ข้อมูลทั่วไป
ผู้เขียน | เรณู ปัญญาดี |
---|---|
จำนวนหน้า | 248 |
ปีที่พิมพ์ | 2555 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667089 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667072 |
ปกแข็ง 175.00 บาทปกอ่อน 138.00 บาท
ผู้เขียน | เรณู ปัญญาดี |
---|---|
จำนวนหน้า | 248 |
ปีที่พิมพ์ | 2555 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667089 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667072 |
คำนำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
คำนำโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
คำนิยมโดย ไมเคิล ไรท์: ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจากภาพการ์ตูน
คำนำผู้เขียน
บทที่ 1. พ่อมาจากดาวคลองถม
บทที่ 2. หางดาบ ดอตคอม
บทที่ 3. ดักแด้วันนี้ ดักดานวันหน้า
บทที่ 4. กำกึ่งรายครึ่งสัปดาห์
เรณู ปัญญาดี เริ่มส่งการ์ตูนขนาดสั้นจบในตอน ตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องใน มติชนสุดสัปดาห์ตั้งแต่ปี 2542 และเขียนการ์ตูนขนาดยาวลงในวารสาร อ่านและ มติชนสุดสัปดาห์ตั้งแต่ปี 2548 นับจากปี 2542-2555 เป็นระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผู้อ่านได้รับรู้ความเป็นมาและเป็นไป ตลอดจนพัฒนาการของครอบครัวระกา-ราณี ซึ่งเปรียบเสมือนภาพตัวแทนครอบครัวชนชั้นกลางไทยในเมืองใหญ่
ในช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของสังคมไทยซึ่งกำลังจะมาถึงในไม่ช้า สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเล็งเห็นว่า การรวบรวม และตีพิมพ์การ์ตูน เรณู ปัญญาดีในช่วง 13 ปีที่ผ่านมาเป็นชุด โดยแบ่งเป็น 3 เล่ม น่าจะมีความหมายต่อการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยลักษณะเฉพาะของการ์ตูน เรณู ปัญญาดีเอง 3 ประการ
ประการแรกแม้ เรณู ปัญญาดีจะดูเหมือนเป็นแค่การ์ตูนขนาดสั้นที่จบในตอน แทรกอยู่ในหน้านิตยสาร มติชนรายสัปดาห์ทว่าสถานะของมันย่อมมิใช่แค่ของแถมอย่างที่บ่อยครั้งการ์ตูนการเมืองมักถูกให้ค่าตีราคาเช่นนั้นในสื่อของ
ประเทศกำลังพัฒนายิ่งในยุคที่พายุใหญ่ทางการเมืองโหมใกล้เข้ามาอยู่รอมร่อ แต่ยังไร้สัญญาณเตือนล่วงหน้าใด ๆ จากเสียงฟ้าลั่นคำรามมาแต่ไกลของวรรณกรรมไทย จะมีก็แต่เสียงตะโกนโหวกเหวกของ ด.ช.ระกา และ ด.ญ. ราณี มิใช่หรือที่ดังจนแสบแก้วหู หากอ่านการ์ตูน เรณู ปัญญาดีรวดเดียวจบตั้งแต่เล่ม 1 เล่ม 2 และเล่ม 3 ผู้อ่านอาจเกิดอาการขนหัวลุกด้วยรู้ชัดแล้วว่าในระยะเวลาอันใกล้ ฟ้ากำลังจะถล่มและแผ่นดินจะสะเทือนเลื่อนลั่นอย่างน่าแสยงสยองได้ขนาดไหน
ประการที่สอง ในแง่มิติเวลา การ์ตูน เรณู ปัญญาดีวางตัวเอง สัมพันธ์อยู่กับบริบททางการเมืองปี 2542-2555 ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ยุคทักษิโณมิกส์ ก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยา 2549 จน เข้าสู่ยุคอำมาตยาธิปไตย (หรือเรียกให้หรูหราว่ายุคประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) อีกทั้งบ่อยครั้งหรือเกือบจะตลอดเวลา ที่ผู้อ่านจะสังเกตได้ถึงการที่เรณู ปัญญาดี เชื่อมโยง เรื่องราวกลับไปในช่วงปี 2516-2519 หรือไม่ก็ช่วง 2475 ผ่านความทรงจำของพ่อ ดังนี้แล้ว สำหรับผู้อ่านที่เป็นแฟนประจำ เรณู ปัญญาดีอยู่แล้ว การย้อนกลับไปอ่านการ์ตูน เรณู ปัญญาดีตั้งแต่แรกใหม่ จึงเปรียบได้กับการ revisit หรือการกลับไปพินิจพิจารณาทั้งครอบครัวระการาณีและสังคมไทยในช่วงเวลาต่าง ๆ ใหม่อีกครั้ง ซึ่งรับประกันว่าจะได้อรรถรสอีกแบบ และจะทำให้เห็นแง่มุมที่แตกต่างจากที่เคยอ่านมาแล้วในเวลา real time หากใครยังเชื่ออยู่อีกว่า “สิ่งดี ๆ กำลังจะมา”เส้นเวลาของระการาณีอาจบอกอะไรที่ตรงกันข้าม
ประการที่สามในขณะที่โดยเนื้อหา เรณู ปัญญาดีได้วิพากษ์วิจารณ์แทบจะทุกอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย ไม่ว่าอนุรักษนิยม เสรีนิยม สังคมนิยม ชาตินิยม ฟาสซิสม์ นิเวศนิยม โดยเนื้อแท้เป็นการเชิดชูคุณค่าการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นหัวใจของสังคมเสรีประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ในห้วงเวลาที่กระทรวงไอซีที ไม่ว่าโดยรัฐบาลอนุรักษนิยมหรือรัฐบาลที่พรางตัวอยู่ในคราบเสรีนิยม ยังคงเดินหน้าโครงการลูกเสือไซเบอร์ อบรมเยาวชนให้มีสำนึกเกลียดชังและจับผิดผู้ที่คิดเห็นต่าง ในห้วงเวลาที่ แบบเรียนไทยยังคงล้าสมัยไปไกลโพ้นอย่างยากจะชำระให้ทันท่วงทีกับการเปลี่ยนแปลง การ์ตูน เรณู ปัญญาดีอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ จะปลูกฝังวัฒนธรรมการตั้งคำถาม กระตุ้นความอยากรู้ หรือกระทั่งให้ความรู้ (ที่ไม่สำเร็จรูป) กับทั้งผู้ใหญ่และเด็กคนชั้นกลางในเมือง (ผู้ไม่อยากรู้อะไร/ผู้รู้ดีว่าตัวเองไม่อยากรู้อะไร) ซึ่งจะว่าไปก็น่าจะเป็นคู่สนทนาเดียวและถือได้ว่าเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่สุดของครอบครัวระกา-ราณี ส่วนเคาะประตูแล้วพวกเขาจะเปิดรับหรือไม่ ก็เป็นเรื่องยากเกินคาดเดา
การจัดเรียงและจัดหมวดหมู่ในการ์ตูน เรณู ปัญญาดีทั้งสามเล่มนี้ โดยหลักได้จัดเรียงตามช่วงปีที่แต่ละตอนได้รับการตีพิมพ์ อีกทั้งเรียงใหม่ตามความจงใจของผู้เขียนเรณู ปัญญาดี เอง
เล่ม 1 แบบเรียน (กิ่ง) สำเร็จรูป (2542-2546) เป็นเรื่องของครอบครัวชนชั้นกลางป่วง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยพ่อแม่ Stereotype, ระกา-ราณี ลูกชายลูกสาวตัวแสบ และหางดาหมาเนิร์ดที่หมกมุ่นอยู่กับโลกไซเบอร์สเปซ เรื่องราวส่วนใหญ่ วนเวียนอยู่ในปริมณฑลของครอบครัวและโรงเรียน ท่ามกลางสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับภาวะสมัยใหม่ โลกาภิวัตน์ สังคมไอที การแปรรูปเป็นเอกชน และอาการวิตกจริตว่าจะแข่งกับชาติอื่นในเวทีเศรษฐกิจโลกไม่ได้ ขณะที่ระบบการศึกษาภายในประเทศก็ล้าหลังสุด ๆ
เล่ม 2 ครึ่งหนึ่งของความ (ไม่อยาก) รู้(2546-2555) แบ่ง เป็น 3 ส่วน ส่วนแรก “ครึ่งแรกของความรู้” (2546-2549), ส่วนที่สอง “ชำระรายวัน” (2549-2550), และส่วนที่สาม “ครึ่งหลังของความรู้” (2554-2555) ในเล่มนี้ ครอบครัวป่วง ๆ ของระกา-ราณี ต้องเผชิญกับความฉิบหายวายป่วงเข้าไปอีก เมื่อแขกที่ไม่ได้รับเชิญของคณะรัฐประหาร ตัวละครหน้าเก่าที่อวตารแปลงร่างมาในเสื้อคลุมแบบใหม่ ปลุกให้ความทรงจำของคนรุ่นพ่อต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ย้อนกลับมาทับซ้อนกับปรากฏการณ์ความรุนแรงที่ฝ่ายอนุรักษนิยม/รอยัลลิสต์กระทำต่อกลุ่มที่ต้องการปฏิรูปสถาบันฯ แก่นแกนของเล่มนี้จึงดูเหมือนอยู่ที่การต่อสู้กันของ “ความรู้” และ “ความไม่อยากรู้” อย่างที่ตัวการ์ตูนพูดในตอนหนึ่งว่า“ครึ่งหนึ่งของความรู้คือรู้ว่าเราจะหาความรู้ได้ที่ไหน” (ฝ่ายเสื้อแดงที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงและฝ่ายปัญญาชนก้าวหน้าที่เสนอการแก้ไขมาตรา 112) และ “อีกครึ่งหนึ่งของความรู้คือ รู้ว่าเราไม่อยากรู้อะไร” (ฝ่ายอนุรักษนิยม และรอยัลลิสต์ซึ่งต้องการดำรง status quo ของตนเอง และปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการทุกรูปแบบ) ในขณะที่สื่อกระแสหลัก น่าจะเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของ “ความไม่รู้” (ignorance) อย่างจงใจ เพราะถึงที่สุดแล้ว ได้เลือกที่จะจำกัดตัวเองอยู่ที่การเป็นกระดาษชำระรายวันซึ่งไม่ผลิตสร้างองค์ความรู้ใด ๆ ให้แก่สังคม
เล่ม 3 ท่องโลกพลังลบ เที่ยวภพพลังบวก(2548-2553) ในเล่มนี้ ระกา-ราณี สองพี่น้องสุดแสบพากันออกจากบ้าน (ก็แล้วใครจะทนนิ่งเฉยอยู่ไหว!) ทั้งสองเริ่มท่องเที่ยวไปในสามภพ แสวงหาความรู้ทางวิชาการอย่างจริงจังเพื่อเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ออกไปสู่ท้องถนน ไปสังเกต จับผิด ถอดรหัส การอ้างเหตุผลที่แสนจะ absurd ของพวกอีลีตม็อบ ศึกษาความย้อนแย้งของวาทกรรมการเมืองอย่างเป็นระบบ วิพากษ์กระทั่งด่ากราดภาวะเสแสร้งแกล้งเอาศีลธรรมมาบังหน้าของเหล่าตัวแสดงทางการเมือง ทั้งกูรูสันติภาพ ราษฎรอาวุโส สื่อผู้ทรงศีล ศิลปินจอมปลอม ฯลฯ อย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม สุดท้ายจบการเดินทางด้วยการดิ่งลึกไปใน “นรก” เพื่อสำรวจหัวจิตหัวใจของเหล่าชนชั้นกลาง ที่ซึ่งความกลัวและกระบวนการจัดการกับความกลัวด้วยสิ่งที่เรียกว่า “วิธีคิดเชิงบวก” กำลังรีบเร่งทำงานกันอย่างแข็งขัน หลังการล้อมปราบผู้ชุมนุมในช่วงเมษา-พฤษภา 53 อย่างอำมหิต
สิบกว่าปีผ่านไป ภาพการ์ตูน ด.ช. ระกา กับ ด.ญ. ราณี ที่ยังถูกวาดด้วยลายเส้นแบบเดิมๆ ลวงตาผู้อ่านให้หลงคิดว่าทั้งคู่ยังเป็นเพียงเด็กประถมตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ได้เติบโตขึ้นตามกาลเวลาแต่อย่างใด กระนั้นก็ตาม หากสบตากับเด็กทั้งสองนานพอผู้อ่านอาจเห็นภาพสะท้อนภาวะชราภาพของสังคมไทยอย่างกระจ่างชัด อีกทั้งเห็นภาพอุดมคติที่ยังสดใหม่ อันเป็นภาพ ideal type ของเสรีชนผู้ไม่สยบยอมต่อการครอบงำด้วยวาทกรรมใด ๆ
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันคาดหวังว่า การผลิตซ้ำการ์ตูนชุด เรณู ปัญญาดีครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มปริมาณเสรีชนชนิดนี้ ผู้ซึ่งมั่นคงดำรงสติอยู่ได้ด้วย “อารมณ์ขันขึ้น” ไม่ว่าจะพลัดหลงเข้าไปอยู่ในครอบครัวสาธารณ์ ในระบอบการเมืองวิปริตในนรกดัดจริต หรือในสวรรค์วิมานจอมปลอม แน่นอนว่า เส้นทางสู่ความเป็นอารยะของสังคมไทยยังอีกยาวไกลนัก เรณู ปัญญาดี ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้ว่าจุดหมายปลายทางจะอยู่ที่ไหนและจะมีหน้าตาอย่างไร เขาเพียงบอกเป็นนัยว่า คำตอบอาจอยู่ที่เสรีภาพในการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์นั่นเอง
มีนาคม 2555
กำเนิดของการ์ตูนชุดนี้เริ่มขึ้นเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ต้นแบบมาจากหนังสือตำราเรียนเก่า ๆ ที่ญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเก็บเอาไว้สอนภาษาให้แก่ลูกหลาน แม้ในสมัยนั้น ตำราเรียนเล่มนี้ก็ดูล้าสมัยแล้วที่ยังคงถูกใช้สอนในโรงเรียนบางแห่งและหลงเหลือมาถึงมือผู้เขียน คงเพราะมันเป็นตำราเล่มเดียวกับที่เจ้าของเคยใช้เรียนเมื่อวัยเด็ก ซึ่งน่าจะทำให้การสอนนั้นสะดวกง่ายดายสำหรับท่าน
ตามประวัติที่มีผู้สืบค้นไว้ตำราเล่มนี้เป็นหนังสือแบบเรียนวิชาภาษาไทยสำหรับเด็กประถมต้น มีชื่อว่า แบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1 ตอนต้น แต่งขึ้นโดยหลวงดรุณกิจวิทูรและนายฉันท์ ขำวิไล รูปประกอบโดยนายจุมพล กาญจนินทุ จัดพิมพ์โดย กรมศึกษาธิการ เมื่อราวปี พ.ศ. 2490 (จากนักวาดชั้นครู โดยอเนก นาวิกมูล, สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์2545) ฉบับที่ผู้เขียนใช้เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจในการผลิตงานชุดนี้นั้น พิมพ์ เมื่อ พ.ศ. 2519 ซึ่งหมายความว่ามีการพิมพ์ซ้ำกันตลอดมาเป็นเวลาหลายสิบปีหลังจากการพิมพ์ครั้งแรกๆ
ความที่ตำราเล่มนี้ มีประวัติการพิมพ์ซ้ำอันยาวนาน ข้อความที่ว่า “ป้า กับ ปู่ กู้ อี จู” และ “แต่ก่อนๆ นานมาแล้ว คนเรายังโง่ บ้านเมืองก็ยังไม่มี” อันเป็นประโยคที่อยู่หน้าต้น ๆ ของตำราเล่มนี้จึงยังเป็นที่จดจำของคนสมัยนี้ที่มีอายุสาม – สี่สิบปีขึ้นไปเกือบทุกคน และชวนให้หวนรำลึกถึงบรรยากาศของบ้านเมืองยุค “รัฐนิยม” และการศึกษาเล่าเรียนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
ในแง่เนื้อหา แม้จะเป็นแบบเรียนในวิชาภาษาไทย แต่ก็มีบทบาทชี้นำประพฤติปฏิบัติของปัจเจกบุคคลในสังคมอย่างจริงจัง แบบเรียนจะสอนเราว่า พ่อคือคนดี มีเมตตา ครูบาอาจารย์คือคนที่มอบแต่สิ่งที่ดีให้กุลบุตร กุลธิดา และเพียงแต่เรา ในฐานะที่เป็นเยาวชนชาวไทยคนหนึ่ง หมั่นทำความเคารพครู เชื่อฟังพ่อแม่ ดูแลญาติ ผู้ใหญ่ และเอาใจใส่เพื่อนบ้าน ซึ่งหมายความว่าแสดงความเชื่อมั่นในระบบสังคมที่เรียบง่ายแบบ“หมู่บ้าน” สังคมไทยจะเข้มแข็งและเจริญก้าวหน้าไปเองโดยอัตโนมัติใน
แง่รูปแบบ สิ่งที่กระทบใจผู้เขียนถึงขนาดที่ต้องรีบคว้ามา “ลอกเลียน” นั้น เห็นจะเป็นความเรียบง่ายแบบ “สำเร็จรูป” อันได้แก่การจัดองค์ประกอบที่สมดุลแบบคลาสสิก ด้วยฝีมือของผู้วาดซึ่งช่ำชองในขนบของศิลปะแบบดั้งเดิม ฉากหลังและสถานการณ์จะถูกวางไว้อย่างแจ่มแจ้ง ตัวละครจะถูกขับดันให้โดดเด่นขึ้นมาจากฉากหลัง อีกทั้งถูกจัดวางเพื่อความแตกต่างระหว่าง “สถานภาพ” ของตัวละคร เช่น ของผู้ให้ โอวาทกับผู้อยู่ในโอวาท (ซึ่ง มักจะมีการชี้มือไม้ให้เข้าใจได้โดยเร็วว่าใครเป็นใคร)อย่างชัดเจน ความสำเร็จรูปเหล่านี้เองที่ทำให้มันเหมาะสม สำหรับแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมแบบหมู่บ้าน และเป็นภาพในเชิง “อุดมคติ” ของสถาบันต่างๆ เช่น ครอบครัวแบบชนชั้นกลาง สังคมที่เอื้ออาทร และรัฐชาติที่สงบราบคาบแต่มั่นคง ฯลฯ
ทุกวันนี้ เราพูดถึงภาพลักษณ์สังคมไทยในอุดมคติของยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่พ้นสมัยไปแล้ว ศิลปะสำเร็จรูปในยุคนั้น ก็เช่นกัน ถือว่าเป็นเพียงสไตล์ที่หมดพลังในเชิงความสมจริง และอุดมการณ์ หากหยิบยกขึ้นมาก็เพื่อชวนให้หวนรำลึกถึงความหลังหรือยกย่องกัน ในแง่ของศิลปะการวาดภาพในขนบธรรมเนียมแบบเก่า เท่านั้น
แต่สำหรับผู้เขียน ลักษณะสำเร็จรูปดังกล่าวยังไม่ได้หมดพลังในด้านอุดมการณ์ ทุกวันนี้การใส่เสื้อนอกอาจเริ่มถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าหัวเราะ ส่วนการเชื่อฟังรัฐราชการและการอยู่ในโอวาทของผู้ใหญ่ก็เริ่มถูกตั้งคำถาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราหลุดพ้นจากกรอบอุดมคติหรือ“มโนทัศน์” ของอดีตแต่อย่างใด สิ่งที่เป็นอุดมคติของปัจจุบัน ยังเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่เรียบง่าย
ในแง่นี้ ผู้รู้หลายท่านได้เคยวิเคราะห์ไว้แล้วว่า ตำราเรียนยุคดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงตัวแทน“ความรู้สึกโหยหาอาลัยอดีต” หรือ “ซากเดนอุดมการณ์” แต่เป็นกรอบมโนทัศน์ที่ยังดำรงอยู่ แม้ในปัจจุบัน ซึ่งแทบจะไม่ถูกกระทบกระเทือนจากกระแสความเปลี่ยนแปลงในเวลากว่าห้าสิบปีที่ผ่านมา
แนวทางของ “บทความตูน” ชุดนี้ก็คือแต่งเติมรูปประกอบและคำบรรยายให้แลดู“แปลกแยก” กับสไตล์และยุคสมัยของตัวมันเอง เมื่อเริ่มขึ้นใช้ชื่อว่า “ไปโรงเรียน” ผลงานจึงอบอวลไปด้วยบรรยากาศของยุคก่อนพุทธกาล แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความขัดแย้งขึ้นด้วยคำพูดที่มีน้ำเสียงและเนื้อหาของยุคหลัง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การไม่มีกาลเทศะที่แน่นอนนี่เองทำให้ “ความสมจริง” กลับกลายเป็น “ความเซอร์”หรือ “เหนือจริง” ความไร้เดียงสากลายเป็นความสิ้นหวัง ส่วนน้ำเสียงที่บริสุทธิ์ร่าเริงก็กลายเป็นเยาะเย้ยถากถาง
อีกสิบกว่าปีต่อมา เมื่อนำเอาสไตล์นี้มาใช้ใน “เรณู ปัญญาดี” (ตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ช่วงปี พ.ศ. 2542 ถึงปัจจุบัน) เป็นยุคที่สังคมไทยก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในยุคนี้กระแสโลกาภิวัตน์ สังคม ไอ.ที. และการแปรรูปเป็นเอกชนทำให้การถกเถียงเรื่องทิศทางของสังคมไทยก้าวไปสู่ประเด็น ใหม่ๆ บทความตูนชุดนี้ถูกดัดแปลงเป็นการ์ตูนช่อง (comics strips) และมี “ความเซอร์” น้อยลงแต่สไตล์ ในการนำเสนอก็ยังคล้ายเดิม เช่น เน้นความเป็นภาพนิ่งของรูป และในขณะที่คำพูดเต็มไปด้วยประเด็นการถกเถียงกัน น่าสับสนของยุคปัจจุบัน รูปจะสะท้อนถึงโลกที่สงบ เป็นระเบียบและมั่นคงเช่นในอดีต
ความขัดแย้งระหว่างคำพูดกับรูปในลักษณะนี้ เป็นความพยายามที่จะเปิดเผยความก้ำกึ่งและกำกวมของโลกยุคเก่าและใหม่ มุ่งหมายจะชี้ชวนให้ผู้อ่านมองไปที่กรอบของอุดมการณ์ที่แฝงอยู่ในวาทกรรมของปัจจุบัน อีกทั้งชี้ว่า แม้จะมีประเด็นใหม่และศัพท์แสงใหม่เกิดขึ้นอีกมากมาย สิ่งที่ยังคงทำหน้าที่เป็นเสมือนเงาที่ทาบทับอยู่บนการถกเถียงด้วยคำพูดเหล่านั้นก็ยังเป็นภาพลักษณ์ของสังคมอุดมคติที่เรารับเป็นมรดก สืบทอดมา
ความลักลั่นของการนำเสนอจึงเป็นลักษณะเด่นและเป็นที่มาของชื่อ “แบบเรียน (กึ่ง) สำเร็จรูป” ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความตูนชุด“เรณู ปัญญาดี” เล่มนี้
ในท้ายที่สุด นอกเหนือไปจากคุณสมบัติของการ์ตูนทั่วไป อันได้แก่มุกตลกและความคิดเห็นที่แหลมคมบ้างทื่อมะลื่อบ้างแล้ว หนังสือเล่มนี้จะน่าสนใจแค่ไหน คงจะขึ้นอยู่กับว่า ความ (กึ่ง)สำเร็จรูปของมันจะยั่วยุให้ผู้อ่านแลเห็นความขัดแย้งเชิงอุดมคติของสังคมไทยสองยุคได้หรือไม่
มิถุนายน 2546