Sale 10%

อัตลักษณ์ไทย : จากไทยสู่ไทย ๆ

Original price was: 250.00 บาท.Current price is: 225.00 บาท.

รหัส: 9786167667331 หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

ผู้เขียน

ประชา สุวีรานนท์

จำนวนหน้า

196

ปีที่พิมพ์

2554

ISBN ปกอ่อน

9786167667331

สารบัญ

คำนำเสนอโดย ทรงศักดิ์ เปรมสุข

คำนำผู้เขียน

อัตลักษณ์ไทย : จากไทยสู่ไทยๆ

ประชา สุวีรานนท์

  1. ไทยๆ : Vernacular Thai
  2. ไทยๆ กับความหมายเชิงโครงสร้าง
  3. ไทยๆ คือความเป็นอื่น
  4. อีสาน : ไทยๆ แบบเถื่อน
  5. ต่างด้าวในแดนตน

บริโภคความเป็นไทย

เกษียร เตชะพีระ

บทคัดย่อ

1.บทนำ

บริโภคนิยมไม่ใช่เรื่องบริโภควัตถุ โฆษณาไม่ใช่เรื่องขายสินค้า

2.ตัวบท

นิยมบริโภคกับนิยมชาติ

3.บทสรุป

ความเป็นไทยแบบโพสต์โมเดิร์น

4.ภาคผนวก

คำไขวัฒนธรรมร่วมสมัย (เรียงลำดับตามตรรกะของข้อถกเถียง)

คำนำเสนอ

ทรงศักดิ์ เปรมสุข

ประชาทำงานออกแบบและเขียนหนังสือเกี่ยวกับงานออกแบบอย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้เขียนเล่นๆ แต่ทำอย่างจริงจังจนรวมเล่มให้เราได้อ่านกันอย่างจุใจ

ประเด็นที่คัดเลือกนำมาเสนอ ผ่านการค้นคว้าหาข้อมูลอย่างละเอียดเป็นจุดเด่นในงานเขียนของประชา เรื่องราวของงานออกแบบที่ส่งผลสะเทือนต่อการใช้ชีวิตของผู้คนและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมที่ประชาตั้งใจเขียนอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นเนื้อหาที่ทำให้คนในและนอกวงการได้ซึมซับ ได้ตระหนักถึงบทบาทและคุณค่าของงานศิลปะแขนงนี้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

งานออกแบบไม่ใช่เป็นเพียงงานแก้ปัญหาให้กับการใช้ชีวิต ไม่ใช่เป็นแค่การสื่อสารให้เข้าใจง่าย แต่ต้องเป็นงานที่สร้างความรื่นรมย์ พร้อมแสดงตัวตนให้แจ่มชัด แตกต่าง โดดเด่นเป็นจุดสนใจ

ระเบียงไม้บ้านริมคลองเปิดโล่งรับลมไม่กลัวแดดกลัวฝน บ้านใต้ถุนสูงกับงานหลากหลายในฤดูร้อนและพร้อมอพยพขึ้นชั้นสองในฤดูน้ำหลาก ผ้าซิ่นไหมทอลายนุ่มสบายสวมใส่ง่ายประณีตงดงาม ย่ามฝ้ายทอมือสะพายบ่าใส่ของใช้หยิบง่ายใกล้ตัว กระเบื้องหลังคาโบสถ์สีส้มสดใสมองเห็นชัดเจนแต่ไกลแกงเผ็ดใส่สมุนไพรพื้นบ้านหอมกรุ่นรสจัดจ้าน น้ำพริกแกล้มผักสดนานาชนิดปั้นกินกับข้าวเหนียวร้อนในกระติ๊บไม้ไผ่ ธงทิวประดับประดาห้อยระย้าเพิ่มสีสันงานบุญให้สนุกสนานมีชีวิตชีวา

ผมเกิดมาไม่เคยได้เห็นและสัมผัสสิ่งเหล่านี้ ผมเติบโตในร้านขายของชำริมถนนสมเด็จเจ้าพระยา ตรงข้ามโรงพยาบาลบ้า ปากคลองสาน เห็นคนบ้าหนีออกจากโรงพยาบาลลุยน้ำข้ามคลองเพื่อหลบเจ้าหน้าที่ ขอเข้ามาแอบที่บ้านบ่อยๆ ได้ออกกำลังกับเพื่อนเด็กห้องแถวข้างบ้านด้วยการเตะฟุตบอลพลาสติกบนฟุตบาตข้างถนน เที่ยวงานประจำปีในตลาด มีโรงงิ้วแสดงเสียงดังไม่รู้เรื่องแต่ตื่นเต้นเร้าใจ ดูโทรทัศน์ขาวดำที่บ้าน ไปพาหุรัดกับแม่ซื้อผ้าร้านแขกมาตัดเสื้อใส่เอง ไปดูหนังฝรั่งที่วังบูรพานานๆ ครั้ง นั่งรถเมล์เดินข้ามสะพานพุทธไปโรงเรียนสวนกุหลาบ ช่วยทำหนังสือประจำปีของโรงเรียน เป็นงานออกแบบหนังสือชิ้นแรกๆ ที่ได้ร่วมงานกับประชาและเพื่อนๆ

นักออกแบบจากกรุงเทพฯ ล้วนถูกหล่อหลอมด้วยตัวอย่างและค่านิยมตะวันตกที่ได้จับต้องอย่างฉาบฉวย โอกาสในอดีตที่ได้เห็นความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงของวงการออกแบบโลก สามารถลอกเลียนแบบก่อนใครได้หมดไปแล้ว ปัจจุบันน่าจะเสียเปรียบนักออกแบบต่างจังหวัด (ถ้ายังใช้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง) จากแม่ฮ่องสอน สุพรรณบุรี มหาสารคาม หรือปัตตานี ที่ร่ำรวยมากด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นและมีวัตถุดิบให้เลือกใช้อย่างมหาศาลด้วยซ้ำไป ในวันที่เครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานไม่มีใครได้เปรียบ กันจนเกินไปนัก ในเวลาที่ทุกคนสามารถรับรู้ข่าวสาร ค้นหาข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทั่วถึงและเท่าเทียม โอกาสในการหาความรู้ไม่ได้แตกต่างราวฟ้ากับเหวเหมือนในอดีต กำลังซื้อจากทั่วทุกมุมโลกประกาศชัดแล้วว่า ต้องการแต่สินค้าคุณภาพที่แตกต่าง มีความคิดสร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเท่านั้น งานออกแบบ แบบไทยกรุงเทพ ที่ตั้งใจลอกเลียนรสนิยมตะวันตกแบบดาดๆ จึงเป็นเรื่องไม่น่าตื่นเต้น และไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอีกต่อไป

การออกแบบที่สะท้อนความเป็นไทย หรือแบบไทยๆ ที่ประชานำเสนอ ในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันเสมอมาว่า ไทยหรือไม่ไทย ต้องมีหน้าจั่วหรือไม่มีหน้าจั่ว หรือต้องตกแต่งด้วยลายกนกเท่านั้นถึงจะเรียกว่าไทยแท้ ความโดดเด่นของงานออกแบบไทยควรจะต้องถูกทำความเข้าใจใหม่ ทำความเข้าใจกันตั้งแต่นักออกแบบจนถึงผู้มีอำนาจในการสั่งงานบริหารประเทศว่า การออกแบบมิใช่มุ่งหยิบนำชิ้นส่วนสัญลักษณ์มาใช้อย่างไร้คุณค่าและรสนิยม ถ้าอยากจะทำงานอวดว่านี่คืองานไทย ก็ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า งานออกแบบไทยคืองานสะท้อนชีวิตของคนไทยทุกหมู่เหล่า งานออกแบบควรมุ่งประโยชน์ใช้สอย สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่แทรกในทุกรายละเอียดของวิถีชีวิต มีเรื่องเล่าขานที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างช้านาน ที่สำคัญสามารถนำมาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพกับวันปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม

ประชาเขียนวิเคราะห์ถึงการออกแบบ “ไทยๆ” อย่างละเอียด ตั้งใจชี้ให้เห็นถึงความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลง งานเก่าปะทะงานใหม่ งานที่หยุดนิ่งเงียบงันปะทะกับงานที่มีพลังให้กล่าวขวัญ ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ดียิ่งสำหรับนักออกแบบไทยรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เข้าถึงความต้องการของโลกในอนาคต เพื่อให้สามารถก้าวเดินออกไปสร้างงานให้โลกได้ตื่นเต้น ได้สัมผัสความรู้สึกไทยที่งดงามไม่เหมือนใคร ได้อย่างภาคภูมิ

ทรงศักดิ์ เปรมสุข

กรรมการผู้อำนวยการ

บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด

กันยายน 2554

คำนำผู้เขียน

ในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ชนชั้นกลางกำลังตื่นตัวและตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ไทย ความสนใจนี้ก่อให้เกิดงานศึกษาและข้อเขียนเชิงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก มีหลายคนเห็นว่า ความเป็นไทยกระแสหลักเสื่อมลงเพราะถูกรัฐถือเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจทางวัฒนธรรมการเมือง และผูกขาดสิ่งนี้ไว้กับรัฐราชการ อีกทั้งเป็นข้ออ้างในการคัดทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมกลุ่มอื่นๆ ที่มีลักษณะไม่เหมือนกับของรัฐราชการ นอกจากนั้น ยังมีงานเขียนจำนวนหนึ่งที่ชี้ว่ามันมีบทบาทในการทำลายตนเอง เช่น ใช้กันอย่างเลอะเทอะ เน้นแต่รูปแบบและพิธีกรรม จำกัดเสรีภาพในการประยุกต์ใช้ อีกทั้งไม่สอดคล้องกับสำนึกใหม่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งผลคือกลายเป็นการแช่แข็งวัฒนธรรมไทย

ข้อเขียนชื่อ “อัตลักษณ์ไทย : จากไทย สู่ไทยๆ” แม้จะเกี่ยวพันกับความเป็นไทยกระแสหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นการศึกษาเรื่องนั้นโดยตรง ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการสำรวจวิจัยเรื่องที่เล็กกว่านั้น นั่นคือ ดีไซน์ แบบ “ไทยๆ” หรือวัตถุทางวัฒนธรรมประเภทหนึ่งซึ่งมีบทบาทเป็นตัวแทนของความเป็นไทยแบบใหม่ และ “ทางเลือก” ที่เป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ ตลอดจนกลายเป็นกระแสใหญ่ในวงการออกแบบในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา

กล่าวได้ว่า ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจหรือยุคฟองสบู่แตกใน พ.ศ. 2540 นอกเหนือจากความสำเร็จทางธุรกิจ วงการโฆษณาของไทยซึ่งมียอดมวลรวมปีละหลายพันล้านบาท ได้มาถึงจุดที่เรียกว่าปฏิวัติทางการสร้างสรรค์ โฆษณาและกราฟิกดีไซน์กลายเป็นสื่อใหม่และภาษาใหม่ วงการจึงตื่นตัวในเรื่องอัตลักษณ์ไทยและทะเยอทะยานที่จะเสาะหารูปแบบและเนื้อหาใหม่ๆ มาดัดแปลงและแต่งเติมให้แก่ความเป็นไทยกระแสหลัก ทางหนึ่งคือกลับไปหาวัฒนธรรมของชาวบ้าน และก่อตัวเป็นปรากฏการณ์ “ไทยๆ” ขึ้นมาหลังจากนั้นกระแสนี้ไม่ได้ตกลง แม้เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงหลังฟองสบู่แตก ไทยๆ ก็ยังเฟื่องฟูต่อมา ซึ่งอาจจะเพราะสอดคล้องกับกระแสเศรษฐกิจและการเมืองที่หันไปหาความพอเพียงและภูมิปัญญาอันเกิดในท้องถิ่นของตนเอง

ข้อเขียนชิ้นนี้มีกำเนิดในรูปบทความ/การ์ตูนชื่อ “ภาษาของเขา ตัวตนของเรา : ภาษาชาวบ้านกับตัวตนของนักออกแบบ” (ตีพิมพ์ใน “อัตตะ : รวมผลงานของ 10 นักออกแบบกราฟิกดีไซน์ไทย” พ.ศ. 2539) ซึ่งผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการนำเอาวัตถุสิ่งของที่มีลักษณะ “ไทยๆ” มาใช้เป็นตัวแทนความเป็นไทย โดยเฉพาะในหมู่นักออกแบบ และกว่าสิบปีหลังจากนั้น เมื่อปรากฏการณ์นี้คลี่คลายขยายตัวขึ้นอีก ผู้เขียนได้พยายามรวบรวมตัวอย่างเพิ่มเติมและขยายคำอธิบายให้ยาวขึ้น อีกทั้งนำไปเสนอในรูปของการบรรยายในที่ต่างๆ หลายครั้ง

ไทยๆ มีลักษณะส่วนตัว จำกัดวง และไม่เป็นทางการ เป็นการคลี่คลายของความเป็นไทยในโลกธุรกิจเอกชน ที่ไม่ยอมผูกติดกับความเป็นไทยของรัฐราชการ และอุดมการณ์ชาตินิยมและอนุรักษนิยม ทั้งในทางที่ทำให้ความเป็นไทยกลายเป็นเรื่องทางโลกย์มากขึ้นเช่นที่ถูกกล่าวถึงในบทความของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ (ซึ่งเขียนขึ้นในยุคเดียวกัน และผู้เขียนได้ขออนุญาตนำมาตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้) และในทางที่สร้างสรรค์นวัตกรรมหรือทางเลือกใหม่ๆ เช่นที่ถูกกล่าวถึงในผลงานของผู้เขียน

ไทยๆ ในข้อเขียนชิ้นนี้ แม้จะเคยมีลักษณะ “ไม่ไทย” และเป็นวัฒนธรรมของ “คนอื่น” แต่ต่อมาถูกยกย่องเป็น “ทางเลือก” และเป็นที่ยอมรับอย่างสูง ถึงขนาดที่มีสถานะเป็นตัวแทนของความเป็นชาติในหลายๆ วงการ เช่น ศิลปะ และดีไซน์ นอกจากนั้น ไทยๆ จะไม่ได้ถูกศึกษาในแง่ของเนื้อหาสาระหรือ content ที่มีอยู่ภายในตนเอง แต่ในฐานะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และบ่งบอกตัวตนของผู้ดูหรือผู้เสพ หรือที่เรียกว่า การสร้าง subject position ของผู้ดู

ผู้เขียนมีความเห็นว่าไทยๆ เป็นผลผลิตทางอ้อม (by product) ของความเป็นไทยกระแสหลักที่ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดและไม่ยืดหยุ่น มีหน่ออ่อนจากความเชื่อในเรื่องเนื้อแท้ของความเป็นไทย และการแบ่งแยกฐานานุศักดิ์ หรือจากการวิเคราะห์ในเชิงโครงสร้างความเป็นไทยนั่นเองที่ได้สร้างไทยๆ หรือคู่ตรงข้ามเชิงปฏิเสธขึ้นมา

ไทยๆ อาจจะเคยดูเหมือนกองขยะทางวัฒนธรรมที่หลายคนรังเกียจ แต่จริงๆ แล้ว เป็นขุมคลังทางปัญญาที่เราสามารถลงไปขุดคุ้ยหาของมีค่า และสามารถนำกลับมาใช้ได้เสมอ ในการนี้เอง นักออกแบบย่อมมีบทบาทอย่างมากในการดัดแปลง และเมื่อมีวาระโอกาสก็สามารถอนุโลมให้เลื่อนฐานะจากต่ำไปสูงและเปลี่ยนความหมายจากวัตถุทางวัฒนธรรมเป็นศิลปวัตถุฐานานุศักดิ์ของความเป็นไทยในวัตถุสิ่งของต่างๆ เกิดจากการสร้างความหมายใหม่ และทำลายบริบทเดิมของขยะวัฒนธรรมเหล่านั้น สิ่งนี้ทำได้โดยผ่านการกลั่นกรองหรือดัดแปลงของดีไซเนอร์

ปรากฏการณ์ไทยๆ อาจจะเข้ามาผ่อนคลายความตึงเครียดหรือเคร่งครัดของไทยประเพณี และเสริมศักดิ์ศรีของชนชั้นนำทางศิลปะและวัฒนธรรม โดยเฉพาะเมื่อชนชั้นนำต้องการจะประกาศตัวบนเวทีโลก ไม่ว่าจะในเชิง เศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรม แต่ถึงที่สุดแล้ว ไทยๆ หรือแรงปรารถนาที่จะเป็นไทย แม้จะไม่ผูกติดกับแนวทางอนุรักษนิยม ก็ยังเป็นการสร้างระยะห่างระหว่างชาวบ้านกับชนชั้นนำ

มองผ่านไทยๆ อันเป็นผลงานของนักออกแบบไทยทั้งหลาย ผู้อ่านอาจจะมองทะลุไปถึงคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของความเป็นไทยกระแสหลัก ที่สำคัญหนังสือเล่มนี้ต้องการเสนอให้นักออกแบบทำความเข้าใจกับอัตลักษณ์ที่ตนสร้างขึ้น และบทบาททางสังคมของตนเองด้วย

ประชา สุวีรานนท์

กันยายน 2554