ข้อมูลทั่วไป
ผู้เขียน | ธงชัย วินิจจะกูล |
---|---|
จำนวนหน้า | 264 |
ปีที่พิมพ์ | 2559 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667492 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667508 |
ปกแข็ง 360.00 บาทปกอ่อน 270.00 บาท
ผู้เขียน | ธงชัย วินิจจะกูล |
---|---|
จำนวนหน้า | 264 |
ปีที่พิมพ์ | 2559 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667492 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667508 |
คำนำสำนักพิมพ์
คำนำผู้เขียน
ภาค 1 ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม
บทที่ 1 ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม : จากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน
บทที่ 2 สภาวะอาณานิคมของสยามและกำเนิดประวัติศาสตร์ชาติไทย
บทที่ 3 ประวัติศาสตร์การสร้าง “ตัวตน”
บทที่ 4 การได้ดินแดนกับความทรงจำอำพราง
บทที่ 5 “เสียดินแดน” เป็นประวัติศาสตร์หลอกไพร่ไปตายแทน(เพราะ “ไทย” ไม่เคยเสียดินแดน)
บทที่ 6ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชาติไทยกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (เฉยๆ)
ภาค 2 ไทยศึกษาแบบราชาชาตินิยม
บทที่ 7 ความรู้เกี่ยวกับตัวตนของไทยภายใต้โลกคับแคบแบบเจ้ากรุงเทพฯ
ภาคผนวก
ภาคผนวก 1 วิพากษ์ ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล : “ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม จากยุคราชาชาตินิยมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน” โดย สายชล สัตยานุรักษ์
ภาคผนวก 2 อย่าดูเบาวิธีวิทยา : ตอบอาจารย์สายชล
ประวัติผู้เขียน
ประวัติการตีพิมพ์
บรรณานุกรม
ดรรชนี
… พ่อเป็นเสาหลักของบ้านนะครับ บ้านของผมหลังใหญ่นะครับ ใหญ่มาก เราอยู่กันหลายคน ผมเกิดมานี่บ้านหลังนี้ก็สวยงามมากแล้ว… บรรพบุรุษของพ่อ เสียเหงื่อ เสียเลือด เอาชีวิตเข้าแลกกว่าจะได้บ้านหลังนี้ขึ้นมานะครับ จนมาถึงวันนี้ พ่อคนนี้ก็ยังเหนื่อยที่จะดูแลบ้าน และก็ดูแลความสุขของทุกๆ คนในบ้าน… ถ้ามีใครสักคนโกรธใครมาก็ไม่รู้ ไม่ได้ดั่งใจเรื่องอะไรมาก็ไม่รู้ แล้วก็พาลมาลงที่พ่อ เกลียดพ่อ ด่าพ่อ คิดจะไล่พ่อออกจากบ้าน ผมจะเดินไปบอกกับคนคนนั้นว่า ถ้าเกลียดพ่อไม่รักพ่อแล้ว จงออกไปจากที่นี่ซะ เพราะที่นี่คือบ้านของพ่อ…
ในช่วงการสังหารหมู่ผู้ชุมนุมเสื้อแดง เมษา-พฤษภา 2553 พงษ์พัฒน์วชิรบรรจง นักแสดงชื่อดัง ได้กล่าวอุปมานิทัศน์เรื่อง “พ่อและบ้านของพ่อ” ในงานรับรางวัลนาฏราช เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ซึ่งถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศและเผยแพร่เป็นคลิปวิดีโอในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง คนไทยส่วนใหญ่ต่างแสดงความชื่นชมนักแสดงผู้นี้ (เพราะว่าสังคมไทยไม่อนุญาตให้คิดเห็นเป็นอย่างอื่นได้)
โครงเรื่องดังกล่าวของพงษ์พัฒน์นั้นสอดคล้องกับสิ่งที่ธงชัย วินิจจะกูล ได้นำเสนอในปาฐกถาเนื่องในโอกาส “60 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2544 ธงชัยเรียกมันว่า “ประวัติศาสตร์แม่บทแบบราชาชาตินิยม” ซึ่งเป็น “เรื่องเล่าแบบสมัยใหม่ว่าด้วยการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ มักมีโครงเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน นั่นคือ ถูกต่างชาติคุกคาม (แม้ว่าสยามจะไม่เคยเกะกะระรานคนอื่นเลยก็ตาม) พระมหากษัตริย์ที่ปรีชาสามารถนำการต่อสู้จนกอบกู้/รักษาเอกราชไว้ได้ มีสันติสุข เจริญรุ่งเรืองดังแต่ก่อน”
ไม่น่าเชื่อว่าประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมซึ่งมีโครงเรื่องง่ายๆ เช่นนี้ได้กลายเป็นอุดมการณ์ครอบงำประวัติศาสตร์ไทยมานานข้ามศตวรรษ นับจากการก่อเกิดในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ข้ามสู่การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 แม้แต่คณะราษฎรที่ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่เคยคิดที่จะล้มความคิดความเชื่อดังกล่าว ซ้ำยังรับเรื่องเล่าว่าด้วยการเสียดินแดน ร.ศ. 112 มาขยายต่อ จนมีการเดินขบวนเรียกร้องดินแดนเมื่อ พ.ศ. 2483 กระทั่งวาทกรรมการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งอำพรางการผนวกดินแดนประเทศราชเข้าเป็นรัฐเดี่ยวสมัยใหม่ที่มีเขตแดนชัดเจน ก็ได้รับการยกย่องจากบรรดาผู้นำคณะราษฎร
ครั้นเมื่อคณะราษฎรล่มสลายลงหลังรัฐประหาร 2490 ระบอบเผด็จการทหารเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะด้านบารมีหรืออำนาจเชิงศีลธรรม เมื่อประกอบกับบริบทระดับโลก ยุทธศาสตร์การต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสม์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเน้นชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กลายเป็นว่าเมื่อรัฐบาลทหารถูกโค่นล้มโดยการลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 สถาบันกษัตริย์กลับสามารถใช้วิกฤตการณ์นั้นแสดงบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ปรับตัวเป็นราชาชาตินิยมใหม่ที่ทั้งเป็นประชาธิปไตยและรับใช้ประชาชนดังที่ธงชัยได้ ชี้ให้เห็นในหลายบทความ อย่างไรก็ดี เราไม่ควรลืมว่าในยุคนั้นเองก็เกิดกระแสต่อต้านประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมจากคอมมิวนิสต์ไทย แต่ก็เป็นกระแสใต้ดินมาตลอดและหมดพลังลงภายหลังการล่มสลายของ พคท. และโลกสังคมนิยมระดับสากล ในทศวรรษ 1980 หลังจากนั้นประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยมใหม่เติบโตงอกงามในสังคมไทย จนกระทั่งได้รับการเชิดชูสูงส่งด้วยลัทธิคลั่งไคล้เจ้า ซึ่งแสดงออกผ่านคำกล่าวของนักแสดงอย่างพงษ์พัฒน์วชิรบรรจง นั่นเอง
ณ ปัจจุบัน น่าจับตาว่าอุดมการณ์ราชาชาตินิยมใหม่ซึ่งติดพ่วงอยู่กับการเป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตยและเป็นที่นิยมของประชาชน (populist king) จะแปลงโฉม ปรับตัวไปอย่างไรในบริบทความขัดแย้งของการเมืองเหลือง-แดง ซึ่งกินเวลานานนับทศวรรษแล้วและช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านก็ใกล้เข้ามาทุกที อีกทั้งคนจำนวนไม่น้อย ก็กังขาว่าเครือข่ายสถาบันฯ เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยและนักการเมืองซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่หรือไม่
โฉมหน้าราชาชาตินิยม คือการรวมบทความว่าด้วยประวัติศาสตร์ของธงชัย วินิจจะกูล ที่มีประเด็นแวดล้อมแนวคิดเรื่องราชาชาตินิยมเก่า/ใหม่ หากนับจากปีที่นำเสนอบทความแรกคือ “ประวัติศาสตร์การสร้าง ‘ตัวตน’” (2530) จนถึงบทความล่าสุด “ความรู้เกี่ยวกับตัวตนของไทยภายใต้โลกคับแคบแบบเจ้ากรุงเทพฯ” (2557) น่าฟังว่านับเป็นเวลาเกือบ 30 ปีที่ธงชัยครุ่นคิดวิเคราะห์ถึงปริมณฑลต่างๆ ที่ได้รับ ผลกระทบจากประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม หากไม่สำคัญ มีหรือคนคนหนึ่งจะใช้เวลาถึงครึ่งค่อนชีวิตในการพยายามตีแผ่แบมันให้เห็นกันจะๆ
กล่าวสำหรับเรา ฟ้าเดียวกัน หวังว่าการเผยให้เห็น “โฉมหน้า” ของ “ราชาชาตินิยม” ผ่านหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้สังคมไทยได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ที่ต่างจากมุมมองของเจ้ากรุงเทพฯ ซึ่งครอบงำเรามานานนับศตวรรษ และมุมมองใหม่ ๆ นี้อาจมีที่ว่างให้กับประวัติศาสตร์ของประชาชนไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (ที่ข้ามพ้นกรอบอุดมการณ์แบบชาตินิยมที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง) กระทั่งประวัติศาสตร์การสร้างชาติที่ถือกำเนิดจากประชาชนจริงๆ ต่อไปในอนาคต
สุดท้าย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันขอขอบคุณอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่ได้ให้ความไว้วางใจในการจัดพิมพ์หนังสือชุดรวมบทความออกมาเป็นเล่มที่ 3 และอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ที่อนุญาตให้นำบทความ “วิพากษ์ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล : ‘ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม จากยุคราชาชาตินิยมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่ หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน’” มาไว้ในภาคผนวก ของหนังสือเล่มนี้
หมายเหตุ การนับเวลาแบบสากลและแบบไทย
หนังสือเล่มนี้ใช้ทั้งสองระบบ คือใช้การนับทศวรรษแบบคริสต์ทศวรรษ (เพื่อมิให้เมื่อแปลงเป็นพุทธศตวรรษแล้วเกิดความลักลั่นคลาดเคลื่อน) ขณะที่ก็ใช้ปี พ.ศ. และใช้ ร.ศ. เมื่อกล่าวถึงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ทั้งนี้เพื่อให้เข้ากับความคุ้นเคยของผู้อ่านคนไทย
มีบางคนเคยถามผมว่าทำไมจึงเสนอเรื่องราชาชาตินิยมตั้งแต่ปี 2544 (บทความแรกในหนังสือเล่มนี้) ทั้งๆ ที่ตอนนั้นการครอบงำของราชาชาตินิยมยังไม่เด่นชัด
ผมกลับเห็นว่าการครอบงำของอุดมการณ์ (ideology) ราชาชาตินิยมมีมานานหลายทศวรรษแล้ว และประมาณ 1 ศตวรรษเหนือความรู้ทางประวัติศาสตร์ของไทย ระบอบการเมืองที่อยู่บนฐานความคิดราชาชาตินิยมก็เติบโตมานานและพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ ปี 2516 จนกระทั่งอยู่ในฐานะเป็นอำนาจนำครอบงำระบอบการเมืองทุกวันนี้ ดังที่ผมได้เสนอในที่อื่นแล้ว (ดู ธงชัย 2556)
ความคิดเรื่องนี้ก่อตัวมาตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือ วิทยานิพนธ์ (และหนังสือ) Siam Mapped (SM) (Thongchai 1994 ; ธงชัย 2556) ก็เป็นการตอบโต้ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมพร้อม ๆ กับถากถางล้อเลียนไปด้วย กล่าวคือ เปิดเผยให้เห็นสถานการณ์หรือบริบทที่ให้กำเนิดอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์แบบนี้ พร้อมๆ กับเสนอประวัติศาสตร์นิพนธ์ทางเลือกที่ต่ำต้อยไร้วีรกรรมไปด้วย นั่นคือกำเนิดชาติไทยที่มากับกระดาษ (แผนที่) ซึ่งทำให้วีรบุรุษแห่งชาติกลายเป็นเพียงผู้รับใช้อำนาจของกระดาษ ด้วยเหตุนี้จึงขอนำบทความ “ประวัติศาสตร์การสร้าง ‘ตัวตน’” (2530) ซึ่ง เป็นสาระสำคัญของ SMอย่างย่อ ๆ มาไว้ในเล่มนี้ด้วย
แต่ว่าในขณะนั้นผมยังไม่สามารถอธิบายถึงสภาวะกึ่งอาณานิคมหรืออาณานิคมอำพรางออกมาได้อย่างชัดเจน ไม่สามารถอธิบายถึงวาทกรรมที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของประวัติศาสตร์แนวนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ต้องใช้เวลาพัฒนาความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ต่อมาเป็นลำดับ ดังจะเห็นได้ในบทความ “การได้ดินแดนกับความทรงจำอำพราง” (2533) ก็ดี ปาฐกถาเมื่อปี 2544 ก็ดี และบทความอื่นๆ อีก จนกระทั่ง ประมาณปี 2550 จึงสามารถประมวลความคิดออกมาได้ในบทความ “สภาวะอาณานิคมของสยามกับกำเนิดประวัติศาสตร์ชาติไทย” (พิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษปี 2554)
ในปี 2544 อาจารย์ที่ผมเคารพมากท่านหนึ่งคือ อาจารย์กาญจนี ละอองศรี ทาบทามให้ผมเสนอปาฐกถาในงาน 60 ปีของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้มีพระคุณต่อผมทั้งชีวิตทางปัญญาและวิชาชีพ ผมถือว่าเป็นโอกาสสำคัญมาก จึงตั้งใจเลือกเสนอในหัวข้อและสาระที่หวังว่าจะมีผู้กล่าวถึงต่อมาอีกนานซึ่งหมายถึงจะต้องรับรู้ถึงความสำคัญของอาจารย์ชาญวิทย์ด้วย ผมจึงคิดว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะหยิบเอา อุดมการณ์หลักทางประวัติศาสตร์ของยุคปัจจุบันมาตีแผ่แบกันบนโต๊ะให้เห็นโฉมหน้ากันจะๆ แจ้ง ๆ
ณ วันนั้น ความเข้าใจของผมต่อราชาชาตินิยมชัดเจนขึ้น จนมั่นใจที่จะเสนอเค้าโครงความคิดหลักๆ แต่ยังไม่สามารถอธิบายรายละเอียดแจ่มชัด กระทั่งชื่อเรียกอุดมการณ์และประวัติศาสตร์นิพนธ์นี้ว่า “ราชาชาตินิยม” ก็เพิ่งตั้งก่อนหน้าปาฐกถาเพียงวันเดียว ผมใช้คำคำนี้ในบทความภาษาอังกฤษบางชิ้นมาก่อนหน้านั้นว่า Royal-nationalism
ประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบ “ราชาชาตินิยม” ดูจะเป็นอย่างเดียวกับที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่า “สกุลดำรงราชานุภาพ” (นิธิ 2512) แต่ดังที่เราจะเห็นในหนังสือเล่มนี้ว่าบริบททางภูมิปัญญาและสถานการณ์ทางการเมืองเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดความคิดทางประวัติศาสตร์แบบนี้ขึ้นมา กรมพระยาดำรงฯ เป็นผู้มีบทบาท (agency) สำคัญรายหนึ่งที่กระทำการต่างๆ ตอบสนองต่อบริบทดังกล่าว แต่ยังมีบุคคลอื่นที่มี ส่วนสำคัญต่อการสร้างอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์แบบนี้เช่นกัน อาทิเช่น รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทั้งในเวลาต่อมายังมีการขยับขยาย แตกหน่อ ปรับเปลี่ยนประวัติศาสตร์นิพนธ์แนวนี้ภายใต้กรอบมโนทัศน์เดียวกันโดยปัญญาชนคนอื่นๆ อีกด้วย
คำอธิบายประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมในที่นี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงผลงานของกรมพระยาดำรงฯ แต่อธิบายกว้างออกไปถึงการเมือง มโนทัศน์ ความเชื่อของชนชั้นนำสยามหลัง ร.ศ. 112 และรวมถึงเทคนิควิทยาของงานนิพนธ์ในแบบนี้ ได้แก่ โครงเรื่องหลัก โครงเรื่องรอง มุมมอง การกระทำและเหตุการณ์ที่นับเป็นสาระสำคัญ การแบ่งยุคประวัติศาสตร์ และความสำคัญของ “ไทยรบพม่า” (ดำรงราชานุภาพ 2463) ในฐานะที่เป็นอุปมานิทัศน์ (allegory) หรือเรื่องเล่าเทียบเคียง เป็นต้น
การวิเคราะห์ถึงประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมต้องเข้าใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดด้วย ดังที่ปาฐกถาปี 2544 พยายามชี้ให้เห็น 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่
ผู้อ่านจะเห็นได้ว่าผมมุ่งศึกษา 3 ประเด็นนี้ในการทำงานทางวิชาการโดยรวม แต่ในหนังสือเล่มนี้จะเน้นประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 2 เป็นหลักเนื่องจากสาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์โดยเฉพาะในต้นศตวรรษที่ 20
สำหรับประเด็นแรกผมสังเกตว่าโครงเรื่องและกรอบความคิดของประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบันไม่ได้ต่างไปจากต้นศตวรรษที่ 20 มากนัก นี่ไม่ได้หมายความว่าแนวความคิดหรือกรอบความรู้ประวัติศาสตร์ไทยแบบนี้อยู่ในฐานะครอบงำคงที่ต่อเนื่องมาโดยตลอด มิได้หมายความว่าไม่เคยถูกท้าทายอย่างหนักจากแบบอื่นๆ ตามอุดมการณ์อื่นๆ แต่หมายความว่าแม้จะเผชิญการท้าทาย มีฐานะครอบงำสูงต่ำต่างๆ กันนั้น ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมยังกลับอยู่ในฐานะครอบงำจนถึงปัจจุบันในช่วงชีวิตที่ผมรู้ความประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา คุณสมบัติสำคัญที่ทำให้สามารถอยู่มาได้ยาวนานคือ ต้องมีการปรับตัว แนวคิดราชาชาตินิยมไม่ได้หยุดนิ่งหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ตรงกันข้าม ทุกครั้งที่เกิดการท้าทาย เช่น จากชาตินิยมหลัง 2475 จากชาตินิยมฝ่ายซ้ายหลัง 2490 และหลัง 2516 แนวคิดราชาชาตินิยมมีการปรับตัว น่าสังเกตด้วยว่า แม้กระทั่งภายหลังการปฏิวัติ 2475 ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมซึ่งเป็นเสาหลักประการหนึ่งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้ถูกท้าทายถึงราก ปัญญาชนของระบอบใหม่ยังคงเดินตามประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมในประเด็นสำคัญๆ อาทิ เรื่องการเสียดินแดนและการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 อุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ของระบอบใหม่ท้าทายราชาชาตินิยมเพียงระดับหนึ่งและบางแง่บางมุมเท่านั้น
ดังนั้น แม้จะเผชิญการท้าทาย อุดมการณ์ โครงเรื่องหลัก และแม่บทของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมยังคงอยู่ ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ไม่ใช่พงศาวดารใหม่อีกต่อไป แต่เป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ด้วยวิธีวิทยาสมัยใหม่แต่อยู่บนฐานของอุดมการณ์ความเชื่อของชนชั้นนำสยามภายหลังเหตุการณ์ ร.ศ. 112 หัวใจสำคัญที่แม่บทของประวัติศาสตร์แบบนี้ยึดไว้อย่างมั่นคง อีกทั้งไม่เคยถูกท้าทายจากอุดมการณ์อื่นเลย แม้แต่จากฝ่ายซ้ายสกุลใด เป็นเสาหลักของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยจนมีผลให้ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมคงอิทธิพลครอบงำ ได้แก่ การเสียดินแดนและการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 ผมเห็นว่าแท้ที่จริงประวัติศาสตร์ทั้งสองเรื่องนี้อำพรางหรือทำให้เราเข้าใจผิดต่อภาวะ(กึ่ง)อาณานิคมของสยามหลัง ร.ศ.112
ประเด็นที่สองเกี่ยวกับชาตินิยมไทย ภายหลังจาก SMเสนอประวัติศาสตร์ชาติสยามจากแผนที่ มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่าจะถือว่าเป็นกำเนิดภูมิกายาของชาติสยามได้อย่างไรกันในเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 นั้นยังไม่เกิด nation-state ของไทยเลย จะพูดถึงชาตินิยมได้อย่างไรในเมื่อขณะนั้นยังไม่เกิดชาติเลย[1] ข้อวิจารณ์ทำนองนี้ถือเอาเกณฑ์หรือมาตรวัดว่าอะไรคือชาติ หรือ nation-state จากประวัติศาสตร์ยุโรปตะวันตก ซึ่งตามมาตรวัดเช่นนั้นปัจจุบันก็อาจจะยังไม่มีชาติในประเทศไทย ผมเห็นว่ามาตรวัดจากประวัติศาสตร์ยุโรปตะวันตกไม่ควรเป็นมาตรวัดที่ใช้ได้ทั่วโลก แต่ควรเป็นเพียงเกณฑ์เปรียบเทียบเพื่อเป็นแนวทางการวิเคราะห์เท่านั้น สังคมไทยเกิดชุมชนจินตกรรม (imagined community) ทางการเมืองด้วยปัจจัยต่างออกไปตามประวัติศาสตร์ของตน กำเนิดชาติของไทยผ่านกระบวนการที่รับเอาอิทธิพลจากลัทธิอาณานิคมเข้ามาปะทะปรับแปลกับเงื่อนไขปัจจัยที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยเอง บางคนเรียกภาวะนี้ว่า ภาวะสมัยใหม่แบบอาณานิคม (colonial modernity) ชุมชนจินตกรรมแบบชาติซึ่งเป็นผลผลิตของเงื่อนไขนี้จึงมีคุณสมบัติบางอย่างทำนองเดียวกับการก่อตัวของ nation-state ในยุโรป แต่มีหลายประการที่แตกต่างกันมาก
ในที่นี้จะยกตัวอย่างประการเดียวคงเพียงพอ นั่นคือ ชุมชนจินตกรรมตามที่ เสนอโดยเบน แอนเดอร์สัน ซึ่งถือเอาการเกิดปัจเจกชนที่มีความสัมพันธ์กันในแนวราบ (horizontal) อย่างกว้างขวางทั่วทั้งสังคมเป็นเกณฑ์สำคัญของความเป็นชาติ นี่คือชาติในอุดมคติที่นักต่อสู้อาณานิคมหลายแห่งในโลกปรารถนา รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย และเป็นอุดมคติที่แอนเดอร์สันเองต้องการจะเห็น แต่ชาติในประวัติศาสตร์ไทยกลับมีประวัติมาจากรัฐจักรวรรดิก่อนสมัยใหม่ที่ปรับตัวสู่สมัยใหม่ในแบบอาณานิคม เป็นชุมชนจินตกรรมที่มีประชาชนสูงต่ำสามัคคีกันภายใต้ร่มบารมีของกษัตริย์ สำนึกแบบไทยต่อ “ชาติ” เป็นมรดกสำคัญอย่างหนึ่งของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยุคหลัง 2475 พยายามต่อสู้ ปรับเปลี่ยน แต่ลงท้าย “ชาติของพระราชา” ก็ยังคงอยู่ แถมแข็งแกร่งขึ้นในเวลาต่อมาจนทุกวันนี้ ดังนั้น บางคนจึงสงสัยว่าประเทศไทยยังไม่เคยเป็น nation-state เลย แต่ผมเห็นว่าที่สำคัญกว่าคือความเข้าใจชุมชนจินตกรรมที่เรียกว่า “ชาติ” ของไทยในเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของไทย เข้าใจชาตินิยมไทยตามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของไทย
ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงเรียกชาตินิยมที่มีอำนาจครอบงำในสังคมไทยว่า “ราชาชาตินิยม” คือชาตินิยมภายใต้กษัตริย์ ซึ่งในสำนึกของประวัติศาสตร์ยุโรปตะวันตก คำคำนี้ขัดแย้งในตัวเองถึงขนาดที่อาจเรียกว่าไม่ใช่ชาตินิยมก็เป็นได้
ประเด็นที่สาม ในปาฐกถาปี 2544 ผมกล่าวถึงราชาชาตินิยมและราชาชาตินิยมใหม่ไว้ด้วย กษัตริย์สยามเปลี่ยนแปลงเป็นกษัตริย์สมัยใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นผลจากการปรับตัวเปลี่ยนแปลงที่เริ่มมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของกษัตริย์สมัยใหม่คือเป็นกษัตริย์ที่ต้องรับผิดชอบต่อสาธารณชน (public) มิใช่รับผิดหรือชอบต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ในจักรวาลหรืออำนาจทางศาสนาอย่างกษัตริย์ในสมัยเก่า แต่ทว่าแบบวิถี (mode) ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับสาธารณชนนั้นผันแปรไปตามการเปลี่ยนแปลงของปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) เช่น ขนาดกิจกรรม เครื่องมือสื่อสาร สื่อมวลชน ฯลฯ และที่สำคัญคือ สำนึกทางการเมืองของสาธารณชน อาทิเช่น กระจัดกระจายไม่รวมตัว หรือเป็นมวลชนที่มีการจัดตั้งรวมตัว เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ของกษัตริย์ต่อสาธารณชนเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป
กษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ในรัชสมัยปัจจุบันโดยเฉพาะในยุคของลัทธิคลั่งไคล้เจ้า (Hyper-royalism) นับจากปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา เป็นราชาชาตินิยมชนิดใหม่ (ดู Thongchai2016) เพราะปริมณฑลสาธารณะต่างจากยุคเริ่มราชาชาตินิยมลิบลับ สาธารณชนสามารถเข้าถึงและมีพลังกำหนดประเด็นและทิศทางของปริมณฑลสาธารณะได้มากกว่ายุคก่อนๆ ลักษณะของการเมืองของสาธารณชนหรือของมวลชนต่างจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาก มีการจัดตั้งกันทำกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐและทั้งท้าทายขัดแย้งกับรัฐด้วย แม้ภายใต้รัฐบาลทหารยุคเผด็จการที่ควบคุมปริมณฑลสาธารณะอย่างเข้มงวดก็หยุดการมีส่วนร่วมของสาธารณชนไม่ได้ แถมยังต้องการความสนับสนุนจากมวลชนเพื่อค้ำจุนระบอบทหารอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นระบอบทหารหลายชุดในหลายทศวรรษที่ผ่านมาอาศัย พลังมวลชนบุกเบิกทางให้ทั้งสิ้น ต่อให้ถูกจำกัดเสรีภาพมากภายใต้รัฐบาลทหาร ก็ไม่สามารถหยุดยั้งบทบาทและการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในระบบการเมืองได้อีกต่อไปแล้ว แต่กลับต้องการอีกต่างหาก ด้วยเหตุนี้ผมจึงเรียกลักษณะหนึ่งของราชาชาตินิยมใหม่ว่าเป็นประชาธิปไตย มิได้หมายความว่ากษัตริย์เป็นนักประชาธิปไตย หรือสนับสนุนประชาธิปไตยเสมอไป แต่หมายความว่ากษัตริย์จำเป็นต้องเกี่ยวพันและ ตอบสนองต่อสาธารณชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญอย่างมาก ๆ ก็คือ กษัตริย์ต้องได้รับความนิยมจากประชาชน (popular) หรือฝ่ายเจ้าถึงกับต้องจัดตั้งขบวนการมวลชนที่คลั่งไคล้เจ้าด้วย ขบวนการมวลชนชนิดนี้มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ดังเห็นได้ในเหตุการณ์ 6 ตุลาทั้งมวลชนจัดตั้งและไร้การจัดตั้งซึ่งปฏิบัติการเพราะลัทธิคลั่งไคล้เจ้า ความสำคัญของมวลชนที่คลั่งไคล้เจ้าต่อสถาบันกษัตริย์มิได้เพิ่งเริ่มในทศวรรษ 1990 ความสำคัญของสาธารณชนต่อสถาบันกษัตริย์ก็มิได้เพิ่งเริ่มในทศวรรษ 1970 แต่เริ่มก่อตัวในระดับต้นๆ มาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว
หนังสือ โฉมหน้าราชาชาตินิยมนี้ต้องการเสนอด้วยว่า ราชาชาตินิยมมิได้เป็นเพียงแค่อุดมการณ์หลักของความรู้ประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นฐานของความรับรู้หรือมโนทัศน์เกี่ยวกับสังคมไทยในด้านอื่นๆ ด้วย ดังนั้นในบทที่ 7 ของหนังสือเล่มนี้ (“ความรู้เกี่ยวกับตัวตนของไทยภายใต้โลกคับแคบแบบเจ้ากรุงเทพฯ”) จึงเสนอว่าความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยในประเทศไทยเองล้วนอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือถูกครอบงำจากราชาชาตินิยมอย่างแข็งแกร่ง อาทิเช่น ความรู้เกี่ยวกับระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมไทย ความสูงต่ำตามภูมิ (Space) และระดับความเจริญ ความสำนึกถึง สถานะของไทยในประชาคมโลก และประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย (ผมอภิปรายประเด็น เหล่านี้ในบทความอื่นๆ ที่จะรวมเล่มในภายหลังต่อไป) บทความนี้ชี้ให้เห็นผลลัพธ์ของความรู้ภายใต้ราชาชาตินิยม คือความคับแคบของมุมมองจากกรุงเทพฯ เป็นความรู้และมุมมองซึ่งแตกต่างจากไทยศึกษาในที่อื่นๆ ทั่วโลกเพราะความคับแคบและอคติของอุดมการณ์ราชาชาตินิยมนั่นเองเป็นสาเหตุหลัก แถมวงวิชาการไทยยังมีเงื่อนไขที่ทำให้จำกัดตัวอยู่ในความคับแคบเช่นนี้โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องแลกเปลี่ยนกับวิชาการไทยศึกษาจากภายนอกมากนัก
“ราชาชาตินิยม” เป็นมโนทัศน์และกรอบการวิเคราะห์ที่ใหญ่พอสมควร คงมีจุดอ่อนมีประเด็นที่ไม่ถูกต้อง ไม่กระจ่าง หรือมีปัญหาเป็นปกติ ดังที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ไว้ เช่น บทความของสายชล สัตยานุรักษ์ ที่นำมารวมไว้ในภาคผนวก อย่างไรก็ตาม หวังว่า “ราชาชาตินิยม” มีสารัตถะสำคัญพอที่จะได้รับความสนใจนำไปคิดต่อหวังว่ามีความสอดคล้องกับปัจจุบันทั้งในวงการประวัติศาสตร์และนอกเหนือออกไปด้วย ทั้งนี้มีผู้นำไปต่อเติมขยายความซึ่งบางกรณีผมเห็นด้วยและบางกรณีไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรนัก แต่ผมถือหลักว่า เมื่อนำเสนอแล้ว ย่อมไม่ใช่ของผมแต่ผู้เดียวอีกต่อไป กลายเป็นทรัพย์สินร่วมของสาธารณชนที่จะปฏิเสธ ตอบรับ ขยายความ หรือประยุกต์ใช้ต่างๆ นานา สิ่งที่ผมทำได้ก็คงมีแต่พยายามศึกษาต่อไปในประเด็นที่ยัง ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม อาทิเช่น การท้าทายสำคัญๆที่ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมเผชิญและต้องปรับตัวหลังจากถูกท้าทาย
อันที่จริง การที่เราสามารถตั้งคำถามวิพากษ์ต่อราชาชาตินิยมได้เช่นนี้ ย่อมแสดงว่าความน่าเชื่อถือของราชาชาตินิยมลดลงไปจนเราสามารถมองทะลุเห็นด้านอื่น เห็นประวัติศาสตร์แบบอื่น และเรื่องเล่าอื่นของประเทศไทยได้ แม้ว่าประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมยังเป็นฐานของสถาบันหลักๆ ในสังคมไทยในปัจจุบันอยู่ก็ตามและ เป็นไปได้มากว่าประวัติศาสตร์แบบนี้จะมีสถานะครอบงำหรือยังเข้มแข็งในสังคมไทย อีกเป็นเวลานานจนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ท้าทายอุดมการณ์ราชาชาตินิยมอย่างถึงราก หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ราชาชาตินิยมไม่สอดคล้องกับสังคมไทยอีกต่อไป
ผมหวังว่า โฉมหน้าราชาชาตินิยม จะช่วยบุกเบิกการคิดวิเคราะห์แตกต่างออกไปเพื่อให้สังคมไทยก้าวพ้นประวัติศาสตร์แบบนี้ไปได้ เพราะการเปิดเผยกำเนิด และกลวิธีของอุดมการณ์ความเชื่อทางประวัติศาสตร์แบบนี้ น่าจะทำให้เราไม่ตกหลุมความเชื่อพรรค์นี้อีกต่อไป ช่วยให้เรามีวิจารณญาณที่ดีขึ้นจนสามารถเข้าใจอดีตแตกต่างออกไปได้ ผมหวังด้วยว่าการนำเสนอเรื่องนี้จะกระตุ้นให้ผู้อื่นและคนรุ่นหลังกล้าที่จะคิดการณ์ใหญ่ คิดเรื่องใหญ่ นำเสนอสิ่งที่ท้าทายต่อสถาบันหลักๆ ทั้งหลาย ทั้งสถาบันทางความรู้และสถาบันทางการเมืองอื่นๆ เพราะการท้าทายเหล่านี้จะสังคมไทยมีชีวิตเติบโตต่อไป
[1]ตัวอย่างเช่น นครินทร์ (2542, 2549) ซึ่งโต้แย้ง SM แต่ไม่ระบุถึงเลยแม้แต่ครั้งเดียว นครินทร์ มีข้อโต้แย้งหลัก ๆ 3 ประการ คือ (1) รัฐประชาชาติของไทยเพิ่งเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ 2475 ก่อนหน้า นั้นจะนับว่าเป็นชาติหรือลัทธิชาตินิยมได้อย่างไรกัน (2) ในเมื่อไม่มีแนวคิดเรื่องชาติ จึงไม่มีลัทธิชาตินิยมในสยามยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีแต่ “ลัทธิรักชาติบ้านเมือง” (patriotism) และ (3) ลัทธิ ชาตินิยมในเวลาต่อมา (หลัง 2475) จะเป็น “ราชาชาตินิยม” ได้อย่างไรกันในเมื่อ “ราชา” และ “ชาตินิยม” เป็น concept สองอย่างที่ไปด้วยกันไม่ได้ ข้อเสนอของเขาคืออุดมการณ์ที่ตกทอดมาตั้งแต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ใช่ลัทธิชาตินิยม แต่เป็น “ลัทธิรักชาติบ้านเมือง” (patriotism) (นครินทร์ คงจะรู้ว่าลัทธิชาตินิยมมีนัยเชิงลบอย่างมากในแวดวงวิชาการสากล แม้ว่าจะไม่ได้มีนัยเชิงลบในสังคม ไทยก็ตาม)