Sale 10%

ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน

ปกแข็ง 540.00 บาทปกอ่อน 432.00 บาท

รหัส: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

ผู้เขียน

ประจักษ์ ก้องกีรติ

จำนวนหน้า

496

ปีที่พิมพ์

2558

ISBN ปกอ่อน

9786167667355

ISBN ปกแข็ง

9786167667348

สารบัญ

คำนำเสนอ นิธิ เอียวศรีวงศ์

คำนำผู้เขียน

ภาค 1 ประชาธิปไตยและความเสมอภาค

บทที่ 1 การเดินทางของความไม่เสมอภาคในสังคมไทย

บทที่ 2 ประชาธิปไตยของฉัน ของท่าน และของเธอ

บทที่ 3 มายาคติและการเมืองของนิทานสอนใจว่าด้วยความโง่ จน เจ็บของผู้เลือกตั้งชนบท

บทที่ 4 การสืบทอดอำนาจ : ว่าด้วยวงศาคณาญาติ ทายาท รัฐประหารและการเลือกตั้ง

บทที่ 5 ความรุนแรงในการเลือกตั้งของไทย : ศึกษากรณีการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554

บทที่ 6 กระสุนปืน ควันระเบิด การปะทะมวลชน และคูหาเลือกตั้ง :ความขัดแย้งและความรุนแรงในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

ภาค 2 ความรุนแรงและความยุติธรรม

บทที่ 7 กำเนิดและพัฒนาการขององค์ความรู้ทางวิชาการว่าด้วยความรุนแรงทางการเมือง : บทสำรวจงานวิชาการในโลกตะวันตก

บทที่ 8 ประชาสังคม ความรุนแรง และการล่มสลายของประชาธิปไตย : ความสำคัญของแนวคิดเรื่องความมีอารยะและการเมืองแบบอาระของเอ็ดเวิร์ด ชิลส์

บทที่ 9ขบวนการต่อต้านในระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย :ขบวนการฝ่ายขวาไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ

บทที่ 10 ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน : เมื่อโลกไม่หันหลังให้โศกนาฏกรรม

ภาคผนวก ปริทัศน์หนังสือและหนังว่าด้วยประชาธิปไตยและความรุนแรง

บทที่ 11 คาร์บอมบ์ : อาวุธมีชีวิต

บทที่ 12 คลื่นแห่งความเกลียดชัง : สื่อกับความรุนแรง

บทที่ 13 สามัญชนบนวิกฤตประชาธิปไตย : วีรชนหรือวายร้าย

บทที่ 14 ว่าด้วยรัฐ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และขดเกลียวของความรุนแรง

บทที่ 15 ความยุติธรรมข้ามพรมแดน

บทที่ 16 นิทานแห่งชาติเรื่อง “รักแห่งสยาม”, “พ่อขุนอุปถัมภ์และ “ชนบทไร้เดียงสา”

ประวัติผู้เขียน

ประวัติการตีพิมพ์

บรรณานุกรม

ดรรชนี

คำนำเสนอ

ผมไม่ทราบว่าใครเป็นคนคิดคำว่า “รัฐศาสตร์” ขึ้นในภาษาไทย แต่ดูเหมือนเป็นคำที่ถูกใช้ในทางวิชาการมาตั้งแต่ เมื่อเราย้ายโรงเรียนข้าราชการพลเรือนมาอยู่ในมหาวิทยาลัย และอาจเป็นด้วยเหตุดังนั้น รัฐศาสตร์ไทยจึงมุ่งฝึกข้าราชการพลเรือนสืบมาอีกนาน

แม้ในภายหลังรัฐศาสตร์ขยายเป้าหมายของการศึกษาให้กว้างกว่าการฝึกข้าราชการพลเรือน แต่ก็ยังวนเวียนอยู่กับการปกครองและการบริหารในหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน เมื่อไรที่เราคิดถึงเรื่องการปกครองและการบริหารก็ตาม คิดว่าเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ “รัฐ” ก็ตาม ย่อมเกิดแนวโน้มที่ทำให้นึกถึง “ระเบียบ” ที่แน่นอนตายตัว และเป็นหลักสำหรับทุกคนในการปฏิบัติในระยะยาว รัฐย่อมต้องการ “ระเบียบ” แบบนี้ หน่วยงานที่ต้องการ “ระเบียบ” แบบนี้ แม้แต่กลุ่มขนาดเล็กกว่านั้น เช่นครอบครัว หรือพรรคการเมือง หรือสโมสรนักศึกษา ก็ต้องการ “ระเบียบ” แบบนี้ เหมือนกัน

นี่คือเหตุผลที่รัฐศาสตร์ไทยมุ่งสอน (หรือเรียนรู้) เกี่ยวกับกฎหมายที่เป็นทางการ ซึ่งกำหนดสถานะและบทบาทที่ “ถูกต้อง” ของสถาบันทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันที่เป็นทางการ

แต่รัฐศาสตร์ในแนวนี้อธิบายความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ยังไม่พูดถึงรัฐอื่นๆ ทั่วโลก เอาเฉพาะรัฐไทยเอง เราก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาในรัฐเดี๋ยวกลุ่มนี้ขึ้นมามีอำนาจ เดี๋ยวกลุ่มนั้นขึ้นมามีอำนาจ รัฐศาสตร์ไทยปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่ได้ เพราะมันปรากฏชัดจนยากจะปฏิเสธ จึงจำเป็นต้องสร้างคำอธิบายทางรัฐศาสตร์ให้แก่ความเปลี่ยนแปลงนี้ และคำอธิบายก็คือ “วงจรอุบาทว์” นั่นคือมีรัฐธรรมนูญใหม่ – รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง – ความไม่พอใจของพลเมืองบางส่วน – รัฐประหารของกองทัพ-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ – รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ วนเวียนอยู่เช่นนี้

แต่น่าสังเกตว่าโมเดลหรือรูปแบบของคำอธิบายเช่นนี้ เป็นรูปแบบที่สถิต โดยไม่พิจารณาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากวงจรที่วนเวียนเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกเลย รัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารเขียนขึ้นใหม่แต่ละครั้ง เสริมอำนาจของสถาบันทางการเมืองบางสถาบัน และลดอำนาจของสถาบันทางการเมืองบางสถาบัน การเลือกตั้งแต่ละครั้ง นำเอาคนหน้าใหม่เข้าสู่สภา แม้แต่สมาชิกของสภาแต่งตั้งเองก็ยังเปลี่ยนหน้าคนด้วย เหมือนกัน มีความเปลี่ยนแปลงใน “วงจรอุบาทว์” มากมายในตัว “วงจรอุบาทว์” มีพลวัตภายในที่ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยด้วย ไม่ใช่สิ่งสถิตที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่สิ้นสุด

ดังที่เขาพูดกันว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร แต่การศึกษารัฐศาสตร์ไทย (ในช่วงหนึ่ง) โยนความเปลี่ยนแปลงทิ้งชักโครกไปเลย ทำให้การเมืองไทยไม่มีพัฒนาการเหมือนสังคมอื่นๆ ทั่วโลก และทำให้เป็นการยากที่รัฐศาสตร์ไทยจะอาศัยพัฒนาการของสังคมอื่นเป็นแนวในการเรียนรู้เกี่ยวกับการเมืองไทย หรือสังคมไทยนี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คนไทยซึ่งมีการศึกษาจำนวนมาก คิดว่าไทยเป็นกรณีพิเศษที่ไม่สามารถเอาไปเทียบเคียงกับสังคมใดในโลกได้เลย เพราะเรามีความพิเศษเป็น หนึ่งเดียวในโลก

ในภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศส เขาเรียกรัฐศาสตร์ว่า วิทยาการที่เกี่ยวกับการเมือง พูดอีกอย่างหนึ่งคือวิทยาการที่มุ่งศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมต่าง ๆ หรือ สังคมหนึ่งๆ คนละเนื้อหากับการศึกษา “รัฐ” โดยสิ้นเชิง เมื่อมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ก็จะเห็นได้ทันทีว่าอำนาจไม่ได้กระจุกอยู่ที่รัฐหรือผู้บริหารรัฐ แต่คนหลากหลายกลุ่มล้วนมีส่วนแบ่งของอำนาจ มากบ้างน้อยบ้าง อาจออกมาในรูปสถาบันทางการเมือง หรือเศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม ต่างต้องเข้ามาสัมพันธ์กันในเชิงอำนาจท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ในลักษณะต่อรองกันบ้าง ในลักษณะเผชิญหน้ากันบ้าง ในลักษณะสร้างความสัมพันธ์เป็นเครือข่ายกันบ้าง เป็นพันธมิตรกันบ้าง หรือเป็นคู่ปรปักษ์ต่อกันบ้าง ผลของความสัมพันธ์เช่นนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจเปลี่ยนแปลงไป อาจก่อให้เกิดสถาบันทางสังคมและการเมืองแบบใหม่ หรือปรับสถาบันทางการเมืองและสังคมแบบเก่าให้รองรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบใหม่ หรือย้อนกลับไปรื้อฟื้นสถาบันเก่าให้กลับมามีบทบาทใหม่ ฯลฯ ความเป็นไปได้ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจนั้นมีได้หลายอย่าง อีกทั้งแปรเปลี่ยนไปได้อย่างสลับซับซ้อนไม่เคยหยุดนิ่ง จึงไม่มีสูตรสำเร็จในการศึกษารัฐศาสตร์ เพราะก็เหมือนกับศาสตร์อื่นๆ รัฐศาสตร์ต้องตั้งอยู่บนข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งเมื่อได้รวบรวมและผ่านการวิเคราะห์แล้ว ก็อาจมี “ทฤษฎี” ที่ให้คำอธิบายและมุมมองเกี่ยวกับปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดซ้ำ ๆ กันในสังคมหนึ่งๆ หรือในหลายสังคมได้ แต่ก็เป็นเพียง “ทฤษฎี” ไม่ใช่สูตรสำเร็จ ที่สามารถอธิบายความสัมพันธ์เชิงอำนาจได้ในทุกเงื่อนไข

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือ “รัฐศาสตร์” ตามความหมายที่กล่าวข้างต้น สถาบันและความเคลื่อนไหวทางสังคมหลากหลายชนิดที่ถูกยกขึ้นมาอภิปรายในหนังสือเล่มนี้ คือปัจจัยสำคัญที่กำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมการเมืองของโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศไทย (บางบทความผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงประเทศไทยโดยตรง แต่เห็นได้ชัดว่าตัวคำถามหลักของบทความ ก็คือความพยายามจะค้นหาและทำความ เข้าใจกับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในทศวรรษสุดท้ายของไทยเอง) เช่นปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรง การรวมกลุ่มทางสังคมที่เป็นประชาอนารยสังคม (uncivil society) แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้หยุดนิ่งมาตั้งแต่สมัยเริ่มแรกในยุโรป แต่มีพัฒนาการสืบเนื่องมาในหลายสังคมจนถึงปัจจุบัน นิทานประจำชาติซึ่งเล่าให้คนบางกลุ่มได้อำนาจมากขึ้น และคนบางกลุ่มได้อำนาจน้อยลง, สื่อ, การสืบทอดอำนาจทางการเมืองซึ่งในกรณีของไทย ไม่เคยมีแบบแผนตายตัวเลย ฯลฯ เป็นต้น

ข้อดีของหนังสือนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมือง อาจมีทฤษฎีที่นักวิชาการบางคนได้เสนอไว้ ซึ่งช่วยให้เราสร้างคำถามที่เหมาะสมกับปรากฏการณ์ที่เราศึกษา แต่ผู้เขียนก็มักชี้ให้ เห็นถึงจุดอ่อนของทฤษฎีต่างๆ ที่ใช้ในการศึกษา หรืออย่างน้อยก็ชี้ให้เห็นว่ามีนักวิชาการคนอื่นที่ได้ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของทฤษฎีหนึ่งๆ อย่างไรบ้าง ถ้าถือว่าหนังสือ เล่มนี้เป็น “ตำรา” นี่คือตำราที่สอนว่าอย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆ ต้องใช้สติปัญญาไตร่ตรองควบคู่กันไปกับการมองหาปรากฏการณ์จริงที่อาจขัดแย้งกับ “ตำรา” เพื่อพัฒนาให้ “ทฤษฎี” มีประสิทธิภาพในการอธิบายได้มากขึ้น และนี่คือเหตุผลที่หนังสือเล่มนี้ เต็มไปด้วยกรณีศึกษาสังคมอื่นๆ ทั่วโลก เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดในการเมืองไทยไม่ได้เป็นของไทยเพียงสังคมเดียว แต่มีปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันเกิดในสังคมอื่นอีกหลายแห่ง บางกรณีก็ได้คลี่คลายไปเป็นปรากฏการณ์อย่างอื่นที่นำสังคมไปสู่ความก้าวหน้า บางกรณีก็อาจติดตันและแปรเปลี่ยนไปสู่ความตีบตันมากขึ้น เพราะกองทัพเข้ามายึดอำนาจอย่างเปิดเผย ดังที่เกิดในประเทศไทย มีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้บางสังคมกลับคลี่คลายไปในทางดีขึ้น และมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้บางสังคมกลับคลี่คลายไปในทางเลวร้ายลง

ดังนั้นประเด็นทางวิชาการรัฐศาสตร์ที่หนังสือเล่มนี้หยิบขึ้นมาอภิปรายแต่ละประเด็น จึงเต็มไปด้วยข้อถกเถียงหลายแง่หลายมุม จากนักวิชาการหลากหลายสำนัก แต่ละข้อถกเถียงมีจุดแข็งและจุดอ่อนต่างกัน ผู้ศึกษาจะใช้ข้อถกเถียงใดในการศึกษาประเด็นของตน ต้องตั้งคำถามของตนเองให้ชัดเสียก่อน จึงจะตัดสินได้ว่า ควรใช้ข้อถกเถียงใดเป็นแนวในการศึกษาของตน โดยมีสำนึกอย่างเต็มเปี่ยมถึงข้ออ่อนของข้อถกเถียงที่ตนใช้ด้วย

โดยไม่ต้องพูดออกมา หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าการใช้ “เอกลักษณ์” (uniqueness) ในการศึกษารัฐศาสตร์ ไม่นำไปสู่ความเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจได้จริง ไม่ใช่เพราะสังคมไทยไม่มี“เอกลักษณ์” ทุกสังคมล้วนมีลักษณะเฉพาะในด้านต่างๆ หรือ “เอกลักษณ์” เหมือนกันทั้งนั้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราไม่มีทางเข้าใจสังคมนั้นได้จากบทเรียนที่เกิดภายใต้เงื่อนไขเดียวกันเป็นปรกติในสังคมอื่น ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ การเปรียบเทียบและการจัดหมวดหมู่ของปรากฏการณ์ข้ามสังคม หรือข้าม “เอกลักษณ์” ของแต่ละสังคมต่างหาก ที่จะเป็นแสงสว่างให้เรามองเห็นแง่มุมที่ไม่ชัดของสังคมหนึ่งๆ ได้ ยิ่งกว่านั้นอำนาจอธิบายที่เกิดจากการเปรียบเทียบในบางครั้ง ทำให้เราสามารถแม้แต่ทำนายล่วงหน้าได้ว่า ทางที่เป็นไปได้ของปรากฏการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ ย่อมมีได้เพียงไม่กี่ทาง ไม่อย่างนี้ ก็อย่างนั้น หรืออย่างโน้น

เท่าที่ความรู้ของผมมี ผมยังไม่เคยเห็นตำรารัฐศาสตร์ 101 ในแนวการศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจในภาษาไทย หนังสือเล่มนี้ก็คงไม่ใช่ตำราประเภทนั้น แต่ผมเชื่อว่ามีประโยชน์ที่จะอ่านก่อนจับประเด็นใดขึ้นมาค้นคว้าวิจัย เพราะมันให้แนวทางการศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งคำถามที่ดีในการศึกษาวิจัยทางรัฐศาสตร์ ดังนั้นหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นตำราอย่างดีของรัฐศาสตร์ 301 หรือ 401 สำหรับนักศึกษารัฐศาสตร์ ในชั้นสูง ก่อนจะเข้าไปศึกษาค้นคว้าประเด็นใดประเด็นหนึ่งของตนเอง เพราะให้แบบอย่างที่ดีแก่การทำงานวิจัยที่รอบคอบ

น่ายินดีที่หนังสือซึ่งรวบรวมบทความของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติได้ตีพิมพ์ออกมาในช่วงเวลาที่มืดมนทางการเมืองของไทยดังในขณะนี้ คนไทยที่ไม่ได้สนใจรัฐศาสตร์ในแง่วิชาการมีคำถามเกี่ยวกับการเมืองไทยจำนวนมาก ดังที่เราได้เห็นความพยายามของสื่อต่างๆ ที่ตั้งคำถามและพยายามจะวิเคราะห์เพื่อให้คำตอบ เช่นเหตุใดคนชั้นกลางไทยที่มีการศึกษา จึงเลือกที่จะเชื้อเชิญให้กองทัพยึดอำนาจ เหตุใดคนชั้นกลางระดับล่างจึงไม่พอใจการยึดอำนาจของกองทัพ เหตุใดกองทัพที่ยึดอำนาจได้มาหลาย เดือนแล้ว จึงไม่สามารถสร้างความชอบธรรมทางการเมืองได้สำเร็จ ฯลฯ หนังสือเล่มนี้ให้ทั้งคำตอบและคำถามสำคัญแก่เราในการตัดสินใจทางการเมือง หรืออย่างน้อยก็คือทำความเข้าใจกับการเมืองไทยในระยะหลัง ซึ่งทวีความสลับซับซ้อน และซ่อนเงื่อนหลายหลายมิติมากขึ้น ท่าทีการมองปัญหาทางการเมืองในลักษณะนี้ แม้ไม่ทำให้คนจำนวนหนึ่งเลิกเลือกข้างทางการเมือง แต่หากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็น่าจะเลือกข้างด้วยความเข้าใจมากกว่าความเกลียดชังต่อผู้ที่มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างจากตน ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ อาจปรปักษ์ด้วยความเข้าใจมากขึ้น แม้ยังไม่เห็นด้วย แต่ก็เข้าใจว่าเหตุใดเขาจึงเลือกยืนในจุดนั้น ความเข้าใจเป็นพื้นฐานเริ่มต้นที่จะปรับจุดยืนทางการเมืองของตนเองด้วยความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การประสานความร่วมมือกัน เพื่อนำชาติบ้านเมืองฝ่าพ้นวิกฤตร้ายแรงครั้งนี้ออกไปด้วยกัน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เมื่อฝ่าออกไปได้แล้ว ก็พอจะมีฉันทามติกว้างๆ ร่วมกันได้ว่า เราจะเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไร

อีกด้านหนึ่งนอกจากความเข้าใจที่กว้างขวางแก่คนทุกฝ่ายมากขึ้นแล้ว จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม หนังสือเล่มนี้ทำให้เราหยั่งถึงรากเหง้าของปัญหาทางการเมืองไทย ซึ่งอยู่ลึกลงไปในประวัติโครงสร้าง และองค์ประกอบของการเมืองไทย มันทั้งยาวนาน ทั้งสลับซับซ้อนจนเกินกว่าจะแก้ได้ด้วยการใช้ดาบฟันปมการเมืองที่พัวพันยุ่งเหยิง แก้ไม่ออกให้หลุดจากกัน ไม่ว่าจะฟันไปที่ปมของกลุ่มผลประโยชน์ตามประเพณี หรือฟันลงไปที่ปมของกลุ่มก้าวหน้า ล้วนไม่ใช่การแก้ปมที่จิรังยั่งยืนทั้งสิ้น ชอบหรือไม่ชอบ ก็ต้องค่อยๆ สางปมทั้งหลายลงอย่างใจเย็นๆ โดยไม่เสียหลักการของตนเอง จึงจะพอมีความหวังที่จะคลี่คลายปมการเมืองของไทยลงได้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นี่ไม่ใช่หนังสือที่ชวนให้ปฏิวัติอย่างถึงรากถึงโคน แต่ชวนให้คลี่คลายปมการเมืองไปทีละเปลาะ แต่ไม่ลืมเป้าหมายของการปฏิวัติไปพร้อมกัน

นิธิ เอียวศรีวงศ์

14 มีนาคม 2558

คำนำผู้เขียน

บทความที่รวมเล่มอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ส่วนใหญ่เขียนขึ้นในช่วงหลังปี พ.ศ. 2548 ยุคสมัยที่สังคมการเมืองไทยเผชิญหน้ากับวิกฤตการเมืองครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้เขียนเดินทางจากประเทศไทยไปลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ในสาขาการเมืองเปรียบเทียบและทฤษฎีการเมือง งานหลายชิ้นเขียนขึ้นในช่วงที่กำลังศึกษาต่ออยู่ต่างประเทศนั้นเอง บางชิ้นแปลมาจาก บทความภาษาอังกฤษที่ผู้เขียนเคยนำเสนอและตีพิมพ์ในที่ต่างๆ อีกจำนวนหนึ่งเป็น ผลผลิตจากงานวิจัยและงานปาฐกถา บางส่วนเป็นบทความแนะนำหนังสือที่ผู้เขียนคิดว่ามีประเด็นชวนให้ขบคิดและช่วยให้เข้าใจสังคมไทยในมิติใหม่ๆ บางชิ้นเขียนขึ้น เมื่อจบการศึกษากลับมาทำงานสอนหนังสือแล้ว โดยมี 2 ชิ้นที่ยังมิได้ตีพิมพ์เผยแพร่ ในวงกว้างมาก่อนคือ ปาฐกถาเรื่อง “การเดินทางของความไม่เสมอภาคในสังคมไทย” (แสดงที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557) และบทความเรื่อง “กระสุนปืน ควันระเบิด การปะทะมวลชน และคูหาเลือกตั้ง : ความขัดแย้งและความรุนแรงในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557” (มาจากงานวิจัยที่สนับสนุนโดยคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์)

เมื่อย้อนกลับไปอ่านบทความทุกชิ้นอีกครั้ง ณ วันนี้ ก็รำลึกได้ว่างานหลายชิ้น เขียนขึ้นมาจากความอึดอัดคับข้องใจต่อสภาพของบ้านเมืองที่ดูเหมือนดำเนินไปอย่างผิดทิศผิดทางและไร้ทางออก บางชิ้นเขียนขึ้นเพื่ออธิบายเหตุการณ์ ณ ห้วงเวลาหนึ่งๆ รวมทั้งเพื่อสร้างบทสนทนาวิวาทะกับความเชื่อและมายาคติที่แพร่หลายในสังคมไทยบางชิ้นแม้จะเขียนขึ้นหลายปีแล้ว แต่เมื่อนำมาอ่าน ณ ปัจจุบัน ก็ต้องพูดเข้าข้างตัวเอง ว่ามันยังมีความร่วมสมัยกับสถานการณ์ในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย ที่เป็นเช่นนี้มิใช่เพราะผู้เขียนมีความสามารถในการพยากรณ์การเมืองไทยได้ล่วงหน้า แต่คงเป็นเพราะการเมืองไทยย่ำอยู่กับที่เสียมากกว่า เพราะทุกครั้งที่เราเผชิญปัญหาความขัดแย้ง เราใช้วิธีการที่ (ผิดพลาด) แบบเดิม ๆ มาแก้ไข และเพราะเหตุนั้น เราจึงวนกลับมายืนอยู่ ณ จุดเดิมเสมอ[expander_maker id=”1″ more=”อ่านต่อ >>” less=”<< ย่อหน้า “]

เมื่อกล่าวถึงมายาคติทางการเมือง ผู้เขียนคิดว่าไม่มีมายาคติใดแพร่ระบาด กว้างขวางและลงลึกเท่ากับเรื่องประชาธิปไตย สังคมไทยพูดถึงคำว่า “ประชาธิปไตยมาก แต่เราสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยน้อย เช่นเดียวกับเรื่องความรุนแรง จากสมัยก่อนที่สังคมไทยและวงวิชาการไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับปัญหาความรุนแรงทางการเมืองมาก่อน มาช่วงหลังปี 2548 เป็นต้นมา ทุกฝ่ายหันมาพูดถึงคำว่าความรุนแรงอย่างดาษดื่นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน วาทกรรมเกี่ยวกับความรุนแรงถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามและให้ความชอบธรรมกับตนเอง อย่างไรก็ตาม แม้วาทกรรมเรื่องความรุนแรงจะถูกใช้จนเฝือ แต่องค์ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงกลับแทบจะไม่พัฒนาไปแต่อย่างใด

ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยน(ไม่)ผ่านของสังคมไทยในปัจจุบัน ผู้เขียนได้แต่หวังในใจว่าบทความต่าง ๆ ในเล่มนี้จะช่วยสมทบส่วนในการสร้างความรู้และข้อถกเถียงให้กับวงวิชาการไทยในเรื่องประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม ผู้เขียนเชื่ออย่างจริงใจว่าวิกฤตการเมืองรอบนี้มิใช่เพียงวิกฤตการเมืองของการแย่งชิงอำนาจ และผลประโยชน์เพียงเท่านั้น หากเป็นวิกฤตทางความคิดของสังคมไทยทั้งหมด จะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้โดยไม่นองเลือดและบอบช้ำ ก็ต้องช่วยกันประคับประคองและหล่อเลี้ยงให้สังคมไทยใช้สติและปัญญาให้มากที่สุด หรือจะพูดว่าต้องแก้วิกฤตด้วยความรู้ก็คงจะได้ในระยะยาว เราต้องช่วยกันรื้อถอนมายาคติและการโฆษณาชวนเชื่อที่ครอบงำสังคมไทย และยกระดับให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกเถียงกันด้วยข้อมูลและความรู้อย่างเสรี เปิดกว้างและเคารพกันและกัน มิเช่นนั้นเราคงต้องติดอยู่ในกับดักของอำนาจนิยมและความรุนแรงไปอีกนานแสนนาน

ในการรวมเล่มบทความครั้งนี้ นอกจากรวมบทความใหม่ 2 ชิ้นที่ยังมิได้ เผยแพร่ในวงกว้าง ผู้เขียนได้กลับไปแก้ไขเพิ่มเติมบทความต่างๆ ที่เคยตีพิมพ์ไปแล้วให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นทั้งในเชิงเนื้อหาและการอ้างอิง ผลงานในหนังสือเล่มนี้เกิด ขึ้นได้ก็เพราะสติปัญญา กำลังใจและความช่วยเหลือของคนจำนวนมาก จึงขอถือโอกาสขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ ขอบคุณครูบาอาจารย์ เพื่อนพ้องในวงวิชาการ และลูกศิษย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็น “โรงเรียน” บ่มเพาะจิตสำนึกและสติปัญญาของผู้เขียนตั้งแต่สมัยปริญญาตรีจนถึงปัจจุบัน ทุกคนมีส่วนช่วยตั้งคำถาม ช่วยหาคำตอบ และช่วยกระตุ้นให้ผู้เขียนขบคิดเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรมอย่างจริงจัง ขอบคุณคณาจารย์และเพื่อนที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน และมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียที่ช่วยเปิดมุมมองใหม่ทางวิชาการ ขอบคุณผู้ช่วยวิจัยหลายท่านที่มีส่วนช่วยในการค้นคว้าข้อมูลประกอบบทความหลายชิ้นที่ปรากฏในเล่มนี้ นอกจากนี้ ต้องขอขอบคุณอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนรักและเคารพนับถืออย่างสูงที่กรุณาให้เกียรติเขียนคำนำเสนอให้หนังสือเล่มนี้ สุดท้ายและสำคัญที่สุด ขอขอบคุณสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ให้ความสนใจ ผลงานของผู้เขียน ช่วยรวบรวมบทความ จัดทำบรรณานุกรม และทำงานอย่างอุตสาหะ และประณีตในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นรูปเล่มอย่างสวยงาม

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

มีนาคม 2558

ทดลองอ่าน