ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา–ซุ้มประตู “วชิรสถิต 72 พรรษา” บริเวณสะพานดำรงสถิต และซุ้มประตู “วชิรธำรง 72 พรรษา” บริเวณห้าแยกหมอมี สัมพันธวงศ์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2568
ฟ้าเดียวกันชวนผู้อ่านย้อนรอยประวัติความเป็นมาของการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ผ่านหนังสือ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง: การก่อร่างภาพลักษณ์สมัยใหม่ของสถาบันกษัตริย์สยาม(2566) โดย เมาริตซิโอ เปเลจจี
เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จนิวัตพระนครหลังสิ้นสุดการประพาสยุโรปครั้งที่ 2 (2450) ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองต้อนรับพระองค์อย่างยิ่งใหญ่ ชาวพระนครในสมัยนั้นต่างตื่นตาตื่นใจไปกับสิ่งปลูกสร้างใหญ่โตโอฬารและมหรสพอันมลังเมลือง หนึ่งในนั้นคือซุ้มประตูชัย 9 ซุ้มที่จัดสร้างประดับตลอดแนวถนนราชดำเนินเพื่อรับเสด็จกระบวนยาตรา [อนึ่ง ภาพความโอฬารของซุ้มประตูชัยทั้งเก้าอันได้แก่ ซุ้มกรมยุทธนาธิการ, ซุ้มกระทรวงกลาโหม, มหาดไทย, ยุติธรรม, นครบาล, ธรรมการ, เกษตราธิการ, พระคลัง และโยธาธิการ ได้จัดพิมพ์เป็นโปสการ์ดแนบไปกับหนังสือเล่มนี้แล้ว]
ตามธรรมเนียมพิธีต้อนรับกระบวนยาตราที่ยึดต้นแบบมาจากยุโรปนั้น ซุ้มประตูชัยเป็นหัวใจของการเคลื่อนกระบวนยาตรา โดยเฉพาะรูปปั้น ตราสัญลักษณ์ จารึกข้อความ ฯลฯ ซึ่งล้วนมีนัยสำคัญในการส่งสารทางการเมืองทั้งสิ้น การที่ซุ้มประตูทั้งเก้าในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏตราสัญลักษณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาและราชสำนัก เช่น ชฎา ฉัตร จักร-ตรี อย่างเด่นชัด จึงดูราวกับว่าซุ้มเหล่านี้ทำหน้าที่สร้างภูมิทัศน์ของโลกในภพภูมิอื่นขึ้นบนถนนราชดำเนินซึ่งทอดยาวไปเกือบทั้งสาย
“คงมีเพียงความหรูหราฟู่ฟ่าของซุ้มประตูชัย กองทหารในเครื่องแบบที่ตั้งขบวนตามแนวถนนราชดำเนิน และแสงไฟสว่างไสวยามค่ำคืนเท่านั้นที่ถ่ายทอดสารไปยังมวลมหาชนให้สำเหนียกถึง ‘การดำเนินของความเจริญทั้งปวง ซึ่งเป็นอาการที่เห็นเป็นสำคัญในกาลสมัยที่เราทั้งหลายได้มามีชีวิตอยู่บัดนี้’” (น. 207)
เปเลจจีพรรณนาอย่างละเอียดถึงมหรสพที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองนี้ ทำให้เราตระหนักถึงความสำเร็จอันสูงสุดของรัชกาลที่ 5 ที่สามารถเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการก่อร่างต่อหน้าสาธารณชนที่ยังไม่คุ้นเคยกับความเป็นสมัยใหม่ ดังที่เขาบอกว่า พระราชพิธีที่มุ่งหมายสร้างความประทับใจแก่เหล่าทวยราษฎร์ผ่านการสำแดงความมั่งคั่งและก้าวหน้าของสยามนั้น มีลักษณะคล้าย “พิธีกรรมยิ่งใหญ่ชนิดใหม่ๆ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสรรเสริญตนเอง” ที่เฟื่องฟูในยุโรปช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19
น่าสนใจว่า ผ่านมากว่าศตวรรษ พระราชพิธีต่างๆ ที่มีการรื้อฟื้นขึ้นในรัชสมัยปัจจุบันและได้รับการต้อนรับจากสายตาสาธารณชนและชาวต่างชาติ กำลังผลิตความหมายใดในห้วงสมัยเปลี่ยนผ่าน รวมถึงซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติก็เช่นกัน กำลังทำหน้าที่ใดในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง