Sale 50%

เรณู ปัญญาดี เล่ม 3 ท่องโลกพลังลบ เที่ยวภพพลังบวก

ปกแข็ง 188.00 บาทปกอ่อน 150.00 บาท

รหัส: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

ผู้เขียน

เรณู ปัญญาดี

จำนวนหน้า

216

ปีที่พิมพ์

2555

ISBN ปกอ่อน

9786167667065

ISBN ปกแข็ง

9786167667058

สารบัญ

คำนำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

คำนำ โลกของเรณู ปัญญาดี โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

เที่ยวโลกวิชาการ

เมื่อภาพเสนอแล้วเธอต้องตอบสนอง

ลิสต์ครองโลก

นิธิแลนด์ สวนสนุกเพื่อภูมิปัญญา

คู่มือท่องเที่ยวประเทศครูเป็น

ทัวร์ป่วนหมอง เที่ยวป่วนเมือง

ประชาธิปไตยในเรือนกระจก

ม็อบอำมาตย์

เที่ยวสามโลก

นรกพลังบวก

Avatar :มารการเมือง

สินละปินเห็นผี : ความกลัว….จัดการได้

ภาพลักษณ์สำเร็จรูป : บทสัมภาษณ์เรณู ปัญญาดี

คำนำสำนักพิมพ์

เรณู ปัญญาดี เริ่มส่งการ์ตูนขนาดสั้นจบในตอน ตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องใน มติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่ปี 2542 และเขียนการ์ตูนขนาดยาวลงในวารสาร อ่าน และ มติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่ปี 2548 นับจากปี 2542-2555 เป็นระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผู้อ่านได้รับรู้ความเป็นมาและเป็นไป ตลอดจนพัฒนาการของครอบครัวระการาณี ซึ่งเปรียบเสมือนภาพตัวแทนครอบครัวชนชั้นกลางไทยในเมืองใหญ่

ในช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของสังคมไทยซึ่งกำลังจะมาถึงในไม่ช้า สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเล็งเห็นว่า การรวบรวม และตีพิมพ์การ์ตูน เรณู ปัญญาดี ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมาเป็นชุด โดยแบ่งเป็น 3 เล่ม น่าจะมีความหมายต่อการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยลักษณะเฉพาะของการ์ตูน เรณู ปัญญาดีเอง 3 ประการ

ประการแรก แม้ เรณู ปัญญาดี จะดูเหมือนเป็นแค่การ์ตูนขนาดสั้นที่จบในตอน แทรกอยู่ในหน้านิตยสาร มติชนรายสัปดาห์ ทว่าสถานะของมันย่อมมิใช่แค่ของแถมอย่างที่บ่อยครั้งการ์ตูนการเมืองมักถูกให้ค่าตีราคาเช่นนั้นในสื่อของประเทศกำลังพัฒนายิ่งในยุคที่พายุใหญ่ทางการเมืองโหมใกล้เข้ามาอยู่รอมร่อ แต่ยังไร้สัญญาณเตือนล่วงหน้าใดๆ จากเสียงฟ้าลั่นคำรามมาแต่ไกลของวรรณกรรมไทย จะมีก็แต่เสียงตะโกนโหวกเหวกของ ..ระกา และ .. ราณี มิใช่หรือที่ดังจนแสบแก้วหู หากอ่านการ์ตูน เรณู ปัญญาดี รวดเดียวจบตั้งแต่เล่ม 1 เล่ม 2 และเล่ม 3 ผู้อ่านอาจเกิดอาการขนหัวลุกด้วยรู้ชัดแล้วว่าในระยะเวลาอันใกล้ ฟ้ากำลังจะถล่มและแผ่นดินจะสะเทือนเลื่อนลั่นอย่างน่าแสยงสยองได้ขนาดไหน

ประการที่สอง ในแง่มิติเวลา การ์ตูน เรณู ปัญญาดีวางตัวเอง สัมพันธ์อยู่กับบริบททางการเมืองปี 2542-2555 ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ยุคทักษิโณมิกส์ ก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยา 2549 จน เข้าสู่ยุคอำมาตยาธิปไตย (หรือเรียกให้หรูหราว่ายุคประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) อีกทั้งบ่อยครั้งหรือเกือบจะตลอดเวลา ที่ผู้อ่านจะสังเกตได้ถึงการที่เรณู ปัญญาดี เชื่อมโยง เรื่องราวกลับไปในช่วงปี 2516-2519 หรือไม่ก็ช่วง 2475 ผ่านความทรงจำของพ่อ ดังนี้แล้ว สำหรับผู้อ่านที่เป็นแฟนประจำ เรณู ปัญญาดีอยู่แล้ว การย้อนกลับไปอ่านการ์ตูน เรณู ปัญญาดีตั้งแต่แรกใหม่ จึงเปรียบได้กับการ revisit หรือการกลับไปพินิจพิจารณาทั้งครอบครัวระการาณีและสังคมไทยในช่วงเวลาต่างๆ ใหม่อีกครั้ง ซึ่งรับประกันว่าจะได้อรรถรสอีกแบบ และจะทำให้เห็นแง่มุมที่แตกต่างจากที่เคยอ่านมาแล้วในเวลา real time หากใครยังเชื่ออยู่อีกว่าสิ่งดีๆ กำลังจะมาเส้นเวลาของระการาณีอาจบอกอะไรที่ตรงกันข้าม

ประการที่สาม ในขณะที่โดยเนื้อหา เรณู ปัญญาดีได้วิพากษ์วิจารณ์แทบจะทุกอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย ไม่ว่าอนุรักษนิยม เสรีนิยม สังคมนิยม ชาตินิยม ฟาสซิสม์ นิเวศนิยม โดยเนื้อแท้เป็นการเชิดชูคุณค่าการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นหัวใจของสังคมเสรีประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ในห้วงเวลาที่กระทรวงไอซีที ไม่ว่าโดยรัฐบาลอนุรักษนิยมหรือรัฐบาลที่พรางตัวอยู่ในคราบเสรีนิยม ยังคงเดินหน้าโครงการลูกเสือไซเบอร์ อบรมเยาวชนให้มีสำนึกเกลียดชังและจับผิดผู้ที่คิดเห็นต่าง ในห้วงเวลาที่ แบบเรียนไทยยังคงล้าสมัยไปไกลโพ้นอย่างยากจะชำระให้ทันท่วงทีกับการเปลี่ยนแปลง การ์ตูน เรณู ปัญญาดี อาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ จะปลูกฝังวัฒนธรรมการตั้งคำถาม กระตุ้นความอยากรู้ หรือกระทั่งให้ความรู้ (ที่ไม่สำเร็จรูป) กับทั้งผู้ใหญ่และเด็กคนชั้นกลางในเมือง (ผู้ไม่อยากรู้อะไร/ผู้รู้ดีว่าตัวเองไม่อยากรู้อะไร) ซึ่งจะว่าไปก็น่าจะเป็นคู่สนทนาเดียวและถือได้ว่าเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่สุดของครอบครัวระการาณี ส่วนเคาะประตูแล้วพวกเขาจะเปิดรับหรือไม่ ก็เป็นเรื่องยากเกินคาดเดา

การจัดเรียงและจัดหมวดหมู่ในการ์ตูน เรณู ปัญญาดี ทั้งสามเล่มนี้ โดยหลักได้จัดเรียงตามช่วงปีที่แต่ละตอนได้รับการตีพิมพ์ อีกทั้งเรียงใหม่ตามความจงใจของผู้เขียนเรณูปัญญาดี เอง

เล่ม 1 แบบเรียน (กิ่ง) สำเร็จรูป (2542-2546) เป็นเรื่องของครอบครัวชนชั้นกลางป่วงๆ ซึ่งประกอบไปด้วยพ่อแม่ Stereotype, ระการาณี ลูกชายลูกสาวตัวแสบ และหางดาหมาเนิร์ดที่หมกมุ่นอยู่กับโลกไซเบอร์สเปซ เรื่องราวส่วนใหญ่ วนเวียนอยู่ในปริมณฑลของครอบครัวและโรงเรียน ท่ามกลางสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับภาวะสมัยใหม่ โลกาภิวัตน์ สังคมไอที การแปรรูปเป็นเอกชน และอาการวิตกจริตว่าจะแข่งกับชาติอื่นในเวทีเศรษฐกิจโลกไม่ได้ ขณะที่ระบบการศึกษาภายในประเทศก็ล้าหลังสุดๆ

เล่ม 2 ครึ่งหนึ่งของความ (ไม่อยาก) รู้ (2546-2555) แบ่ง เป็น 3 ส่วน ส่วนแรกครึ่งแรกของความรู้” (2546-2549), ส่วนที่สองชำระรายวัน” (2549-2550), และส่วนที่สามครึ่งหลังของความรู้” (2554-2555) ในเล่มนี้ ครอบครัวป่วงๆ ของระการาณี ต้องเผชิญกับความฉิบหายวายป่วงเข้าไปอีก เมื่อแขกที่ไม่ได้รับเชิญของคณะรัฐประหาร ตัวละครหน้าเก่าที่อวตารแปลงร่างมาในเสื้อคลุมแบบใหม่ ปลุกให้ความทรงจำของคนรุ่นพ่อต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ย้อนกลับมาทับซ้อนกับปรากฏการณ์ความรุนแรงที่ฝ่ายอนุรักษนิยม/รอยัลลิสต์กระทำต่อกลุ่มที่ต้องการปฏิรูปสถาบันฯ แก่นแกนของเล่มนี้จึงดูเหมือนอยู่ที่การต่อสู้กันของความรู้และความไม่อยากรู้อย่างที่ตัวการ์ตูนพูดในตอนหนึ่งว่าครึ่งหนึ่งของความรู้คือรู้ว่าเราจะหาความรู้ได้ที่ไหน” (ฝ่ายเสื้อแดงที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงและฝ่ายปัญญาชนก้าวหน้าที่เสนอการแก้ไขมาตรา 112) และอีกครึ่งหนึ่งของความรู้คือ รู้ว่าเราไม่อยากรู้อะไร” (ฝ่ายอนุรักษนิยม และรอยัลลิสต์ซึ่งต้องการดำรง status quo ของตนเอง และปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการทุกรูปแบบ) ในขณะที่สื่อกระแสหลัก น่าจะเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของความไม่รู้” (ignorance) อย่างจงใจ เพราะถึงที่สุดแล้ว ได้เลือกที่จะจำกัดตัวเองอยู่ที่การเป็นกระดาษชำระรายวันซึ่งไม่ผลิตสร้างองค์ความรู้ใดๆ ให้แก่สังคม

เล่ม 3 ท่องโลกพลังลบ เที่ยวภพพลังบวก (2548-2553) ในเล่มนี้ ระการาณี สองพี่น้องสุดแสบพากันออกจากบ้าน (ก็แล้วใครจะทนนิ่งเฉยอยู่ไหว!) ทั้งสองเริ่มท่องเที่ยวไปในสามภพ แสวงหาความรู้ทางวิชาการอย่างจริงจังเพื่อเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ออกไปสู่ท้องถนน ไปสังเกต จับผิด ถอดรหัส การอ้างเหตุผลที่แสนจะ absurd ของพวกอีลีตม็อบ ศึกษาความย้อนแย้งของวาทกรรมการเมืองอย่างเป็นระบบ วิพากษ์กระทั่งด่ากราดภาวะเสแสร้งแกล้งเอาศีลธรรมมาบังหน้าของเหล่าตัวแสดงทางการเมือง ทั้งกูรูสันติภาพ ราษฎรอาวุโส สื่อผู้ทรงศีล ศิลปินจอมปลอม ฯลฯ อย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม สุดท้ายจบการเดินทางด้วยการดิ่งลึกไปในนรกเพื่อสำรวจหัวจิตหัวใจของเหล่าชนชั้นกลาง ที่ซึ่งความกลัวและกระบวนการจัดการกับความกลัวด้วยสิ่งที่เรียกว่าวิธีคิดเชิงบวกกำลังรีบเร่งทำงานกันอย่างแข็งขัน หลังการล้อมปราบผู้ชุมนุมในช่วงเมษาพฤษภา 53อย่างอำมหิต

สิบกว่าปีผ่านไป ภาพการ์ตูน .. ระกา กับ .. ราณี ที่ยังถูกวาดด้วยลายเส้นแบบเดิมๆ ลวงตาผู้อ่านให้หลงคิดว่าทั้งคู่ยังเป็นเพียงเด็กประถมตัวเล็กๆ ที่ไม่ได้เติบโตขึ้นตามกาลเวลาแต่อย่างใด กระนั้นก็ตาม หากสบตากับเด็กทั้งสองนานพอผู้อ่านอาจเห็นภาพสะท้อนภาวะชราภาพของสังคมไทยอย่างกระจ่างชัด อีกทั้งเห็นภาพอุดมคติที่ยังสดใหม่ อันเป็นภาพ ideal type ของเสรีชนผู้ไม่สยบยอมต่อการครอบงำด้วยวาทกรรมใด

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันคาดหวังว่า การผลิตซ้ำการ์ตูนชุด เรณู ปัญญาดีครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มปริมาณเสรีชนชนิดนี้ ผู้ซึ่งมั่นคงดำรงสติอยู่ได้ด้วยอารมณ์ขันขึ้นไม่ว่าจะพลัดหลงเข้าไปอยู่ในครอบครัวสาธารณ์ ในระบอบการเมืองวิปริตในนรกดัดจริต หรือในสวรรค์วิมานจอมปลอม แน่นอนว่า เส้นทางสู่ความเป็นอารยะของสังคมไทยยังอีกยาวไกลนัก เรณู ปัญญาดี ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้ว่าจุดหมายปลายทางจะอยู่ที่ไหนและจะมีหน้าตาอย่างไร เขาเพียงบอกเป็นนัยว่า คำตอบอาจอยู่ที่เสรีภาพในการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์นั่นเอง

มีนาคม 2555