Sale 10%

และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ

ปกแข็ง 630.00 บาทปกอ่อน 495.00 บาท

รหัส: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

ผู้เขียน

ประจักษ์ ก้องกีรติ

จำนวนหน้า

576

ปีที่พิมพ์

2556

ISBN ปกอ่อน

9786167667256

ISBN ปกแข็ง

9786167667249

สารบัญ

คำประกาศรางวัล TTF Award สาขาสังคมศาสตร์

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำเสนอ โดย เกษียร เตชะพีระ

คำนำผู้เขียน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1

คำนำผู้เขียน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2

บทที่ 1 สู่การเมืองวัฒนธรรมไทยสมัย 14 ตุลาฯ

  • การเมืองของอดีต ประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน:14 ตุลาฯ กับสังคมการเมืองไทย
  • ปัญหาว่าด้วยขบวนการนักศึกษาปัญญาชนกับการอธิบาย 14 ตุลาฯ
  • ว่าด้วยขอบเขตและวิธีการ

บทที่ 2 การก่อตัวทางสังคมของนักศึกษาและเครือข่ายวาทกรรมของปัญญาชน[expander_maker id=”1″ more=”อ่านต่อ >>” less=”<< ย่อหน้า “]

  • นักศึกษาธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2500 – 2516
  • นักศึกษาในฐานะชนชั้นนำของสังคม
  • ปัญญาชนกับการสร้างเครือข่ายวาทกรรม

บทที่ 3 รัฐบาลทหารกับวัฒนธรรมสงครามเย็น : สงครามอินโดจีนกับการควบคุมความจริง

  • วัฒนธรรมสงครามเย็น วิกฤตในลาวกับการเข้าพัวพันในสงครามอินโดจีน : คำอธิบายเรื่อง “ศัตรูข้างบ้าน”, การ “ป้องกันตัวเอง” และ “มหามิตร”
  • แหล่งข้อมูลข่าวสารราชการกับสงครามโฆษณาชวนเชื่อ
  • จากลาวสู่เวียดนาม
  • ระบอบเผด็จการทหารกับความลับในสงครามอินโดจีน
  • ข่าวต่างประเทศ : ความจริงจากภายนอก

บทที่ 4 การก่อตัวของกระแสการต่อต้านสงครามเวียดนาม : วาทกรรมจากภายนอก ความคิดประชาธิปไตย และกระแสชาตินิยม

  • บทบาทของปัญญาชน
  • “ซ้ายใหม่”: การต่อต้านสงคราม สังคมนิยม-ประชาธิปไตยและพลังนักศึกษา
  • กระแสต่อต้านสงครามในวรรณกรรม
  • สู่การเคลื่อนไหวในรั้วมหาวิทยาลัย : การคัดค้านสงครามต่อต้านรัฐบาล และกระแสชาตินิยม
  • นักศึกษากับการแพร่กระจายความรู้สู่สาธารณะ
  • วาทกรรมจากอดีตกับการต่อต้านสงคราม

บทที่ 5 การรื้อฟื้นวาทกรรมจากอดีต : กษัตริย์ประชาธิปไตยและความคิดสังคมนิยม

  • รัฐเผด็จการกับการทำลายความทรงจำและการแยกปัญญาชนออกจากสาธารณะ
  • การรื้อฟื้นวาทกรรม “สังคมนิยม” จากอดีต :การเชื่อมต่อประสบการณ์และแรงบันดาลใจทางการเมือง
  • วาทกรรมกษัตริย์ประชาธิปไตย

บทที่ 6 บทสรุป : แบบเรียนการเมืองวัฒนธรรมจาก 14 ตุลาฯจากสงครามวาทกรรมสู่การเมืองบนถนนราชดำเนิน

  • จาก 14 ถึง 6 ตุลาฯ
  • แบบเรียนทางการเมืองวัฒนธรรมจาก 14 ตุลาฯ
  • เครือข่ายวาทกรรม
  • ชาตินิยมกลายพันธุ์
  • วาทกรรมราชาชาตินิยมประชาธิปไตย
  • ศิลปะและการเมืองของการอ้างอิงนอกบริบท

ประวัติผู้เขียน

นามานุกรมรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

บรรณานุกรม

ดรรชนี

รางวัล TTF Awardสาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2547 - 2548

รางวัล TTF Award โดยมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นความพยายามร่วมกันที่จะมุ่งยกระดับคุณภาพวงวิชาการไทย ด้วยการคัดเลือกยกย่องงานศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่เปิดประเด็นศึกษาแหลมคม ทำงานเก็บข้อมูล ด้วยระเบียบวิธีวิจัยที่หนักแน่นรอบด้านและละเอียดอ่อนพร้อมกันไป อีกทั้งทรงคุณค่า ในทางทฤษฎี งานเขียนเรื่อง และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นผลงานที่ เขาเขียนขึ้นเป็นวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต และได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2545 งานชิ้นนี้นับเป็นงาน วิชาการที่เพียบพร้อมทั้งข้อมูลที่สืบค้นมาอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน และทั้งแนวคิดทฤษฎี ที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง เช่นแนวคิด “เครือข่ายวาทกรรม” หรือ “ชาตินิยมกลายพันธุ์” ประจักษ์ ก้องกีรติ อาศัยแนวทางการศึกษาเชิงการเมืองวัฒนธรรมชี้ให้เห็นว่ากระแสความคิดของนักศึกษาปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ มี ลักษณะหลากหลายทางอุดมการณ์ กระทั่งขัดแย้งกันเอง แต่กลับสามารถบรรจบกันเป็นวาทกรรมทางเลือกที่ท้าทายเอาชนะการครอบงำของรัฐเผด็จการได้สำเร็จ ยิ่งกว่านั้นงานชิ้นนี้ยังมิได้เป็นเพียงความเรียงทางวิชาการที่แห้งผากไร้ชีวิต หากเป็นเรื่องราวของนักศึกษาปัญญาชนในยุคนั้นในฐานะมนุษย์สามัญอันเต็มไปด้วยสีสัน ชีวิตชีวา ที่ทั้งยืนหยัดแต่ก็สับสน ทั้งหาญกล้าแต่ก็หวั่นใจ ที่สำคัญงานชิ้นนี้ชี้ชัดว่า ไม่ว่าจะเผชิญกับอำนาจรัฐเผด็จการบีบคั้นเพียงไร คนหนุ่มคนสาวเหล่านี้ก็มิได้ยอมจำนน แต่อาศัยความกล้าหาญ สติปัญญา และความหวังฟันฝ่าจนเปลี่ยนแปลง สังคมให้ดีขึ้นได้ในที่สุด ทั้งหมดนี้ทำให้ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ ควรค่าแก่รางวัล TTF Award สาขาสังคมศาสตร์ ในวาระนี้เป็นอย่างยิ่ง

คำนำสำนักพิมพ์

ยังจะมีอะไรให้ศึกษาอีกหรือ ?

คือคำถามที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้รับอยู่บ่อยครั้งเมื่อคิดจะศึกษาประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ ขณะเรียนอยู่ปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากก็เป็นดังที่ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า “ยิ่งอ่านยิ่งครุ่นคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งพบความไม่ลงตัว พบประเด็นคำถามชวนฉงนอันเป็นปริศนาที่ยากแก่การตอบมากขึ้นตามลำดับ อันตรงกันข้ามกับความเห็นของคนจำนวนมากที่เชื่อว่า [14 ตุลาฯ] ไม่มีอะไรให้ศึกษาอีกแล้ว” จึงเป็นที่มาของวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของเขา เรื่อง “ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษา และปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506-2516)” ในปี 2545 ซึ่ง ภายหลังปรับปรุงมาเป็นหนังสือ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรม ของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ

ข้อเสนอหลักประการหนึ่งของงานชิ้นนี้คือ การก่อตัวทางความคิดของนักศึกษา ประชาชนอันนำไปสู่การโค่นล้มอำนาจเผด็จการทหารที่สืบทอดอำนาจมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่รัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 กระทั่งสิ้นสุดไปใน เหตุการณ์ 14 ตุลาฯนั้นมีที่มาจากหลากหลายแหล่ง ทั้งยังแลดูย้อนแย้งกันชนิดไม่น่าจะไปด้วยกันได้เสียด้วยซ้ำเมื่อมองจากอีกยุคสมัยหนึ่ง ข้อเสนอทำนองนี้อาจฟังดู ธรรมดา เพราะขบวนการมวลชนขนาดใหญ่ไม่ว่าที่ไหนในโลก ปรกติแล้วก็หาได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่เฉกเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ทำให้งานศึกษาของประจักษ์มีความโดดเด่นและมีความสำคัญยิ่งก็คือ การแสดงให้เห็นว่าความหลากหลายย้อนแย้ง ดังกล่าวได้กลายมาเป็นมรดกและเพดานทางการเมืองที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันนี้ด้วย ซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างชัดแจ้งชนิดยากจะจินตนาการไปถึงก่อนหน้าที่งานศึกษาชิ้นนี้จะปรากฏสู่บรรณพิภพครั้งแรก

ไม่นานหลังหนังสือตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2548 สังคมไทยก็ตกอยู่ภายใต้สภาวะทางการเมืองที่คุกรุ่น ด้วยวาทกรรมพระราชอำนาจอันก่อตัวมาตั้งแต่ 14 ตุลาฯ เริ่ม กลับมาทำงานอีกครั้ง จนนำไปสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้วเราก็ได้เห็นปรากฏการณ์ที่ปัญญาชน 14 ตุลาฯ จำนวนมากที่ครั้งหนึ่งเคยต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน กลับขานรับรัฐประหารในครั้งนี้

หนังสือเล่มนี้ช่วยทำความเข้าใจว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวมิได้เป็นเหตุบังเอิญทางประวัติศาสตร์ หากแต่มีเชื้อมูลมาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาฯ ที่วาทกรรมพระราชอำนาจ หรือ “ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย” ยังคงทำงานอย่างทรงพลังในทางการเมือง และยิ่งทำให้ตระหนักว่า “ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ” นั้นมีข้อจำกัดอย่างไร

ฉะนั้นคงไม่เกินเลยนักที่จะกล่าวว่า หากเราต้องการเข้าใจการเมืองไทยในปัจจุบันอย่างถึงรากแล้ว หนังสือ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

การนำงานชิ้นนี้มาพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่ 2 โดย “ฟ้าเดียวกัน” เป็นส่วนหนึ่ง ของโครงการจัดพิมพ์หนังสือชุด “สยามพากษ์” ซึ่งเราได้คัดเลือกหนังสือที่เห็นว่า มีความสำคัญในการศึกษาทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทย ในยุคสมัยนั้น ๆ ขณะเดียวกันจุดร่วมของหนังสือชุดนี้คือการท้าทายหรือหักล้างงานศึกษาก่อนหน้าด้วยข้อมูลและ/หรือกรอบทฤษฎี แน่นอนว่าไม่มีงานวิชาการชิ้นใด ปราศจากจดอ่อนให้วิพากษ์หักล้าง ไม่เว้นแม้แต่งานที่เราได้คัดสรรมาจัดพิมพ์ แต่เราเชื่อว่าหนังสือชุด “สยามพากษ์” นี้เป็นงานที่ “ต้องอ่าน” ไม่ว่าจะเห็นพ้องด้วยหรือไม่ก็ตาม

ท่ามกลางยุคสมัยที่ดูประหนึ่งอะไรๆ ก็กลับตาลปัตรไปเสียหมด อาจกล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้ “มาก่อนกาล” และทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ตัวละครทั้งหลายยังโลดแล่นมีบทบาทมีชีวิตอยู่ร่วมยุคร่วมสมัยกับเรา ดังที่ผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่า

“ผลงานทางปัญญาที่ทำไว้ในวันนี้ อาจจะไม่ได้มีบทบาททางการเมืองเพียง ณ เวลาที่มันถูกผลิตขึ้นมา เพราะในฐานะการเป็นคลังสมบัติทางปัญญา มันมีศักยภาพที่จะกลับมามีบทบาทได้เสมอในวันใดวันหนึ่ง เมื่อการเมืองของอดีตมาบรรจบกับการเมืองของปัจจุบัน”

คำนำผู้เขียน

เมื่อครั้งที่ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏฯ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2548 ผู้เขียนมิได้คาดคิดว่าหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองความยาวกว่า 500 หน้าที่มีเชิงอรรถรกรุงรังจะได้รับความสนใจมากเท่าใดนักจากผู้อ่านทั่วไป เพราะคิดว่ากลุ่มผู้อ่านคงจะจำกัดอยู่ในกลุ่มนักศึกษาและนักวิชาการวงแคบๆ ที่ศึกษาการเมืองไทยช่วง 2500-2516 มิพักต้องพูดถึงความนึกฝันว่าจะมีโอกาสได้ตีพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ต่อเมื่องานชิ้นนี้เผยแพร่มาแล้วหลายปี จึงได้ทราบ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ว่ามันถูกนำไปใช้ในการเรียนการสอนในหลายสาขาวิชานอกเหนือจากประวัติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ด้วย อาทิ นิเทศศาสตร์ วรรณคดี ภาษาไทย วัฒนธรรมศึกษา ฯลฯ นอกจากนั้น มันยังถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์ อภิปรายถกเถียงในหลายที่หลายโอกาส รวมทั้งในโลกไซเบอร์ (บางกรณีค่อนข้างดุเดือดรุนแรง) ที่ผ่านมามีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และเห็นต่างกับการตีความประวัติศาสตร์ที่งานชิ้นนี้นำเสนอเอาไว้ซึ่งย่อมเป็นธรรมชาติของงานวิชาการทุกชิ้นที่ล่วงล้ำเข้าไป ในพื้นที่ของกาลเวลาที่ผ่านพ้น คงเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดหวังให้ผู้อ่านทุกคน นักวิชาการทุกท่าน ไม่ต้องพูดถึงตัวละครที่ถูกพาดพิงถึง (ซึ่งในกรณี 14 ตุลาง ส่วนใหญ่ยังมีชีวิตโลดแล่นอยู่ในปัจจุบัน) มาเห็นพ้องต้องกัน กับข้อเสนอของผู้เขียน

แม้เหตุการณ์ในอดีตจะจบไปแล้ว แต่ประวัติศาสตร์ของอดีตมักจะไม่จบตามไปด้วย และการถกเถียงที่ต่อเนื่องเกี่ยวกับความหมายทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ใดก็ตามย่อมเป็นคุณมากกว่าโทษ เพราะมันเป็นเครื่องบ่งชี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมนั้นยังสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับรากเหง้าและตัวตนในอดีตของตนเอง

ในแง่มุมนี้ 14 ตุลาฯ เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ตาย

แรงบันดาลใจเบื้องหลังหนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นมาจากความเชื่ออันแรงกล้าของผู้เขียนเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่ลงตัว และไม่มีข้อสรุปอันกระจ่างชัด มองในแง่ดีมันคือประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตเต็มไปด้วยปริศนาที่ชวนให้ค้นหาคำตอบ โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันยุคทันเหตุการณ์อันพลิกผันปั่นป่วนในทศวรรษดังกล่าว ผู้เขียนเองก็นับเนื่องเป็นคนรุ่นที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ทว่า ได้แรงบันดาลใจจากบทบาทอันอาจหาญของคนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นสู้กับระบอบเผด็จการ แม้จะต้องเสี่ยงภัยเสี่ยงชีวิตเพื่อวางรากฐานประชาธิปไตยให้กับสังคมการเมืองที่ตนเองอาศัยอยู่ ที่น่าทึ่งมิใช่น้อยคือ วีรกรรมของหนุ่มสาวไทยในครั้งนั้นยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้การลุกขึ้นสู้โค่นล้มระบอบเผด็จการในอีกหลายประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่างานชิ้นนี้เริ่มต้นจากความชื่นชมในวีรกรรมอันหาญกล้าของนักศึกษาปัญญาชนและประชาชนในอดีต แต่มันไม่ได้มุ่งนำเสนอภาพอันโรแมนติกชวนฝัน ตรงกันข้าม งานชิ้นนี้ต้องการคืนความเป็นมนุษย์ให้แก่ตัวละครทั้งหลายในประวัติศาสตร์ที่อยู่ร่วมยุคสมัย และหลีกเลี่ยงการผลิตซ้ำการนำเสนอภาพขบวนการนักศึกษาปัญญาชนในลักษณะที่เป็นฮีโร่ประชาชน รู้แจ้งทางปัญญา มีเอกภาพทางความคิดและเป้าหมายของการต่อสู้ร่วมกันอย่างเด็ดเดี่ยว ซึ่งถูกนำเสนอซ้ำแล้วซ้ำอีกในงานเขียนที่ผ่านมาเกี่ยวกับ 14 ตุลาฯ จำนวนมาก จนส่งผลให้ภาพของขบวนการนักศึกษาแข็งทื่อตายตัว ขาดพลวัต และมีลักษณะสูงส่งจนวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ การศึกษาที่เคารพความเป็นมนุษย์ของผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ที่สุดน่าจะเป็นการศึกษาที่ทำให้ผู้อ่านเห็นทั้งเลือดเนื้อ ชีวิต ความรู้สึกมุ่งมั่น อุดมคติอันแรงกล้า รวมทั้งความสับสน การลองผิดลองถูก ความขลาดเขลา อ่อนเยาว์ไร้เดียงสา และความใฝ่ฝันอันหลากหลายของพวกเขา งานศึกษาชิ้นนี้พยายามจะทำเช่นนั้น สำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร ผู้อ่านคงเป็นคนให้คำตอบได้ดีที่สุด

ในกรณี 14 ตุลาฯ ยิ่งผู้เขียนศึกษาค้นคว้ามากเท่าไร ก็ยิ่งพบความซับซ้อน สับสน ลักลั่น ย้อนแย้ง และอีเหละเขะขะของประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ มากขึ้น ภาพของการผสมปนเปของวาทกรรมต่างๆ ที่ขัดกัน (กษัตริย์นิยม เสรีนิยม ประชาธิปไตย ซ้ายเก่า ซ้ายใหม่ ชาตินิยม) แต่มารวมอยู่ด้วยกันได้ในขบวนการนักศึกษาปัญญาชนในช่วงก่อน 14 ตุลาฯ ที่ถูกนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ ก็คือส่วนหนึ่งของความย้อนและลักลั่นของประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตย” ที่ดำรงสืบเนื่องมาในสังคมไทย ทั้งก่อนและหลัง 14 ตุลาฯ แนวคิดและคำว่า “ประชาธิปไตย” ถูกตีความอย่างแตกต่างหลากหลายจากกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย ย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยกบฏ ร.ศ. 130) รัชกาลที่ 7 คณะราษฎร กลุ่มเจ้านาย กบฏบวรเดช ขบวนการเสรีไทย กบฏวังหลวง กบฏสันติภาพ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กองทัพบกสมัยสฤษดิ์ธนะรัชต์ ขบวนการสามประสานนักศึกษา ชาวนา กรรมกร (2516-2519) กลุ่มนายทหารประชาธิปไตย องค์กรพัฒนาเอกชน/องค์กรภาคประชาชน เจ้าพ่อภูธร นายทุนเจ้าสัว ขบวนการปฏิรูปการเมืองธงเขียว 2540 ราษฎรอาวุโส จนมาถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ การคลี่คลายของวาทกรรมเกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมไทยดำเนินไปอย่างน่าทึ่ง และมหัศจรรย์พันลึก สะท้อนผลประโยชน์ อัตลักษณ์ และโครงสร้างความสัมพันธ์ของสถาบันการเมืองต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสลับซับซ้อนและไม่เคยหยุดนิ่ง ลำพังการแปรรูปเปลี่ยนร่างของวาทกรรมจาก “กษัตริย์ประชาธิปไตย” จากทศวรรษ 2490 สู่ “ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย” สมัยก่อน 14 ตุลาฯ มาจนถึง “เราจะสู้เพื่อในหลวง” (หรือ “ราชาชาตินิยมที่ตัดขาดจากประชาธิปไตย”) ครั้งเกิดการรัฐประหาร 2549 ก็ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์อันซับซ้อนย้อนแย้งไม่ลงตัวระหว่างสถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนับเป็นปมเงื่อนใจกลางของการเมืองไทยตั้งแต่หลังการปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา พัฒนาการของวาทกรรมชุดดังกล่าวควรถูกศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ เป็นงานศึกษาต่างหากอีกหนึ่งชิ้นที่เกินกว่าพื้นที่สั้นๆ ในคำนำชิ้นนี้จะทำได้

การต่อสู้เพื่อช่วงชิงและสถาปนาคำนิยามให้กับประชาธิปไตยจึงเป็นสนามของการต่อสู้อันเข้มข้น เป็นพื้นที่ของสิ่งที่งานชิ้นนี้เรียกว่า “การเมืองวัฒนธรรม” (cultural politics) ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาที่ช่วยเปิดมุมมองให้เราเข้าใจการพัฒนาประชาธิปไตย (อันระหกระเหิน) ของสังคมไทยได้อย่างลึกซึ้งถึงราก อุปสรรคของการมีประชาธิปไตยเริ่มต้นตั้งแต่ในระดับความคิดพื้นฐานที่คนในสังคมไทยยังเห็นต่างกันอย่างสุดขั้ว ว่าประชาธิปไตยคืออะไร กำเนิดจากการพระราชทานหรือการต่อสู้ของคนสามัญ สามารถประสิทธิ์ประสาทความเสมอภาคเท่าเทียมทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ หรือเผด็จการผู้ทรงธรรมเป็นสิ่งที่พึ่งปรารถนากว่าประชาธิปไตยของประชาชนฯลฯ ถึงที่สุดการศึกษาประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ จึงเป็นกระจกส่องสะท้อนให้เราเห็นสายธารประวัติศาสตร์ทั้งก่อนหน้าและหลังจากนั้นการดิ้นรนแสวงหาสังคมการเมืองที่ดีกว่ายังคงดำเนินต่อไปในสังคมสยามประเทศ

หากมองในประวัติศาสตร์ช่วงยาว ก็จะพบว่าความสับสนและผสมปนเปทางอุดมการณ์ความคิดมิใช่อาการเฉพาะตัวที่ปรากฏในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เท่านั้น แต่เป็นอาการร่วมของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยที่กลุ่มพลังจารีตนิยม รอยัลลิสต์ ชาตินิยม สังคมนิยม เสรีนิยม และประชาธิปไตย ทั้งปะทะประสานและรอมชอม ประนีประนอมกันอย่างซับซ้อนตลอดมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน บ่อยครั้งประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยและผลิตซ้ำตัวเอง เต็มไปด้วยอาการผิดฝาผิดตัว การกลายพันธุ์ทางอุดมการณ์ การอ้างอิงประวัติศาสตร์นอกบริบท การสร้างเครือข่ายวาทกรรมที่สับสน ปนเป และการสลับขั้วเป็นพันธมิตรและศัตรูทางการเมืองแบบพิสดารผกผัน ดังที่ความเคลื่อนไหวในช่วงหนึ่งทศวรรษก่อน 14 ตุลาฯ แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างประจักษ์ชัด ทั้งนี้ผู้เขียนหวังใจว่า กรอบความเข้าใจที่งานชิ้นนี้พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ศึกษาการเมืองสมัย 14 ตุลาฯ สามารถนำไปดัดแปลงประยุกต์ใช้ทำความเข้าใจการเมืองในยุคสมัยอื่นๆ ได้ด้วย

สุดท้าย เพื่อที่จะ “แลไปข้างหน้า” และ “ฝ่าข้ามไป” ซึ่งยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน สังคมไทยจึงจำเป็นต้อง “แลไปข้างหลัง” เพื่อเห็นเส้นทางอันยอกย้อนที่ตนเองได้เดินผ่านมาตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ งานชิ้นนี้มิใช่การศึกษา 14 ตุลาฯ ที่สมบูรณ์รอบด้านที่สุด มันเป็นเพียงความพยายามต่อจิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งด้วย แนวการวิเคราะห์แบบการเมืองวัฒนธรรมที่ไม่ได้มอง 14 ตุลาฯ ในฐานะเหตุการณ์ทางการเมือง (political event) ที่เกิดและจบลงภายใน 10 วันในเดือนตุลาคม 2516 แต่ในฐานะกระบวนการต่อสู้อันยาวนานยืดเยื้อทางวาทกรรม วัฒนธรรม และอุดมการณ์ที่ยังคงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ถึงที่สุด การต่อสู้และขับเคี่ยวทางการเมืองในปัจจุบันแยกไม่ออกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากการต่อสู้เมื่อ 40 ปีก่อน 14 ตุลาฯ เป็นทั้งแบบจำลองหรือโมเดลของการเคลื่อนไหว แหล่งอ้างอิงทางอุดมการณ์และวาทกรรม พื้นที่ของความทรงจำและประสบการณ์ ทั้งที่เป็นความทรงจำส่วนบุคคล และความทรงจำร่วมของสังคม ตัวอย่างเช่น การเคลื่อนไหวในช่วงก่อนการรัฐประหาร 2549 ที่เรียกร้องขอนายกฯ พระราชทานผ่านการใช้มาตรา 7 ก็เป็นความพยายามอ้างอิงกับประสบการณ์ 14 ตุลาฯ อย่างมิอาจปฏิเสธได้ เช่นเดียวกับความเชื่อของนักเคลื่อนไหวรุ่นหลังจำนวนไม่น้อยใน “14 ตุลาฯ โมเดล” ว่าหากชนชั้นนำปราบปรามประชาชนบนท้องถนนอย่างรุนแรงจนเกิดการนองเลือดสูญเสียแล้ว ชนชั้นนำจะถูก “บีบ” หรือกดดันจากชนชั้นนำกลุ่มอื่นด้วยกันให้ลงจากอำนาจไป เป็นต้น ในแง่นี้ “14 ตุลาฯ” กลายเป็นอดีตที่สร้างกรอบจำกัดจินตนาการของปัจจุบัน จนสังคมไทยอาจจะสูญเสียความสามารถในการจินตนาการถึงการสร้างระเบียบการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมการเมืองแบบใหม่ในอนาคตที่ข้ามพ้นไปจากเดิม

ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ จึงเป็นเรื่องของปัจจุบันมากเท่ากับเป็นเรื่องของอดีต และเป็นสมบัติของสังคมส่วนรวมเท่าๆ กับเป็นสมบัติส่วนบุคคลของคนที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ แต่ไม่ว่ามันจะมีฐานะเป็นอะไร 14 ตุลาฯ จะมีความหมายอย่างแท้จริง ต่อเมื่อมันเปิดให้มีการตั้งคำถาม ท้าทาย และตีความใหม่อย่างไม่รู้จักจบสิ้น โดยไม่ถูกปิดกั้นทั้งจากอำนาจรัฐ หรือจากพลังทางสังคมที่สร้างประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ ขึ้นมาเสียเอง

ในการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 นี้ ผู้เขียนเลือกจะคงเนื้อหาไว้เช่นเดิม โดยมิได้ดัดแปลง เสริมแต่ง เพราะเห็นว่าต้นฉบับเดิมได้ทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ของมันอย่างที่มันควรจะเป็นแล้ว แม้ว่าในใจลึกๆ จะมีความปรารถนาที่จะเพิ่มเนื้อหาบางตอนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ก็คิดว่าควรจะเขียนเป็นบทความชิ้นใหม่ต่างหากออกไป การปรับปรุงคงมีเพียงในส่วนของการแก้ไขตัวสะกด วรรคตอน ชื่อคน เชิงอรรถ และบรรณานุกรมให้ถูกต้องเที่ยงตรงยิ่งขึ้น และการจัดทำนามานุกรมรายชื่อบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในช่วงการเคลื่อนไหวก่อน 14 ตุลาฯ ที่ไม่มีในการพิมพ์ครั้งที่ 1 ขอขอบคุณสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ให้ความสนใจและใส่ใจในการทำต้นฉบับอย่างประณีตและงดงาม ทำให้ต้นฉบับใหม่มีความสมบูรณ์กว่าต้นฉบับพิมพ์ครั้งแรกหลายประการดังที่กล่าวไป ขอขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับคุณธนาพล อิ๋วสกุล สำหรับแรงผลักดัน ความช่วยเหลือ และการประสานงานอย่างแข็งขันจนทำให้หนังสือสำเร็จลุล่วง คุณกุลธิดา สามะพุทธิ ที่ช่วยจัดหารูปประกอบ คุณพัชรี อังกูรทัศนียรัตน์ สำหรับการตรวจทานและแก้ไขต้นฉบับอย่างละเอียดลออและรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง และคุณประชา สุวีรานนท์ สำหรับการออกแบบปกอันสวยสดงดงาม เพื่อนร่วมงานทุกท่านที่ธรรมศาสตร์และต่างสถาบันที่คอยให้กำลังใจและความช่วยเหลือต่างๆ ที่ขาดมิได้คือทุกคนในครอบครัว ทั้งแม่ พี่สาว น้องสาว และน้องชาย ที่เป็นกำลังใจให้ผู้เขียนเสมอมา

ประจักษ์ ก้องกีรติ

40 ปี 14 ตุลาฯ

ทดลงอ่าน