Sale 5%

มนุษยภาพ

Original price was: 550.00 บาท.Current price is: 525.00 บาท.

หมายเหตุ

  • หนังสือพร้อมจัดส่งวันที่ 31 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป หากสั่งซื้อหนังสือเล่มอื่นๆ ด้วย ทางสำนักพิมพ์ขอส่งพร้อมกัน

สั่งจองสินค้าได้

หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

บรรณาธิการ

ธนาพล ลิ่มอภิชาต, พวงทอง ภวัครพันธุ์

จำนวนหน้า

552

ปีที่พิมพ์

2568

ISBN ปกอ่อน

9786169430377

สารบัญ

คำนำสำนักพิมพ์

บทบรรณาธิการ

ภาค 1 ชาตินิยม กษัตริย์นิยม และความ(อ)ยุติธรรมในสังคมไทย

  • ราชาในยุคประชาชาติ : ความย้อนแย้งของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในฐานะอาชญากรรมทางการเมืองในประเทศไทย

เดวิด สเตร็คฟัสส์ (David Streckfuss)

  • แค่หินกองหนึ่ง ? ปราสาทพระวิหารในฐานะสัญลักษณ์ของความอัปยศแห่งชาติ

เชน สเตรท (Shane Strate)

  • แม่ฟ้าหลวง : สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับตำรวจตระเวนชายแดนในยุคสงครามเย็น

ซีแน ฮยุน (Sinae Hyun)

  • การขยายบทบาทของกองทัพในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ : การจัดตั้งมวลชนของรัฐ

พวงทอง ภวัครพันธุ์

  • ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน : หลักการ ความฝัน และเงื่อนไขทางการเมือง

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ภาค 2 ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม-ภูมิปัญญาของความเป็นสมัยใหม่: สยาม/ไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  • การปฏิรูปอิสลาม ครอบครัว และเครือข่ายความรู้ที่เชื่อมมักกะฮ์เข้ากับอุษาคเนย์ในศตวรรษที่ 19

ฟรานซิส อาร์. แบรดลีย์ (Francis R. Bradley)

  • จินตนาการถึง “มิชชันลาว” : ว่าด้วยการใช้คำว่า “ลาว” ในภาคเหนือของสยาม และดินแดนที่ไกลออกไป

เทย์เลอร์ เอ็ม. อีสซัม (Taylor M. Easum)

  • ทัศนาวิถีกับความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทางศาสนาในการรับรู้ของชนชั้นนำสยาม สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19

สิงห์ สุวรรณกิจ

  • วรรณคดีสโมสร หรือกำเนิดแห่งสิทธิอำนาจทางวัฒนธรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย

ธนาพล ลิ่มอภิชาต

  • จาก “โซ๊ด” สู่ “สะวิง” : อัสดงคตนิยมกับการเมืองของการแปลทางวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่

อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู

 

ธงชัย วินิจจะกูล ในมุมมองของมิตรและศิษย์

  • ธงชัย วินิจจะกูล คนอื่นในผืนดินตน

ยุกติ มุกดาวิจิตร

  • ก้าวแรกเริ่มสู่ชีวิตนักวิชาการของธงชัย วินิจจะกูล

มิตรสหายคนหนึ่ง

  • ธงชัย วินิจจะกูล ในความนึกคิดและความทรงจำ

ธนาพล ลิ่มอภิชาต

คำนำสำนักพิมพ์

การโกหกตอแหล การหลอกลวง ได้ก่อกำเนิดจากคณะรัฐบาลและหมู่ชนชั้นสูง ดังตัวอย่างที่ได้ยกมากล่าวไว้ข้างต้น และเมื่อคิดถึงว่าอำนาจเปนสิ่งบันดาลความนิยม และอำนาจในทุกวันนี้ เราหมายกันถึงเงินกับชั้นสูง ฉะนั้นเราจะไม่เตรียมตัวไว้ตกใจกันบ้างหรือว่า วิทยาศาสตร์ของการโกหกตอแหลจะแพร่หลาย และนิยมกันทั่วไปในบ้านเรา[1]

กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนหนุ่มวัย 26 แห่งคณะสุภาพบุรุษ เขียนความเรียงเรื่อง “มนุษยภาพ” ลงหนังสือพิมพ์[2] ในห้วงเวลาที่ระบอบเก่ากำลังสั่นคลอน ว่ากันว่าข้อเขียนนี้ “ ‘แรง’ จน ‘ชั้นสูง’ ไม่ชอบ”[3] เพราะเป็นการวิพากษ์สังคมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเรียกร้องความเสมอภาคของมนุษย์และความเป็นประชา­ธิปไตยในสังคม ทำให้เขาถูกจับตาว่าเป็นพวกที่มีความคิดทางสังคมก้าวหน้าและหัวรุนแรง

ไม่นานมานี้ หลังจากเข้าฟังกระบวนการพิจารณาคดีที่ทนายอานนท์ นำภา ถูกฟ้องด้วยมาตรา 112 ในงานเสวนา “ถ้าใครพูด จะจับขังให้หมด”[4] ธงชัย วินิจจะกูล เล่าถึงความรู้สึกนึกคิดของเขาขณะอยู่ในห้องพิจารณาคดีวันนั้นว่า ขณะที่ศาลเสมือนกำลังบอกว่า 2 + 2 = 5 อานนท์ นำภา ก็โต้แย้งว่า2 + 2 = 4 ไม่ใช่เฉพาะในศาล ทว่าสังคมไทยกำลังตกอยู่ในสภาพนี้ ไม่ต่างจากนิยาย 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์

ใช่หรือไม่ว่า “วิทยาศาสตร์ของการโกหกตอแหลจะแพร่หลาย และนิยมกันทั่วไปในบ้านเรา” ยังเป็นจริงตามคำที่กุหลาบว่าไว้เมื่อกว่า 90 ปีที่แล้ว

การที่หนังสือเล่มนี้มีชื่อพ้องกับข้อเขียนของกุหลาบนั้นหาใช่ความบังเอิญไม่ หากเป็นเจตนารมณ์เบื้องปลายเมื่อต้นฉบับได้ถูกเรียงพิมพ์ออกมาแล้ว โดยตำแหน่งแห่งที่ หนังสือเล่มนี้ถือเป็นบทส่งท้ายของหนังสือชุดรวมบทความ ธงชัย วินิจจะกูล (2556–2563)[5] เป็นการรวบรวมบทความที่มีทัศนะเชิงวิพากษ์ในต่างหัวข้อต่างวาระที่ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากงานของธงชัย เมื่อร้อยเรียงกันแล้วอาจกล่าวได้ว่ามันเป็นงานวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ที่อธิบายปรากฏการณ์สังคมการเมืองไทยได้อย่างทรงพลัง ถ้าเราจะนับว่าข้อเขียน “มนุษยภาพ” ของกุหลาบเป็นดั่งคลื่นความคิดลูกแรกที่โหมแรงก่อนระบอบใหม่จะก่อเกิด และงานของธงชัยตลอด 3 ทศวรรษเป็นดุจคลื่นลูกใหญ่อีกลูกที่ถาโถมเข้าใส่ระบอบเก่าแก่ที่ยังแฝงฝังอยู่ หนังสือ มนุษยภาพ เล่มนี้ก็อาจเป็นลูกคลื่นที่เกิดตามมาจากคลื่นลูกนั้น—ที่กำลังตั้งคำถามกับองค์ความรู้แบบขนบจารีตของสังคมไทยในยุคเปลี่ยนผ่านที่คนหนุ่มสาวลุกขึ้นพูดอย่างตรงไปตรงมาที่สุดว่าต้องการการเปลี่ยนแปลง ว่า 2 + 2 = 4 !

แม้ไม่ใช่ผลงานของธงชัยโดยตรง แต่บทความทั้ง 10 ชิ้นนี้คือการคิดต่อยอดจากงานของธงชัย โดยนักวิชาการรุ่นหลังทั้งที่เป็นเพื่อนมิตรและลูกศิษย์ โดยหยิบยืมแนวคิดชาตินิยม/ราชาชาตินิยม/ความเป็นไทย/ความเป็นอื่น/ประวัติศาสตร์นิพนธ์/ความเป็นสมัยใหม่/ความยุติธรรม/ประวัติศาสตร์กฎหมาย/ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง/วัฒนธรรมศึกษาเชิงวิพากษ์/การลอยนวลพ้นผิด ฯลฯ มาใช้ในงานศึกษาความย้อนแย้งของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย, งานศึกษาตำรวจตระเวนชายแดนและกองทัพกับอุดมการณ์ราชาชาตินิยม, งานศึกษามโนทัศน์ของชนชั้นนำสยามผ่านวรรณคดีสโมสร ฯลฯ, งานศึกษากรณีปราสาทพระวิหารกับเรื่องเล่าของความอัปยศแห่งชาติ, งานศึกษาจินตกรรมลาวในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย และงานศึกษาการสร้างเครือข่ายความรู้ทางศาสนาอิสลามผ่านครอบครัวมุสลิมพลัดถิ่นอันถือเป็นการต่อต้านของสามัญชนที่ถูกลบจากประวัติศาสตร์ชาติสยาม เป็นต้น

แม้ประเด็นหัวข้อจะกว้างขวาง หลากหลายสนามการวิจัย และแทบไม่เกี่ยวโยงกันเลย กระนั้นก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดร่วมของทั้ง 10 บทความโดยมิได้ตั้งใจ นั่นก็คือ เมื่อพลิกดูบรรณานุกรมท้ายบท ผู้อ่านจะประจักษ์ชัดว่างานของธงชัยจะต้องถูกอ้างอิงไม่เล่มใดก็เล่มหนึ่ง ไม่บทความใดก็บทความหนึ่ง ไม่ภาษาไทยก็ภาษาอังกฤษ ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่างานของธงชัยเป็นฐานรากของการคิดต่อยอด (เฉกเช่นเดียวกับงานของธงชัยเองที่ก็ศึกษาต่อยอดจากนักคิดคนสำคัญในสาขาวิชามนุษยศาสตร์)

โดยเฉพาะ Siam Mapped[6] อันเป็นหลักหมายของงานศึกษาประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ แม้เจ้าตัวจะกล่าวว่า เมื่อเริ่มนำเสนอนั้น Siam Mapped แทบไม่มีที่ทางในวงวิชาการไทยด้วยซ้ำ, เช่นกัน ในทางประวัติศาสตร์บาดแผล กว่าที่เหตุการณ์ 6 ตุลาจะถูกจดจำและมีที่ยืนในสังคมนี้ นับว่าต้องใช้เวลาหลายปีทีเดียว เป็นหลายปีที่ธงชัยเพียรทำงานอย่างหนักเพื่อจะตั้งคำถามกับชุดความรู้ความจริง ความทรงจำ ทั้งขยายปริมณฑลการศึกษาสังคมไทยในมิติต่างๆ อย่างวิพากษ์และไม่ยอมจำนน

สำหรับการคัดสรรที่กลมกล่อมลงตัวและเปี่ยมอรรถรสจากการอ่านแบบข้ามพรมแดนสาขาวิชาในมนุษยภาพ นี้ ขอขอบคุณความมานะอุตสาหะของบรรณาธิการ ธนาพล ลิ่มอภิชาต และพวงทอง ภวัครพันธุ์ มา ณ ที่นี้ เรา—ฟ้าเดียวกัน—เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ปัญญาความรู้มิได้เกิดแต่การเชื่อตามครู หากจักงอกงามเมื่อเกิดการถกถาม วิพากษ์วิจารณ์ วิวาทะเสวนา—อย่างเสมอภาคและเปี่ยมด้วยเสรีภาพ หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนการใช้แนวคิดและวิธีวิทยาของธงชัยมาต่อยอดแตกประเด็นศึกษาต่อไปจากธงชัย เป็นเสมือนดอกผลเพื่อเชิดชูเกียรติแก่ธงชัย วินิจจะกูล นักมนุษยภาพและปัญญาชนผู้อุทิศตนผลักสังคมไทยไปข้างหน้ามาตลอดชีวิตของเขา


[1]กุหลาบ สายประดิษฐ์, “มนุษยภาพ,” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ: ข้อเขียนการเมืองของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักหนังสือพิมพ์, บ.ก. สุชาติ สวัสดิ์ศรี (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปี ศรีบูรพา [กุหลาบ สายประดิษฐ์], 2548), 36

[2]พิมพ์ครั้งแรกโดยไม่ลงชื่อผู้เขียนในหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ฉบับวันที่ 8, 11 ธันวาคม 2474 แต่เกิดปัญหาจนกุหลาบและคณะสุภาพบุรุษยกคณะออก ต่อมาลงพิมพ์ครบ 3 ตอนในหนังสือพิมพ์ ศรีกรุงฉบับวันที่ 10, 16, 21 มกราคม 2474 (ปีปฏิทินเก่า) เป็นเหตุให้ ศรีกรุง ถูกสั่งปิด 9 วัน (https://pridi.or.th/th/content/2024/04/1937).

[3]“หมายเหตุบรรณาธิการ,” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ, 29.

[4]งานเสวนา “‘ถ้าใครพูด จะจับขังให้หมด’ เสวนาจากห้องพิจารณาคดีลับ และความเป็นกลางของผู้พิพากษา” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 16 ธันวาคม 2567 ดู รายงานการเสวนาในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/71778.

[5]หนังสือชุดรวมบทความ ธงชัย วินิจจะกูล 7 เล่มโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้แก่ ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง (2556), 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง (2558), โฉมหน้าราชาชาตินิยม (2559), คนไทย/คนอื่น (2560), เมื่อสยามพลิกผัน (2562), ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย (2562) และ รัฐราชาชาติ (2563).

[6] Thongchai Winichakul, Siam Mapped : A History of the Geo-body of a Nation (Honolulu: University of Hawai’i Press, 1995). พากย์ไทย ธงชัย วินิจจะกูล, กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ, แปลโดย พวงทอง ภวัครพันธุ์, ไอดา อรุณวงศ์, และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ (กรุงเทพฯ: คบไฟและอ่าน, 2556).

 

บทบรรณาธิการ

ทำไมหนังสือเล่มนี้จึงชื่อ “มนุษยภาพ” (humanism) … การแขวนป้ายให้กับความคิดและการเมือง หรือบางคนอาจจะติดให้แก่ตนเอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในสังคมไทย ธงชัย วินิจจะกูล ก็มีป้ายสารพัดชนิดที่ผู้คนติดให้กับเขา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้าย คอมมิวนิสต์ อดีตผู้นำนักศึกษา คนเดือนตุลา พวกโพสต์โมเดิร์น พวกไม่รักเจ้า ฯลฯ แต่คำเรียกเหล่านี้สามารถแทนตัวตนของธงชัยได้แค่ไหนเชียว ? ไม่นับว่าคำบางคำคือการป้ายร้ายเสียด้วยซ้ำ

บรรดามิตรสหายที่ร่วมหัวกันทำหนังสือเล่มนี้ พบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะบอกว่าธงชัยเป็นนักอะไร พวกเราถกเถียงกันอยู่นานว่าจะตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่าอะไรดี ในที่สุดจึงตัดสินใจใช้คำว่า “มนุษยภาพ” เราเห็นว่าธงชัยคือนักมนุษยนิยม (humanist) คำนี้น่าจะใกล้เคียงกับตัวตนของธงชัยมากที่สุด ซึ่งธงชัยอาจปฏิเสธ ไม่ยอมรับคำนี้ ก็เป็นไปได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มนุษยภาพมีความหมายที่หลากหลายตามการนิยามของนักวิชาการ ในที่นี้จึงขอยกแนวคิดมนุษยภาพที่ปรากฏในงานของฮันนาห์ อาเรนด์ท (Hannah Arendt) มาอธิบาย ทั้งนี้ อาเรนด์ทเป็นนักปรัชญาการเมืองและปัญญาชนสาธารณะผู้รอดตายจากระบอบนาซี เธอทุ่มเทชีวิตให้กับการศึกษาและต่อต้านระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ธงชัยเองก็มีประสบการณ์ในทำนองเดียวกับอาเรนด์ทแต่ในระดับที่เล็กกว่า

อาเรนด์ทเห็นว่ามนุษยภาพคือการตระหนักว่าความสามารถในการคิดไตร่ตรองใช้เหตุผลคือแก่นกลางของความเป็นมนุษย์ มนุษย์สามารถกำหนดความหมายและคุณค่าของชีวิตของตนได้ด้วยการแสวงหาความสุขให้แก่ตนเอง สามารถดำเนินชีวิตที่ดีและมีความหมาย พร้อมๆ ไปกับช่วยให้ผู้อื่นมีชีวิตที่ดีมีความสุขด้วย นักมนุษย­นิยมจึงมุ่งปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดอย่างหัวชนฝา ต่อสู้เพื่อการเมืองที่ก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตย พวกเขาต่อต้านความไร้เหตุผลของลัทธิชาตินิยมและระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหาร หรือเผด็จการคอมมิวนิสต์ การปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ และความหลากหลายทุกรูปแบบในสังคมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง นักมนุษยนิยมเห็นคนทั้งโลกเป็นคนเท่ากันกับตน ความรักและมิตรภาพของพวกเขาต้องข้ามพ้นพรมแดนระหว่างประเทศ สีผิว ชาติพันธุ์ ศาสนา อาเรนด์ทเชื่อว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองของโลกในปัจจุบันคือวิกฤตของมนุษยภาพ การเมืองที่ดีจะต้องปกป้องรักษามนุษยภาพไว้ หากไร้ซึ่งมนุษยภาพ สังคมนั้นก็ล้มละลายทางจริยธรรมและจิตวิญญาณ

กล่าวอย่างไม่อ้อมค้อม หนังสือ มนุษยภาพ ที่อยู่ในมือของท่านเล่มนี้ คือการคารวะต่อมนุษยภาพของธงชัย วินิจจะกูล ผู้อุทิศชีวิตให้กับการครุ่นคิดและผลิตงานเขียนทางปัญญาอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง งานทางปัญญาของธงชัยไม่เพียงมีคุณูปการต่อวงการหอคอยงาช้างด้านเอเชียศึกษาและไทยศึกษา แต่งานของเขามักถูกนำไปเผยแพร่และถกเถียงในพื้นที่สาธารณะท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองในสังคมไทยที่ไม่เคยหยุดนิ่ง คงไม่เป็นการเกินเลยไปที่จะบอกว่ามีนักวิชาการไม่กี่คนในประเทศนี้ที่สามารถสร้างผลสะเทือนเช่นนี้ได้ มีนักวิชาการไม่กี่คนในประเทศนี้ที่หมกมุ่นจริงจังกับความก้าวหน้า/ถดถอยของวงการหอคอยงาช้าง พร้อมๆ ไปกับทุ่มเทความคิดและจิตใจอยู่กับการเมืองและการต่อสู้เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น แม้อาชีพทางวิชาการของธงชัยจะอยู่ในต่างแดน แต่ความคิดจิตใจของเขาผูกพันกับการต่อสู้เพื่อสังคมไทยอย่างแนบแน่น

ผู้มีส่วนร่วมในหนังสือเล่มนี้มีทั้งลูกศิษย์ เพื่อนร่วมวิชาชีพ และมิตรสหายของธงชัย งานส่วนใหญ่แปลมาจากบทความที่เคยตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในวารสารวิชาการต่างประเทศ และส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้นำมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ธงชัยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้แก่ งานของเดวิด สเตร็คฟัสส์, เชน สเตรท, ซีแน ฮยุน, ฟรานซิส อาร์. แบรดลีย์, เทย์เลอร์ เอ็ม. อีสซัม, และธนาพล ลิ่มอภิชาต หากพิจารณางานกลุ่มนี้อย่างละเอียดจะช่วยทำให้เราเห็นภาพใหญ่ของความรู้ความสนใจทางวิชาการของธงชัย ที่กว้างไปกว่างานเขียนของธงชัยโดยตรง นอกจากนี้ มีงานของมิตรสหาย และลูกศิษย์ทางอ้อมที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากงานของธงชัย ได้แก่งานของพวงทอง ภวัครพันธุ์, ประจักษ์ ก้องกีรติ, สิงห์ สุวรรณกิจ และอาทิตย์ เจียมรัตตัญญู

ภาคที่ 1 ชาตินิยม กษัตริย์นิยม และความ(อ)ยุติธรรมในสังคมไทย

“ราชาในยุคประชาชาติ: ความย้อนแย้งของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในฐานะอาชญากรรมทางการเมืองในประเทศไทย” โดย เดวิด สเตร็คฟัสส์ (David Streckfuss) กล่าวถึงความย้อนแย้งของระบอบการเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่แทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งระบุว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนต้องได้รับการเคารพและปกป้อง แต่ความย้อนแย้งเกิดขึ้นเมื่อการดำรงอยู่ของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ทำให้สถาบันกษัตริย์มีสถานะเป็นศูนย์กลางของอัตลักษณ์ของชาติ และกลายเป็นสิ่งที่ล่วงละเมิดมิได้ยิ่งกว่ายุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การดูหมิ่นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของชาตินี้ถูกถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ไม่สามารถประนีประนอมได้

“แค่หินกองหนึ่ง ? ปราสาทพระวิหารในฐานะสัญลักษณ์ของความอัปยศแห่งชาติ” โดย เชน สเตรท (Shane Strate) ชี้ว่า ในสายตาของคนไทยในทศวรรษ 2490 ปราสาทพระวิหารเป็นแค่กองอิฐกองหินเท่านั้น และคนไม่มากนักรู้จักสถานที่แห่งนี้ แต่ไม่นานหลังจากนั้น กองอิฐกองหินนี้กลับสามารถปลุกเร้าชาตินิยมในไทยให้ลุกโชติช่วง จนทำให้เกิดการปะทะระหว่างกองกำลังของไทยและกัมพูชา และไปจบลงที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ในปี 2503–2505 สถานการณ์ดังกล่าวเกิดซ้ำอีกครั้งระหว่างปี 2551–2556 โดยมีขบวนการต่อต้านทักษิณเป็นผู้โหมกระพือไฟชาตินิยม สเตรทชี้ว่าสิ่งที่เป็นเสมือนเนื้อดินอันอุดมที่หล่อเลี้ยงเชื้อมูลชาตินิยมในกรณีนี้ก็คือวาทกรรม “ความอัปยศแห่งชาติ” ที่นักทวงดินแดนชาวไทยได้ช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เชิดชูความเป็นเหยื่อของไทย เร้าให้เกิดความรู้สึกอับอายขายหน้าร่วมกัน และผลิตสัญลักษณ์ประกาศความขมขื่นเป็นระยะๆ งานของสเตรทชิ้นนี้จะช่วยทำให้เราอ่านชาตินิยมในกรณี MOU 44 กับการปักปันเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย

“แม่ฟ้าหลวง : สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับตำรวจตระเวนชายแดนในยุคสงครามเย็น” โดย ซีแน ฮยุน (Sinae Hyun) เป็นงานที่ศึกษาความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสมเด็จย่ากับ ตชด. ภายใต้การร่วมมือกันพัฒนาโครงการหลวงในภาคเหนือ ความร่วมมือนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของรัฐไทยในการต่อสู้เพื่อเอาชนะภัยคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ประการสำคัญยังส่งผลต่อการขยายตัวของอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมและการเมืองไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 จนถึงปัจจุบัน

“การขยายบทบาทของกองทัพในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ : การจัดตั้งมวลชนของรัฐ” โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์ ท้าทายคำอธิบายเดิมที่ว่าพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบอย่างราบรื่น เป็นช่วงเวลาที่อำนาจทางการเมืองของทหารลดลง ในทางตรงกันข้าม พวงทองชี้ให้เห็นว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ทหารได้ขยายนิยามของภัยคุกคามความมั่นคงภายในของชาติออกไปอย่างไม่มีขีดจำกัด พร้อมๆ ไปกับพยายามเข้าควบคุมแทรกซึมสังคมผ่านโครงการจัดตั้งมวลชนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศที่กระทำในนามของแนวทางการเมืองนำการทหาร

“ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” เป็นแนวคิดที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในสังคมไทย โดยเฉพาะหลังการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงในปี 2553 และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ก่อตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขึ้นมา โดย คอป. มักกล่าวอ้างว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำคือ “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” บทความของประจักษ์จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจหลักคิดของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และการปรับใช้ในประเทศอื่นๆ บทความชิ้นนี้จะช่วยทำให้ผู้อ่านสามารถตรวจสอบว่าที่ผ่านมา คนในสังคมไทยมักฉวยใช้คำสวยหรูนี้อย่างบิดเบี้ยวหรือไม่อย่างไร

ภาคที่ 2 ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม-ภูมิปัญญาของความเป็นสมัยใหม่: สยาม/ไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“การปฏิรูปอิสลาม ครอบครัว และเครือข่ายความรู้ที่เชื่อมมักกะฮ์เข้ากับอุษาคเนย์ในศตวรรษที่ 19” โดย ฟรานซิส อาร์. แบรดลีย์ (Francis R. Bradley) ศึกษาบทบาทของผู้รู้หรือผู้นำทางจิตวิญญาณในศาสนาอิสลามของชุมชนปาตานี ที่ต้องพลัดถิ่นไปยังนครมักกะฮ์ในศตวรรษที่ 19 แต่ชุมชนผู้ลี้ภัยนี้กลับสามารถสร้างเอกภาพทางวัฒนธรรม และส่งผ่านความรู้ศักดิ์สิทธิ์ในยุคก่อนการเกิดรัฐชาติ ผ่านเครือข่ายความรู้โพ้นทะเลระหว่างมักกะฮ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างน่าทึ่งแบรดลีย์แสดงให้เห็นว่าคำสอนของศาสนาอิสลามได้ช่วยสร้างเอกภาพทางวัฒนธรรมให้แก่ชุมชนผู้ลี้ภัยปาตานี อีกทั้งการครอบครองความรู้ศักดิ์สิทธิ์ได้เพิ่มคุณค่าให้กับสมาชิกของชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้ แนวทางการศึกษาของแบรดลีย์แตกต่างจากคำอธิบายกระแสหลักว่าด้วยการฟื้นฟูศาสนาอิสลามในที่อื่นๆ ของโลก

เทย์เลอร์ เอ็ม. อีสซัม (Taylor M. Easum) สนใจมโนทัศน์ของคำว่า “ลาว” (Laos) ที่ผกผันไปตามเงื่อนไขของเวลาและสถานที่ ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย รวมถึงมุมมองและปฏิบัติการของรัฐสยามที่มีต่อคนลาวในเขตขัณฑ์ของตนในช่วงเวลาที่สยามกำลังเผชิญกับการเกิดขึ้นใหม่ของลาวในฐานะอาณานิคมของฝรั่งเศส อีสซัมยังสำรวจมุมมองที่มีต่อคำว่า “ลาว” ของคณะมิชชันนารีอเมริกันที่ทำงานอยู่ในภาคเหนือของสยามในช่วงขึ้นศตวรรษที่ 20 เขาชี้ให้เห็นว่ามุมมองที่แตกต่างกัน ไม่เพียงกลายเป็นข้อพิพาทในเรื่องเขตอำนาจในการทำงานเผยแผ่คริสต์ศาสนา แต่ยังได้ช่วยสร้างแนวคิดเรื่องพื้นที่ลาวที่ถูกจำกัดมากขึ้น อันเป็นผลของการปรับเปลี่ยนวาทกรรมเชิงเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์ของรัฐไทยและอาณานิคมลาวของฝรั่งเศส

สิงห์ สุวรรณกิจ สนใจว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมายในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ลักษณะวิธีการดูสถานที่ต่างๆ และการรับรู้เชิงพื้นที่ (seeing places and perceiving space) ของชนชั้นนำสยามเกิดการแปรผันอย่างไร และมันส่งผลต่อการให้คุณค่าความหมายแบบใหม่แก่พื้นที่ศาสนสถานต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์ของสัตว์โลกอย่างไร ความทันสมัยหรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปแทนที่คำอธิบายเชิงศาสนาอย่างไร หรือเกิดการอธิบายแบบผสมปะแต่งที่ข้ามยุคข้ามสมัย (anachronistic hybridity)

ธนาพล ลิ่มอภิชาต ถกเถียงกับแนวการอธิบายสองแบบว่าด้วย “วรรณคดีสโมสร” โดยรัชกาลที่ 6 โดยแนวแรกอธิบายว่าการก่อตั้ง “วรรณคดีสโมสร” เป็นความพยายามรักษามาตรฐานของงานประพันธ์ไทย และปัดป้องอิทธิพลตะวันตกที่มีต่องานประพันธ์และวัฒนธรรมไทย ส่วนอีกแนวทางเห็นว่าวรรณคดีสโมสรคือความพยายามของรัชกาลที่ 6 ที่ต้องการอ้างสิทธิ์ในมรดกทางวรรณคดีไทยให้เป็นมรดกของชาติ ธนาพลเสนอว่าคำอธิบายดังกล่าวละทิ้งบริบทต่างๆ ที่รายล้อมสยามในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เขาเห็นว่าวรรณคดีสโมสรเป็นกลยุทธ์ที่ฝ่ายชนชั้นสูงใช้เพื่อปรับเปลี่ยนและยืนยันสิทธิอำนาจทางวัฒนธรรม (cultural authority) ของตนเองที่กำลังถูกท้าทายจากหลายฝ่ายในสังคม ส่งผลให้เกิดมโนทัศน์และรูปแบบอย่างใหม่ของทุนทางวัฒนธรรมและสิทธิอำนาจในสยามยุคใหม่ด้วย

ประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านของสยามสู่สมัยใหม่เป็นพื้นที่ที่มีการศึกษาหลากหลายมากที่สุดพื้นที่หนึ่งก็ว่าได้ บทความของอาทิตย์ เจียมรัตตัญญู เรื่อง “จาก ‘โซ๊ด’ สู่ ‘สะวิง’: อัสดงคตนิยมกับการเมืองของการแปลทางวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่” เป็นบทสนทนากับงานว่าด้วยสยามยุคใหม่ของธงชัยโดยมุ่งเน้นที่มิติทางอารมณ์ความรู้สึก อาทิตย์ชี้ว่าในการปรับเปลี่ยนเป็นตะวันตกหรืออัสดงคตานุวัตร (Westernization) สังคมสยามได้เกิดโครงสร้างของความรู้สึกใหม่ (new structure of feeling) ที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือความรู้สึกปะปนกันหรือสับเปลี่ยนกันทั้งรัก-ชื่น-ขื่น-ชังฝรั่งตะวันตก ซึ่งสัมพันธ์กับการเมืองระหว่างชนชั้นในสังคมไทยด้วย อาทิตย์ส่องสังเกตการก่อตัวของโครงสร้างความรู้สึกที่ว่านี้ผ่านการศึกษาคำสแลงสำคัญในยุคนี้ เช่น เก๋ โก้ โซ๊ด อิน ซึ่งปรากฏในหลักฐานประเภทต่างๆ ทั้งบันทึกความทรงจำ จดหมายส่วนตัว หนังสือราชการ บทความหนังสือพิมพ์ ศิลปะวรรณกรรม ฯลฯ และเป็นคำที่ผูกโยงกับข้อถกเถียงเรื่องอัตลักษณ์ ศีลธรรม และลำดับชั้นทางสังคมในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อดังกล่าว

ภาคสุดท้าย มุมมองของมิตรและศิษย์ที่มีต่อธงชัย

เป็นมุมมองที่เป็นผลจากการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับธงชัย จากการอ่านงานของธงชัย จากการทำงานร่วมกัน และจากมิตรภาพที่ดำเนินมาตลอด 3–4 ทศวรรษ แม้ว่าบทความของยุกติ มุกดาวิจิตร จะปรับปรุงมาจากบทแนะนำธงชัยในงานปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 ในปี 2563 บรรณาธิการเห็นร่วมกันว่าเป็นบทความที่เหมาะสมคู่ควรกับหนังสือ มนุษยภาพ อย่างยิ่ง นอกจากนี้ มุมมองของธนาพล ลิ่มอภิชาต นักศึกษาไทยไม่กี่คนที่มีธงชัยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก และมุมมองของ “มิตรสหายคนหนึ่ง” จะทำหน้าที่ฉายภาพให้ผู้อ่านได้เห็นตัวตนบางด้านของธงชัยที่ไม่ค่อยปรากฏในพื้นที่สาธารณะมากนัก

ผู้ที่มีส่วนร่วมสำคัญที่ช่วยผลักดันให้หนังสือ มนุษยภาพ ปรากฏกายออกมา มีมากกว่าบรรดาคนที่ได้ถูกเอ่ยชื่อไปข้างต้นแล้ว ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เป็นผู้ที่กระตือรือร้นมากที่สุดคนหนึ่งนับตั้งแต่วันแรกๆ ที่พวกเราตั้งวงคุยเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ หากไม่มีธนาพลคอยผลักให้งานเดินหน้า และลงมือทำงานอยู่เบื้องหลังเองแล้วละก็ หนังสือเล่มนี้อาจไม่มีโอกาสได้ปรากฏกายขึ้นก็ได้ นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ฉลอง สุนทราวาณิชย์ เป็นอีกท่านหนึ่งที่สนับสนุนการทำหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่ต้น

สุดท้าย แต่ไม่ใช่ท้ายสุด ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างสูงต่อพิชญ์พงศ์ เพ็งสกุล และอัญชลี มณีโรจน์ ที่กรุณารับภารกิจอันหนักอึ้ง แปลบทความภาษาอังกฤษที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงอันยุ่งยากให้เป็นภาษาไทยอันสละสลวย ขอแสดงความนับถือและขอขอบคุณจากใจต่อกองบรรณาธิการชั้นเยี่ยมของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน—อัญชลี มณีโรจน์, วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์, นฤมล กระจ่างดารารัตน์—ที่ช่วยทำให้หนังสือเล่มนี้ออกมาสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

กรุงเทพฯ ณ โมงยามที่มนุษยภาพอยู่ในภาวะวิกฤต

มกราคม 2568

ทดลองอ่าน