Sale 10%

การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475

ปกแข็ง 495.00 บาทปกอ่อน 360.00 บาท

รหัส: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

ผู้เขียน

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

จำนวนหน้า

544

ปีที่พิมพ์

2553

ISBN ปกอ่อน

9786169023852

ISBN ปกแข็ง

9786169023869

สารบัญ

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

คำนำผู้เขียนในการพิมพ์ครั้งแรก

คำนำผู้เขียนในการพิมพ์ครั้งที่ 2

คำนำผู้เขียนในการปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ 3

บทที่ 1 ความคิด กลุ่มสังคม และกระบวนการทางประวัติศาสตร์ของสยามใหม่

ภาคที่ 1 การเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาของกลุ่มสังคมต่างๆ ของสยามในทศวรรษ 2470

บทที่ 2 วัฒนธรรม ความคิด และการปรับตัวของกลุ่มเจ้านาย

บทที่ 3 วัฒนธรรมข้าราชการกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง

บทที่ 4 ความนึกคิดทางสังคมการเมืองของคนชั้นกลางในเขตเมืองหลวง

บทที่ 5 ความนึกคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจของราษฎร

บทที่ 6 อุดมคติและอุดมการณ์ของกลุ่มผู้นำทางความคิดในสมัยการปฏิวัติ

ภาคที่ 2 การปรับตัวของสถาบันการเมือง กระบวนการปฏิวัติ และผลสืบเนื่อง

บทที่ 7 การปรับตัวของสถาบันการเมืองในช่วงปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

บทที่ 8 การยึดอำนาจวันที่ 24 มิถุนายนกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงหนึ่งปีแรก

บทที่ 9 ความขัดแย้งทางความคิดกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงปีที่สอง

บทที่ 10 ภูมิปัญญากับสถาบันการเมืองของรัฐประชาชาติสยามในปลายทศวรรษ 2470

บทสรุปการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

ภาคผนวก

ภาคผนวก ก : ลำดับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในทศวรรษ 2470

ภาคผนวก ข : นามานุกรมรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา(เรียงตามลำดับตัวอักษร) ภาคผนวก ค : รายนามสมาชิกคณะราษฎรจำนวน 115 คน

บรรณานุกรม

ที่มาภาพ

ดรรชนี

คำนำสำนักพิมพ์

สำหรับงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยในรูปของงานวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเริ่มผลิตขึ้นในทศวรรษ 2510 นั้น ถูกครอบงำด้วยแนวคิด “ชิงสุกก่อนห่าม” ที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นการกระทำของนักเรียนนอกและทหารเพียงหยิบมือเดียวในนาม “คณะราษฎร” และผลของเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ “ระบอบประชาธิปไตย” ที่ตระเตรียมไว้อย่างค่อยเป็นค่อยไป มาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 (ปฏิรูประบบราชการ) รัชกาลที่ 6 (ตั้งดุสิตธานีเพื่อเรียนรู้ประชาธิปไตย) จนกระทั่งรัชกาลที่ 7 (เตรียมการพระราชทานรัฐธรรมนูญ) สะดุดลง ไม่เพียงแต่เท่านั้น ผลจากการ “ชิงสุกก่อนห่าม” ยังก่อให้เกิด “วงจรอุบาทว์ทางการเมือง” ซึ่งกลายเป็นปัญหาเรื้อรังมาเป็นเวลามากกว่า 7 ทศวรรษ

แนวความคิดดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่เกิดขึ้นท่ามกลางการฟื้นตัวและการเคลื่อนไหวของฝ่ายนิยมเจ้า โดยเฉพาะนับตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ชัยชนะของคณะเจ้าต่อคณะราษฎรสามารถแลเห็นได้เด่นชัดจากการสถาปนาให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลายเป็น “กษัตริย์นักประชาธิปไตย” ผ่านการตัดตอนพระราชหัตถเลขาสละราชย์ที่พระองค์ใช้ในการต่อรองกับคณะราษฎร ความว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

เราอาจจัดประเภทงานวิชาการที่อยู่บนฐานคิดดังกล่าวโดยรวมได้ว่า งาน “ปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475” ซึ่งยังคงดำรงฐานะครอบงำงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยและความรู้สึกนึกคิดทางการเมืองกระแสหลักของสังคมมาจนทุกวันนี้

ใช่เพียงลำพังงานประวัติศาสตร์นิพนธ์เอียงขวาเท่านั้นที่ลดทอนสถานะของ 24 มิถุนายน 2475 ลงในอีกขั้วตรงข้าม งานประวัติศาสตร์นิพนธ์เอียงซ้ายภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ประเมินการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรว่า เป็นแค่การ “รัฐประหาร” มิใช่การ “ปฏิวัติ”

กว่าที่งานวิชาการ “ปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475” และแนวการวิเคราะห์ของขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยจะถูกท้าทายก็ล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 2520 เริ่มจากผลงานของทรงชัย ณ ยะลา เรื่อง “ปัญหาการศึกษาวิถีการผลิตของไทยอันเนื่องมาจากทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้น กิ่งศักดินา” (2524)

หนึ่งปีถัดมา บทความเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม 2475 : พรมแดนแห่งความรู้” ของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ซึ่งขณะนั้นกำลังศึกษาด้านประวัติศาสตร์ในระดับปริญญาโทที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปรากฏสู่โลกวิชาการ ในบทความชิ้นดังกล่าว นครินทร์ได้สำรวจเข้าไปในพรมแดนความรู้ (และความไม่รู้) ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้จะเป็นเพียงงานปริทัศน์ แต่นครินทร์ได้ตระหนักว่า ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์จำต้องคิดให้หนักว่าจะทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 “เพื่อตอกย้ำความรู้เก่าๆ หรือประมวลความรู้ความเข้าใจที่วางอยู่บนข้อเท็จจริงอันเป็นประสบการณ์ในชีวิตของผู้คนอย่างกว้างขวาง”

หลังจากนั้น นครินทร์ก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในปี 2527 ด้วย วิทยานิพนธ์เรื่อง “ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของการเปลี่ยนระบอบการปกครองสยาม ระหว่าง พ.ศ. 2470-2480” ซึ่งได้รับเลือกเป็นวิทยานิพนธ์ระดับดีมาก เขาผลิตงานศึกษาเกี่ยวกับการปฏิวัติสยามต่อมาอีกเป็นจำนวนมาก และรวมตีพิมพ์ในความคิด ความรู้ และ อำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 (2533)

หนังสือเรื่อง การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ปรากฏสู่บรรณพิภพครั้งแรกในปี 2535 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 60 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง งานชิ้นนี้ถือเป็นการสรุปรวบยอดทางความคิดเกี่ยวกับ “การปฏิวัติสยาม” ของนครินทร์ก็ว่าได้ ไม่เพียงแต่ก้าวข้ามความคิด “ชิงสุกก่อนห่าม” เท่านั้น งานชิ้นนี้ยังอธิบายให้เห็นถึง “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์” ที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุปัจจัยแวดล้อมในมิติต่างๆ

นับจากปี 2535 การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ตีพิมพ์มาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งมาถึง ณ วันนี้งานของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ยังคงถือเป็นงานวิชาการมาตรฐานที่โดดเด่นสำหรับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สำหรับการจัดพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้เขียนและสำนักพิมพ์ได้ทำการแก้ไขปรับปรุงต้นฉบับเดิมให้ถูกต้องสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นอีกครั้ง

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันมีความภูมิใจที่ได้รับเกียรติให้จัดพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญเล่มนี้ และหนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในโครงการหนังสือชุด “สยามพากษ์” ซึ่งเราได้คัดเลือกหนังสือที่เห็นว่ามีความสำคัญในการศึกษาทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทยในยุคสมัยนั้นๆ ขณะเดียวกันจุดร่วมของหนังสือชุดนี้คือการท้าทาย/หักล้าง งานศึกษาก่อนหน้านั้นด้วยข้อมูลและ/หรือกรอบทฤษฎี แน่นอนว่าไม่มีงานวิชาการชิ้นไหนที่ปราศจากจุดอ่อนให้วิพากษ์หักล้าง ไม่เว้นแม้แต่งานที่เราได้คัดสรรมาจัดพิมพ์ แต่เราเชื่อว่าหนังสือชุด “สยามพากษ์” นี้เป็นงานที่ “ต้องอ่าน” ไม่ว่าจะเห็นพ้องต้องกันด้วยหรือไม่ก็ตาม

 

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

มีนาคม พ.ศ. 2553

คำนำผู้เขียนในการปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ 3

ผู้เขียนรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจเป็นอย่างยิ่งที่หนังสือ การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เล่มนี้ จะได้รับการพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่ 5 โดยที่ทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้แสดงความประสงค์ที่จะจัดพิมพ์ขึ้นในรูปลักษณ์ใหม่ที่มีขนาดเล็กและเหมาะสม เพื่อที่จะได้จัดวางจำหน่ายและคาดหวังว่าคงจะมีการเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวางเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

นับจากที่หนังสือเล่มนี้ได้ถูกจัดพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2535 ผู้เขียนได้ทำการแก้ไขครั้งใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นการปรับปรุงแก้ไขรวม 3 ครั้ง โดยได้เพิ่มเติมภาค ผนวกที่สำคัญลงไปในการจัดพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2540 หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผู้เขียนเองก็มิได้ปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มเติมอะไรอีกเลยในการจัดพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2543 และครั้งที่ 4 ซึ่งจัดพิมพ์ในปี พ.ศ. 2546

สำหรับในการพิมพ์ครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ. 2553 นี้ ผู้เขียนได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์สุวัสดี โภชน์พันธุ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้กรุณาอ่านและตรวจทานหนังสือต้นฉบับของผู้เขียนอย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งเธอพบว่ามีคำผิดและข้อบกพร่องในภาษาและในคำอธิบายต่างๆ จำนวนหนึ่ง นับรวมกันแล้วประมาณหลายสิบแห่ง ฉะนั้นผู้เขียนจึงได้ทำการปรับปรุง แก้ไขต้นฉบับเสียใหม่ และขอเรียกการพิมพ์ครั้งนี้ว่าเป็นฉบับพิมพ์ใหม่ที่มีการปรับปรุง แก้ไขเป็นครั้งที่ 3

ในอันที่จริง ผู้เขียนได้รับคำแนะนำจากผู้อ่านหลายท่าน ให้เขียนบทสรุปของหนังสือเสียใหม่ เนื่องด้วยกาลเวลานั้นได้เปลี่ยนแปลงไปนานพอสมควรแล้ว อีกทั้งในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา การตีความที่เกี่ยวข้องกับ “การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 นั้น กล่าวได้ว่าได้มีการอธิบายขยายความออกไปอีกพอสมควร

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเองมีความเห็นว่า การตีความเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งกับการรับรู้ ความเข้าใจในแนวความคิดต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจการเมือง ตัวอย่างเช่นความเข้าใจว่าประชาชนคืออะไร และมีความเหมือนหรือแตกต่างกับประชานิยมอย่างไร เป็นต้น อย่างไรก็ดี การตีความทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวและเป็นกิจกรรมที่สามารถโต้เถียงกันได้มากนั้น ในอีกทางหนึ่งคงต้องถูกควบคุม หรือถูกจำกัด หรือถูกกำหนดกรอบของการตีความโดยข้อมูลและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในประการหลังนี้ผู้เขียนกลับมีความเห็นว่า เรื่องราวที่เป็นข้อมูลและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 นั้น ยังไม่ได้มีอะไรที่งอกงามขึ้นมากนักภาย หลังจากที่ผู้เขียนได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นแล้ว

ฉะนั้น ผู้เขียนจึงยังคงมีความประสงค์ที่จะรักษาเนื้อหาต่างๆ ไว้ตามเดิมเกือบทั้งหมด ยกเว้นแต่คำผิดและข้อบกพร่องในเรื่องของการสะกดคำและในการอธิบายความบางตอน ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขใหม่ให้มีความสมบูรณ์ดังได้กล่าวไว้แล้ว

ขอขอบคุณ คุณธนาพล อิ๋วสกุล แห่งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่ได้แสดงความกระตือรือร้นในการจัดพิมพ์หนังสือขึ้นใหม่อย่างสวยงามและประณีต รวมทั้งมิตรภาพ และกัลยาณมิตรทางปัญญา ซึ่งนักคิด นักเขียนและนักประวัติศาสตร์การเมืองรุ่นเยาว์ หลายท่านได้แสดงออกและมีความผูกพันกับผู้เขียนมาเป็นเวลาช้านาน แม้นว่าเราทั้งหลายจะมีการโต้เถียงและมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากในหลายเรื่องหลาย ราวก็ตาม

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

พ.ศ. 2553

ทดลองอ่าน