Sale 10%

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย

ปกแข็ง 540.00 บาทปกอ่อน 450.00 บาท

รหัส: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อหนังสือ

The Rise and Decline of Thai Absolutism

ผู้เขียน

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด

ผู้แปล

อาทิตย์ เจียมรัตตัญญ

จำนวนหน้า

464

ปีที่พิมพ์

2562

ISBN ปกอ่อน

9786167667782

ISBN ปกแข็ง

9786167667775

คำนำสำนักพิมพ์

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย เป็นหนังสือชุดสยามพากษ์ลำดับที่ 4 ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน แปลจาก The Rise and Decline of Thai Absolutism ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 2004 โดยสำนักพิมพ์ RoutledgeCurzon ซึ่งปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผู้เขียนที่ SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน งานชิ้นนี้ศึกษาประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านของรัฐไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20

อะไรคือแรงผลักดันเบื้องหลังการเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย และเหตุใดมันจึงเสื่อมลงในเวลาเพียงชั่วศตวรรษ คือคำถามสำคัญของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนอาศัยทฤษฎีของวอลเลอร์สไตน์ (Immanuel Wallerstein) โบรเดล (Fernand Braudel) และคนอื่นๆ ซึ่งโยงบทบาทของระบบทุนนิยมโลกกับพัฒนาการของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาใช้วิเคราะห์การเปลี่ยนรูปแบบรัฐไทยจากรัฐศักดินามาเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้ให้คำอธิบายที่แตกต่างไปจากงานศึกษาอื่น

หนังสือเล่มนี้ยังพยายามแสดงให้เห็นว่า ในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นได้มีการหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ที่จะทำลายระบอบในตัวมันเองลง โดยเฉพาะการสร้างระบบราชการสมัยใหม่อันเป็นกลไกที่ทรงประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากแต่กลับกลายเป็นกลไกที่กลืนกินตัวเอง สิ่งนี้สะท้อนจากความไม่พอใจภายในระบบราชการที่ก่อตัวและปะทุขึ้นจนนำมาสู่เหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130

นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงรูปแบบของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสังคมสมัยใหม่ที่วิวัฒน์ไปอย่างเป็นพลวัต และถึงแม้ว่างานศึกษานี้จะจบลงที่เหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 อันเป็นความพยายามครั้งแรกของการท้าทายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เราสามารถอาศัยงานชิ้นนี้เป็นฐานคิดในการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสมัยต่อมา และการกลับมามีอำนาจของขบวนการอนุรักษนิยมในปัจจุบัน

ที่สำคัญคือ การค้นคว้าหลักฐานเอกสารชั้นต้นมากมายของผู้เขียนเพื่อตอบคำถามดังกล่าวทำให้หนังสือเล่มนี้มีพลังในคำอธิบาย หนักแน่นด้วยข้อมูลรองรับ และ ปลุกให้เรื่องราวประวัติศาสตร์ในสองแผ่นดิน (รัชกาลที่ 5 และ 6) ที่นอนรอในหอจดหมายเหตุมีชีวิตชีวาขึ้นมา วิธีวิทยาในงานศึกษานี้จึงน่าจะเป็นต้นแบบของการทำงานวิชาการไทยศึกษาต่อๆ มาได้

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันภูมิใจที่ได้รับเกียรติให้จัดพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญนี้ และขอขอบคุณอาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ที่ได้กรุณาตรวจทานเนื้อหาฉบับแปลโดยละเอียด รวมถึงแก้ไข/ขยายความบางส่วนเพิ่มเติมจากฉบับภาษาอังกฤษ

อนึ่ง หนังสือเล่มนี้มีส่วนขยายเพิ่มเติมจากต้นฉบับอยู่บ้าง เพื่อความถูกต้องและความเข้าใจยิ่งขึ้น อาทิ การเพิ่มเติมเชิงอรรถโดยพยายามกลับไปหาตัวบทภาษาไทยของเอกสารที่อ้างอิงไว้ในต้นฉบับให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมภาคผนวกซึ่งคัดลอกจากเอกสารชั้นต้นชิ้นสำคัญ เพื่อขยายความเข้าใจความคิดของชนชั้นนำในสยามเวลานั้น เป็นต้นว่า บันทึกการมาเยือนสยามเป็นครั้งแรก ของเซอร์แอนดรูว์ คลาร์ก ที่มีการแปลเป็นไทยในวาระนี้

ควรกล่าวด้วยว่ายศและบรรดาศักดิ์ของบุคคลที่ปรากฏในเรื่องยึดตามช่วงเวลา ณ ขณะนั้น ยกเว้นในกรณีที่กล่าวถึงโดยไม่ระบุเวลาจะยึดตามยศสุดท้าย ทั้งนี้ได้จัดทำนามานุกรมบุคคลสำคัญที่ปรากฏในเล่มเพื่อความสะดวกในการค้นหาโดยสังเขป

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นหลักหมายหนึ่งของการทำความเข้าใจวิวัฒนาการรัฐไทยผ่านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยมุมมองเปรียบเทียบกับรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยแว่นความคิดและอุดมการณ์ของชนชั้นนำสยาม ผ่านเอกสารหลักฐานแห่งยุคสมัยมากมาย เพื่อที่เราจะได้เห็นมิติต่างๆ ของการเปลี่ยนผ่านรัฐไทยจากรัฐศักดินามาสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระทั่งมาสู่รัฐชาติสมัยใหม่อย่างครอบคลุมรอบด้าน
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

คำนำผู้เขียนฉบับแปล

ในการเขียนและตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในภาษาอังกฤษเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ผู้เขียนมีความเข้าใจว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 และสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1932 นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว จึงได้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษซึ่งแปลเป็นไทยว่า การเกิดขึ้นและความเสื่อมของรัฐสมบูรณาญา­สิทธิราชย์ไทย ที่ใช้คำว่าความเสื่อมเพราะผู้เขียนศึกษาถึงแค่ปี 1912 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการท้าทายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันนำมาสู่สิ่งที่เข้าใจกันว่าคือการล่มสลายในปี 1932 รัฐที่เกิดขึ้นต่อมาคือรัฐชาติหรือรัฐทุนนิยมตามทฤษฎีของมาร์กซ์

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัฐไทยซึ่งเกิดขึ้นในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 อันเป็นผลมาจากการที่รัฐไทยมีปฏิสัมพันธ์กับระบบทุนนิยมโลกในกลางศตวรรษที่ 19 ก็ได้ล่มสลายไปในระยะเวลาอันสั้น เมื่อเทียบกับการเกิดรัฐสมัยใหม่ในโลกตะวันตกในศตวรรษที่ 16 คือมีอายุไม่ถึงศตวรรษ เหตุผลของการล่มสลายของรัฐสมบูรณาญา­สิทธิราชย์ไทยคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายใน และมิได้เป็นผลจากการทำงานของระบบทุนนิยมดังเช่นที่เกิดขึ้นในรัฐอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งต่างจากมุมมองของเพอร์รี่ แอนเดอร์สัน (Perry Anderson) ที่มองว่าการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ­ราชย์ในโลกตะวันตกเกิดจากความขัดแย้งในสังคมอันเนื่องมาจากการทำงานของระบบทุนนิยมเป็นสำคัญ

เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้เขียนจึงมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐไทยมิได้เป็นไปตามทฤษฎีที่อธิบายการล่มสลายของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในโลกตะวันตกเสียทีเดียว เมื่อเห็นว่าทฤษฎีของเพอร์รี่ แอนเดอร์สัน ไม่อาจใช้อธิบายวิวัฒนาการรัฐไทยได้อย่างลงตัว ผู้เขียนจึงปฏิเสธทฤษฎีของเพอร์รี่ แอนเดอร์สัน ที่มองว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั้นคือขั้นตอนสุดท้ายของระบบฟิวดัล แต่เลือกที่จะมองว่าเป็นช่วงที่ส่งผ่านระหว่างรัฐศักดินากับรัฐทุนนิยมหลัง ค.ศ. 1932 ที่เราได้เข้าสู่จุดเริ่มต้นของความเป็นรัฐทุนนิยม

ดังนั้นก่อนหน้านี้ผู้เขียนจึงเห็นว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากปี 1932 ถึงปัจจุบันคือขั้นตอนของการพัฒนารัฐทุนนิยม อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนประจักษ์ต่อมาในพัฒนาการของรัฐและสังคมไทยคือ นอกจากการทำงานของทุนนิยมแล้วเรายังเห็นอำนาจที่เพิ่มขึ้นของศักดินา ซึ่งดูเหมือนจะเกิดขึ้นมาเพื่อรับมือกับอะไรบางอย่าง เมื่อมองให้ลึกลงไป เราจะเห็นว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนไปอย่างมากจากปี 1932 อาจกล่าวว่าในช่วงเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบันนั้นได้มีการก่อตัวของพลังใหม่ในสังคม และการฟื้นตัวขององค์ประกอบรัฐศักดินาเป็นไปเพื่อรับมือกับพลังใหม่ที่เกิดขึ้นหลังปี 1932 มุมมองของผู้เขียนจึงเปลี่ยนจากการมองว่าระบบใหม่ได้มาแทนที่ระบบเก่าอย่างสิ้นเชิง มาเป็นการมองว่าได้มีการฟื้นตัวของระบบเก่าที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้สิ่งที่ดูเหมือนการพัฒนาของรัฐทุนนิยมเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงไม่พึงประสงค์

ในที่สุดผู้เขียนจึงเลือกที่จะมองว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นวิวัฒนาการขั้นสุดท้ายของระบบศักดินา ดังที่เพอร์รี่ แอนเดอร์สัน เสนอไว้ สิ่งนี้เป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21 ข้อสรุปที่สำคัญประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ คือการเกิดขึ้นของตัวแสดงใหม่อันได้แก่กระฎุมพีราชการ ซึ่งเป็นพลังที่ผลักดันให้ระบอบสมบูรณาญา­สิทธิราชย์ล่มสลายไป ชวนให้เราตั้งคำถามว่าพัฒนาการของทุนนิยมหลังปี 1932 เป็นต้นมาก่อให้เกิดตัวแสดงใดบ้างในระบบการเมือง

การก่อตัวและพัฒนาของกระฎุมพีกลุ่มใหม่ซึ่งคือนักการเมืองหรือ “นักเลือกตั้ง” ทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเมืองไทย คนกลุ่มใหม่นี้มีฐานอำนาจและผลประโยชน์อยู่ที่การมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองซึ่งขัดต่อความต้องการของกลุ่มผู้นำเดิมอยู่ ความขัดแย้งระหว่างพลังเก่าและพลังใหม่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยไทยดำเนินไปอย่างกระท่อนกระแท่น อย่างไรก็ตามกระฎุมพีกลุ่มใหม่นี้มีพลังมากขึ้นในเมืองหลวง จนกระทั่งสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เราได้เห็นทักษิณ ชินวัตร ในฐานะส่วนหนึ่งของตัวแทนนายทุนในสังคมเมือง ได้เถลิงอำนาจจากการระดมการสนับสนุนจากกระฎุมพีในสังคมชนบทหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ค.ศ. 1997

ควบคู่กับการเจริญเติบโตของอำนาจกระฎุมพี ฝ่ายอนุรักษนิยมก็สั่งสมอำนาจของตนจากบทบาทของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบทุนนิยมโลกในช่วงกลางของศตวรรษที่ 20 สหรัฐฯ ซึ่งมองว่าไทยนั้นเป็นมหามิตร ให้การสนับสนุนกลุ่มอนุรักษนิยมไทยในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ พร้อมกับให้การสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุนนิยมของสหรัฐฯ เอง ความกระท่อนกระแท่นของประชาธิปไตยไทยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากพลังอนุรักษนิยม กระฎุมพีข้าราชการทหารและพลเรือน พลังอนุรักษ์ในการเมืองสมัยใหม่เกิดจากความย้อนแย้งของประวัติศาสตร์ นั่นคือการที่สมาชิกส่วนใหญ่ของพวกพลังอนุรักษ์ในปัจจุบันคือกระฎุมพีข้าราชการซึ่งมีทั้งพลเรือนและทหาร แต่เดิมพวกนี้คือพลังต่อต้านและทำลายอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สำเร็จ แต่ในปัจจุบันพวกเขาได้กลายมาเป็นพันธมิตรกับสถาบันดั้งเดิมของระบบศักดินา คือสถาบันกษัตริย์ที่ได้รื้อฟื้นอำนาจขึ้นมาเป็นพลังสำคัญ แท้จริงแล้วพวกเขาเป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดการเสื่อมถอยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่เดิม แต่ได้กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังอนุรักษนิยมซึ่งเข้มแข็งขึ้นจากการรื้อฟื้นอำนาจของสถาบันกษัตริย์

อย่างไรก็ตาม เมื่อฝ่ายอนุรักษนิยมมองว่ากระฎุมพีใหม่ท้าทายอำนาจของตน จึงระดมการสนับสนุนจากตัวแสดงที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือมวลชนที่มองว่าผลประโยชน์ของตนถูกทำลายจากการมีอำนาจของกระฎุมพีใหม่ มวลชนเหล่านี้ประกอบด้วยกระฎุมพีระดับกลางและชนชั้นล่างเป็นฐานอำนาจ มวลชนเหล่านี้มิได้มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรงจากระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนเหล่านี้บางส่วนจะกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกตนก็ตาม สำหรับกลุ่มอนุรักษนิยมนับแต่ปลายศตวรรษที่ 20 ก็ได้เสริมสร้างฐานอำนาจของตน เช่นความไม่เท่าเทียมทางสังคมอันเกิดจากชาติกำเนิดโดยการชูค่านิยมแบบจารีตและประวัติ­ศาสตร์นิพนธ์ที่มีสถาบันเป็นศูนย์กลาง การต่อต้านของฝ่ายอนุรักษนิยมครั้งนี้ในที่สุดก็สามารถทำลายกลุ่มกระฎุมพีใหม่ที่ถืออำนาจรัฐตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 โดยการรัฐประหารในปี 2006

การอ่านประวัติศาสตร์ไทยจากหนังสือเล่มนี้ประกอบกับภาพการเมืองในปัจจุบัน ผู้เขียนจึงตระหนักว่า การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างชัดเจนจำเป็นจะต้องมองประวัติศาสตร์ในมิติที่ยาวไกล นี่คือสิ่งที่แฟร์นอง โบรเดล (Fernand Braudel) เรียกว่า La longue durée (ประวัติศาสตร์ช่วงยาว) เราจึงต้องมองรัฐสมัยใหม่ของไทยว่ายังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาซึ่งยังจะกินเวลาต่อไปอีกยาวนาน เราได้เห็นกระแสที่ยอมรับความสำคัญของชาติกำเนิดและการเป็นพลเมืองที่ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งจากคนจากชนชั้นทางสังคมที่หลากหลาย การมีรัฐที่ถูกครอบครองโดยพลังอนุรักษ์ปราศจากซึ่งหลักนิติธรรม เหล่านี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่ารัฐไทยยังอยู่แค่เพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเป็นรัฐสมัยใหม่ การท้าทายต่อผู้นำของรัฐสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์หรือกระฎุมพีอาจจะเกิดจากพลังที่อยู่ตรงกันข้าม ดังจะเห็นได้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การท้าทายโดยผู้นำของระบบราชการซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง คือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ทำการท้าทายพระมหา­กษัตริย์ ก่อนที่จะมีการรวมตัวของกระฎุมพีที่มาสั่นคลอนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก

เราอาจจะมองรัฐสมัยใหม่ว่ามีพัฒนาการอยู่ 2 ช่วง หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงพัฒนาการรัฐสมัยใหม่ช่วงแรกส่วนใหญ่ ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกแทนที่ด้วยรัฐชาติ ความหมายของรัฐชาติคือการที่อำนาจอธิปไตยโอนจากพระมหา­กษัตริย์มาสู่ประชาชน ช่วงที่ 2 ของรัฐสมัยใหม่ เริ่มต้นด้วยการมีอำนาจของพลังใหม่ซึ่งได้แปรรูปเป็นพลังอนุรักษ์ เมื่อทุนนิยมได้สร้างพลังใหม่อีกอันหนึ่งขึ้นมา และถูกท้าทายโดยพลังอนุรักษ์เป็นระยะๆ ความขัดแย้งในกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่นี้กินเวลานานและยังไม่มีข้อยุติ แต่ความน่าตื่นตาตื่นใจกับพัฒนาการรัฐอยู่ตรงที่ผู้ที่มองว่าตนมีส่วนได้ส่วนเสียกับวิวัฒนาการของรัฐสมัยใหม่มีจำนวนมากขึ้นเสียจนกลายเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม หากไม่มีการประนีประนอมผลประโยชน์ระหว่าง 2 พลัง และเมื่อความขัดแย้งถึงจุดหนึ่ง พวกเขาก็พร้อมจะดำเนินการ (take action) เพื่อให้รัฐสมัยใหม่ดำเนินไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการ

หลังจากที่หนังสือภาคภาษาอังกฤษตีพิมพ์ออกมา ได้มีงานที่จะทำให้ภาพของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ชัดขึ้น ที่สมควรกล่าวถึงคือ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 (มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 6, 2557) ของราม วชิราวุธ อันเป็นนามปากกาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งผู้เขียนได้ประโยชน์จากการนำข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้ที่เกี่ยวกับคดีพญาระกามาใช้ เพื่อทำให้ภาพการรับมือกับผู้นำแบบใหม่ในระบบราชการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ชัดเจนขึ้น นอกจากนั้นหนังสือ ภาษาเจ้า ภาษานาย : การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5 (มติชน, 2560) โดยอาวุธ ธีระเอก ได้ทำให้เข้าใจระบบการศึกษาในรัชกาลที่ 5 ชัดเจนขึ้น

นอกเหนือจากผู้แปลที่เป็นทางการแล้ว ยังมีลูกศิษย์จำนวนหนึ่งและคนอื่นๆ มาช่วยเกลาต้นฉบับให้ โดยเฉพาะวิภาดา ตู้จินดา, ตรีวัฒน์ ชมดี, ชัยธวัช ตุลาธน, วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ และนฤมล กระจ่างดารารัตน์ ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ ที่กรุณาอ่านเป็นคนสุดท้ายก่อนหนังสือจะตีพิมพ์

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด
กุมภาพันธ์ 2562

ทดลองอ่าน