Sale 10%

โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

Original price was: 450.00 บาท.Current price is: 405.00 บาท.

ของหมด

รหัส: 9789749201466 หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

ผู้เขียน

จิตร ภูมิศักดิ์

ปีที่พิมพ์

2547

ISBN ปกอ่อน

9749201469

สารบัญ

คำปรารภพี่สาว “ผู้รักษาต้นฉบับ”

คำนำบรรณาธิการ

คำนำสำนักพิมพ์

โองการแช่งน้ำ

ชื่อของโองการแช่งน้ำ

อายุของโองการแช่งน้ำพระพัทธ์

ภาษาที่ใช้ในโองการแช่งน้ำ

ประเพณีการเรียกชื่อเทวดาด้วยคำไทย

ลักษณะของไทยดั้งเดิม

มรดกจากไทยสมัยก่อนลัทธิเทวราช

ลักษณะสังคมในสมัยโองการแช่งน้ำพระพัทธ์

ลักษณะของคำประพันธ์

ขุมทรัพย์แห่งวรรณคดีชนชาติส่วนน้อยและวรรณคดีท้องถิ่น

ลักษณะกาพย์กลอนแห่งชนชาติไทย-ลาว

โคลงห้า

ลักษณะของโคลงห้า

ข้อคิดเกี่ยวกับลักษณะโคลงไทย-ลาว

โองการแช่งน้ำ

ภาคผนวก

ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ภาคเสริม

ลิลิตโองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยา โคลงห้า (มณฑกคติ)

โองการแช่งน้ำ (โคลงห้า)

โองการแช่งน้ำ (ศิลป์ พิทักษ์ชน)

วินิจฉัยลิลิตโองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยา (ชุดที่ ๑) ตอนที่ ๑ ชนิดของคำประพันธ์ วินิจฉัยลิลิตโองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยา(ชุดที่ ๒)

บรรณานุกรม

ดรรชนี

คำนำสำนักพิมพ์

คำกล่าวของเคร็ก เจ. เรย์โนลด์ที่ว่า “จิตร ภูมิศักดิ์เป็นผู้กำเนิดสองครั้ง” ดูจะเป็นบทสรุปตำนานชีวิตของจิตรได้อย่างรวบรัดและชัดเจนที่สุด จากปรากฏการณ์ที่จิตรจบชีวิตลงในชายป่าเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙ และ “เกิดใหม่” หลังจากนั้น ๗ ปี

หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ชีวิตและผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกรื้อฟื้น และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ผลงานของเขาในนามปากกาต่าง ๆ ถูกนำมาเผยแพร่ไม่หยุดหย่อนพร้อม ๆ กับชื่อจิตร ภูมิศักดิ์กลายเป็นแบบอย่างของปัญญาชนปฏิวัติ ซึ่งทวีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นเมื่อมีการสร้างเรื่องเล่า/ตำนาน ชุดต่าง ๆ ขึ้นมาหนุนเสริม

จนกระทั่งปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านไปกว่า ๓๐ ปี และบทบาทนักปฏิวัติของเขาจะลดความสำคัญลงไป แต่ผลงานของจิตรยังคงปรากฏและสำแดงคุณค่าโดดเด่น โดยเฉพาะในแวดวงประวัติศาสตร์โบราณคดี และภาษาศาสตร์ ผลงานหลายชิ้น เช่น ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา, สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา ฯลฯ ได้รับการยกย่องในฐานะงานที่ “ทะลวงกรอบทะลายกรง” บุกเบิกแง่มุมใหม่จากกรอบคิดเดิม

นั่นเป็นเพราะจิตรเป็นผู้มีความรอบรู้แตกฉานในศาสตร์หลายแขนง ทั้งวิชาประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลป วรรณคดี ดนตรี ภาษา นิรุกติศาสตร์ ฯลฯ ผลงานของจิตรจึงเป็นการศึกษาค้นคว้าโดยใช้ความรู้หลายสาขาผนวกเข้าด้วยกันอย่างที่เรียกว่า “สหวิทยาการ” ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการศึกษาค้นคว้าอย่างนักปราชญ์รุ่นเก่า เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระยาอนุมานราชธน และนักปราชญ์ราชบัณฑิตอีกหลายท่าน ต่างกันแต่เพียงจิตร ภูมิศักดิ์เป็นสามัญชนคนธรรมดา และมีสถานะนักปฏิวัติซึ่งถูกกดขี่คุกคามด้วยอำนาจเผด็จการ ต้องถูกจับกุมคุมขัง ไม่มีโอกาสศึกษาค้นคว้าอย่างเต็มที่ ผลงานส่วนใหญ่ของเขาจึงยังเขียนไม่จบและไม่ได้เผยแพร่ในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลายความตึงเครียดลง ผลงานของจิตร ก็ถูกนำมาเผยแพร่และพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง แต่ก็เป็นเพียงบางชิ้น ผลงานส่วนใหญ่ยังไม่มีการพิมพ์ใหม่ กลายเป็นหนังสือหายากราคาแพงบนแผงหนังสือเก่าเท่านั้น

เพื่อให้ผลงานทรงคุณค่าของจิตรเผยแพร่ออกสู่สังคมอีกครั้ง สำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน จึงได้จัดตั้ง “โครงการสรรพนิพนธ์จิตร ภูมิศักดิ์” ขึ้น เพื่อรวบรวมผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ทั้งที่เคยตีพิมพ์มาแล้วและที่ค้นพบใหม่ออกพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง โดยมุ่งหวังให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด

ด้วยผลงานจำนวนมากของจิตร ทางสำนักพิมพ์ได้จัดแบ่งหมวดหมู่ตามเนื้อหาออกเป็น๗ หมวดคือ หมวดประวัติศาสตร์, หมวดงานแปล, หมวดนิรุกติศาสตร์, หมวดรวมบทความวิจารณ์สังคม, หมวดรวมบทความวิจารณ์ ศิลปะ, หมวดรวมบทความวิจารณ์วัฒนธรรม, หมวดบันทึกส่วนตัว และได้บรรณาธิกรต้นฉบับใหม่ ตลอดจนจัดทำภาพประกอบ, บรรณานุกรม และดรรชนีเพิ่มเติมเพื่อให้หนังสือชุดนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาความถูกต้องของเนื้อหาให้ตรงกับต้นฉบับลายมือเขียนของจิตรหรือฉบับพิมพ์ครั้งแรกทั้งเครื่องหมายวรรคตอนและสำนวนภาษาที่จิตรเขียนต่างไปจากปรกติ เช่นคำว่า ทาส ใช้ ษ สะกดแทน ส, ตัว ญ เขียน ไม่มีเชิงเป็น ญฯลฯ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ทางภาษาที่จิตรใช้ และเขียนบทความอธิบายไว้อย่างชัดเจน

นอกจากจิตร ภูมิศักดิ์ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานแล้ว “โครงการสรรพนิพนธ์ จิตร ภูมิศักดิ์” จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความไว้วางใจจากคุณป้าภิรมย์ ภูมิศักดิ์ ที่อนุญาตให้สำนักพิมพ์เล็ก ๆ เช่นเราได้มีโอกาสผลิตงานของนักคิดที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของสังคมไทย, คุณวิชัย นภารัศมี “เมือง บ่อยาง” บรรณาธิการหนังสือชุด ผู้มีความอุตสาหะ ค้นคว้า รวบรวมผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคำแนะนำอันมีค่าสำหรับกระบวนการบรรณาธิกร, อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการศึกษาผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์, คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว แห่งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ผู้ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในทุกด้าน, คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี, คุณสุรศักดิ์ คงควรสำหรับภาพประกอบ, คุณประชา สุวีรานนท์ ผู้ออกแบบปกหนังสือชุด รวมทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ไม่ได้เอ่ยนามทุกท่านที่ให้ความช่วยเหลือจนหนังสือชุดเล่มนี้สำเร็จออกมาได้

 

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

คำนำบรรณาธิการ

หนังสือเรื่อง โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำ เจ้าพระยา ฉบับพิมพ์ครั้งใหม่ของสำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน (พ.ศ. ๒๕๔๗) ฉบับที่ท่านถืออยู่ที่ห่างจากการพิมพ์ครั้งแรกและครั้งที่สองของสำนักพิมพ์ดวงกมล (พ.ศ. ๒๕๒๔) ร่วม ๒๓ ปี และมีระยะห่างจากที่ผู้เขียน คือ จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นระยะเวลาถึง ๔๒ ปี

ที่ต้องนับเวลา ก็เพราะจะชี้ให้เห็นว่า ชีวิตทั้งชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ ผู้ไปตายเสียที่ชายป่า เมื่อ พฤษภาคม ๒๕๐๙ นั้นยังไม่มีโอกาสได้เห็นผลงานตีพิมพ์ชิ้นนี้ของตัวเองที่เป็นรูปเล่มเลย หากจะถือว่าหนังสือ ศิลปเพื่อชีวิต ที่ สำนักพิมพ์เทวเวศม์ จัดพิมพ์ขึ้นในสมัยที่เขามีชีวิตอยู่แล้ว หนังสือของเขาเองโดยเฉพาะที่จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มต่อจากนั้นมาก็จัดพิมพ์ขึ้นหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่น ๆ ของเขาอีกที่เขียนกระจัดกระจายลงในนิตยสารสมัยก่อน ๆ ที่เราค้นไม่พบ และคาดว่ายังมีนามปากกาอื่น ๆ ของเขาที่เรายังไม่ทราบอีก ส่วนนามปากกาที่ค้นพบใหม่ไม่ว่าจะเป็น นวัตถกร, มนัส นรากร, นรากร, ศานติ สัตยางกูร, จิตรเสน, เด็กอมมือ, วิจัย สรรพวิทยา หรือพัฒนา ศรีนาคร ฯลฯ ก็ยังรอที่จะมีผู้รวบรวมงานในนามปากกาต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มขึ้นมาอีก ถึงแม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปนานแล้วก็ตาม

จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักเขียน นักวิชาการคนสำคัญของประเทศไทยโดย เฉพาะผลงานทางวิชาการของเขาที่เป็นสิ่งยืนยันภาพของเขาให้ปรากฏเด่นในฐานะนักวิชาการที่ทรงคุณค่าที่หาไม่ได้อีกแล้วของสังคมไทยในรอบ ๑๐๐ ปี ไม่ว่าจะเป็นงานนิพนธ์เรื่อง “ความเป็นของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และ ลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” (พ.ศ. ๒๕๑๙), “ภาษา และ นิรุกติศาสตร์” (พ.ศ. ๒๕๒๒), “ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม” (พ.ศ. ๒๕๒๕), “สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา” (พ.ศ. ๒๕๒๖) และเรื่อง โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา เล่มนี้

นักวิชาการหลายท่านที่ได้ติดตามผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ บ่นย้ำเสียดายที่เขาไม่น่าเสียชีวิตเร็วเกินไปในวัยเพียง ๓๖ ปี (๒๕ กันยายน ๒๔๗๓-๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙) ซึ่งน่าจะทำงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์นิรุกติศาสตร์ได้มากกว่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล หลายคนเคยย้ำ ถึงเหตุการณ์ที่เขาถูกยิงและกำลังจะสิ้นลม สิ้นใจ ว่าผู้ที่สังหารเขาจะรู้บ้างหรือไม่ว่าได้ทำอะไรลงไป ได้ทำลาย “ชีวิต” ที่มีคุณค่าของสังคมไทยไปแล้วอย่างน่าเสียดาย

ว่ากันเฉพาะหนังสือ โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา เล่มนี้ ข้าพเจ้าในฐานะบรรณาธิการ ได้พยายามจัดให้เห็นระยะความคืบหน้า ความเป็นมาในการเรียนรู้ ในการศึกษา วรรณคดีโองการแช่งน้ำของจิตร ภูมิศักดิ์ จากหลักฐานที่มีอยู่น่าจะสรุปได้ว่าเขาสนใจเรื่องโองการแช่งน้ำ ตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ช่วงเป็น นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เขาเคยเขียนบทความศัพท์สันนิษฐานเรื่อง “สรวง-สาง” ลงในนิตยสาร “ทรรศนะ” ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๔ (ซึ่งเขาคงเขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ แล้วมาตีพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๔ นิตยสารทรรศนะฉบับนี้เป็นฉบับที่ ๓ และระบุในนิตยสาร ว่าเป็นปีที่ ๒ นั้น ที่จริงน่าจะเป็นปีที่ ๑ มากกว่า เพราะฉบับปฐมฤกษ์ออกเมื่อ ตุลาคม ๒๔๙๓) ศัพท์สันนิษฐาน สรวง-สาง ก็เป็นคำที่นำมาจากร่ายตอนหนึ่งของโองการแช่งน้ำที่ขึ้นต้นว่า “โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว ” หลังจากนั้น ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๙๔ จิตรก็ได้ไปคัดลอกโองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยาโคลงห้า (มณฑกคติ) จากสมุดไทยดำของหอสมุดแห่งชาติและหอพระสมุดวชิรญาณ และจัดระเบียบโคลงและร่ายตามลักษณะร่ายดั้นโบราณและโคลงมณฑกคติ หนารวม ๑๑ หน้า

นับตั้งแต่เริ่มเขียนศัพท์สันนิษฐาน สรวง-สาง เพื่อจะอธิบายศัพท์คำว่า “สรวง” ดูเหมือนจิตรมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเขียนคำอธิบายศัพท์ในโองการแช่งน้ำทั้งหมด จนกระทั่งในเนื้อหาหนังสือเล่มที่ท่านถืออยู่นี้มีอยู่อย่างน้อยก็สองครั้งที่จิตรเอ่ยให้ดู “ภาคที่ว่าด้วยอธิบายศัพท์ในโองการ” ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่มี จิตรไม่ได้ทำไว้ พูดง่าย ๆ ว่าหนังสือเล่มนี้ก็ยังเขียนไม่จบนั่นเอง

จากเท่าที่เคยตรวจสอบมา จิตรได้เขียนต้นฉบับเกี่ยวกับโองการแช่งน้ำ ยกเว้นเรื่อง “สรวง-สาง” ดังที่กล่าวแล้วอย่างน้อยก็อีก ๔ ครั้ง ๔ ฉบับด้วย กัน ซึ่งทั้ง ๔ ฉบับนี้ได้นำมาพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือเล่มที่ท่านถืออยู่ด้วย

ฉบับแรก คือ “วินิจฉัยลิลิตโองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยา ตอนที่ ๑ ชนิดของคำประพันธ์” จิตรเขียนไว้ ๙ หน้าลายมือเขียน

ฉบับที่สอง คือ “วินิจฉัยลิลิตโองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยา” ๓๑ หน้า ลายมือเขียน ซึ่งภาคอธิบายศัพท์ที่จิตรเอ่ยถึงในหนังสือเล่มนี้ น่าจะมาปรากฏในต้นฉบับชุดนี้ แต่ก็อธิบายไม่จบ เขียนไม่จบ อธิบายได้เพียงแต่คำ “โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดินบินเอาครุฑมาขี่” เท่านั้น

ต้นฉบับที่สาม คือ ฉบับที่ลงในหนังสือ นิติศาสตร์ ฉบับธรรมศาสตร์ สามัคคี ๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๐ โดยใช้นามปากกาว่า “ศิลป์ พิทักษ์ชน” ครั้งนี้จิตรใช้กรอบความคิดทางการเมืองเข้ามาตีความ

และต้นฉบับชุดที่สี่ ก็คือ หนังสือเล่มที่จัดพิมพ์นี้เอง จิตรเขียนต้นฉบับชุดนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ และต้นฉบับทั้ง ๔ ชุด ด้วยสาเหตุที่เขียนต่างยุค ต่างสมัยกัน คือศึกษาไป เขียนไป ค่อย ๆ พัฒนาความเข้าใจ คือได้อ่าน ได้ค้นคว้า ได้คิด ได้เปรียบเทียบ แล้วนำมารวบรวม มาวิเคราะห์ มาสะสาง มาวิพากษ์ มาสรุป พัฒนาเข้าใจมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จึงเขียนออกมา ฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด คือ ฉบับที่ท่านถืออยู่นี้ ในชื่อว่า “โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ที่จิตรระบุว่าได้เขียนขึ้นในสภาพ “ถูกรัฐบาลขายชาติสฤษดิ์ธนะรัชต์, สมุนของจักรพรรดินิยมอเมริกาจับกุมคุมขังไว้ในคุกเสียแล้ว

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมที่จิตรได้คัดลอกลิลิตโองการแช่งน้ำ (โคลงห้า) อีกครั้งหนึ่ง ตอนที่อยู่ในคุกลาดยาว ห้อง ๗๙ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓

เราจะเห็นว่า ระยะเวลาที่จิตร ภูมิศักดิ์ สนใจวรรณคดี “โองการแช่งน้ำ” หากจะนับจากผลงานที่ปรากฏเป็นปี พ.ศ. ที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษร คือนับตั้งแต่เรื่อง “สรวง-สาง” เป็นต้นมา ถือว่าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๓ ปีขึ้นไป เป็นระยะเวลาถึงหนึ่งในสามของชีวิตของเขาทีเดียว หรือโดยสรุป น่าจะกล่าวได้ว่า จิตรสนใจโองการแช่งน้ำมาทั้งชีวิต นับตั้งแต่เริ่มอ่านวรรณคดีโองการแช่งน้ำนี้เป็นครั้งแรก จนกระทั่งถูกยิงเสียชีวิตนั่นแหละ

และก็ไม่เพียงแต่วรรณคดีโองการแช่งน้ำเรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้น ผลงานทางวิชาการเรื่องอื่น ๆ ตามที่ได้อ้างมาแล้วข้างต้น โดยเฉพาะงานนิพนธ์ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ภาคผนวกข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม หากสืบประวัติ สืบระยะเวลาในการ ศึกษาของเขา เรากล่าวได้อย่างไม่ลังเลเลยว่า เขาเป็นนักวิชาการที่อุทิศเวลาทั้งชีวิตของตนเองเพื่อศึกษาสิ่งเหล่านี้ ซึ่งยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน

ในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ครั้งนี้ทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้พยายามจัดพิมพ์ให้สมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ได้ทำส่วนของบรรณานุกรม และดรรชนีท้ายเล่มไว้ด้วย และในอนาคตหากมีการค้นพบต้นฉบับของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่เกี่ยวกับโองการแช่งน้ำเพิ่มเติมขึ้นอีก ก็คงจะได้พิมพ์เพิ่มเติมในโอกาสต่อไป

 

วิชัย นภารัศมี

๘ เมษายน ๒๕๔๗