ข้อมูลทั่วไป
ผู้เขียน | อาสา คำภา |
---|---|
จำนวนหน้า | 624 |
ปีที่พิมพ์ | 2564 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667966 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667973 |
ปกแข็ง 675.00 บาทปกอ่อน 585.00 บาท
ผู้เขียน | อาสา คำภา |
---|---|
จำนวนหน้า | 624 |
ปีที่พิมพ์ | 2564 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667966 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667973 |
คำนำสำนักพิมพ์
คำนำเสนอ
คำนำผู้เขียน
บทที่ 1 ปฐมบท การเมืองเชิงเครือข่ายของชนชั้นนำไทยหลัง 2475
บทที่ 2 ฟื้นพระเกียรติ การก่อรูปเครือข่ายในหลวงช่วงต้นรัชกาล
บทที่ 3 เครือข่ายชนชั้นนำไทย สัมพันธภาพและฉันทมติภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร 2500-2516
บทที่ 4 ข้าราชการสายวัง การขยายเครือข่ายในหลวงช่วงทศวรรษ 2500 ถึงกลางทศวรรษ 2510
บทที่ 5 เครือข่ายในหลวงกับรัฐบาลจอมพลถนอม
บทที่ 6 รัฐบาลพระราชทาน พลวัตเครือข่ายชนชั้นนำไทยกับพิมพ์เขียวการเมืองหลัง 14 ตุลา
บทที่ 7 ก่อนจะถึง 6 ตุลา การควบรวมอำนาจและการละเมิดฉันทมติชนชั้นนำไทย
บทที่ 8 ลงไปสู่ประชาชน ราชประชาสมาสัยเชิงรุก และสัมพันธภาพสถาบันกษัตริย์กับคนกลุ่มใหม่หลัง 14 ตุลา
บทที่ 9 รัฐบาลพลเรือนขวาจัดหลัง 6 ตุลา แนวโน้มควบรวมอำนาจของเครือข่ายในหลวง และปฏิกิริยาของชนชั้นนำไทย
บทที่ 10 คอยแสงทองวันใหม่กลับคืนมา การแบ่งสัน(ใหม่)ในเครือข่ายชนชั้นนำไทย 2520-2523
บทที่ 11 จงรักและภักดี สัมพันธภาพผู้นำทหารกลุ่มต่างๆ กับสถาบันกษัตริย์ ต้นทศวรรษ 2520
บทที่ 12 สู่ดุลยภาพ-เสถียรภาพของเครือข่ายชนชั้นนำไทยภายใต้พระราชอำนาจนำ
บทสรุป สี่ทศวรรษเส้นทางเดินแห่งพระราชอำนาจนำ พฤษภา 35 และฉันทมติภูมิพล
ประวัติผู้เขียน
บรรณานุกรม
นามานุกรม
ดรรชนี
[ก่อนรัฐประหาร 2549] สื่อตีผมอย่างหนัก บังเอิญได้เจอลูกของเจ้าของสื่อท่านหนึ่ง ก็เลยถามว่า เฮ้ยทำไมพ่อถึงตีอาหนักขนาดนี้ เขาก็ตอบว่า อาครับผมถามพ่อแล้วพ่อบอกว่า มีผู้ใหญ่จากทางวังมาทานข้าวกับพ่อ แล้วบอกว่าวังไม่เอาแล้ว ผมก็บอกว่าวังไหนวะ เขาก็ย้ำว่าวังไม่เอาแล้ว ก็เลยต้องตีต้องไล่ออกไป นี่คือกลไกของสื่อไทย… แต่ทั้งหมดผมคิดว่าผมมีเรื่องกับ Palace Circle ไม่ใช่ตัวพระเจ้าอยู่หัว[1]
ข้อความข้างต้นเป็นของโทนี่ วู้ดซัม (Tony Woodsome) หรือทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในรายการ CareTalk x CareClubHouse เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของการเมืองไทย—แล้วอนาคตของเยาวชนไทยจะเป็นอย่างไร” นี่อาจจะเป็นครั้งแรกๆ ที่ทักษิณ ชินวัตร เปิดเผยว่ารัฐประหารล้มรัฐบาลของเขาในปี 2549 นั้นเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ แม้ว่าเขาจะพยายามจำกัดคู่ขัดแย้งของเขาไว้แค่ “Palace Circle” ไม่ใช่ “พระเจ้าอยู่หัว” ก็ตาม
คำถามคือ “Palace Circle” หรือกล่าวในภาพกว้างตามที่หนังสือเล่มนี้เรียกว่า “เครือข่ายในหลวง” (Network Monarchy) นั้น แยกขาดจากในหลวงได้จริงหรือไม่
และคำถามต่อมาคือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างในหลวงกับเครือข่ายในหลวงเป็นเช่นไร
ตัวอย่างเช่น หากนับว่า พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นหนึ่งในเครือข่ายในหลวงแล้ว ความขัดแย้งระหว่างทักษิณ ชินวัตร กับเปรมนั้นเป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างตัวบุคคลเท่านั้นหรือ[2]
แล้วเครือข่ายในหลวงทำงานเช่นไร มีใครบ้าง และมีปฏิสัมพันธ์กับทั้งในหลวงและคนอื่นๆ อย่างไร การจะหาคำตอบดังกล่าวเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องพิจารณามิติทางประวัติศาสตร์ของการก่อตัวของทั้งเครือข่ายในหลวง และการครองพระราชอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่ 9
พลันที่กระสุนปริศนาปลิดพระชนม์ชีพของในหลวงอานันทมหิดลเมื่อเช้าวันที่ 9 มิถุนายน 2489 รัชสมัยอันยาวนานของในหลวงรัชกาลที่ 9 (2489-2559) เริ่มต้นขึ้น ดังประเพณีนิยมของโลกราชาธิปไตยที่ว่าบัลลังก์ไม่อาจจะว่างลงเมื่อ “พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต ขอพระมหากษัตริย์ทรงพระเจริญ” (The King is dead, long live The King !)[3]
รัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 เปิดฉากท่ามกลางบริบทความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเมืองโลกแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ “โลกเสรี” ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา กับ “โลกคอมมิวนิสต์” ที่นำโดยสหภาพโซเวียต ส่วนการเมืองภายในคือการล่าถอยของคณะราษฎรสายทหารบกที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการขึ้นมาของคณะราษฎรสายพลเรือนที่นำโดยปรีดี พนมยงค์ โดยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ที่ลดอำนาจของข้าราชการโดยเฉพาะทหาร และเติมเต็มตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งทั้งสภาผู้แทนและพฤฒิสภา ขณะเดียวกันฝ่ายรอยัลลิสต์ได้ถูกกวาดล้างไปภายหลังความพ่ายแพ้ในกบฏบวรเดชเมื่อตุลาคม 2476 แม้ว่าช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดี พนมยงค์ได้มีนโยบายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองเพื่อ “คืนดี” กับฝ่ายรอยัลลิสต์และล้มรัฐบาลจอมพล ป. แต่ก็หาได้ทำให้ฝ่ายรอยัลลิสต์มีกำลังแข็งแกร่งขึ้นแต่อย่างใด
สภาพความเสื่อมโทรมของสถาบันกษัตริย์เป็นเช่นไรสะท้อนได้จากคำสัมภาษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 แก่ National Geographic (1982) ในโอกาส 200 ปีรัตนโกสินทร์ (2525) ภายหลังการครองราชย์มา 36 ปี
เมื่อข้าพเจ้าเข้ามารับหน้าที่นี้ เมื่อสามสิบหกปีล่วงแล้วมานั้น ข้าพเจ้าอายุเพียงแค่สิบแปดปี ในเวลานั้นทุกอย่างดูทรุดโทรมไปหมด ในวังนี้ เก้าอี้และพรมก็ขาดเป็นรู พื้นแตกคร่ำคร่า วังทั้งวังเกือบจะพังลงมา เวลานั้นสงครามโลกเพิ่งสิ้นสุดลง ไม่มีใครสนใจกับอะไรทั้งสิ้น ข้าพเจ้าต้องค่อยๆ ก่อร่างสร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาใหม่โดยไม่ใช้วิธีทุบทิ้ง ข้าพเจ้าค่อยๆ ทำไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นเวลาสามสิบหกปีเข้าไปแล้ว[4]
อย่างที่ทราบกันคือตั้งแต่กลางทศวรรษ 2530 ในหลวงรัชกาลที่ 9 สามารถครองอำนาจนำได้ ข้อวินิจฉัยใดๆ ของพระองค์ถือเป็นข้อยุติ จนเป็น “อนุญาโตตุลาการสุดท้าย” (แม้ว่าจะมีคนไม่เห็นด้วยก็ตาม)
ดังนั้นไม่ว่าเราจะมีจุดยืนทางการเมืองเช่นไร ความสำเร็จของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่สามารถสร้างพระราชอำนาจนำจากซากปรักหักพังของสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาได้ย่อมเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าที่ผ่านมาการศึกษาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ดำเนินไปในแนวทางอาเศียรวาทสดุดีแทบทั้งสิ้น จนยากที่จะเห็นพลวัตความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยที่มีพระองค์และเครือข่ายเป็นตัวแสดงสำคัญ
หนังสือ กว่าจะครองอำนาจนำ : การคลี่คลายขยายตัวของเครือข่ายในหลวงภายใต้ปฏิสัมพันธ์ชนชั้นนำไทย ทศวรรษ 2490-2530 โดยอาสา คำภา เล่มนี้ ปรับปรุงแก้ไขมาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของผู้เขียนเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535” ของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2562) ซึ่งศึกษา “เครือข่ายในหลวง” ที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย ไปจนถึงองคาพยพต่างๆ ที่สำคัญในแต่ละยุคสมัยตั้งแต่ข้าราชการสายวัง ผู้นำทหาร องค์กรจัดตั้งฝ่ายขวาเช่นลูกเสือชาวบ้าน ไปจนถึงขบวนการนักศึกษา
ในเล่มนี้เราจะได้เห็นว่าในห้วงเวลา 4 ทศวรรษนั้น การที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สามารถพัฒนา “จากประมุขของกลุ่มปกครอง กลายเป็นประมุขของชนชั้นปกครอง” (From Head of a Ruling Clique to Head of Ruling Class)[5] นั้น ต้องใช้ทั้งความพยายามส่วนพระองค์และแรงหนุนส่งจากตัวแสดงหลายกลุ่มที่เข้ามาสู่ “เครือข่ายในหลวง” ไม่ว่าผู้นำทหาร ข้าราชการพลเรือน บรรดาเจ้าสัว และชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ที่ร้อยรัดกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราจะเห็นการตั้งไข่ ฟูมฟักและเติบโตจนกระทั่งสุกงอมเมื่อ “พระราชอำนาจนำ” ขึ้นสู่จุดสูงสุดของความมั่นคงและเสถียรภาพภายใต้ “ฉันทมติภูมิพล” เส้นทางเดินกว่า 4 ทศวรรษนี้มีทั้งการต่อสู้ ต่อรอง ประนีประนอม ประสานประโยชน์กับสมาชิกเครือข่ายชนชั้นนำไทยอยู่ตลอดเวลา
ในฐานะของคนทำหนังสือ สิ่งที่เราปรารถนามาตลอดคือการทำ “หนังสือดี” หนังสือที่สามารถทำให้ผู้อ่านคิดต่อและสนทนากับทั้งตัวบทและความเป็นไปของสังคมได้ เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้วผู้อ่านคงเห็นถึง “โครงข่ายใหญ่โตแน่นหนา” ที่ดูราวกับว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทว่าอีกด้านหนึ่งก็อาจตั้งคำถามต่อไปได้ว่า สถาบันกษัตริย์ซึ่งแยกไม่ออกจากองค์กษัตริย์ในฐานะตัวบุคคลจะสามารถครองอำนาจนำต่อไปได้อย่างไร
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันภูมิใจที่ได้รับเกียรติให้จัดพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเล่มในโครงการหนังสือชุด “สยามพากษ์” ที่เราคัดเลือกงานที่มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทยในยุคสมัยนั้นๆ และเป็นงานที่ท้าทาย หักล้าง หรือเติมเต็มงานศึกษาก่อนหน้านั้นด้วยข้อมูลใหม่และ/หรือกรอบคิดทฤษฎีที่แตกต่างออกไป
___________________
[1] “‘โทนี่’ แฉ รปห. ปี 49 สื่ออ้างวลี ‘วังไม่เอา’-เผยแผนสู้ ‘สนธิ’-รับพลาดนิรโทษฯ ถูกจ้องยึดอำนาจซ้ำสอง,” วอยซ์ทีวี, 15 กันยายน 2564, https://voicetv.co.th/read/qd0c-b0wz.
[2] ในปี 2549 ความขัดแย้งระหว่างทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีกับ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีเกิดขึ้นอย่างเปิดเผยเมื่อทักษิณเปิดฉากโจมตีเรื่อง “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” เพื่อจะสื่อไปยังเปรมที่ลงมาแทรกแซงการเมืองในเดือนมิถุนายน 2549 ขณะเดียวกันเปรมก็เดินสายปลุกระดมให้ทหารออกมาต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ด้วยคำเปรียบเปรยว่า หากทหารคือม้า เจ้าของคอกม้าคือพระมหากษัตริย์ รัฐบาลเป็นเพียงแค่จ็อกกี้เท่านั้น หลังจากนั้น 2 เดือนต่อมาก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ดู ธนาพล อิ๋วสกุล, “แกะรอยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย : ผู้ออกบัตรเชิญให้คณะรัฐประหาร” ใน รัฐประหาร 19 กันยา : รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2550)
[3] ในขณะนั้นประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ในมาตรา 9 ระบุว่า “การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2497 และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา” หมายความว่าสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งสามารถวีโต้การขึ้นมาเป็นกษัตริย์ได้ ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่รัฐสภาทำหน้าที่เพียงรับทราบเท่านั้น ดูเพิ่มเติมใน สมชาย ปรีชาศิลปกุล, “การสืบราชสมบัติภายใต้ระบอบประชาธิปไตย” ใน นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง : ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2550 (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2561).
[4] ดู พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐสภา (กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2539), 68-70. อ้างใน ณัฐพล ใจจริง, ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2556), 41.
[5] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “หลัง 14 ตุลา.” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3, ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2548) : 168-71.
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ 2475 จนถึงทศวรรษ 2530 มีตัวแสดงมากมายหลากหลายกลุ่มก้อน โดยเฉพาะกลุ่มนายทหาร-ตำรวจที่มียศตามลำดับเวลาและสัมพันธ์กับการครองอำนาจในช่วงเวลานั้นๆ ยศที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้จึงสัมพันธ์กับห้วงเวลาดังกล่าวด้วย อาทิ ถนอม กิตติขจร (2491 พันเอก, 2494 พลตรี, 2498 พลโท, 2501 พลเอก, 2507 จอมพล) กฤษณ์ สีวะรา (2501 พลตรี, 2504 พลโท, 2508 พลเอก) เผ่า ศรียานนท์ (2486 พันเอก, 2494 พลตำรวจโท, 2495 พลตำรวจเอก) เป็นต้น
เช่นเดียวกับลำดับพระอิสริยยศและการเลื่อนกรมของเจ้านาย อาทิ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ได้รับสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ในปี 2493 พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ได้รับสถาปนาเป็น กรมขุนชัยนาทนเรนทร (2465) กรมพระชัยนาทนเรนทร (2493) และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ในปี 2495
อนึ่ง คำว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ตลอดเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ขณะทรงดำรงพระชนม์ชีพและทรงเป็นตัวแสดงสำคัญใน “เครือข่ายในหลวง” ก่อนจะได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ในรัชกาลปัจจุบัน
หนังสือที่ท่านผู้อ่านถืออยู่ในมือเล่มนี้ ปรับปรุงดัดแปลงมาจากดุษฎีนิพนธ์ของผู้เขียนคือ ดร. อาสา คำภา นักวิจัยสังกัดสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำเสนอต่อสาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย เชียงใหม่เมื่อกลางปี 2562 เรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535” ซึ่งมีศาสตราจารย์เกียรติคุณสายชล สัตยานุรักษ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก และผมเข้าไปเกี่ยวข้องโดยได้รับเชิญให้เป็นประธานกรรมการร่วมอ่านตรวจด้วยจนกระบวนการสอบเสร็จสิ้นเรียบร้อยลง[1]
ในฐานะคนอ่านงานวิชาการ ผมรู้สึกทึ่งกับงานชิ้นนี้มากตั้งแต่แรกอ่าน กล่าวได้ว่าไม่มีงานชิ้นไหนที่วิเคราะห์วิจัยการคลี่คลายขยายตัวของ “เครือข่ายในหลวง” หรือที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่า“สถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย” (จากแนวคิด Network Monarchy ของศาสตราจารย์ Duncan McCargo ชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยและเอเชียอาคเนย์แห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนและผู้อำนวยการ Nordic Institute of Asian Studies ประเทศเดนมาร์ก)[2] โดยเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชนชั้นนำไทยต่างๆ ในสังกัดกองทัพ, ตำรวจ, ข้าราชการพลเรือน, แวดวงธุรกิจ, พรรคการเมือง/นักการเมือง รวมไปถึงนักศึกษาปัญญาชนและคนชั้นกลางโดยรวม ในช่วงเวลายาวนานถึง 40 ปี ได้อย่างดี ลึก ละเอียด และกระจ่างขนาดนี้มาก่อน
ถือเป็นความพยายามทางวิชาการที่ทะเยอทะยานและทำออกมาได้ดีมากทีเดียว เพราะทำให้ผู้อ่านได้ “เห็น” บทบาทฐานะสำคัญทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์—มิใช่แบบโดดๆ เดี่ยวๆ ปลอดบริบทแวดล้อมซึ่งเป็นภาพที่คับแคบคลุมเครือ—หากเป็นภาพของสายใยสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนกับกลุ่มชนชั้นนำอื่นๆ อย่างชัดเจน
การตามแกะรอยประวัติศาสตร์เครือข่ายในหลวงอย่างอุตสาหะพากเพียรและเฉียบคมนี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยคุณอาสายึดกุมแนวคิดหลักจำนวนหนึ่งซึ่งสอดคล้องเข้าเรื่องกับเป้าแห่งการศึกษา ทำความเข้าใจมัน แล้วค้นข้อมูลมหาศาลมหัศจรรย์พันลึกมาเรียบเรียงเล่าเป็นเรื่อง โดยอาศัยแนวคิดเหล่านั้นเป็นตะแกรงร่อนจับข้อมูลมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน อีกทั้งวิเคราะห์แสดงเหตุปัจจัยหลักในการคลี่คลายเรื่องไป ดังนั้นก็ชวนให้อ่านสนุกและต่อเนื่อง อีกทั้งมีชื่อบุคคลเกี่ยวข้องเยอะแยะมากมายซึ่งผู้เขียนได้ช่วยทำบัญชีรายการ Who’s Who in the Thai Network Monarchy ประกอบเป็นภาคผนวกไว้อย่างสะดวกเพื่ออ้างอิงค้นคว้าท้ายเล่มด้วย
อันที่จริง ผมเผอิญได้เห็นงานของคุณอาสาชิ้นนี้ตั้งแต่ก่อหวอดตั้งไข่ในรูปรายงานวิชาการของกลุ่มนักศึกษาปริญญาเอกที่น่าสนใจซึ่งอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ชวนให้ผมไปอ่านคอมเมนต์ในงานสัมมนาที่สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่เมื่อราวแปดปีก่อน ผมเอะใจว่ารายงานของคุณอาสาซึ่งทำเรื่องเครือข่ายในหลวงช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ตอนนั้นโดดเด่นน่าสนใจ ผมได้เอ่ยชื่นชมและให้กำลังใจคุณอาสาไว้ในที่สัมมนา[3]
ทว่าเมื่อเทียบกับผลงานสำเร็จรูปท้ายสุดเล่มนี้ก็จะพบว่าผู้เขียนได้ขยายช่วงเวลาการศึกษาวิจัยเครือข่ายในหลวงยืดยาวออกไปอักโข ทั้งย้อนหลังกลับไปถึงช่วงเครือข่ายฯ เริ่มก่อตัวขึ้นกลางพุทธทศวรรษ 2490 ภายใต้รัฐบาลนายกฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และเดินหน้าต่อไปถึงเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม พ.ศ. 2535 สมัยที่เครือข่ายฯ แผ่ขยายตัวกว้างขวางออกไปตามพระราชอำนาจนำซึ่งขึ้นสู่กระแสสูงในยุคที่นำไปสู่รัฐบาลนายกฯ พลเอกสุจินดา คราประยูร
เมื่อเพื่อนอาจารย์ที่สนิทสนมกันทางเชียงใหม่ได้ยินกิตติศัพท์ของงานชิ้นนี้ ก็ขอให้ผมลองช่วยสรุปสั้นๆ ให้ฟังว่าเป็นอย่างไร ? ผมหลุดปากตอบท่านไปว่ามันคือ “สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่มีเชิงอรรถ” นั่นเอง !
ในความหมายที่ว่าเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์—ปัญญาชนสยามอาวุโสแห่งซอยสันติภาพ บางรัก—นั้นเป็นเอตทัคคะผู้รอบรู้หยั่งลึกเรื่องราวในแวดวงเจ้านายขุนนางชั้นผู้ใหญ่และวงการพระสงฆ์อย่างพิสดารพันลึก ใครแวะเวียนไปหาสนทนากับท่าน ท่านก็มักบอกเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ฟังอย่างน่าทึ่งชวนตื่นตะลึง อีกทั้งท่านยังอภิปรายความและเขียนหนังสือเรื่องดังกล่าวไว้มากมายหลายเล่ม ชั่วแต่ว่าปกติท่านไม่ถือธรรมเนียมวิชาการฝรั่งสมัยใหม่ ข้อเขียนและเรื่องเล่าของท่านจึงไม่บอกแจ้งแหล่งอ้างอิงกำกับไว้ ผู้ฟังผู้อ่านก็ได้แต่ฟังท่านเชื่อท่านนั้นแลเป็นแหล่งอ้างอิงสุดท้ายที่มีชีวิตพูดได้เดินได้
จนกระทั่งผมเคยได้ยินคำกล่าวขวัญกันว่าอาจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ แห่งกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยบ่นทำนองว่าปัญหาของการจะใช้งานอาจารย์สุลักษณ์ในทางวิชาการก็คือ ท่านไม่มีเชิงอรรถ ไม่รู้จะสืบค้นอ้างอิงต่อได้ยังไงนั่นเอง
แต่งานของคุณอาสาซึ่งบรรยายวิเคราะห์เครือข่ายสายสัมพันธ์ในหมู่เจ้านาย ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ตุลาการ นักธุรกิจ นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนนักวิชาการ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หน่วยงานมูลนิธิ ฯลฯ เล่มนี้เป็นงานวิชาการที่ย่อมต้องมีเชิงอรรถอ้างอิงเป็นธรรมดา
ดังปรากฏจำนวนเชิงอรรถในบทต่างๆ 13 บทของหนังสือเล่มนี้รวมกันทั้งสิ้นถึง 1,279 เชิงอรรถ รายการเอกสารหนังสืออ้างอิงที่ใช้ค้นคว้าประกอบหากนำมาพิมพ์เรียงต่อกันก็น่าจะยาวถึง 40 หน้า ในงานทั้งเล่มที่ถูกตัดทอนให้กระชับรัดกุมขึ้นเหลือราวกึ่งหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์ต้นฉบับเดิมซึ่งหนาถึง 731 หน้า
จากที่กล่าวมา หนังสือเล่มนี้ของคุณอาสาจึงเป็นงานที่สืบทอด ต่อยอดและพัฒนาบรรดางานวิชาการและแนวคิดวิเคราะห์สำคัญๆ ทั้งไทยและเทศเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยซึ่งปรากฏออกมาในช่วงสองทศวรรษสุดท้ายของรัชกาลก่อน
โดยข้อค้นพบและเนื้อหาข้อมูลจากการค้นคว้าวิจัยของงานชิ้นนี้ได้ประยุกต์ สังเคราะห์ ข้ามพ้น ไปลึกกว่า กว้างกว่า และทำให้เป็นเนื้อหนังรูปธรรม (apply-synthesize-transcend-deepen-extend-flesh out) ซึ่งงานและแนวคิดดังกล่าวเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น :
เป็นต้น
การที่ผลงานและแนวคิดวิชาการสำคัญๆ เกี่ยวกับการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังกล่าวเหล่านี้ทยอยตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในช่วงราว 20 ปีหลังในรัชกาลของพระองค์เป็นช่วงจังหวะพอเหมาะให้คุณอาสาได้อาศัยสังเคราะห์และประยุกต์ใช้แนวคิดจากงานเหล่านี้ในการคิดค้นขีดเขียนหนังสือเล่มนี้ และมันยังชวนให้สะท้อนย้อนคิดถึงข้อความตอนหนึ่งในปรัชญานิพนธ์เรื่อง “Philosophy of Right” (ค.ศ. 1820) ของ จอร์จ วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกล นักปรัชญาจิตนิยมชาวเยอรมัน (ค.ศ. 1770-1831) ที่ว่า :
ปรัชญามาถึงฉากเหตุการณ์เอาเมื่อสายเกินกว่าจะให้คำแนะนำสั่งสอนว่าโลกควรจะเป็นเช่นไรแล้วเสมอ ในฐานะความคิดของโลก มันจะปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อภาวะจริงสำเร็จรูปเรียบร้อยอยู่ที่นั่นแล้ว ภายหลังกระบวนการก่อรูปของภาวะจริงเสร็จสิ้นลงแล้ว…
เมื่อปรัชญาทาสีเทาทับลงไปบนสีเทานั้น ชีวิตรูปทรงหนึ่งก็ถึงวัยชราแล้ว สีเทาของปรัชญาที่ทาทับสีเทามิอาจปลุกมันให้หนุ่มกระชุ่มกระชวยขึ้นมาใหม่ เพียงแต่ทำให้มันเป็นที่เข้าใจได้ ด้วยว่านกเค้าแมวแห่งเทพีมีเนอร์วาย่อมกางปีกออกโผบินก็ต่อเมื่อย่ำสนธยาแล้วเท่านั้น[7]
นอกจากนี้ คุณูปการสำคัญอีกประการหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์ของคุณอาสาก็คือมันได้สังเคราะห์ เฉลยไข และเสนอคำอธิบายอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับข้อโต้แย้งลักลั่นเหลื่อมล้ำกันเรื่องกำเนิดและการคลี่คลายขยายตัวของพระราชอำนาจนำในรัชกาลที่ 9 ระหว่าง :
ฝ่ายที่เห็นว่าพระราชอำนาจนำปรากฏเด่นชัดตั้งแต่เหตุการณ์มวลชนลุกฮือโค่นเผด็จการทหารคณาธิปไตยของจอมพลถนอม-จอมพลประภาส-พันเอกณรงค์ เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 อันได้แก่ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล,[8] ผมเอง, และอาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ vs. ฝ่ายที่เห็นว่าพระราชอำนาจนำก่อตัวตั้งแต่ปลายพุทธทศวรรษ 2520 ถึงต้นพุทธทศวรรษ 2530 และอาจถือเหตุการณ์มวลชนลุกฮือโค่นเผด็จการ รสช. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 เป็นหลักหมาย ได้แก่ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[9]
โดยคุณอาสาสังเคราะห์ว่าต่างมีส่วนถูกทั้งสองฝ่าย กล่าวคือจริงว่าพระราชอำนาจนำปรากฏชัดตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 ทว่าจุดที่พระราชอำนาจนำขึ้นสูงสุดคือช่วงพฤษภาคม 2535
ประเด็นสำคัญอยู่ตรงไม่ควรมองพระราชอำนาจนำแบบหยุดนิ่งคงที่ตายตัว หรือพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทางเดียว
หากในทางเป็นจริง มีสภาพผกผันขึ้นลงตามสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงจาก 14 ตุลา 2516 ซึ่งขึ้นสูงเด่นชัด แล้วค่อยลดต่ำลงในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก่อนที่จะค่อยๆ ฟื้นตัวสั่งสมสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกครั้งตั้งแต่กลางพุทธทศวรรษ 2520 จนขึ้นถึงจุดสุดยอดในเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 โดยมีเหตุการณ์และกระแสความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ช่วยหนุนเสริมพระราชอำนาจนำ ได้แก่ : -
พ.ศ. 2524 ความปราชัยของกบฏยังเติร์กด้วยเดชะพระบารมี และการขุดพบและเริ่มใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอย่าง “โชติช่วงชัชวาล”
พ.ศ. 2525 การเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบสองร้อยปี และโครงการพัฒนา Eastern Seaboard
พ.ศ. 2528 การล่มสลายของขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
เป็นต้น
โดยทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบของนายกฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์(พ.ศ. 2523-2531)
จนมาถึงเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ที่การปราบปรามมวลชนผู้ชุมนุมโดยกำลังทหารของรัฐบาลได้ยุติลงและคืนสู่ความสงบด้วยอานุภาพแห่งพระราชดำรัสที่ทรงเตือนสติผู้นำทั้งสองฝ่ายได้แก่ มหาจำลอง ศรีเมือง และนายกฯ พลเอกสุจินดา คราประยูร
นอกจากนี้ คุณอาสายังได้คิดประดิษฐ์และนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ เพื่อทำความเข้าใจเครือข่ายชนชั้นนำไทยเพิ่มเติมได้แก่ :
นี่เป็นเหล่าแนวคิดที่ช่วยให้วิเคราะห์เข้าใจและอธิบายความสัมพันธ์ของบุคคล กลุ่มและฝ่ายต่างๆ ในเครือข่ายชนชั้นนำไทยได้อย่างพลิกแพลง ยืดหยุ่น อ่อนไหว มีพลวัต ไม่แข็งทื่อตายตัวหยุดนิ่งด้านเดียว และนับเป็นคุณูปการสร้างสรรค์ใหม่ทางวิชาการที่สำคัญที่สุดสำหรับการศึกษาการเมืองไทยในรัชกาลที่ 9 ของหนังสือเล่มนี้
ทำให้เห็นได้ว่าบุคคล กลุ่มฝ่ายและสถาบันต่างๆ ในเครือข่ายฯ ต่างก็มีโครงการทางการเมือง(political projects) เฉพาะของตนเองในแง่เป้าประสงค์ อำนาจ ตำแหน่ง ผลประโยชน์ อุดมการณ์ ฯลฯ ที่มุ่งหวัง
การมาเชื่อมประสานและร่วมมือกันในเครือข่ายจึงเป็นไปอย่างอิสระโดยสัมพัทธ์ (relative autonomy) เท่าที่โครงการทางการเมืองของตนสอดคล้องไปกันได้กับโครงการทางการเมืองหลักของเครือข่ายฯ และโครงการทางการเมืองของฝ่ายอื่นๆ ในสถานการณ์หนึ่งๆ มิได้เป็นการสังกัดขึ้นต่ออย่างแน่นอนตายตัว
อีกทั้งแบบแผนสัมพันธภาพทางอำนาจในเครือข่ายฯ ก็ใช่ว่าจะสถาปนาตรึงตราไว้ได้คงที่ถาวร หากผันแปรสลับสับเปลี่ยนกันได้ แล้วแต่ดุลอำนาจที่เป็นจริงของแต่ละฝ่ายในภาวการณ์หนึ่งๆ ว่าบุคคล กลุ่มฝ่ายและสถาบันใดจะขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนใหญ่ทางอำนาจ (senior partnership) และใครจะตกเป็นรองในเครือข่ายฯ
โดยที่แบบวิถีการดำเนินความสัมพันธ์และการธำรงรักษาอำนาจของชนชั้นนำไทยโดยรวมขึ้นอยู่กับและผันแปรไปตามสิ่งที่คุณอาสาเรียกว่า ฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทย (Thai elite consensus) ที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว (พ.ศ. 2495-2535) ซึ่งประกอบไปด้วย :
จะเห็นได้ว่าธรรมเนียม “แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ เขตใครเขตมัน ไม่เหมารวมกินรวบผูกขาดคนเดียว” เป็นข้อต้องห้าม (taboo) ที่ถือสากันในหมู่ชนชั้นนำไทย หากใครฝ่ายใดไปละเมิดเข้า ก็มักถูกชนชั้นนำกลุ่มฝ่ายอื่นๆ รวมหัวกันคัดค้านต่อต้าน จนสิ้นอำนาจไปในที่สุด นับตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม-จอมพลประภาส-พันเอกณรงค์ มาจนถึงนายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
จนมาถึงสมัยนายกฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้วางตัวเป็น “คนกลาง” และดำเนินงานการเมืองอยู่ในกรอบฉันทมติข้อนี้ ไม่ล่วงล้ำก้ำเกิน จึงทำให้สามารถเชื่อมผสานชนชั้นนำฝ่ายต่างๆ ทั้งราชสำนัก ภาคทหาร ข้าราชการ เทคโนแครต ธุรกิจ ฯลฯ เข้าด้วยกันได้และครองอำนาจได้ค่อนข้างยาวนาน (พ.ศ. 2523-2531)
แน่นอน ข้อที่ควรคำนึงถึงในทัศนมิติทางประวัติศาสตร์ (historical perspective) ก็คือฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทยคงไม่หยุดนิ่งแน่นอนตายตัวไปตลอด หากวิวัฒน์คลี่คลายขยายตัวไปได้ตามสภาพการณ์ทางสังคมการเมืองแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในและนอกประเทศ
ดังที่เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มหันเหออกห่างจากพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น และเอนเอียงเข้าหาสาธารณรัฐประชาชนจีนยิ่งขึ้นตามลำดับ[10]
หรือเหตุการณ์ยิ่งใหญ่อย่างการลุกฮือของมวลชนที่นำไปสู่การโค่นเผด็จการทหารเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นสัญญาณที่สังคมไทยหลุดพ้นจากการเมืองที่ผูกขาดโดยชนชั้นนำล้วนๆ (elite politics) เข้าสู่การเมืองที่มวลชนเข้าร่วมด้วย (mass politics) แล้วนั้น[11]
ย่อมพึงจะส่งผลสะเทือนให้ชนชั้นนำต้องปรับแต่งแก้ไขเพิ่มเติมฉันทมติในหมู่พวกเขาไปบ้าง อย่างน้อยก็เพื่อจัดการรับมือขบวนการมวลชนซึ่งบุกทะลวงเข้าสู่แวดวงเวทีการเมืองที่พวกเขาผูกขาดมาแต่เดิมโดยไม่ได้รับเชิญ
ดังที่อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ เคยตั้งข้อสังเกตไว้และรองศาสตราจารย์ ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ ได้วิเคราะห์สืบต่อในประเด็นเกี่ยวเนื่องกัน[12] ซึ่งพอประมวลสรุปได้ว่าวิธีการที่ชนชั้นนำไทยใช้จัดการรับมือการเมืองของมวลชนในช่วง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 และสงครามประชาชนในชนบทต่อมาก็คือ :
เอามวลชนจัดตั้งออกจากท้องถนน ผลักดันพวกเขาเข้าสู่คูหาเลือกตั้งและสภาผู้แทนราษฎรในฐานะปัจเจกอะตอมไร้สังกัด แล้วประกันไม่ให้มีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายสังคมนิยมหรือพรรคลัทธิถอนรากถอนโคนในสภา[13]
และหากคิดล่วงเลยพ้นปี 2535 อันเป็นขอบเขตของหนังสือออกไป ก็อาจเห็นได้ว่าฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทยได้เพิ่มข้อที่ว่า “ชนชั้นนำไทยทยอยเกิดเพิ่มขึ้นและแบ่งสันปันส่วนเขตอำนาจและผลประโยชน์อยู่ร่วมกันได้หลายๆ กลุ่มตามสภาพเศรษฐกิจสังคมที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไป โดยทุกกลุ่มยอมตนอยู่ใต้พระบรมราชูปถัมภ์” (elite pluralism under royal patronage)
อันเป็นฉันทมติที่ถูกท้าทายล่วงล้ำไม่ว่าจะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตามโดยระบอบทักษิณนั่นเอง[14]
ในฐานะที่ฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทย (Thai elite consensus) เป็นแนวคิดใหม่ซึ่งคุณอาสาคิดประดิษฐ์ขึ้นและมีบทบาทสำคัญยิ่งถึงขั้นที่เป็นปัจจัยหลักหรือตัวแปรต้น (independent variable) ในการวิเคราะห์พลวัตและอธิบายความคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์ทางการเมืองไทย
เราจึงพึงตั้งคำถามเกี่ยวกับว่าฉันทมติดังกล่าวมาจากไหน ? กำเนิดขึ้นได้อย่างไร ? จากอะไร ? เพื่อสามารถอธิบายตัวการหลักที่คอยให้คำอธิบายเฉลยไขเรื่องราวต่างๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ในที่นี้ผมใคร่ลองเสนอคำอธิบายทางรัฐศาสตร์เกี่ยวกับที่มาของฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทย เสริมเติมจากที่คุณอาสาได้อธิบายไว้ในหนังสือแล้ว
แน่นอนว่าคงยากที่จะค้นพบตัวบุคคลหรือคณะบุคคลผู้กระทำการ (agent) ในหมู่ชนชั้นนำไทยที่เปล่งประกาศออกมาจริงๆ อย่างเป็นงานเป็นการในทำนองว่า “ชนชั้นนำไทยที่รักทั้งหลาย ที่ข้าพเจ้าเชิญพวกท่านมาร่วมชุมนุมกันในวันนี้ ก็เพื่อเสนอว่าฉันทมติของพวกเราควรเป็นเช่นนี้คือ…”—อย่างน้อยคุณอาสาก็มิได้กล่าวถึงไว้ในหนังสือ
การแสวงหาคำอธิบายเกี่ยวกับฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทย จึงน่าจะเป็นไปในเชิงโครงสร้าง(structure) มากกว่า กล่าวคือมีโครงสร้างอะไรในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยสมัยใหม่ที่เอื้ออำนวยให้เกิดและผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องยั่งยืนซึ่งฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทยดังกล่าว ?
ผมคิดว่าโครงสร้างที่ว่าได้แก่รัฐราชการไทย (Thai bureaucratic polity) ในฐานที่มันเป็นโครงสร้างการเมืองการปกครองซึ่งห้อยต่องแต่งตกค้างอยู่ในช่วงเปลี่ยนไม่ผ่าน (non-transition) อันยืดเยื้อยาวนานระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สิ้นสุดลงเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กับลัทธิชาตินิยมของประชามหาชนที่การเมืองไทยไปไม่ถึงฝั่ง
ทว่ากลับเกิดสภาพที่กลไกรัฐ (ชนชั้นนำในระบบราชการหรือ bureaucratic elite) เข้ากุมอำนาจอธิปไตยเสียเอง แทนที่จะเป็นแค่ “ข้าราชการ” หรือเครื่องมือทางการเมืองการปกครองของพระมหากษัตริย์แต่เดิมในระบอบสมบูรณ์ฯ และแทนที่จะเป็นแค่ “ข้าราษฎร” หรือเครื่องมือทางการเมืองการปกครองของประชาชนในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย
ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้รัฐราชการไทยอาจกุมอำนาจบังคับควบคุมสังคมไว้ได้ในทางเป็นจริง แต่ก็ย่อมประสบปัญหาขาดความชอบธรรมเรื้อรัง—กล่าวคือไม่อาจอ้างความชอบธรรมตามประเพณี (traditional legitimacy) เยี่ยงพระมหากษัตริย์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ในระบอบสมบูรณ์ฯ และก็ไม่อาจอ้างความชอบธรรมตามหลักเหตุผลและกฎหมาย (rational-legal legitimacy) อย่างผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งมาโดยชอบในระบอบประชาธิปไตย
จึงก่อเกิดเป็นระบบนิรนาม (nameless system) ซึ่งปราศจากหลักความชอบธรรมที่แท้ทั้งภายในและภายนอกให้อ้างอิงเป็นฐานที่มาแห่งอำนาจในท้ายที่สุดได้
สภาพเช่นนี้คือปมเงื่อนที่มาแห่งเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจ (power nexus) ระหว่างกองทัพกับสถาบันกษัตริย์ในรัฐราชการไทยในลักษณะหยิบยืมความชอบธรรม (borrowed legitimacy)[15]
ดังที่รัฐบุรุษอาวุโส อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน—ต่างกรรมต่างวาระกันและโดยมิได้นัดหมาย—ต่างก็ใช้อุปมาอุปไมยความสัมพันธ์ระหว่างโชกุนกับพระจักรพรรดิของญี่ปุ่น มาอธิบายปมเงื่อนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้นำกองทัพกับสถาบันกษัตริย์ไทย ในงานเรื่อง“จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” (2516) ของท่านแรก และ “บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม” (2520) ของท่านหลังตามลำดับ[16]
และดังที่สะท้อนถ่ายทอดออกมาอย่างน่าสนเท่ห์ในตอนหนึ่งของบทกวีเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ของนายผี (อัศนี พลจันทร, แต่ง พ.ศ. 2495) ว่า:
ฝ่ายหนึ่งเฝ้าปลุกผี จะให้โลดกำแหงหาญ
ฝ่ายหนึ่งขนาบศาล สำหรับล่อให้คนหลง[17]
และหากพิจารณาลักษณะเฉพาะของระบบราชการสมัยใหม่ (modern bureaucracy) ที่สยามนำเข้ามาจากโลกตะวันตก ซึ่งเน้นการแบ่งงานกันทำตามความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะเป็นกระทรวงทบวงกรมแผนกต่างๆ เหมือนดังการแบ่งเป็นคณะภาควิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยด้วยแล้ว มันย่อมส่งผลก่อรูปตีกรอบโลกทัศน์ อำนาจและผลประโยชน์เชิงบุคคลและสถาบันของชนชั้นนำในระบบราชการให้แบ่งแยกผิดแผกแตกต่างจากกัน
เหล่านี้ทำให้โครงสร้างและชนชั้นนำแห่งรัฐราชการไทยมีลักษณะแบ่งแยกแตกออกจากกันทั้งโดยวิถีดำเนินที่ผ่านมาและโดยเนื้อใน ไม่สามารถผนึกเป็นเอกภาพกันแน่นหนาถาวรได้ กล่าวคือกลายเป็นโครงสร้างรัฐที่รวมศูนย์สูงแต่ด้อยเอกภาพเหมือนพีระมิดที่แตกเป็นเสี่ยง (a fragmented-pyramid like, overcentralized but under-unified state structure)[18]
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจสังคมไทยซึ่งพัฒนาเติบโตไปอย่างก้าวกระโดดแต่ไม่สมดุล (unbalanced growth) นับแต่เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ก็ได้แผ่พลังกระเพื่อมหนุนส่งให้ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ทยอยเติบใหญ่ขึ้นมากุมอำนาจอิทธิพลด้านต่างๆ ในสังคมเพิ่มทวีขึ้นด้วย
จากชนชั้นนำเจ้านายขุนนางเดิม → ชนชั้นนำข้าราชการ → ชนชั้นนำธุรกิจ → ชนชั้นนำสื่อมวลชน/วิชาชีพ → ชนชั้นนำนักการเมือง → ชนชั้นนำเทคโนแครต/วิชาการ → ชนชั้นนำเอ็นจีโอ ฯลฯ
น่าสนใจว่าสังคมการเมืองไทยที่ผ่านมาได้เปิดอ้าออกโอบรับชนชั้นนำหน้าใหม่ๆ หลากหลายกลุ่มเหล่านี้ให้เข้ามาร่วมวงไพบูลย์ในโครงสร้างอำนาจในลักษณะ “แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ไม่ให้ใครผูกขาดกินรวบ” ด้วย ภายใต้ข้อแม้เงื่อนไขว่าทุกกลุ่มยอมตนอยู่ใต้พระบรมราชูปถัมภ์
แบบแผนความสัมพันธ์ของชนชั้นนำไทยในลักษณะพหุนิยมภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ (elite pluralism under royal patronage) ข้างต้นนี้คือการต่อยอดจาก…
ฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทย (Thai elite consensus) ที่คุณอาสาเสนอไว้ โดยมาผนวกบรรจบเข้ากับ
พระราชอำนาจนำ (royal hegemony) ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งขึ้นสู่กระแสสูงในช่วงเหตุการณ์พฤษภาประชาธิปไตย พ.ศ. 2535 จนกลายเป็น →
ฉันทมติภูมิพล (the Bhumibol consensus) หรือนัยหนึ่งฉันทมติในหมู่ชนชั้นนำไทยที่ได้รับการปกปักค้ำจุนด้วยพระราชอำนาจนำนั่นเอง
ศาสตราจารย์ ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
_______________________
[1] อาสา คำภา, “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535” (ดุษฎีนิพนธ์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2562).
[2] Duncan McCargo, “Network monarchy and legitimacy crises in Thailand,” The Pacific Review 18, no. 4 (December 2005) : 499-519.
[3] งานชั้นต้นชิ้นนี้ต่อมาคุณอาสาได้พัฒนาเป็นบทความเรื่อง “พลวัตชนชั้นนำไทยหลัง 14 ตุลา 2516 : จากการก่อตัวของพันธมิตรระหว่างพระมหากษัตริย์ กลุ่มอนุรักษนิยมและผู้นำทหาร ถึงพิมพ์เขียวการเมืองไทยที่ล้มเหลว,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 18, ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2563) : 137-80.
[4] ชนิดา ชิตบัณฑิตย์, โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550). วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตซึ่งเป็นที่มาของหนังสือเสร็จสิ้นในปี 2547
[5] Eugénie Mérieau, “Thailand’s Deep State, Royal Power and the Constitutional Court (1997–2015),” Journal of Contemporary Asia 46, no. 3 (2016) : 445-66.
[6] Paul Chambers and Napisa Waitoolkiat, “The Resilience of Monarchised Military in Thailand,” Journal of Contemporary Asia 46, no. 3 (2016) : 425-44.
[7] เกษียร เตชะพีระ, “หมายเหตุผู้แปล,” ใน สตีเว่น ลุคส์, การิทัตผจญภัย: นิยายปรัชญาการเมือง, แปล เกษียร เตชะพีระ(กรุงเทพฯ : คบไฟ, 2554), หมายเหตุ 131 น. 318.
[8] “ธงชัย วินิจจะกูล มองทะลุประวัติศาสตร์ ‘ราชาชาตินิยม’ และ ‘ผี’ ในการเมืองไทย,” บีบีซีไทย, 7 สิงหาคม 2562, https://www.bbc.com/thai/thailand-49231878. และ ธงชัย วินิจจะกูล, “ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา,” ใน ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง (นนทบุรี, ฟ้าเดียวกัน, 2556).
[9] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “Mass Monarchy,” ใน ย้ำยุค รุกสมัย: เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา, บ.ก. ชัยธวัช ตุลาธน(กรุงเทพฯ: มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยและคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์, 2556), 107-18.
[10] เกษียร เตชะพีระ, “อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 16, ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561) : 103-59.
[11] เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน, บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559).
[12] Prajak Kongkirati, “Bosses, Bullets and Ballots: Electoral Violence and Democracy in Thailand, 1975-2011” (unpublished Ph.D. thesis, Department of Political and Social Change, School of International, Political and Strategic Studies, The Australian National University, 2013), 102.
[13] ข้อวิเคราะห์ทำนองเดียวกันปรากฏใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ลัทธิถอนรากถอนโคนแบบไทย,” มติชนสุดสัปดาห์, 10 กรกฎาคม 2562, https://www.matichonweekly.com/column/article_
209131.
[14] ดูคำอธิบายที่กระจ่างชัดเจนโดยพิสดารใน Prajak, “Bosses, Bullets and Ballots,” 136-50. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อเรื่อง “The rise of the populist party: new political actors and the goal of political monopolization”
[15] คำทดลองอธิบายช่วงนี้สังเคราะห์ขึ้นจากข้อวิเคราะห์วิจารณ์ของ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ใน “บทที่ 1 ศึกษารัฐไทย วิพากษ์ไทยศึกษา,” ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา: ว่าด้วยการเมืองไทยสมัยใหม่, บ.ก. อัญชลี มณีโรจน์ (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2558), 3-54. ส่วนแนวคิดว่าด้วยหลักความชอบธรรมทางการเมืองอันทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย/อำนาจสถาปนา 3 แหล่งในประวัติศาสตร์ซึ่งได้แก่ God, kings, & the people มาจากนักมานุษยวิทยาอนาธิปไตยชาวอเมริกันชื่อดังผู้เพิ่งล่วงลับไป David Graeber, The Utopia of Rules : On Technology, Stupidity, and the Secret Joys of Bureaucracy (Brooklyn & London : Melville House, 2015), 193-94, 213-14.
[16] ดู ปรีดี พนมยงค์, “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม,” แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, บ.ก. วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และโครงการ 60 ปีประชาธิปไตย, 2535), 171-95 ; และ แอนเดอร์สัน, บ้านเมืองของเราลงแดง.
[17] นายผี (อัศนี พลจันทร), “ความเปลี่ยนแปลง,” ใน เราชะนะแล้วแม่จ๋า. และกาพย์กลอน “ความเปลี่ยนแปลง”, บ.ก. เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ (กรุงเทพฯ: อ่าน, 2557), 92.
[18] เกษียร เตชะพีระ, “วิธีขจัดม็อบ,” ผู้จัดการรายวัน, 25 มีนาคม 2536.
ย้อนกลับไปช่วงเดือนตุลาคม ปี 2559 หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สังคมไทยเกิดปรากฏการณ์ #ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9 ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนอย่างกว้างขวาง ขณะนั้นผู้เขียนซึ่งกำลังค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ มีคำถามในใจว่า แม้การประกาศตนนี้จะมีนัยเพื่อแสดงความระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างอาลัยและจงรักภักดี แต่แท้จริงแล้วเรามีความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัชสมัยรัชกาลที่ 9 มากน้อยเพียงใด
กล่าวเฉพาะตัวผู้เขียน ในช่วงรัชสมัยที่ยาวนานนี้ (พ.ศ. 2489-2559) เอาเข้าจริงควรกล่าวว่าผู้เขียนเกิดและเติบโตในสังคมไทยยุคครึ่งหลังของรัชกาล คือ ปลายสงครามเย็นทศวรรษ 2520 เท่าที่จำความได้นับแต่เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา กิจกรรมในโรงเรียนทุกปีจะมีงานเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม และ 12 สิงหาคม นักเรียนจะร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและสดุดีมหาราชาหน้าเสาธง นอกเหนือจากการร้องเพลงชาติและสวดมนต์ที่กระทำอยู่ทุกวัน ขณะที่ในห้องเรียนจะมีรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินีที่ติดอยู่เหนือกระดานดำ เฉกเช่นเดียวกับภาพนำเสนอที่ปรากฏในแบบเรียนมานี มานะ ต่างกันที่แบบเรียนนั้นฉายภาพสังคมชนบท แต่ผู้เขียนอยู่โรงเรียนของลูกหลานชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ผู้เขียนยังจำได้ถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งไปดูพลุไฟและการประดับประดาไฟในยามค่ำคืนกับครอบครัวเป็นครั้งแรก เข้าใจว่าคืองานเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 60 ปี (พ.ศ. 2530) หรือไม่ก็งานรัชมังคลาภิเษก (พ.ศ. 2531) ซึ่งเป็นปีเฉลิมฉลองวาระพิเศษเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจของคนกรุงเทพฯ
ครั้นรู้ความมากขึ้น ก็ยังจำได้ถึงละครหลังข่าวในพระราชสำนักเวลาสองทุ่มอย่าง สี่แผ่นดิน (พ.ศ. 2534) ที่สร้างความตราตรึงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ชนชั้นสูง ความเห็นสวยเห็นงามแบบไทยในอดีต เพียงแค่ปีเดียวหลังจากนั้นเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ในเวลานั้นใครต่อใครต่างมองฝ่ายทหารเป็น “ผู้ร้าย” เพราะทำร้ายเข่นฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ที่สุดความรุนแรงนี้ก็ยุติได้ด้วยพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อทรงเรียกผู้นำทั้งสองฝ่ายมาเตือนสติและให้หาทางแก้ไข โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจถ่ายทอดเหตุการณ์ครั้งนี้ให้คนไทยเห็นทั้งประเทศพร้อมๆ กัน ในเวลานั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ “ฮีโร่” แม้ในความรู้สึกของผู้เขียนที่ยังเป็นเด็ก ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ไม่เพียงแต่ทหารที่เป็นผู้ร้าย นักการเมืองก็เช่นกัน คำว่า “พรรคเทพ” “พรรคมาร” เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ สะท้อนแนวคิด “การเมืองคนดี” แต่ไม่ว่าจะฝักฝ่ายใดนักการเมืองก็ล้วนมีแนวโน้มเข้าไปแสวงหาอำนาจผลประโยชน์ นักการเมืองมักมีภาพลบที่ผูกติดกับคำว่าทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่เสมอ ซึ่งต่างจากในหลวงรัชกาลที่ 9
ช่วงเวลานี้เอง ในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี (ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม) ในหลวงจะมีพระราชดำรัสต่อหน้ามหาสมาคม บางครั้งพระองค์ใช้เวลานับชั่วโมงบอกเล่าการทรงงานในโครงการตามพระราชดำริ พระราชดำรัส 4 ธันวาคมเป็นสิ่งที่ทุกคนฟังอย่างตั้งใจ บางครั้งจะมีพระราชดำรัสถึงการทำงานของรัฐบาล สิ่งนี้เองมีพลังเสียยิ่งกว่าโพลสำรวจความนิยมใดๆ ในวันต่อมาหนังสือพิมพ์ทุกฉบับจะลงพิมพ์พระราชดำรัส 4 ธันวาคมของในหลวงที่ถือเป็น “สปีชแห่งปี” ช่วงเวลานี้สถาบันกษัตริย์ยังฉายภาพความเป็นไทยอันทรงคุณค่า ที่สะท้อนผ่านงานพระราชพิธี ทั้งงานพระเมรุสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีปี 2538 ต่อเนื่องปี 2539 ที่มีการจัดพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เฉลิมฉลองครองราชย์ 50 ปี ภาพราชรถริ้วกระบวนแห่ในงานพระเมรุสมเด็จย่า ไปจนถึงกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค เป็นความทรงจำร่วมที่ตราตรึงผู้ชมผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเสมือนเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ใน “รัฐนาฏกรรม” (Theatre State) นอกจากนี้ การตระหนักรับรู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ “พ่อของแผ่นดิน” น่าจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน
ดังที่กล่าวมา สิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขภววิสัยที่หล่อหลอมประกอบสร้างการรับรู้เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ของคนไทยในยุคปลายสงครามเย็น ต่อเมื่อผู้เขียนมีโอกาสศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทยมากขึ้น จึงเริ่มตระหนักว่าความเข้าใจนี้แท้จริงเป็นสิ่งที่ “ใหม่” ทั้งเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มี “พระราชอำนาจนำ” (Royal Hegemony) อย่างมั่นคงชัดเจนแล้ว อีกทั้งบทบาทที่พระองค์ทรงแสดงออกในทางสาธารณะหลายอย่าง อาจมิได้สอดคล้องกับหลักการพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Monarchy ตามแบบฉบับสากล และในทางวิชาการเราพึงตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ได้
ผู้เขียนจำไม่ได้ชัดเจนว่าตนเองเริ่มมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่นอกเหนือไปจากการรับรู้ที่กล่าวมาตั้งแต่เมื่อใด แต่คงในราวกลางทศวรรษ 2540 สมัยเรียนปริญญาตรี จุดเปลี่ยนสำคัญหนึ่งน่าจะมาจากการจับพลัดจับผลูไปลงเรียนวิชาสำรวจประวัติศาสตร์ไทย (A Survey of Thai History) กับอาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสอนพาร์ทประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ (ขณะที่อาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ สอนประวัติศาสตร์สมัยจารีต) การเรียนสำรวจประวัติศาสตร์ไทยครั้งนั้นเสมือนการ “ปรับทัศนคติ” ของผู้เขียนต่อการพินิจประวัติศาสตร์ หนึ่งในนั้นคือการเล็งเห็นว่าพระมหากษัตริย์ผู้อยู่ “เหนือการเมือง” สามารถแสดงบทบาทเป็น “ผู้เล่น” (Actor) ในทางประวัติศาสตร์อย่างที่เราอาจไม่ได้ตระหนักมาก่อน จำได้ว่าอาจารย์อรรถจักร์แนะนำให้อ่าน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งเป็นงานเขียนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทยสมัยใหม่ที่แหลมคมที่สุดเล่มหนึ่งแม้กระทั่งปัจจุบัน
ความจริงแล้วการที่หนังสือ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (2544) เริ่มถูกพูดถึงเป็นที่สนใจในแวดวงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ อาจสะท้อนถึงช่วงท้ายของห้วงเวลาที่อาจารย์สมศักดิ์เรียกว่า “กระแสต่ำของการศึกษาสถาบันกษัตริย์” ซึ่งครอบคลุมเวลาตั้งแต่ราวทศวรรษ 2520 ถึงต้นทศวรรษ 2540 ทั้งนี้ อาจารย์สมศักดิ์เองเคยตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งนี้เป็นผลมาจากการหายไปของ Master Concept เรื่องศักดินาในแวดวงวิชาการไทยหลังการล่มสลายของ พคท. จนทำให้ประเด็นสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ปัญหาสำคัญอีกต่อไป ทว่า สิ่งที่ย้อนแย้งก็คือ ช่วงเวลาดังกล่าวกลับเป็นช่วงของความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลของสถาบันกษัตริย์[1] ไม่ว่าจะประเด็นพระราชอำนาจนำ, Mass Monarchy, กลุ่มก้อนตัวแสดงที่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับราชสำนัก ไปจนถึงผลประโยชน์จากการประกอบธุรกิจในนามทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฯลฯ ขณะเดียวกันภายใต้การประชาสัมพันธ์เพียงด้านเดียวและข้อจำกัดทางกฎหมายในการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ เช่น มาตรา 112 เงื่อนไขเหล่านี้ย่อมมีผลให้เกิดความไม่ตระหนักอย่างจริงแท้ จงใจลืม หรือเลือกที่จะไม่พูดถึง การศึกษาสถาบันกษัตริย์อย่างวิเคราะห์วิพากษ์ไม่เพียงแต่จะขัดกับเรื่องเล่าหลัก (Grand Narrative) และความรับรู้ความเข้าใจดังที่กล่าวมา แต่ยังอาจสุ่มเสี่ยงในแง่กฎหมายด้วย
อย่างไรก็ตาม จากความเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเข้าไปเกี่ยวพันในปริมณฑลทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมอย่างมากมายและซึมลึกเช่นนี้ ท้ายสุดย่อมไม่อาจปิดกั้นความพยายามที่จะเข้าไปทำความเข้าใจ ศึกษาและวิพากษ์ เมื่อเข้าสู่ครึ่งหลังทศวรรษ 2540 แวดวงวิชาการไทยเริ่มปรากฏงานศึกษาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมๆ กับปรากฏการณ์ควบคุมสอดส่องและเซ็นเซอร์ หมุดหมายที่ควรกล่าวถึง เช่น การเกิดขึ้นของวารสารอย่างฟ้าเดียวกัน ในปี 2546[2] วิทยานิพนธ์ที่ศึกษา “NGOs เจ้า” โดย ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ เรื่อง “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำ (พ.ศ. 2494-2546)” ในปี 2547 บทความของดันแคน แมคคาร์โก เรื่อง “Network Monarchy and Legitimacy Crisis in Thailand” ในปี 2548 (2005) หรือหนังสือที่ร้อนแรงที่สุดอย่าง The King Never Smiles (2006) โดยพอล แฮนด์ลีย์ ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ต้องห้ามในไทยปรากฏขึ้นในปี 2549 ฯลฯ กล่าวได้ว่างานเขียนเหล่านี้ได้นำเสนอเรื่องเล่า มุมมอง ตลอดจนวิธีวิทยาใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจในหลวงรัชกาลที่ 9 และสถาบันกษัตริย์ที่ต่างไปจากเดิม เช่น การใช้แนวคิดอำนาจนำ (Hegemony) การเมืองเชิงเครือข่าย (Network Politics) การเมืองวัฒนธรรม (Cultural Politics) ขณะที่งานบางชิ้นอย่าง The King Never Smiles นับเป็นการรื้อถอนเรื่องเล่าหลัก (Grand Narrative) อย่างไม่ปรานีปราศรัย[3]
อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ปลายทศวรรษ 2540 ช่วงที่งานเขียนเหล่านี้ปรากฏขึ้นยังคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์เฉลิมฉลองครั้งสำคัญที่สุดแห่งรัชสมัยนั่นคือ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี 9 มิถุนายน 2549 ภาพจำสำคัญคือวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงรับการถวายพระพรจากผู้แทนอำนาจอธิปไตยทั้งสาม ประชาชนพร้อมใจใส่เสื้อเหลืองเฝ้ารับเสด็จเต็มลานพระราชวังดุสิตและเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” อย่างกึกก้อง เหตุการณ์ในวันนั้นสะท้อน “พระราชอำนาจนำ” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มากถึงขีดสุด ผู้เขียนเชื่อว่าการแสดงออกของประชาชนในครั้งนั้นหาใช่การบังคับกะเกณฑ์แต่อย่างใด ดังนั้นนี่จึงเป็นพลานุภาพของอำนาจนำ แต่นั่นก็อาจเป็นครั้งท้ายๆ ก่อนที่ทุกอย่างจะผันแปรไป โดยมีตัวเร่งจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พระราชอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังจากนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
การที่เราตระหนักรู้เข้าใจถึงเรื่องนั้นๆ อย่างชัดเจนขึ้น พร้อมกับจุดพีคของมันก่อนที่สิ่งนั้นจะเดินสู่กระแสขาลง ข้อเปรียบเปรยนี้ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เคยกล่าวกับผู้เขียนว่า “มันก็เหมือนกับประโยคที่ Hegel พูดว่า นกเค้าแมวแห่งเทพีมีเนอร์วา (เทพีแห่งปัญญาญาณ) จะกางปีกออกบินเมื่อพลบค่ำ กล่าวคือ เราจะตระหนักรู้อย่างชัดเจนเมื่อเรื่องนี้กำลังเดินมาถึงบทสรุป”[4] หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การรื้อฟื้นงานศึกษาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด[5] ขณะเดียวกัน ทศวรรษ 2550 ภายใต้บริบทการเมืองมวลชนระหว่างสีเสื้อที่ฝ่ายหนึ่งพูดถึงปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” กระแสสูงของสถาบันกษัตริย์เริ่มเสื่อมคลอนลงพร้อมกับความปริวิตกในหมู่ชนชั้นนำไทยเรื่องการเปลี่ยนผ่านรัชกาล … ทั้งหมดนี้คือ บริบทที่มาของหนังสือ
หนังสือเล่มนี้ปรับปรุงแก้ไขมาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของผู้เขียนเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535” ของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วเสร็จเมื่อปี 2562 เน้นศึกษาการคลี่คลายขยายตัวของ “เครือข่ายในหลวง” ที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังมิได้ทรงไว้ซึ่ง “พระราชอำนาจนำ” อย่างเป็นฉันทมติจากชนชั้นนำไทย ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากการลงไปสู่ข้อมูลหลักฐานต่างๆ โดยใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์เพื่อประกอบสร้าง “เรื่องเล่าเรื่องดีๆ สักเรื่อง”[6] จาก “จิ๊กซอว์” ข้อมูลที่กระจัดกระจายและไม่ปะติดปะต่อแล้ว กรอบคิดในการศึกษาของหนังสือเล่มนี้ยังมาจากการสังเคราะห์ หยิบยืม ขยายความ และต่อยอดงานศึกษาก่อนหน้านี้ ที่ควรกล่าวถึงก็เช่น “พลวัตของชนชั้นนำไทย” ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์, กรอบคิดเรื่อง “จากประมุขของกลุ่มปกครองกลายเป็นประมุขของชนชั้นปกครอง” (From Head of a Ruling Clique to Head of Ruling Class) ของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, แนวคิด ประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา ที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ “เหนือการเมือง” ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ฯลฯ นอกจากนี้ ในส่วนของการขยายภาพลงสู่รายละเอียดเพื่อให้เห็นถึง “เนื้อหนังมังสา” ของกลุ่มก้อนตัวแสดงใน “เครือข่ายในหลวง” (Network Monarchy) นอกจากงานของดันแคน แมคคาร์โก ที่เป็นงานต้นทางที่ให้ภาพเชิงความคิดแล้ว การหยิบใช้แนวคิด “อำนาจนำ” (Hegemony) มาพิจารณาต่อยอดการศึกษาเครือข่ายชนชั้นนำไทยกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่แวดล้อมองค์พระมหากษัตริย์ อาทิ กลุ่มตุลาการ สิงห์ หมอ ตชด. ทหาร ฯลฯ เพื่อหนุนสร้าง “พระราชอำนาจนำ” ผู้เขียนได้ประโยชน์อย่างมากจากการประยุกต์ใช้งานของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ และวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ เป็นต้น
ไม่เพียงแต่กรอบคิดและวิธีวิทยาในการศึกษา ด้วยช่วงระยะเวลาที่นานถึง 4 ทศวรรษ การปะติดปะต่อภาพจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ชิ้นใหญ่เรื่องนี้ ผู้เขียนเป็นหนี้ต่องานวิชาการก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะกลุ่มงานประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการแบ่งยุคสมัยตามรัฐบาล-นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นงานอาจารย์ณัฐพล ใจจริง ที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลัง 2475 ถึงทศวรรษ 2500, งานอาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ที่ศึกษายุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, งานอาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด และอาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ที่ศึกษายุคจอมพลถนอม กิตติขจร, งานอาจารย์จันทนา ไชยนาเคนทร์ ศึกษายุคสัญญา ธรรมศักดิ์, งานอาจารย์ยศ สันตสมบัติ ที่ศึกษาธานินทร์ กรัยวิเชียร, งานของคุณกฤชติน สุขศิริ ศึกษายุค พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, งานอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ศึกษายุค พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ฯลฯ ขณะที่กลุ่มงานประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาและการเมืองวัฒนธรรม ผู้เขียนใช้งานของอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ และอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นอาทิ นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาอีกมากที่ไม่อาจกล่าวถึงได้หมดในที่นี้
แน่นอนว่าหนังสือเล่มหนึ่งย่อมมิได้เกิดขึ้นโดยผู้เขียนแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหนังสือนั้นมาจากวิทยานิพนธ์ ครูอาจารย์จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง อันดับแรกผู้เขียนขอขอบคุณ ศาสตราจารย์เกียรติคุณสายชล สัตยานุรักษ์ ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ “ครู” ผู้ที่ทุ่มเทเอาใจใส่เป็นอย่างมากในการอ่าน ตรวจแก้ และให้ความเห็นอย่างพิถีพิถัน ขณะเดียวกันก็ให้อิสระในการคิดวิเคราะห์ อาจารย์ยังให้โอกาสในการร่วมทำงานวิจัยต่างๆ ทั้งไถ่ถามทุกข์สุขแก่ตัวผู้เขียนด้วยความห่วงใยเสมอมา ขอขอบคุณศาสตราจารย์ ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ที่ปรึกษาร่วมและกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ “ป้ออุ๊ย” ผู้ชักชวนให้ผู้เขียนมาเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ และมีความเชื่อมั่นในผู้เขียนตลอดมา อาจารย์ยังเป็นผู้จุดประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง Informal Network กับ Formal Organization ที่ผู้เขียนใช้ยึดกุมเป็นแกนหนึ่งในการพล็อตโครงเรื่องในวันที่งานชิ้นนี้มีแต่กองข้อมูล ขอขอบคุณรองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล ที่รับเป็นที่ปรึกษาร่วม พร้อมกับข้อชี้แนะที่ทำให้งานชิ้นนี้มีความชัดเจนและรอบคอบขึ้น และขอขอบคุณอาจารย์ ดร. สิทธิเทพ เอกสิทธิพงศ์ กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ที่ให้ความเห็นอันเป็นประโยชน์หลายประการ
ผู้เขียนขอขอบคุณศาสตราจารย์ ดร. เกษียร เตชะพีระ ประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ในฐานะผู้สนับสนุนและผลักดันให้งานศึกษาชิ้นนี้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ทั้งการเขียนลงเฟซบุ๊กและ มติชนรายสัปดาห์ อาจารย์เกษียรรับเป็นผู้ร่วมเสวนาในงาน “รัฐศาสตร์หลากฉากทัศน์” ซึ่งเป็นครั้งแรกในการนำเสนอวิทยานิพนธ์นี้สู่สาธารณะ นับเป็นการ “เรียกแขก” อย่างแท้จริง ครั้นวิทยานิพนธ์นี้เปลี่ยนร่างแปลงกายเป็นหนังสือ อาจารย์ไม่เพียงรับเป็นผู้เขียน “คำนำเสนอ” แต่ยังเป็นผู้มีส่วนช่วยปรับแก้ต้นฉบับหนังสืออย่างเต็มใจแม้จะมีงานมากล้นมือก็ตาม ขอขอบคุณอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ที่ให้โอกาสผู้เขียนเข้าไปพูดคุย สอบทานความเห็นในเรื่องเก่าๆ ที่มีส่วนในการนำมาปรับปรุงแก้ไขเป็นหนังสืออีกด้วย ขอขอบคุณศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่ให้ผู้เขียนได้เข้าไปพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นตั้งแต่งานชิ้นนี้ยังเป็นวิทยานิพนธ์ และไถ่ถามถึงความก้าวหน้าเสมอ และขอขอบคุณรองศาสตราจารย์ ดร. กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ที่กรุณาส่งหลักฐานเอกสารสถานทูตอังกฤษ มาใช้สอบทานในการปรับแก้ต้นฉบับ
ผู้เขียนขอขอบคุณรองศาสตราจารย์ ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่เคยให้ความเห็นอันเป็นประโยชน์นับตั้งแต่งานชิ้นนี้ยังอยู่ในระหว่างการเป็นร่างวิทยานิพนธ์ ทั้งยังชักชวนให้นำเสนอในงาน “รัฐศาสตร์หลากฉากทัศน์” ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ยังให้โอกาสไปบรรยายในวิชาสัมมนาการเมืองการปกครองไทย เช่นกันผู้เขียนขอขอบคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. โดม ไกรปกรณ์ ที่ให้ความสนใจเชิญไปบรรยายให้กับนักศึกษาในวิชาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เขียนต้องสอบทานและแก้ไขความถูกต้องของข้อมูลซึ่งเป็นผลดีสำหรับขั้นตอนการปรับแก้เป็นหนังสือ ขอบคุณผู้ร่วมงานในสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่พัน วารุณี โอสถารมย์ ที่ร่วมพูดคุยให้ความเห็นเกี่ยวกับงานชิ้นนี้อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปี นอกจากนี้ ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี) ห้องสมุดรัฐสภา (เก่า) และห้องสมุดกองวิชาประวัติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทั้งหมดเป็นแหล่งข้อมูลที่ผู้เขียนเข้าไปใช้ประโยชน์ ฝังตัว และเขียนงาน
ขอบคุณสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยเฉพาะคุณธนาพล อิ๋วสกุล ที่ให้ความสนใจอ่าน ตรวจแก้ และผลักดันให้หนังสือเล่มนี้ซึ่ง “ขวาที่สุดที่ฟ้าเดียวกันเคยพิมพ์” เกิดขึ้นมาในบรรณพิภพ ขอบคุณคุณวิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ บรรณาธิการเล่ม ที่ดูแลจัดการต้นฉบับจากงานวิชาการอันรุงรังให้มีความกระชับน่าอ่านในรูปเล่มหนังสือ ขอบคุณคุณนฤมล กระจ่างดารารัตน์ ในการติดต่อประสานงานนับแต่แรกจนถึงขั้นตอนการจัดทำหนังสือ ขอบคุณคุณสังคม จิรชูสกุล คุณอัญชลี มณีโรจน์ ในการตรวจทานต้นฉบับหนังสือเล่มนี้
ท้ายสุดผู้เขียนขอขอบคุณบุคคลในครอบครัว พ่อและแม่ แม้ท่านจะมีจุดยืนทางความคิดที่แตกต่างกับผู้เขียนแต่ความรักความห่วงใยเป็นสิ่งที่อยู่เหนือพ้นการเมืองโลกวิสัย และสุดท้ายต้องขอขอบคุณภรรยาผู้อดทนอยู่เคียงข้างร่วมทุกข์สุขกับผู้เขียนมาโดยตลอด ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางวิชาการ
อาสา คำภา
ตุลาคม 2564
_____________________
[1] ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ปัญหาเรื่องการศึกษาสถาบันกษัตริย์,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 11, ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-กันยายน, 2556) : 87.
[2] ฟ้าเดียวกัน บางฉบับ เช่น “ปกโค้ก” กลับกลายเป็นหนังสือต้องห้ามจากบทสัมภาษณ์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนอนุรักษนิยมไทยคนสำคัญ มิใช่จากข้อเขียนของนักวิชาการฝ่ายซ้ายเสียด้วยซ้ำ
[3] ดู บทที่ 1 หัวข้อ ยุคทองของการศึกษาประเด็นสถาบันกษัตริย์
[4] ดูเพิ่มเติมใน คำนำเสนอ ของศาสตราจารย์ ดร. เกษียร เตชะพีระ
[5] ดู บทที่ 1 หัวข้อ ทศวรรษ 2550 กษัตริย์ศึกษากับปัญญาชนสยาม
[6] ผู้เขียนหยิบยืมมาจากคำของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล