ข้อมูลทั่วไป
ผู้เขียน | ธงชัย วินิจจะกูล |
---|---|
จำนวนหน้า | 248 |
ปีที่พิมพ์ | 2560 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667577 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667560 |
ปกแข็ง 360.00 บาทปกอ่อน 270.00 บาท
ผู้เขียน | ธงชัย วินิจจะกูล |
---|---|
จำนวนหน้า | 248 |
ปีที่พิมพ์ | 2560 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667577 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667560 |
คำนำสำนักพิมพ์
คำนำผู้เขียน
ภาค 1 คนอื่นผู้ต่ำต้อย คนอื่นผู้สูงส่ง
บทที่ 1 “คนอื่น” ในผืนดินตน : การเดินทางกับการจำแนกชาติพันธุ์ของราษฎรสยามตามถิ่นฐาน ระหว่าง พ.ศ. 2428-2453
บทที่ 2 ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่าศิวิไลซ์ :เมื่อชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 5 แสวงหาสถานะของตนเองผ่านการเดินทางและพิพิธภัณฑ์ทั้งในและนอกประเทศ
ภาค 2 ปัตตานี : คนอื่นของไทย
บทที่ 3 เรื่องเล่าจากชายแดน : สิ่งแปลกปลอมต่อตรรกะภูมิศาสตร์ของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย
บทที่ 4 ประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย : อันตรายของลัทธิชาตินิยมไทย(กรณีเหตุการณ์รุนแรงที่ปัตตานี)
ภาค 3 ข้างบ้านที่ไม่ใช่เพื่อน
บทที่ 5 ข้ามพรมแดน : ภาพรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในประเทศไทย
บทที่ 6 ไทยรักพม่า
ภาค 4 คนอื่นของความเป็นไทย
บทที่ 7 ประวัติศาสตร์อันตรายในอุษาคเนย์
ภาคผนวก Seminar Orientalism
ประวัติผู้เขียน
ประวัติการตีพิมพ์
บรรณานุกรม
ดรรชนี
คำถามว่า “เราคือใคร ?” ดูจะเป็นคำถามเชิงปรัชญาที่ตอบยากเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะเมื่อ “เรา” ในที่นี้หมายถึงตัวตนรวมหมู่ มิใช่เพียงตัวตนเชิงปัจเจก ส่วนใหญ่แล้วเรารับเอาตัวตนรวมหมู่มาเป็นองค์ประกอบตัวตนของเราโดยแทบไม่รู้ตัว หรือกว่าจะรู้ตัวอีกที ก็อาจกลายเป็นว่าเราได้กลายเป็นร่างทรงของตัวตนชนิดนี้ที่มีส่วนในการ ก่อความรุนแรงไปเสียแล้ว
ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ยกย่องชนชั้นนำในประวัติศาสตร์อย่างไม่ลืมหูลืมตา เป็นคนไทยที่หากไม่เกลียดชังก็ดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน เป็นคนกรุงที่มองตัวเองสูงส่งดูถูกกีดกันสิทธิของคนบ้านนอก เป็นนักชาตินิยมที่ต้องการทวงคืนดินแดนทุกตารางนิ้ว เป็นคนที่ไม่ตะขิดตะขวงใจกับการเรียกขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานีว่าโจรใต้ เป็นพุทธแท้หรือเป็นคนคลั่งไคล้เจ้า หนังสือ คนไทย/คนอื่น : ว่าด้วยคนอื่นของความเป็นไทย เล่มนี้จะชักนำให้เราต้องทบทวนตัวตนพวกนี้ใหม่หมด เพราะแต่ละบทจะค่อยๆ ชำแหละให้เห็นว่าตัวตนเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นอย่างไร
หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสี่ภาค ได้แก่ ภาค 1 คนอื่นผู้ต่ำต้อย คนอื่นผู้สูงส่ง, ภาค 2 ปัตตานี : คนอื่นของไทย, ภาค 3 ข้างบ้านที่ไม่ใช่เพื่อน, และภาค 4 คนอื่นของความเป็นไทย ผู้อ่านอาจเปิดไปอ่านบทใดก่อนก็ได้แล้วแต่ความสนใจ เพราะแต่ละบทผู้เขียนเขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระและมีความสมบูรณ์ในตัวเอง หรือหากเลือกอ่านเรียงไปที่ละบทจะพบว่าทุกบทร้อยเรียงกันด้วยแก่นหรือแกนเดียว คือมโนทัศน์ Orientalisin, ความเป็นไทย, และความเป็นอื่น แตกต่างกันเพียงประเด็นหรือรายละเอียดที่นำมาวิเคราะห์วิจารณ์
นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังอาจมองได้ว่าเป็นส่วนขยายหรือส่วนเติมเต็มของหนังสือเล่มสำคัญของผู้เขียนคือ Siam Mapped (1994) อีกด้วย โดยเฉพาะภาคที่ 1 ซึ่งทำให้เรามีความเข้าใจอันกระจ่างชัดขึ้นว่าในระยะเปลี่ยนผ่านจากรัฐราชาธิราชมาเป็นรัฐชาติแบบใหม่ นอกจากแผนที่และความรู้ภูมิศาสตร์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสร้างภูมิกายาของสยามแล้ว วิทยาการอีกอย่างคือชาติพันธุ์นิพนธ์และวาทกรรมศิวิไลซ์นั่นเองที่ชนชั้นนำฉวยใช้ทั้งเพื่อทำความเข้าใจว่าตัวเองคือใครในระเบียบโลกใหม่และเพื่อจำแนกแยกแยะจัดวางช่วงชั้นสถานะของกลุ่มชนต่างๆ เสียใหม่ในภูมิกายาที่เพิ่งสร้าง
ส่วนภาค 2 เมื่อผู้เขียนขยับไปอภิปรายถึงปัตตานี ในฐานะคนอื่นของตัวตนไทยที่เป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังถึงปัจจุบัน คำอธิบายของผู้เขียนเกี่ยวกับตรรกะทางภูมิศาสตร์ที่ผิดฝาผิดตัวในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ซึ่งทำให้ประวัติศาสตร์ปาตานีแปลกแยกไม่ลงรอยหรือจำเป็นต้องกลายเป็นประวัติศาสตร์สวนทางของประวัติศาสตร์แห่งชาตินั้น ในแง่หนึ่งก็มองได้ว่าเป็นการต่อยอดทางความคิดของผู้เขียนจาก Siam Mapped นั่นเอง
หลังจากเข้าใจการก่อร่างสร้างตัวตน/คนอื่นในภาค 1 และพิจารณาก้อนกรวดในรองเท้าในภาค 2 แล้ว ผู้เขียนก็ชักชวนให้เราขยายกรอบการมองไปยังเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาค 3 กับภาค 4 จึงเป็นทั้งการมองออกไปข้างนอกและเป็นบทสรุปส่งท้าย เช่นเคย มุมมองของไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นมรดกความรู้แบบจักรวรรดิของอธิราชสยาม สำหรับผู้สนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สองภาคนี้ ถือว่ามีความสำคัญเพราะผู้เขียนได้อภิปรายเกี่ยวกับภูมิทัศน์และสาแหรกของความรู้เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาอย่างกว้างขวางและค่อนข้างครอบคลุม รวมถึงเสนอว่าจะข้ามให้พ้นประวัติศาสตร์อันตรายหรือประวัติศาสตร์แห่งชาติที่ครอบงำชีวิตเราได้ ต้องสร้างวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์แบบวิพากษ์วิจารณ์ที่อนุญาตให้ประวัติศาสตร์ทุกชนิดทุกแบบแบกันออกมาได้ ถกเถียงโต้แย้งกันได้ อาเซียนจึงจะเป็นประชาคมที่เข้มแข็งเปิดกว้าง มีความเป็นมนุษย์ มิใช่ประชาคมทางธุรกิจการลงทุนอย่างเดียว
ในห้วงยามที่หลายคนได้แต่ถอนหายใจแล้วรำพึงว่า อย่าว่าแต่อนาคตของประชาคมใหม่หมาดอย่างอาเซียนเลย แค่อนาคตของรัฐชาติไทยจะไปอย่างไรต่อก็ยังมองไม่ออก เราน่าจะลองย้อนกลับไปพิจารณาภาพอุปมาชวนหัวซึ่งผู้เขียนใช้ในการบรรยายสำนึกอย่างใหม่ต่อพื้นพิภพหรือระเบียบโลกใหม่ของชนชั้นนำสมัยพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อร้อยกว่าปีก่อน
ชนชั้นนำคิดว่าพวกตนกำลังนั่งรถไฟมุ่งสู่ความศิวิไลซ์ ไม่ใช่นั่งอยู่กับราษฎรบนเรือลอยแห่งประเพณีเดิม แต่ทว่าความจริงอันปฏิเสธไม่ได้ก็คือชนชั้นนำชาวกรุงเป็นเพียงเรือโยงที่ยังพ่วงลากเอาเรือใหญ่บรรทุก ‘คนอื่น’ ในผืนดินตน จนเต็มลำไปด้วย (หน้า 28)
เมื่อเปรียบเทียบภาพอุปมานี้กับภาพข่าวต่างๆ ในปัจจุบัน น่าสนใจว่าภาพเสนอของชนชั้นนำ ชาวป่า ชาวบ้านนอก คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ และประเทศเพื่อนบ้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง แน่นอนว่าคนอื่นของตัวตนไทยมิได้หยุดนิ่งรอถูกให้ความหมายโดยเกณฑ์กำหนดของชนชั้นนำเท่านั้น พวกเขาเองก็เป็นผู้กระทำการและบางครั้งก็สร้างวาทกรรมสวนกลับได้เหมือนกัน
ณ ตอนนี้ ชนชั้นนำประทับพาหนะอะไร กำลังนึกคิดอะไรอยู่ ถึงพอจินตนาการได้จากภาพข่าวที่หลุดรอดออกมา แต่ก็คงไม่มีใครกล้าบรรยายออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ชาวป่าดูจะมิใช่คนอื่นที่ “ป่าเถื่อน” อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นกลุ่มชนที่ถูกแย่งชิงทรัพยากรอย่างหนักหนาสาหัส ขณะที่ก็ถูกนำเสนอว่าได้รับมหากรุณาธิคุณมากเป็นลำดับต้นๆ ในรัชสมัยที่ผ่านมาผ่านโครงการตามพระราชดำริต่างๆ ส่วนชาวบ้านนอกเดี๋ยวนี้ก็ดูจะไม่ใช่คนอื่นผู้ว่าง่ายอีกต่อไป ในมุมมองของชนชั้นนำ พวกเขากลายเป็นพวกเลี้ยงไม่เชื่องที่ติดเชื้อนโยบายประชานิยมของนักการเมืองชั่ว คนเมืองที่สำคัญตน (ผิดๆ) มาตลอดว่ามีอภิสิทธิ์พูดแทนคนทั้งประเทศ ตอนนี้ถูกคนบ้านนอกเสื้อแดงตอกหน้าด้วยวาทกรรมสวนกลับอย่าง “สลิ่ม” ซึ่งเป็นคำที่มีนัยแสดงความดูถูก หมายถึง บุคคลที่หลงคิดว่าตนมีสติปัญญาหรือจริยธรรมเหนือกว่าผู้อื่น ทว่ากลับไม่ สามารถใช้ตรรกะหรือแสดงเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ คนสามจังหวัดชายแดนใต้ นอกจากเป็นคนอื่นที่เป็นแขกมุสลิมแล้ว ยังเป็น “โจรใต้” ในสายตาคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย เหตุการณ์รุนแรงที่สามจังหวัดชายแดนใต้ยังเกิดขึ้นสม่ำเสมอและมีแนวโน้มจะลุกลามบานปลายขยายออกนอกพื้นที่ ดังเหตุระเบิดหลายจุดในหลายจังหวัดภาคใต้ของไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ฟากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าที่คนไทย เห็นว่าเป็นศัตรูคู่แข่งและลึกๆ รู้สึกสมน้ำหน้าที่ตกอยู่ใต้เผด็จการทหารอย่างยาวนาน มาบัดนี้กลับกลายเป็นฝ่ายที่ได้แสดงความห่วงใยประชาธิปไตยไทย ส่วนลาวน้องที่น่าสงสารก็เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าจีน-ลาวด้วยความหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล (ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทยแสดงความเห็นว่ารถไฟความเร็วสูงยังไม่มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย หากเป็นไปได้ควรทำให้ถนนลูกรัง หมดไปจากประเทศก่อน) เขมรดูจะยังเป็น “เขมรแปรพักตร์” ในสายตาของชนชั้นนำไทยโทษฐานที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับทักษิณ ชินวัตร นักการเมือง “เลว” ที่ถูกสร้างภาพให้เป็นคู่ตรงข้ามกับเผด็จการทหาร “ดีๆ” ที่ยึดอำนาจด้วยข้ออ้างว่าจะคืนความสุขให้กับ “คนไทย” ณ จุดนี้ หลายคนย่อมเกิดคำถามในใจอย่างช่วยไม่ได้ว่า “คนไทย” ที่คาดว่าจะได้รับความสุขคืนมานั้นหมายรวมถึง “ตัวเรา” ด้วยจริงๆ ล่ะหรือ
ในระเบียบโลกใหม่ล่าสุด (อย่างน้อยก็ใหม่กว่าระเบียบโลกที่ว่าใหม่แล้วในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง) ที่บางคนเรียกว่า “โลกาภิวัตน์” บางคนเรียกว่า “หลังสมัยใหม่” ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ฉับไวเพียงปลายนิ้วคลิกและระบบ social network ที่เชื่อมโยงกันดุจใยแมงมุมยักษ์ ผู้ที่อยู่ตรงโซนรอยต่อของการส่งผ่านข้ามวัฒนธรรมกลับกลายเป็นใครก็ได้ ไม่จำกัดอยู่ที่ชนชั้นนำอีกต่อไป ภาพอุปมาที่อาจจะใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบันคือ
ชนชั้นนำเลิกคิดแล้วว่าความศิวิไลซ์หมายความว่าอย่างไร พวกเขาใช้กฎหมายป่าเถื่อนปราบให้ราษฎรนั่งนิ่งๆ อยู่บนรถรางคันเดิมที่พวกเขาทาสีภายนอกให้ใหม่ทุกสิบปี ทว่าความเป็นจริงอันปฏิเสธไม่ได้ก็คือราษฎรบนรถรางคันเก่าคร่ำซึ่งมองออกไปเห็นโลกกว้างใหญ่ผ่านอินเตอร์เนทความเร็วสูง เริ่มไม่สะดวกใจที่จะนั่งเซื่องๆ ให้ ชนชั้นนำลากจูงไปอย่างไร้ทิศทาง สมองน้อยๆ ของพวกเขากำลังเริ่มคิดออกแล้วว่าภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่า… ศิวิไลซ์
หมายเหตุ
คนอื่นและความเป็นอื่น
ประมาณกลางทศวรรษ 1980 ขณะที่ผมเรียนหนังสืออยู่ กระแสความสนใจทางวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ไม่ได้มีแต่เพียงกระแสของกลุ่มความคิดที่เรียกกันว่า “หลังสมัยใหม่” และ “หลังโครงสร้างนิยม” เท่านั้น หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญและก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางมากได้แก่หนังสือ Orientalism (1978) ของ เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said) ซึ่งกล่าวถึงการสร้างความรู้ในโลกตะวันตกเกี่ยวกับสังคม “ตะวันออก” ทั้งความรู้ที่เรียกว่า Oriental Studies ที่ขยายตัวเติบโตมากในยุโรปยุคอาณานิคมและ area studies ที่ขยายตัวเติบโตมากในอเมริกายุคสงครามเย็น
โดยทั่วไปมักถือกันว่า ความรู้ในโลกวิชาการเป็นศาสตร์ที่เป็นกลาง เที่ยงธรรม และปลอดการเมือง แต่ซาอิดชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความรู้ซึ่งผลิตขึ้นในโลกตะวันตกเกี่ยวกับ “ตะวันออก” แท้ที่จริงแล้ววางอยู่บนอุดมการณ์ อคติ โลกทัศน์ และกลวิธีการประพันธ์หลายอย่าง ซึ่งล้วนสะท้อนการจ้องมองจากตะวันตกไปยังโลกตะวันออกที่ต่ำต้อยด้อยอำนาจกว่า ด้วยเหตุนี้เขาจึงเรียกว่าเป็นลัทธิตะวันออกนิยมหรือลัทธิบูรพคดีวิทยา (Orientalism) ซึ่งมิได้มีความหมายในเชิงนิยมชื่นชมชาวตะวันออก แต่กลับตรงข้าม คือหมายถึงการสร้างชาวตะวันออกขึ้นมาตามอคติ วาทกรรม และความรู้แบบฉบับที่ชาวตะวันตกเข้าใจ
คำว่า Orientalism มาจากแขนงวิชาการความรู้ที่เรียกกันว่า Oriental Studies ในยุโรป หมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับเอเชียฯ Oriental Studies ในยุคอาณานิคมเน้นที่ภูมิภาคตะวันออกใกล้ (Near East) หรือที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่าตะวันออกกลาง จนกระทั่งประมาณกลางศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะเมื่ออิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในวงวิชาการโลกมีมากขึ้น Oriental Studies จึงเน้นไปที่ภูมิภาคซึ่งชาวยุโรปเคยเรียกว่า Far East หรือเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซาอิดทำให้ “ตะวันออกศึกษา” ซึ่งมีความหมายกลางๆ หรือค่อนข้างดีด้วยซ้ำ กลายเป็นความหมายในเชิงลบ กล่าวคือหมายถึง วาทกรรม (discourse) และการสร้างความรู้อย่างบิดเบือน มีอคติเกี่ยวกับโลกตะวันออก เป็นความรู้ที่เกิดจากการจ้องมองจากโลกตะวันตก ซึ่งมีผลประโยชน์ อุดมการณ์ มโนทัศน์ วาทกรรม ภาษา คำบรรยาย ขนบ และเรื่องเล่าในแบบของตนเอง
ประเด็นสำคัญอีกข้อที่ซาอิดเน้นมากก็คือ Orientalism มิใช่เพียงวาทกรรม และความรู้แบบฉบับของชาวตะวันตกที่มีต่อชาวตะวันออกเท่านั้น แต่ความรู้ที่สร้างขึ้นนี้สะท้อนตัวตนของโลกตะวันตกหรือชาวตะวันตกเองมากกว่าความเข้าใจโลกตะวันออก การสร้างคนอื่นสะท้อนความเป็นตัวตนของผู้สร้างเองนั่นแหละ ซาอิดกับงานของเขาสร้างผลสะเทือนอย่างมากโดยเฉพาะต่อวงการวรรณคดีศึกษาและมนุษยศาสตร์โดยทั่วไป จนนับกันว่า Orientalism เป็นรากหนึ่งของแขนงความรู้ที่เรียกว่า “หลังอาณานิคม” (post-colonialism) ในเวลาต่อมา
น่าคิดต่อไปว่า การผลิตความรู้เกี่ยวกับสังคมอื่นที่มีอำนาจน้อยกว่าในทำนองนี้เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมตะวันตกในยุคอาณานิคมเท่านั้นจริงหรือ? หรือว่านี่เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากสังคมที่ต่างวัฒนธรรมกันและมีอำนาจมากน้อยไม่เท่ากัน ? ตะวันออกจ้องมองตะวันออกด้วยกันเองบ้างไหม ? สร้างความรู้เกี่ยวกับสังคมที่ต่างจากตนในโลกตะวันออกด้วยกันให้เป็น “คนอื่น” หรือไม่ ? แล้วตะวันออกจ้อง มองตะวันตก สร้างความรู้เกี่ยวกับตะวันตกบ้างไหม ? เป็นอย่างไร ? ยิ่งถ้าเข้าใจถึง “อำนาจ” ในแบบที่ฟูโกเสนอ (หมายความว่าอำนาจไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของรัฐเท่านั้น แต่อำนาจดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคมทุกชนิด) ในความหมายนี้ สังคมต่างๆ กันในโลกตะวันออกด้วยกันเองซึ่งก็มีความแตกต่างหลากหลาย และมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันดำรงอยู่ ก็น่าจะมีการสร้างความรู้เกี่ยวกับคนอื่นเช่นกัน แล้วไทยล่ะสร้างความรู้เกี่ยวกับคนอื่นอย่างไร ?
งานของซาอิดและคำถามเกี่ยวเนื่องในทำนองที่กล่าวมา มีอิทธิพลต่อผมมาก และยังคงก่อให้เกิดคำถามต่างๆ สารพัดมาจนทุกวันนี้ Siam Mapped (1994) ก็มีร่องรอยของความคิดเรื่องนี้อยู่แม้ว่าจะไม่ชัดเจนเท่าอิทธิพลของ Imagined Communitics (1983) ในเรื่องการสร้างความเป็นชาติ และในแง่วิธีการศึกษาจะไม่ชัดเจนเท่ากับ semiology ก็ตาม แต่นับจากนั้นเป็นต้นมา ผมพยายามศึกษาการเปลี่ยนช่วงยุคสมัยใหม่ของสยาม เน้นที่การก่อตัวของรากฐานทางภูมิปัญญาสมัยใหม่ของสยาม ซึ่งในกระบวนการนี้ต้องต่อสู้เบียดขับความเป็นอื่นหรือคนอื่นด้วย
ระหว่างที่ผมสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (พ.ศ. 2534-2559) ใน ระยะ 7-8 ปีแรก ผมจะเปิดวิชาสัมมนาเกี่ยวกับ Orientalism แทบทุกปี และนาน ๆ ครั้งหลังจากนั้น (ในขณะที่ผมเปิดวิชาสัมมนาเกี่ยวกับชาตินิยมเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น) ในเวลาต่อมาผมพบว่า Orientalism ในความหมายที่ซาอิดเสนอกลายเป็นความเข้าใจที่นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกส่วนมากรู้จักกันพอสมควรแล้ว ซึ่งหมายความว่า มีการพูดคุยศึกษาเรื่องนี้ในระดับปริญญาตรีอย่างกว้างขวางแล้ว ผมจึงหยุดสอนวิชา นี้ไปเลยนับจากปี 2549 ในภาคผนวกของหนังสือ คนไทย/คนอื่น เล่มนี้ ผมได้นำตัวอย่างแผนการเรียนของวิชาสัมมนานี้มาประกอบด้วย การสัมมนาจะเริ่มจากอ่านหนังสือของซาอิด ถัดจากนั้นหลายคาบต่อมาจะพิจารณาการสร้างความรู้ของโลกตะวันตกเกี่ยวกับตะวันออกที่ปรากฏในความรู้หลากหลายชนิดในหลายรูปแบบ ผ่านสื่อหลากหลายประเภท ทั้งวรรณกรรม หนังสือเดินทางท่องเที่ยว ภาพยนตร์ฮอลลีวูด สารคดีมีสาระอย่าง National Geographic และงานวิชาการอย่างประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์นิพนธ์ (ethnography)
ในหมวดต่อมา การสัมมนาจะเน้นไปที่การสร้างความรู้ของสังคมตะวันออกที่มีต่อตะวันตก นั่นหมายความว่าการสร้างความรู้เกี่ยวกับคนอื่นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการมองจากตะวันตกมาสู่ตะวันออกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมองสวนกลับด้วย แม้ว่าเราจะเอาปัจจัยอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง คือเราจะนับเฉพาะการสร้างความรู้โดยผู้มีอำนาจเหนือกว่าต่อคนอื่นผู้มีอำนาจน้อยกว่า ก็มีความรู้จำนวนไม่น้อยที่ชาวตะวันออกสร้าง ขึ้นเกี่ยวกับตะวันตกที่ต่ำต้อยกว่า
ประเด็นที่น่าสนใจในหมวดถัดมาคือ การสร้างความรู้ในสังคมตะวันออกด้วยกันเองที่สร้างให้คนอื่นที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์กับพวกของตนให้กลายเป็นคนอื่น เช่น จีนกับความรู้ว่าด้วยคนป่าเถื่อนที่อยู่ใต้สรวงสวรรค์ที่มีปักกิ่งเป็นตัวแทน หรือเอเชียศึกษาในญี่ปุ่นซึ่งอยู่บนฐานของความรู้เกี่ยวกับจีนและเกาหลี ซึ่งไม่ต่างจาก Orientalism เท่าไรนักแต่มีมานานก่อนหน้า Oriental Studies ของฝรั่งเสียอีก ความรู้ที่เกิดจากไทยมองลาวมองเขมรและอื่น ๆ อีกสารพัดอย่าง การสร้างความรู้ที่ถือว่า “คนอื่น” ต่ำกว่า “เรา” โดยถือตัวเองเป็นใหญ่มีอยู่ในทุกอารยธรรมหมวดสุดท้ายของการสัมมนา จะวิจารณ์ภูมิภาคศึกษา (area studies) ในสหรัฐอเมริกาว่าเป็นผลผลิตของลัทธิ Orientalism มากน้อยอย่างไร ความพยายามของวิชาการสกุลหลังอาณานิคมที่จะข้ามให้พ้น Orientalism ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ส่งผลสะเทือนต่อวงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์อย่างไร
การยึดถืออัตลักษณ์รวมหมู่หนึ่งๆ เช่น ชาติพันธุ์ ความเป็นชาติ หรือสถาบันนิยม ล้วนแยกไม่ออกจากความรู้เกี่ยวกับคนอื่น เพราะต้องมีผู้อื่นที่ต่างออกไป หรือคู่ตรงข้าม หรือศัตรู จึงจะมีตัวตนของเราเองได้ อันที่จริงผมเคยเสนอไว้ในที่อื่น (คือใน Siam Mapped) แล้วว่า การสร้างอัตลักษณ์ต้องสร้างคุณสมบัติเด่นของสังคมหรือกลุ่มชนควบคู่กับการระบุคุณสมบัติที่แตกต่างหรือตรงข้าม การสร้างความเป็นอื่นจึงไม่ได้เกิดขึ้นภายหลังจากเกิดอัตลักษณ์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างตัวตนหนึ่งๆ เกิดขึ้นในกระบวนการเดียวกัน ในหลายกรณีการสร้างอัตลักษณ์เกิดจากการนิยามผู้อื่นหรือผู้ไม่ใช่เราก่อนการรู้จักตัวเองหรือการสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองด้วยซ้ำไป
นอกจากนี้ ตราบเท่าที่อัตลักษณ์จักต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงซ่อมแซม ผลิตซ้ำ การสร้างความเป็นอื่นก็จะต้องมีอยู่และต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงซ่อมแซม ผลิตซ้ำด้วยเช่นกัน ภูมิศาสตร์และภูมิกายามิใช่ปัจจัยเดียวหรือมิติเดียวที่ประกอบสร้างเป็นอัตลักษณ์ แต่ความเป็นไทยมีมิติอื่นด้านอื่นอีกมาก หมายความว่าการสร้างความเป็นไทยในมิติต่างๆ จะต้องเกิดกระบวนการสร้างความเป็นอื่นควบคู่ไปด้วยกัน และต้องเกิดการผลิตซ้ำซ่อมแซมปรับปรุงทั้งความเป็นอื่นและความเป็นไทยในมิติต่างๆ ต่อมาอีกด้วย ดังนั้น เราจึงน่าจะศึกษาถึงความเป็นอื่นได้เช่นเดียวกับที่เราศึกษาความเป็นไทย
คนอื่นของความเป็นไทย
หนังสือ คนไทย/คนอื่น เล่มนี้เป็นการรวบรวมบทความที่คิดขึ้นในวาระต่างๆ ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา แต่ละบทความเคยนำเสนอในการประชุมการสัมมนาต่างๆ วาระในหัวข้อต่างๆ กัน ดูเผินๆ จึงเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เอาเข้าจริงบทความเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกันในความคิดของผม ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาถึงรากฐานภูมิปัญญาของสยามยุคสมัยใหม่ ทั้งหมดเป็นการศึกษาถึงการผลิต “คนอื่น” หรือความเป็นอื่น โดยคนไทยและความเป็นไทย การนำมารวมไว้ในที่เดียวกันเช่นนี้ น่าจะช่วยให้เห็นสาระสำคัญและแนวคิดแนวการศึกษาที่เกี่ยวพันกันชัดเจนขึ้น และหวังว่าจะช่วยให้เกิดการคิดต่อออกไปอีกได้ดีขึ้นด้วย
เรามักจะเข้าใจไปว่าความเป็นไทยเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงโดยตัวมันเองในธรรมชาติหรือในประวัติศาสตร์อย่างเป็นอิสระจากภาษาและจากมโนทัศน์ของมนุษย์ที่ไปทำให้มันมีตัวตนขึ้นมา แต่แท้ที่จริงความเป็นไทยไม่ดำรงอยู่ในธรรมชาติเป็นอิสระจากความรับรู้หรือภาษาของมนุษย์ที่ไปทำให้มันมีตัวตนขึ้นมา ความเป็นไทยไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ผลิตขึ้นและดำรงอยู่ในประวัติศาสตร์อย่างเป็นอิสระจากมโนทัศน์บางอย่างหรือภาษา ที่ไปทำให้มันปรากฏตัวเป็นรูปธรรมขึ้นมา คนเราไม่สามารถปฏิเสธมรดกตกทอดทาง วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในชีวิตปัจจุบันของสังคมหนึ่งๆ มรดกทำนองนี้ต่อให้อยากปฏิเสธสักแค่ไหนว่าไม่มีอยู่จริง ก็ไม่มีทางเป็นจริง เพราะเราไม่มีทางหลีกพ้น แต่ความเป็นไทยมิใช่มรดกทำนองนี้ที่ดำรงอยู่อิสระ จากภาษาและมโนทัศน์ของเรา ความเป็นไทยเป็นมโนทัศน์เป็นวาทกรรมที่พยายามเสนอแทน (represent) มรดกนั้น และ “สื่อสร้าง” ความเป็นจริงขึ้นมาตามวาทกรรมของตัวเอง[1] แต่วาทกรรมเป็นภาษา เป็นนิยามที่กำหนดขึ้นจากเกณฑ์จำนวนหนึ่งไป ทำให้สิ่งที่เราคิดว่าเป็นมรดกนั้นมีตัวตนขึ้นมา นิยามและภาษาแฝงมุมมองอคติและความเข้าใจอันจำกัดของเรา ความเป็นไทยในแง่นี้ต่างหากที่เราสามารถจะรับบางส่วน รับทั้งหมด หรือปฏิเสธทั้งหมดก็ได้เพราะเป็นเรื่องของความคิด ความเป็นไทยในแง่ นี้คือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง
ความเป็นไทยเป็นวาทกรรมและมโนทัศน์หลวมๆ ที่ลื่นไหลและนิยามชัดเจนได้ลำบาก ทั้งยังปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาอีกด้วย เป็นมโนทัศน์ที่ใช้สร้างความรู้ที่เป็นระบบขึ้นมา จนเราเข้าใจกันว่าเป็นความรู้เกี่ยวกับตนเองของสังคมไทย มโนทัศน์หลวม ๆ แบบนี้แหละที่แพร่หลายได้ง่ายเพราะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ตีความขยายความได้ความรู้เหล่านี้สร้างขึ้นมาจากมุมมอง จุดยืน และประสบการณ์ของชนชั้นนำไทยนับจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นหลัก แต่ได้แพร่หลายสู่สาธารณะผ่านทางระบบการศึกษาและสื่อต่างๆ ในวัฒนธรรมไทยปกติ ที่สำคัญคือได้รับการตอกย้ำส่งเสริมโดยรัฐและพลังทางวัฒนธรรมต่างๆ ในโอกาสพิเศษทางสังคมและการเมืองจนเป็นความรู้และมโนทัศน์ที่ทรงอิทธิพลมาก
บทความในเล่มนี้อธิบายความรู้ว่าด้วยคนอื่น 4 แบบด้วยกัน คือ 1) ฝรั่งหรือโลกตะวันตก 2) ประเทศเพื่อนบ้าน 3) คนอื่นในสยามที่ถูกจัดแบ่งเป็นประเภทตามถิ่นฐาน และ 4) ปัตตานี คนอื่นแต่ละประเภทเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยเกณฑ์นิยาม (determinant) บางอย่างหรือหลายอย่างประกอบกัน เราสามารถระบุเกณฑ์นิยามเหล่านี้ได้และศึกษากระบวนการที่เกณฑ์นิยามหนึ่งๆ สื่อสร้างคนอื่นขึ้นมาในแบบต่างๆ ได้ กระนั้น ที่สำคัญก็คือ เอาเข้าจริงเกณฑ์นิยามเหล่านี้สะท้อนนิยามของความเป็นไทยมากพอๆ กับ (หรืออาจจะมากกว่า) นำเสนอความเป็นจริงเกี่ยวกับคนอื่นที่กล่าวถึงดังที่ซาอิดได้เสนอไว้
ในกรณีของฝรั่งหรือ “ยุโรป” ตามบทความในเล่มนี้ มโนทัศน์และวาทกรรมความศิวิไลซ์เป็นเกณฑ์นิยามสำคัญที่สุดที่สื่อสร้างคนอื่นที่สูงกว่าไทยมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 สยามปรารถนาจะศิวิไลซ์ ปรารถนาจะได้รับการยอมรับจากฝรั่งว่าเป็นประเทศศิวิไลซ์ แต่การพรรณนาความศิวิไลซ์มากกว่าของยุโรป กลับไม่ช่วยให้เรารู้จักยุโรปเลย กลับบอกถึงความเข้าใจของชนชั้นนำสยามว่าต้องการจะให้สยาม (ชนชั้นนำ) เป็นอย่างไร ประเด็นต่อมาก็คือ ความรู้แบบฉบับว่าด้วยฝรั่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในศตวรรษกว่าๆ ที่ผ่านมา ความหมายของศิวิไลซ์หรืออารยะในความเข้าใจของไทย มีนัยสองอย่างปนกันอยู่ ด้านหนึ่งบอกถึงยุคสมัยใหม่หรือเป็นอย่างตะวันตก และอีกด้านที่มีนัยเชิงศาสนาและวัฒนธรรมด้วย บ่อยครั้งเราจึงใช้คำเก่าแก่ที่รู้จักกันดีกว่าคือ คำว่า “ความเจริญ” เมื่อกล่าวถึงความศิวิไลซ์ในปลายศตวรรษที่ 19 จะเน้นถึงความ ก้าวหน้าของยุคสมัยใหม่หรือตะวันตก ตามความหมายด้านนี้ก็จะทำให้เห็นว่าฝรั่งยุโรปสูงกว่า แต่ถ้าหากนิยามของความศิวิไลซ์ถูกเน้นอีกด้านหนึ่ง ในความหมายเชิงศาสนาหรือวัฒนธรรม ความเจริญแบบตะวันตกถูกลดทอนความสำคัญลง หรือถือว่าไม่ใช่ความเจริญที่น่าปรารถนา ความเจริญศิวิไลซ์ชนิดแรกกลับต่ำกว่าด้อยกว่าความเป็นไทยด้วยซ้ำ ในระยะ 100 ปีโดยเฉพาะไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้ ความหมายของความเจริญและความศิวิไลซ์ปรับเปลี่ยนไปมาก เน้นไปถึงความเจริญทางจิตวิญญาณในทางศาสนามากขึ้น ฝรั่งหรือคนอื่นในความหมายที่สูงส่งกว่าศิวิไลซ์กว่าในศตวรรษที่ 19 หรือต้นศตวรรษที่ 20 จึงกลับกลายเป็นตรงข้ามกันก็ได้
“สยาม” กับ “ยุโรป” ที่กล่าวถึงข้างบนนี้เป็นการเรียกทางภูมิศาสตร์ แต่มโนทัศน์ความเข้าใจเรื่องความศิวิไลซ์หรือความเจริญนั้นเป็นทัศนะที่แฝงมิติชนชั้นด้วยนั่นคือเป็นทัศนะของชนชั้นนำ ดังนั้น เมื่อนำมโนทัศน์นี้ไปมองราษฎรสยามเองเกณฑ์นิยามในเรื่องความศิวิไลซ์จึงสื่อสร้างให้เกิดความรู้เกี่ยวกับคนอื่นภายในสยามเอง นั่นหมายความว่าหน่วยทางภูมิศาสตร์ที่เรียกว่าสยามนั้นถูกจำแนกออกตามคุณสมบัติของถิ่นฐานภูมิลำเนา ผู้คนในถิ่นฐานอย่างหนึ่งสะท้อนระดับความเจริญหรือความศิวิไลซ์ที่ต่างกันภายในภูมิกายาซึ่งดูเสมือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในสายตาของชนชั้นนำ สยามจัดแบ่งได้เป็นลำดับชั้นสูงต่ำ ภูมิกายาของสยามมิได้เป็นพื้นที่ราบเรียบ เสมอกันในทางสังคมเลย ชุมชนจินตกรรมของไทยไม่เหมือนกับชุมชนจินตกรรมของแอนเดอร์สัน เพราะไม่เคยเป็นชุมชนของคนที่เสมอกัน แต่เป็นชุมชนของคนที่เจริญสูงต่ำกว่ากัน เมือง ชนบทหรือบ้านนอก และป่าเขา อาจเป็นเกณฑ์นิยามในการจำแนกคนที่ทรงอิทธิพลในสังคมไทยสมัยใหม่ยิ่งกว่าเชื้อชาติ (race) อาจกล่าวได้ว่า เป็นเกณฑ์นิยามที่มีบทบาทความสำคัญในสังคมไทยในทำนองเดียวกับที่เชื้อชาติ (race) มีในสังคมตะวันตก ความแตกต่างระหว่าง “เถื่อน” กับ “เมือง” และความ เปลี่ยนแปลงจาก “นายเถื่อน” สู่ “นายเมือง” ตามนิยายที่คนไทยทุกคนรู้จักกันดี จึงอาจมีความสำคัญมากเสียยิ่งกว่าความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ การปะทะกันระหว่างพวกบ้านนอกกับคนกรุงจึงรุนแรงกว้างขวางไม่แพ้การต่อสู้ระหว่างชนชั้นหรือระหว่างเชื้อชาติในสังคมอื่น ดังจะเห็นได้จากการเมืองของสองสีเสื้อใน 10 ปีที่ผ่านมา
ไทยไม่เคยมองประเทศรอบข้างของสยามเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันในเชิงภูมิภาค “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นมโนทัศน์แบบสมัยใหม่มากๆ ที่สื่อสร้างขึ้นมาจากภูมิรัฐศาสตร์แบบตะวันตก แต่มโนทัศน์เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในยุคสมัยใหม่ของไทยอยู่บนฐานของมโนทัศน์แบบจักรวรรดิสยามที่มีต่อรัฐใกล้เคียง ซึ่งที่ตกทอดมาจากยุคก่อนสมัยใหม่ เราจึงสามารถเห็นและเข้าใจรากเหง้าของความคิดต่อประเทศ เพื่อนบ้านในสมัยใหม่ได้จากประวัติศาสตร์แบบมาตรฐานของไทย
ปัตตานีเป็นคนอื่นและความเป็นอื่นของความเป็นไทยที่ถูกสื่อสร้างขึ้นด้วยเกณฑ์นิยามหลายชนิดซ้อนทับในเวลาเดียวกัน ได้แก่ ภูมิรัฐศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์แบบจักรวรรดิสยาม ปัตตานีจึงเป็นคนอื่นและความเป็นอื่นที่สุดในหลากมิติของความเป็นไทย ยิ่งกว่านั้น ความเป็นอื่นของปัตตานีน่าจะเข้าใจไม่ยากถ้า หากปัตตานีโดนรังเกียจชัดๆ ตรงไปตรงมาราวกับเป็นศัตรูแบบหนึ่ง แต่ความเป็นอื่นของปัตตานีกลับอยู่ในภาวะกึ่งๆ กลางๆ กลืนไม่เข้าคายไม่ออกตลอดมา เพราะความเป็นไทยถือว่าปัตตานีเป็นคนอื่นในแทบทุกมิติ แต่กลับลังเลเพราะกลับถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของภูมิกายาสมัยใหม่ที่แบ่งแยกไม่ได้แล้ว ปัตตานีจึงสะท้อนทั้งด้านตรงข้ามของความเป็นไทยและยังสะท้อนความขัดแย้งในตัวเองของความเป็นไทยด้วย
บทความว่าด้วย “คนอื่น” ในแบบต่างๆ เหล่านี้ ไม่สามารถครอบคลุมคนอื่นนานาประเภทได้ครบถ้วน แต่เป็นตัวอย่างให้เห็นการสื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับ “คนอื่น” ในแบบหลักๆ จำนวนหนึ่ง ยังมีคนอื่นและความเป็นอื่น (หมายถึงความแตกต่างหรือตรงข้ามความเป็นไทย) อีกหลายชนิด ตัวอย่างเช่น คนอื่นประเภทหนึ่งซึ่งซับซ้อนเข้าใจยากมากที่สุด คือคนจีน คนจีนและความเป็นจีนในฐานะที่เป็นคนอื่น เป็นผลผลิตของเกณฑ์นิยามจำนวนหนึ่งซึ่งสร้างความหมายที่ขัดแย้งกันเอง ยิ่งไปกว่านั้น คนจีนและความเป็นจีนในบางมิติยังสามารถก้าวข้ามความเป็นอื่น กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทยแบบสมัยใหม่ (อาทิ เป็นคนเมืองผู้เจริญศิวิไลซ์) ดังนั้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างมากใน 100 ปีที่ผ่านมา ความเป็นอื่นของคนจีนจึงถูกลดทอนความสำคัญหรือไม่ใช่ด้านหลักอีกต่อไป ไม่เพียงแต่ความเป็นจีนจะได้รับการยอมรับอวด กันได้อย่างเปิดเผย (ใครๆ ก็มีเชื้อจีนด้วยกันทั้งนั้น) ในที่สุดคนจีนในสังคมไทยถึงกับสามารถจับจองเป็นเจ้าของความเป็นไทยได้ด้วยซ้ำไป มีผู้เชี่ยวชาญได้ศึกษาเรื่องความเป็นจีนและคนจีนไว้มากพอสมควร แต่คนจีนในแง่ที่เป็นประเภทหนึ่งของคนอื่นนั้นต้องขอฝากไว้ให้ช่วยกันศึกษาต่อไป
ความเป็นอื่นของพุทธและของกษัตริย์
ความเป็นไทยไม่ได้สร้างคู่ตรงข้ามที่เป็น “คนอื่น” เท่านั้น แต่ยังสร้างความเป็นอื่นอีกหลายประเภทขึ้นมาด้วย ตัวอย่างเช่น การก่อตัวลงหลักปักฐานของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ มิได้อาศัยเพียงการศึกษาสร้างความรู้ที่น่าเชื่อถือกว่าเท่านั้น แต่ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ การลงโทษตัดสินประวัติศาสตร์แบบจารีตที่มีรากฐานอยู่กับวัดและวัฒนธรรมของชนชั้นล่าง ให้ถือว่าเป็นเรื่องเหลวไหลเชื่อถือไม่ได้ หรือเป็นเรื่องของคนวิกลจริตอย่างเช่น ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นต้น
ความเป็นอื่นของพุทธศาสนา การสร้างพุทธศาสนาให้เป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นไทย เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะที่พุทธศาสนาถูกท้าทายจนต้องปรับตัวครั้งใหญ่ คือจากที่เคยเป็นคำอธิบายทั้งโลกและชีวิตของผู้คน กลับถูกท้าทายสถานะความสำคัญ ในด้านหนึ่ง วิทยาศาสตร์และความรู้สมัยใหม่เข้ามาเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับโลกธรรมชาติแทน ในอีกด้านหนึ่งถูกท้าทายจากคริสต์ศาสนา ชนชั้นนำไทยนับจาก กลางศตวรรษที่ 19 จึงตอบโต้ด้วยการทำให้พุทธศาสนาเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณ และธรรมเนียมประเพณีของไทยซึ่งเหนือกว่าดีกว่าของโลกตะวันตก ต้องทำให้พุทธศาสนาเหนือกว่าหรืออย่างน้อยต้องตอบโต้การดูถูกเหยียดหยามจากศาสนาหลักอื่นๆของโลก ท่ามกลางการปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ พุทธศาสนาจึงต้องปรับปรุงตัวเองให้สอดคล้องกับยุคสมัย
การปรับปรุงหรือปฏิรูปสังคายนาพุทธศาสนามีมาเป็นระยะๆ ตลอดประวัติศาสตร์ 2,500 กว่าปี การสังคายนาทุกครั้งให้เหตุผลว่าเพื่อชำระให้พุทธศาสนาบริสุทธิ์ หมายความว่าพุทธศาสนาในขณะนั้นไม่บริสุทธิ์ เจือปนด้วยสิ่งแปลกปลอม การชำระให้บริสุทธิ์จึงหมายถึงต้องระบุว่าอะไรคือความเป็นอื่นที่ปนเปื้อนพุทธศาสนา การปฏิรูปพุทธศาสนานับจากกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาก็เช่นกัน ให้เหตุผลว่าพุทธ ศาสนาเสื่อมเพราะสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนให้ถดถอยลง สิ่งแปลกปลอมที่รู้จักกันดีคือ ไสยศาสตร์และลัทธิพราหมณ์ คำทั้งสองเป็นคำคู่ตรงข้ามกับพุทธศาสนามาแต่โบราณ (พุทธ vs. ไสย พุทธ vs. พราหมณ์) แต่ความหมายของทั้งสองคำกลับเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์และในแต่ละสังคม ในการสังคายนาครั้งหนึ่งๆ ไสยและลัทธิพราหมณ์ที่จะต้องถูกขจัดมีความหมายปรับไปตามความเข้าใจว่าพุทธที่ถือว่าแท้เป็นอย่างไร หรืออาจกล่าวได้ว่าไสยและลัทธิพราหมณ์มีส่วนสำคัญ เพื่อช่วยให้เข้าใจว่าพุทธที่ถือว่าถูกต้องเป็นอย่างไร พุทธ ไสย และลัทธิพราหมณ์มีส่วนช่วยนิยามซึ่งกันและกัน พุทธในสังคมไทยก็เช่นกัน คือมีส่วนช่วยสร้างไสยและลัทธิพราหมณ์แบบไทยๆ ด้วย เพราะความเป็นอื่นช่วยสร้างพุทธแบบไทยๆ ให้เป็นตัวตนมีสถานะโดดเด่นชัดเจน
การรื้อฟื้นความสำคัญของกษัตริย์ในทศวรรษ 1960 มากับกระบวนการสร้างและปะทะกับความเป็นอื่นอย่างชัดเจน นั่นคือการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ผลก็คือแทนที่ลัทธิคอมมิวนิสม์จะเป็นระบบความคิดและข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์การเมือง สังคมไทยกลับทำให้ลัทธิคอมมิวนิสม์มีความหมายง่าย ๆ ว่าเป็นศัตรูของพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ การส่งเสริมกษัตริย์ให้แข็งแกร่งขึ้นจึงเป็นมาตรการเพื่อต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสม์ ลัทธิหลงใหลเจ้า (Hyper-royalism) ซึ่งเริ่มขึ้นและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในกลางทศวรรษ 1970 ก็มาจากความกลัวคอมมิวนิสต์ในระยะที่ฝ่ายซ้ายในสังคมไทยขยายตัวหลังการลุกฮือเมื่อ 14 ตุลา 2516 ซึ่งเป็นระยะเดียวกับภายหลังการปฏิวัติสังคมนิยมในอินโดจีน แม้ขบวนการสังคมนิยมในสังคมไทยจะล่มสลายลงในทศวรรษถัดมา ความเข้มแข็งของกษัตริย์และลัทธิหลงใหลเจ้ากลับยิ่งสูงขึ้นอีกเพื่อเป้าหมายที่ต่างออกไป คือเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เหนือการเมือง กล่าวได้ว่ากษัตริย์และลัทธิกษัตริย์นิยมเพิ่งกลายเป็นเกณฑ์นิยามความเป็นไทยที่สำคัญที่สุดไม่กี่ทศวรรษมานี้เอง
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เหนือระบบการเมือง คนอื่นและความเป็นอื่นของกษัตริย์ก็เปลี่ยนความหมายไป เอาเข้าจริงไม่เคยมีการนิยามหรือกำหนดชัดว่าใครหรืออะไรบ้างเป็นคู่ตรงข้ามหรือเป็นศัตรูของกษัตริย์และลัทธิหลงใหลเจ้า แต่การกล่าวหาใส่ร้ายลงโทษผู้คนจำนวนมากอย่างพาลพาโลหาหลักหามาตรฐานไม่ได้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเป็นอื่นของกษัตริย์และของความเป็นไทยในยุคหลงใหลเจ้า เป็นภาพสะท้อนถึงความไม่แน่นอนว่าต้องการให้กษัตริย์นิยมและสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยเป็นอย่างไรกันแน่ ความเป็นอื่นที่มั่วซั่วก็เพราะสถานะความสำคัญของกษัตริย์กำลังเปลี่ยนไป
อันตรายของความเป็นไทย
บทความสุดท้ายในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงอันตรายของประวัติศาสตร์ชาตินิยม เพราะประวัติศาสตร์ชนิดนี้เป็นเกณฑ์นิยามสำคัญที่สื่อสร้าง “คนอื่น” อาทิ ประเทศเพื่อนบ้านและปัตตานี ความรู้ของไทยแบบนี้ทำร้ายคนคิดต่าง ความคิดต่างที่ว่าก็ฆ่าคนได้ แถมเป็นอุปสรรคต่อความพยายามรวมตัวเป็นภูมิภาค นอกจากนั้น บทความนี้ได้เสนอว่ามิใช่เพียงข้อเขียนหรือตัวหนังสือเท่านั้นที่อันตราย แต่ที่สำคัญคือ “วัฒนธรรมประวัติศาสตร์” ด้วยที่อันตรายและจำเป็นต้องเปลี่ยน
วัฒนธรรมประวัติศาสตร์ หมายถึงภาวะที่อดีตและความรู้ประวัติศาสตร์มีบทบาทความสำคัญมากหรือน้อยอย่างไร และมีผลต่อชีวิตปกติของผู้คนในสังคมไปในแบบหนึ่งๆ เช่น ผู้คนเชื่อความรู้ประวัติศาสตร์มากขนาดไหน เชื่อแบบไหน เชื่อแบบงมงาย ถือว่าประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ หรือผู้คนรู้จักวิพากษ์วิจารณ์ ใช้วิจารณญาณ ถือว่าความรู้ประวัติศาสตร์เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งต่อวุฒิภาวะของสังคม หรือถือว่าประวัติศาสตร์เป็นเสมือนทรัพย์สมบัติที่น่าหวงแหน คิดว่าประวัติศาสตร์ต้องมีเพียงคำอธิบายเดียว มีความถูกต้องแน่แท้เพียงหนึ่งเดียว หรือคิดว่าอดีตมีได้หลายสำนวน โต้แย้งกันได้ไม่รู้จบ เป็นต้น วัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ปรากฏตัวในแบบเรียน ระบบการศึกษา เทศกาล พิธีกรรม วรรณกรรม ภาพยนตร์ นิยาย ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้สะท้อนการที่สังคมหนึ่งๆ มีชีวิตอยู่กับประวัติศาสตร์ อย่างไร นี่แหละคือ “วัฒนธรรมประวัติศาสตร์”
เวลากล่าวถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากประวัติศาสตร์ สังคมไทยมักคิดว่าเพียงแค่การเปลี่ยนแบบเรียน เปลี่ยนหลักสูตร หรือเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ โดยไม่ตระหนักว่าอันตรายไม่ได้อยู่เพียงแค่ข้อเขียน แต่หมายถึงวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ด้วย แม้การเปลี่ยนแบบเรียนจะสำคัญ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนวัฒนธรรม และน่าจะเป็น “ผล” แต่ไม่ใช่ “เหตุ” ของวัฒนธรรมนั้น ความพยายามเปลี่ยนตำราน่าจะไม่สำเร็จหากไม่ต่อสู้กับวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ไปด้วย หรือหากสำเร็จก็คงผิวเผิน หรือจำกัดเพียงเฉพาะเรื่องแคบ ๆ ควรเริ่มจัดการส่งเสริมวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ชนิดใหม่ ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ประวัติศาสตร์นานาชนิดสามารถดำรงอยู่ในปริมณฑลสาธารณะได้ ดังที่ผมเคยเสนอไว้ที่ปัตตานีครั้งหนึ่งว่า เราต้องยอมให้ประวัติศาสตร์นานาชนิด “แบออกมาบนโต๊ะ” อย่างเปิดเผย แล้วปล่อยให้สาธารณชนร่วมถกเถียง ร่วมโต้แย้งถึงข้อดีข้อเสียของเรื่องเล่านานาประเภทเหล่านั้น ต้องไม่ปล่อยให้การตีความอดีตถูกผูกขาดเพียงสำนวนใดสำนวนหนึ่ง ความคิดใดความคิดหนึ่ง แต่ต้องปล่อยให้อดีตหลายสำนวนความคิดนานาชนิดโต้แย้งถกเถียงกันได้ในที่เปิดเผย ผู้คนในสังคมจึงจะรู้จักใช้วิจารณญาณ อย่างน้อยที่สุดก็จะรู้จักเชื่อบางอย่าง แต่จะฟังหูไว้หูอยู่ตลอดเวลา จะรู้จักจัดการกับความจริงซึ่งหลากหลายวัฒนธรรมประวัติศาสตร์เช่นนี้ต่างหากจริงจะช่วยสร้างวุฒิภาวะแก่สังคม ประวัติศาสตร์จึงจะไม่อันตราย ไม่โหดร้าย และไม่ฆ่าคน
แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าประวัติศาสตร์มิใช่เป็นเกณฑ์นิยามอย่างเดียวเท่านั้น ความเป็นอื่นและคนอื่นๆ อีกนานาชนิดถูกสร้างขึ้นมาด้วยเกณฑ์นิยามต่างๆ กันที่ความเป็นไทยกำหนดขึ้นมา เกณฑ์นิยามเหล่านั้นล้วนมีอันตรายทั้งสิ้นเพราะคับแคบตายตัว อ้างความถูกต้องเหนือกว่าราวเป็นความรู้ศักดิ์สิทธิ์ อิงแอบอำนาจและใช้อำนาจรังแกกำจัดความต่าง ความเป็นไทยมีอันตรายโหดร้ายและฆ่าคนได้ เราจะทำลายหรือลดทอนอันตรายของความเป็นไทยได้ก็ด้วยหลักทำนองเดียวกันกับที่เราควรใช้จัดการกับประวัติศาสตร์ที่อันตราย นั่นคือ ต้องเปิดให้เกิดการโต้แย้งถกเถียงระหว่างความคิดนานาชนิดที่แตกต่างกัน ปล่อยให้ความรู้ถูกๆ ผิดๆ สมบูรณ์มากน้อยไม่เท่ากัน ได้โลดแล่นอยู่ในปริมณฑลสาธารณะ ปล่อยให้พุทธ ไสย ลัทธิพราหมณ์ พุทธแท้ พุทธเทียม ฯลฯ สามารถพูดกันออกมาได้อย่างเปิดเผย “แบอยู่บนโต๊ะ ให้ผู้คนเห็น เลือกใช้เลือกเชื่อ เลือกปฏิเสธตามวิจารณญาณ ความหลากหลายทางความคิดที่ไม่ลงตัวง่ายๆ นี่แหละจะเป็นหลักประกันว่า สังคมจะไม่ถูกครอบงำไปในทางใดทางหนึ่ง แม้กระทั่งคนอื่นและความเป็นอื่นของกษัตริย์ที่บรรดาพวกคลั่งเจ้าหวาดกลัวกันนักหนา หนทางเดียวที่จะจัดการให้มีอันตรายน้อยที่สุดก็คือ ยอมให้เขาเหล่านั้นมีที่ทางเปิดเผยความคิดต่างๆ นานา “แบกันออกมาบนโต๊ะ” ให้ผู้คนในสังคมไทยใช้วิจารณญาณเลือกเชื่อ เลือกปฏิเสธ โต้แย้งกันอย่างสันติ นี่ต่างหากจึงจะเปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์ สถาบันอื่น ๆ ทางสังคมเกิดการปรับตัว เพราะความยั่งยืนไม่เคยเกิดมาจากการกดปราบบังคับให้ผู้คนคิดไปในทางเดียวกัน
ธงชัย วินิจจะกูล
Chiba, Japan
ปลายกุมภา 2560
[1]คำว่า “สื่อสร้าง” (mediation) ที่ใช้ในที่นี้หมายถึง กริยาสองอย่างควบคู่กัน ได้แก่ สื่อและสร้าง “สื่อ” หมายความว่าวาทกรรมหรือเกณฑ์นิยามทำให้เกิดมโนทัศน์ต่อวัตถุไปในแบบหนึ่งหรือเรียกได้ว่าก่อความรู้ต่อวัตถุนั้น ๆ ไปในแบบหนึ่ง “สร้าง” หมายความว่าวัตถุหรือสิ่งนั้นจะถูกสร้างขึ้นตามวาทกรรมหรือเกณฑ์นิยามดังกล่าว ดังนั้น ในที่นี้ต้องการใช้คำกริยาว่า “สื่อสร้าง” เพื่อเน้นว่า ทั้งสองเป็นการกระทำที่ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความรู้และเป็นการกระทำก่อร่างสร้างวัตถุขึ้นมาด้วย