Sale 50%

รัฐประหาร 19 กันยายน

Original price was: 350.00 บาท.Current price is: 175.00 บาท.

รหัส: 9789749498026 หมวดหมู่:

สารบัญ

บทนำ

ผมไม่มีวันเห็นว่าการรัฐประหารใด ๆ ชอบธรรมเป็นอันขาด

นิธิ เอียวศรีวงศ์

สถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ข้ามไม่พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา: ประชาธิปไตยแบบใสสะอาดของอภิชนกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ธงชัย วินิจจะกูล

“การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือการทำให้พลเมืองกลายเป็นไพร่”

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ภาคผนวก: ว่าด้วยการแทรกแซงการเมืองของ “ชายบนหลังม้า”

S.E. Finer

เขียน รัฐประหาร วาทกรรมปฏิปักษ์ประชาธิปไตยในภูมิความคิดของปัญญาชนไทย

ศิโรตม์คล้ามไพบูลย์

ภาคผนวก: ข้อเสนอต่อรัฐบาลชั่วคราวและเรื่องรัฐธรรมนูญ

ธีรยุทธ บุญมี

การเมืองน้ำเชี่ยว:รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง

เกษม เพ็ญภินันท์

อริสโตเติลกับรัฐประหาร “19 กันยา”

ชัยวัฒน์สถาอานันท์

เฮ้ย…ผมว่าเรียกมันเลยว่า “คณะปฏิกูล”

ธเนศ วงศ์ยานนาวา

หลักนิติรัฐประหาร

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ฐานะทางประวัติศาสตร์ของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ภาคผนวก: ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของการรัฐประหาร รัฐประหารไทยในสายตาสื่อเทศ

ภัควดี วีระภาสพงษ์

ภาคผนวก: คุณมีรัฐธรรมนูญของคุณ เรามีรัฐธรรมนูญของเรา

สัมภาษณ์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

วิเคราะห์ระบอบสนธิ

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

แกะรอยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ออกบัตรเชิญให้คณะรัฐประหาร

ธนาพล อิ๋วสกุล

ภาคผนวก: กันยา 48 – กันยา 49 เส้นทางสู่รัฐประหาร ทำไมพวกเขาถึงไม่ต้านรัฐประหาร

ประวิตร โรจนพฤกษ์

จารึกไว้ในยุคสมัยแห่งการ “รัฐประหาร”

อุเชนทร์ เชียงเสน

ปัญญาชน 14 ตุลา พันธมิตรฯ และแอ็กติวิสต์“2 ไม่เอา”

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

จากรัฐประหาร 19 กันยา ถึงรัฐธรรมนูญ 49: แสงริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์

พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์: เรียบเรียง

บทนำ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่ารัฐประหารส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกครั้งของเมืองไทยล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการแย่งชิงอำนาจด้วยกันทั้งสิ้นไม่อำนาจทางการเมืองก็อำนาจทางเศรษฐกิจ รัฐประหาร 19 กันยา ก็ไม่เป็นข้อยกเว้น ดังจะเห็นร่องรอยของความไม่พอใจในการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร

แต่การที่จะบอกว่าลำพังเพียงความขัดแย้งทางอำนาจ (โดยเฉพาะการโยกย้ายทหาร) นั้นเป็นปัจจัยเดียวหรือปัจจัยหลักในการรัฐประหารครั้งนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ตอบในหลายคำถาม เช่น

ทำไมสังคมการเมืองไทยจึงปล่อยให้รัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกเรียกกันอย่างแพร่หลายว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” กลายเป็นเพียงเศษกระดาษที่ไร้ความหมาย เพียงแค่มีรถถังเคลื่อนออกมา ?

ทำไมผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย จึงสยบยอมต่ออำนาจ “ศักดินาขุนศึก” ยอมแม้กระทั่งการขอ“นายกฯ พระราชทาน” หรือออกบัตรเชิญให้มารัฐประหาร?

ทำไมปัญญาชนไทย ซึ่งควรจะเป็นแนวหน้าในการพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตย จึงกลายมาเป็นทนายแก้ต่างให้อำนาจเผด็จการทหาร?

ทำไมพลังอำมาตยาธิปไตยซึ่งดูเหมือนจะหมดพลังไปอย่างสิ้นเชิงหลังเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 จึงกลับมาอีกครั้งในรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ และพลังเหล่านี้ยังเป็นความหวังของสังคมในการฝ่าวิกฤต?

ทำไมเครื่องแบบทหารที่เคยเป็นเครื่องแบบต้องห้ามหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กลายมาเป็นแฟชั่นยอดฮิต?

ทำไมอาวุธสงครามซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรงจึงกลายมาเป็นเครื่องมือเพื่อระงับความรุนแรง?

ทำไมสถาบันกษัตริย์ซึ่งต้องอยู่ “เหนือ” การเมืองจึงกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญของคณะรัฐประหาร?

……

ในความเห็นของเรา ผลสำเร็จของรัฐประหาร 19 กันยานั้นมีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยชี้นำอุดมการณ์ที่ว่านี้ได้ปรากฏอยู่ตั้งแต่วินาทีแรกของการรัฐประหาร นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ถึงแม้ระบอบที่ว่านี้เป็นเพียง “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” เพราะมันปรากฏครั้งแรกในธรรมนูญการปกครอง 2502 นี่เอง

แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับศัตรูของมัน คือสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทน ระบอบที่ว่านี้เป็นที่รวมของความเลวร้ายทั้งมวล (หลายเรื่องก็เป็นเรื่องจริงหลายเรื่องก็เป็นเรื่องโกหกพกลม ขณะที่อีกหลายเรื่องก็มิใช่เป็นปัญหาอันเกิดจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่คือปัญหาของรัฐไทย)

สำหรับผู้ที่ต้องการล้ม “ระบอบทักษิณ” กลยุทธ์ง่ายๆ แต่ทรงพลังคือการสร้างให้เป็นคู่ตรงข้ามกับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งกระทำผ่านการโฆษณาชวนเชื่อที่นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล และสื่อในเครือผู้จัดการ จนดูประหนึ่งว่าถ้าหากปล่อยให้ “ระบอบทักษิณ” อยู่ต่อแม้แต่วินาทีเดียว ประเทศชาติจะล่มจม ศาสนาจะถูกทำลาย พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันคู่บ้านคู่เมืองของไทยจะกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ และหมดความสำคัญในที่สุด

ชัยชนะของอุดมการณ์นี้ คือการที่สนธิ ลิ้มทองกุล ในฐานะ “ประกาศก” คนสำคัญทำให้แม้แต่ผู้คนที่ไม่เคยเห็นด้วยกับเขาและรัฐบาลทักษิณ ต้องเลือกข้าง เราจึงได้เห็นหลายคนที่เคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางของสนธิ หรือเคยเป็นศัตรูเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น พิภพ ธงไชย เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สุริยะใส กตะศิลา ฯลฯ กลับต้อง สยบยอมกลายมาเป็น “หางเครื่อง” ให้กับสนธิ ด้วยข้อสรุปง่ายๆ คือ “ระบอบทักษิณ” เลวร้ายกว่า

(ผลข้างเคียงของปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ที่วิจารณ์แนวทางของสนธิ ต้องกลายเป็นผู้รับใช้ “ระบอบทักษิณ” ไปเสียทุกราย)

เมื่อ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ได้ชัยชนะทางอุดมการณ์แล้ว เราจึงได้เห็นมันโลดแล่นอยู่ในฐานะเครื่องมือสำคัญในการกำจัด “ระบอบทักษิณ” ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีการ “สนธิกำลัง” ระหว่าง “ฝ่ายบุ๋น” คือ สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้จุด“เทียนแห่งธรรม (ราชา)” กับ “ฝ่ายบู๊” คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. เมื่อปี 2549 นับแต่นั้นเป็นต้นมาเค้าลางของการรัฐประหารก็ก่อตัวขึ้น

ตลอดปี 2549 เราจึงได้เห็นการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้จะมีประเด็นแตกต่างหลากหลายเพียงใดแต่ก็รวมศูนย์ไปสู่การถวายพระราชอำนาจคืน โดยรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดคือการยินยอมพร้อมใจกันขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 เศษกระดาษที่รอชั่งกิโลขาย

จนในที่สุดเมื่อสถานการณ์เกงอม รัฐประหาร 19 กันยาที่เกิดขึ้น โดยความยินยอมพร้อมใจของชนชั้นกลางส่วนใหญ่ในเมือง

แต่กระบวนการรัฐประหารยังไม่เสร็จสิ้น เพราะคณะรัฐประหารยังไม่ได้ออกแบบสถาบันทางการเมืองเพื่อมารองรับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่รัฐธรรมนูญ 2550 (ถ้ามี) ก็จะมีเพื่อการรองรับอุดมการณ์ทางการเมืองดังกล่าว

จากบทสรุปข้างต้น จึงเป็นที่มาของการแสวงหาคำตอบผ่านการจัดทำหนังสือเล่มนี้ รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

กล่าวโดยไม่ต้องอ้อมค้อม เราขอประกาศไว้เลยว่าข้อเขียนที่ปรากฏอยู่ในเล่มนี้ (ยกเว้นภาคผนวก บทความของธีรยุทธ บุญมี และบทสัมภาษณ์ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์) เขียนขึ้นมาด้วยทัศนะของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร (แต่นั้นก็มิใช่ว่า ข้อเขียนทั้งหมดจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ข้อเขียนหลายชิ้นที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ต่างก็วิวาทะกันเองด้วย)

ถึงแม้จะตระหนักว่าวิธีคิดในการทำหนังสือเช่นนี้ย่อมหมิ่นเหม่ต่อการกระทำที่ ผิด “หลักการ” ของสื่อมวลชนที่ดี ซึ่งต้องรักษาความเป็นกลาง, นำเสนอความเห็นของทั้ง 2 ฝ่าย หรือการที่ไม่ตัดสินอะไรด้วยอัตวิสัย

แต่ท่ามกลางสภาวการณ์ที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่ ยอมรับเงื่อนไขของคณะรัฐประหารว่าจะมาเพียง “ชั่วคราว” และเข้ามาชำระล้างความเลวร้ายของ “ระบอบทักษิณ” โดยไม่ตั้งคำถามกับวิธีการได้มาซึ่งอำนาจหรือสิทธิเสรีภาพที่สูญหายด้วยข้ออ้างแบบครอบจักรวาลว่าเพื่อสยบ “คลื่นใต้น้ำ” แล้วทำให้เรายิ่งเห็นถึงความจำเป็นของการทำหนังสือที่ไม่เป็นกลาง นำเสนอด้านเดียว รวมทั้งใช้อัตวิสัยของการไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเป็นธงนำ