ฟ้าเดียวกัน 15/1 : ไทยแลนด์ 10.0

ลดราคา!

฿153.00


รหัสสินค้า: 9786167667584 หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

บทบรรณาธิการ

สู่ไทยแลนด์ 10.0

ทัศนะวิพากษ์

ไทยแลนด์ 10.0 และปมขัดแย้งในระบบเศรษฐกิจการเมือง : บททดลองเสนอ

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

ทำไมถึงต้องอ่านหนังสือ ชาวนาการเมือง ระหว่างบรรทัด

อานันท์ กาญจนพันธุ์

อ่าน ชาวนาการเมือง

เกษียร เดชะพีระ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมการเกษตรของไทยในรอบสองทศวรรษ : การวิเคราะห์ผ่านการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2536, 2546 และ 2556

เดชรัต สุขกำเนิด

การแยกดินแดน (Secession) การปกครองตนเอง (Autonomous) และการกำหนดอนาคตตัวเอง (Self-Determination) ในราชอาณาจักรไทย

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

เผชิญ สันติภาพสุดอันตราย : การเมืองของถ้อยคำใน การขัดกันทางอาวุธที่ชายแดนใต้/ปาตานี

รอมฎอน ปันจอร์

เสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อไทยในยุคเผด็จการทหารเป็นใหญ่

ประวิตร โรจนพฤกษ์

อ่านต่อ >>

สู่ไทยแลนด์ 10.0

รัชสมัยอันยาวนานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มต้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 70 ปี กับ 126 วัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 19 ฉบับ ในจำนวนนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ถึง 16 ฉบับ เริ่มต้นด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 ซึ่งเกิดขึ้นจากรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 โดย “คณะทหารแห่งชาติ” ไปจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งเกิดขึ้นจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

กล่าวได้ว่า รัชสมัยของในหลวงภูมิพลได้ครอบคลุมชีวิตของการเมืองสมัยใหม่ของไทยที่ผ่านมาเกือบทั้งชีวิต ในห้วงเวลาดังกล่าว ผลจากการต่อสู้ระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ค่อยๆ ก่อร่างสร้างระบอบการเมืองหนึ่งขึ้นมา เรียกกันว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสิ่งนี้คือมรดกชิ้นสำคัญจากรัชสมัยที่ผ่านมา ซึ่งชนชั้นนำไทยส่วนหนึ่งพยายามจะปกปักรักษาและประคับประคองให้เปลี่ยนผ่านสู่รัชสมัยใหม่ไปได้อย่างมีเสถียรภาพ

อย่างที่ทราบกันดีว่า ในปลายรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 เกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งแถลงการณ์ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ระบุถึงเหตุผลในการก่อการไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นเพราะการบริหารประเทศของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นอกจากจะ ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการแล้ว ยัง หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้งรัฐประหารครั้งนั้นจึงตามมาด้วยปฏิบัติการกวาดล้าง ระบอบทักษิณออกจาก ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แต่ระบอบการเมืองที่ตั้งไข่ตั้งแต่ปี 2490 เริ่มลงตัวในปี 2516 และดูจะมั่นคงราบรื่น หลังจากปี 2540 กลับไม่สามารถยุติความตึงเครียดในระบอบได้ง่ายดายอย่างที่หลายคนเคยคิด ตรงกันข้าม กลายเป็นว่าปมเงื่อนความขัดแย้งต่างๆ ของสังคมไทยยิ่งปะทุปรากฏตัวออกมาอย่างที่ไม่มีใครคาดการณ์ถึงมาก่อน กระทั่งจำเป็นต้องรัฐประหารซ้ำอีกครั้งใน วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตามด้วยการพยายามออกแบบสถาปัตยกรรมทางการเมือง ใหม่อีกครั้งผ่านรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่หวังว่าจะสามารถสืบทอดมรดกทางการเมืองจากยุคสมัยซึ่งกำลังจะพ้นไปได้โดยยั่งยืนและสอดคล้องกับยุคสมัยซึ่งกำลังจะมาถึง

ส่วนทางด้านโลกวิชาการนั้น ตลอดทศวรรษที่ผ่านมามโนทัศน์หรือข้อความคิดเกี่ยวกับสังคมการเมืองไทยแบบเดิมๆ ก็ถูกท้าทายอย่างแหลมคม พร้อมกับมีข้อเสนอในการทำความเข้าใจแบบใหม่เกิดขึ้น ซึ่งถึงปัจจุบันยังไม่มีข้อเสนอใดได้รับสถานะนำอย่างเด็ดขาด

ขณะนี้ได้เข้าสู่รัชสมัยใหม่แล้ว วารสาร ฟ้าเดียวกัน ขอเริ่มด้วยบททดลองนำเสนอเพื่อทำความเข้าใจปมความขัดแย้งในระบบเศรษฐกิจการเมือง โดยพยายามก้าวพ้นกรอบ ชการวิเคราะห์ที่ครอบงำการอธิบายสังคมการเมืองไทยมาตลอดทศวรรษสุดท้ายของรัชสมัยที่ผ่านมา พร้อมกับนำเสนอการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับสังคมชาวนาไทยและนัยสำคัญต่อการเมืองระดับชาติ รวมทั้งหันไปพิจารณาปัญหาอันยืดเยื้อยาวนานและนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตผู้คนไปนับพันคนแล้วในรอบ 12 ปี ได้แก่ ปัญหาชายแดนใต้/ปาตานี

นี่คือภารกิจที่เรา-ฟ้าเดียวกัน พยายามทำมาตลอดนับตั้งแต่ก่อตั้งสำนักพิมพ์ เมื่อปี 2546 จนก้าวสู่ปีที่ 15 ได้แก่ การเป็นเวทีในการถกเถียงแลกเปลี่ยน วิพากษ์วิจารณ์ ทบทวนตรวจสอบความคิดเก่าและนำเสนอสิ่งใหม่ พร้อมกับยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพในการคิดการแสดงออกและมนุษยภาพ ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด

อ่านต่อ >>