Sale 50%

19-19 ภาพ ชีวิต และการต่อสู้ของคนเสื้อแดง

ปกแข็ง 225.00 บาทปกอ่อน 175.00 บาท

รหัส: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

บรรณาธิการ

อุเชนทร์เ ชียงเสน

จำนวนหน้า

252

ปีที่พิมพ์

2554

ISBN ปกอ่อน

9786169023883

ISBN ปกแข็ง

9786169023876

สารบัญ

คำนำสำนักพิมพ์

บทนำ

ภาพ ชีวิต และการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ศิโรตม์คล้ามไพบูลย์

ภาคหนึ่ง

กระแสธารเสรีชน ก่อร่างสร้างตน โต้เผด็จการ

กลุ่มอิสระผลิบาน ต้านรัฐประหารและผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ

แนวร่วมประชาธิปไตย ระดมพลโค่น คมช. โหวตล้มมรดกเผด็จการ

ภาคสอง

แดงสู้ เหลืองพาล ต้านรัฐประหารซ่อนรูป

ปะทะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ความจริงวันนี้สัญจร “แดง” ต้านรัฐประหารซ่อนรูป

ภาคสาม

ชูธงไพร่ ไล่อำมาตย์ ประกาศถึงฟ้า แดงทั้งแผ่นดิน

แดงทั้งแผ่นดิน สู้อำมาตย์และรัฐบาลสมุน

ฟื้นตัวหลังสงกรานต์เลือด

เปิดศึก “ไพร่-อำมาตย์” ทรราชย์ล้อมปราบกลางกรุง

ภาคผนวก

ลำดับเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 – 19 พฤษภาคม 2553

คำนำสำนักพิมพ์

ความคิดแรกเริ่มที่จะจัดทำหนังสือภาพ“คนเสื้อแดง” เกิดขึ้นไม่นานภายหลังเหตุการณ์“ล้อมปราบ” ใจกลางกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2553 เป้าประสงค์ส่วนหนึ่งคือ เพื่อช่วยระดมทุนสนับสนุนการดำเนินงานแสวงหาข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งของเหตุการณ์เดือน เม.ย. – พ.ค. 2553 ซึ่งจนถึงวันนี้ยังคงถูกควบคุมโดยฝ่าย ผู้กุมอำนาจรัฐและถูกครอบงำโดยสื่อมวลชนกระแสหลัก และส่วนหนึ่งก็เพื่อชำระบางสิ่งบางอย่างที่ติดค้าง กรีดฝังอยู่ในใจ ทั้งในฐานะประจักษ์พยานต่อ “ภาพ” ตรงหน้า ทั้งในฐานะผู้ร่วมชะตากรรม

ในฐานะผู้จัดพิมพ์ เราขออนุญาตไม่ระบุว่าผู้อ่านจะได้เห็นอะไร หรือจะได้อ่านอะไร อย่างเฉพาะเจาะจงจาก หนังสือเล่มนี้ คงเป็นการดีกว่าไม่น้อยหากจะปล่อยให้ภาพและตัวอักษรที่ปรากฏได้สนทนากับแววตาและ มุมมองของผู้อ่านเสียเอง

อย่างไรก็ดี มีคำเตือนที่จำต้องบอกกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วย กล่าวคือ เราขอไม่กล่าวอ้างว่าสารที่ปรากฏต่อสายตาของผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ล้วนเป็นกลาง บริสุทธิ์ ปราศจากความคิดความอ่านหรือความโน้มเอียงทางการเมืองใดๆ เจือปน ต่างจากที่ช่างภาพ นักเขียน ศิลปิน นักข่าว สื่อสันติภาพ ฯลฯ มักชอบประกาศเพื่อรับรองความดีความงามของผลงานและยกฐานะความชอบธรรมของตนท่ามกลางความขัดแย้งอย่างถึงรากของสังคมการเมืองไทย

อย่างน้อยที่สุด ผู้อ่านพึงตระหนักว่า รูปถ่ายแต่ละภาพไม่ได้สะท้อนความจริงสมบูรณ์ของแต่ละช่วงเหตุการณ์ นั้นๆ รูปถ่ายที่นำมารวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ ต่างมีตัวตน ทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด ตำแหน่งแห่งที่ และมุมมองของช่างภาพ ปรากฏอยู่ “ข้างหลังภาพ” ทั้งสิ้น รูปถ่ายเหล่านี้ยังได้ผ่านกระบวนการคัดสรร เรียบเรียง จัดวาง และใส่คำบรรยายเสียด้วยอีกชั้นหนึ่ง

นอกจากนี้ สำหรับผู้สนใจ“ชีวิต” และ “การต่อสู้” ของคนเสื้อแดง ภาพที่ท่านจะได้เห็นยังคงจำกัดอยู่เฉพาะ ในบางมิติด้วยข้อจำกัดของรูปถ่าย พื้นที่ เวลา และโครงเรื่องของหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่มีแกนกลางอยู่ที่ลำดับ การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ๆ ในกรุงเทพฯ ของคนเสื้อแดงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถึง 19พฤษภาคม 2553 เท่านั้น มีภาพ “ชีวิต” และ “การต่อสู้” ของคนเสื้อแดงอีกจำนวนมาก หลากหลายมิติที่เราควรได้เห็นและทำความเข้าใจ แต่ยังไม่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ อาทิเช่น ภาพการเคลื่อนไหวในพื้นที่ย่อยๆ ในชุมชน ในโลกอินเทอร์เน็ต ทั้งในเขตเมืองและชนบท ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ แตกต่างหลากหลายกันไป ภาพการใช้ชีวิตประจำวันของคนเสื้อแดง และภาพการต่อสู้ในชีวิตประจำวันของพวกเขาที่เชื่อมโยงหรือแม้กระทั่งขัดแย้งกับการต่อสู้ทางการเมืองระดับชาติ รวมถึงภาพชะตากรรมของมวลชนภายหลังศึกทางการเมืองแต่ละชั่วขณะยุติเสร็จสิ้นลง

สุดท้ายขอแจ้งว่า รายได้จากการขายหนังสือเล่มนี้จะมอบให้แก่ “ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก การสลายการชุมนุมกรณีเดือน เม.ย. พ.ค. 53 (ศปช.)”ฟ้าเดียวกันต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความ ช่วยเหลือจนสามารถจัดทำหนังสือ19 – 19: ภาพ ชีวิต และการต่อสู้ของคนเสื้อแดง จาก 19 กันยา 49 ถึง 19 พฤษภา 53 ออกมาได้สำเร็จ โดยเฉพาะคุณทรงวุฒิ พัฒนศิลาพร บรรณาธิการภาพและเจ้าของภาพถ่ายจำนวนมากในเล่มนี้ เช่นเดียวกับช่างภาพคนอื่นๆ ได้แก่ คุณนันทชัย สามะพุทธิ คุณธนวัฒน์ ลิมปนเทวินทร์ คุณปรเมศวร์ วงศ์สุรีย์ คุณมินทร์ฐิตา วงศ์สุวัฒน์ คุณกานต์ ทัศนภักดิ์ คุณอุเชนทร์ เชียงเสน คุณบัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล คุณกานต์ ยืนยง คุณคําเกิ่ง แห่งทุ่งหมาหลง คุณ 02392 เรดเอิร์ท คุณคิม ประชาไท คุณแจ็คสกายวอล์คเกอร์ คุณพระอินทร์ คุณดิว วโรดม คุณช่างภาพนิรนาม และคุณชิม คุณแมวอ้วนอ้วน คุณอาร์คแมน คุณหงส์ศาลาแดง จากไทยฟรีนิวส์ ซึ่งทั้งหมดมอบภาพถ่ายให้โดยไม่ถามถึงค่าตอบแทน รวมทั้งขอขอบคุณคุณศิโรตม์คล้ามไพบูลย์ สําหรับ“บทนำ” ของหนังสือ

บทนำ

ภาพ ชีวิต และการต่อสู้ของคนเสื้อแดง

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ถ้าใครสักคนเมายากล่อมประสาทหรือถูกเก้าอี้ฟาดสลบไปในวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 แล้วตื่นขึ้นหลังจากนั้นอีกสักสัปดาห์ ความรู้สึกที่เกิดกับเขาคงหนีไม่พ้นความซาบซึ้งในความรักสามัคคีของราษฎรแห่งสยามประเทศซึ่งส่งกลิ่นอบอวลเลือนกลิ่นเลือดและเปลวไฟได้สนิท สื่อมวลชนแทบทุกแขนงร่วมกันประโคมข่าวความร่วมมือกำจัดสิ่งโสโครกบางอย่างบนท้องถนน รัฐบาลอุดหนุนเงินหลายร้อยล้านให้พ่อค้า และห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง อดีตนายกฯ ในช่วงการรัฐประหารปี 2534 และ 2535 ร่วมกับราษฎรอาวุโสตั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้มีชื่อเสียงในสังคมเป็นกรรมการเพื่อปฏิรูปประเทศไทย เช่นเดียวกับเซเลบริตีจากทุกวงการ ร้องเพลงและเขียนบทกวีให้คนไทยรักกันไม่มีเปลี่ยนแปลง เรื่องเดียวที่รบกวนจิตใจเขาได้แก่เสียงซุบซิบถึงความจริงวันนี้อีกแบบจากคนเดินตรอก แม่บ้านในสำนักงาน คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หนังสือพิมพ์นอกกระแส เว็บไซต์ประชาไท และสำนักข่าวต่างประเทศ ที่พูดถึงการลอบฆ่าประชาชนโดยรัฐ การไล่ล่าการจับกุมคุมขังโดยปราศจากมูลความผิด การปกครองภายใต้กฎหมายที่ให้รัฐบาลมีอำนาจล้นฟ้า การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทั้งทางตรงและทางอ้อม ฯลฯ ซึ่งแสดงถึงการแบ่งขั้วทางการเมืองที่รุนแรงถึงขั้นฝ่ายหนึ่งฆ่าอีกฝ่ายโดยไม่มีแม้แต่ความรู้สึกผิดทางศีลธรรม

แน่นอนว่าเสียงที่ขัดความซาบซึ้งแบบนี้เป็นผลของการรับรู้ข้อเท็จจริงเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ต่างกัน จนในที่สุดนำไปสู่ความรู้สึกนึกคิดต่อเหตุการณ์นี้ไม่เหมือนกันด้วย ข้อเท็จจริงฝั่งแรกเห็นเรื่องเพลิงไหม้และชายชุดดำ จนมองรัฐเป็นอำนาจบริสุทธิ์ซึ่งราษฎรมีหน้าที่รับสนองจุดหมายที่รัฐตั้งไว้บางอย่าง ข้อเท็จจริงฝั่งหลังเห็นรัฐฆ่าพลเมือง จนเป็นอมนุษย์ชุ่มเลือดจากหัวจรดเท้า ถึงขั้นที่พลเมืองประชาธิปไตยต้องไม่ยอมรับอีกต่อไป ประเด็นสำคัญคือการรับรู้ข้อเท็จจริงไม่ใช่เรื่องตายตัวที่เปลี่ยนไม่ได้การปะทะของข้อเท็จจริงที่ยิ่งนานก็ยิ่งชี้ไปแบบหลังนั้นหมายถึงความอิหลักอิเหลื่อว่าจะมีความคิดรวบยอดต่อเหตุการณ์นี้อย่างไร ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างการรับรู้ข้อเท็จจริงในอดีต-ความรู้สึกนึกคิดต่อปัจจุบัน-ทรรศนะต่ออนาคต คือไตรลักษณะของความกระอักกระอ่วนและไม่ลงรอยในระดับบุคคลและสังคม

ในบทความเรื่อง “มรณสักขีสันติสยาม : สุนทรียะขัดขืนสู่พหุภพหลังความตายเดือนพฤษภา” (ในRed Why: สังคมไทย ปัญหา และการมาของคนเสื้อแดง, กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊กส์, 2553) ข้าพเจ้าให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการพิจารณาการควบคุมความรู้สึกของเอกบุคคลหลังการสลายการชุมนุมปี 2553 และการขัดขืนลักษณะต่างๆ ซึ่งการบรรจบกันของการควบคุมกับการขัดขืนส่งผลให้เกิดสภาวะของการไม่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ที่ทุกฝ่ายเข้าใจได้ (intelligible history) และในที่สุด นำไปสู่ความเป็นสังคมพหุภพที่แต่ละคนรับรู้เหตุการณ์เดียวกันแตกต่างกัน ประเด็นคือความแตกต่างนี้อาจเป็นหรือไม่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำการเมืองต่อปัจจุบันและอนาคตที่แตกต่างกันก็ได้ โดยหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญต่อการแปรการรับรู้เป็นการกระทำนั้น ได้แก่ การสร้างความทรงจำรวมหมู่ผ่านกระบวนการหลายอย่าง ซึ่งจากประสบการณ์ของสังคมไทยในเดือนพฤษภาคม 2535 การล้อมปราบกรณีกรือเซะเดือนเมษายน 2547 และการสังหารหมู่ที่ตากใบในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน สภาพนี้หมายถึงระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่กินเวลาอีกพักใหญ่กว่าความทรงจำรวมหมู่ที่ฝ่ายหนึ่งเข้าใจร่วมกันได้จะบังเกิดขึ้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึงความเป็นไปได้ยากมากที่จะสร้างความทรงจำที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน

อย่างไรก็ดี ความทรงจำรวมหมู่ไม่ได้นำไปสู่การกระทำทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข ความทรงจำรวมหมู่บางแบบสำคัญ แต่ไม่ทำให้เกิดการกระทำทางการเมือง เช่น ความทรงจำกรณีสองคอน ความทรงจำกรณีผีบุญ หรือความทรงจำกรณีตันหยงลิมอร์ ความทรงจำรวมหมู่บางแบบเป็นเหตุของการกระทำทางการเมืองในอดีต แต่เสื่อมพลังในปัจจุบัน เช่น ความทรงจำกรณีถังแดง ความทรงจำกรณีตากใบ ความทรงจำกรณีนาทราย ความทรงจำบางแบบเสถียรและมั่นคงจนเป็นสถาบัน เป็นวิถีชีวิต ถึงขั้นทำหน้าที่วางกรอบความเข้าใจของเราต่อการอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ด้วยซ้ำ เช่น ความทรงจำกรณีชิต-บุศย์-เฉลียว ความทรงจำกรณี 6 ตุลา 219 ความทรงจำบางแบบแทบไม่มีใครจดจำได้อีกแล้ว แต่จู่ๆ ก็เกิดใหม่ในบริบทที่แตกต่างจากเดิมมหาศาล เช่น ความทรงจำกรณีนาบัว ในแง่นี้แล้ว ความทรงจำคือการนำเสนออดีตที่ทำลายระยะห่างของเวลาเพื่อทำอดีตให้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบัน ความทรงจำจึงไม่ใช่อดีตที่เคยเกิดอย่างสมบูรณ์-ถ้าเราเชื่อว่ามีอดีตแบบนั้น-แต่ความทรงจำรวมหมู่คือการตัดแต่งอดีตให้อยู่ภายใต้ความต่อเนื่องร่วมกันที่เรียกอย่างหลวมๆง่ายๆ ว่า อัตลักษณ์ ความทรงจำในความหมายนี้ หมายถึง การจดจำ การหลงลืม และการหวนรำลึกซึ่งเป็นแกนทำให้คนกลุ่มหนึ่งตระหนักว่าตัวเองมีลักษณะร่วมกันอย่างไร ต่างจากกลุ่มอื่นในแง่ไหน รวมทั้งเป็นฐานของการทำอะไรบางอย่างร่วมกัน ในแง่นี้ การทำเวลาให้เป็น “เวลา” หรือกล่าวอีกนัยคือการให้ความหมายกับเวลานั้นเป็นฐานสำคัญของความสัมพันธ์ทางสังคม

ความสัมพันธ์ระหว่างความทรงจำกับอัตลักษณ์สำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างความทรงจำกับการเมือง ความทรงจำในมิตินี้เป็นได้ทั้งฐานของการเมืองแบบคลั่งประเพณีโบราณจากอดีต เป็นอาวุธเพื่อการปลดปล่อยสู่อนาคต เป็นประตูแห่งการยอมรับเสียงจากผู้ถูกปิดกั้นหรือละเมิดด้วยวิธีต่างๆ ความทรงจำมีส่วนทำให้การต่อสู้ทางการเมืองมีรูปแบบที่เป็นไปได้ทั้งความโหดร้าย การลุกฮือ การประนีประนอม การสมานฉันท์ การจลาจล การปฏิวัติ หรือการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ความทรงจำแพร่กระจายในชีวิตประจำวันผ่านชื่อถนน ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ สถาบันทางสังคม กฎหมาย คำบอกเล่า หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ต กราฟฟิตี้ แสตมป์ อาคาร พิพิธภัณฑ์ ละครโทรทัศน์ ฝาผนังห้องน้ำ เครือข่ายสังคมออนไลน์ เรื่องซุบซิบ ฯลฯ ความทรงจำสร้าง lives-in-common คู่ขนานกับสร้างกรอบการตระหนักรู้ว่าอะไรคือทางเลือกที่เป็นไปได้ที่มีอยู่ในสังคมการเมืองหนึ่งๆ ซึ่งในที่สุดแล้ว ก็อาจกลับมาเป็นกรอบกำกับตัวความทรงจำเองในภายหลังก็ได้ ตัวอย่างเช่น ความทรงจำกรณีฮัจญี่สุหลงแนบแน่นกับอัตลักษณ์และการเมืองของ มลายูมุสลิมสามจังหวัดภาคใต้จนการขยายพรมแดนความทรงจำไปนอกกรอบนี้เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ ความทรงจำกรณีสวรรคต ความทรงจำเรื่องไทย-ญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง หรือความทรงจำเดือนพฤษภา 2535 ก็มีลักษณะนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

หนังสือรวมภาพถ่ายเหตุการณ์จาก 19 กันยายน 2549 ถึง 19 พฤษภาคม 2553 เป็นการนำเสนอความทรงจำเรื่องการต่อสู้ของประชาชนหลายกลุ่มหลายเหล่าหลังรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งในที่สุดผสานกันเป็นขบวนการทางการเมืองที่ใหญ่โตที่สุดแต่ก็ถูกปราบปรามหนักหน่วงและต่อเนื่องที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังการล้มล้างระบอบอภิชนาธิปไตยเหนือกฎหมายเพื่อสร้างระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แน่นอนว่าภาพทั้งหมดถูกถ่ายโดยมุมมองของช่างภาพอิสระหลายต่อหลายท่านซึ่งส่วนใหญ่ยืนอยู่ฝั่งต้านระบอบการเมืองหลังรัฐประหาร 2549 มาตั้งแต่ต้น ขบวนการต่อต้านนี้เริ่มต้นจากการชุมนุมแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารครั้งนั้น แล้วค่อยๆ ยกระดับเป็นการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 การต่อต้านขบวนการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นนอมินีสำคัญในปี 2551การชุมนุมให้ประธานองคมนตรีและองคมนตรี 2 ราย ลาออกจากตำแหน่งในเดือน เมษายน 2552 รวมทั้งการชุมนุมให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ยุบสภาในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ก่อนที่หลายคนจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับหรือกลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต โดยรัฐบาลและผู้อยู่นอกรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามไม่เคยขอโทษหรือแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองในรูปแบบใดๆ

เมื่อพลิกหนังสือเล่มนี้ต่อไป สิ่งที่ผู้อ่านจะได้เห็นคือการต่อสู้ของประชาชนจำนวนมหาศาลในปี 2553 มีจุดเริ่มต้นหนึ่งจากการต่อต้านรัฐประหารอย่างทุลักทุเลของคนหยิบมือเดียวด้วยเครื่องมือที่แสนจำกัดจำเขี่ย ผู้ก่อการส่วนหนึ่งเป็นนักกิจกรรมทางสังคมหรือปัญญาชนที่ไม่ได้มีฐานะเป็นกระแสหลักของปัญญาชนไทยในเวลานั้น ผู้ก่อการอีกส่วนคือสามัญชนที่ไม่มีชื่อเสียงและไม่เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมไทยมาก่อน ที่ควรระบุคือ การไม่ปรากฏภาพของนักการเมืองหรือผู้นำสังคมเข้าร่วมกระบวนการนี้แม้แต่นิดเดียว การรวมกลุ่มในช่วงนี้เป็นเรื่องของ “คนเล็กคนน้อย” ที่จัดตั้งตัวเองเป็นกลุ่มย่อยๆ อย่างเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ กลุ่มพิราบขาว 2006 กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ กลุ่มกรรมกรปฏิรูป สมาพันธ์ประชาธิปไตย พรรคแนวร่วมภาคประชาชน กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย ฯลฯ เพื่อทำการเคลื่อนไหวอย่างเป็นไปเองโดยไม่มีแกนนำหรืออุดมการณ์ทางการเมืองใดเป็นแกนกลางอย่างชัดแจ้ง ภาพในหนังสือเล่มนี้แสดงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของผู้ก่อการเหล่านี้ นอกจากนั้น ภาพยังเตือนให้เห็นความจำเป็นในการทำความเข้าใจการสื่อสารและยุทธวิธีระดมความร่วมมือภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดและสภาพทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นคือการชวนให้คิดถึงบุคลิกพื้นฐานของคนกลุ่มนี้ ซึ่งในที่สุดจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการก่อตัวของคนเสื้อแดงในเขตเมือง

คำถามที่ควรพิจารณาคือนักการเมืองและพรรคการเมืองฝั่งที่ถูกรัฐประหารมีท่าทีต่อปฏิบัติการเหล่านี้อย่างไร? คำตอบคือชนชั้นนำทางการเมืองฝั่งนี้แสดงท่าทีในเรื่องนี้โดยเปิดเผยเมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทยในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 จนมีบทบาทถึงขั้นเป็นตัวแปรหลักในการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก่อนที่บางส่วนจะแปรสภาพเป็นแกนนำการชุมนุมใหญ่แทบทุกครั้ง หลังจากนั้นเป็นต้นมา อย่างไรก็ดี การนำทางการเมืองที่ชัดเจนนั้นไม่ได้หมายถึงการมีการนำที่เป็นเอกภาพทันที ประเด็นนี้ยังนำไปสู่โจทย์สองข้อซึ่งแนบแน่นกับความเคลื่อนไหวของคนฝ่ายนี้หลังจากนั้นโจทย์ข้อแรก คือ ดุลระหว่างความจำเป็นต้องแสดงตัวในพื้นที่สาธารณะในฐานะขบวนการการเมืองที่มีความเป็นอิสระกับความเป็นจริงที่นักการเมืองและพรรคการเมืองมีบทบาทนำ ส่วนโจทย์ข้อที่สอง คือ ดุลระหว่างการ ต่อสู้ทางอุดมการณ์ซึ่งผู้เคลื่อนไหวหลายฝ่ายโน้มเอียงจะมีลักษณะถึงรากถึงโคนขึ้นเรื่อยๆ กับการต่อสู้ในระบบการเมืองซึ่งพรรคถูกกำกับโดยกรอบกฎหมายและความคาดหวังของสังคม การบรรจบกันของปัญหาทั้งสองข้อส่งผลให้นายกฯ ทักษิณและนักการเมืองฝั่งไทยรักไทยเป็นจุดแข็งที่สร้างผลข้างเคียงบางอย่าง ดังนั้น ความสามารถสร้างวาทกรรมสาธารณะที่ก้าวข้ามประเด็นนี้ได้เป็นเรื่องที่ทั้งสำคัญและจำเป็น

ความน่าสนใจของหนังสือภาพอีกข้อคือ การแสดงพัฒนาการของการประกอบสร้าง “สีแดง” ในฐานะอัตลักษณ์รวมหมู่ทางการเมือง ผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารในยุคต้นมีสีเสื้อที่หลากหลาย ส่วนผู้อ่านที่ช่างสังเกตย่อมเห็นว่าแม้แต่ในการชุมนุมหน้าบ้านประธานองคมนตรีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ก็มีแกนนำและผู้ชุมนุมหลายรายใส่เสื้อเหลืองพร้อมข้อความบางอย่างในเวลาเดียวกัน การสร้างอัตลักษณ์แบบนี้สำคัญเมื่อคำนึงว่าคนเข้าร่วมขบวนการโดยเหตุที่หลากหลายตั้งแต่ความภักดีทางการเมืองต่อตัวบุคคลอย่างนายกฯ ทักษิณและพรรคไทยรักไทย หลักการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยอย่างนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง และทหารต้องไม่แทรกแซงการเมือง ความไม่พอใจบทบาทขององคมนตรี ศาล และบุคคลใกล้ชิดในช่วงก่อน และหลังรัฐประหาร ตลอดจนความเชื่อในเรื่องที่พูดเปิดเผยไม่ได้ซึ่งถูกพูดโดยวิธีต่างๆ ความเป็นคนเสื้อแดง โดยเบื้องต้นจึงเป็นปฏิกิริยาต่อต้านเสื้อเหลือง ซึ่งในที่สุดยกระดับเป็นความไม่พอใจต่อพลังที่อยู่เบื้องหลังพันธมิตรฯ ทั้งหมด จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพในหนังสือจะแสดงให้เห็นว่าเสื้อแดงมี “ศัตรู” จำนวนมหาศาลตั้งแต่กองทัพ กรรมการองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้งของ คมช. พรรคประชาธิปัตย์ เอเอสทีวี ธนาคารกรุงเทพ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มสหพัฒน์ฯ พันธมิตรฯ เครือข่ายอธิการบดี สื่อมวลชนกระแสหลัก หมอประเวศ เอ็นจีโออำมาตย์ ผู้นำแรงงานของปลอม นักสิทธิมนุษยชนเลือกข้าง ฯลฯ

กล่าวในแง่นี้แล้ว ปฏิบัติการสวมเสื้อแดงเป็นการต่อสู้ทางสัญลักษณ์ซึ่งมีนัยของการต่อต้านทางอุดมการณ์มาตั้งแต่ต้น แต่ก็ยังสรุปได้ไม่ง่ายว่าแกนกลางของอุดมการณ์แดงและระดับของการต่อต้านอุดมการณ์หลักนี้คืออะไร ตัวอย่างเช่น คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ใช้ภาษาฝ่ายชายอย่าง “ชนชั้น” หรือ “ไพร่” ในปฏิบัติการทางวาทกรรมเพื่อต่อต้าน“อำมาตย์” แต่กลับไม่ค่อยปรากฏการตั้งคำถามกับระบบทุนนิยม หรือกล่าวถึงปัญหาอย่างช่องว่างทางเศรษฐกิจและความไม่เท่าเทียมทางสังคม อันที่จริงควรระบุด้วยว่าคนเสื้อแดงทุ่มเท พลังงานไปที่การต่อต้านศัตรูมากกว่าการมีข้อเสนอทางเศรษฐกิจสังคมที่เด่นชัด แต่น่าสังเกตด้วยเช่นกันว่า บุคลิกการต่อต้านอุดมการณ์หลักของฝ่ายแดงก็มีความกำกวมระหว่างการแสดงความไม่พอใจเฉย ๆ การประท้วง ความต้องการลงโทษบุคคลบางคน หรือการมีวิสัยทัศน์เพื่อความเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันทั้งหมด ความกระจ่างแจ้งเรื่องนี้สำคัญถ้าถือว่าอุดมการณ์คือแกนกลางในการก่อตัวของความเป็นเสื้อแดง แต่ถ้าถือว่าความเป็นเสื้อแดงเป็นปฏิกิริยาตอบโต้พลังฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยในความหมายกว้างๆ การตอบคำถามนี้ก็ไม่มีความจำเป็น

หนังสือเล่มนี้แสดงสภาพการเมืองหลังรัฐประหาร2549 ในฐานะระบอบแห่งความรุนแรงที่ทำให้คนจำนวน มากตาย บาดเจ็บ พิการ ถูกจับกุม หรือสูญหาย เรากำลังพูดถึงนวมทอง ไพรวัลย์ ผู้ฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้อง ประชาธิปไตย ณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง ที่ถูกคนใส่เสื้อเหลืองรุมฆ่าโดยถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีใครมีความผิด ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เหวง โตจิราการ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ วิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ก่อแก้ว พิกุลทอง ขวัญชัย ไพรพนา มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ สมยศ พฤกษาเกษมสุข สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือวีระ มุสิกพงศ์ ที่ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว และบางส่วนได้รับการประกันตัวในภายหลัง ทักษิณ ชินวัตร สุชาติ นาคบางไทร วิสา คัญทัพ อดิศร เพียงเกษ จักรภพ เพ็ญแข จรัล ดิษฐาอภิชัยใจ อึ้งภากรณ์ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ที่หลบหนีการถูกดำเนินคดีซึ่งมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และขณะนี้บางคนก็ยังคงหลบหนีอยู่ เรากำลังพูดถึงคนอย่าง สมาพันธ์ ศรีเทพ สุพจน์ ยะทิมา อัครเดช ขันแก้ว และอีกหลายสิบคนที่ฆาตกรบนราชดำเนินและราชประสงค์พรากสิทธิของพวกเขาในการอยู่บนโลกใบนี้เพื่อคนที่พวกเขารัก คนอย่างอมรวัลย์ เจริญกิจ บุญเลิศ มะนาวหวาน สมพล แวงประเสริฐ และคนอีกนับร้อยคนที่ถูกจับเพราะขายรองเท้า ขนข้าวกล่อง และไม่เข้าใจว่ารัฐบาลมีคำสั่งฆ่าหรือจับกุมประชาชนทุกคนที่อยู่บนถนนบางสาย ไข่เขย จันทร์เปล่ง ถูกจับ ข้อหาพยายามทำลายสถานที่ราชการด้วยหลักฐานซึ่งมีแค่ภาพตู้โทรศัพท์และต้นมะขามถูกเผา กฤษฎา กล้าหาญ ถูกยิงเสียชีวิตที่เชียงใหม่เมื่อการชุมนุมยุติลงแล้ว ทรงศักดิ์ ศรีหนองบัว ถูกยิงหน้าบ้านรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยที่ขอนแก่น ศักดิ์ระพี พรหมชาติ ถูกตัดสินจำคุก 8 เดือนด้วยข้อหากีดขวางทางจราจร มงคล เข็มทอง กมลเกด อัคฮาด และอัครเดช ขันแก้ว ถูกยิงขณะเสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วยผู้คนในเขตอภัยทาน ฯลฯ ที่คงใช้พื้นที่อีกมากกว่าจะกล่าวถึงได้อย่างครบถ้วนและละเอียดลออ

ขณะที่ความสูญเสียทุกรูปแบบเป็นหลักฐานว่าระบอบการปกครองปัจจุบันทำงานบนตรรกะของการควบแน่น ระหว่างกฎหมาย-ความรุนแรง-ความอยุติธรรม ยุทธวิธีที่คนเสื้อแดงทำเพื่อตอบโต้กลับสภาพเช่นนี้ ได้แก่ ความพยายามต่อสู้ด้วยวิธีสันติรูปแบบต่างๆ ที่เป็นไปได้ภายใต้กรอบการเมืองและกฎหมายเวลานั้น ตั้งแต่ การชุมนุม การเดินขบวน การลงประชามติ การเลือกตั้ง การปิดถนน หรือแม้แต่การถวายฎีกา พิธีกรรมโบราณและสถานที่ทางประวัติศาสตร์หลายแห่งถูกทำให้มีสถานะไม่ต่างจากสนามหลวง อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินและอนุสาวรีย์ปราบกบฏพระองค์เจ้าบวรเดชกลายเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ทางการเมืองพื้นที่ใหม่ อย่างที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน เทคโนโลยีในการต่อสู้มีทั้งการใช้โทรโข่งหรือเมกะโฟนตัวเดียวปราศรัย กลางสนามหลวงไปจนถึงการสร้างวิทยุชุมชนและเว็บไซต์ การสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับสื่อสารกันเอง เกิดขึ้นผ่านหนังสือพิมพ์ จดหมายข่าว และนิตยสารการเมืองหลายต่อหลายฉบับ ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การสร้างสรรค์การต่อสู้เชิงสัญญะเพื่ออภิปรายเรื่องที่โดยครรลองของการเมืองและกฎหมายในปัจจุบันแล้วพูดได้ยาก ยุทธวิธีที่ปริ่มต่อการละเมิดกฎหมายและบรรทัดฐานบ้านเมืองอย่างการเผายาง การสร้างด่านบริเวณแยกศาลาแดง ฯลฯ ไม่ใช่ลักษณะทั่วไป แต่เป็นปรากฏการณ์เฉพาะกรณีที่มักเกิดขึ้นตามสภาพความจำเป็น และในสถานการณ์ที่การต่อสู้ทางการเมืองแบบปกติแทบทำงานไม่ได้แล้ว หรือไม่อย่างนั้นก็คือการจงใจผิดกฎหมายเพื่อเชิดชูหลักการบางอย่างที่อยู่เหนือตัวบทกฎหมาย เช่น หลักสิทธิเสรีภาพ หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน

ภาพถ่ายไม่ใช่การบันทึกอดีต ภาพถ่ายจับบางจังหวะของชีวิตจากอดีตเฉพาะมุมที่ช่างภาพสนใจ ภาพถ่าย เล่าเหตุและผลของอดีตไม่ได้ แต่ภาพซึ่งรวมศูนย์ที่ความขัดแย้งและความซับซ้อนของเหตุการณ์นั้นช่วยให้เห็นบริบทของอดีตได้พอสมควร ภาพในฐานะภาษาไม่มีความหมายในระดับลึกสุดตายตัวโดยตัวเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ดูจะสอดใส่ความหมายให้ภาพได้ตามอำเภอใจทั้งหมด ความตึงเครียดระหว่างความสามารถแปลความหมายกับความเป็นไปไม่ได้อย่างยิ่งยวดที่จะเข้าถึงความหมายมูลฐานเป็นเรื่องขึ้นต่อกรอบใหญ่สองข้อ กรอบแรกคือประวัติศาสตร์ นั่นคือตรรกะในการให้ความหมายโดยจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของภาพลงในความเชื่อเกี่ยวกับอดีตชุดต่างๆ อันเป็นสถานการณ์ที่เชื่อว่าภาพนั้นบังเกิดขึ้น กรอบที่สองคือสังคม เพราะการให้ความหมายสัมพันธ์กับกรอบความเข้าใจในชุมชนภาษาซึ่งกำกับความเป็นไปได้ในการสื่อสารความหมาย สัมพันธภาพของการปรุงความหมายผ่านตรรกะทางประวัติศาสตร์และสังคมคือระบอบความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับสุนทรียศาสตร์ที่กำหนดความสามารถในการ“เห็น” และ “ได้ยิน” ภาพและเสียงต่างๆ ภาพถ่ายในฐานะปฏิบัติการเชิงสุนทรียศาสตร์การเมืองคือภาพถ่ายที่ทำงานในระดับประสบการณ์อันทำให้เกิดแบบแผนความรับรู้ที่เอื้อต่อตัวตนทางการเมืองแบบใหม่ ภาพจำนวนมากในหนังสือเล่มนี้มีคุณลักษณะนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ

ภาพในหนังสือเล่มนี้เผยให้เห็นความเคลื่อนไหวสีแดงด้านที่เป็นการต่อสู้แบบเป็นไปเอง ซึ่งปฏิเสธการนำแบบเบ็ดเสร็จทั้งโดยโครงสร้างและยุทธศาสตร์ บุคลิกของความเคลื่อนไหวส่วนนี้มีความเป็นอนาธิปไตยคู่ขนานกับการมีความคิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เราจะเห็นลักษณะนี้มากขึ้นหากคำนึงถึงภาพที่ไม่ปรากฏในหนังสือแต่สำคัญต่อการก่อตัวของคนเสื้อแดงอย่างการต่อสู้ระดับปัจเจกของนักรบไซเบอร์และปัญญาชนในโลกซึ่งมองไม่เห็นแต่มีพลังอย่างเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์หลายแห่ง การชุมนุมขนาดเล็กและใหญ่ในจังหวัดหัวเมืองอย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี สุรินทร์ และจังหวัดอื่นอีกนับไม่ถ้วน การจัดตั้งความคิดผ่านกิจกรรมการพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการจนถึงรูปแบบของโรงเรียนการเมืองอย่างต่อเนื่อง การซุบซิบพูดคุยแบบปากต่อปากหรือการเผยแพร่แผ่นซีดีในชุมชน การระดมทรัพยากรและความสนับสนุนทางการเมืองก่อนการชุมนุมใหญ่ทุกครั้ง การต่อต้านของผู้คนหลายพื้นที่เมื่อเกิดการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ในปี 2552 และโดยเฉพาะหลังการปราบปรามปี 2553 ฯลฯ หากถักทอภาพทั้งหมดนี้เข้าด้วยกันก็จะเห็นศักยภาพของขบวนการที่รอให้ใครก็ตามค้นพบเพื่อพัฒนาเป็นพลังทางการเมืองสู่อนาคต

ข่าวดีสำหรับคนเสื้อแดงคือ สภาพแบบนี้ทำให้ในที่สุดแล้วรัฐจะล้มเหลวในการยุติพลังนี้ด้วยวิธีการจับกุมแกนนำอย่างที่เคยกระทำกับขบวนการต่อต้านผู้มีอำนาจในอดีต ข่าวร้ายคือ ความไม่สามารถพัฒนาการนำที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นฐานข้อนี้ย่อมมีผลต่อการฟื้นฟูขบวนการเคลื่อนไหวในระยะยาว

แม้หนังสือเล่มนี้จะครอบคลุมความเคลื่อนไหวถึงแค่การล้อมปราบที่ราชประสงค์ในเดือนพฤษภาคม 2553 แต่สารของภาพทั้งหมดฉายให้เห็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยซึ่งการเดินหน้าสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่จบ การต่อสู้ที่ราชดำเนินและราชประสงค์เป็นหลักหมายสำคัญบนเส้นทางที่คนจำนวนมากแสดงให้เห็นความกล้าหาญ ความริเริ่มสร้างสรรค์ การประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือในการต่อสู้ใหม่ๆ การสร้างวาทกรรมต่อต้านผ่านสื่อสมัยใหม่ด้วยตัวเอง วิริยภาพของพลเมืองผู้รักและหวงแหนประชาธิปไตยแบบนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากผู้มีอำนาจที่กลัวการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นใช้กำลังไล่ล่าฆ่าฟันคนฝ่ายที่โดยเบื้องต้นนั้นคิดถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างน้อยมาก จริงอยู่ว่าชนชั้นนำฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยคล้ายมีชัยในการฉุดกระชากสังคมไทยให้ถอยหลังไปศตวรรษที่แล้ว แต่ก็เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวมากที่จะประเมินการเคลื่อนไหว 2553 ในฐานะความล้มเหลวของการลุกขึ้นสู้โดยสันติวิธี อันที่จริงสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2553 คืออาการของสังคมที่ล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติแม้ในเวลาที่มวลชนส่วนใหญ่ท้าทายระบอบแห่งความรุนแรงเต็มรูปแบบแล้วต่างหาก การปะทะและการตอบโต้ในปี 2553 เป็นร่องรอยของรอยแยกระหว่างมวลชนกับระบอบอันเป็นตัวแปรซึ่งจะผลักชนชั้นนำฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยสู่สถานการณ์ที่พวกเขามีทางเลือกแบบที่ไม่ใช่อำนาจนิยมน้อยมาก ประเด็นคือการพึ่งพิงทหารนั้นสุ่มเสี่ยงกับการเกิดลัทธิโบนาปาร์ตซึ่งในประวัติศาสตร์แล้วเป็นอันตรายต่อคนกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่าประชาธิปไตยรัฐสภา ขบวนการสาธารณรัฐนิยม หรือการปฏิวัติมวลชน ไม่มีเหตุผลทางโครงสร้างอะไรเลยที่ทำให้ฝ่ายอำนาจนิยมในกองทัพต้องมั่นคงกับฝ่ายราชอนุรักษนิยมในปัจจุบันตลอดไป

อะไรทำให้การต่อต้านรัฐประหารพัฒนาเป็นการลุกขึ้นสู้ในเมือง? ความผิดสมัยและแข็งทื่อตายตัวของระบอบปฏิเสธประชาธิปไตยหลังปี 2553 สร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ ซึ่งในบริบทของความคาดหวังทางสังคมที่เปลี่ยนไป โครงสร้างอำนาจที่กระจายตัวขึ้นและการเกิดคนกลุ่มสำคัญทางเศรษฐกิจกลุ่มใหม่ ๆ คือฐานของสามัญสำนึกแบบใหม่ที่เห็นว่าระบอบการเมืองเป็นเพียงความสัมพันธ์ทางสังคมที่สามารถทำลายเพื่อสร้างความสัมพันธ์ชุดอื่นแทนที่ได้ ในแง่นี้แล้ว การลุกขึ้นสู้ในปี 2553 คือเหตุการณ์สำคัญในสังคมไทยร่วมสมัย เพราะเป็นห้วงเวลาที่คนธรรมดาตั้งแต่พระสงฆ์ นักศึกษา คนชั้นกลาง ข้าราชการเกษียณอายุ ชาวนาย่อย คนจนเมือง ชิปปิ้ง พิธีกรโทรทัศน์ พนักงานรับส่งเอกสาร พ่อค้าไก่ทอด ฯลฯ เปลี่ยนตัวเองเป็นพลเมืองผู้กล้าสู้แม้ในเวลาที่รู้ว่าเผชิญกับกองกำลังติดอาวุธของรัฐเต็มรูปแบบ ยิ่งกว่านั้นคือ การสู้ต่อแม้ในยามที่เห็นแล้วว่าอีกฝ่ายทำได้ถึงขั้นยิ่งคนทิ้งเหมือนหมากลางถนน เหตุการณ์นี้แสดงพลังซึ่งมีลักษณะจัดตั้งตัวเองข้ามการขัดขวางของรัฐโดยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ฉวยใช้ได้ทั้งหมด การต่อสู้แบบนี้ทำงานบนความกล้าหาญและความรุ่มรวยทางจินตนาการของมวลชนและคนชั้นชนต่างๆ ซึ่งอีกนัยหนึ่งหมายถึงช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นระหว่างระบอบการเมืองขณะนี้กับความคาดหวังที่มวลชนมีต่อปัจจุบันและอนาคต

ปี 2553 มีด้านที่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางการเมืองในความหมายปกติ ในแง่หนึ่งมันคล้ายความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือพม่า ที่เกิดการปะทะระหว่างระบอบที่มีลักษณะกดขี่กับการต่อต้านของฝ่ายที่ถูกกดทับ แต่ในอีกแง่ก็เป็นคำประกาศของไวยากรณ์การคิดเรื่องการเมืองชุดใหม่ในสังคม ซึ่งความหมายและภาษาการเมืองที่ลงหลักปักรากอยู่เดิมนั้นเริ่มสั่นคลอน จริงอยู่ว่าโวหารของการต่อสู้ในปี2553 วนเวียนอยู่กับการประท้วง การปิดถนน การชุมนุม และการลุกขึ้นสู้ในเมือง แต่ความเปลี่ยนแปลงทาง ความคิดของคนจำนวนมหาศาลทั้งในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์นั้นมีมากและกว้างขวางจนสรุปได้ยากว่า สามัญสำนึกทางการเมืองแบบใหม่มีจุดหมายสุดท้ายที่ไหน

ความรวดเร็วอย่างเหลือเชื่อของความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้นักประวัติศาสตร์เขียนเหตุการณ์นี้ในฐานะจุดหักเหที่ผลักยุคสมัยปฏิกิริยาให้เดินไปสู่ผลซึ่งย้อนแย้งที่สุด ความกล้าหาญท่ามกลางการถูกปราบใหญ่สองครั้งในปี 2553 ทำให้คนไม่น้อยเห็นว่าปัญหาใจกลางของการเมืองไทยไม่ใช่มีแค่การออกแบบระบอบการเมืองโดยไม่คำนึงถึงคนส่วนใหญ่ แต่คือสภาวะที่ความสัมพันธ์ทางการเมืองดำรงอยู่บนระเบียบเหนือระบอบซึ่งระเบียบนั้นกลับกลายเป็นกลไกแบ่งแยกชุมชนการเมืองเป็นฝ่ายต่างๆ ที่โดยเนื้อแท้แล้วปราศจากเหตุผลที่ยอมรับได้ในระดับสาธารณะ ประชาธิปไตยของการปลดปล่อยความโกรธแค้นหมายถึงการสร้างความเป็นการเมืองแบบใหม่ต่อระเบียบนี้ กระบวนการนี้อาจเป็นหรือไม่เป็นหลักประกันของการปลดปล่อยความไม่เท่าเทียมในระบอบการเมืองทั้งหมด แต่การต่อสู้ทางภาษาและวาทกรรมเพื่อล้มล้างอภิสิทธิ์ในการอวดอ้างความเป็นตัวแทนเหนือคนทั้งหมดที่ถึงจุดสูงสุดครั้งใหม่หลังการปราบปรามในปี 2553 จะไม่อนุญาตให้ใครหยุดนาฬิกาประเทศได้ง่ายอย่างที่ผ่านมา คำถามที่เผชิญหน้าสังคมไทยขณะนี้ไม่ใช่การทำให้มวลชนภักดีต่อระเบียบการเมืองเท่าที่เคยเป็นในอดีต แต่คือการที่ชนชั้นนำฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยไม่ตระหนักว่าการทำลายประชาธิปไตยสร้างปัญหาใหม่ที่อันตรายต่อพวกเขาและระบอบทั้งหมด มากกว่าการยอมรับและหาทางแทรกแซงประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไปแบบที่กระทำหลังปี 2535 เป็นต้นมา