Sale 50%

อ่าน ‘วัฒนธรรมชุมชน’

Original price was: 220.00 บาท.Current price is: 110.00 บาท.

ของหมด

รหัส: 9789749375952 หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

ผู้เขียน

ยุกติ มุกดาวิจิตร

จำนวนหน้า

250

ปีที่พิมพ์

2548

ISBN ปกอ่อน

9749375955

สารบัญ

คำนำ

อ่านเอาเรื่อง อ่านเอารส โดย ไชยันต์ รัชชกูล

อารัมภบท โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร

บทที่ 1 กรอบทฤษฎี

บทที่ 2 แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน

บทที่ 3 เศรษฐศาสตร์การเมืองของแนวคิด

บทที่ 4 วงศ์วานของคำศัพท์ “วัฒนธรรมชุมชน”

บทที่ 5 เขียน “วัฒนธรรมชุมชน”

บทที่ 6 การเขียน/การพัฒนา “หลัง” วัฒนธรรมชุมชน?

ภาคผนวก

วิวาทะว่าด้วย “การเขียน” วัฒนธรรมชุมชนความคิดเห็นต่อบทความเรื่อง “การเขียน” วัฒนธรรมชุมชน โดย กาญจนา แก้วเทพ

นิเทศศาสตร์การเมืองของ การเขียนโดย ยุกติ มุกดาวิจิตร

บรรณานุกรม

ดรรชนี

อารัมภบท

ไม่ โลกาภิวัตน์ ก็ วัฒนธรรมชุมชน : ความอับจนของความหวัง ?

วาทกรรมหลักของกระแสรอง

น่ายินดีพร้อม ๆ กับน่าแปลกใจอย่างยิ่งที่วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเมื่อปี พ.ศ. 2538 จะได้รับการปรับปรุงและตีพิมพ์ตอนที่มันมีอายุได้เกือบสิบปี อันที่จริงวิทยานิพนธ์นี้ได้รับการต้อนรับอย่างดีเมื่อแรก เขียนเสร็จ ส่วนสำคัญเป็นเพราะการสนับสนุนของ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่ากออนันตกูล อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอบัณฑิตวิทยาลัย ประกาศเกียรติคุณเป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่นในสาขามานุษยวิทยาปี 2538 แรงผลักที่สำคัญอีกแรงหนึ่งมาจาก ดร.ชัยวัตน์ สถาอานันท์ ผู้ให้โอกาส ผู้เขียนนำเสนอส่วนสำคัญของวิทยานิพนธ์ในการประชุมทางวิชาการ เชิงรัฐศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2538 หลังจากนั้นมา ผู้เขียนได้ปรับปรุงส่วน หนึ่งของวิทยานิพนธ์ตีพิมพ์ใน วารสารธรรมศาสตร์ และได้รับความกรุณาจาก ดร. กาญจนา แก้วเทพ ที่ทั้งอ่านและวิจารณ์อย่างละเอียด เมื่อปี พ.ศ. 2539 ตลอดจนอนุญาตให้นำมาตีพิมพ์ในที่นี้

การตีพิมพ์หนังสือนี้มีความหมายอย่างไร (อย่างน้อยที่สุดในทัศนะของผู้เขียนเอง)? ทำไมผ่านมาถึงเกือบสิบปีแล้ว สำนักพิมพ์หัวก้าวหน้าและช่างวิพากษ์วิจารณ์อย่าง ฟ้าเดียวกัน จึงเห็นว่า ประเด็นที่เสนอไว้ในวิทยานิพนธ์จะยังมีคนอ่านอยู่? ปรากฏการณ์ดังกล่าวบอกอะไรเราบ้าง?

ประการแรก อันที่จริงผู้เขียนเคยได้รับการทาบทามจากสถาบันทรงเกียรติสองแห่งให้การสนับสนุนตีพิมพ์ ผู้เขียนเสนอไปยังที่หนึ่งด้วยเห็นว่าสถาบันนี้เป็นที่ยอมรับมากกว่า ประกอบกับ ขณะนั้นสถาบันดังกล่าวต้องการเผยแพร่ผลงานทางด้านชุมชนศึกษา ผู้เขียนเห็นว่างานของตนน่าที่จะก่อให้เกิดการโต้เถียงทางทฤษฎีและวิธีการมองปัญหาในสังคมไทย จึงส่งไปให้สถาบันดังกล่าวพิจารณา แต่สถาบันดังกล่าวตอบ กลับมาว่า ผู้เขียนไม่ได้ศึกษาแนวชุมชนศึกษาและไม่ได้ส่งเสริมการศึกษาแนวดังกล่าว จึงปฏิเสธไม่ตีพิมพ์

ต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว นักวิชาการด้านไทยศึกษาที่มีชื่อเสียงที่สุดท่านหนึ่ง เป็นศาสตราจารย์สอนหนังสืออยู่ในสหรัฐอเมริกา แสดงทัศนะกับผู้เขียนว่า นี่ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยยังไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นในกระแสหลักหรือกระแสต้านสังคมไทยยัง ไม่มีความหลากหลายอย่างแท้จริง กระแสความคิดย่อยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทั้งกระแสหลักหรือกระแสหลักในกระแสต้าน จึงยังไม่สามารถนำเสนอออกมาได้

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนจึงได้เรียนรู้อย่างหนึ่งว่า ไม่เพียงแต่การวิจารณ์กระแสความคิดหลักที่ยังมีความจำกัดในสังคมไทยภายในกระแสความคิดต้าน ในกระแสรองเอง ก็ยังมีความคับแคบของการวิจารณ์ มิพักต้องเอ่ยถึงการวิจารณ์ในแวดวงวิชาการ ที่จับคู่วิจารณ์เฉพาะกระแสหลักกับกระแสรอง ขณะที่ภายในกระแสรองด้วยกันเอง กลับอยู่ในการครอบงำของวิธีคิดหลายๆ อย่างที่มีอิทธิพลมีลักษณะครอบงำ สร้างอำนาจนำ เป็นกระแสหลักในกระแสรอง ส่งผลให้กระแสรองอื่น ๆ ในกระแสรองหลักต้องนิ่งเงียบ พูดเบาๆ อย่างไม่เป็นสาระแบบติดตลกในที่ลับ ด้วยเหตุผลหนึ่งก็เพื่อรักษาความเป็นพันธมิตรใน กระแสรอง หากกล่าวในแง่ของพื้นที่ของการเปล่งเสียง (Voices) ในระยะที่ผ่านมาเกือบทศวรรษ ทัศนะวิจารณ์แบบที่ผู้เขียนเสนอจึงเสนอตัวเองได้เฉพาะในฐานะที่เป็นสิ่งที่ถูกอ้างถึง เป็นบุคคลที่สาม ไม่ใช่การได้นำเสนอในฐานะที่เป็นผู้พูด เป็นบุคคลที่หนึ่งด้วยตัวเอง อาจจะไม่ต่างอะไรกับการที่คนบางกลุ่มในสังคมไทยหรือสังคมไหนๆ ไม่สามารถอยู่ในฐานะที่จะเปล่งเสียงได้ด้วยตนเอง

ประการที่สอง การวิจารณ์งานเขียนแนววัฒนธรรมชุมชนในภาคภาษาไทยมีมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญๆ ได้แก่ งานของอานันท์ กาญจนพันธุ์ (2538, 2539) และไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2543) การวิจารณ์ของอานันท์และไชยรัตน์แตกต่างกันอย่างสำคัญตรงที่ ในขณะที่อานันท์เน้นวิจารณ์ข้อจำกัดทางทฤษฎีและหลักฐานข้อมูล หรือความไม่สมจริงของชุมชนที่แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเสนอ และเสนอให้มองชุมชนอย่างสลับซับซ้อนและมีพลวัต ไชยรัตน์มุ่งวิพากษ์วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามที่จองจำวิธีคิดแนววัฒนธรรมชุมชน

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าสิ่งที่สอดคล้องกันในงานของอานันท์และไชยรัตน์ คือ การเล็งเห็นความสำคัญของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน ว่าไม่เพียงแต่เสนอแนวการวิเคราะห์สังคมไทย แต่เป้าหมายสำคัญของแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนคือ การเป็นพลังต่อรองให้ผู้เสียเปรียบในสังคมไทย หรือเป็นกระแสทางเลือกในการเมืองแบบใหม่ที่สำคัญในสังคมไทย

จนล่าสุดในการประชุมทางมานุษยวิทยาประจำปี 2547 ที่จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร หัวข้อ “ทบทวนภูมิปัญญา ท้าทายความรู้” เมื่อวันที่ 24 – 26 มีนาคม 2547 มีการเสนอประเด็นวิจารณ์กระแสวัฒนธรรมชุมชนที่น่าสนใจหลายประเด็นด้วยกัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็น “ภูมิปัญญา”

เป็นต้นว่า ปริตตา เฉลิมเผ่ากออนันตกูลได้สํารวจกระแสความคิดเรื่อง “ภูมิปัญญา” ในสังคมไทย และแสดงทัศนะว่าความคิด เรื่องภูมิปัญญาจากที่เคยเป็นกระแสรอง กระแสต้าน และส่งเสริมองค์ความรู้ของชาวบ้านในท้องถิ่นชนบท แต่ในระยะหลังกลับค่อยๆ ถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลักในสังคมไทย และที่สำคัญปัจจุบัน “ภูมิปัญญา” กำลังกลายเป็น “สัญญะที่ไร้ราก” (floating signifier?) กล่าวคือ ถูกนำไปใช้โดยกลุ่มทางสังคมที่แตกต่างกันออกไปด้วยความหมายต่างๆ กัน จนกระทั่งไม่สามารถจำกัดความหมายให้แน่นอนได้อีก

การวิจารณ์ที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่ง ได้แก่ ข้อวิจารณ์ของไชยันต์ รัชชกูลที่เสนอว่า แนวคิดภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นสิ่งที่ irony หรือกลับตาลปัตรในตัวเอง กล่าวคือ สิ่งที่เรียกว่าภูมิปัญญาอาจอยู่ใต้ระบบคิด (episteme) เดียวกับสิ่งที่มันขัดแย้งด้วย เช่น ในขณะที่กระแสภูมิปัญญาต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ แต่ขณะเดียวกันตัวมันเองก็เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันทั่วโลก เป็นโลกาภิวัตน์แบบหนึ่งเช่นกัน หรือการรื้อฟื้นศิลปะพื้นบ้านหลายต่อหลายกรณีชี้ให้เห็นว่าประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อปรับตัวได้ดีกับเศรษฐกิจการตลาด ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งที่กระแสภูมิปัญญาปฏิเสธ

ในทำนองเดียวกัน นลินี ตันธุวนิตย์ ผู้ศึกษาการต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศอินเดียและฟิลิปปินส์ ก็ตั้งคำถามสำคัญว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นจะมีพลังในการต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แค่ไหน หรืออันที่จริงแล้วการต่อสู้อาศัยความเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านได้เพียงในระดับสัญลักษณ์ ในขณะที่ยุทธวิธีที่ทรงประสิทธิภาพจริงๆ เป็นยุทธวิธีที่สากล เป็นการต่อสู้ในเวทีนานาชาติ เป็นการอาศัยพลังในระดับโลกาภิวัตน์ เพื่อต่อกรกับอำนาจรัฐในแต่ละประเทศ

หากมองในด้านกลับกับข้อวิพากษ์วิจารณ์หรือการทบทวนดังกล่าว นี่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ในระยะเกือบสิบปีที่ผ่านมา งานศึกษาที่ค้นหา “พลังชุมชน” ยังคงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันนั้น เราจะเห็นได้ว่าการพัฒนาในแนวเน้นการฟื้นฟูชุมชนชนบทก็ได้รับการต้อนรับไม่เฉพาะแต่ในหมู่ปัญญาชนคนชั้นกลาง หากแต่รัฐและสถาบันที่อยู่ในส่วนอำนาจนำของสังคมไทยก็ผลักดันกระแสนี้มากขึ้น โดยนัยที่ว่าการพึ่งตนเองและความพอเพียงในทางเศรษฐกิจเป็นลักษณะหนึ่งของความเป็นไทย เป็นกระแสชาตินิยม และต่อต้านทุนนิยม/โลกาภิวัตน์ กระแสวัฒนธรรมชุมชนจึงยังไม่เสื่อมคลายไปจากสังคมไทย และอาจจะเข้มข้นขึ้น หรือถูกดูดกลืนเข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลักของสังคมไทย เคลื่อนจากการเป็นชาตินิยมโดยชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งไปเป็นส่วนหนึ่งของชาตินิยมโดยรัฐ อยู่ในฐานะอำนาจนำ (hegemony) มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ในทางกลับกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังชี้ให้เห็นอย่างน่าตระหนกและน่าเป็นห่วงอีกว่า การวิพากษ์สาระสำคัญของการคิดเชิงชุมชน แนวนี้คงยังมิได้กระทำกันอย่างกว้างขวาง จริงจัง หรือแนวทางใหม่ๆ ของการคิดถึงชุมชน การเขียนถึงชุมชน ยังไม่ได้ถูกนำเสนออย่างแหลมคมหรือทรงพลังพอที่จะนำไปสู่การแสวงหาทางเลือกที่เกินไปกว่า “ไม่โลกาภิวัตน์ ก็วัฒนธรรมชุมชน”

ประการที่สาม ในที่สุดแล้วดูเหมือนว่า การสนทนากันระหว่างแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนกับแนวความคิดที่วิจารณ์วัฒนธรรมชุมชนดูจะยังไม่ก้าวหน้านัก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ทางเลือกหรือความหวังทั้งในทางอุดมการณ์และปฏิบัติการในสังคมไทยปัจจุบัน ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อสิบปีก่อนมากนัก ความหวังของผู้คนกลุ่มหนึ่ง หรือกระแสอุดมการณ์และปฏิบัติการหลักในกระแสต้าน ยังคงถูกครอบงำอยู่ด้วยการคิดแบบแยกขั้วเป็นคู่ตรงข้าม หาหนทางปฏิเสธด้านตรงข้ามที่เรียกว่า “ทุนนิยม / โลกาภิวัตน์” แล้วมุ่งหาชุมชนชนบทในท้องถิ่นยังไม่ได้ก้าวข้าม แต่กลับตอกย้ำทางเลือกที่เป็นทวิลักษณ์ของกันและกันระหว่าง ทุนนิยม / โลกาภิวัตน์ กับ วัฒนธรรมชุมชน/ชนบท

อันที่จริงแล้ว ในปัจจุบันและอาจจะนานมาหลายต่อหลายศตวรรษแล้ว ที่สังคมทุนนิยมและโลกาภิวัตน์เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ อย่างไรก็ดี ภายใต้ระบบสังคมดังกล่าวไม่ใช่ว่า“ชาวบ้าน” ใน “ชุมชนท้องถิ่น” จะเป็นผู้ปฏิบัติการทางสังคมที่เฉื่อยชา การศึกษาเชิงประจักษ์ถึงการต่อสู้กับกระแสวัฒนธรรมทุนนิยมโลกาภิวัตน์ของคนธรรมดาตัวเล็ก ๆ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในกระบวนการดังกล่าวผู้คนยังมีพลังในการต่อต้านขัดขืนสังคมทุนนิยม/โลกาภิวัตน์ โดยมิได้จำเป็นต้องเป็นการต่อสู้อยู่บนเส้นทางของการมีชีวิตอยู่ในสังคมชุมชน หรือปฏิเสธสังคมทุนนิยม / โลกาภิวัตน์โดยสิ้นเชิง

ยกตัวอย่างในสังคมไทย เช่น การต่อสู้ของ “การเมืองบนท้องถนน” ที่ประภาส ปิ่นตบแต่ง (2541) ศึกษา แสดงให้เห็นว่า การชุมนุมประท้วงของกลุ่มพลังต่างๆ รวมทั้งพลังชาวบ้านในท้องถิ่นชนบท เป็นกลยุทธที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในกระบวนการทางการเมืองในสังคมไทยระยะหนึ่ง ส่วนพัฒนา กิติอาษา (2546) ก็แสดงให้เห็นว่า กระแส “ท้องถิ่นนิยม” ลักษณะต่างๆ ในสังคมไทย ได้ก่อตัวขึ้นมาต่อสู้กับกลไกอันยอกย้อนซับซ้อนของระบบโลกในยุคปัจจุบันอย่างทรงพลัง

อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ดังกล่าวชวนให้ผู้เขียนสรุปได้ว่า การวิพากษ์วิจารณ์วาทกรรมหลักของกระแสต้าน ยังคงเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในสังคมวิชาการไทย และจำเป็นต้องส่งเสริมให้กว้างขวางอย่างจริงจัง ต่อไป

อ่าน วัฒนธรรมชุมชนขณะนั้น

สำหรับผู้ที่ติดตามวงการมานุษยวิทยาอย่างใกล้ชิด เมื่อเห็นชื่อก็คงจะทราบดีอยู่แล้วว่า วิทยานิพนธ์ซึ่งปรับปรุงมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ได้อิทธิพลทางความคิดที่สำคัญมาจากหนังสือ Writing Culture: Poetics and Politics of Ethnography (เขียนวัฒนธรรม: วาทศิลป์ และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์) โดยเจมส์คลิฟฟอร์ดและยอร์ช อี มาร์คัส (James Clifford and George E. Marcus) เป็นบรรณาธิการพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1986 หนังสือเล่มนี้และอีกหลายๆ เล่มในกระแสนี้เสนอให้วงการมานุษยวิทยาทบทวนองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยา ทั้งในระดับของอภิปรัชญาและญาณวิทยา อิทธิพลของ Writing Culture ทำให้วงการมานุษยวิทยาในปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ต่อเนื่องมาจนถึง 1990 ต้องทบทวนทั้งวิธีการศึกษาและการนำเสนอผลงานอย่างขนานใหญ่ จนกระทั่งในปัจจุบัน ถึงแม้ว่ากระแสการวิพากษ์วิจารณ์และทบทวนตนเองของแวดวงมานุษยวิทยาได้ผ่านพ้นไปแล้ว และหลังกระแส Writing Culture แนวทางการวิจัยภาคสนามและการนำเสนอผลงานทางมานุษยวิทยาก็เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างยิ่ง กระนั้นก็ตาม กล่าวได้ว่าในคริสต์ ศตวรรษที่ 21 นี้ แทบจะไม่มีนักมานุษยวิทยาคนใดหรืองานเขียนชาติพันธุ์นิพนธ์ชิ้นใดไม่ตระหนักถึงประเด็นที่มีการวิจารณ์และทบทวนตนเองในวงการมานุษยวิทยาโดยกระแส Writing Culture

แต่นั่นเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนอกวงวิชาการมานุษยวิทยาไทย

เมื่อมองย้อนกลับไปยังช่วงที่ผู้เขียนศึกษาระดับปริญญาโทนั้น (อันที่จริงแล้วจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ก็ตาม) มีนักมานุษยวิทยาไทยไม่กี่ท่านที่ติดตามกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว และในจำนวนนั้นแทบจะไม่มีใครนักที่ใส่ใจกับข้อวิจารณ์หรือการทบทวนตนเองในกระแส Writing Culture ระหว่างที่เรียนอยู่ แม้ว่าจะกระหายใคร่รู้เพียงใด ผู้เขียนก็ได้แต่ศึกษาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับงานเขียนในกลุ่มดังกล่าวแค่เพียงเงียบๆ นอกชั้นเรียน ในบรรดารุ่นพี่รุ่นน้องและอาจารย์บางท่านที่ส่วนใหญ่อยู่นอกสาขามานุษยวิทยา

ในขณะเดียวกัน ข้อถกเถียงในวงการพัฒนาก็อยู่ในระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์กระแสโลกาภิวัตน์หรืออิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงระดับโลกต่อการพัฒนาประเทศ ระยะนั้นกระแสวัฒนธรรมชุมชนเป็นกระแสวิพากษ์โลกาภิวัตน์ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง ข้อเสนอให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมของชาวบ้านในชนบท และนำวัฒนธรรมดังกล่าวมาประยุกต์เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ เป็นข้อเสนอที่ได้รับความสนใจ ทั้งจากนักวิชาการไทยที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น และนิสิตนักศึกษาที่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง อย่างไรก็ดี เป็นที่รู้กันดีว่ากลุ่มสังคมที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการพัฒนาแนวความคิดวัฒนธรรม ชุมชน คือ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือที่มักเรียกกันจนติดปากในปัจจุบันว่า “เอ็นจีโอ” (NGO ย่อมาจาก Non-Governmental Organization)

อันที่จริงบริบทหนึ่งที่มิได้ถูกพาดพิงถึงอย่างชัดแจ้งในวิทยานิพนธ์ผู้เขียน คือบทบาทของเอ็นจีโอในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 แน่นอนว่าการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 จนเหตุการณ์สุกงอมในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ประกอบไปด้วยพลังของกลุ่มคนหลายกลุ่ม มีการวิเคราะห์กันว่าส่วนใหญ่ของผู้ที่เข้าร่วมและสนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง นอกจากชนชั้นกลางที่เป็นนักศึกษาและผู้ประกอบกิจการในกรุงเทพฯ แล้ว เป็นที่ยอมรับกันว่าเอ็นจีโอเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวดังกล่าว บทบาทที่เติบโตทั้งในทางการเมืองและแนวความคิดในการพัฒนาของเอ็นจีโอจึงเป็นที่สนใจของคนจำนวนมาก รวมทั้งผู้เขียนเองก็สนใจติดตามอยู่เสมอ

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้เขียนในขณะนั้นมีความคิดว่า แม้ว่าชนชั้นกลางในสังคมไทยมีหลายกลุ่ม แต่สิ่งที่ชนชั้นกลางหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 (และอาจสืบเนื่องมาถึงขณะนี้ด้วย) มีลักษณะร่วมกันคือ ประการแรก เป็นกลุ่มทางเลือก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เป็นกลุ่มสังคมใหม่ที่แสวงหาและพยายามสถาปนาอำนาจนำใหม่ ประการที่สอง เป็นกลุ่มสังคมที่ไม่เพียงมุ่งแสวงหาอำนาจนำทางเศรษฐกิจ หากแต่ยังช่วงชิงอำนาจนำทางอุดมการณ์หรือวัฒนธรรมกับกลุ่มอำนาจนำเก่า ประการที่สาม การแสวงหาอำนาจนำของชนชั้นกลางใหม่ดังกล่าว อาศัยหลักความเป็นเหตุเป็นผลความเป็นปัญญาชน และความเป็นวิชาการ เป็นฐานอำนาจทางอุดมการณ์หรือวัฒนธรรมที่สำคัญ

กระแสการเติบโตของเอ็นจีโอจึงแยกไม่ออกหรือเป็นอีกลักษณะของการแสวงหาอำนาจนำทางการเมืองและวัฒนธรรมอย่างใหม่ เช่นเดียวกับชนชั้นกลางหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ดังกล่าว ในทัศนะของผู้เขียน แน่นอนว่าการเติบโตขึ้นมาของกลุ่มสังคมใหม่นี้ แสดงถึงการเปิดพื้นที่ทางการเมืองและอุดมการณ์ให้กับโครงสร้างทางการเมืองและอุดมการณ์ในสังคมไทย แต่ในขณะเดียวกัน การแสวงหาอำนาจนำทางการเมืองและวัฒนธรรมของเอ็นจีโอและนักวิชาการในกระแสเอ็นจีโอ ก็อาจนำไปสู่การปิดกั้นอย่างใหม่ นำไปสู่การกีดกันทางเลือกอื่นๆ หรือกระแสรองอื่นๆ ที่เป็นกระแสรองยิ่งกว่ากระแสที่กลุ่มอำนาจนำในชนชั้นกลางใหม่เสนอ การที่ผู้เขียนเลือกวิจารณ์งานเขียนที่ส่งเสริมโดยเอ็นจีโอและนักวิชาการในกระแสเอ็นจีโอ จึงเป็นการท้าทายให้งานเขียนในกลุ่มนี้ทบทวนตนเอง และเสนอให้ผู้อ่านงานเขียนที่ทรงพลังเหล่านี้พิเคราะห์ให้รอบคอบอีกด้านหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็เป็นการเรียกร้องให้นักวิชาการและกลุ่มสังคมที่อาศัยอำนาจทางการเมือง วัฒนธรรมเชิงวิชาการ เชิงวิทยาศาสตร์ ระแวดระวังตนเอง

เนื้อหาของหนังสือ

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่หนึ่งเป็นงานเขียนที่ปรับปรุงขึ้นจากวิทยานิพนธ์ ซึ่งเดิมชื่อ “การก่อตัวของกระแส ‘วัฒนธรรมชุมชน’ในสังคมไทย, พ.ศ. 2520-2537” ตอนที่สองเป็นบทความต่อเนื่องจากวิทยานิพนธ์ดังกล่าว ประกอบด้วยบทวิจารณ์บทความที่ผู้เขียนปรับปรุงจากส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์โดย ดร. กาญจนา แก้วเทพ และบทตอบการวิจารณ์โดยผู้เขียน

ส่วนที่หนึ่ง ในการปรับปรุงเพื่อพิมพ์วิทยานิพนธ์ครั้งนี้ ผู้เขียนยังคงข้อมูลที่ปรากฏไว้ตามวิทยานิพนธ์ ข้อมูลหลายๆ จุดจึงล้าสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดกรณีศึกษาโครงการพัฒนาต่างๆ ใหม่ๆ มากมาย นอกจากนั้น องค์กรพัฒนาเอกชนยังมีความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่พ้นไปจากการเคลื่อนไหวตามกระแสวัฒนธรรมชุมชน ที่สำคัญที่สุดคือระยะเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองไทยหลายด้านที่อยู่นอกเหนือบริบทที่วิทยานิพนธ์เคยวิเคราะห์ไว้

อย่างไรก็ดีผู้เขียนเชื่อว่าสาระสำคัญของงานเขียนชิ้นนี้ยังคงอยู่ เนื่องจากสาระสำคัญของมันไม่ได้อยู่ที่ความสดใหม่ของข้อมูล เท่ากับการนำเสนอแนวทางการวิเคราะห์วิจารณ์การเขียนชาติพันธุ์นิพนธ์และ ทฤษฎีการพัฒนาชนบท การปรับปรุงจึงพยายามคงไว้ซึ่งส่วนใหญ่ของเนื้อหาและลำดับการนำเสนอดังที่เคยปรากฏในวิทยานิพนธ์ โดยดัดแปลงเนื้อหาให้กระชับขึ้นตั้งชื่อผลงานและบทต่างๆ ใหม่ให้สื่อถึงเนื้อหาชัดขึ้น รวมทั้งเพิ่มเติมคำอภิปรายที่เป็นกรอบความคิดเบื้องหลังการวิเคราะห์ในแต่ละบทและจัดแบ่งบทใหม่ เพื่อชูประเด็นต่างๆ ให้เข้าใจได้ดีขึ้น

บทที่ 1 กรอบทฤษฎี เป็นประเพณีของการทำวิทยานิพนธ์ที่มักจะต้องเริ่มต้นด้วยกรอบทฤษฎีเบื้องหลังการวิจัย ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่การเสนอให้พิจารณางานเขียนแนววัฒนธรรมชุมชนว่าเป็นงานชาติพันธุ์วรรณนา หรือที่ผู้เขียนอยากเสนอใหม่ให้เรียกว่า “ชาติพันธุ์นิพนธ์” แบบหนึ่ง ภาพวัฒนธรรมต่างๆ ที่นักเขียนแนววัฒนธรรมชุมชนนำเสนอไม่ได้เป็นผลมาจากการสะท้อนข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา หรือ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากแต่มันยังเป็นงานประพันธ์ในลักษณะหนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้ประพันธ์งานแนวนี้จะอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองและประวัติศาสตร์ และอาศัยแบบแผนและลีลาการ ประพันธ์แบบต่างๆ เพื่อนำเสนอผลงานนี้จึงเลียนแบบกรอบความคิด ที่วิพากษ์งานเขียนชาติพันธุ์นิพนธ์ โดยนำมาศึกษาการเขียนงานของข้อเขียนในกระแส “วัฒนธรรมชุมชน”

บทที่ 2 แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน สรุป (หรือสร้างภาพตัวแทน) แนวคิดหลักของสกุลความคิด “วัฒนธรรมชุมชน” ผู้เขียนสรุปสาระสำคัญของแนวคิดสกุลนี้ว่า เป็นสกุลความคิดที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาชุมชนหมู่บ้านในชนบท ที่สำคัญคือ การศึกษาชุมชนชนบทตามแนวทางนี้ เป็นทั้งการทำความเข้าใจและแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างไปจากการพัฒนาตามกระแสหลัก แทนที่จะเป็นการพัฒนาที่เน้นความเพิ่มพูนทางเศรษฐกิจด้านเดียว การพัฒนาตามแนวทางวัฒนธรรมชุมชนเป็นการพัฒนาที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ชุมชนชนบท

บทที่ 3, 4 และ 5 เป็นการวิเคราะห์การก่อเกิดของแนวความคิดวัฒนธรรมชุมชนใน 3 ระดับด้วยกัน กล่าวคือ จากระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองไปสู่การเปลี่ยนแปลงและขัดแย้งของความหมายคำศัพท์สำคัญ และการวิเคราะห์การเขียนในระดับของตัวบท

บทที่ 3 เศรษฐศาสตร์การเมืองของแนวคิด เสนอให้พิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ที่แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนก่อตัวขึ้นมา ผู้เขียนเสนอว่า เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองในพุทธทศวรรษ 2520 เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวขององค์กรพัฒนาเอกชนและแนวคิดใหม่ของการพัฒนาที่มุ่งเน้นการพัฒนาชนบทและการพัฒนาวัฒนธรรม แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนจึงก่อตัวขึ้นมาจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจง มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นตัวกระตุ้น อยู่ภายใต้โครงสร้างการเมืองไทยระยะที่อิทธิพลของชนชั้นกลางกำลังเติบโต และอุดมการณ์การพัฒนาในกระแสโลกกำลังเปลี่ยนทิศทางไปสู่การพัฒนาวัฒนธรรม ในแง่นี้ การมองว่ากระแสวัฒนธรรมชุมชนเป็นกระแสที่ผลักดันจากการเรียนรู้จากชาวบ้าน หรือเป็นกระแสที่ชาวบ้าน/ชนบทเองเรียกร้อง จึงเป็นการมองโดยไม่พิจารณาเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ด้านอื่น ๆ ของการก่อตัวและเติบโตของแนวความคิดนี้

บทที่ 4 วงศ์วานของคำศัพท์ วัฒนธรรมชุมชนเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของความเปลี่ยนแปลงและขัดแย้งในกระบวนการนิยามคำสำคัญ ได้แก่ คำว่า “วัฒนธรรม” และ “ชาวบ้าน/ชนบท” การทำความเข้าใจวงศ์วานของคำสำคัญไม่ได้ศึกษาเฉพาะความเป็นมาของคำศัพท์ หากแต่ยังพิเคราะห์อีกว่า แต่ละความหมายของคำ แตกต่าง ขัดแย้ง เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองอย่างไร นอกเหนือจากการทำความเข้าใจเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ในบทก่อนหน้าความเข้าใจต่อวงศ์วานของคำศัพท์เป็นพื้นฐานสำคัญอีกส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจการก่อตัวของกระแสความคิดวัฒนธรรมชุมชน ทั้งนี้เพราะแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนไม่ได้ถูกนำเสนอขึ้นมาในสุญญากาศทางความหมาย หากแต่เป็นการเสนอความหมายใหม่ให้กับคำสำคัญ “วัฒนธรรม” “ชาวบ้าน/ชนบท” ที่ถูกประทับความหมายไว้อยู่ก่อนแล้วโดยกลุ่มสังคมอื่นๆ ในกระบวนการเปลี่ยนแปลง ขัดแย้ง ของโครงสร้างการเมืองไทย

บทที่ 5 เขียน วัฒนธรรมชุมชนพิจารณาความสัมพันธ์ของ “ผู้เขียน” “ผู้อ่าน” “ผู้ถูกเขียนถึง” ในงานเขียนแนววัฒนธรรมชุมชน บทนี้วิเคราะห์ว่า ผู้ประพันธ์งานแนววัฒนธรรมชุมชนมีส่วนทำให้ภาพแทนความจริง (representation) ของสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมชุมชน” ปรากฏเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้อย่างไร การวิเคราะห์ในลักษณะนี้ไม่ได้สนใจว่า ภาพวัฒนธรรมชุมชนที่ถูกนำเสนอนั้นถูกหรือผิด สมจริงหรือไม่ หากแต่สนใจว่า นักเขียนหรืองานเขียนทำอย่างไรให้งานดูสมจริง ในขณะเดียวกันบทนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แทนที่จะเป็นการเรียนรู้ รับฟัง สะท้อน “ชาวบ้าน/ชนบท” หรือผู้ถูกเขียนถึงงานนิพนธ์แนววัฒนธรรม ชุมชนกลับจัดวาง “ชาวบ้าน/ชนบท” หรือผู้ถูกเขียนถึงในตำแหน่งที่ด้อยกว่าผู้ประพันธ์หรือนักพัฒนาเอง งานเขียนและแนวทางการพัฒนา จึงอาจจะไม่ได้เป็นผลจากการเรียนรู้ รับฟัง สะท้อนวัฒนธรรมของ ชาวบ้าน/ชนบท ที่ถ่ายทอดโดยชาวบ้าน/ชนบทเอง หากแต่เป็นภาพแทน “วัฒนธรรมชุมชน” ที่นักเขียนหรือนักพัฒนาแนวนี้ปรารถนาจะ(ให้ผู้อ่าน) เห็น และเสนอเป็นแนวทางการพัฒนา

บทที่ 6 การเขียน/การพัฒนา หลังวัฒนธรรมชุมชน?ตั้ง คำถามเชิญชวนให้ผู้อ่านค้นหาแนวทางการเขียนและการพัฒนาแบบที่พ้นไปจากกระแสวัฒนธรรมชุมชนและกระแสโลกาภิวัตน์ (คู่ตรงข้ามในตรรกะของ “วัฒนธรรมชุมชน”) อันที่จริงตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มีการค้นหาและทดลองเขียนงานชาติพันธุ์นิพนธ์แนวใหม่มากมาย หากแต่ในสมัยที่ผู้เขียนทำวิทยานิพนธ์ ชาติพันธุ์นิพนธ์แนวใหม่ๆ ดังกล่าวยังเป็นที่รู้จักน้อยมากในประเทศไทย ผู้เขียนในขณะนั้นจึงทำได้เพียงเสนอกรอบกว้างๆ เท่าที่ค้นคว้าได้ว่า อย่างน้อยที่สุดเขียนงานอย่างไร งานชาติพันธุ์นิพนธ์จึงจะพ้นไปจากหรือตระหนักต่อข้อจำกัดของคติทางญาณวิทยาแบบ “ถือมั่นในภาพแทนความจริง” (representationalism) อันเป็นปรัชญาความรู้ที่ครอบงำการศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยากระแสหลักในสมัยหนึ่ง และมีอิทธิพลต่องานเขียนแนววัฒนธรรมชุมชน

ส่วนที่สอง บทวิจารณ์ของ ดร.กาญจนา แก้วเทพ เป็นปฏิกิริยาต่อบทความเรื่อง “การเขียน” วัฒนธรรมชุมชน: บทวิจารณ์กระแสต้านโลกานุวัตร/ภิวัตน์” ที่ผู้เขียนเสนอพิมพ์ใน วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 21 ฉบับ 3 บทความที่ผู้เขียนเคยตีพิมพ์ดังกล่าวเป็นส่วนที่ว่าด้วยการวิเคราะห์การเขียน หรือบทที่ 5 ในหนังสือเล่มนี้ แต่บทความโดยผู้เขียนชิ้นนั้นมีความจำกัดและขาดรายละเอียดต่างๆ ที่เสนอไว้ในวิทยานิพนธ์ ดังนั้นจึงไม่เป็นธรรมต่อบทปฏิกิริยาของ ดร.กาญจนา แก้วเทพที่ถูกนำมาวางไว้ต่อจากเนื้อหาเต็มของหนังสือเล่มนี้ ทำให้เข้าใจผิดไปว่าเป็นการวิจารณ์หนังสือทั้งเล่ม อย่างไรก็ตาม คงจะเป็นด้วยสำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน เล็งเห็นว่า จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในการขยายบทสนทนาให้กว้างไปกว่าเพียงความเห็นด้านเดียวของผู้เขียน จึงได้ขอความกรุณา จาก ดร.กาญจนา นำมาลงพิมพ์ในที่นี้ด้วย สำหรับปฏิกิริยาที่ผู้เขียนมีต่อบทปฏิกิริยาอีกต่อหนึ่ง สามารถอ่านได้ทั้งในฐานะที่เป็นความเห็นแย้งกับการอ่านของผู้วิจารณ์ และเป็นกรอบทฤษฎีอีกลักษณะหนึ่งของหนังสือ เล่มนี้

กิตติกรรมประกาศ

การพิมพ์ครั้งนี้เป็นไปไม่ได้หากขาดแรงสนับสนุนลักษณะต่างๆ ของหลายๆ ท่าน เท่าที่สามารถเอ่ยถึงได้ในที่นี้ ได้แก่

ผู้เขียนขอบคุณสำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน ที่เห็นคุณค่าของการวิจารณ์ แม้เป็นการวิจารณ์ภายในกระแสรอง

ขอบพระคุณ ดร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ในขณะนั้น และกรรมการวิทยานิพนธ์ท่านอื่นๆ ได้แก่ อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ดร. ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร และ ดร. เกษียร เตชะพีระ ที่ยินดีเหน็ดเหนื่อยกับการชี้แนะวิทยานิพนธ์ที่ไม่ได้อยู่ในขนบของวิทยานิพนธ์ทางมานุษยวิทยา อันที่จริงเข้าใจว่า ดร. ปริตตาน่าจะ เป็นนักมานุษยวิทยาไทยท่านแรกๆ ที่แนะนำแนวคิดเรื่องการทบทวนตนเองของกระแส “Writing Culture” ให้กับวงการมานุษยวิทยาไทยนอกเหนือจากกรอบความคิดหลักๆ ผู้เขียนได้จดจำและอาศัยคำแนะนำ วิพากษ์วิจารณ์ที่อาจารย์ที่ปรึกษาและกรรมการวิทยานิพนธ์ทุกท่านเสนอ เท่าที่สามารถระลึกได้หลังเกือบสิบปีที่ทำวิทยานิพนธ์มาเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงเพื่อตีพิมพ์ครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ข้อบกพร่องต่างๆ ในหนังสือย่อมเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน

ขอบพระคุณคณาจารย์สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทุกท่านที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้ และทำให้ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า การเรียนการสอนวิชามานุษยวิทยาในประเทศไทยไม่ได้ด้อยพัฒนาไปกว่าในต่างประเทศ ผู้เขียนขอบคุณ ดร. ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะโดยเฉพาะที่ท่านดูแลผู้เขียนอย่างเอาใจใส่ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาขณะผู้เขียนศึกษาระดับมหาบัณฑิต

ขอบคุณเพื่อนๆ ร่วมและต่างรุ่นในสาขามานุษยวิทยาที่จับกลุ่มกันนอกห้องเรียน สร้างบทสนทนาที่ท้าทาย หนัก ๆ เร้าใจ จนหลายครั้งไม่เข้าใจอยู่เสมอ ๆ หากขาดซึ่งบรรยากาศที่ทุกคนโต้เถียงกันได้โดย ไม่โกรธกันดังกล่าว เชื่อว่าการทดลองทางวิชาการลักษณะใหม่ ๆ คงไม่งอกเงยขึ้น

ยุกติ มุกดาวิจิตร