ข้อมูลทั่วไป
ผู้เขียน | วิชัย นภารัศมี |
---|---|
จำนวนหน้า | 337 |
ปีที่พิมพ์ | 2546 |
ISBN ปกอ่อน | 9789749151020 |
Original price was: 280.00 บาท.140.00 บาทCurrent price is: 140.00 บาท.
ผู้เขียน | วิชัย นภารัศมี |
---|---|
จำนวนหน้า | 337 |
ปีที่พิมพ์ | 2546 |
ISBN ปกอ่อน | 9789749151020 |
คำนำสำนักพิมพ์
คำนำผู้เขียน
ส่วนที่ ๑ ชีวิต
ชีวิตในวัยเยาว์
ชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นของจิตร ภูมิศักดิ์ จากปากคำของ “ญาติผู้ใกล้ชิด”
เอ็ยสะระ, พระตะบอง ปัญหาการเมืองที่ประทับใจครั้งแรก
เสียงสะท้อนของความสงบ, แม่น้ำสังแก และเพื่อน ๆ
จิตร ภูมิศักดิ์ กับการประท้วงครั้งแรก
สรุปลักษณะนิสัยของจิตร ในวัยเยาว์
โยนบก
เหตุการณ์ที่ข้าฯ ถูกกล่าวโทษ
รำลึกจาก จิตร ภูมิศักดิ์ ถึงกรณี “โยนบก” ผลักดันกลายเป็นการช่วยกัน “ผลักไส”
แม่ของจิตร และคนอื่น ๆ
ไว้อาลัยแม่ของ “จิตร ภูมิศักดิ์”
ร่วมพิธีไว้อาลัย แสงเงิน ฉายาวงศ์
จิตร ภูมิศักดิ์, เสฐียรโกเศศ, ชูครู หรือ อุ้มครู
จิตร ภูมิศักดิ์ วิลเลี่ยม เจ.เก็ดนี่ย์ และวิลลีสเอช.เบิด
จดหมายถึง จิตร ภูมิศักดิ์ (หนุ่ม) และการจัดตั้ง
ด.ญ.น้อย พิมลำ, อาจารย์ของอุษา และอิสรภาพอันมีเกียรติ
ข้อพึงสังเกตซ้ำ, ข้อพึงระวังสำหรับ “ช่อฟ้า”
ข้อละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับ จิตร ภูมิศักดิ์
ส่วนที่ ๒ งาน
นักวิชาการนอกคอก
เส้นทางการดิ้นรนไปสู่นักปราชญ์ราชบัณฑิต
ร่างวิทยานิพนธ์ “ที่หายไป” “คำเขมรโบราณในภาษาไทย” “ความมุ่งมั่น” จิตร ภูมิศักดิ์ หลังกรณี “โยนบก”
ปฏิสัมพันธ์ จิตร ภูมิศักดิ์ กับ “เพื่อน-บ้าน-งาน(เขียน)” สิ่ง “สูญหายและคงอยู่” ที่ต้องชำระ
หัวชนกำแพง หรือ การเคลื่อนไหวทางทฤษฎีศิลป
เมื่อจิตร ภูมิศักดิ์เรียนภาษาจีน
จิตร ภูมิศักดิ์ กับภาษาละหุ
นามปากกา
จิตรเสน และกึ่งศตวรรษของกลุ่มหนุ่มแห่งหนังสือทรรศนะ
มุฟวี่แมน, สันติ-วีณา เขียนไปศึกษาไปที่ ไทยใหม่
นวัตถกร: เดินทางมาระหว่างอะไรหนอ?
มนัส นรากร, นรากร ไม่ใช่ นรบดี
ใครคือ ส. หิรัณยภาส?
“รอยยิ้ม” ของ “เด็กอมมือ”
บทเพลง บทกวี บทวิจารณ์ บทละคร และอื่น ๆ
ยังไม่สิ้นเสียงเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์
บทกวี “ตกหล่น” ที่ได้จาก “หมื่นส้อง”
มงกุฎกระดาษ, เสือ และกวางน้อย ๆ ของสายธาร
บทละครที่เขียนไม่จบ และ คัลลองชีวิต
ข้าพเจ้าไม่ต้องบวช และทำงานให้เหมือนวัวเพื่อลูกแหง่
ดรรชนี
ตลอดระยะเวลา ๓๖ ปีแห่งชีวิตของคนคนหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเติบโตขึ้นมาพร้อมกับกระแสชาตินิยม ทั้งจากกระแสชาตินิยมที่ถูกปลุกขึ้นมาจากผู้นำประเทศที่หวังจะสร้างความยิ่งใหญ่ของเชื้อชาติไทยในดินแดนแหลมทอง ขณะที่ชาตินิยมอีกกระแสที่เขา ได้รับคือกระแสชาตินิยมที่หวังจะปลดปล่อยตัวเองจากผู้ปกครองของประชาชนชาวกัมพูชา เมื่อครั้งใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในจังหวัดพระตะบอง ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นดินแดนของประเทศไทย
เมื่อต้องอพยพกลับเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน เขาได้เข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมในเมืองหลวงอีกครั้งหนึ่งพร้อม ๆ กับกระแสแอนตี้จีนที่พุ่งสูงขึ้นมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเขาก็เข้าร่วมกระแสดังกล่าวเมื่อเรียนอยู่ในระดับมัธยม
ขณะที่บริบททางการเมืองเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ ขึ้นมามีอำนาจ บรรยากาศเสรีภาพช่วงสั้น ๆ ภายหลังสงครามได้ปิดฉากลงอีกครั้งพร้อม ๆ กับการเข้ารับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากความสนใจทางด้านนิรุกติศาสตร์ที่เป็นความสนใจเดิมของเขาแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่เมื่อเกิดการปฏิวัติสังคมนิยมในประเทศจีนในเดือนตุลาคม ๒๔๙๒ และการถือกำเนิดขึ้นของ อักษรสาส์น ภายใต้การดูแลของสุภา ศิริมานนท์ ก็เป็นจุดหักเหสำคัญในการหันมาศึกษาแนวคิดสังคมนิยม
ในฐานะสาราณียากร หนังสือมหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ ได้เปลี่ยนชีวิตเขาอย่างสิ้นเชิงเมื่อถูกเพื่อนนิสิตร่วมมหาวิทยาจับโยนบก และตามมาด้วยการพักการเรียนเป็นเวลา ๑๒ เดือน เนื่องจากทำหนังสือที่มีเนื้อหา “กระเดียดเอียงซ้าย” ชีวิตหลังจากนั้น เขาต้องถูกการเฝ้าติดตามจากทางการตลอดเวลา ขณะเดียวกันเมื่อมีเวลาว่างมากขึ้น เขาก็ได้ร่วมงานกับนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าในยุค ๒๔๙๐ เป็นจำนวนมาก
การเมืองไทยเปลี่ยนไปอีกครั้งเมื่อมีการรัฐประหารล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี ๒๕๐๐ และตามมาด้วยการขึ้นสู่อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเดือนตุลาคม ๒๕๐๑ เขาถูกจับกุมด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ แม้ต่อมาศาลทหารจะพิจารณาว่าเขาไม่มีความผิด แต่เขาต้องสูญเสียอิสรภาพ กว่า ๖ ปี
“คุกขังเขาได้ แต่หัวใจอย่าปรารถนา” เวลากว่า ๖ ปีที่เสียไป เขาได้ผลิตงานชิ้นสำคัญเป็นจำนวนมากภายใต้การให้ความช่วยเหลือจัดส่งข้อมูลจากญาติ มิตร โดยเฉพาะคุณแม่ที่อยู่เคียงข้างเขาตลอดเวลา แต่เมื่อได้รับอิสรภาพ เมือง ก็ร้อนรุ่มเกินกว่าจะอยู่ได้ เนื่องจากถูกคุกคามอยู่ตลอดเวลา เขาจึงตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ป่าเขา เพื่อทำการต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ เขาก็จบชีวิตลงเมื่ออายุได้ ๓๖ ปี เมื่อถูกล้อมยิงเสียชีวิตที่บ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙
แม้ตัวจะตายไปแล้วแต่ผลงานของเขาได้ถูกถ่ายทอด/ส่งต่อมายังคนรุ่นหลังที่กำลังอยู่ในยุคแสวงหาเป็นจำนวนมาก ผ่านบทกวี บทความ รวมทั้งประวัติชีวิตที่เล่าสู่กันฟังในวงแคบ ๆ
จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติ ๑๔ ตุลา ที่ได้ทำลายเพดานความรับรู้ในต่าง ๆ ของสังคมไทย ผลงาน/ประวัติชีวิตของเขาได้กลับมาเป็นสิ่งที่กล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมาก จนกล่าวได้ว่าเขาเป็น “นักรบของรุ่นใหม่” ขณะเดียวกัน ผลงานทางวิชาการของเขาที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ก็เป็นการจุดประเด็นการศึกษาใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างมากมาย
แม้จะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม ๖ ตุลา ที่นอกจากจะทำลายชีวิตของผู้คนด้วยน้ำมือเผด็จการความฝันร่วมกันในการสร้างสังคมที่ดีกว่าก็เหมือนจะปิดฉากลงเมื่อต้องเผชิญกับภาวะตกต่ำของกระแสสังคมนิยมที่เกิดขึ้นทั่วโลก หลังจากนั้นไม่นาน กระแสความกระตือรือร้นที่จะค้นคว้าศึกษาชีวิตและงานของเขาก็พลอยประสบภาวะซบเซาตามไปด้วย
เรากำลังพูดถึง จิตร ภูมิศักดิ์ (๒๕ กันยายน ๒๔๗๓ – ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙) ปัญญาชนนักปฏิวัติคนสำคัญของสังคมไทย ผู้ซึ่ง “อาจจะเป็นคนที่ได้รับการยกย่องและถูกประณามมากที่สุดนับแต่ปรีดี พนมยงค์ เป็นต้นมา” ขณะที่ดูเหมือนว่าจิตร ภูมิศักดิ์ อาจจะเป็นนักคิดคนสำคัญของไทยเพียงไม่กี่คนที่ถูกศึกษาอย่างละเอียดทุกแง่มุม ขณะเดียวกันเมื่อมีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับจิตร มากขึ้น ก็พบว่ายิ่งมีสิ่งที่เราไม่รู้เกี่ยวกับตัวของจิตรก็มากขึ้น เช่นกัน
หลายชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นการรวมงานศึกษา ค้นคว้า ชีวิตและผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ โดยวิชัย นภารัศมี หรือที่รู้จักกันในนาม “เมือง บ่อยาง” ที่ใช้ความพยายามเป็นเวลาร่วม ๓๐ ปีในการสืบค้นทั้งเอกสารชั้นต้น สัมภาษณ์ ประมวลบริบทแวดล้อม ด้วยความมุ่งมั่นที่จะขยายความรับรู้เกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
พร้อม ๆ กับที่งานของวิชัย นภารัศมี เป็นการรวบรวมประวัติของจิตร ภูมิศักดิ์ ในมิติต่าง ๆ แล้ว งานชิ้นนี้เป็นเสมือนประวัติศาสตร์ความรับรู้เกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์ ไปพร้อมกันด้วย เพราะแม้ทางสำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน จะได้ทำการแยกหมวดหมู่ของงานทั้งหมดไว้ในประเภท ชีวิต และงาน พร้อมกับแบ่งเป็นหัวข้อย่อยแต่ละประเภทเพื่อสะดวกในการศึกษาค้นคว้าแล้ว แต่ถ้าอ่านอย่างละเอียด ผู้อ่านก็จะพบว่าแต่ละบทความจะมีสำนวนภาษาที่แตกต่างกันอยู่ตามลำดับเวลาที่เขียนขึ้น ซึ่งสำนวนภาษาที่แตกต่างกันมิใช่เป็นเพียงพัฒนาการงานเขียนของวิชัย นภารัศมี แต่เป็นอารมณ์ความรู้สึกในยุคสมัยนั้น ๆ ไปพร้อมกันด้วย
ดังนั้นการจัดพิมพ์ หลายชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์จึงมิใช่เป็นการรวมบทความของคนคนหนึ่งที่เขียนถึงคนอีกคนหนึ่งเท่านั้น แต่หนังสือเล่มนี้คือการประมวลความรับรู้เกี่ยวกับคนคนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องถึง “ความหลากหลายและล้ำลึก” ในทุกศาสตร์ที่ตนศึกษา จากคนอีกคนหนึ่งที่ทุ่มเทในการขยายพรมแดนความรับรู้ของคนคนแรกที่เขาบอกว่าเป็นงานที่ไม่มีวันจะสิ้นสุดลง
กันยายน ๒๕๔๖
๗๓ ปี จิตร ภูมิศักดิ์
หนังสือ หลายชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นการรวบรวมงานของผู้เขียนที่เขียนถึงจิตร ภูมิศักดิ์ ในต่างกรรมต่างวาระกัน เพราะฉะนั้นผู้อ่านจึงจะพบข้อแตกต่างด้านสำนวนภาษาที่ปรากฏอยู่บ้าง โดยเฉพาะบทความที่เขียนขึ้นในสมัยที่การต่อสู้ทางการเมืองเข้มข้นยุค “ขวาพิฆาตซ้าย” การเขียนถึงจิตร ภูมิศักดิ์ ผู้มีฐานะตัวตนแน่นอนอยู่ฝ่ายหนึ่งจึงปรากฏสำนวน “อารมณ์” ของยุคสมัยนั้นในการเขียนอยู่ค่อนข้างมาก
เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความเป็นจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้ปรากฏอยู่ในมิติเดียวผลงานทางวิชาการของจิตร ได้มีส่วนผลักดันชื่อเสียงของจิตรขึ้นมาอย่างโดดเด่นไม่น้อยกว่าทางด้านความเชื่อมั่นในอุดมคติทางด้านการเมือง ผลงานของผู้เขียนในบางส่วนจึงพอจะเชื่อมภาพหรือสะท้อนภาพบางเสี้ยวของชีวิตจิตร ก่อนที่จะเป็นนักวิชาการ นักวิจารณ์ นักคิด นักอ่าน ได้บ้างพอสมควร
แต่ถึงกระนั้น…ผู้เขียนก็เชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องหลายประเด็นที่เราไม่รู้เกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์
และก็เช่นเดียวกัน…ผู้เขียนก็ไม่อยากให้เรารู้จักจิตร ภูมิศักดิ์ อย่างเพียงจะเป็นแฟชั่น ที่ยุคสมัยผ่าน แฟชั่นก็ล้าสมัยไปด้วย
คนแบบจิตร ภูมิศักดิ์ ในแวดวงการต่อสู้ทางการเมืองต่างยอมรับว่าคนเช่นนี้หายาก และเป็นของแท้
ในแวดวงนักวิชาการก็ยอมรับเช่นกันว่า ในรอบ ๑๐๐ ปี ของสังคมไทยถึงจะมีคนเช่นนี้สักคนหนึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นปัญญาชนที่นำประวัติศาสตร์ วรรณคดี วรรณกรรม มาอธิบายสังคมไทยได้อย่างดีเยี่ยม โดยมองจากทัศนะที่ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นด้านหลัก
ผู้เขียนเขียนบทความเกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์ เท่าที่หาข้อมูลหลักฐานได้ ก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าจะต้องถูกต้องเสมอไป ในอนาคตหากมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติมอีกก็คงได้มีโอกาสเสนออีกครั้งหนึ่ง
วิชัย นภารัศมี
๒๗ เมษายน ๒๕๔๖