Sale 50%

ขบวนการในความเคลื่อนไหว

Original price was: 350.00 บาท.Current price is: 175.00 บาท.

รหัส: 9786167667126 หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อหนังสือ

A Movement of Movements: Is Another World Really Possible?

ผู้เขียน

ทอม เมอร์ติส

ผู้แปล

ภัควดี วีระภาสพงษ์, สุนทรี เกียรติประจักษ์, ธีร์วนี วงศ์ทองสวรรค์, เพียรพร ดีเทศน์

จำนวนหน้า

400

ปีที่พิมพ์

2555

ISBN ปกอ่อน

9786167667126

สารบัญ

คำสำนักพิมพ์

คำนำ โดย ทอมเมอร์ติส

เสียงทางใต้

รองผู้บัญชาการมาร์กอสนาฬิกาทรายของชาวซาปาติสตา

เฌาเปโตรสเติดเลกองกำลังไร้ที่ดินแห่งบราซิล

วอลเคนเบลโลซีกโลกใต้

จิตตรูปปลิตฤดูแห่งมรสุม

เอ็นโจกิ เอ็นเจหู ยกเลิกหนี้สิน

เทรเวอร์ ถึงวาเนประกายไฟแห่งความหวังในชุมชนคนดำแห่งแอฟริกาใต้

เสียบทางเหนือ

โฌเซ่ โบเว่ขบวนการชาวนาสากล?

แบร์นาร์ดกัสซอง ปลุกปั้นแอทแทค

จอห์น เซลเลอร์สเสียงตะโกนจากรักคัส

ภูมิกา มุชฮาลา ขบวนการนักศึกษาต่อต้านโรงงานนรก

เดวิด เกรเบอร์ นักอนาธิปไตยยุคใหม่

บทวิเคราะห์

นาโอมิ ไคลน์ ทวงคืนสมบัติส่วนรวม

ไมเคิลฮาร์ดท์วันนี้คือบันดุง?

ทอมเมอร์ติสโลกานิยมรากหญ้า

เอมีร์ เซเดอร์ พ้นจากประชาสังคมฝ่ายซ้าย

อิมมานูเอลวอลเลอร์สไตน์กบฏต่อต้านระบบในยุคใหม่

เกี่ยวกับผู้เขียนผู้ให้สัมภาษณ์

หมายเหตุการแปล

กิตติกรรมประกาศ

ดรรชนี

คำนำสำนักพิมพ์

เมื่อครั้งที่หนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันปรากฏสู่สายตาผู้อ่านเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม 2546 อีกซีกโลกหนึ่ง นักเคลื่อนไหว ปัญญาชน และสมาชิกของขบวนการทางสังคมจากนานาชาติได้ไปรวมตัวกันที่เวทีสังคมโลกหรือ World Social Forum ในเมืองปอร์ตูอาเลเกร ประเทศบราซิล ในโอกาสนั้นพวกเขาประกาศออกมาว่า

เราคือขบวนการทางสังคมที่กำลังต่อสู้อยู่ทั่วโลก เพื่อต่อต้านโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ รวมทั้งต่อต้านสงคราม ลัทธิเหยียดผิว การแบ่งชั้นวรรณะ ความยากจน ระบบชายเป็นใหญ่ และการเลือกปฏิบัติและกีดกันทุกรูปแบบทางด้านเศรษฐกิจ ชาติพันธุ์ สังคม การเมือง วัฒนธรรม เพศ เราทุกคนกำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมในสังคม ความเป็นพลเมือง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม สิทธิสากล และสิทธิของประชาชนที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง

เรายืนหยัดอยู่ข้างสันติภาพ ความร่วมมือกันระหว่างประเทศ สังคมที่ยั่งยืนซึ่งตอบสนองความจำเป็นของประชาชนด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย สุขภาพ การศึกษา ข้อมูลข่าวสาร น้ำ พลังงาน การคมนาคม และสิทธิมนุษยชน

เราสมานฉันท์กับกลุ่มผู้หญิงที่กำลังต่อสู้กับความรุนแรงในสังคมชายเป็นใหญ่ เราสนับสนุนการต่อสู้ของชาวนาชาวไร่ ผู้ใช้แรงงาน ขบวนการคนเมือง และทุกกลุ่มชนที่กำลังถูกคุกคามด้านที่อยู่อาศัย การมีงานทำ ที่ดิน และสิทธิของพวกเขา

เราได้รวมพลังคนนับล้านเพื่อที่จะประกาศว่า อีกโลกหนึ่งเป็นไปได้ Another World is Possible…

ถ้อยคำป่าวร้องข้างต้น สะท้อนให้เห็นลักษณะของขบวนการทางสังคมร่วมสมัย ที่ขยายตัวขึ้นตามลำดับนับตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ถึงปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ในยุคก่อนกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย ขบวนการเหล่านี้เติบโตขึ้นหรือมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่อดีตฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่กำลังจมปลักอยู่กับบาดแผลแห่งความพ่ายแพ้ พวกมันเป็นผลผลิตของโลกยุคโลกาภิวัตน์ แบบเสรีนิยมใหม่ที่ไม่ยอมจำนนต่อบทกล่อมที่ว่า นับแต่นี้ต่อไปไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว” – There is no alternative (TINA)

เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 ขบวนการทางสังคมใหม่เหล่านี้ก็ยิ่งโดดเด่นและเชื่อมโยงเข้าหากันมากยิ่งขึ้น ราวกับใยแมงมุมแห่งการต่อต้านที่ถักทอไปตามห่วงโซ่ของการผลิต การค้า การบริโภค การลงทุน และการเงิน ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความสำคัญกระทั่งสำนักพิมพ์หัวก้าวหน้าชั้นนำของโลกอย่าง Verso ได้คัดสรร บทสัมภาษณ์บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในขบวนการที่โดดเด่นจากทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ รวมทั้งบทวิเคราะห์ที่ทบทวนอดีตและท้าทายอนาคตของขบวนการมารวมกันภายใต้ชื่อ A Movement of Movements : Is Another World Really Possible?

แม้ว่าต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้จะพิมพ์ออกมาครั้งแรกเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่เนื้อหาของมันยังคงร่วมสมัยและมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้อ่านที่ต้องการจะทำความเข้าใจพื้นฐานของความตึงเครียด การต่อต้าน และการแสวงหาทางเลือกในสังคมยุคโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ นอกจากนี้ ด้วยลักษณะของการถ่ายทอดผ่านบทสัมภาษณ์ ทำให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นและเข้าใจขบวนการสังคมต่างๆ ได้อย่างมีชีวิตชีวา มีเลือดมีเนื้อ ขณะเดียวกันบทวิเคราะห์ท้ายเล่มหลายชิ้นก็ชวนให้เรานำเนื้อหาในภาคปฏิบัติของขบวนการเข้ามาปะทะประสานกับภาคทฤษฎีและขบคิดกับมันอย่างจริงจัง

ถัดจากนี้ไป ฟ้าเดียวกันขออนุญาตให้ ขบวนการในความเคลื่อนไหว เล่มนี้ นำผู้อ่านเดินทางไปพบปะสนทนากับรองผู้บัญชาการมาร์กอสแห่งซาปาติสตาในป่าลากันคอนของเม็กซิโก, แกนนำของขบวนการที่เข้าไปยึดผืนดินรกร้างว่างเปล่าเพื่อนำมาทำการผลิตและจัดตั้งชุมชนของตนเองในบราซิล, ปัญญาชนซ้ายใหม่ในฟิลิปปินส์, นักเคลื่อนไหวของขบวนการคัดค้านโครงการพัฒนาหุบเขานรมทาในอินเดีย หนึ่งในมหากาพย์ของการต่อต้านเขื่อน, นักกิจกรรมชาวเคนยาที่ทำงานให้เครือข่ายรณรงค์ให้ยกเลิกหนี้สินที่ประเทศยากจนมีต่อองค์กรโลกบาล, แกนนำขบวนการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจากชุมชนโซเวโต สลัมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ของแอฟริกาใต้, เกษตรกรปัญญาชนผู้ก่อตั้งสหพันธ์ชาวไร่ชาวนายุคใหม่ในฝรั่งเศส, ผู้นำขบวนการติดอาวุธทางปัญญาเพื่อปฏิบัติการทางการเมืองที่โดดเด่นของยุโรป, นักกิจกรรมกลุ่มปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าชาวอเมริกัน, นักศึกษาต่อต้านโรงงานนรกในอเมริกา, รวมทั้งทำความรู้จักกับนักอนาธิปไตยยุคใหม่ ก่อนจะนั่งลงถกเถียงกันทางทฤษฎี เพื่อฉายภาพไปสู่อนาคตของขบวนการทั้งหลายและโลกใบใหม่ที่เป็นไปได้

คำนำ โดย ทอมเมอร์ติส

ขบวนการต่อต้านขัดขึ้นวัยกระเตาะที่เพิ่งค้นพบกันและกันในช่วงห้าปีที่ผ่านมา [1999-2004] – ท่ามกลางแก๊สน้ำตาในซีแอตเติล มหาวิทยาลัยโลกที่ปอร์ตูอาเลเกร การเดินขบวนต่อต้านสงครามอิรักของมวลชนมหาศาลพบว่า วันนี้ มันมายืนอยู่ในจุดที่แปลกประหลาด การประท้วงต่อต้านโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับฟองสบู่ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ต้องเผชิญหน้ากับลัทธิทหารของสหรัฐอเมริกาที่ กลับมารุกคืบอีกครั้ง ทั้งๆ ที่หลายคนเคยคิดว่ามันพ้นสมัยไปแล้ว เสียงของชนพื้นเมืองที่ป่าวประท้วงการกดขี่ทางการเมืองและสิ่งแวดล้อม ต้องเผชิญกับการคุกคามกดดันจากกองกำลังของรัฐและภาคธุรกิจ การแข็งข้อของประชาชนต่อนโยบายฉันทามติวอชิงตันที่เขย่าทวีปละตินอเมริกาจนสั่นสะท้านมาตั้งแต่ .. 1977 – จากบัวโนสไอเรสจนถึงการากัส จากปอร์ตูอาเลเกรจนถึงลาปาซตอนนี้กลับต้องยอมรับการขึ้นครองอำนาจของพรรคแรงงานภายใต้การนำของประธานาธิบดีลูล่าแห่งบราซิล ซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับเวทีสังคมโลกของขบวนการใหม่ พลังในการทำกิจกรรมทางสังคมที่ลุกโชนขึ้นทั้งในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ เพื่อต่อต้านการ ประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนํา 8 ชาติ (G8) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), การแปรรูปน้ำและไฟฟ้าให้เป็นของเอกชน, การสร้างทางหลวงและเขื่อนขนาดยักษ์ จำเป็นต้อง เติมเชื้อไฟอยู่เสมอ นี่คือชั่วขณะอันเหมาะสมที่จะมองย้อนกลับไปดูกระบวนการพัฒนาของสิ่งที่นาโอมิ ไคลน์ บรรยายว่าเป็นขบวนการแห่งขบวนการทั้งหลายใหม่ เพื่อพินิจพิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ทั้งในด้านที่หักเหและในด้านที่ต่อเนื่องกับขบวนการในโลกยุคเก่าที่สาบสูญไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจารีตของลัทธิคอมมิวนิสต์ปฏิวัติ อนาธิปไตย และสังคมนิยมในศตวรรษที่ 19 และ 20 และชั่งน้ำหนักภารกิจที่รออยู่ข้างหน้า

เราควรย้อนรำลึกถึงทัศนียภาพวังเวงใจที่ฝ่ายต่อต้านจัดขึ้นอย่างถึงรากถึงโคนต้องเผชิญในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ในทางการเมือง จุดจบของสงครามเย็นไม่เพียงมาถึงพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต พรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรป และพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ในเอเชียเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความเหลวแหลกของฝ่ายสังคมประชาธิปไตย เมื่อรัฐบาลซ้ายกลางหันไปดำเนินนโยบายตามระเบียบวาระของเสรีนิยมใหม่ ทั้งลดข้อบังคับและอ่อนข้อให้กลไกตลาด ภายใต้คำขวัญบังหน้าว่าเป็นทางเลือกที่สามในทางเศรษฐกิจ มาตรการการค้าเสรีถูกนำมาบังคับใช้ เริ่มแรกโดยอาศัยการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย (GATT) ต่อมาก็อาศัยองค์การการค้าโลก (WTO) หยิบยื่นความหายนะแก่เกษตรกรที่เพาะปลูกเพื่อยังชีพในโลกที่สาม สืบเนื่องจากผลิตผลของธุรกิจการเกษตรอเมริกันและสหภาพยุโรปที่ได้รับทุนอุดหนุนอย่างมหาศาลเข้ามาทุ่มตลาด องค์กรของกรรมกรต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับ เมื่อสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกลดน้อยลงทุกทีต้องดิ้นรนต่อสู้กับการตกต่ำของภาคอุตสาหกรรม และแบบแผนการทำงานที่ยืดหยุ่นในซีกโลกเหนือ และต่อสู้กับการขยายตัวของเขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกในซีกโลกใต้ ในทางวัฒนธรรมการครอบงำโลกของทุนนิยมอเมริกันบันดาลให้สื่อมวลชนเพียบแปล้ไปด้วยสินค้าที่เหมือนกันหมดจาก บรรษัทอเมริกา

ประกายวูบแรกของการแข็งข้อต่อระบบครั้งใหม่ไม่ได้จุดขึ้นในใจกลางพื้นที่ยุทธศาสตร์เก่า แต่ลุกโชนขึ้นมาในดินแดนรอบนอก ชั่วขณะที่เป็นสัญลักษณ์ของการก่อตั้งขบวนการ น่าจะเป็นวันที่ 1 มกราคม .. 1994 วันเดียวกับที่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือประกาศบังคับใช้ ซึ่งผลกระทบอย่างหนึ่งในหลายๆ ประการที่จะเกิดขึ้นก็คือ การลิดรอนสิทธิในการพึ่งพาตัวเองทางเศรษฐกิจของเกษตรกรปลูกข้าวโพด รายย่อยในเม็กซิโก ผู้ต้องเผชิญหน้ากับการทุ่มตลาดของข้าวโพดจากเกษตรกรอเมริกันที่ได้รับเงินทุนอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อส่งเสียงประท้วง กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตาหรือ EZLN ซึ่งเป็นกลุ่มพลังใหม่ที่รวมตัวกันในแบบกองทัพจรยุทธ์บุกเข้ายึดเมืองหกเมืองในแคว้นเชียปาส รากเหง้าแห่งการต่อต้านขัดขืนของประชาชนหยั่งรากลึกอยู่แล้วในดินแดนแห่งนี้ โดยได้รับการหล่อเลี้ยงจากเทววิทยาแห่งการปลดปล่อยและกลุ่มฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 1960 ซาปาติสตาซึ่งเติบโตมาจากภูมิหลังดังกล่าวพยายามสร้างความแปลกใหม่บางอย่างขึ้น โดยใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตเวิลด์ไวด์เว็บเป็นอาวุธหนัก ถึงแม้ซาปาติสตาจะยอมรับนับถือการต่อสู้ด้วยกองทัพจรยุทธ์เพื่อปลดปล่อยชาติในช่วงทศวรรษ 60 และ 70 แต่มันก็จงใจรักษาระยะห่างจากการต่อสู้แนวทางนั้น จากฐานที่มั่นในป่าดงดิบของเม็กซิโก ซึ่งความมั่งคั่งของ ทรัพยากรธรรมชาติฉายภาพตัดกันอย่างยิ่งกับความยากไร้แสนเข็ญของสามัญชน ผู้นำของขบวนการซาปาติสตาที่อ้างว่าตนเองไม่ใช่ผู้บัญชาการ (Comundante) แต่พูดเล่น ว่าเป็นแค่รองผู้บัญชาการมาร์กอส อธิบายว่า ซาปาติสตาไม่ได้มีเป้าหมายโค่นล้มระบอบการปกครองฉ้อฉลโสมมของพรรค PRI ในกรุงเม็กซิโกซิตี แต่ต้องการเพียงแค่สร้างการยอมรับให้แก่ชนพื้นเมืองกลุ่มน้อยที่ขบวนการเป็นตัวแทน ใน .. 1996 ซาปาติสตาเรียกร้องให้มีการพบปะสังสรรค์ (encuentro) ในระดับนานาชาติของขบถทุกคนทั่วโลกเพื่อมนุษยชาติและต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ เสียงเรียกร้องนี้สร้างแรงดีดสะท้อนขึ้นในหมู่ผู้ถูกกดขี่และผู้แสวงหาความจริง กลุ่มYaBasta! ซึ่งตั้งชื่อตามคำขวัญของซาปาติสตาที่ว่าพอกันที!” ก่อตั้งขึ้นในเมือง หลายเมืองทั่วทั้งทวีปยุโรป โดยเป็นผลพวงตามมาหลังจากการจัดการพบปะสังสรรค์ในปี .. 1998 กลุ่มเหล่านี้นี่เองที่จัดตั้งเครือข่ายปฏิบัติการโลกของประชาชน (People’s Global Action) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มแรกๆ ที่ส่งเสียงเรียกร้องให้ประท้วงการประชุมของ WTO ประจำปี 1999 ในเมืองซีแอตเติล โดยร่วมมือกับ สมาคมรักคัส (Ruckus Society) และเครือข่ายปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า (Direct Action Network) ที่มีฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา พวกเขายังเป็นหนึ่งในไม่กี่กลุ่มที่เป็นแกนนำการประท้วงสงครามยูโกสลาเวียของรัฐบาลคลินตันด้วย

เส้นทางอีกสายหนึ่งที่รอนแรมจากซีกโลกใต้ขึ้นไปสู่ซีกโลกเหนือตลอดช่วงทศวรรษ 1990 คือขบวนการของเกษตรกรยังชีพที่ต่อต้านเมล็ดพันธุ์ตัดแต่งพันธุกรรมและแผนการทุ่มตลาดของธุรกิจการเกษตรสหรัฐฯ และยุโรป ใน .. 1993 ชาวนา ครึ่งล้านคนในเมืองบังคาลอร์เดินขบวนประท้วงใบสั่งการค้าเสรีของการประชุมรอบอุรุกวัย ใน .. 1996 รูปถ่ายขาวโพลนติดตาของชาวนาไร้ที่ดินชาวบราซิลที่กำลังเดินขบวนประท้วง ซึ่งถ่ายโดยเซบาสเตียว ซัลกาโด ทำให้นานาชาติหันมาสนใจการต่อสู้อันยาวนานของขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน (Sem Terra) สหภาพเกษตรกรรายย่อยในยุโรปจับมือกับชาวนาในละตินอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ แอฟริกาใต้ ร่วมกันก่อตั้งเวียกัมเปซินา (Via Campesina) เป็นการผนึกกำลังเครือข่ายที่กำลังเติบโตของขบวนการต่อสู้ในท้องถิ่นเพื่อต่อสู้กับบรรษัทอาหารข้ามชาติ ซึ่งวาดหวังจะเข้ามาควบคุมระบบเกษตรกรรมโลกให้เป็นไปตามแนวทางเสรีนิยมใหม่โดยแผนการนี้ก้าวกระโดดไปข้างหน้าครั้งใหญ่เมื่อ GATT ถูกผนวกเข้าไปอยู่ใน WTO ใน .. 1994 ในซีกโลกใต้อีกเช่นกันที่การต่อต้านการแปรรูปน้ำและไฟฟ้า ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในระเบียบวาระเสรีนิยมใหม่ ได้ส่งผลสะเทือนมากที่สุด ขบวนการต่อสู้เหล่านั้น ได้แก่ คณะกรรมาธิการวิกฤติการณ์ไฟฟ้าโซเวโต (Soweto Electricity Crisis Committee) และสมัชชาต่อต้านการแปรรูป (Anti-Privatization Forum) ในแอฟริกาใต้ La Coordinaraในโบลิเวีย และการประท้วงเขื่อนนรมทาในอินเดีย

กระนั้นก็ตาม ยังมีสายป่านอีกเกลียวหนึ่ง แต่คราวนี้มีฐานอยู่ในซีกโลกเหนือ และเป็นปีกขวาของพันธมิตรที่ก่อตัวขึ้นเพื่อต่อต้าน IMF, ธนาคารโลก และ WTO สายนี้ประกอบด้วยกลุ่มเอ็นจีโอที่ต่อต้านความยากจนอ็อกซ์แฟม (Oxfam) และองค์กรในลักษณะเดียวกันที่มีความถึงรากถึงโคนมากกว่า องค์กรเหล่านี้พบว่าภารกิจของตนในแอฟริกาและละตินอเมริกามีแต่จะหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจาก ภาระหนี้สินและนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สถาบันการเงินโลกยัดเยียดให้แก่ภูมิภาคเหล่านั้น สหภาพแรงงานอเมริกันเองก็ถูกกดดันอย่างหนักจากสมาชิกของตนให้หาทางต่อต้านการย้ายฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมจากซีกโลกเหนือไปซีกโลกใต้ ในขณะที่ขบวนการนักศึกษาต่อต้านโรงงานนรก’ (Students against Sweatshops) ถูกปลุกขึ้นมาโดยสหภาพแรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปสหรัฐฯ เพื่อประท้วงการ ขูดรีดแรงงานอย่างร้ายกาจของเสื้อผ้ายี่ห้อแก๊ปและไนกี้ในเขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักสากลนิยมชาวฝรั่งเศสหันมาสนใจปัญหาอำนาจอันไม่มีขอบเขตจำกัดของทุนการเงินโดยตรง ในเดือนธันวาคม .. 1997 ขณะที่การพังทลายของระบบการเงินและวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจแผ่ขยายไปทั่วเกาหลีและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อิกนาซิโอ ราโมเนต์ เรียกร้องขึ้นมาในหน้าบทบรรณาธิการของ Le Monde diplomatiqueเพื่อร่วมกันรณรงค์ให้เก็บภาษีโทบินจากธุรกรรมทางการเงิน โดยถือเป็นสัญลักษณ์ก้าวแรกที่จะปลดเขี้ยวเล็บตลาดในฤดูร้อนปีถัดมา ขณะที่เงินรูเบิลดิ่งเหวและรัสเซียระงับการชำระหนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาล สาขาขององค์กรแอทแทค (ATTAC) ผุดขึ้นทั่วทั้งประเทศฝรั่งเศส และขยายออกไปนอกประเทศด้วย ดังที่แบร์นาร์ดกัสซอง ผู้บริหารองค์กรเล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ เครือข่ายของ ATTAC กับพรรคแรงงานในบราซิลคือแรงผลักดันเบื้องหลังการก่อตั้งเวทีสังคมโลกที่เมืองปอร์ตูอาเลเกร อำนวยสถานที่ให้ขบวนการแห่งขบวนการทั้งหลายมาพบปะกันทุกปีเป็นเวลาสามปีติดต่อกันแล้ว [2001-2003] นักกิจกรรมหลายหมื่นคนจากละตินอเมริกา ยุโรป และจำนวนน้อยกว่าจากทวีปอเมริกาเหนือ แอฟริกา และอนุทวีปอินเดีย ฝ่าเปลวร้อนในภาคใต้ตอนล่างของประเทศบราซิล เบียดเสียดแออัดกันในการประชุมเชิงปฏิบัติการ และการสัมมนา เพื่อเสวนาถึงประเด็นทางจริยธรรม การเมือง และเศรษฐกิจของโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ และทางเลือกอื่น ในระหว่างนั้นการเดินขบวนของมวลชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเพื่อประท้วงการประชุมเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาที่เมืองควิเบกซิตีในเดือนเมษายน 2001 และการประชุมสุดยอดจีแปดในเมืองเจนัวอีกสามเดือนต่อมา

หนังสือพิมพ์ด้านธุรกิจการเงินแสดงอาการดีใจจนออกนอกหน้าเมื่อลงประกาศมรณกรรมของสิ่งที่มันตั้งชื่อว่า ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ หลังจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน แต่การฉลองชัยยังเร็วเกินไป เพราะผู้เข้าร่วมงานเวทีสังคมโลกในเดือนมกราคม 2002 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 5 เท่า ในเดือนพฤศจิกายน ตัวแทนองค์กรต่างๆ 40,000 คนเบียดเสียดกันในการประชุมเวทีสังคมยุโรปที่เมืองฟลอเรนซ์ ตบท้ายด้วยการเดินขบวนต่อต้านสงครามอิรัก ซึ่งตำรวจอิตาลีประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมกว่า 450,000 คน กระนั้นก็ตามลัทธิทหารของสหรัฐฯ ที่รุกคืบอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ .. 2001 กลายเป็นประเด็นปัญหาชุดใหม่สำหรับฝ่ายค้านที่ถึงรากถึงโคน นักทฤษฎีที่ขบวนการในซีกโลกเหนืออ่านกันอย่างกว้างขวางที่สุด กล่าวคือ โทนีเนกรี และไมเคิลฮาร์ดท์ กับหนังสือชื่อ Empireและนาโอมิ ไคลน์ กับหนังสือชื่อโนโลโก้ (No Logo)ต่างเพ่งเป้าไปที่อิทธิพลของบรรษัทข้ามชาติและสถาบันการเงินโลก โดยมองข้ามหรือ ในกรณีของฮาร์ดท์กับเนกรีก็คือปฏิเสธบทบาทของสหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจทุนนิยมขั้วเดียว มีเพียงคนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านสหรัฐฯ ในประเด็นการทิ้งระเบิดที่ยูโกสลาเวีย แต่เมื่อมีการถล่มอัฟกานิสถาน และซ้ำร้ายด้วยการที่กองกำลังแองโกลอเมริกันเข้าไปยึดครองอิรัก หากขบวนการแห่งขบวนการทั้งหลายต้องการก้าวไปข้างหน้า มันจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจว่ากองทัพและอำนาจทางการเมืองสหรัฐฯ ทำงานอย่างไร ไม่ใช่แค่ในอิรัก แต่ทั่วทั้งตะวันออกกลาง เอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา เพื่อมองทะลุเห็นกลไกของมหาอำนาจที่อยู่เบื้องหลังหน้าฉากพหุภาคีของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไม่ต่างจาก IMF, ธนาคารโลก หรือ WTO เพื่อสร้างแรงต่อต้านจัดขึ้นระดับโลกที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะยังความพ่ายแพ้แก่ความทะเยอทะยานของลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่ในวอชิงตัน พร้อมกับเป้าหมายตามแนวเสรีนิยมใหม่ของมัน

ปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า (direct-action) อันเปี่ยมจินตนาการและความเชี่ยวชาญในการสื่อสารของขบวนการประท้วงใหม่เป็นที่จับตามองของสื่อมวลชนอย่างมาก มันมีประโยชน์ในการเผยแพร่และโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยกระจายข่าวเป็นวงแหวนที่กระเพื่อมออกไปเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีงานเขียนที่มีสีสันมากมายไชโยโห่ร้องให้กับขอบเขตกว้างขวางระดับโลกและความหลากหลายของกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ ถึงแม้จะเห็นพ้องกับสัญชาตญาณขบถของขบวนการก็ตาม แต่บทสัมภาษณ์และบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เคยตีพิมพ์มาก่อนในวารสาร New Left Reviewที่มีฐานอยู่ในลอนดอน มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างไปจากงานเขียนที่กล่าวถึงข้างต้น กล่าวคือ เราต้องการชั่งน้ำหนักขบวนการใหม่ ทั้งจำนวนสมาชิกที่แท้จริงและการปลูกฝังรากฐาน การหาเงินทุนและโครงสร้างภายในองค์กร การวิเคราะห์และเป้าหมายโดยไม่ละสายตาไปจากขนาดของศัตรูที่พวกเขากำลังเผชิญหน้า ซึ่งได้แก่ อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ฝังรากลึกทั่วโลก โดยมีอำนาจทางทหารที่หาใครเปรียบไม่ได้ของสหรัฐอเมริกาคอยหนุนหลัง

ในหนังสือเล่มนี้ บุคคลระดับแกนนำจากขบวนการต่อสู้ที่มีอยู่หลากหลาย ทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ต่างมาเสวนาถึงความคิดถึงรากถึงโคนของตนเอง ประวัติ และพัฒนาการของการต่อสู้ ปัญหาที่เผชิญหน้าและพันธมิตรที่ค้นพบ แม้ว่าอายุของคนเหล่านี้มีตั้งแต่ 26-73 ปี แต่ส่วนใหญ่มีชีวิตวัยเด็กในยุคทศวรรษ 1960 และได้รับแรงบันดาลใจจากขบวนประท้วงในยุคก่อนที่สูญสลายไปแล้ว คนรุ่นอายุสามสิบ จัดเป็นหน่วยนักรบที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสอง เติบโตขึ้นมาในบริบทโลกยุคทศวรรษ 1980 และ 1990 ที่เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้ว อย่างไรก็ดี มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หนังสือเล่มนี้ไม่สามารถรวบรวมมาครบถ้วน ในทวีปยุโรป ความเคลื่อนไหวอันมีชีวิตชีวาของชาวอิตาเลียนขาดหายไป และที่ขาดหายไปอีกอย่างคือโครงการรณรงค์ NoBordersที่จัดค่ายฤดูร้อนแบบเปิดที่พรมแดนโปแลนด์เยอรมนีและยูเครนติดต่อกันมาสามปีแล้ว ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้าที่ทะลวงผนังกำแพงของป้อมปราการยุโรป ในอีกแง่หนึ่ง กระแสเสียงเหล่านี้สะท้อนถึงขีดจำกัดทางภูมิศาสตร์ของขบวนการแห่งขบวนการทั้งหลายกล่าวคือ เรามีกระบอกเสียงจากแคนาดา สหรัฐอเมริกาเม็กซิโก และบราซิล รวมทั้งฝรั่งเศส อินเดีย แอฟริกาใต้ เคนยา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่เสียงจากตะวันออกกลางกลับขาดหายไป เช่นเดียวกับเสียงจากเอเชีย ตะวันออก ซึ่งรวมทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่ภูมิภาคเหล่านี้กำลังตกเป็นด่านหน้าในการรุกรานของลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่ ในภาคสุดท้ายของหนังสือคือส่วนของบทวิเคราะห์มีการหยิบยกประเด็นปัญหาทางทฤษฎีในภาพรวมบางประการที่เป็นอุปสรรคดักทางของขบวนการทั้งหลาย ที่มีเป้าหมายจะสร้างฝ่ายต่อต้านระดับโลก เพื่อต่อกรกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ในปัจจุบัน

ทดลองอ่าน