ข้อมูลทั่วไป
ชื่อหนังสือ | The Great Transformation: The Political and Economic Origins of Our Time |
---|---|
ผู้เขียน | คาร์ล โปลานยี |
ผู้แปล | ภัควดี วีระภาสพงษ์ |
จำนวนหน้า | 480 |
ปีที่พิมพ์ | 2559 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667447 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667454 |
ปกแข็ง 585.00 บาทปกอ่อน 450.00 บาท
ชื่อหนังสือ | The Great Transformation: The Political and Economic Origins of Our Time |
---|---|
ผู้เขียน | คาร์ล โปลานยี |
ผู้แปล | ภัควดี วีระภาสพงษ์ |
จำนวนหน้า | 480 |
ปีที่พิมพ์ | 2559 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667447 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667454 |
คำนำเสนอ The Great Transformationของ คาร์ล โปลานยี
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
คำนำสำนักพิมพ์
ภาคหนึ่ง ระบบระหว่างประเทศ
บทที่ 1 สันติภาพหนึ่งร้อยปี
บทที่ 2 1920 ทศวรรษอนุรักษนิยม 1930 ทศวรรษปฏิวัติ
ภาคสอง ความรุ่งเรืองและตกต่ำของระบบเศรษฐกิจตลาด
องก์ I โรงสีปิศาจ
บทที่ 3 “การมีที่ซุกหัวนอนปะทะความก้าวหน้า”
บทที่ 4 สังคมและระบบเศรษฐกิจ
บทที่ 5 วิวัฒนาการของแบบแผนตลาด
บทที่ 6 ตลาดที่กำกับดูแลตัวเองกับสินค้าอุปโลกน์ : แรงงาน ที่ดิน และเงิน
บทที่ 7 สปีนแฮมแลนด์ 1795
บทที่ 8 เหตุที่เกิดก่อนและผลที่ตามมา
บทที่ 9 ลัทธิยาจกกับยูโทเปีย
บทที่ 10 เศรษฐกิจการเมืองและการค้นพบ “สังคม”
องก์ IIการคุ้มครองตัวเองของสังคม
บทที่ 11 มนุษย์ ธรรมชาติ และระบบการผลิต
บทที่ 12 กำเนิดลัทธิเสรีนิยม
บทที่ 13 กำเนิดลัทธิเสรีนิยม (ต่อ) : ผลประโยชน์ของชนชั้นและความเปลี่ยนแปลงของสังคม
บทที่ 14 ตลาดกับมนุษย์
บทที่ 15 ตลาดกับธรรมชาติ
บทที่ 16 ตลาดกับหน่วยการผลิต
บทที่ 17 การกำกับดูแลตัวเองบกพร่อง
บทที่ 18 แรงตึงเครียดที่ขาดผึ้ง
ภาคสาม ท่ามกลางความพลิกผัน
บทที่ 19 รัฐบาลประชาชนกับระบบเศรษฐกิจตลาด
บทที่ 20 ประวัติศาสตร์ในฟันเฟืองของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
บทที่ 21 เสรีภาพในสังคมซับซ้อน
บันทึกเกี่ยวกับแหล่งข้อมูล
ดรรชนี
The Great Transformation ของ คาร์ล โปลานยี
คาร์ล โปลานยี่เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชาวฮังการีที่เลื่องชื่อในแวดวงสังคมศาสตร์ตะวันตก เขาเกิดในอาณาจักรออสโตร-ฮังการี ในปี 1886 เหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองและภัยลัทธินาซีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้เขาต้องย้ายถิ่นฐานและอาชีพการงานมาอังกฤษ กระทั่งมาถึงสหรัฐอเมริกา และสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียเป็นเวลาหลายปี ก่อนเสียชีวิตในปี 1964
ในทางการเมือง โปลานยีมีทัศนะไปในทางลัทธิสังคมนิยมประชาธิปไตย และปฏิเสธลัทธิสังคมนิยมแบบลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ในทางวิชาการ เขาได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้บุกเบิกแนวคิดสำคัญว่าด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมที่มีต่อรูปการณ์ของระบบเศรษฐกิจและต่อพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ในสังคม เขาจึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวทางการวิจัยในสังคมศาสตร์หลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาสังคมวิทยา มานุษยวิทยา และรัฐศาสตร์
ผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของโปลานยีคือ หนังสือเรื่อง The Great Transformation ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1944 สร้างชื่อเสียงให้กับโปลานยีเป็นอย่างมาก ฉบับพิมพ์ล่าสุด คือปี 2001 ในชื่อเรื่อง The Great Transformation : The Political and Economic Origins of Our Timeเขียนคำปรารภโดยโจเซฟสติกลิทซ์ (Joseph Stiglitz) ผู้ได้รับ รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2001
หัวใจสำคัญของงานชิ้นดังกล่าวคือข้อเสนอที่ว่า มนุษย์เศรษฐกิจ (homo economicus) ที่เป็นปัจเจกชนที่ “สมเหตุสมผล” คำนวณต้นทุน-ผลได้เพื่อตัดสินใจทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อ “แสวงหาประโยชน์ส่วนตน” ที่เป็นอรรถประโยชน์สูงสุดนั้น ไม่ได้ดำรงอยู่มาแต่ไหนแต่ไร หากแต่เป็นผลิตผลของ “การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 19” ซึ่งก็คือการเกิดขึ้นของ “สังคมตลาด” (market society) อันประกอบด้วยกระบวนการก่อรูปของรัฐสมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาด “การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่” ที่ว่านี้ไม่ใช่เป็น เพียงการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบรัฐและการจัดองคาพยพของสังคมภายใต้ระบบเศรษฐกิจตลาดเท่านั้น แต่ยังเป็น “การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่” ในทัศนะ วิธีคิด และพฤติกรรมความเคยชินของมนุษย์ปัจเจกชนอีกด้วย
นัยหนึ่ง โปลานยียืนยันว่า มนุษย์เศรษฐกิจที่คำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน คำนวณต้นทุน-ผลได้ กำไร-ขาดทุนที่เป็นเสพสุขนิยม ซึ่งเป็นหัวใจของวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนับแต่อาดัมสมิธ จนถึงปัจจุบันนั้น ที่จริงแล้วเป็นลักษณะเฉพาะของปัจเจกชนในระบบเศรษฐกิจสังคมแบบทุนนิยมสมัยใหม่เท่านั้น ขณะที่มนุษย์ปัจเจกชนในประวัติศาสตร์อันยาวนาน “ก่อนยุคทุนนิยมสมัยใหม่ (ศตวรรษที่ 19)” ไม่ใช่ “มนุษย์เศรษฐกิจ” ในลักษณะดังกล่าว !
โปลานยีเสนอว่า ก่อนการมาถึงของ “สังคมตลาด” ในศตวรรษที่ 19 สังคมมนุษย์มีการก่อรูปที่ไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจตลาด หากแต่ประกอบด้วยระบบเศรษฐกิจสามรูปแบบ คือ (1) รูปแบบกระจายถ่ายโอน (redistributive) ที่รวมศูนย์อำนาจ และทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปที่ผู้นำ (หัวหน้าเผ่า ขุนนางศักดินา กษัตริย์) ซึ่งจะกำหนดการใช้ทรัพยากรและการผลิต รวมทั้งกำหนดการกระจายทรัพยากรและผลผลิตดังกล่าวในหมู่ประชากร (2) รูปแบบต่างตอบแทน (reciprocity) ที่เป็นการแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างหน่วยสังคม ระหว่างหมู่บ้าน ดินแดน หรืออาณาจักร และ (3) รูปแบบครัวเรือน (householding) ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อยังชีพของครัวเรือน
ในสังคม “ก่อนทุนนิยม” แม้จะมีการแลกเปลี่ยนกัน (ระหว่างครัวเรือน หมู่บ้าน) แต่ก็ไม่ใช่ “การแลกเปลี่ยนในระบบตลาด” ที่แต่ละฝ่ายมุ่งต่อรองกันในรูปของอุปสงค์ อุปทานให้ได้ระดับราคาตลาดที่บรรลุ “อรรถประโยชน์สูงสุดและกำไรสูงสุด” ของตน หากแต่เป็นการแลกเปลี่ยนที่แม้จะมีการต่อรองกัน ก็เป็นการแลกเปลี่ยนเพียงเพื่อให้ได้รับผลผลิตต่างชนิดบนฐานที่ “เท่าเทียมกัน” กิจกรรมการแลกเปลี่ยนในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่ “ตลาด” ในความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก แต่เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องอยู่ภายในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสังคม “ก่อนทุนนิยม” ทั้งสามรูปแบบข้างต้น
โปลานยียอมรับว่า สิ่งที่เรียกว่า “ตลาด” ในความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ ที่มีผู้กระทำเป็นปัจเจกชนที่คำนวณต้นทุน-ผลได้เพื่อแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุดของตัวเองนั้น ก็มีอยู่ในสังคม “ก่อนทุนนิยม” ด้วย ดังจะเห็นได้จากดินแดนหรือนครรัฐในอดีตที่รุ่งเรืองด้านการค้าและมีประชากรที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตนสูงสุดเป็นหลัก ทว่า “ตลาด” ดังกล่าวและประชากรที่มีส่วนร่วมในตลาดแบบนั้นก็ยังถือเป็นส่วนน้อยมากของสังคมเศรษฐกิจทั้งหมด และไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญของสังคม เศรษฐกิจนั้นๆ โปลานยีสนับสนุนข้อวิเคราะห์ของตนด้วยข้อมูลตัวอย่างจากสังคมโบราณในทวีปต่างๆ ทั่วโลก ทั้งแอฟริกา ตะวันออกกลาง อินเดีย จีน กระทั่งสังคม ชนเผ่าในทวีปอเมริกาและสังคมเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
งานของโปลานยีจึงเป็นการวิพากษ์และท้าทายโดยตรงต่อวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักซึ่งยึดข้อเสนอพื้นฐานว่า ปัจเจกชนเป็น “มนุษย์เศรษฐกิจ” ที่มีลักษณะสมเหตุสมผล คำนวณต้นทุน-ผลได้เพื่อบรรลุอรรถประโยชน์สูงสุด และเชื่อว่าข้อเสนอพื้นฐานนี้สามารถใช้ได้กับมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยและทุกสังคม ดังเช่นที่อดัมสมิธ กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือ The Wealth of Nations ว่า “ความโน้มเอียงที่จะขนย้าย ต่อรอง และแลกเปลี่ยนสิ่งของ เป็นลักษณะร่วมกันของมนุษย์ทุกคน และเป็นลักษณะที่ไม่พบในสัตว์อื่น”
ในตอนท้าย โปลานยียังชี้ต่อไปว่า การเกิดขึ้นของสังคมตลาดและการเปลี่ยนแปลงของปัจเจกชนไปเป็น “มนุษย์เศรษฐกิจ” ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 นั้น แม้จะนำมาซึ่งความมั่งคั่งทางวัตถุยิ่งกว่าสังคมในอดีต แต่ก็ได้นำมาซึ่งความขัดแย้งอันลึกซึ้งภายในสังคมตลาดด้วย การที่ระบบตลาดได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็น “ตลาดเสรี” ที่เป็นอิสระจากสังคม ดำเนินไปได้ในตัวเอง แล้วกลับมาครอบงำสังคมด้วย “กฎของตลาด” เองนั้น ได้ก่อให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงผิดแปลกไปจากสถานภาพเดิม” (dislocation) ที่นำมาซึ่งความขัดแย้งทางเศรษฐกิจการเมืองภายใน สังคมจึงได้ใช้ “ลัทธิปกป้องทางสังคม” (social protectionism) ทำการตอบโต้อย่างเป็นไปเองต่อการครอบงำของตลาดเสรีการกระทำต่อกันระหว่างตลาดเสรีที่ครอบงำสังคม กับสังคมที่พยายามป้องกันตนเองจากการครอบงำของตลาดนี้ โปลานยีเรียกว่า “การเคลื่อนไหวคู่ขนาน” (double movement) ซึ่งโปลานยีทำนายว่า ในท้ายที่สุด “สังคมตลาด” จะถูกแทนที่ด้วย “สังคมนิยม” ในที่สุด
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจในงานของโปลานยีมากนักและอาจกล่าวได้ว่า แม้แต่ชื่อคาร์ล โปลานยี ก็ไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางในแวดวงของนักเศรษฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจกระแสหลักส่วนใหญ่เลย อย่างไรก็ตาม ข้อวิพากษ์ของโปลานยีก็ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์สำคัญ ประการหนึ่งในแวดวงเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งก็คือการกำเนิดขึ้นของสำนักเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ (New Institutional Economics) ตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1980 ถึงปัจจุบัน ซึ่งใช้กรอบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกวิเคราะห์วิวัฒนาการของสถาบันสังคมทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ดุกลาสนอร์ธ (Douglass North) เป็นนักเศรษฐศาสตร์หนึ่งในไม่กี่คนที่เล็งเห็นความสำคัญของ The Great Transformationของโปลานยี และได้ตีพิมพ์บทวิจารณ์ เรื่อง “Markets and other Allocation Systems in History: The Challenge of Karl Polanyi”[1]ในบทความนี้ นอร์ธชี้ให้เห็นว่า งานของโปลานยีสะท้อนจุดอ่อนสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจกระแสหลัก ซึ่งก็คือการนำเสนอประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของสังคมใด ๆ ในลักษณะเฉพาะเป็นรายๆ โดยปราศจากกรอบแนวคิดเชิงวิเคราะห์ที่ประยุกต์ใช้ได้ทั่วไป และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ท่าทีของนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ปฏิเสธกรอบแนวคิดเชิงวิเคราะห์ใดๆ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเป็นการทั่วไปอีกด้วย
แต่ขณะเดียวกันนอร์ธก็ชี้ว่า แนวทางที่โปลานยีพยายามสร้างกรอบแนวคิดเชิงวิเคราะห์ทั่วไปเพื่อประยุกต์ให้เข้ากับวิวัฒนาการของสังคมเฉพาะนั้น แม้จะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่วิธีการของโปลานยีนั้นผิดพลาดที่แยกสังคมโบราณออกจากสังคมทุนนิยม และเห็นว่าวิวัฒนาการของสังคมในยุคก่อนทุนนิยมมีลักษณะและองค์ประกอบที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสังคมทุนนิยม นอร์ธสรุปว่า นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ “แนวใหม่” มีหน้าที่ที่จะต้องตอบโต้โปลานยีอย่างตรงๆ ด้วยการพัฒนากรอบเชิงวิเคราะห์ทั่วไปที่สามารถอธิบายวิวัฒนาการของสถาบันสังคมทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ และให้ผลวิจัยที่สามารถทดสอบความถูกต้องได้อีกด้วย
“การตอบโต้อย่างตรงๆ” ที่นอร์ธเกริ่นนําไว้ในปี 1977 ก็คือ การเกิดขึ้นของสำนักเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ (New Institutional Economics) ในช่วงทศวรรษ 1980 ที่มีนอร์ธเป็นผู้บุกเบิกร่วมกับโรนัลด์โคส (Ronald Coase) และโอลิเวอร์ วิลเลียมสัน (Oliver Williamson) โดยนำเอาการวิเคราะห์ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และการแลกเปลี่ยนของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ร่วมกับแนวคิดว่าด้วยต้นทุนธุรกรรม (transaction costs) มาเป็นกรอบวิเคราะห์ทั่วไปในการอธิบายวิวัฒนาการของสถาบันสังคมจากการแลกเปลี่ยนระหว่างชนเผ่ามาสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดอันซับซ้อนในปัจจุบัน โดยมีการพัฒนาทางสถาบันและเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัยเพื่อลดต้นทุนธุรกรรมระหว่างหน่วยเศรษฐกิจเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ นัยหนึ่ง ในวิชาเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่นี้ วิวัฒนาการของสังคมก็คือวิวัฒนาการของตลาดนั่นเอง แน่นอนว่า ในกรอบการวิเคราะห์นี้ ผู้กระทำสำคัญคือ ปัจเจกชนที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวที่ คำนวณต้นทุน-ผลได้เพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุดนั่นเอง สำนักเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ จึงมีบทบาทสำคัญในการขยายการวิเคราะห์ “มนุษย์เศรษฐกิจ” จากสังคมทุนนิยม ปัจจุบันย้อนไปสู่วิวัฒนาการของสังคมยุคบุพกาล ซึ่งเป็นแนวทางที่ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับ The Great Transformationของโปลานยี
ต่อมา ดุกลาสนอร์ธได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1993 ขณะที่ โรนัลด์โคส และโอลิเวอร์ วิลเลียมสัน ได้รับรางวัลเดียวกันในปี 1991 และ 2009 ตามลำดับ
นอกจากข้อวิจารณ์ในเชิงกรอบวิเคราะห์ข้างต้นแล้ว นอร์ธยังได้วิจารณ์งานของโปลานยีอีกหลายประเด็น เช่น โปลานยีเลือกใช้ตัวอย่างประวัติศาสตร์แบบเจาะจงเฉพาะที่สนับสนุนแนวคิดหลักของตน แต่จงใจละเลยไม่กล่าวถึงตัวอย่างอื่นอีกมากมายที่แสดงถึง “พฤติกรรมตลาด” ที่มีอยู่จริงและแพร่หลายในสังคมโบราณ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ขัดกับแนวคิดของเขา นอร์ธโต้แย้งว่า ไม่ใช่เฉพาะสังคมโบราณเท่านั้นที่มีรูปแบบทางเศรษฐกิจที่เป็นการกระจายถ่ายโอน (redistributive) และต่างตอบแทน (reciprocity) แม้แต่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดก็มีรูปแบบเศรษฐกิจดังกล่าวอยู่ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การถ่ายโอนผลผลิตในสังคมโบราณที่โปลานยีเรียกว่า “อภินันทนาการ” (gifts) ซึ่งโปลานยีชี้ว่า เป็นกิจกรรมการถ่ายโอนทรัพยากรที่ “มิใช่ตลาด” ในสังคมก่อนทุนนิยมนั้น นอร์ธกลับเห็นว่า แท้ที่จริงแล้วก็คือ “สินบน” (bribe) ซึ่งบุคคลใช้เป็นเครื่องมือเพื่อลดต้นทุนธุรกรรม ในกิจกรรมการเคลื่อนย้ายผลผลิตหรือทรัพยากรของตน โดยที่ปัจจัยขับ เคลื่อนของการให้สินบน คือแรงจูงใจพื้นฐานของมนุษย์เศรษฐกิจที่สมเหตุสมผล ที่แสวงประโยชน์ส่วนตนภายใต้เงื่อนไขที่โครงสร้างสถาบันยังล้าหลังและไม่มีโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายที่เข้มแข็ง
แน่นอนว่าผู้สนับสนุนโปลานยีได้ตอบโต้ข้อวิจารณ์เหล่านี้ของนอร์ธโดยละเอียด เช่น ข้อกล่าวหาที่ว่าโปลานยีเลือกใช้ตัวอย่างเฉพาะที่สนับสนุนแนวคิดของตนและละเลยตัวอย่างอื่น ผู้สนับสนุนโปลานยีชี้ว่า โปลานยีไม่ได้ปฏิเสธตัวอย่างที่ขัดแย้งเหล่านี้เพราะโปลานยียอมรับแต่ต้นว่า ในสังคมโบราณหลายแห่งก็มีกิจกรรมเชิงตลาดที่ผู้กระทำมีพฤติกรรมในลักษณะ “มนุษย์เศรษฐกิจ” เพียงแต่ว่ากิจกรรมและผู้กระทำ เหล่านี้นับเป็นส่วนน้อยมากทั้งในเชิงปริมาณและระดับความสำคัญในสังคมโดยรวม
ถึงกระนั้น สถานการณ์ของวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่นอร์ธกล่าวถึงก็ยังคงเป็นจริงในปัจจุบัน กล่าวคือ นักเศรษฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจกระแสหลัก ส่วนข้างมากแทบจะไม่รู้จักผลงานที่ชื่อ The Great Transformation และชื่อคาร์ล โปลานยีเลย อีกทั้งอิทธิพลของงานดังกล่าวก็แพร่หลายอยู่แค่ในแวดวงสังคมวิทยา มานุษยวิทยา และรัฐศาสตร์เป็นหลัก ขณะที่ผลงานของโปลานยีถือได้ว่าเป็นตำราเชิง วิเคราะห์สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งสำหรับนักลัทธิสังคมนิยม นักเคลื่อนไหวในองค์กรพัฒนา เอกชน และนักเคลื่อนไหวแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจทางเลือกที่ปฏิเสธระบบตลาดแบบทุนนิยม
อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงที่มีนัยสำคัญยิ่งกว่าประเด็นมรรควิธีวิจัยในวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ หากแต่เป็นข้อถกเถียงเชิงปรัชญาการเมืองพื้นฐานว่าด้วย “ธรรมชาติของปัจเจกชน” กระแสความคิดสังคมนิยมทุกชนิด ตั้งแต่ลัทธิสังคมนิยมยูโทเปีย มาถึงสังคมนิยมของคาร์ล มาร์กซ์ และลัทธิมาร์กซ์-เลนิน รวมถึงลัทธิสังคมนิยมของโปลานยี ล้วนมีจุดร่วมสำคัญที่สุดประการหนึ่งคือความเชื่อที่ว่า มนุษย์ปัจเจกชนไม่มีธรรมชาติดั้งเดิมตายตัว แต่ธรรมชาติของปัจเจกชนนั้นก่อรูป ขึ้นภายใต้บริบททางสถาบันเศรษฐกิจสังคมที่แน่นอน นัยของความเชื่อนี้ก็คือ มนุษย์ ปัจเจกชนในแต่ละยุคสมัยมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบททางเศรษฐกิจสังคมของยุคประวัติศาสตร์นั้นๆ และนี่ก็เป็นข้อคิดพื้นฐานในงาน The Great Transformationของโปลานยีด้วย
นัยหนึ่ง ในอดีตกาล มนุษย์ปัจเจกชนไม่ได้เป็น “มนุษย์เศรษฐกิจ” ที่คิดคำนวณต้นทุน-ผลได้เพื่อบรรลุประโยชน์ส่วนตนที่เป็นเสพสุขนิยม เพราะมนุษย์ในอดีตมีวิวัฒนาการขึ้นมาในบริบทสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ทุนนิยม ส่วนมนุษย์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันก็เป็น “ผลิตผลโดยตรงของระบอบเศรษฐกิจสังคมทุนนิยม” โดยเฉพาะ นี่ยังเป็นข้อโต้แย้งของบรรดานักลัทธิสังคมนิยมที่ใช้ตอบโต้ข้อกล่าวหาที่ว่า “ลัทธิสังคมนิยมนั้นฝืนธรรมชาติของปัจเจกชน (ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน)” เพราะพวกเขาจะตอบว่า “ปัจเจกชนไม่ได้มีธรรมชาติตายตัว”
แต่ความเชื่อข้างต้นนี้มีนัยทางการเมืองที่ก่อให้เกิดการถกเถียงสำคัญ เพราะก้าวต่อไปของตรรกะความเชื่อดังกล่าวก็คือ ในเมื่อปัจเจกชนไม่มีธรรมชาติดั้งเดิมตายตัว และธรรมชาติของปัจเจกชนแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคม ก็หมายความว่าเราสามารถ “เปลี่ยนธรรมชาติของมนุษย์ปัจเจกชนได้ด้วยการเปลี่ยนเงื่อนไขแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมของเขา” นัยหนึ่ง เราอาจจะสร้าง เงื่อนไขแวดล้อมทางสังคมที่ไม่ใช่ทุนนิยม แต่เป็นเงื่อนไขที่เอื้อให้มนุษย์ปัจเจกชนพัฒนาเติบโตขึ้นมาเป็นปัจเจกชนที่ “ไม่ใช่มนุษย์เศรษฐกิจที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน” ได้ การกระโดดทางตรรกะนี้แหละที่เป็นพื้นฐานของลัทธิสังคมนิยมทุกสำนักที่เชื่อว่าเราสามารถยกเลิกความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจสังคมของทุนนิยม (ที่เป็นเงื่อนไขของมนุษย์ ปัจเจกชนที่มีพฤติกรรมคำนวณต้นทุน-ผลได้เพื่อมุ่งสนองประโยชน์สูงสุดส่วนตน) แล้ว แทนที่ด้วยความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจสังคมแบบอื่นๆ ที่ “ก้าวหน้ากว่า” (ที่เป็นเงื่อนไขเอื้อต่อมนุษย์ปัจเจกชนที่มิได้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดส่วนตนเป็นอันดับแรก หากแต่เป็นปัจเจกชนที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของสิ่งที่เหนือปัจเจกชน เช่น ชุมชน สังคม รัฐ ฯลฯ รวมทั้งมีพฤติกรรมที่สนองประโยชน์ของสิ่งที่เหนือปัจเจกชนนั้นก่อนประโยชน์ส่วนตน) ได้
ความเชื่อเช่นนี้นำไปสู่มาตรการ “ปฏิรูปมนุษย์” ในหลากรูปหลายแบบ ตั้งแต่ข้อเสนอของเพลโตในงานเรื่อง Republic ที่ให้แยกประชากรเยาวชนออกไปเพื่อรับการศึกษาหล่อหลอมจากรัฐให้พ้นจากอิทธิพลอันเสื่อมทรามของบุพการี จนถึงข้อเสนอโดยพวกชุมชนสังคมนิยมยูโทเปียยุคแรกที่ให้จำกัดความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ให้เด็กอยู่ในการอบรมเลี้ยงดูของ “ชุมชน” ในสถานอนุบาลเพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็น “มนุษย์สังคมนิยม” และได้ทดลองปฏิบัติกันโดยสมัครใจในชุมชนสังคมนิยมทดลอง ตอนต้นศตวรรษที่ 19 รวมถึงสถานอนุบาลรวมหมู่ในชุมชนสังคมนิยมคิบบุตส์ของชาวอิสราเอลจากทศวรรษ 1930 ถึงทศวรรษ 1990 แม้กระทั่งการปฏิบัติอย่างสุดโต่งของระบอบการเมืองเผด็จการเบ็ดเสร็จที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนโดยตรง เช่น ระบอบเผด็จการนาซี ระบอบสังคมนิยมโซเวียตและสังคมนิยมจีน เป็นต้น ซึ่งพรรคหรือรัฐปวารณาตนเป็นผู้กำหนด “มาตรฐานความเป็นพลเมืองในอุดมคติ” ผ่านกลไกการควบคุมความคิด (การศึกษาโดยรัฐ สื่อสารมวลชน การควบคุมหรือข้อห้ามทางศาสนา) และมาตรการบังคับต่างๆ โดยรัฐเป็นเงื่อนไขแวดล้อมเพื่อให้ประชากรปฏิรูปตามแนวทางที่กำหนด เปลี่ยนจาก “มนุษย์เศรษฐกิจที่เห็นแก่ตัว” ไปบรรลุความเป็น “มนุษย์สมบูรณ์” อันประเสริฐที่คำนึงถึงแต่สิ่งที่อยู่เหนือปัจเจกชน (ผู้นำ ชุมชน รัฐ พรรค การปฏิวัติ ฯลฯ) ในที่สุด
นักเสรีนิยมจึงมักจะปฏิเสธแนวคิดที่เชื่อว่าธรรมชาติของปัจเจกชนขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และหวาดระแวงลัทธิทางการเมืองที่มุ่งเปลี่ยนธรรมชาติมนุษย์ เพราะหากเดินตามตรรกะของแนวคิดดังกล่าวจนถึงที่สุด ก็จะนำไปสู่ “โครงการปรับปรุงธรรมชาติของปัจเจกชน” ซึ่งอาจดำเนินไปด้วยทั้งการหว่านล้อมจูงใจและสมัครใจดังเช่นที่พวกนักลัทธิสังคมนิยมปฏิรูปพยายามทำ หรือด้วยการใช้อำนาจที่เหนือกว่าปัจเจกชน ซึ่งปูทางไปสู่ระบอบการเมืองสังคมแบบอำนาจนิยมที่ยกเอาสิ่งนามธรรมที่ยิ่งใหญ่ (รัฐ ชุมชน ฯลฯ) ให้อยู่เหนือปัจเจกชนได้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ได้อ่านงาน The Great Transformationของโปลานยี จึงมีเพียงปฏิเสธโปลานยีจากแง่มุมของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและวิชาเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ที่ยึดถือ “มนุษย์เศรษฐกิจ” เป็นฐานเท่านั้น แต่ยังปฏิเสธจากแง่มุมที่มีนัยทางการเมืองอีกด้วย
แน่นอนว่าผู้ที่สนับสนุนโปลานยีและนักลัทธิสังคมนิยมส่วนใหญ่ปฏิเสธข้อวิพากษ์เหล่านี้จากพวกเสรีนิยม และพวกเขาก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าพวกเสรีนิยมในการแสดงความรังเกียจและประณามระบอบการเมืองแบบเบ็ดเสร็จที่อ้าง “สังคมนิยม” ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน แต่ถึงกระนั้น ข้อคิดทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ นัยทางตรรกะและทางการเมืองว่าด้วยธรรมชาติของปัจเจกชนใน The Great Transformationของโปลานยี ตลอดจนแนวคิดปรัชญาพื้นฐานของลัทธิสังคมนิยมโดยรวม ก็ยังคงเป็น ประเด็นถกเถียงและเป็นเป้าของการวิพากษ์จากผู้ที่อยู่คนละฟากฝั่งทางวิชาการและทางการเมืองต่อไป
พิชิต ลิขิตกิตสมบูรณ์
[1] Douglass North, “Markets and Other Allocation Systems in History: The Challenge of Karl Polanyi, Journal of European Economic History 6, 3 (1977)
ด้วยตระหนักว่ารากฐานภูมิปัญญาที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคมได้อย่างแท้จริงนั้นควรต้องงอกเงยสั่งสมจากประสบการณ์ในสังคมของเราเอง กระนั้นก็ตามในยุคสมัยที่สังคมไทยต้องมีปฏิสัมพันธ์กับประชาคมโลกอย่างแนบแน่นและรอบด้านนั้น การศึกษาทำความเข้าใจภูมิปัญญาจากภายนอกอย่างถึงรากเป็นสิ่งที่มิอาจละเลยได้เช่นกัน ตรงกันข้าม การเพิกเฉยที่จะศึกษารากของภูมิปัญญาดังกล่าว แต่กลับนำเข้าองค์ความรู้จากภายนอกมาใช้อย่างหยาบง่ายด้วยมิจฉาทิฐิต่างหากที่เป็นอันตรายต่อสังคมไทย การศึกษารากฐานภูมิปัญญาที่มีอิทธิพลสำคัญต่อโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของสังคมไทยในสังคมโลกปัจจุบันที่มีพลวัตซับซ้อนตลอดเวลา
ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว การคัดเลือกหนังสือทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ที่ถือเป็นรากฐานความคิดทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นำมาแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย เพื่อให้คนไทยมีโอกาสอ่านหนังสือเล่มสำคัญของโลก จึงเป็นภารกิจหนึ่งของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันมาตั้งแต่เริ่มต้น
The Great Transformation: The Political and Economic Origins of Our Timeโดย Karl Polanyi ที่ปรากฏในบรรณพิภพตั้งแต่ปี 1944 นับว่าเป็น หนังสือเล่มสำคัญที่พยายามทำความเข้าใจโลกสมัยใหม่ภายหลังการขึ้นมาของระบบตลาดนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงมีความสำคัญในแง่การวิพากษ์เศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่สมาทานแนวคิดตลาดเสรีของอดัมสมิธ (Adam Smith) อย่างถึงแก่น จนนำไปสู่การถกเถียงแลกเปลี่ยน และสร้างสำนักเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ (New Institutional Economics) ในทศวรรษ 1980 เท่านั้น แต่ยังเป็นหนังสือเล่มสำคัญที่ “ต้องอ่าน” ในสาขาวิชาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯลฯ ด้วยเช่นกัน
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้รับเกียรติจากคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลมากฝีมือที่ได้มอบต้นฉบับแปลหนังสือเล่มนี้ภายใต้ชื่อ เมื่อโลกพลิกผัน : การปฏิวัติ อุตสาหกรรม จุดกำเนิดการเมืองและเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ให้จัดพิมพ์ คุณภัควดีไม่เพียงใช้ความอุตสาหะในการแปลหนังสือเล่มนี้ แต่ยังได้ทำเชิงอรรถผู้แปลเพื่ออธิบายเพิ่มเติมสำหรับผู้อ่านภาษาไทยได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ยุโรป นอกจากนั้น ในระหว่างการบรรณาธิการต้นฉบับ ทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันยังได้รับความช่วยเหลือจากมิตรสหายหลายท่านในการไขข้อข้องใจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจารย์นภนต์ ภุมมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ช่วยตรวจต้นฉบับบทที่ 16 รวมทั้งอาจารย์พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้เขียนคำนำเสนอที่ไม่เพียง แนะนำความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ แต่ยังชี้ให้เห็นข้อถกเถียงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
อนึ่ง หนังสือเล่มนี้มีทั้งเชิงอรรถของผู้เขียน ผู้แปล และกองบรรณาธิการ เชิงอรรถของผู้เขียนใช้เลขโรมัน ส่วนเชิงอรรถของผู้แปลและกองบรรณาธิการใช้เลขอารบิก