ข้อมูลทั่วไป
ผู้เขียน | พวงทอง ภวัครพันธุ์ |
---|---|
จำนวนหน้า | 304 |
ปีที่พิมพ์ | 2567 |
ISBN ปกอ่อน | 9786169430353 |
ISBN ปกแข็ง | 9786169430360 |
ปกแข็ง 500.00 บาทปกอ่อน 400.00 บาท
ผู้เขียน | พวงทอง ภวัครพันธุ์ |
---|---|
จำนวนหน้า | 304 |
ปีที่พิมพ์ | 2567 |
ISBN ปกอ่อน | 9786169430353 |
ISBN ปกแข็ง | 9786169430360 |
คำนำสำนักพิมพ์
คำนำผู้เขียน
ชื่อย่อ
บทที่ 1 ทำไมต้องรู้เรื่องความมั่นคงภายในของกองทัพ
บทที่ 2 แนวคิดการจัดการภัยคุกคามความมั่นคงภายใน
บทที่ 3 การสร้างความชอบธรรมให้กับกองทัพ
บทที่ 4 กำเนิดทหารนักพัฒนาจากชนบทสู่เมือง
บทที่ 5 การจัดตั้งมวลชนโดยรัฐยุคสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์
บทที่ 6 การขยายมวลชนจัดตั้งหลังการรัฐประหาร 2549
บทที่ 7 บทสรุป
ภาคผนวก
1. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์
2. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 65/2525 เรื่อง แผนรุกทางการเมืองเพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์
ประวัติผู้เขียน
บรรณานุกรม
ดรรชนี
สมัยก่อน เมื่อผู้ใหญ่ถามเด็กๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร หนึ่งในคำตอบยอดฮิตของเด็กผู้ชายคือ ทหาร ความเข้าใจของเด็กชายคนนั้นว่าทหารประกอบสัมมาอาชีพอะไรหรือทำหน้าที่อะไรในสังคมจำกัดอยู่เพียงสองสามประโยคที่คุ้นหูกันดีคือ ทหารเป็นรั้วของชาติ คอยปกป้องประเทศชาติจากศัตรูภายนอก ซึ่งในภาพจำก็ไม่พ้นพม่า ตามประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่ครูพร่ำสอนและหนังละครที่ผลิตซ้ำให้รับชมวนไปเวียนมาปีแล้วปีเล่า
อย่างไรก็ดี เป็นตลกร้ายที่เมื่อเด็กชายเติบโตเป็นวัยรุ่น พอถึงชั้นมัธยม เขาและเพื่อนผู้ชายในห้องทุกคนที่บ้านพอมีฐานะก็เลือกที่จะเรียน รด. เพื่อไม่ต้องเกณฑ์ทหาร เพราะต่างทราบกันดีว่าการเป็นทหารเกณฑ์นอกจากจะเสียเวลาชีวิตแล้ว ยังไม่ทันได้ปกป้องอธิปไตย ก็อาจถูกบังคับให้ไปรับใช้อยู่ตามบ้านนายพล ตัดหญ้า ซักผ้ากระทั่งกางเกงในให้คนในครอบครัวนาย หากโชคร้ายสุดๆ อาจถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตในค่ายทหารโดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบด้วยซ้ำ
นอกจากประโยคติดปากว่าทหารเป็นรั้วของชาติและข่าวทหารเกณฑ์ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตหลายกรณีแล้ว[1] กล่าวได้ว่าประชาชนคนไทยทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพทหารน้อยมาก ผู้ใหญ่อาจรู้มากกว่าเด็กชายขึ้นมาอีกหน่อย (แต่ก็เป็นไปได้ว่าเป็นความรู้ที่ผิดเพี้ยนยิ่งขึ้นไปอีก) คือเข้าใจว่าทหารทำหน้าที่พิเศษเป็นครั้งคราว คือนำรถถังออกมาทำรัฐประหารรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ “ฉ้อฉล” เพื่อจัดระเบียบบ้านเมืองให้กลับคืนสู่สภาวะ “ปกติ” ก่อนจะปล่อยให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง หน้าที่เช่นนี้ของทหารที่ถือเป็น “สภาวะผิดปกติ” สำหรับสังคมโลก กลับกลายเป็น “สภาวะปกติ” ที่แสนจะคุ้นชินสำหรับสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารสองครั้งในปี 2549 และ 2557 จนถึงการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วจากดีลปีศาจของพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกมองว่าเป็นส่วนต่อขยายของรัฐบาลทหารที่รวมแล้วกินเวลายาวนานเกือบสองทศวรรษนั้น กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ต้นปี 2559 นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนผู้ล่วงลับ เริ่มตั้งคำถามดังๆ ในบทความ “ทหารมีไว้ทำไม”[2]ทั้งยังเน้นย้ำว่า เป็นคำถามสำคัญแห่งยุคสมัยที่แทบจะหาคำถามอื่นเทียบไม่ได้ (อาจยกเว้นเพียงคำถาม “กษัตริย์มีไว้ทำไม” ที่ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ ประเทศไทย เมื่อปี 2563) ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น พวงทอง ภวัครพันธุ์ ก็ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับกิจการความมั่นคงภายในของกองทัพที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 และเริ่มค้นคว้าวิจัย เขียนออกมาเป็นหนังสือภาษาอังกฤษชื่อ Infiltrating society: The Thai military’s internal security affairs ในปี 2564[3] ต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมจนกลายเป็นหนังสือภาษาไทย ในนามของความมั่นคงภายใน: การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย ในมือผู้อ่านเล่มนี้
ข้อเสนอสำคัญของหนังสือเล่มนี้ (ซึ่งเป็นทั้งคำตอบต่อคำถามของนิธิ และอาจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้เด็กชายไทยเจเนอเรชั่นนี้ต้องฉุกคิดว่าโตขึ้นตนอยากจะเป็นทหารจริงหรือไม่) คือ
“ไม่ใช่การป้องกันภัยคุกคามจากภายนอกประเทศหรอก แต่คือภารกิจการป้องกันความมั่นคงภายในประเทศต่างหากที่เป็นสารัตถะ เป็นเหตุผลของการดำรงอยู่ (raison d’être) ของกองทัพไทย ความมั่นคงภายในคือภารกิจหลักของกองทัพ และเป็นเหตุผลที่ถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการขยายขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของกองทัพออกไปอย่างกว้างขวางนับแต่ยุคต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ หากไม่มีภารกิจความมั่นคงภายในนี้แล้ว กองทัพไทยแทบไม่มีภารกิจสำคัญอะไรเหลืออีกเลย ซึ่งหมายความต่อว่างบประมาณและกำลังพลจำนวนมหาศาลควรถูกตัดลดลงด้วย”
ว่าไปแล้วก็คงน่าเหลือเชื่อว่า “หน้าที่” ของทหารไทยมีตั้งแต่สอดแนมประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ, เป็นวิทยากรอบรมกล่อมเกลาประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้จงรักภักดี ปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์, จัดตั้งมวลชนกลุ่มต่างๆ ให้ยึดถือในอุดมการณ์ราชาชาตินิยมและให้ร่วมจับตาประชาชนที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ, เป็นวิทยากรอบรมเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสนับสนุนงานในโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงโครงการจิตอาสาตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 10, แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและค้ามนุษย์, ป้องกันปราบปรามผู้ติดยาเสพติด, พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ, แก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, ดูแลโครงการด้านการท่องเที่ยว เช่น โครงการ “Army Land” หรือดูแลสนามกอล์ฟในพื้นที่ของกองทัพ, ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ขับไล่คนออกจากป่า พิจารณาให้สัมปทานเหมืองแร่บริษัทเอกชน, บรรเทาสาธารณภัย เช่น น้ำท่วม ไฟป่า, ทำงานพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เช่น จัดระเบียบรถตู้บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฯลฯ
ยังไม่ต้องพูดถึงการเข้าสู่อาชีพนักการเมืองหลังรัฐประหาร การเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ไม่อิสระ หรือโอกาสในการจับจองที่นั่งในบอร์ดของรัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจเอกชนต่างๆ ซึ่งอยู่นอกขอบเขตการศึกษาของหนังสือเล่มนี้ แต่อย่าถามถึงว่าทหารมีความรู้ความเชี่ยวชาญในทักษะต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดหรือไม่ และใครจะเป็นผู้ประเมินผลงานเหล่านั้นว่าสอบตกหรือสอบผ่าน คุ้มค่า มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อกองทัพรับเงินงบประมาณมหาศาลจากภาษีอากรของประชาชน
หากถามว่าทหารขยายภารกิจของตนออกไปอย่างกว้างขวางขนาดนี้ได้อย่างไร ผู้เขียนพาเราย้อนไปสู่จุดกำเนิด กอ.รมน. และ “แนวทางการเมืองนำการทหาร” ในยุคคอมมิวนิสต์ช่วงทศวรรษ 2500 ที่เป็นเสมือนประตูบานแรกที่เปิดให้กองทัพเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองสังคมของไทย จนหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยล่มสลายและไม่ได้เป็นภัยคุกคามอีกต่อไปแล้ว ข้ออ้างเรื่อง “ความมั่นคงภายใน” และต่อมาคือ “ความมั่นคงภายในรูปแบบใหม่” ตลอดจนความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพในยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อความมั่นคงของรัฐไทย ที่มีพลวัตปรับตัวผ่านการที่กองทัพช่วยสนับสนุนงานโครงการพระราชดำริอย่างแข็งขัน ก็ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับกองทัพในการแทรกซึมสังคม จนกระทั่ง “กิจการพลเรือนของทหาร” วลีสมาสสนธิสวยหวาน แทบจะเบลอเส้นแบ่งระหว่างหน้าที่ของทหารกับหน่วยงานพลเรือนอื่นๆ ไปจนหมดสิ้น โดยที่กลไก กอ.รมน. และกฎหมายยังเปิดทางให้ทหารมีอำนาจเหนือหน่วยงานตำรวจและพลเรือนอีกด้วย
การแทรกซึมและควบคุมสังคมของกองทัพด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงภายในนับแต่ยุคคอมมิวนิสต์ ยุคการพัฒนา จนมาหนักข้อขึ้นหลังรัฐประหารสองครั้งล่าสุดเนื่องจากชนชั้นนำจารีตรู้สึกวิตกจริตกับประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งที่นักการเมืองได้รับความนิยมอย่างสูง ขณะที่กษัตริย์พระองค์ใหม่ดึงดูดความนิยมจากประชาชนได้น้อย ปิดบังความจริงที่ว่าทหารแทบจะไม่เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นรั้วของชาติตามที่พูดกันจนติดปาก ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่ถือเป็นศัตรูของชาติที่ทหารตลอดจนชนชั้นนำจารีตต่อสู้รบราด้วย ก็ไม่ใช่ชาวต่างชาติที่ไหน แต่คือประชาชนในชาติที่คิดเห็นต่างจากรัฐราชาชาติ ไม่ว่าผู้ที่นิยมแนวคิดคอมมิวนิสต์ในอดีต ขบวนการคนเสื้อแดงที่ต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง หรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามอย่างถึงรากถึงโคนและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ล้วนถือเป็นภัยต่อ “ความมั่นคงภายใน” ทั้งสิ้น
แล้วความมั่นคงภายในที่ว่านี้ เป็นความมั่นคงของใคร และเพื่อใครกันแน่
คำตอบคงไม่ได้อยู่ในหนังสือเล่มนี้ แต่หนังสือเล่มนี้ตีแผ่ให้เราเห็นว่าทหารในฐานะชนชั้นนำสูบเอาทรัพยากรส่วนรวมไปใช้ในการแทรกซึมและควบคุมสังคมด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงภายในนานเกินไปแล้ว ความมั่นคงภายใน ตลอดจนความมั่นคงของชาติ คืออะไรกันแน่นั้น เป็นเรื่องที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยต้องช่วยกันขบคิดให้คำนิยาม มิใช่ปล่อยให้ทหารว่าเอาตามใจชอบ
หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในชุด “ทหารไทย” ที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตั้งใจจัดทำขึ้น (เช่นเดียวกับชุด “สยามพากษ์” “กษัตริย์ศึกษา” และ “ทวิพากษ์” ที่ออกมาก่อนหน้านี้) เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เชิงวิพากษ์เกี่ยวกับทหารไทยในหลากมิติ ทั้งประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม มาตีพิมพ์ไว้ในชุดเดียวกัน โดยหวังว่าทั้งหมดจะช่วยให้ผู้อ่านเท่าทันพลวัตของสถาบันทหาร พร้อมกับเป็นฐานความรู้ความเข้าใจในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับกองทัพต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นภารกิจหนักหนาที่รอการชำระสะสาง
[1] ดู กิตติยา อรอินทร์, “มีเคสไม่มาก แต่ว่าเป็นข่าวเสียชีวิตกว่า 20 ราย รวมเคสทหารเกณฑ์เสียชีวิตในค่าย ตั้งแต่ 2552–2566,” ประชาไท 7 กันยายน 2566. https://prachatai.com/journal/2023/09/105813. ประชาไทรายงานข่าวนี้หลังจากสุทิน คลังแสง รมต. กลาโหม กล่าวว่า “สังคมยังมีทัศนคติเชิงลบต่อทหารเกณฑ์อยู่ คือผู้ปกครองยังติดภาพเดิมๆ อยู่ว่าระบบการฝึกมันทารุณโหดร้าย เด็กเจ็บ เด็กตายอะไรอย่างนี้ เราต้องปรับความเชื่อเขา จริงๆ มีเคสไม่มาก แต่ว่ามันเป็นข่าวเยอะ”
[2] นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ทหารมีไว้ทำไม,” มติชนรายวัน 1 มกราคม 2559. บทความชิ้นนี้ได้รับการพูดถึงและตอบโต้จากบรรดานายทหารในกองทัพอย่างอื้ออึง
[3] Puangthong Pawakapan, Infiltrating society: The Thai military’s internal security affairs (Singapore: ISEAS-Yusof Ishak Institute, 2021).
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัยเกี่ยวกับกิจการความมั่นคงภายในของกองทัพเกิดขึ้นไม่นานหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่กว่าจะเริ่มต่อจิ๊กซอว์ของเหตุการณ์ต่างๆ ได้และตัดสินใจทำวิจัยเรื่องนี้ก็เข้าสู่ปี 2560 ผู้เขียนเริ่มเสนอข้อค้นพบบางส่วนต่อสาธารณะผ่านเวทีวิชาการ บทความ และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายครั้งตั้งแต่ปลายปี 2560 เพื่อกระตุ้นเตือนสังคมให้เห็นถึงความพยายามขยายอำนาจของกองทัพเพื่อแทรกซึมและควบคุมสังคมด้วยกลวิธีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ผู้เขียนอยากจะกล่าวอ้างว่าผู้เขียนมีส่วนทำให้ชื่อ กอ.รมน. กลับมาถูกกล่าวถึงในสังคมอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่ง องค์กรที่คนยุคสงครามเย็นเชื่อว่าได้ล้มหายตายจากไปนานแล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่ก็แทบไม่รู้จัก กอ.รมน. มาก่อน ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าความพยายามนี้ทำให้ผู้เขียนถูกจับตามองจากกลไกอำนาจรัฐมากขึ้น โดยผู้เขียนเป็นหนึ่งในผู้ที่ตกเป็นเป้าที่ถูกโจมตีด้วยเครื่องมือสอดแนมที่ชื่อว่า Pegasus Spyware ถึงสี่ครั้ง กระนั้น ผู้เขียนถือว่าการทำให้สังคมตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งการบ่อนเซาะทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยกลไกอำนาจรัฐทหาร เป็นหน้าที่ที่สำคัญยิ่งของนักวิชาการ แม้ว่าความรักชาติในแบบผู้เขียนจะเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการก็ตาม
ในนามของความมั่นคงภายใน: การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย เกิดจากการสังเกตเห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองอันไม่ปกติที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ หลังการรัฐประหารโดย คสช. เป็นความผิดปกติที่เกิดจากความพยายามแทรกซึม-ควบคุมสังคมและการเมืองผ่านกลไกต่างๆ ของกองทัพและระบบราชการ ตัวอย่างของความผิดปกติ อาทิ กอ.รมน. มีบทบาทนำในการระดม-อบรม-สั่งการประชาชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ มากมายทั้งในเมืองและต่างจังหวัดทั่วประเทศ กอ.รมน. สามารถควบคุมสั่งการให้หน่วยราชการพลเรือนทำงานมวลชนให้กับตนเองได้ตราบเท่าที่อ้างว่าเป็นภารกิจเพื่อความมั่นคงภายใน นอกจากนี้ ยังมีการปรากฏตัวของกลุ่มมวลชนมากมาย ทั้งกลุ่มเก่าในยุคสงครามเย็นและกลุ่มใหม่ กองทัพมีโครงการและงบประมาณมากมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับทหาร เช่น โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นต้น
อันที่จริงปรากฏการณ์ที่ว่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลยในสังคมประชาธิปไตย เพราะจะมีการแบ่งแยกอำนาจและหน้าที่ของกองทัพกับพลเรือนอย่างชัดเจน กองทัพจะออกมาช่วยแก้ปัญหาของพลเรือนได้เมื่อถูกร้องขอหรือสั่งการโดยรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต เช่น สงคราม การจลาจล และภัยพิบัติขนาดใหญ่ เป็นต้น แต่ในสังคมที่อยู่ใต้อำนาจของทหารบ่อยครั้งและเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน เช่นประเทศไทย กองทัพและชนชั้นนำจารีตได้ขยายอำนาจหน้าที่ของกองทัพออกไปจนไม่มีเส้นแบ่งว่ากิจการใดเป็นหน้าที่ของพลเรือน กิจการใดเป็นหน้าที่ของทหารอีกต่อไป ปัญหาเศรษฐกิจสังคมการเมืองถูกทำให้เป็น ”ปัญหาความมั่นคงภายใน” โดยที่ฝ่ายประชาชน ภาคประชาสังคม และพรรคการเมืองตามไม่ทัน สภาวะเช่นนี้ดำเนินต่อเนื่องมายาวนานตั้งแต่ช่วงต้นของสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน กลไกควบคุมสังคมทั้งในทางกายภาพและความคิดแผ่ขยายอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกล่าวได้ว่าคนนอกกองทัพมองไม่เห็นความผิดปกติเหล่านี้ ความผิดปกติกลายเป็นสิ่งคุ้นชิน ไม่เกิดคำถามว่าทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ได้อย่างไร เพื่ออะไร
การสังเกตเห็นความผิดปกติต่างๆ ได้นำไปสู่คำถามมากมายว่ามันเกิดขึ้นอย่างไรและเพื่ออะไร และคำตอบนั้นได้ปรากฏตัวครั้งแรกในรูปของหนังสือภาษาอังกฤษของผู้เขียนเรื่อง Infiltrating Society: The Thai Military’s Internal Security Affairs (Singapore: Yusof Ishak ISEAS, 2021) โดยในการตีพิมพ์เป็นหนังสือภาษาไทยที่ท่านถืออยู่นี้ ผู้เขียนได้ปรับปรุงและแก้ไขเนื้อหาหลายจุดด้วยกัน โดยได้ปรึกษาหารือกับสถาบัน Yusof Ishak ISEAS และได้รับอนุญาตให้ใช้เนื้อหาหลักได้โดยไม่ถือเป็นการแปล นอกจากนี้ ผู้เขียนได้รับทุนอุดหนุนการศึกษา/วิจัยเพื่อเขียนหนังสือ/ตำราจากงบประมาณรายได้ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนางานวิจัยชิ้นนี้ให้เป็นหนังสือภาษาไทย เพื่อให้นิสิตนักศึกษาและประชาชนสามารถเข้าถึงความรู้ได้สะดวกยิ่งขึ้น จึงขอขอบพระคุณสถาบันทั้งสองมา ณ โอกาสนี้ด้วย
ผู้เขียนอยากจะบอกว่าการเขียนหนังสือภาษาอังกฤษไม่เคยเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้เขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษไม่ดีนักแบบผู้เขียน การเขียนหนังสือภาษาอังกฤษเป็นงานที่เรียกร้องเวลาและการทุ่มเทอย่างมาก และเป็นที่รู้กันดีว่าโอกาสจะได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์ที่ได้มาตรฐานระดับสากลนั้นยากกว่าการตีพิมพ์งานภาษาไทย แต่สาเหตุที่ทำให้ผู้เขียนต้องเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ออกมาเป็นภาษาอังกฤษก่อน เป็นเหตุผลเชิงโลจิสติกส์โดยแท้ เพราะเมื่อผู้เขียนเริ่มเห็นเค้าโครงของงานชิ้นนี้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนรู้ดีว่าถ้าต้องการให้งานเสร็จภายในสองปี ผู้เขียนต้องมีเวลาทำงานเต็มที่ ปลอดการสอนและภารกิจอื่นๆ ฉะนั้น ต้องหาทางไปนั่งเขียนหนังสือในต่างประเทศให้ได้ ซึ่งนับเป็นความโชคดีที่ผู้เขียนได้รับโอกาสที่ว่านี้จากสถาบันต่างๆ ที่ให้โอกาสผู้เขียนไปนั่งคิดนั่งเขียนในฐานะนักวิจัยอาคันตุกะ (Visiting research fellow) ระหว่างปี 2560-2562 จากสถาบัน Yusof Ishak ISEAS, Singapore, Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University และHarvard-Yenshing Institute, Harvard University
งานวิจัยชิ้นนี้อาจจะไม่มีวันได้ปรากฏตัวขึ้นเลยหากไม่ใช่เพราะ Dr. Michael Montesano กัลยาณมิตรที่เชื่อมั่นและสนับสนุนผู้เขียนตลอดมา ในช่วงเวลาที่ผู้เขียนกำลังติดพันกับกิจกรรมทางการเมืองสารพัด (2553-2557) ไมค์ได้ชักชวนให้ผู้เขียนหันกลับมาทำงานวิจัยมากขึ้น ในปลายปี 2556 ไมค์ชักชวนให้ผู้เขียนไปนั่งเขียนหนังสือที่สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (ISEAS) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งผู้เขียนได้ตอบปฏิเสธไปเกือบจะทันทีเพราะเป็นช่วงที่การเมืองไทยกำลังตึงเครียดอย่างยิ่ง ผู้เขียนไม่สามารถทิ้งภารกิจที่ทำร่วมกับเพื่อนนักวิชาการอื่นๆ ได้ แต่เมื่อเกิดรัฐประหารโดย คสช. ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอนอย่างรุนแรง ในช่วงเวลาเช่นนี้ การกลับไปทำงานวิชาการน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ผู้เขียนจึงติดต่อไมค์ไปว่าโอกาสที่จะไปนั่งเขียนหนังสือที่ ISEAS ยังอยู่ไหม ไมค์ตอบตกลงทันที การมีโอกาสได้นั่งคิดนั่งเขียนหนังสืออย่างสงบนี้เอง (กรกฎาคม 2557–มกราคม 2558) ที่ทำให้ผู้เขียนเริ่มสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติและเกิดคำถามต่างๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ผู้เขียนก็ยังไม่สามารถหาคำตอบให้กับสิ่งผิดปกติที่ว่าได้ เมื่อกลับมาไทย ผู้เขียนยังเดินหน้าหาคำตอบอย่างเงียบๆ จนมั่นใจว่าตนเองมาถูกทางแล้ว ในช่วงต้นปี 2560 ผู้เขียนเล่าไอเดียของงานชิ้นนี้ให้ไมค์ฟัง และบอกว่าต้องการเวลา 3 เดือนเพื่อเขียนบทแรก อันเป็นเสมือนกรอบใหญ่ของหนังสือออกมาให้ได้ ไมค์ช่วยดำเนินการให้อย่างรวดเร็ว ผู้เขียนได้รับคำตอบตกลงภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ แน่นอนว่าผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณ Tan Chin Tiong อดีตผู้อำนวยการ ISEAS ที่อนุมัติ fellowship ให้ผู้เขียนถึงสองครั้งในเวลาอันรวดเร็ว และมอบมิตรไมตรีมากมายให้แก่ผู้เขียนตลอดเวลาที่อยู่ที่สิงคโปร์
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเป็นหนี้บุญคุณต่ออาจารย์และกัลยาณมิตรอีกหลายท่านที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของผู้เขียนทั้งทางตรงและทางอ้อม อาจารย์คริส เบเกอร์, ศ. นิธิ เอียวศรีวงศ์, ศ. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ศ. ธงชัย วินิจจะกูล, ศ. เกษียร เตชะพีระ, ศ. ไชยวัฒน์ ค้ำชู, Professor Tamada Yoshifumi, Professor Masaaki Okamoto, Dr. Terence Chong, Professor Michael Herzfeld, Professor Tyrell Haberkorn, Professor Junko Koizumi, Professor Yoko Hayami, Professor Ben Kiernan, Professor Duncan McCargo, Professor Paul Chambers, รศ. วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร, ศ. สุรชาติ บำรุงสุข, รศ. ยุกติ มุกดาวิจิตร, รศ. ประจักษ์ ก้องกีรติ, รศ. เวียงรัฐ เนติโพธิ์, รศ. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, รศ. ศุภมิตร ปิติพัฒน์, คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, คุณศรายุธ ตั้งประเสริฐ, คุณนีรนุช เนียมทรัพย์, คุณอธึกกิต แสวงสุข, คุณจุฬาลักษณ์ ภู่เกิด, ดร. เอนกชัย เรืองรัตนากร, ดร. กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช และคุณจรินทร์ทิพย์์ สายมงคลเพชร อีกทั้ง ขอขอบพระคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เปิดเผยนามอีกสองท่านที่กรุณาอ่านต้นฉบับงานวิจัยและให้คำแนะนำอันมีคุณค่าแก่ผู้เขียนเพื่อทำให้หนังสือเล่มนี้ดีขึ้น ขอขอบพระคุณผู้ที่ผู้เขียนไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้อีกหลายท่าน ที่กรุณาสละเวลาให้ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ แต่เพื่อความปลอดภัย จึงไม่สามารถเปิดเผยชื่อในที่นี้ได้
ขอขอบคุณคุณธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่ให้ความสนใจตีพิมพ์งานชิ้นนี้ ขอขอบคุณเป็นพิเศษต่อคุณอัญชลี มณีโรจน์ และคุณนฤมล กระจ่างดารารัตน์ ทีมบรรณาธิการมืออาชีพ คุณภาพยอดเยี่ยม ที่ช่วยดูแลปรับปรุงภาษาและตรวจสอบการอ้างอิงให้กับหนังสือเล่มนี้
ขอบคุณนิติ ภวัครพันธุ์ ที่สนับสนุนให้ผู้เขียนทำงานวิชาการได้อย่างเต็มที่ ขอบคุณเพียร ภวัครพันธุ์ ที่เป็นความสุขใจและพลังใจของแม่ตลอดมา
สุดท้ายแต่ไม่ใช่ท้ายสุด ในด้านหนึ่ง ผู้เขียนตระหนักถึงความโชคดีที่ตนมักได้รับโอกาสและการสนับสนุนจากครูอาจารย์มิตรสหายอยู่เสมอ ในอีกด้านหนึ่ง นับตั้งแต่จบปริญญาเอกมา งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานที่ผู้เขียนทุ่มเทกำลังกายกำลังใจให้มากที่สุดก็ว่าได้ แต่ก็เป็นช่วงเวลาการทำงานวิชาการที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งด้วย การหมกมุ่นกับการคิดการเขียนงานวิชาการเป็นทั้งความเครียดและความสุขไปพร้อมๆ กัน … ผลของการหมกมุ่นทำให้หนังสือ Infiltrating Society ได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกจากนักวิชาการต่างชาติหลายท่าน และยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดของปี 2022 ของวารสาร Foreign Affairs สำหรับคนที่มีอาชีพนักวิชาการเช่นผู้เขียน การได้มีหนังสือดีๆ ออกมาสักเล่มหนึ่งเป็นความฝันที่มีมาตั้งแต่เริ่มอาชีพวิชาการ เป็นความฝันที่ไม่เคยมั่นใจว่าตัวเองจะทำได้ และผู้เขียนพบว่างานชิ้นนี้ให้ความสุขแก่ผู้เขียนมากกว่าการได้ยศถาบรรดาศักดิ์ทางวิชาการใดๆ แน่นอนว่าผู้เขียนยังใฝ่ฝันต่อว่าหนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์ต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรมให้กับผู้คนในสังคมไทย รวมทั้งช่วยขยายฐานทางปัญญาของสังคมไทยให้เติบโตต่อไปได้ด้วย
พวงทอง ภวัครพันธุ์