ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง

ลดราคา!

฿198.00


รหัสสินค้า: 9789740536314 หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำปรารภพี่สาว ผู้รักษาต้นฉบับ

คำนำบรรณาธิการ

บทกวี นวเมศวรราชสดุดี

คำนำสำนักพิมพ์

เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน (๒๔๙๖)

กระทุ้งสามเกลอ (๒๔๙๖)

อะไรแน่ ศาสนา ข้าสงสัย (๒๔๙๖)

มองจุ่งพ้นฉากเข้ม! (๒๔๙๗)

ไร้หมอมันต้องสองกร! (๒๔๙๗)

มึงก็ช้างและกูก็ช้างบ่ผิดสกนธ์ (๒๔๙๗)

เราแปลงโลกให้ใครครอง…? (๒๔๙๘)

สู้อย่างไร? นักปรัชญาบอกข้าที่ (๒๔๙๘)

ศิลปทั้งผองต้องเกื้อเพื่อชีวิต (๒๔๙๘)

มารฺชเยาวชนไทย (๒๔๙๘)

มาร์ชกรรมกร (๒๔๙๘)

มารฺชธรรมศาสตร์- จุฬา สามัคคี (๒๔๙๘)

มาร์ชแอนตี้จักรวรรดินิยม (๒๔๙๘-๒๔๙๙)

ความสว่างและความมืด (ตอน ๑) (๒๔๙๘)

เพื่อเธอสวยเหมือนชนใช่เชลย (๒๔๙๙)

ซึ่งหมู่เขาเอ่ยอ้า โอษฐ์พร้องพธูไทย (๒๔๙๙)

วาสนาตัวเดียวเจียวทำเข็ญ (๒๔๙๙)

เขารวยเรา แทบอดตาย (๒๔๙๙)

เฉดหัวแยงกี้ออกไป (๒๔๙๙)

ปวงไทยทุกข์ยากยำแย่ (๒๔๙๙)

ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง (๒๔๙๙)

ความคำนึงถึงเสรีภาพ (๒๔๙๙)

วีรบุรุษ (๒๔๙๙)

เรียนใช่เพื่อตนเองโหน่งเหน่ง (๒๕๐๐)

เป็นเรือจ้างช่างเยาะได้เหมาะแม้น (๒๕๐๐)

สร้างสวรรค์ขึ้นที่ในโลกด้วยมือ (๒๕๐๐)

การทำบุญ ‘เพื่อตัวกู’ดูชอบกล (๒๕๐๐)

งานทำให้คนมีค่าว่าเป็นคน (๒๕๐๐)

ของประกวด (๒๕๐๐)

โลกเอ่ย ไทยชาติ ลูกจ๊อก (๒๕๐๐)

เป็นไง๋ ทวยไท ยับแย่ อย่างงี้ (๒๕๐๐)

วันนี้ ต้องดี กว่าวาน (๒๕๐๐) )

ขี้ข้าน้ำตาหล่นเผาะ (๒๕๐๐)

ดนตรีแห่งฤดูใบไม้ร่วง (๒๕๐๐)

เมื่อพรรษพรำฉ่ำหวานสู่ดานดิน (๒๕๐๐)

นิโกรในปลักแห่งความทุกข์รันทด (๒๕๐๐)

เพลงพื้นบ้านนิโกร (๒๕๐๐)

ทารุณกรรมแห่งฟลอริด้า (๒๕๐๐)

โคลงชุด ‘ห้าสิบปี : ๑๘๖๓ – ๑๙๑๓’(๒๕๐๐)

ณ ประตูอันปิดสนิทแห่งความยุติธรรม (๒๕๐๐)

เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์ (๒๕๐๐)

เทพีแห่งรุ่งอรุณ (๒๕๐๐)

บทเพลงเพื่อวันแห่งวรรณคดี (๒๕๐๐)

คำสาบาน (๒๕๐๐)

ภายในประตูแดง (๒๕๐๐)

คน…คำนี้มีกังวานอันทรนง (๒๕๐๐)

แม้คนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย (๒๕๐๐)

ชายทำงานตั้งแต่อาทิตย์ขึ้นจนอาทิตย์ตก (๒๕๐๐)

ทางเดินของชีวิต (๒๕๐๐)

ใต้ท้องฟ้าสีครามแห่งมอสควา (๒๕๐๐)

อ่านต่อ >>

จากคำนำบรรณาธิการในหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์เล่มแรกด้นดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแด (จากยุคเริ่มต้นถึงมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๔๙๕)ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันพิมพ์เมื่อ ตุลาคม ๒๕๕๐ นั้น ข้าพเจ้าในฐานะบรรณาธิการได้ปรารภไว้ว่า ทราบว่ายังมีงานกวีบางชิ้นของจิตรเคยตีพิมพ์ในหนังสือตอ. ปีที่ ๑ (หนังสือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา) ชื่อ “นวเมศวรราชสดุดี” แต่ค้นไม่พบ บัดนี้ได้มีผู้ตรวจสอบพบแล้วและได้จัดส่งมาให้ทางสำนักพิมพ์ โดยบทกวีดังกล่าวตีพิมพ์ใหม่ในหนังสือ ๗๐ ปี เตรียมอุดมจึงขอขอบคุณ คุณพีระ พนารัตน์ผู้จัดส่งมาให้ ณ ที่นี้ด้วย

นอกจากนี้แล้ว จากหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์เล่มแรกดังกล่าว ได้มีท่านผู้รู้ คือ ร.ต. วันรบ วรดิลกจดหมายแจ้งมาทางสำนักพิมพ์เรื่องบทกวี “คิดไว้ในใจ” ว่าข้อเท็จจริงเป็นบทเพลงที่ประพันธ์โดยครูแก้ว อัจฉริยะกุล ครูเอื้อ สุนทรสนาน และครูเวส สุนทรจามร เป็นผู้ให้ทำนอง ส่วนผู้ร้องคือ คุณสมศักดิ์ เทพานนท์ “คิดเอาไว้ในใจ” หาใช่บทกวีของ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ พร้อมถ่ายสำเนาเนื้อร้องทำนองมาด้วย ข้าพเจ้าในฐานะบรรณาธิการต้องขออภัยท่านผู้อ่านในความผิดพลาด และ ขอขอบคุณ ร.ต. วันรบ วรดิลก มาด้วยความจริงใจในโอกาสนี้ด้วย

สำหรับหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ เล่ม ๒ “ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง” (พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๕๐๐) เป็นผลงานเล่มที่ ๒ ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ในชุดกวีนิพนธ์ งานกวีนิพนธ์ในช่วงนี้ เป็นงานในช่วงรอยต่อทางความคิดของ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นยุคที่จิตรตั้งข้อสงสัย เป็นยุคผ่าน (ส่วนมากเป็นงานที่เขียนขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๔๙๘) และเมื่อคิดว่าได้ข้อสรุป (คืองานระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๐๐) เนื้องานของกวีนิพนธ์จึงเข้มข้นเพิ่มเติมขึ้นจากเดิมที่จะมีเพียงแต่ตั้งข้อสงสัย พัฒนากลายเป็นการเปิดโปง และชี้ให้ตระหนักเห็นพลังของตัวเอง และการรวมกลุ่มกันเพื่อต่อสู้ของประชาชน เพราะฉะนั้นหากใครต้องการเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนกว่านี้มากๆ ก็ควรต้องหา ด้นดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแดที่เป็นเล่ม ๑ ของชุดนี้มาอ่านปูพื้นฐานด้วย

จิตร ภูมิศักดิ์ ใน พ.ศ. นี้ เริ่มถีบตัวออกห่างจากความต้องการเป็น “นักปราชญ์ราชบัณฑิต” และไม่ดำเนินรอยตามบุรพกวีเดิมๆ แล้ว

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับ จิตร ภูมิศักดิ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ คือ เหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “โยนบก” คือการจับจิตร ภูมิศักดิ์ โยนลงมาจากเวทีหอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาเหตุของการเกิด เหตุการณ์นี้มาจากงานนิพนธ์ของจิตร ๒ ชิ้น คือ บทกวีที่จิตรเขียน ตำหนิหญิงที่ท้องไม่มีพ่อและไปทำแท้งว่า “เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน”และบทความขนาดยาวที่จิตรเขียนวิพากษ์วิจารณ์พระภิกษุนอกรีตใน พุทธศาสนาว่าประพฤติตัวประดุจ “ผีตองเหลือง” อันที่จริงจากการศึกษาเรายังพบต้นฉบับบทกวีที่จิตรเขียนวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์นอกรีตอีกบทหนึ่งอย่างค่อนข้างรุนแรง คือบทที่ชื่อว่า “อะไรแน่ ศาสนา ข้าสงสัย” บทกวีชิ้นนี้พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือเล่มนี้ งานเหล่านี้คือข้อยืนยันถึงการตั้งข้อสงสัยการเปิดโปงต่อความเป็นไปของวงการสงฆ์ในช่วงระยะเวลานั้นเหตุการณ์ที่จิตรถูกโยนบก ถูกพักการเรียน ประกอบกับเห็นคุณแม่แสงเงิน ฉายาวงศ์ ต้องเหนื่อยยากสายตัวแทบขาดเพื่อหาเงินส่งให้จิตรและพี่สาวได้เรียน และจากบทสรุปที่ว่าการทำบุญเข้าวัดเข้าวาก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย ยิ่งทำให้จิตรทุ่มเทค้นคว้าศึกษาทั้งปัญหาทางด้าน ประวัติศาสตร์และปัญหาสังคมมากขึ้น จากการค้นคว้าศึกษาประวัติศาสตร์ไทย จิตรได้รับรู้เรื่องราวข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ไทยในอีกด้านหนึ่ง มองเห็นการเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นศักดินาที่มีต่อชนชั้นผู้ถูกปกครอง นอกจากนี้ การศึกษาความเป็นไปของสังคมการเมือง เศรษฐกิจ และการครอบงำของจักรวรรดินิยมอเมริกาที่มีต่อประเทศไทย รวมทั้งการได้รับรู้ถึงการปลดแอก มีการก่อตั้งประเทศสังคมนิยมของประเทศต่างๆ ขึ้นในช่วงระยะเวลานั้น การติดตามข่าวสารต่างๆ อย่างใกล้ชิดทำให้จิตรมองชีวิต สังคม และโลกเปลี่ยนไป

จากการศึกษา ค้นคว้า ปัญหาชีวิต ปัญหาสังคมด้วยตัวเอง ต่อมาก็เริ่มมีลักษณะการเข้ากลุ่ม สังกัดกลุ่ม มีการศึกษารวมกลุ่ม มีหน่วยนำในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๔๙๙ จิตรประพันธ์เพลงมารฺชขึ้นหลายเพลง อย่างมารฺชเยาวชนไทย มาร์ชกรรมกร มารฺชธรรมศาสตร์ จุฬา สามัคคี และ มาร์ชแอนตี้จักรวรรดินิยม ล้วนแต่เป็นลักษณะการประพันธ์แบบมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองและน่าจะอยู่ในการแนะนำของหน่วยนำ

เป็นที่น่าสังเกตว่า จิตรเพิ่งเริ่มมาใช้ความสามารถของตัวเองในฐานะนักแปล โดยแปลบทกวีต่างประเทศเป็นพากย์ไทยในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ นี้เอง บทกวีแปลบทแรกก็คือ “ความสว่างและความมืด (ตอน ๑)” หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙-๒๕๐๐ ก็มีบทกวีแปลออกมาอีกหลายบททั้งแปลภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สันสกฤต และภาษาจีน สำหรับภาษาจีน ในช่วงระยะเวลานั้น จิตรคงใช้ต้นฉบับภาษาอังกฤษที่แปลมาจากภาษาจีนอีกทอดหนึ่งก่อน แต่ต่อมาจิตรก็เขียนภาษาจีน เรามีลายมือภาษาจีนของจิตรประกอบบทกวีแปลให้ดูด้วย

พูดถึงบทกวีแปลของจิตร ภูมิศักดิ์ หลายๆ บทในหนังสือเล่มนี้ได้นำมาจากบทความหลายๆ บทของเขาที่เขาแปลเพื่อประกอบบทความ จิตรเป็นคอลัมนิสต์ตั้งแต่ยังเรียนหนังสือที่จุฬาฯ เชื่อว่าบทกวีแปลหลายๆ บทคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในห้องเรียนโดยอาจจะมองความหมายกันคนละมุม และบางบทคงเป็นบทเด่นที่ประทับใจนิสิตที่กำลังศึกษาอยู่ จึงปรากฏว่าหลายบทที่จิตรแปลก็มีนิสิตอื่นแปลด้วย โดยใช้ฉันทลักษณ์ที่แตกต่างออกไป บทกวีที่จิตรเขียนเองที่ชื่อ “มองจุ่งพ้นฉากเข้ม” (พ.ศ. ๒๔๙๗) ก็เชื่อได้ว่าเป็นเรื่องที่ได้มาจากการศึกษาวรรณคดีอังกฤษ เป็นเรื่องมุมมองที่อาจารย์ได้ให้นิสิตในชั้นเรียนได้ถกกัน หรือบทกวี“ดนตรีแห่งฤดูใบไม้ร่วง” (พ.ศ. ๒๕๐๐) ของ ปอลแวร์แลน กวีฝรั่งเศสยุค ทศวรรษที่ ๑๙ ม.ร.ว. นิตยโสภาคย์ เกษมสันต์ ในนามปากกา “นิตยเกษม” เพื่อนของจิตรก็ได้แปลงานเขียนชุดดังกล่าวลงในอักษรานุสรณ์ปี พ.ศ.๒๔๙๖ บทกวี “เมื่อพรรษพรำฉ่ำหวานสู่ดานดิน” (พ.ศ. ๒๕๐๐) บทกวีฝรั่งเศสของ ปอลแวร์แลน เช่นกัน ก็ปรากฏมีผู้แปลเป็นโคลงลงใน อักษรานุสรณ์ รับน้องใหม่อักษร – ครุศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๐๐ในนามปากกาว่า “ปากกา ณ เมืองแกลง” จึงเชื่อได้ว่าคงเป็นบทกวีบทเด่นที่อาจารย์ให้นิสิตได้ถกเถียงหรือประลองฝีมือถ่ายทอดเป็นภาษาไทยในชั่วโมงเรียนวรรณคดีภาษาฝรั่งเศสอย่างไม่ต้องสงสัย แม้กระทั่งโศลกภาษาสันสกฤตในคัมภีร์ฤคเวทที่ใช้สวดสรรเสริญอ้อนวอน “อุษะ” เทพีแห่งรุ่งอรุณ ก็เป็นเรื่องที่ได้เรียนศึกษากันในห้องเรียนคณะอักษรศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นเอง

งานกวีนิพนธ์แทบทุกชิ้นของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เคยได้รับการตีพิมพ์แล้ว เชื่อได้ว่าคงไม่สูญหายหรือถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลาได้เลยคงต้องรอการค้นพบใหม่จากคนรุ่นหลังที่สนใจ ขอยกตัวอย่างบทกวี “นวเมศวรราชสดุดี” ที่เคยได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกใน ตอ. ปีที่ ๑และ เมื่อมีการจัดพิมพ์หนังสือ ๗๐ ปี เตรียมอุดมก็ยังมีอาจารย์ที่เห็นคุณค่า นำกลับมาตีพิมพ์ซ้ำใหม่ ทั้งๆ ที่ชื่อของคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของใครต่อใครนักในสถาบันการศึกษาหลัก ๆ ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ หรือบทกวี “ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง” เราแทบไม่ทราบเลยว่างานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ไหน หรือเป็นงานการบ้านที่จิตรทำส่งอาจารย์? แต่ต่อมาก็มีนิสิตแผนกภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ นำมารวบรวมพิมพ์ในจุลสาร English and Youเผยแพร่ในงาน นิทรรศการทางวิชาการระหว่างวันที่ ๑๐-๑๗ ธันวาคม ๒๕๑๕ร่วมกับ งานบทกวีแปลซึ่งถือว่าเป็นฝีมือระดับอาจารย์ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เช่น สุมน สุดบรรทัด, สมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา และ สลวย โรจนสโรช ขณะที่จิตรเองยังคงแทบเป็นผู้ที่ไม่มีใครรู้จักเลยในกลุ่มนิสิตอักษรศาสตร์ยุคนั้น

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดพิมพ์กวีนิพนธ์ชุดนี้ของ จิตร ภูมิศักดิ์ และอีกไม่นาน ขอให้ท่านรอพบกับ “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” กวีนิพนธ์เล่มสุดท้ายของจิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ. ๒๕๐๑ – ๒๕๐๙) หากท่านได้เป็นเจ้าของทั้ง ๓ เล่มก็ ถือว่าท่านได้ครอบครองงานกวีนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ที่สุดของ จิตร ภูมิศักดิ์ กวีผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งของเมืองไทย

ขอแสดงความนับถือ

วิชัย นภารัศมี

(บรรณาธิการสำนักพิมพ์)

๓ มีนาคม ๒๕๕๑

อ่านต่อ >>

คำกล่าวของเคร็ก เจ. เรย์โนลด์ที่ว่า “จิตร ภูมิศักดิ์เป็นผู้กำเนิดสองครั้ง”ดูจะเป็นบทสรุปตำนานชีวิตของจิตรได้อย่างรวบรัดและชัดเจนที่สุด จากปรากฏการณ์ที่จิตรจบชีวิตลงในชายป่าเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙ และ “เกิดใหม่” หลังจากนั้น ๗ ปี

หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ชีวิตและผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกรื้อฟื้น และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ผลงานของเขาในนามปากกาต่าง ๆ ถูกนำมาเผยแพร่ไม่หยุดหย่อนพร้อม ๆ กับชื่อจิตร ภูมิศักดิ์กลายเป็นแบบอย่างของปัญญาชนปฏิวัติ ซึ่งทวีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นเมื่อมีการสร้างเรื่องเล่า/ตำนานชุดต่าง ๆ ขึ้นมาหนุนเสริม

จนกระทั่งปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านไปกว่า ๓๐ ปี และบทบาทนักปฏิวัติของเขาจะลดความสำคัญลงไป แต่ผลงานของจิตรยังคงปรากฏและสำแดงคุณค่าโดดเด่น โดยเฉพาะในแวดวงประวัติศาสตร์โบราณคดี และภาษาศาสตร์ ผลงานหลายชิ้น เช่น ความเป็นมาของคำสยาม,ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา, สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา ฯลฯ ได้รับการยกย่องในฐานะงานที่ “ทะลวงกรอบทะลายกรง”บุกเบิกแง่มุมใหม่จากกรอบคิดเดิม

นั่นเป็นเพราะจิตรเป็นผู้มีความรอบรู้แตกฉานในศาสตร์หลายแขนง ทั้งวิชาประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลป วรรณคดี ดนตรี ภาษา นิรุกติศาสตร์ ฯลฯ ผลงานของจิตรจึงเป็นการศึกษาค้นคว้าโดยใช้ความรู้หลายสาขาผนวกเข้าด้วยกันอย่างที่เรียกว่า“สหวิทยาการ” ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการศึกษาค้นคว้าอย่างนักปราชญ์รุ่นเก่า เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระยาอนุมานราชธน และนักปราชญ์ราชบัณฑิตอีกหลายท่าน ต่างกันแต่เพียงจิตร ภูมิศักดิ์เป็นสามัญชนคนธรรมดา และมีสถานะนักปฏิวัติซึ่งถูกกดขี่คุกคามด้วยอำนาจเผด็จการ ต้องถูกจับกุมคุมขัง ไม่มีโอกาสศึกษาค้นคว้าอย่างเต็มที่ ผลงานส่วนใหญ่ของเขาจึงยังเขียนไม่จบและไม่ได้เผยแพร่ในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลายความตึงเครียดลง ผลงานของจิตร ก็ถูกนำมาเผยแพร่และพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง แต่ก็เป็นเพียงบางชิ้น ผลงานส่วนใหญ่ยังไม่มีการพิมพ์ใหม่ กลายเป็นหนังสือหายากราคาแพงบนแผงหนังสือเก่าเท่านั้น

เพื่อให้ผลงานทรงคุณค่าของจิตรเผยแพร่ออกสู่สังคมอีกครั้ง สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จึงได้จัดตั้ง “โครงการสรรพนิพนธ์จิตร ภูมิศักดิ์” ขึ้น เพื่อรวบรวมผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ทั้งที่เคยตีพิมพ์มาแล้วและที่ค้นพบใหม่ออกพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง โดยมุ่งหวังให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด

ด้วยผลงานจำนวนมากของจิตร ทางสำนักพิมพ์ได้จัดแบ่งหมวดหมู่ตามเนื้อหาออกเป็น ๗ หมวดคือ หมวดประวัติศาสตร์,หมวดงานแปล, หมวดนิรุกติศาสตร์, หมวดรวมบทความวิจารณ์สังคม, หมวดรวมบทความวิจารณ์ ศิลปะ, หมวดรวมบทความวิจารณ์วัฒนธรรม, หมวดบันทึกส่วนตัว และได้บรรณาธิกรต้นฉบับใหม่ ตลอดจนจัดทำภาพประกอบ, บรรณานุกรม และดรรชนีเพิ่มเติม (ในกรณีหนังสือวิชาการ) เพื่อให้หนังสือชุดนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาความถูกต้องของเนื้อหาให้ตรงกับต้นฉบับลายมือเขียนของจิตรหรือฉบับพิมพ์ครั้งแรกทั้งเครื่องหมายวรรคตอนและสำนวนภาษาที่จิตรเขียนต่างไปจากปรกติ เช่นคำว่า ทาส ใช้ ษ สะกดแทน สซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ทางภาษาที่จิตรใช้ และเขียนบทความอธิบายไว้อย่างชัดเจน

นอกจากจิตร ภูมิศักดิ์ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานแล้ว “โครงการสรรพนิพนธ์ จิตร ภูมิศักดิ์” จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความไว้วางใจจากคุณป้าภิรมย์ ภูมิศักดิ์ ที่อนุญาตให้สำนักพิมพ์เล็ก ๆ เช่นเราได้มีโอกาสผลิตงานของนักคิดที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของสังคมไทย, คุณวิชัย นภารัศมี “เมือง บ่อยาง” บรรณาธิการหนังสือชุด ผู้มีความอุตสาหะ ค้นคว้า รวบรวมผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคำแนะนำอันมีค่าสำหรับกระบวนการบรรณาธิกร,อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการศึกษาผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์, คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว แห่งนิตยสารศิลปวัฒนธรรมผู้ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในทุกด้าน, คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี, คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เอื้อเฟื้อภาพประกอบ, คุณประชา สุวีรานนท์ ผู้ออกแบบปกหนังสือชุด รวมทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ไม่ได้เอ่ยนามทุกท่านที่ให้ความช่วยเหลือจนหนังสือชุดเล่มนี้สำเร็จออกมาได้

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

อ่านต่อ >>