นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง

ลดราคา!

฿360.00฿450.00


รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำปรารภผู้เขียน

บทที่ 1 บทเริ่มต้น

บทที่ 2 อำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย

บทที่ 3 อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

บทที่ 4 พระราชอำนาจวีโต้ร่างกฎหมาย

บทที่ 5 การสืบราชสมบัติภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

บทที่ 6 จากองคมนตรีสู่สภาที่ปรึกษาในพระองค์จำแลง

บทที่ 7 ในฐานะประมุขแห่งกองทัพ

บทีที่ 8 การประกอบสร้างระบอบ “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในรัฐธรรมนูญไทย

บทส่งท้าย ฤาเปลี่ยนผ่านสู่ปฐมบทแห่งยุค “หลังระบอบประชาธิปไตย” อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ภาคผนวก องค์กรและกระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ถึง พ.ศ.2550

ประวัติผู้เขียน

บรรณานุกรม

ดรรชนี

ดรรชนีบุคคล

อ่านต่อ >>

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

ประกาศคณะราษฎร,

24 มิถุนายน 2475

ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แทบจะไม่มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์ในทางสาธารณะเพราะว่าพระมหากษัตริย์เป็นทั้งเทวราชา และเจ้าชีวิต คงมีแต่ข้อขัดแย้งว่าใครคนไหน หรือราชวงศ์ใดมีความชอบธรรมที่จะครองราชย์ การปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 จึงถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญที่ขีดเส้นแบ่งสถานะของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย เพราะว่าการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตอบรับคณะราษฎรมาเป็น “พระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” หมายความว่าหลังจากนั้นในทางนิตินัยพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนอำนาจจะมากหรือน้อยเพียงใดก็แล้วแต่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติ

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามในมาตรา 7 ระบุว่า “การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้น เป็นโมฆะ” ซึ่งหลักการนี้เป็นเช่นเดียวกับนานาอารยะประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย คือหลัก The King Can Do No Wrong

นับตั้งแต่การปฏิวัติสยาม 2475 มาจนถึงปัจจุบัน (2561) ผ่านมา 86 ปี เรามีรัฐธรรมนูญแล้ว 20 ฉบับ ซึ่งมีการกำหนดบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ในฐานะสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในช่วงนั้นๆ ไม่ต่างจากรัฐสภา ครม. รูปแบบการเลือกตั้ง ฯลฯ

อย่างที่ทราบคือรัฐบาลคณะราษฎรนั้นสิ้นสุดลงเมื่อมีปฏิบัติการ “คว่ำปฏิวัติ–โค่นคณะราษฎร” โดยการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 แล้วแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญ 2490 หลังจากนั้น เราจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มากมายในทางที่จะเพิ่ม/ขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ เริ่มจากการตีความอำนาจอธิปไตยใหม่, สถานะอันล่วงละเมิดมิได้, พระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย, การสืบราชสมบัติ ตลอดจนประดิษฐกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอตลอด 15 ปีแรกหลังปฏิวัติสยาม เช่น อภิรัฐมนตรี (ซึ่งต่อมาได้ปรับโฉมเป็นคณะองคมนตรี) เป็นต้น

นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง : ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2550 ผลงานของสมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งเป็นหนังสือเล่มที่ 3 ของชุดกษัตริย์ศึกษา สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ไม่เพียงแต่เข้าไป “อ่าน” รายงานการประชุมสภา/กรรมาธิการ เพื่อให้เห็นการอภิปรายและไม่อภิปรายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ตลอดเวลา 75 ปี (2475-2550) สมชายยังชี้ให้เห็นถึงการต่อสู้ทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาจากตั้งแต่การปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 มาจนถึงปัจจุบัน และถึงแม้ว่าการศึกษาของหนังสือเล่มนี้จะจบที่รัฐธรรมนูญ 2550 แต่โดยทิศทางแล้วก็จะเห็นว่าไม่แปลกที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ประกอบพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญและประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 จะมีเนื้อหาออกมาดังที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน

สุดท้ายเรายังยืนยันว่า หากเราจะเข้าใจสังคมไทย เราคงละเลยไม่ได้ที่จะต้องศึกษาบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และนี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งในการจัดทำหนังสือชุดกษัตริย์ศึกษาและตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้

อ่านต่อ >>

ท่านไปดูกฎหมายเดี๋ยวนี้ กฎหมายไทยซึ่งแปลกที่สุดในโลกเหมือนกัน ลูกฟ้องพ่อไม่ได้ฟ้องแม่ไม่ได้ กฎหมายบอกไว้อย่างนี้ ท่านจะทำได้ท่านต้องไปหาอัยการบอกว่าบิดามารดาท่านข่มเหง ถ้าไปหาอัยการๆ ฟ้องให้ท่านก็ได้ ไม่ฟ้องก็ได้ นั่นเสมอกับคนอื่นหรือไม่ ทีนี้พระมหากษัตริย์เป็นใคร พระมหากษัตริย์เป็นพ่อของคน 18 ล้านคน เรายอมให้คน 18 ล้านคน เป็นลูกฟ้องพ่อหรืออย่างไร[1]

หลวงประกอบนิติสาร

สมาชิกวุฒิสภาและสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ท่านบอกว่า พระมหากษัตริย์เปรียบเหมือนบิดาของคนทั้ง 18 ล้าน ถ้าหากว่าคำพูดเช่นนี้ ถ้าพูดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงก็พอสมควรอยู่ แต่ถ้าหากว่ามาใช้ในสภาระบอบประชาธิปไตยแล้วนั้น ข้าพเจ้าขอคัดค้าน พระมหากษัตริย์เราจะถือว่าเป็นพ่อบ้านพ่อเมืองเป็นพ่อของประชาชน 18 ล้าน ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยและโดยเฉพาะถ้าเป็นพ่อข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าไม่ยอม[2]

เสรี อิศรางกูร ณ อยุธยา

ส.ส. บุรีรัมย์

งานชิ้นนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสความสนใจที่มีต่อการถกเถียงเกี่ยวกับสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางภายในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง ดังปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่ช่วงปลายของทศวรรษ 2540 สืบเนื่องต่อมาจนกระทั่งถึงการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557

อันที่จริงการจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์ลงในระบอบประชาธิปไตยเป็นปมประเด็นถกเถียงที่เกิดขึ้นนับจากภายหลังการอภิวัฒน์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 เนื่องจากภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในทางการเมืองโดยปราศจากบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจ แต่เมื่อต้องเปลี่ยนผ่านมาอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยซึ่งยึดถือเอารัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุด ย่อมทำให้เกิดปัญหาว่าจะจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ในระบอบการเมืองใหม่อย่างไร เพื่อให้สถาบันที่ดำรงอยู่มาก่อนระบอบประชาธิปไตยสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้โดยที่ไม่กระทบถึงหลักการพื้นฐานของระบอบใหม่นี้ ซึ่งปมประเด็นดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นปมเงื่อนสำคัญที่ดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่องในท่ามกลางความผันผวนของรัฐธรรมนูญไทย

ดังจะพบว่าการจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญนับตั้งแต่เริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยและสืบเนื่องต่อมาในภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดสถานะของพระมหากษัตริย์ที่ผันแปรไปอย่างสำคัญในหลากหลายแง่มุม จึงอาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่ยังไม่สามารถตกผลึกในสังคมการเมืองของไทยได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางการโต้แย้งถึงตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดำเนินมา จะเห็นถึงการให้เหตุผลอันหลากหลายของผู้คนแต่ละฝ่ายที่ต่างหยิบฉวยมาปรับใช้เพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของตนและการโต้แย้งต่อทรรศนะของฝ่ายที่แตกต่างออกไป ทั้งในแง่ของการนำเข้าหรือดัดแปลงแนวความคิดจากตะวันตกมาเป็นบรรทัดฐานในการให้คำอธิบาย หรืออาจเป็นการอ้างอิงถึงลักษณะเฉพาะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเพื่อเป็นพื้นฐานของการกำหนดบทบาทและจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์กับสถาบันการเมืองอื่นๆ

ในการทำความเข้าใจต่อข้อถกเถียงดังกล่าว ทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสทบทวนแนวความคิด การอภิปราย และทรรศนะที่เกิดขึ้นในงานวิชาการจำนวนมาก นอกจากนั้นก็มีโอกาสอ่านรายงานการประชุมขององค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญบางฉบับ ทั้งนี้ เนื้อหาหลายส่วนได้สร้างความอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ประเด็นของการถกเถียงและถ้อยคำที่ผู้อภิปรายได้กล่าวไว้ในที่ประชุม ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่าการศึกษาถึงข้อถกเถียงในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในองค์กรที่จะต้องทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่การอภิวัฒน์เมื่อ พ.ศ. 2475 สืบเนื่องมากระทั่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจถึงสถานะ ความหมาย และความคิดที่ดำรงอยู่ในบทบัญญัติของหมวดพระมหากษัตริย์ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับซึ่งได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญคือความเข้าใจของกลุ่มบุคคลที่มีหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบต่อรัฐธรรมนูญในแต่ละช่วงเวลาที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

งานชิ้นนี้จึงไม่ได้ต้องการมุ่งเน้นที่จะยืนยันหรือโต้แย้งว่าการให้ความเห็นในแนวทางใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องและความเห็นแบบใดเป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อนไปจากคำอธิบายในทางวิชาการ แต่ต้องการแสดงให้เห็นถึงการถกเถียงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะเช่นใดบ้าง อันจะช่วยทำให้ตระหนักได้ว่า แม้หลักการทางกฎหมายจะมีความสำคัญต่อการบัญญัติเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาความผันแปรของบทบัญญัติในหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ รวมไปถึงข้อถกเถียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมก็ไม่อาจปฏิเสธถึงความเป็น “การเมือง” ในบทบัญญัติเหล่านี้ได้ หรือแม้กระทั่งอาจกล่าวได้ว่า พลังอำนาจของอุดมการณ์หรือแนวคิดทางการเมืองแห่งยุคสมัยมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าหลักวิชาในการจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญของไทย

งานชิ้นนี้เกิดขึ้นภายหลังจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แม้คนจำนวนหนึ่งจะมองว่าเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเดินไปสู่ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” แต่ข้าพเจ้ากลับมีความเห็นไปในทิศทางตรงกันข้ามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเสรีภาพของการแสดงความเห็นซึ่งถูกคุกคามอย่างไพศาล แม้ผู้เขียนจะมีความใฝ่ฝันต่อการสร้างสังคมที่ต้องตระหนักถึงเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างเสรี แต่พร้อมกันก็มีภาระหน้าที่ ความวิตกกังวล และความหวาดกลัวเฉกเช่นปุถุชนทั่วไป จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีปมประเด็นในบางแง่มุมที่ไม่อาจกล่าวอย่างตรงไปตรงมาได้

ขอขอบคุณคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ให้ทุนสนับสนุนต่อการทำงานวิจัยชิ้นนี้ในห้วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับการทำงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับปมประเด็นทางการเมืองอยู่ไม่น้อย

 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ในยามที่พายุพัดกระหน่ำสังคมไทย

บ้านน้ำจำ เชียงใหม่

 

[1] รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 14 พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช 2492 วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พุทธศักราช 2492 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, 155.

[2] เรื่องเดียวกัน, 175.

อ่านต่อ >>