ด้นดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแด

ลดราคา!

฿135.00


รหัสสินค้า: 9789748418810 หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำปรารภพี่สาว ผู้รักษาต้นฉบับ

คำนำบรรณาธิการ

ความในใจของบรรณาธิการ

คำนำสำนักพิมพ์

อาฆาตานุสรณ์ (๒๔๘๙)

นิราสอพยพ (๒๔๘๙)

นิราสรัก (๒๔๙๐)

นิราสหญิง (๒๔๙๐)

รอยยิ้ม (๒๔๙๓)

อันของขวัญวันเกิดประเดิดประดัก (๒๔๙๓)

งานถวายพระเพลิง (๒๔๙๓)

ตอบสาส์นจันทิมา

ตอบสารจันทิมา (๒๔๙๓)

วจีจากน้อง (๒๔๙๓)

แรงรื่นแรงรมย์เร้า ร่มฟ้าฟูผงร ฯ (๒๔๙๓)

อย่าหยันเย้ยเยาะหะเหยฤเปรย ณ หฤทัย

ตูใช่กวีไกร กวิน ๚ะ (๒๔๙๓)

รุ่งรุ่งสุริยะแย้มฟ้า (๒๔๙๓)

งาม – งอน (๒๔๙๓)

คิดไว้ในใจ (๒๔๙๓)

นวฉนำ (๒๔๙๔)

จดหมายถึงคึกฤทธิ์ (๒๔๙๔)

อ่านต่อ >>

โครงการสรรพนิพนธ์ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ทอดระยะเวลาแก่ข้าพเจ้า ในฐานะบรรณาธิการจนนานเกินควรกว่าที่จะรวบรวมบทกวีนิพนธ์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ให้ได้เสร็จเกือบสมบูรณ์ที่สุด หากจำกันได้ ก่อนหน้าเมื่อ๒๖ ปีที่แล้ว ข้าพเจ้าเคยรวบรวมงานกวีนิพนธ์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์เป็นรูปเล่มในชื่อ ความใฝ่ฝันแสนงาม ได้ปรารภไว้ว่า สามารถรวบรวมงานกวีนิพนธ์ของจิตรได้เพียง ๘๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น มาในครั้งนี้ ข้าพเจ้า พอจะเอ่ยได้เต็มปากเต็มคำว่า น่าจะสมบูรณ์ถึง ๙๕ เปอร์เซ็นต์ทีเดียว

ที่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะไม่พบวารสารหรือนิตยสารเก่าๆ ที่สืบทราบ ว่ามีบทกวีของจิตรตีพิมพ์อยู่ และยังมีงานกวีบางชิ้นที่ยังไม่เคยตีพิมพ์มาก่อนเลย ต้นฉบับก็ไม่ทราบตกหล่นไปอยู่ที่ใคร เช่น

๑. บทกวี “นวเมศวรราชสดุดี” ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ตอ. ปีที่ ๑ (หนังสือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา) ค้นที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ พญาไทก็ไม่พบหนังสือเล่มดังกล่าว

๒. “นิราสจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย” ไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน และไม่ทราบว่า ณ เวลาปัจจุบัน ต้นฉบับตกไปอยู่กับผู้ใดเช่นกัน

๓. งานกวีนิพนธ์ในห้วงเวลาที่เข้าต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไม่ทราบว่ามีกี่ชิ้น และใครรักษาต้นฉบับอยู่บ้าง และหากคิดว่าใช่ ก็ควรนำมาเผยแพร่ และน่าจะต้องมีหลักฐานอ้างอิงประกอบว่าใช่ของจิตรแน่นอน ?

หนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ จิตร ภูมิศักดิ์ เล่มนี้ เดิมจะพิมพ์ออกมาเล่มเดียวในชื่อ “ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง” แต่ก็สู้ความหนาของหนังสือถึง ๒๐๐ กว่าหน้าไม่ได้ เลยปรึกษาหารือกันว่าจะแบ่งออกเป็น ๓ เล่ม ๓ ยุค คือ

เล่ม ๑ ด้นดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแด เริ่มจากยุคแรกเขียนบทกวี จนกระทั่งถึงยุคเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงเป็นนิสิตปีที่ ๑-๒ (พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๔)

เล่ม ๒ ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๕๐๐ เป็นยุคที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ต้องต่อสู้กับความคิดของตัวเอง ตั้งข้อสงสัยเพื่อที่จะสรุปเลือกทางเดินชีวิต และเป็นช่วงระยะเวลาที่มีงานกวีนิพนธ์ทั้งที่จิตรเขียนเอง และแปลจากต่างประเทศพรั่งพรูออกมาพอ ๆ กับยุคที่สาม แต่แม้ว่าการต่อสู้ทางความคิดจะเข้มข้นเพียงไร ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่จิตรได้สะท้อนออกมาจากก้นบึงของห้องหัวใจ คือ ความรักที่มีให้แก่แม่ เขาแปลกวีนิพนธ์ “Only One Mother” ของ George Cooper ขึ้นต้นบทกวีด้วยกลอนบทแรกว่า “ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง” หากจะขยายความต่อไปก็เทียบว่าจะสู้เหมือนมีแม่ เพียงผู้เดียวหาได้ไม่ และในช่วงระยะเวลานี้เช่นกัน ที่เขาได้เลือกทางเดินของชีวิต หลังจากผ่านช่วงต่อสู้ทางความคิดมาระยะหนึ่ง เขาสามารถสรุปสิ่งที่ตัวเองเลือกได้ ดังประโยคภาษาอังกฤษที่ว่า

“THE NEW HERO OF THIS VERY AGE OF PEOPLE IS HE WHO FIGHTS INDEFATIGABLY FOR PEACE, HAPPINESS AND PROGRESS OF MANKIND”

ประโยคภาษาอังกฤษข้างต้นคือคำ  ปณิธานของอักษรศาสตร์บัณฑิตจิตร ภูมิศักดิ์ ในหนังสือ จุฬาบัณฑิต พ.ศ. ๒๕๙๙ ที่ว่า

“วีรบุรุษใหม่แห่งประวัติศาสตร์ของประชาชน ก็คือ เขาผู้ต่อสู้อย่างไม่ยอบระย่อ เพื่อสร้างสรรค์สันติภาพ ความผาสุก และความก้าวหน้าแก่มวลมนุษยชาติ”

เล่ม ๓ ยุคที่สาม คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย (พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๐๙) กล่าวโดยกว้างๆ เป็นช่วงระยะเวลาที่จิตรเริ่มติดคุกจนกระทั่ง ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ยุคนี้ก็เช่นเดียวกับยุคที่สอง เมื่อได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินชีวิตแล้ว ก็มุ่งมั่นเพื่อที่จะเดินอย่างผู้ชนะ ต่อสู้เพื่อให้ได้ชัยชนะ เขาได้เขียนกวีนิพนธ์เพื่อที่จะสะท้อน เปิดโปงสังคมที่เลว และชี้นำแนวทาง เส้นทางที่ตัวเองยึดมั่น ประกอบด้วยอัจฉริยภาพทางด้าน ภาษาไทยที่เขามีอยู่และเข้าใจฉันทลักษณ์ของกวีนิพนธ์โบราณอย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง จึงทำให้งานของจิตรอ่านได้อรรถรสทั้งเนื้อความและงามในรูปแบบ

หันกลับมากล่าวถึงหนังสือ ด้นดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแด เล่มนี้ ชื่อ ด้นดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแด เป็นบาทบาทหนึ่งในงาน “นิราสรัก” ที่จิตร เขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ช่วงนั้นเป็นช่วงปิดเทอม ๑๕ วัน จิตรต้องจากนาง (สมมุติหรือจริง ?) ไม่เห็นหน้านวลน้อง ๑๕ วัน จน “ต้องใฝ่เฝ้าพร่ำเพ้อละเมอฝัน”, “ต้องทุเรศเริศร้างมาห่างแห”, “ต้องรอไปสิบห้าทิวาวาร” และ “ต้องด้นดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแด”

งานยุคนี้ถือเป็นยุคที่หนึ่งของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก่อนที่เราจะพูดถึงตัวเนื้อหาหรือ “แก่น” ของงานในยุคนี้ ขอให้เรามาดูความใฝ่ฝันของ จิตรกันก่อน จิตรได้บันทึกย้อนหลังถึงความใฝ่ฝันของตัวเองในช่วงวัยขณะนั้นไว้ว่า

“ในระหว่างเรียน ม. ๗-๘ และจุฬา ปี ๑-๒ ได้พบห้องสมุดที่นับว่าใหญ่ของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ได้ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ และโบราณคดีอย่างสนใจ ได้ศึกษาขยายวงออกไปจนถึงตำราต่างประเทศจนสามารถอ่านอักษรโบราณในศิลาจารึกได้ และสามารถแปลภาษาเขมรโบราณได้พอสมควร การศึกษาค้นคว้าเหล่านี้นำไปสู่ความสนใจทางวรรณคดีไทยโบราณ ได้เพียรสั่งสม เพียรหาอ่าน และได้รู้จักชื่อนักปราชญ์ในทางโบราณคดีและวรรณคดีมากคน ความใฝ่ฝันของข้าพเจ้าจึงอยากจะเป็นคนหนึ่งในบรรดานักปราชญ์แห่งราชบัณฑิตยสถานเหล่านี้

จิตร ภูมิศักดิ์ มีความพร้อมยิ่งกว่าที่จะเป็นแค่เพียง “นักปราชญ์ราชบัณฑิต” หากเขาจะเลือกเส้นทางเดินสายนั้น แต่เมื่อมีการต่อสู้ทางด้านความคิด ดังปรากฏในงานกวีนิพนธ์ยุคที่สอง เขาก็หันเหความคิดที่จะเป็น “นักปราชญ์ราชบัณฑิต” เสีย และถ้าเขายังเลือกจะเป็นเขาก็จะไม่เป็น จิตร ภูมิศักดิ์ ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้อย่างที่ประชาชนคนไทยในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งรู้จักเขากันเป็นอย่างดี และพากันยกย่องเขาว่าเป็น “นักรบนักต่อสู้ทางวัฒนธรรมของประชาชนไทย” หากจิตรเลือกเป็น “นักปราชญ์ราชบัณฑิต” จริงๆ ข้าพเจ้าคิดว่าทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันก็คงไม่ต้องลงทุนลงแรงด้วยความรัก ความศรัทธา เพื่อที่จะจัดทำกวีนิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ของเขาหรอก คงมีหน่วยงาน องค์กรรัฐ หรือองค์กรเฉพาะกิจของรัฐซึ่งบางทีอาจจะจัดงานสดุดีเขาอย่างเอิกเกริกเพื่อเอาหน้าเอาตาแทนอยู่ก็ได้

ด้วยเหตุดังนี้ ข้าพเจ้าในฐานะผู้จัดทำ ผู้รวบรวม มาตั้งแต่ต้นจึงยินดีอาสาเข้ามาจัดทำอีกครั้งด้วยความเต็มใจ โดยมีกลุ่มช่วยงานเล็กๆ อย่างนุชจรี ใจเก่ง ช่วยค้นหานิตยสารเก่าๆ ตามห้องสมุด และมีคนที่ ไม่รู้จักตัวจริง (ติดต่อทางจดหมายเท่านั้น) อย่างอํานวย จริงจิตร และมนต์ชัย บูรณะจันทร์ สืบค้นหาข้อมูลบางส่วน จึงต้องประกาศนามขอบคุณมา ณ ที่นี้

งานชุดแรก ดันดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแด มีต้นฉบับหลายชิ้นที่มาตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ข้าพเจ้าพบต้นฉบับลายมือตั้งแต่สมัยแรกๆ ที่เข้าไปช่วยจัดหนังสือของ จิตร ภูมิศักดิ์ ให้เป็นหมวดหมู่ที่บ้านของ จิตรเอง

งานแทบทุกชิ้นในสมัยยุคแรกนี้ จะดำเนินตามแบบแผนของบุรพกวีเกือบทั้งสิ้น (ตามความใฝ่ฝันเพื่อที่จะเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตในอนาคต) จิตรมีความพยายามจะเขียนนิราศถึง ๓ เรื่องด้วยกัน แต่ก็ เขียนไม่เสร็จสักเรื่อง ทั้ง “นิราสอพยพ”, “นิราสรัก”, “นิราสหญิง” ใน เรื่อง “นิราสอพยพ” เขียนขึ้นตอนที่ไทยจะต้องคืนดินแดนให้เขมร และจิตรต้องอพยพกลับมาเรียนที่เมืองไทยต่อไปที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ซึ่งดูไปเรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับผู้หญิงหรือคู่รักอะไรมากนัก แต่จิตรก็เขียนตามขนบธรรมเนียมโบราณ พร่ำพรอดที่ต้องจากงามงอน เรื่อง “นิราสรัก” และ “นิราสหญิง” ก็เขียนตามขนบธรรมเนียมโบราณ นอกจาก จะพร่ำเพ้อถึงแต่นงราม ยังบรรยายฉากบางฉากอย่างค่อนข้างเปลือยและ “โจ๋งครึ่ม” จนคนที่รู้จัก จิตร ภูมิศักดิ์ ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งอย่างวีรบุรุษของประชาชนคงแทบไม่อยากเชื่อ แต่นี่ก็เป็นเรื่องจริง คนเราอยู่เฉยๆ จะเป็นวีรบุรุษขึ้นมาทันทีทันใดหาได้ไม่ ต้องมีการเรียนรู้และมีพัฒนาการทางความคิดมีพัฒนาการของชีวิตมาตามลำดับ และก็เป็นอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น จิตรในสมัยเด็กหรือสมัยวัยรุ่น มีความต้องการมุ่งมั่นเพียงจะเป็น “นักปราชญ์ราชบัณฑิต” ไม่ใช่ “นักปฏิวัติ” หรือ “วีรบุรุษ” ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นงานในยุคแรกของเขาจึงเดินย่ำซ้ำรอยตามแบบแผนกวีโบราณ เนื้อหาก็วนเวียนอย่างนิราศทั่วๆ ไป เดินทางผ่านที่ใดหากชื่อสถานที่ไปพ้องกับสิ่งใดของงามงอนเข้า ก็บรรยายดึงเข้ามาเกี่ยวพันกันจนได้ เรายังไม่พบต้นฉบับ “นิราสจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งน่าจะเป็นนิราศเรื่อง ที่ 4 ของเขา ว่ากันว่า จิตรแต่งเป็นโคลง และชื่อเต็มๆ ว่า “โคลงนิราสจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย อาณาจักรสีชมพู” แต่ถึงอย่างไรก็ยังเชื่อว่าเนื้อหานิราศเรื่องดังกล่าวคงเป็นไปตามธรรมเนียมบุรพกวี คงเกี่ยวกระหวัดไปถึงงามงอน นงราม ทั้งหลายเช่นเดิม

งานนิราศทั้งสามสี่ชิ้นตลอดจนบทกวี เพลงยาว “ตอบสาส์นจันทิมา” ที่เขียนตอบ “เจ้าหญิงจันทิมา” หรือ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ (นักปราชญ์ราชบัณฑิต) ก็มีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน ว่าไปแล้วนี่ก็เป็น คำตอบให้เราได้อย่างดีที่สุดว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ก็มีชีวิตในวัยเด็กเหมือนกับเด็กทั่วๆ ไป พอเป็นวัยรุ่นก็เหมือนวัยรุ่นทั่วๆ ไป มีการชอบพอ หลงใหล นงราม งามงอน ดังเด็กวัยรุ่นทั่วๆ ไป

แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เป็นลักษณะเด่นของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ฉายออกมาให้เห็นในงานยุคนี้ นั่นก็คือ การให้เชิงอรรถเพื่อที่จะอธิบายคำที่เขาเขียนในบทกวีแต่ละชิ้น ซึ่งว่าไปแล้ว มีอยู่แทบทุกชิ้น แม้กระทั่งกวีนิพนธ์บท “จดหมายถึงคึกฤทธิ์” ก็ขอให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (นักปราชญ์ราชบัณฑิต) ตอบให้ชัดว่าชื่อหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ อ่าน ว่าอย่างไรกันแน่ ระหว่าง “สยาม-รัฐ” หรือ “สยา-มะ-รัฐ” นี่คือ ลักษณะเด่นของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่มีความสนใจเรื่องภาษาและนิรุกติศาสตร์ สนใจในศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัยมาตั้งแต่วัยเยาว์และตลอดไป จนช่วงสุดท้ายของชีวิต ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เขียนบทกวีในยุคนี้ จิตรก็ได้เขียนบทความ “ศัพท์สันนิษฐาน” วิเคราะห์คำอยู่หลายเรื่องทีเดียว เช่นเรื่อง “ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว” (พ.ศ. ๒๔๙๓) และ “สรวง-สาง” (พ.ศ. ๒๔๙๔)

หนังสือ ด้นดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแด ยังมีกวีนิพนธ์อยู่ ๒ ชิ้นที่จิตรไม่ได้ตั้งชื่อไว้ จึงถือวิสาสะตั้งชื่อบทไว้ ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อการพูดถึง และศึกษาต่อไปในอนาคต คือบทที่ชื่อว่า

๑. แรงรื่นแรงรมย์เร้า       ร่มฟ้าฟูผงร ฯ

๒. อย่าหยันเย้ยเยาะหะเหยฤเปรย ณ หฤทัย

ตูใช่กวีไกร กวิน ๚ะ

โดยเฉพาะบทที่ชื่อ “อย่าหยันเย้ยเยาะฯ” จิตรแต่งด้วยสัททุลวิกกีฬิตอันท์ วสันตดิลกฉันท์ และฉบัง แต่แต่งไม่จบ หากได้อ่านเท่าที่พบต้นฉบับ สามารถกล่าวได้เลยว่า จิตรคงต้องการทำงานชิ้นใหญ่ วันหนึ่งตามเยี่ยงกวีโบราณ เพื่อฝากไว้ให้แผ่นดินและถวายแด่พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หนังสือ ด้นดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแดคงได้ให้ภาพของ จิตร ภูมิศักดิ์ อีกภาพหนึ่ง แต่ก็เป็นภาพของความเป็นจริง โครงการสรรพนิพนธ์ จิตร ภูมิศักดิ์ มีความปรารถนาที่จะรวบรวมงานของเขาจัดพิมพ์ออกเป็นชุด เป็นระบบ เพื่อง่ายต่อการศึกษา และเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาโดยเฉพาะ หนังสือเล่มนี้หากมีความผิดพลาดในการรวบรวมบ้าง ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ และบรรณาธิการขอน้อมรับความผิดพลาดไว้แต่เพียงผู้เดียว

ด้วยความเคารพ

วิชัย นภารัศมี

วันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๐

อ่านต่อ >>

คำกล่าวของเคร็ก เจ. เรย์โนลด์ที่ว่า “จิตร ภูมิศักดิ์เป็นผู้กำเนิดสองครั้ง” ดูจะเป็นบทสรุปตำนานชีวิตของจิตรได้อย่างรวบรัดและชัดเจนที่สุด จากปรากฏการณ์ที่จิตรจบชีวิตลงในชายป่าเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙ และ “เกิดใหม่” หลังจากนั้น ๗ ปี

หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ชีวิตและผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกรื้อฟื้น และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ผลงานของเขาในนามปากกาต่าง ๆ ถูกนำมาเผยแพร่ไม่หยุดหย่อนพร้อม ๆ กับชื่อจิตร ภูมิศักดิ์กลายเป็นแบบอย่างของปัญญาชนปฏิวัติ ซึ่งทวีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นเมื่อมีการสร้างเรื่องเล่า/ตำนานชุดต่าง ๆ ขึ้นมาหนุนเสริม

จนกระทั่งปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านไปกว่า ๓๐ ปี และบทบาทนักปฏิวัติของเขาจะลดความสำคัญลงไป แต่ผลงานของจิตรยังคงปรากฏและสำแดงคุณค่าโดดเด่น โดยเฉพาะในแวดวงประวัติศาสตร์โบราณคดี และภาษาศาสตร์ ผลงานหลายชิ้น เช่น ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา, สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา ฯลฯ ได้รับการยกย่องในฐานะงานที่ “ทะลวงกรอบทะลายกรง” บุกเบิกแง่มุมใหม่จากกรอบคิดเดิม

นั่นเป็นเพราะจิตรเป็นผู้มีความรอบรู้แตกฉานในศาสตร์หลายแขนง ทั้งวิชาประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลป วรรณคดี ดนตรี ภาษา นิรุกติศาสตร์ ฯลฯ ผลงานของจิตรจึงเป็นการศึกษาค้นคว้าโดยใช้ความรู้หลายสาขาผนวกเข้าด้วยกันอย่างที่เรียกว่า “สหวิทยาการ” ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการศึกษาค้นคว้าอย่างนักปราชญ์รุ่นเก่า เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระยาอนุมานราชธน และนักปราชญ์ราชบัณฑิตอีกหลายท่าน ต่างกันแต่เพียงจิตร ภูมิศักดิ์เป็นสามัญชนคนธรรมดา และมีสถานะนักปฏิวัติซึ่งถูกกดขี่คุกคามด้วยอำนาจเผด็จการ ต้องถูกจับกุมคุมขัง ไม่มีโอกาสศึกษาค้นคว้าอย่างเต็มที่ ผลงานส่วนใหญ่ของเขาจึงยังเขียนไม่จบและไม่ได้เผยแพร่ในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลายความตึงเครียดลง ผลงานของจิตร ก็ถูกนำมาเผยแพร่และพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง แต่ก็เป็นเพียงบางชิ้น ผลงานส่วนใหญ่ยังไม่มีการพิมพ์ใหม่ กลายเป็นหนังสือหายากราคาแพงบนแผงหนังสือเก่าเท่านั้น

เพื่อให้ผลงานทรงคุณค่าของจิตรเผยแพร่ออกสู่สังคมอีกครั้ง สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จึงได้จัดตั้ง “โครงการสรรพนิพนธ์จิตร ภูมิศักดิ์” ขึ้น เพื่อรวบรวมผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ทั้งที่เคยตีพิมพ์มาแล้วและที่ค้นพบใหม่ออกพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง โดยมุ่งหวังให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด

ด้วยผลงานจำนวนมากของจิตร ทางสำนักพิมพ์ได้จัดแบ่งหมวดหมู่ตามเนื้อหาออกเป็น ๗ หมวดคือ หมวดประวัติศาสตร์, หมวดงานแปล, หมวดนิรุกติศาสตร์, หมวดรวมบทความวิจารณ์สังคม, หมวดรวมบทความวิจารณ์ ศิลปะ, หมวดรวมบทความวิจารณ์วัฒนธรรม, หมวดบันทึกส่วนตัว และได้บรรณาธิกรต้นฉบับใหม่ ตลอดจนจัดทำภาพประกอบ, บรรณานุกรม และดรรชนีเพิ่มเติม(ในกรณีหนังสือวิชาการ) เพื่อให้หนังสือชุดนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาความถูกต้องของเนื้อหาให้ตรงกับต้นฉบับลายมือเขียนของจิตรหรือฉบับพิมพ์ครั้งแรกทั้งเครื่องหมายวรรคตอนและสำนวนภาษาที่จิตรเขียนต่างไปจากปรกติ เช่นคำว่า ทาส ใช้ ษ สะกดแทน สซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ทางภาษาที่จิตรใช้ และเขียนบทความอธิบายไว้อย่างชัดเจน

นอกจากจิตร ภูมิศักดิ์ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานแล้ว “โครงการสรรพนิพนธ์ จิตร ภูมิศักดิ์” จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความไว้วางใจจากคุณป้าภิรมย์ ภูมิศักดิ์ ที่อนุญาตให้สำนักพิมพ์เล็ก ๆ เช่นเราได้มีโอกาสผลิตงานของนักคิดที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของสังคมไทย, คุณวิชัย นภารัศมี “เมือง บ่อยาง” บรรณาธิการหนังสือชุด ผู้มีความอุตสาหะ ค้นคว้า รวบรวมผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคำแนะนำอันมีค่าสำหรับกระบวนการบรรณาธิกร, อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการศึกษาผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์, คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว แห่งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ผู้ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในทุกด้าน, คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี, คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เอื้อเฟื้อภาพประกอบ, คุณประชา สุวีรานนท์ ผู้ออกแบบปกหนังสือชุด รวมทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ไม่ได้เอ่ยนามทุกท่านที่ให้ความช่วยเหลือจนหนังสือชุดเล่มนี้สำเร็จออกมาได้

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

 

อ่านต่อ >>