เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง

ลดราคา!

฿495.00฿585.00


Back Cover

หมายเหตุ

  • พิเศษเฉพาะปกแข็ง รับฟรีไปรษณียบัตร 9 ภาพ ชุดซุ้มรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 5 บนถนนราชดำเนินหลังประพาสยุโรปครั้งที่ 2 (สินค้ามีจำนวนจำกัด)
  • หนังสือพร้อมจัดส่งวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป หากสั่งซื้อหนังสือเล่มอื่นๆ ด้วย ทางสำนักพิมพ์ขอส่งพร้อมกัน

 

รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำเสนอฉบับภาษาไทย

กิตติกรรมประกาศ

บทนำ สถาบันกษัตริย์กับสภาวะสมัยใหม่

ตอนที่1 วิถีปฏิบัติ

บทที่ 1 วิถีการบริโภค รสนิยม และอัตลักษณ์ของชนชั้นนำสยามที่ปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบสมัยใหม่

บทที่ 2 การนำเสนอและภาพแทนตัวตนของชนชั้นนำราชสำนัก

ตอนที่2 พื้นที่

บทที่ 3 สนามละเล่นชานเมือง

บทที่ 4 สนามแห่งความเรืองโรจน์

ตอนที่3 มหรสพ

บทที่ 5 การปรับรูปโฉมนาฏกรรมแห่งอำนาจ

บทที่ 6 บนเวทีโลก

บทส่งท้าย : สถาบันกษัตริย์กับความทรงจำ

ประวัติผู้เขียน

บรรณานุกรม

ดรรชนี

ปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 ห้วงเวลาที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่ ไม่มีใครคาดคิดว่ากษัตริย์หนุ่มจากประเทศโลกที่สาม—ซึ่งในสายตาชนชั้นนำสยามเวลานั้นยังไร้ซึ่งอำนาจ และในสายตามหาอำนาจก็เป็นแค่เจ้าแผ่นดินแห่ง “แดนสนธยา ป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม” จะได้รับการต้อนรับจากราชสำนักยุโรปเยี่ยงอารยชนชาวตะวันตก นับเป็นความสำเร็จของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้แสวงหาความศิวิไลซ์โดยแท้ ที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของชนชั้นนำราชสำนักสยามให้ทันสมัยทัดเทียมชนชั้นสูงชาวยุโรปถึงขนาดได้รับยกย่องจากสื่อตะวันตกว่าเป็น “กษัตริย์รูปงามที่สุดแห่งเอเชีย”

หากนับจุดเริ่มต้นเมื่อคราวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี 2440 และได้ร่วมโต๊ะเสวยกระยาหารกับสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย กษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกขณะนั้น (ครองราชย์ พ.ศ. 2380–2444) ณ ตำหนักออสบอร์นซึ่งสงวนไว้รับรองอาคันตุกะราชวงศ์ชั้นสูง ก็ต้องนับว่าความอุตสาหะของรัชกาลที่ 5 ไม่สูญเปล่า นับจากนั้นกษัตริย์แห่งสยามสามารถสานสัมพันธ์กับสมาชิกราชวงศ์ยุโรปได้อย่างไม่เคอะเขิน มองจากสายตาเจ้าอาณานิคม ในบรรดากษัตริย์แห่งดินแดนอุษาคเนย์ รัชกาลที่ 5 นับว่าเป็น “มิตรผู้ภักดียิ่ง” ของเจ้าจักรวรรดิ หากมองจากสายตาชนชาวสยาม เจ้าเหนือหัวผู้นี้ทั้งหัวสมัยใหม่ รุ่มรวยด้วยข้าวของหรูหรา สิ่งปลูกสร้างใหญ่โตโอฬาร และเป็นผู้จุดพลุแห่งมหรสพอันมลังเมลืองยิ่งกว่ายุคสมัยใด

กล้องถ่ายรูป ภาพวาดและภาพถ่ายบุคคล เครื่องแต่งกายตามสมัยนิยม สิ่งประดิษฐ์จากโลกตะวันตก วัฒนธรรมบนโต๊ะอาหาร การเดินทางท่องเที่ยว งานเลี้ยงในราชสำนัก ซุ้มประตูตามท้องถนน สะพานข้ามคูคลอง รูปประติมากลางลานสาธารณะ กระบวนแห่ทางบกและทางน้ำ วังและตำหนักชานเมือง เหล่านี้คือวัตถุวัฒนธรรมบริโภคที่รัชกาลที่ 5 นำเข้ามาสู่สยาม รวมถึงส่งออกศิลปวัตถุวัฒนธรรมของสยามไปสู่งานนิทรรศการโลกที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น ทำให้สยามมีที่ทางใหม่ในเวทีโลก

ในบรรดางานศึกษาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 5 ที่มีมากมายต่างวางอยู่บนสมมติฐานเดียวคือรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นกษัตริย์ผู้นำความทันสมัยศิวิไลซ์มาสู่สยาม แต่งานชิ้นนี้พยายามเปิดมุมมองใหม่ว่า ภาวะสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 19 นั้นเป็นปัจจัยเงื่อนไขให้รัชกาลที่ 5 จำเป็นต้องนำเสนอตัวตนและสร้างภาพลักษณ์แบบสมัยใหม่ อวดแสดงสถานะบารมีผ่านการครอบครองวัตถุสิ่งของนานาเพื่อสถาปนาอำนาจเหนือชนชั้นนำและเหล่าพสกนิกรที่กำลังเขยิบชั้นทางสังคมในประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับลัทธิล่าอาณานิคม

หนังสือเล่มนี้นำเสนอการก่อร่างสร้างภาพลักษณ์สมัยใหม่ของรัชกาลที่ 5 เพื่อหักล้างความคิดแบบกษัตริย์นิยมที่ถ่วงค้ำการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาเนิ่นนานว่ารัชกาลที่ 5 คือปิยมหาราชผู้พลิกโฉมสยามประเทศให้ทันสมัยโดยละลืมปัจจัยและบริบทของการเข้าสู่ภาวะสมัยใหม่ของไทย ผู้เขียนวิเคราะห์ผ่านหลักฐานชั้นต้นทั้งที่เป็นจดหมายเหตุ บันทึกความทรงจำ และจดหมายโต้ตอบระหว่างรัชกาลที่ 5 กับชนชั้นนำราชสำนักและชาวต่างประเทศ โดยหยิบยกการนำเสนอตัวตนของชนชั้นนำสยามผ่านการปรับเปลี่ยนวิถีบริโภคในราชสำนัก เช่น การแต่งกาย การสะสมข้าวของ การถ่ายรูป ฯลฯ ผ่านการสถาปนาพื้นที่แห่งความศิวิไลซ์ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างสวนดุสิต ลานพระบรมรูปทรงม้า ฯลฯ และผ่านการจัดแสดงมหรสพสาธารณะ อย่างพระราชพิธีตระการตาและการเข้าร่วมงานนิทรรศการโลก เป็นต้น เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัชกาลที่ 5 ไม่เพียงไล่ตามความศิวิไลซ์แบบโลกตะวันตก ดังที่หนังสือเล่มนี้ตั้งฉายานามว่า “เจ้าแห่งสรรพสิ่ง” เท่านั้น หากทั้งหมดนี้ยังเกิดขึ้นพร้อมกับการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในแผ่นดินสยามด้วย

แม้ว่างานชิ้นนี้จะจบลงด้วยพระราชพิธีกาญจนาภิเษกของรัชกาลที่ 9 ในปี 2539 ซึ่งผู้เขียน เมาริตซิโอ เปเลจจี เห็นว่าเป็นการขึ้นสู่จุดสูงสุดของการนำเสนอตัวตนและภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ หากในอีกสิบปีให้หลังเราจะพบว่า พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของรัชกาลที่ 9 ในเดือนมิถุนายน 2549 โดยมีรัฐบาลพลเรือนทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าภาพ อาจนับว่าเป็นจุดสูงสุดของภาพลักษณ์สมัยใหม่และการครองอำนาจนำของสถาบันกษัตริย์ยิ่งไปกว่าที่งานชิ้นนี้ศึกษาไว้ก็ว่าได้ กระนั้นก็ตาม เมื่อถึงทศวรรษ 2560 สยามผลัดแผ่นดินสิ้นยุคในหลวงภูมิพล ตามมาด้วยการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษในเดือนกันยายน 2565 อนาคตของราชวงศ์วินด์เซอร์กับราชวงศ์จักรีที่มีกษัตริย์ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกทั้งสองราชวงศ์—ที่เปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยแห่งความก้าวหน้า ขึ้นสู่ยุครุ่งเรือง ล่วงสู่ยุคร่วงโรย และปรับตัวสู่โลกหลังสมัยใหม่ของประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ก็กำลังเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2545 ผ่านมาร่วม 2 ทศวรรษจึงมีการแปลเป็นภาษาไทยออกสู่สายตาผู้อ่านชาวไทย ถึงกระนั้นก็ตาม การวิเคราะห์สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทยด้วยมุมมองเชิงวัฒนธรรมวิพากษ์ของผู้เขียนก็ยังถือว่าสดใหม่ในโลกวิชาการไทยศึกษา เมื่อได้อ่าน เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง ณ พ.ศ. นี้ ผู้อ่านจะได้อรรถรสอีกแบบทั้งจากคำศัพท์ น้ำเสียงและภาษาที่หวนกลับไปหาเอกสารชั้นต้นที่ผู้เขียนอ้างอิงมา รวมถึงการตีพิมพ์ออกมาในห้วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่สถาบันกษัตริย์สั่นคลอนอย่างยิ่งและมีการใช้กฎหมายปิดปากผู้วิจารณ์สถาบันแบบเหมารวม ไม่ว่าจะย้อนหลังไปถึงกษัตริย์รัชกาลใดในอดีตอันไกลโพ้นก็ตามที

อนึ่ง ในกระบวนการจัดทำต้นฉบับ กองบรรณาธิการได้สืบค้น ตรวจสอบและแก้ไขข้อผิดพลาดโดยการใส่เชิงอรรถอธิบายเพิ่มเติม และขอขอบคุณคุณากร วาณิชย์­วิรุฬห์ สำหรับการสอบทานรอบสุดท้ายก่อนจัดพิมพ์ มีคำกล่าวว่า เราจะมองโลก “ภายใน” ได้กระจ่างชัดขึ้นเมื่อออกไปมองจาก “ข้างนอก” เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง ก็ทำหน้าที่เช่นนั้น นี่คือหนังสือลำดับแรกในชุด “ทวิพากษ์”—งานวิพากษ์ไทยศึกษาในภาษาต่างประเทศที่ ฟ้าเดียวกัน ตั้งใจจะแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทย เพื่อเปิดประตูสู่โลกการศึกษาสังคมไทยจากสายตา “คนนอก” ในมิติประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม ศิลปวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่ความเข้าใจสังคมไทยได้สว่างกระจ่างขึ้น

หมายเหตุการแปล : การแปลงศักราชจากคริสต์ศักราชเป็นพุทธศักราชในที่นี้ยึดตามปีปฏิทินสากล แม้ในเอกสารประวัติศาสตร์ของไทยจะระบุปีปฏิทินเดิมก็ตาม (เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมก่อนเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายนเป็น 1 มกราคมในปี 2484) โดยจะกำกับในวงเล็บว่า “ปีปฏิทินใหม่” ยกตัวอย่าง งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 5 เดือนมีนาคม 2454 (ปีปฏิทินใหม่) ซึ่ง ณ ขณะนั้นเดือนมีนาคมยังคงเป็น พ.ศ. 2453 หากยึดตามศักราชแบบเก่า

อ่านต่อ >>

Ogni vera storia è storia contemporanea

ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงทุกเรื่องเป็นเรื่องราวร่วมสมัย

เบเนเด็ตโต โครเช (Benedetto Croce พ.ศ. 2409–2495/ค.ศ. 1866–1952) นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ชาวอิตาลีกล่าวไว้เช่นนี้เมื่อหลายร้อยปีก่อน โครเชเป็นหนึ่งในอาจารย์มหาวิทยาลัยในอิตาลีเพียง 12 คนที่ปฏิเสธให้คำปฏิญาณตนต่อระบอบฟาสซิสต์ใน พ.ศ. 2474 (ค.ศ. 1931) ในระบอบเผด็จการนั้น โดยทั่วไปแล้วปัญญาชนแค่ถูกสอดส่องนับว่าไม่พอ ยังถูกบังคับให้ต้องศิโรราบประหนึ่งว่ายินยอมพร้อมใจจริงๆ การตีความถ้อยคำของโครเชว่าเป็นการแสดงออกถึงความไม่ไว้ใจแบบผู้นิยมแนวคิดหลังสมัยใหม่ที่มีต่อพื้นฐานของวิชาประวัติศาสตร์อันมีรากมาจากแนวคิดประจักษ์นิยม ย่อมเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งยวด ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่โครเชจดจารข้อคิดนี้ คำว่า “ประวัติศาสตร์” ได้แทนที่คำว่า “ตำนาน” เมื่อสื่อถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตซึ่งอิงกับหลักฐานที่เป็นตัวบทและหลักฐานทางโบราณคดีที่สอบทานความถูกต้องได้ มากกว่าเรื่องปรัมปราและคำบอกเล่ามุขปาฐะอื่นๆ คำว่าประวัติศาสตร์ก็เช่นเดียวกับศัพท์บัญญัติคำอื่นๆ ในภาษาไทยในเวลานั้น เช่น ภูมิศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ คือเกิดจากคำประสมบาลี-สันสกฤต ประดิษฐกรรมใหม่ๆ ทางปัญญาที่แสดงออกผ่านศัพท์บัญญัติใหม่ๆ เหล่านี้ถูกซ่อนเร้นภายใต้ศัพท์แสงเก่าโบราณ หรือหากจะพูดด้วยคำกล่าวที่รู้จักกันดีในภาษาอังกฤษ มันก็คือ “เหล้าใหม่ในขวดเก่า” นั่นเอง กลับมากล่าวถึงโครเช ความคิดแบบประวัติศาสตร์นิยมของเขาสนับสนุนความคิดที่ว่าแม้แต่เหตุการณ์ในอดีตไกลโพ้นก็อาจมีนัยยะต่อปัจจุบันได้ เนื่องจากความรู้ทางประวัติศาสตร์ถูกนักประวัติศาสตร์ผลิตขึ้นผ่านการค้นคว้าหลักฐานเอกสารและการใช้มุมมองเชิงวิเคราะห์ ความรู้ทางประวัติศาสตร์ทำให้ประวัติศาสตร์ทุกเรื่องกลายเป็นเรื่องราวร่วมสมัยเพราะถูกขับดันด้วยความสนใจในยุคปัจจุบันซึ่งเชื่อมโยงประวัติศาสตร์เข้ากับความเป็นจริงในปัจจุบัน ดังที่โครเชเคยเขียนไว้ว่า “ความร่วมสมัยมิใช่ประเภทหนึ่งของประวัติศาสตร์ หากเป็นแง่มุมที่แฝงฝังอยู่ภายในประวัติศาสตร์ทุกเรื่อง เราต้องมองความสัมพันธ์อันแนบชิดระหว่างประวัติศาสตร์กับชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกัน”

เรื่องสำคัญที่ควรกล่าวถึงในการแนะนำ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง หรือ Lords of Things ฉบับภาษาไทยครั้งนี้ ซึ่งตีพิมพ์หลังการตีพิมพ์ครั้งแรกเกือบยี่สิบปี คือบริบททางประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์ในขณะที่คิดและเขียนหนังสือเล่มนี้ Lords of Things ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) โดยมีที่มาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของผู้เขียนที่เสนอต่อมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University—ANU) ในช่วงปลายปี 2540 ผู้เขียนมาถึงแคนเบอร์ราในปี 2535 เพื่อเรียนต่อระดับปริญญาโทด้วยทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย ANU ซึ่งทุกวันนี้มีการมอบให้นักวิชาการรุ่นเยาว์น้อยมาก (วิทยานิพนธ์ปริญญาโทของผู้เขียนที่นำมาปรับปรุงเป็นหนังสือเช่นกัน ตีพิมพ์ในปี 2545 ใช้ชื่อว่า The Politics of Ruins and the Business of Nostalgia) หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโท ผู้เขียนได้เรียนต่อในระดับปริญญาเอก วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกซึ่งมีที่ปรึกษาคืออาจารย์เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ส เช่นเดียวกับในระดับปริญญาโท ก่อรูปขึ้นจากคำถามที่เป็นใจกลางของข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ในเวลานั้น นั่นคือ การบ่มเพาะอัตลักษณ์และวัฒนธรรมแห่งชาติกับการเผยแพร่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ในเชิงสาธารณะผ่านสัญลักษณ์ รัฐพิธี อนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ งานเขียนที่ส่งอิทธิพลต่อผู้เขียนเป็นอย่างยิ่งในการคิดหัวข้อวิจัยคือหนังสือรวมความเรียงที่มีเอริค ฮ็อบส์บอม และเทอเรนซ์ แรนเจอร์ เป็นบรรณาธิการ The Invention of Tradition (ค.ศ. 1983/พ.ศ. 2526) หนังสือเล่มนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจแก่งานศึกษาชิ้นอื่นๆ ด้วย เช่น Splendid Monarchy ของฟูจิทานิ ซึ่งศึกษาจักรพรรดิเมจิผู้สร้างความทันสมัยแก่ญี่ปุ่นและอยู่ในยุคเดียวกับพระจุลจอมเกล้าฯ งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในระหว่างที่ผู้เขียนกำลังเขียนวิทยานิพนธ์อยู่ ในช่วงสี่ปีที่ผู้เขียนปรับแก้วิทยานิพนธ์เป็นหนังสือนั้น ได้เกิดข้อถกเถียงใหม่ในแวดวงประวัติศาสตร์ เช่น วัฒนธรรมเชิงทัศนา/เชิงวัตถุ และวัฒนธรรมการบริโภค ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนแง่มุมการวิเคราะห์ของผู้เขียนไม่น้อย ดังนั้นในงานฉบับปรับปรุงเป็นหนังสือ นอกจากจะกล่าวถึงความเห็นของผู้ตรวจทาน (ธงชัย วินิจจะกูล, ชาร์ลส์ คายส์, และเบน แอนเดอร์สันผู้ล่วงลับ) แล้ว ผู้เขียนยังสนทนากับข้อถกเถียงทางวิชาการล่าสุดเพื่อพยายามผนวกประเด็นทางวิชาการหลักๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 เข้ามาด้วย

ในหลายโอกาสที่ได้นำเสนอ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง ต่อสาธารณะ ผู้เขียนหยิบยืมคำจากนวนิยายเรื่อง มาดามโบวารี ของกุสตาฟ โฟลแบรต์ (Gustave Flaubert) ซึ่งกล่าวถึงมาดามโบวารี ตัวละครเอกของเรื่องไว้ว่า “Lords of Things c’est moi” หรือ “เจ้าแห่งสรรพสิ่ง คือตัวฉันเอง” ผู้เขียนอ้างถึงคำนี้เพราะต้องการสื่อว่า เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง สะท้อนถึงความสนใจและรสนิยมของผู้เขียนเองได้ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ทั้งในเชิงวิชาการและในแง่ความสนใจส่วนตัว นั่นคือนับจากด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมไปจนถึงแฟชั่นและการถ่ายภาพ แต่ผู้อ่านบางคนอาจเข้าใจผิดได้ว่าการที่ผู้เขียนให้ความสนใจเครื่องแต่งกาย รูปปั้น พระราชวัง และกระบวนพิธี เป็นการยกยอสรรเสริญรสนิยมและความมั่งคั่งของราชสำนักกรุงเทพฯ ในลักษณะเดียวกับเอนก นาวิกมูล นักสะสมของเก่าและนักเขียนผู้มากผลงาน หากความจริงแล้วสิ่งที่ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง สนใจคือรูปแบบของวัตถุและรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ที่สถาบันกษัตริย์ใช้เพื่อยืนยันอำนาจและสิทธิธรรม ทั้งในส่วนที่เกิดขึ้นจริงและที่ถวิลหา ข้อวิเคราะห์ของผู้เขียนซึ่งกล่าวถึงอิทธิพลของวิถีการบริโภคจากราชสำนักยุโรปที่มีต่อการสร้างภาพลักษณ์ของราชสำนักสยามสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 มิได้มีที่มาจากความสนใจส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น แต่ยังมาจากความเชื่อทางวิชาการที่ว่าวิชาประวัติศาสตร์จะบรรลุถึงพลังในการอธิบายได้ก็ต่อเมื่อนำเสนอการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ ความเชื่อนี้เป็นหลักในการเขียนงานเรื่อง Thailand the Worldly Kingdom (ค.ศ. 2007/พ.ศ. 2550) หนังสืออีกเล่มที่ผู้เขียนเขียนขึ้นหลัง เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง ซึ่งสำรวจการสร้างรัฐและการสร้างชาติของไทยในบริบทโลกด้วยมุมมองเชิงเปรียบเทียบ

การที่ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง มีใจกลางอยู่ที่การศึกษาวัฒนธรรมการเมืองไทยต้องยกความดีความชอบให้กับบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ซึ่งในขณะนั้นผู้เขียนเข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ใน พ.ศ. 2541 ผู้เขียนขอเล่าเรื่องนี้ในเชิงสาธารณะเป็นครั้งแรกที่นี่ ในเวลานั้นผู้เขียนได้ติดต่อสถานทูตไทยเพื่อขออนุญาตนำภาพจิตรกรรมสองภาพมาใช้งาน (ครอบครัวเชื้อพระวงศ์/The Royal Family ของเจลลิ และภาพเหมือนเต็มตัวของรัชกาลที่ 5 ที่วาดโดยกาโรลุส-ดูร็อง) ซึ่งทั้งสองภาพนี้อยู่ในความครอบครองของสำนักพระราชวัง ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงได้รับเชิญจากสถานทูตไทยให้เข้าพูดคุยกับอุปทูตด้านวัฒนธรรมและผู้ช่วยของทูตท่านนี้ และผู้เขียนได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับตนเองและหนังสือที่จะนำสองภาพนี้มาตีพิมพ์ การพูดคุยในครั้งนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นเนื่องมาจากอัธยาศัยไมตรีแบบชาวไทย แต่อีกไม่กี่วันให้หลัง ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากเอกอัครราชทูตโดยตรง เอกอัครราชทูตไทยซึ่งทราบสัญชาติของผู้เขียนเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการยกย่องผู้คน บ้านเมือง และอาหารของอิตาลี และใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะเข้าเรื่อง แต่เมื่อเริ่มเปิดประเด็นแล้วท่านทูตก็ไม่อ้อมค้อมอีกต่อไป เอกอัครราชทูตแนะว่าผู้เขียนควรเปลี่ยนชื่อหนังสือ เนื่องจาก Lords of things หรือ “เจ้าสรรพสิ่ง” เป็นฉายาที่มิบังควรแก่กษัตริย์ไทย เพราะเป็นการลดทอนสถานะและพระราชอำนาจของกษัตริย์ ท่านทูตบอกกับผู้เขียนว่าธรรมเนียมไทยยกย่องพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าชีวิต แน่นอนว่าผู้เขียนทราบเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว ผู้เขียนรับฟังคำทักท้วงของท่านทูตและตอบกลับไปอย่างสุภาพว่า นี่คือหนังสือ ของผู้เขียน การเลือกชื่อเรื่องย่อมเป็นสิทธิของผู้เขียน แต่ท่านทูตเข้าใจถูกต้องที่จับได้ว่าชื่อเรื่องดังกล่าวแฝงน้ำเสียงแกมประชดประชัน การแทนที่ไพร่ฟ้าด้วยวัตถุสิ่งของจากต่างประเทศเพื่อใช้เป็นแหล่งที่มาและเครื่องแสดงออกถึงอำนาจของราชสำนักแบบยุคสมัยใหม่ ขณะที่ทำไปในนามของความก้าวหน้านั้น ก็ได้เชื่อมช่องว่างทางสถานะระหว่างราชวงศ์กับชนชั้นกลางที่กำลังรุ่งเรืองขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวด้วย ภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี กลุ่มชาวเมืองที่มีการศึกษา เช่นข้าราชการและนายทหารจึงเริ่มท้าทายสถานะอภิสิทธิ์ของราชสำนัก และใน พ.ศ. 2475 หลังจากที่ราชสำนักดึงดันคัดค้านการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คนกลุ่มนี้จึงนำจุดจบมาสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่จริงแล้วผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงกลุ่มนี้เกือบถึงขั้นล้มล้างสถาบันกษัตริย์เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นถึงแม้นักประวัติศาสตร์ไม่ควรตัดสินอดีตจากสายตาของคนเห็นเหตุการณ์ทีหลัง แต่เราก็สามารถให้ข้อสรุปได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสถาบันกษัตริย์อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนสถานะจากเจ้าชีวิตไปเป็นเจ้าสรรพสิ่งนั้นอาจมิใช่เรื่องเข้าทีมากนัก

ในบทสรุปของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้เทียบเคียงการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์และความรับรู้สาธารณะแบบเข้าถึงผู้คนวงกว้างของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเปลี่ยนจากภาพลักษณ์กึ่งสมมติเทพตามคติพราหมณ์-ฮินดูไปเป็นภาพลักษณ์แบบกระฎุมพีตามธรรมเนียมตะวันตก โดยเทียบกับพลวัตในทางกลับกันของกษัตริย์ภูมิพลสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นผลให้เกิดการฟื้นความศักดิ์สิทธิ์และการฟื้นฟูบารมีให้แก่องค์กษัตริย์ในเชิงบุคคล รวมถึงการที่หลักรัฐธรรมนูญมีสถานะตกเป็นรองอำนาจเห็นชอบของกษัตริย์ ข้อพิจารณาในหนังสือเล่มนี้ของผู้เขียนจึงเป็นภาพสะท้อนของพัฒนาการทางการเมืองไทยระหว่าง พ.ศ. 2535–2542 หลังจากชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ก็เป็นจุดเริ่มต้นของยุคที่เปี่ยมด้วยความหวัง ช่วงยุคดังกล่าวมีหลักหมายสำคัญคืองานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่เรียกกันว่า “ฉบับประชาชน” ในเดือนตุลาคม 2540 มาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ว่ารัฐไทย “มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แม้ผู้สังเกตการณ์การเมืองไทยหลายคนมองว่านี่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับก้าวหน้าที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญที่เคยมีมาหลายฉบับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็ยังคงมาตรา 8 เอาไว้ คือบทบัญญัติที่ว่ากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และยังได้รับการปกป้องจากการวิพากษ์วิจารณ์ภายใต้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างไรก็ดี วิกฤตการเงินของเอเชียที่เริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2540 โดยมีจุดตั้งต้นจากการที่เศรษฐกิจของไทยขยายตัวเร็วเกินไปนั้น ก็ได้หันเหจุดสนใจออกจากรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับนี้ อีกประการหนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเป็นพื้นฐานให้กับการเลือกตั้งครั้งที่นำทักษิณ ชินวัตร นักการเมืองตามแนวทางประชานิยมขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2544 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นานก่อนการตีพิมพ์ Lords of Things  ทุกวันนี้ผู้นำแนวประชานิยมเป็นกระแสที่เกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลก แต่ในเวลานั้นนับได้ว่าทักษิณเป็นผู้นำแห่งกระแสนี้ ความสนับสนุนจำนวนไม่น้อยที่ทักษิณได้รับจากกลุ่มประชากรอีสานผู้ไร้สิทธิ์เสียงได้สร้างความฮึกเหิมให้เขาถึงขั้นกล้าท้าทายอำนาจเชิงสัญลักษณ์อันเด่นล้ำของราชสำนักในฐานะผู้ค้ำจุนความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์และผู้ปกปักคนยากคนจน นอกจากผลประโยชน์ทับซ้อนอันยอกย้อนแล้ว อหังการทางการเมืองของทักษิณนับเป็นความผิดพลาดร้ายแรงที่นำไปสู่การถอดถอนเขาออกจากอำนาจด้วยรัฐประหารไร้การนองเลือดเมื่อเดือนกันยายน 2549

รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของรัชกาลที่ 9 พิธีฉลองสิริราชสมบัติครั้งนี้ได้รับการนำเสนออย่างกว้างขวางในสื่อต่างชาติและอาจนับเป็นการแสดงเอกภาพแห่งชาติเป็นครั้งสุดท้ายก็ว่าได้ นอกจากกระบวนพิธีในงานรัชมังคลาภิเษกสมัยรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2450/51 ที่ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง ได้สำรวจแล้ว งานเฉลิมฉลองในสมัยรัชกาลที่ 9 นับตั้งแต่งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีไปจนถึงงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของรัชกาลที่ 9 เป็นแง่มุมสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันของการเมืองสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งยังคงรอให้มีการสำรวจตรวจตราในเชิงประวัติศาสตร์ต่อไป นับเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าเสียงขับร้องประสานระหว่างกระบวนพิธีกับการเมืองจะขับกล่อมออกมาเป็นเสนาะสำเนียงเช่นไรในสมัยรัชกาลที่ 10 ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นเมื่อไม่นานมานี้ แน่นอนว่าองค์ประกอบพิลึกพิลั่นระหว่างวิธีคิดแบบประเพณีนิยมกับการรื้อทำลายขนบความเชื่อเดิมของกษัตริย์รัชกาลปัจจุบันเผยเค้าลางที่ไม่สู้จะดีนัก เพราะสื่อถึงความหวาดวิตกของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ผู้ต้องแบกรับมรดกของบิดาที่ตนไม่มีวันเทียบเทียมได้ (ซึ่งใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสมัยรัชกาลที่ 5 ไปสู่สมัยรัชกาลที่ 6) ทั้งยังต้องจัดการกับที่ทางของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยปัจจุบัน อย่างที่เห็นเป็นนัยจากการพำนักในต่างแดนเป็นเวลานานของพระองค์

วกกลับมาที่ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง ผู้เขียนพูดได้เลยว่ามันยังเป็นงานที่อ่านสนุก หลังจากตีพิมพ์ หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นงานอ้างอิงมาตรฐานด้านประวัติ­ศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม บทที่ 2 ของหนังสือซึ่งกล่าวถึงการสร้างตัวตนแบบสมัยใหม่ของราชสำนักผ่านการแต่งองค์ทรงเครื่องและการนำเสนอตัวตนชนิดนี้ผ่านภาพวาดและภาพถ่ายบุคคล เป็นวิธีศึกษาแบบใหม่และกระตุ้นให้นักประวัติศาสตร์คนอื่นๆ ค้นคว้าเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างเครื่องแต่งกายกับการเมืองในเอเชีย การวิเคราะห์เรื่องสถาปัตยกรรมที่พักอาศัยและอนุสาวรีย์ในเขตดุสิตในบทที่ 3 และ 4 เป็นแรงบันดาลใจให้นักประวัติศาสตร์หันมาศึกษาสถาปัตยกรรม เป็นต้นว่า คุ้มพงศ์ หนูบรรจง, ชาตรี ประกิตนนทการ และลอว์เรนซ์ ฉั่ว (Lawrence Chua) บทที่ผู้เขียนเองชอบเป็นพิเศษคือบทที่ 5 ซึ่งสำรวจการปรับแปลงนาฏกรรมแห่งอำนาจให้เป็นแบบตะวันตก โดยจัดกระบวนยาตรารถยนต์แทนกระบวนเรือซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวิถีการสัญจรสำคัญที่กษัตริย์ใช้ในการท่องไปในพื้นที่ของกรุงเทพฯ และโดยอุปมาเชิงนามนัยย่อมหมายถึงพื้นที่สยามทั้งราชอาณาจักร เมื่อผู้เขียนกลับมาอ่าน เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง ในปี พ.ศ. นี้ ก็พบว่าไม่มีอะไรที่อยากจะปรับเปลี่ยนมากนัก การจัดวางโครงสร้างตามหัวข้อและการไม่ยึดลำดับเวลาเป็นเครื่องมืออธิบายประวัติศาสตร์ล้วนเป็นลักษณะเด่นที่ปรากฏในหนังสือเล่มอื่นๆ ของผู้เขียนด้วย แต่ผู้เขียนคิดว่าคุณูปการสำคัญของ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง คือการขยายขอบเขตการใช้เอกสารหลักฐานสำหรับศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและการนำการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมาสนทนากับประเด็นร่วมสมัยในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ผู้เขียนยังดำเนินรอยตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวในหนังสือเล่มล่าสุด คือ Monastery, Monument, Museum: Sites and Artifacts of Thai Cultural Memory (ค.ศ. 2017/พ.ศ. 2560) ซึ่งหวังว่าจะมีการแปลเป็นภาษาไทยด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกัน ดังที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้แล้ว เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง นั้นก่อรูปขึ้นจากข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ดังนั้นหากผู้เขียนขบคิดเกี่ยวกับหัวข้อเดิมอีกในเวลานี้ก็อาจจะเขียนออกมาเป็นหนังสือที่ต่างออกไป แต่ในตอนนี้ผู้เขียนไม่ได้สนใจที่จะศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์ไทยแล้ว

ผู้เขียนขอขอบคุณกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ตัดสินใจตีพิมพ์ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่งฉบับภาษาไทย วริศา กิตติคุณเสรี สำหรับความพยายามในการลงแรงแปลหนังสือเล่มนี้ และคุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ อดีตนักศึกษาของผู้เขียน สำหรับการตรวจทานต้นฉบับแปลเพื่อคงน้ำเสียงเชิงเสียดเย้ยของต้นฉบับเดิมไว้ บัดนี้ผู้เขียนขอทิ้งให้ผู้อ่านชาวไทยตัดสินว่า เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง เป็นตัวอย่างของประวัติศาสตร์ที่แท้จริงและร่วมสมัยตามความหมายที่เบเนเด็ตโต โครเช ไขความไว้หรือไม่ ว่าหมายถึงความรู้ทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตในแง่ที่ตอบสนองความต้องการในปัจจุบันและเผยถึงเสียงสะท้อนของอดีตมายังปัจจุบัน

เมาริตซิโอ เปเลจจี

โรม, กรกฎาคม 2563

อ่านต่อ >>

หนังสือเล่มนี้ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งผู้เขียนได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียและกระทรวงการจ้างงาน การศึกษา และการฝึกอบรมของรัฐบาลออสเตรเลีย ขณะที่ทุนในการวิจัยภาคสนามได้รับการอุดหนุนจากภาควิชาประวัติศาสตร์ภูมิภาคแปซิฟิกและเอเชีย ประจำสำนักวิจัยด้านแปซิฟิกและเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย หลักฐานชั้นต้นได้รับการช่วยจัดเตรียมโดยโรนัลด์ มาโฮนีย์ แห่งแผนกวัสดุพิเศษ ประจำห้องสมุดเฮนรี มานน์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตทแห่งเฟรสโน, เอมี เอ. เบ็กก์ แห่งห้องสมุดสถาบันสมิธโซเนียน ณ วอชิงตัน ดี.ซี. และแมรีส โกลเดมเบิร์ก แห่งหอสมุดประวัติศาสตร์เมืองปารีส จินตนา แซนดิแลนด์ส ให้ความช่วยเหลือในการแปลเอกสารภาษาไทย ผู้เขียนได้รับความเอื้อเฟื้อจากการให้ความเห็นต่อร่างต้นฉบับในขั้นต่างๆ โดยเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, จอห์น คลาร์ก, ชาร์ลส์ คายส์, บรูซ ล็อคฮาร์ท, ธงชัย วินิจจะกูล และผู้วิจารณ์ต้นฉบับซึ่งไม่เปิดเผยชื่อประจำสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฮาวายอิ ผู้เขียนเป็นหนี้บุญคุณทางปัญญาอย่างมากต่อเคร็ก เรย์โนลด์ส ผู้เป็นทั้งอาจารย์และมิตร นอกจากนี้ยังขอขอบคุณไมเคิล มอนเต­ซาโน และเปาลา อินโซเลีย ส่วนดายานีธาเป็นผู้ที่คอยอยู่เคียงข้างพร้อมมอบรอยยิ้มที่แสนงดงามให้ผู้เขียนเสมอ