สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้ส่งทหารลงไปเท่าไรก็ไม่พอ เพราะทหารถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา

การพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพก็คือการ เปิดพื้นที่ทางการเมืองหลังจากที่ใช้ การทหารนำมาถึง 9 ปีแล้วก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ หากไม่เปิดโอกาสให้กับทางเลือกใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา ก็มีแต่จะต้องฆ่ากันไปเรื่อย ๆ

ณ ตอนนี้ กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น (รัฐไทยยังไม่ยอมใช้คำว่า เจรจาด้วยซ้ำ) เป้าหมายเบื้องต้นคือ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้และทำความเข้าใจความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ จุดยืน เป้าหมายของกันและกัน สร้างบรรยากาศให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ก่อนจะยกระดับไปสู่การเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันในอนาคต

การ เปิดพื้นที่ทางการเมืองในแง่หนึ่งก็คือ การเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้ทบทวนหลักคิด อุดมการณ์ ความเชื่อ ความรู้ความเข้าใจของตนเอง อันจะเป็นหนทางที่นำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน ทั้งฝ่ายรัฐไทย และฝ่ายขบวนการซึ่งมีบีอาร์เอ็นเป็นตัวแทนต้องนำความคิด อุดมการณ์ เป้าหมายของตนเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ เปิดโอกาสให้มีการ พูดคุยแลกเปลี่ยน ตลอดจนถกเถียงกันด้วยเหตุผล ประเมินและปรับเป้าหมายของแต่ละฝ่ายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น

ฝ่ายรัฐไทย คงต้องทบทวนแนวคิดเรื่องชาติ เรื่องอำนาจอธิปไตยเสียใหม่ แทนที่จะเอาแต่ยืนกรานตามแนวคิดชาตินิยมแบบคับแคบว่า ไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียวการไม่เสียดินแดน แต่เสียความชอบธรรมในการปกครองพื้นที่ ไม่ได้ใจของประชาชนในพื้นที่ จะมีประโยชน์อันใด? นอกจากนี้ยังต้องทบทวนประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม ทบทวนแนวคิดเรื่องรัฐเดี่ยวแบบแข็งทื่อ และทำความเข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเสียใหม่ว่าไม่ใช่ภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ

ฝ่ายขบวนการ คงต้องออกมาสื่อสารความคิดและจุดยืนของตนต่อสาธารณชนมากขึ้นหลังจากที่อยู่ในเงามืดมานาน ต้องอธิบายให้สมาชิกและแนวร่วมของตนเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่า ที่อ้างว่าทำเพื่อปลดปล่อยปาตานีให้เป็น เอกราชเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็น รัฐอิสลามนั้นมีแผนหรือโครงการอะไรรองรับมีอะไรเป็นหลักประกันว่าถ้าได้เอกราชแล้วชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่จะดีขึ้น มีอิสรภาพ และได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น หรือหากได้เอกราชมาแล้ว ประเทศเล็ก ๆ จะอยู่รอดได้อย่างไรในยุคโลกาภิวัตน์ จะบริหารจัดการกันอย่างไร มีทรัพยากรและบุคลากรเพียงพอหรือไม่ การเป็นรัฐอิสลามจะแก้ปัญหาที่เป็นเรื่อง ทางโลกย์อย่างเรื่องการจัดสรรทรัพยากร การมีงานทำและมีรายได้ที่เหมาะสมได้แค่ไหน อย่างไร เป็นต้น

ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงต้องคุยกันว่าต้องการเอกราชและรัฐอิสลามจริงหรือไม่? ถ้าเป้าหมายจริงๆ คืออิสรภาพและความยุติธรรม มีหนทางที่จะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้โดยที่ยังอยู่กับรัฐไทยหรือไม่? คำว่า รัฐอิสลามที่พูดกันอย่างคลุมเครือนั้นหมายถึงอะไร มีประเทศไหนเป็นแม่แบบ ไปด้วยกันได้กับหลักสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนแบบประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าไม่ได้ จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าการปกครองในรัฐใหม่จะนำมาซึ่งอิสรภาพและความยุติธรรมมากกว่าการอยู่กับรัฐไทย นอกจากนี้ ชุมชนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังต้องทบทวนบทบาทของตัวเองด้วยว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรงหรือไม่ การเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่กระทำในนามของศาสนานั้นถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

ประชาชนไทยทั่วประเทศ เช่นเดียวกับฝ่ายรัฐไทย จำเป็นต้องทบทวนแนวคิดชาตินิยมแบบคับแคบ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์รัฐชาติไทยของตนเสียใหม่ (โดยเฉพาะพวกที่รู้สึกตกใจกับการใช้คำว่า นักล่าอาณานิคมสยามของตัวแทนบีอาร์เอ็นในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ผ่านยูทูบเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556) สิ่งที่เราต้องตระหนักคือ ปัญหาชายแดนใต้นั้นมีรากเหง้ามาจากอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่ฝังลึกในหัวของคนไทยจำนวนมาก ไม่เพียงแต่รัฐไทยจะรับเอามรดกการปกครองแบบอาณานิคมที่ไม่เคยไว้ใจให้ท้องถิ่นจัดการปัญหาของตนเองเท่านั้น ประชาสังคมไทยก็ยังรับเอาทัศนะแบบ เจ้ากรุงเทพฯมาผลิตซ้ำผ่านงานวิชาการ แบบเรียน วรรณกรรม ภาพยนตร์ ละคร ฯลฯ จนทำให้แนวคิดที่ว่าจะไม่ยอมเสียพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียวกลายเป็นอุดมการณ์หลักของคนในสังคมไทย ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดหรือใส่เสื้อสีไหน

แน่นอนว่า การทบทวนความรู้ความเข้าใจของแต่ละฝ่ายเพื่อหาจุดที่เป็นความ เข้าใจร่วมอันจะนำไปสู่การหาข้อตกลงร่วมกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลายาวนานอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่จ้องจะล้มโต๊ะการพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพอยู่แล้ว ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐไทยและฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นต่างก็มีสายกลาง (หรือสายประนีประนอม) และสายสุดโต่งอยู่ในฝ่ายของตนเอง และเชื่อว่าในตอนนี้สายสุดโต่งของทั้งสองฝ่ายคงยังไม่อยากเจรจา เพราะได้ประโยชน์จากความไม่สงบที่เกิดขึ้น (ที่เห็นได้ชัดคืองบประมาณมหาศาลของกองทัพไทยในแต่ละปี) ตลอดจนกลุ่มอิทธิพลนอกกฎหมายที่ฉวยโอกาสผสมโรงก่อเหตุ แล้วโยนความผิดให้ฝ่ายขบวนการ ก็คงอยากจะรักษาสภาพ รัฐล้มเหลวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ต่อไป เพราะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานนอกกฎหมายของตน

คงเป็นหน้าที่ของผู้มีแนวคิดสายกลางในคู่ขัดแย้งหลักทั้งสองที่จะต้องหาทางกุมสภาพการนำ (อย่างน้อยก็ในทางความคิด) ให้ได้ และต้องมีการสร้างตาข่ายรองรับไม่ให้กระบวนการสันติภาพพังครืนลงง่ายๆ โดยขยายฐานการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพไปสู่ระดับประชาชนทั่วไป อย่างน้อยก็ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง รวมไปถึงองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ไม่มีใครบอกได้ว่า จังหวะเวลาหรือสถานการณ์ที่เหมาะสมในการเริ่มต้นเจรจาอยู่ตรงไหน ผู้เข้าร่วมพูดคุยเจรจาเป็น ตัวจริงหรือไม่ หรือการเจรจาต้องใช้เวลานานเท่าใด จึงจะเริ่มเห็นผลในแง่ของการลดความรุนแรง แต่จากประสบการณ์ในโลกสมัยใหม่ ไม่มีความขัดแย้งทางศาสนา-ชาติพันธุ์ใดที่สามารถยุติลงด้วยสงครามเต็มรูปแบบแทบทุกกรณีจะต้องยุติด้วยการเจรจา ไม่ว่าจะเป็นกรณีรัฐบาลอินโดนีเซียกับกลุ่มขบวนการปลดปล่อย อาเจะห์, รัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร, รัฐบาลอังกฤษกับขบวนการไออาร์เอ ฯลฯ

หนทางสู่สันติภาพยังอีกยาวไกล ไม่มีใครตอบได้ว่าการเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้จะนำมาซึ่งสันติภาพได้จริงหรือไม่ และต้องใช้เวลายาวนานเพียงไร แต่ก็นับเป็นพัฒนาการทางบวกที่สำคัญที่ทำให้เรามีความหวังว่าอาจจะได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

อ่านต่อ >>