ข้อมูลทั่วไป
ชื่อหนังสือ | Revolution Interrupted: Farmers, Students, Law and Violence in Northern Thailand |
---|---|
ผู้เขียน | ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น |
ผู้แปล | พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ |
จำนวนหน้า | 328 |
ปีที่พิมพ์ | 2560 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667614 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667621 |
ปกแข็ง 405.00 บาทปกอ่อน 315.00 บาท
ชื่อหนังสือ | Revolution Interrupted: Farmers, Students, Law and Violence in Northern Thailand |
---|---|
ผู้เขียน | ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น |
ผู้แปล | พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ |
จำนวนหน้า | 328 |
ปีที่พิมพ์ | 2560 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667614 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667621 |
คำนำสำนักพิมพ์
คำนำผู้เขียน
คำนำเสนอ ธงชัย วินิจจะกูล
บทนำ เมื่อการปฏิวัติถูกตัดตอน
บทที่ 1 หักกระดูกสันหลังของชาติ
บทที่ 2 จากนาข้าวสู่เมือง
บทที่ 3 จากห้องเรียนสู่ท้องนา
บทที่ 4 ความรุนแรงและการปฏิเสธ
บทที่ 5 รัฐในภาวะปั่นป่วน
บทสรุป การปฏิวัติที่หวนคืน ?
ภาคผนวก ผู้นำของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงระหว่างปี 2517-2522
ประวัติผู้เขียน
บรรณานุกรม
ดรรชนี
ภาพประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนของช่วงสามปีระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 แม้จะสำคัญอย่างยิ่งยวดแต่กลับเลือนรางในความรับรู้ของสังคมไทยโดยทั่วไป สาเหตุหลักเป็นเพราะความรุนแรงระดับโหดร้ายป่าเถื่อนที่รัฐและองค์กรฝ่ายขวากิ่งรัฐ ตลอดจนสถาบันฯ สำคัญได้กระทำต่อประชาชนร่วมชาติของพวกเขาเองเป็นเหตุให้รัฐต้องพยายามปกปิดลบเลือนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นทั้ง ด้วยวาทกรรมและกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ในมือ อย่างไรก็ดี ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เรื่องราวการต่อสู้ของเหล่านักศึกษาหัวก้าวหน้าผู้ใฝ่ฝันถึงสังคมที่เป็นธรรมกว่าเก่าแต่ กลับถูกรัฐปราบปรามจนจบลงด้วยโศกนาฏกรรมสังหารหมู่ เริ่มส่งเสียงให้เป็นที่ได้ยิน (พร้อมๆ กับการตั้งคำถามกับเรื่องเล่าแบบเดิม) แม้ยังไม่กว้างขวางนักทว่าก็ดังพอใน หมู่คนที่สนใจความเป็นไปของสังคม กระนั้นก็ตาม ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่ยังไม่ปรากฏ ที่ยังไม่มีที่ทาง ที่ยังไม่มีปากเสียงในภาพประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือเสียงของบรรดาชาวนาผู้อาจหาญแห่งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย
หนังสือ การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน : ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรง ในภาคเหนือของไทย ซึ่งเขียนโดยไทเรล ฮาเบอร์คอร์น เล่มนี้ช่วยนำพาชิ้นส่วนของภาพและเสียงของเหตุการณ์การต่อสู้ของขบวนการชาวนาในภาคเหนือ เข้ามาปะติดปะต่อกับภาพการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่กรุงเทพฯ ซึ่งพอจะเป็นที่รับรู้แล้วก่อน หน้านี้จากการจัดงานรำลึกและหนังสือวิชาการที่ทยอยออกมาบอกเล่าประวัติศาสตร์ สวนทางในช่วงที่ผ่านมา
ความโดดเด่นของ การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน อยู่ที่การเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ศึกษามวลชนผู้เคลื่อนไหวที่อยู่ในสถานะรอง (subaltern studies) ซึ่งในที่นี้คือ เหล่าชาวนาที่มักจะตกขบวนประวัติศาสตร์อยู่เสมออันเนื่องมาจากถูกละเลยความสำคัญ ในหนังสือเล่มนี้ ชาวนากลับกลายเป็นตัวแสดงหลัก ขณะที่นักศึกษา คณาจารย์ นักกฎหมาย และนักการเมืองหัวก้าวหน้าเป็นตัวประกอบที่มีสถานะเป็นแนวร่วมหรือ พันธมิตรของชาวนาเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น การต่อสู้ของชาวนาในเรื่องการควบคุมการเช่านาโดยใช้กฎหมายเป็นอาวุธ ซึ่งในแวบแรกคนอาจดูแคลนว่าเป็นการต่อสู้ในปริมณฑลชายขอบโดยคนเล็ก ๆ ที่ไม่สู้จะสลักสำคัญอะไรนักสำหรับการเมืองภาพกว้าง กลับถูกตีความโดยผู้เขียน ว่าเป็น “การปฏิวัติ” ซึ่งเป็นคำใหญ่ที่สื่อนัยถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงและบ่อยครั้งสื่อถึงผู้กระทำการที่มีลักษณะเยี่ยงวีรบุรุษในตำนาน กล่าวได้ว่าการตีความแบบนอกรีตพลิกคว่ำความหมายของผู้เขียนเช่นนี้โดยตัวมันเองก็มีลักษณะ “ปฏิวัติ” ที่ท้าทายให้ผู้อ่านพลิกมุมมอง ขัดขึ้นที่จะยอมรับ กระทั่งลุกขึ้นมาถกเถียงกับผู้เขียน ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ยังอยู่ที่การที่ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น พยายามเป็นปากเป็นเสียงให้กับ “ผู้ไร้เสียง” อย่างไม่ย่อท้อ ตลอดการอ่านหนังสือเล่มนี้ แทบจะทุกย่อหน้าเราจะได้ยินเสียงของผู้เขียนคอยหักล้างข้อกล่าวหาของชนชั้นนำที่มีต่อชาวนาที่ลุกขึ้นต่อสู้เรื่องการควบคุมการเช่านา เนื่องจากผู้นำชาวนาของสหพันธ์ฯ ถูกฆ่าปิดปากไปแล้ว การปฏิวัติของพวกเขาถูกตัดตอนอย่างโหดร้ายทารุณ องค์กรของ พวกเขาก็ล้มหายตายจากไปแล้วเช่นกัน พวกเขากลายเป็นผีไร้เสียงที่แก้ต่างให้กับตัวเองไม่ได้อีกต่อไป ทั้งยังกำลังเลือนหายไปจากความทรงจำของคนในชาติตัวเอง พร้อมกับผู้กระทำความผิดที่ยังลอยนวลไม่ต้องรับผิดกับความรุนแรงที่ตนได้ก่อขึ้น เสียงของผู้เขียนในที่นี้จึงมีความหมายอย่างประเมินค่ามิได้
สุดท้าย ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนชี้ให้เห็นคือ ความมีอยู่จริงของจิตสำนึกทางการเมืองของชาวนา และความเป็นไปได้ของการเคลื่อนไหวของมวลชนหากโอกาสทางการเมืองเปิด เป็นเรื่องยากสำหรับนักวิจารณ์การเมืองในปัจจุบันที่จะจินตนาการว่า ภายในระยะเวลาปีสองปีสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยสามารถจัดตั้งโครงข่ายโยงใยทั่วประเทศที่มีสมาชิกราวๆ 1.5 ล้านคนได้สำเร็จ (จากจำนวนประชากรทั้งหมดในสมัยนั้นที่มีประมาณ 35 ล้านคน) และทั้งหมดนี้เป็นไปได้โดยการจัดตั้งของแกนนำชาวนาเอง มิใช่โดยชนชั้นนำ หรือนักการเมือง หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยซึ่งมองไม่เห็นน้ำยาของการต่อสู้ในระบบกฎหมาย การตระหนักถึงความเป็นไปนี้หมายถึงความสามารถในการยังคงรักษาความหวังและความใฝ่ฝันไว้ได้แม้ในสถานการณ์ยากลำบากและห่วงยามมืดมิดที่สุด
ณ ปัจจุบัน ภูมิทัศน์การเมืองไทยเปลี่ยนโฉมไปพอสมควร โฉมหน้าของศักดินาไทยคงจะไม่ใช่โฉมหน้าแบบเดิมอีกต่อไปโดยเฉพาะภายหลังการเปลี่ยนรัชสมัย ชาวนาไทยเองก็มีวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ที่ชัดเจนคือชาวนาจำนวนมาก ไม่ได้มีอาชีพหรือรายได้หลักจากการทำนาแต่เพียงอย่างเดียว ทว่ายืดหยุ่นปรับตัว แสวงหาอาชีพอื่นนอกภาคเกษตรควบคู่ไปกับการทำนาด้วย การก้าวข้ามเส้นแบ่ง เมือง-ชนบท รวมถึงการฝ่าข้ามหรือเลื่อนสถานะกลายมาเป็นชนชั้นกลางระดับล่างที่เข้าร่วมกับขบวนการเสื้อแดงแล้วถูกปราบปรามในปี 2553 ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของวงวิชาการไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาว่าเกษตรกร ซึ่งในเวลานี้มีประมาณ 10 กว่าล้านคนยังนับเป็นฐานเสียงใหญ่ของการเมืองระบบเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้การเมืองเรื่องข้าวยังถือว่ามีความสำคัญต่อรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่ารัฐบาลทหารหรือพลเรือน โดยล่าสุดภายใต้รัฐบาลทหารโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นนโยบายที่ครองใจชาวนาจำนวนมหาศาล ได้กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่นักการเมืองต้องรับผิดทางอาญาด้วยการพิจารณาคดีที่ฉ้อฉลเพื่อหวังผลในการลดความสำคัญของการเมืองที่ยึดโยงกับการเลือกตั้งของประชาชน จนอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ไม่มาปรากฏตัวที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันตัดสิน ขณะที่นักการเมืองรวมถึงจำเลยอื่นๆ อีกสิบกว่าคนถูกตัดสินจำคุกคนละหลายสิบปี
เมื่อพิจารณาเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ร่วมกัน จึงน่าจับตาดูว่าในช่วงการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ การปฏิวัติของมวลชนที่ถูกตัดตอนไปจะฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ได้หรือไม่ ในลักษณะใด ใครบ้างจะเข้าเป็นแนวร่วมในการต่อสู้ครั้งนี้ ใครบ้างที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติอำนาจดิบเถื่อนนั้น พร้อมที่จะใช้ทุกเครื่องมือกลไกเพื่อหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่สังคมไทยจะช่วยกันหยุดวงจรอุบาทว์ของการลอยนวลไม่ต้องรับผิด
สุดท้ายนี้สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้ตีพิมพ์ หนังสือ การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน ของไทเรล ฮาเบอร์คอร์น สหายนักวิชาการนักกิจกรรมชาวอเมริกันที่ทั้งร่วมทุกข์ร่วมสุขและร่วมวิเคราะห์วิจารณ์สังคมไทยด้วยกันมานานกว่าทศวรรษ
เราจะเห็นได้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ที่อัตคัดทั้งสภาพบ้านช่องที่อยู่อาศัยและผลผลิตทางการเกษตรซึ่งโดยตัวมันเองก็ไม่มีความแน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละปี แต่ถูกกำหนดตายตัวอย่างไม่ยุติธรรมเวลาแบ่งปันกันระหว่างผู้มีสิทธิในที่ดินกับผู้ใช้ที่ดิน แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงความสัมพันธ์ที่ขาดความสมดุลในทางวัตถุระหว่างเจ้ากับไพร่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ถึงแม้หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งถือกันว่าเป็นการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โครงสร้างของสังคม อุดมคติ และความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างระดับกันก็ยังมิได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าที่ควร แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ (ยุครัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557) ประชาชนก็ยังต้องต่อสู้เพื่อที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันในการปกครองประเทศ ยังต้องต่อสู้เพื่อที่จะมีสิทธิ์ออกและใช้กฎหมาย มิใช่เป็นเพียงผู้ถูกกฎหมายบีบบังคับเท่านั้น
หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่และนักศึกษาในภาคเหนือระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 เป็น เรื่องราวของการก่อตั้งและการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยในการเรียกร้องรณรงค์ให้เปลี่ยนกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่รัฐรวมถึงเจ้าของที่ดิน เป็นการต่อสู้ที่มีทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้ ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมในบางด้าน แต่ก็ยังพ่ายแพ้ตกอยู่ใต้ฝ่ายที่มีอำนาจด้วย
จุดที่สำคัญที่สุดคือการต่อสู้เพื่อให้ พ.ร.บ. ควบคุมการเช่านาผ่านตอนสิ้น พ.ศ. 2517 รวมทั้งการทำกิจกรรมเพื่อให้กฎหมายมีผลใช้จริงใน พ.ศ. 2518 ในช่วงเวลาที่ได้กล่าวมานี้ ชาวนาในภาคเหนือยังต้องจ่ายค่าเช่าอย่างต่ำสุดเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของผลผลิต ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือเคยพยายามผลักดันให้กฎหมายควบคุมการเช่านามีการบังคับใช้ในภาคเหนือก่อนหน้านี้ใน พ.ศ. 2494 แต่ครั้งนั้นเจ้าของที่ดินเป็นฝ่ายชนะ ชาวนาจึงหันกลับมาสู้ใหม่อีกครั้งหลังจากเข้าสู่ช่วงประชาธิปไตย โดยพยายามเรียกร้องให้มีกฎหมายที่จะสามารถปรับเปลี่ยนราคาค่าเช่า โครงสร้าง และวิธีการตกลง อัตราค่าเช่า รวมทั้งปัญหาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนสามกลุ่ม คือ ผู้เช่านา เจ้าของที่ดิน และเจ้าหน้าที่รัฐ
แต่เมื่อกฎหมายผ่านออกมาแล้วปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ยอมเผยแพร่ข้อมูล หรือให้รายละเอียดใดๆ กับใคร ฝ่ายเจ้าของที่ดินก็ไม่ยอมทำตามกฎหมาย ชาวนา ชาวไร่ ทนาย และนักศึกษาที่ร่วมมือกันมาตลอดในการต่อสู้เพื่อสิทธิเหล่านี้จึงต้องเข้ามาทำหน้าที่แทน และต้องเริ่มทำงานอย่างรวดเร็วเพราะกฎหมายกำลังจะออกมาบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2517 ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวและการแบ่งข้าวระหว่างเจ้าของที่ดินกับชาวนา ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2518 ชาวนาชาวไร่ จากสหพันธ์ฯ จึงต้องไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิใหม่ ๆ ที่ผู้เช่านาจะได้รับจากกฎหมายใหม่นี้
การเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้เปิดโอกาสให้ชาวนาชาวไร่กลายเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมาย ไม่ใช่ผู้ที่ถูกกฎหมายบีบบังคับอยู่ตลอดอย่างที่เคยเป็นมา เป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่เริ่มเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ของชาวนาชาวไร่ เปลี่ยนกลไกในระบอบการปกครอง และเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างชนชั้นในชนบท และระหว่างชนบทกับเมือง ความเป็นชนชั้นเริ่มปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้มิใช่ว่าสมัยก่อนไม่มีความแตกต่างระหว่างชนชั้น แต่ที่มองเห็นไม่ชัดเป็นเพราะแต่เดิมมาเจ้าของที่ดินเป็นผู้มีอำนาจ จึงเป็นผู้ที่สามารถนิยามหลักคิดและแนวปฏิบัติของคนในสังคมรอบตัวได้ สามารถอ้างถึงความสัมพันธ์แบบสนิทสนมกันฉันพี่น้อง (เจ้าของที่ดินเป็นพี่ ชาวนาเป็นน้อง) มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเป็นวาทกรรมที่พยายามที่จะกลบเกลื่อนการเอาเปรียบชาวนาโดยเจ้าของที่ดินพยายามที่จะลบเลือน ความเป็นจริงที่เป็นข้อแตกต่างระหว่างชาวนากับเจ้าของที่ดิน
จุดสำคัญของการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในภาคเหนือในระยะเวลาดังกล่าวอยู่ที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตอนรณรงค์ปฏิรูปกฎหมาย เจ้าของที่ดินและผู้มีอำนาจอื่นๆ ทั้งในและนอกรัฐไม่พอใจกับการที่ชาวนาชาวไร่ลุกขึ้นมาต่อสู้ เจ้าของที่ดินรู้สึกอึดอัดใจเพราะเดาไม่ได้ว่าชาวนาจะกล้าเสี่ยงทำอะไรต่อไป อีกส่วนหนึ่งก็มีความรู้สึกเสียใจเพราะเชื่อมั่นในอุดมคติของตนเองว่าได้ “ดูแล” ชาวนาอย่างดีตลอดมา และรู้สึกโกรธที่ ต้องมาแบ่งข้าวตามจำนวนที่เป็นธรรมตามกฎหมายใหม่ (ซึ่งหมายถึงส่วนแบ่งของชาวนาจะมากขึ้นในขณะที่ของตนเองจะลดลง) จากเดือนมีนาคม 2518 เป็นต้นไป จึงเริ่มมีการสังหารผู้นำชาวนาชาวไร่ จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมก็มาถึงจุดวิกฤต คือ การสังหารพ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ผู้เป็นประธานภาคเหนือและรองประธานระดับชาติของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ หลังจากการสังหารพ่อหลวงอินถา ชาวนาชาวไร่ก็เริ่ม เข้าป่าสู้แบบใต้ดินร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพราะในขณะนั้นการเคลื่อนไหวต่อสู้ในเมืองไม่มีความปลอดภัย จะเล่นตามตัวบทกฎหมายก็ถูกสังหาร ชาวนาชาวไร่จึงต้องเปลี่ยนมาจับอาวุธต่อสู้แบบใต้ดินแทน
รัฐและผู้มีอำนาจรู้ว่าวิธีต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ต้องใช้การปราบปรามด้วยอาวุธ วิธีนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ฝึกใช้มาหลายปีแล้วตั้งแต่วันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม 2508 แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐและผู้มีอำนาจอื่นๆ ยังไม่มีความรู้คือ ทำอย่างไรจึงจะปราบขบวนการที่เข้ามาเรียกร้องขอใช้กฎหมาย ถ้ามีผู้ลุกขึ้นมาจับอาวุธเพื่อจะเปลี่ยนระบอบการปกครอง รัฐสามารถใช้ความรุนแรงปราบปรามได้ ไม่ผิดกฎหมาย (จริงๆ แล้ว พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ให้อำนาจอย่างล้นเหลือในการปราบปรามไม่เพียงแต่ผู้ที่เป็นคอมมิวนิสต์ แต่แค่ถูกสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็ปราบได้) อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่รัฐเผชิญอยู่ ณ จุดนี้คือ จะทำอย่างไรกับผู้ที่เล่นตามตัวบทกฎหมาย จะใช้วิธีที่เคยทำมา คือใช้ความรุนแรงมาปราบก็ไม่ได้ จะห้ามก็ไม่ได้ จับขังก็ไม่ได้ ประหารชีวิตอย่างเป็นทางการก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องลงเอยด้วยการลอบสังหาร เป็นการฆ่าตัดตอน เป็นการสังหารผู้นำชาวนาที่จนถึงทุกวันนี้ผู้ที่ทำผิด ก็ยังไม่ถูกจับมาดำเนินคดี จากหลักฐานที่มีอยู่สามารถบอกได้ว่าน่าจะเป็นการร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับเจ้าของที่ดิน แต่ยังขาดหลักฐานที่จะบ่งชี้ลงไปได้ว่าใครเป็นผู้ลงมือสังหาร ใครเป็นฆาตกร หรือเป็นผู้จ้างมือปืน หรือเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
ประเด็นหลักของผู้เขียนในหนังสือเล่มนี้คือ การที่ชาวนาใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย โดยไม่ยอมเป็นเพียงผู้ที่ถูกกฎหมายบีบบังคับอยู่ตลอดเวลานี่แหละคือการปฏิวัติ และเป็นการปฏิวัติที่เกิดขึ้นก่อนการเข้าป่า แม้การร่วมมือต่อสู้ด้วยอาวุธตามแบบพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องสำคัญ แต่สำหรับผู้เขียน มันยังไม่สำคัญเท่ากับการที่ชาวนาชาวไร่พยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรียกร้อง เป็นการต่อสู้ที่พยายามจะทำให้ความคิดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของ 2475 กลายมาเป็นความจริงในชีวิตของตนเป็นการปฏิวัติที่ยังไม่เสร็จด้วยซ้ำ
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ดัดแปลงแก้ไขจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผู้เขียน ก่อนที่ผู้เขียนจะเข้ามาทำวิจัยเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ ผู้เขียนไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับชนบทหรือการทำนาหรือเรื่องความอยุติธรรมในการแบ่งแจกจำหน่ายข้าว ผู้เขียนเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองในสหรัฐอเมริกา ปู่ย่าตายายเป็นคนจนที่อพยพมาจากยุโรป ย้ายไปตั้งรกรากในสหรัฐฯ ตอนช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับที่สอง เพราะฉะนั้นผู้เขียนไม่มีภูมิหลังที่เป็นประสบการณ์ครอบครัวที่คล้ายคลึงกับของชาวนาชาวไร่ ความสนใจของผู้เขียนมาจากสามประเด็นที่เป็นความคิดซึ่งต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างการลุกขึ้นมาต่อสู้แสวงหาความยุติธรรมของประชาชนคนธรรมดา กับการใช้ความรุนแรงของรัฐและผู้มีอำนาจในการปราบปรามการเคลื่อนไหวต่างๆ รวมถึงบทบาทของงานเขียนที่บันทึกเรื่องราวการต่อสู้เหล่านี้ในทางประวัติศาสตร์ งานวิจัยของผู้เขียนเริ่มต้นขึ้นจากคำถามกว้างๆ ที่ว่าเกิดอะไรขึ้นในภาคเหนือในช่วงตุลาคม 2516 ถึง 2519 คำถามนี้เริ่มมาจากการอ่านงานเขียนของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เกี่ยวกับฆาตกรรมหมู่ 6 ตุลาคม 2519 และการสร้างความเงียบในรูปแบบต่างๆ[1] ซึ่งทำให้ผู้เขียนเริ่มมองเห็นว่า แม้กระทั่ง เหตุการณ์รุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงยังสามารถถูกปิดได้อย่างแทบจะสนิท ไม่มีการเอ่ยอ้างถึงหรือเล่าลงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ แล้วทำไมการปิดบัง อำพรางเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นในชนบทที่ห่างไกลอีกมากมาย ข้อคิดนี้ทำให้ผู้เขียนสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าต่อไป สิ่งที่ได้พบและได้เรียนรู้หลังจากนั้นได้เปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยของผู้เขียนและเปลี่ยนชีวิตในด้านอื่นๆ อีกด้วย
ช่วงที่ทำวิจัยหลักคือปี 2546 ถึง 2548 นับว่าผู้เขียนโชคดีที่เป็นช่วงที่อดีตนักเคลื่อนไหว นักศึกษา และชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือเริ่มรื้อฟื้นโครงการบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ในระยะสามปีดังกล่าว มีการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ทั้งในเขตงานเก่าโดยผู้ที่เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และในเมืองโดยบุคคลทั่วไป แต่ในทุกงานจะมีทั้งผู้ที่เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และผู้ที่ไม่ได้เป็นมาทำงานร่วมกัน ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าร่วมฟังในงานต่างๆ ในฐานะที่เป็น “สหายน้องหล้า”
ในเดือนพฤษภาคม 2548 ผู้เขียนได้ไปร่วมงานรำลึกและบันทึกประวัติศาสตร์ในเขตงานเก่าแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ เป็นช่วงเวลาที่เริ่มมี “กลิ่น” ของความแตกแยกทางการเมือง ตอนนั้นการเลือกตั้งที่ทักษิณชนะเป็นครั้งที่สองเพิ่งผ่านไปได้สามเดือน ภาคเหนือนอกจากจะเป็นพื้นที่มั่นของทักษิณและพรรคไทยรักไทยแล้ว ยังมีอดีตนักเคลื่อนไหวหลายคนเข้าไปทำงานให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ผู้เขียนยังจำงานรำลึก ครั้งนั้นได้ดี งานจัดขึ้นในวันเสาร์อาทิตย์ท่ามกลางสายฝน ผู้เขียนได้กินลิ้นจี่ลูกใหญ่ๆ เก็บจากต้นรอบๆ หมู่บ้านในงานมีการทำบุญ (นำโดยพระสงฆ์ที่เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์) มีการรำลึกถึงสหายผู้ที่เสียชีวิตไป มีการเล่าถึงเหตุการณ์และประสบการณ์ที่ผ่านมาวิทยากรหลักในงานเป็นหัวคะแนนของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง เป็นคนที่พูดตรงและยอมรับความจริงที่ว่าในหมู่ผู้ที่มาร่วมงานไม่ได้มีความคิดเห็นที่เหมือนกันหมด แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เขาพูดซ้ำ ๆ ว่าเสาร์อาทิตย์นี้ “เราเป็นแต่คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ไทยรักไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ เป็นแต่คอมมิวนิสต์” การพูดเช่นนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ถ้าคิดถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดหลังจากรัฐประหารอีกสองครั้ง ความขัดแย้งแตกแยกที่ประกาศออกมาด้วยสีในการชุมนุมหลายรอบและความรุนแรงต่างๆ ประกอบกับการใช้กำลังอย่างทารุณและผิดกฎหมายของรัฐ ทำให้ความออมชอมร่วมงานใด ๆ ด้วยกันเป็นไปไม่ได้ แต่ตอนนั้นการทำงานร่วมกันที่เชียงใหม่ยังเป็นไปได้ ในงานรำลึกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 ที่ผู้เขียนได้ไปร่วมการระงับไม่พูดถึงความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกันยังเป็นไปได้ เพราะยังไม่ได้กลายไปเป็นสิ่งที่เข้าไปผสมกับความรุนแรง แน่นอนว่าความแตกต่างกันนั้นมีอยู่แล้ว ความแตกต่างระหว่างผู้ที่เคยร่วมในการต่อสู้เพื่อสังคมใหม่ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือในป่ามองเห็นได้จากกองรองเท้าที่ถอดไว้นอกบ้านที่มีทั้งรองเท้าโลฟเฟอร์หนังและรองเท้าแตะยาง
สามเดือนหลังจากนั้น ผู้เขียนกลับไปเขียนวิทยานิพนธ์ที่อิทากา ในขณะเดียวกันชุมชนอดีตนักเคลื่อนไหวภาคเหนือได้เริ่มวางแผนที่จะจัดงานรำลึกครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ในวันที่ 6 ตุลาคม 2549 ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่จะจัดขึ้นที่เชียงใหม่ ผู้เขียนตกลงใจว่าถ้าเขียนร่างแรกเสร็จภายในหนึ่งปี ก็จะกลับไปเชียงใหม่เพื่อไปร่วมงานนั้น
วิทยานิพนธ์เขียนเสร็จทันเวลาและผู้เขียนได้กลับถึงเชียงใหม่ในวันที่ 14 กันยายน 2549 แต่แล้ววันที่ 19 กันยายน 2549 ก็เกิดรัฐประหาร
ตอนนั้นการแตกแยกด้านความคิดเห็นทางการเมืองปรากฏชัดอยู่แล้วโดยทั่วไป ในหมู่อดีตนักเคลื่อนไหวในภาคเหนือก็ไม่มีข้อยกเว้น มีทั้งผู้ที่ใส่เสื้อเหลืองไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ต้องการผลักทักษิณออกไป แล้วเชิญทหารออกมาก่อรัฐประหาร และมีทั้งผู้ที่ต่อต้านรัฐประหาร ท้ายที่สุดปีนั้น ไม่มีการจัดงานครบรอบเหตุการณ์ 6 ตุลาคมที่เชียงใหม่ สมัยที่ “เรา (ไม่ได้) เป็น แต่คอมมิวนิสต์” เริ่มขึ้นแล้ว[2]หลังจากนั้นอดีตนักเคลื่อนไหวก็เข้าไปมีบทบาทหลาย ด้านทั้งในฝ่ายเหลืองและฝ่ายแดง
ฉบับภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้เข้ากระบวนการพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นเวลาที่ตรงพอดีกับช่วงที่มีการปราบปรามฆ่าผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง มีผู้เสียชีวิต 94 คน และบาดเจ็บมากกว่า 2,000 คน หลายๆ คนบอกว่าอดีตกลับมาซ้ำอีกแล้ว
ผู้เขียนเป็นคนที่ละเอียดอ่อนกับเรื่องนี้ 2519 ไม่ใช่ 2535 ไม่ใช่ 2553 (และก็ไม่ใช่ 2557) อาจมีหลายสิ่งที่คล้ายกัน แต่ความแตกต่างกันก็สำคัญด้วย อย่างไรก็ตาม ตอนที่เห็นคนเสื้อแดงเสียชีวิตเพราะกล้าที่จะลงมือต่อสู้เพื่อขอมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ ทำให้ต้องนึกไปถึงการต่อสู้ของชาวนาชาวไร่ ไม่ใช่ในลักษณะที่ว่าอดีตกำลังกลับมาใหม่ แต่เป็นการต่อสู้ที่เริ่มมาแล้วเมื่อ 35 ปีก่อนและยังไม่เสร็จเป็นการต่อสู้ที่ถูกขัดจังหวะซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่างหาก การปฏิวัติเพื่อความเท่าเทียมกันในฐานะที่เป็นพลเมืองเหมือนกันก็ถูกขัดจังหวะซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นกัน ตอนที่ผู้เขียนเขียนคำนำในฉบับภาษาอังกฤษ ได้เขียนถึงบริบทการเมืองของการพิมพ์ว่าทำให้ความหมายของกระบวนการวิจัยเปลี่ยนไป ช่วงหลังจากหนังสือฉบับภาษาอังกฤษแก้เสร็จ ความรุนแรงที่ชาวนาผู้เรียกร้องให้ผ่านและให้ใช้กฎหมายเมื่อ 35 ปีก่อนต้องประสบก็ยิ่งชัดขึ้นในความคิดของผู้เขียน ชัดขึ้นในบริบทของการฆ่าประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและมีสิทธิ์มีส่วนร่วมเท่าเทียมกันในการปกครองประเทศ
ประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่จะหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนเคลื่อนไปตามกาลเวลา
หนังสือเล่มนี้แปลและพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มในระยะที่บ้านเมืองไทยอยู่ภายใต้ “การดูแล” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ที่ไม่อยากถูกเรียกว่าเป็นเผด็จการ แต่จากมุมมองของผู้เขียน น่าจะไม่ต่างกันนัก) ความหมายของเหตุการณ์ต่างๆ ก็คงเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและจินตนาการถึงโลกที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดพื้นฐานเบื้องหลังการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่และ นักศึกษา ทำให้สามารถมองสภาพการณ์ปัจจุบันได้ว่าการต่อสู้ท่ามกลางความมืดมิด เป็นสิ่งที่เป็นไปได้
ในอดีตที่ผ่านมา บันทึกทางประวัติศาสตร์มักจะเกิดขึ้นจากผู้มีอำนาจ หรือเขียนขึ้นมาจากมุมมองของผู้มีอำนาจ ดังนั้น การใช้ความรุนแรงของรัฐหรือผู้มีอำนาจในการปราบปรามการเรียกร้องความยุติธรรมของประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ยังไม่ถูกจารึกลงในตำนานประวัติศาสตร์อย่างสมบูรณ์ อาจารย์สุพจน์ ด่านตระกูล เขียนไว้ว่า “เป็นที่น่าสังเกตว่า ประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วก็คือประวัติเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของมวลมหาชนนั้นเอง แต่หากเรื่องราวที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์แห่งชาตินั้นๆ ได้กลายเป็นเรื่องราวของกษัตริย์ไปเสียโดยเฉพาะ มวลชนหาได้ถูกกล่าวขวัญถึงไม่ ประวัติศาสตร์ของชาติหรือมหาชนได้ถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ของราชันผู้พิชิต แทนที่จะเป็นของมหาชนผู้รังสรรค์สังคม”[3]
งานเขียนในทางประวัติศาสตร์ของผู้เขียนมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ประวัติศาสตร์มหาชนตามคำนิยามของอาจารย์สุพจน์ (ไม่ใช่นิยามที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนำมาใช้ในการชุมนุมตอนปี 2556-2557) ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานเล็ก ๆ ชิ้นนี้จะมีประโยชน์ หวังว่าจะช่วยขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้นในการบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความยุติธรรม การกดขี่และการกระทำรุนแรงโดยผู้มีอำนาจ หวังว่าจะมีคนเริ่มไปค้นและเขียนประวัติศาสตร์เดือนตุลาในทุกจังหวัดในเมืองไทย และหวังว่าอดีตนักเคลื่อนไหวชาวนาและนักศึกษาจะเขียนประวัติศาสตร์ของตน กระทั่งหันมาจับปากกาเขียนแย้งนักวิชาการผู้เขียนมีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่วิทยานิพนธ์ออกมาเป็นภาษาอังกฤษ ตามเนื้อหาแล้วควรจะเป็นภาษาไทย เพราะผู้อ่านที่สำคัญที่สุดอยู่ที่เมืองไทย
ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ และคุณเบญจรัตน์ แซ่จั่ว และคุณอัญชลี มณีโรจน์ ที่แปลและบรรณาธิการแปลหนังสือของผู้เขียนเป็นภาษาไทย นอกจากความยากลำบากในการแปลแล้ว ทั้งสามท่านยังมีไมตรีจิตให้ข้อคิดและคำวิจารณ์ ด้วยความเป็นมิตรสหายหาจุดที่ผู้เขียนเขียนผิด หรือไม่ชัดเจน หรือหย่อนในทางตรรกะในฉบับภาษาอังกฤษแล้วช่วยแก้ไขให้ ขอขอบคุณอาจารย์งามพิศ จากาซินสกี ที่แก้ให้คำนำนี้ทั้งยิ่งราบรื่นและยิ่งแหลมคม
ขอขอบคุณคุณธนาพล อิ๋วสกุล และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ให้ความสนใจในหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ยังเป็นวิทยานิพนธ์ ผู้เขียนจำได้ว่าได้อ่านวารสาร ฟ้าเดียวกัน เป็น ครั้งแรกตอนต้นปี 2547 ที่ร้านหนังสือร้านเล่าที่เชียงใหม่ จากนั้นมาจนทุกวันนี้ก็ยังติดตามอ่านมาตลอด เพราะต้องการแสวงหาความรู้ที่ท้าทายแนวคิดกระแสหลัก ประกอบกับมีความเชื่อว่าความรู้ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของความฝันที่จะสร้างวันใหม่ที่สำคัญยิ่งในยุคที่ยังมีความมืดมิดครอบคลุมอยู่ เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้ ร่วมงาน
ข้อบกพร่องผิดพลาดใดๆ ก็ตามล้วนมาจากต้นฉบับในภาษาอังกฤษ และเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว
ไทเรล (มาลี) ฮาเบอร์คอร์น
[1]เช่น ธงชัย วินิจจะกูล, “ความทรงจำกับประวัติศาสตร์บาดแผล: กรณีการปราบปรามนองเลือด 6 ตุลา 2519,” รัฐศาสตร์สาร19, 3 (2539): 15-49 ; และ ThongchaiWinichakul, “Remembering/Silencing the Traumatic Past: the ambivalent memories of the 6 October 1976 massacre in Bangkok,” in Cultural Crisis and Social Memory: Modernity and Identity in Laos, cd. Charles F. Keyes and Shigeharu Tanabe (London : Routledge, 2002), 243-83.
[2]เพื่อเข้าใจอุดมคติและตรรกะหลังทางเดินที่แตกต่างของอดีตนักเคลื่อนไหวโปรดดู ใบตองแห้ง, “อุดมการณ์จากป่าเขา,” ประชาไท, 22 กรกฎาคม 2555, http://www.prachatai.com/journal 2012/07/41682 ; และ KanokratLertchoosakul, “The rise of the Octobrists: Power and Conflict among Former Left Wing Student Activists in Contemporary Thai Politics, PhD thesis, London School of Economics, 2012.
[3]สุพจน์ ด่านตระกูล, ปทานุกรมการเมือง ฉบับชาวบ้าน (กรุงเทพฯ: สันติธรรม, 2528), 249-50.
ณ เรือนจำภายในบริเวณโรงเรียนตำรวจนครบาลช่วงปี 2519-2520 ผมไม่แปลกใจที่พบเพื่อนแกนนำนักศึกษาหลายคนซึ่งอยู่ร่วมกันในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ธรรมศาสตร์เมื่อตำรวจและกองกำลังกึ่งรัฐได้สังหารคนไปหลายสิบคนและจับกุมคนอีกหลายร้อยคนโทษฐานที่อาจหาญต่อต้านการปกครองของทหารนิยมเจ้า แต่มีอีกหลายคนอยู่ในที่นั้นด้วยเหตุผลที่น่าสงสัย พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “ภัยสังคม” ที่มีอยู่ราวห้าพันคน ซึ่งถูกกักขังตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่โดยไม่มีการตั้งข้อหาหรือดำเนินคดี
หนึ่งในนั้นเป็นครูโรงเรียนผู้ใจดีและสุภาพเรียบร้อยแบบคุณครูตัวอย่างของไทย เวลาที่เธอพูดถึงหัวหน้าและฝ่ายตรงข้ามเธอที่โรงเรียนซึ่งอาจเป็นผู้ที่รายงานกิจกรรมทางการเมืองที่เธอทำต่อตำรวจ เธอไม่ได้สบถสาดเสียเทเสีย ก่นด่า หรือพูดคำหยาบคายถึงคนเหล่านั้นเลย ไม่ว่าจะเศร้าเพียงใด เธอก็ยังยิ้มน้อยๆ และบางครั้งก็หัวเราะให้กับชะตากรรมของตัวเอง ผมจำไม่ได้ว่าเธอได้รับการปล่อยตัวเมื่อใด อาจจะหลังจากเข้ารับ “การอบรมวิชาชีพ” สำหรับบุคคล “อันตราย” เช่นเธอจนครบกำหนดแล้ว
ราวกลางปี พ.ศ. 2520 พี่น้องสองคนถูกนำมาขังไว้ในห้องใกล้ๆ กับที่ผมกับเพื่อนถูกขังมาหลายเดือนแล้ว พี่ชายคนโตเป็นชาวนาที่ประสบความสำเร็จและมีบทบาทในการเมืองท้องถิ่นระดับอำเภอในจังหวัดทางภาคอีสาน เขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ที่ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น อภิปรายถึงในหนังสือเล่มนี้ ส่วนคนน้องเป็นหนุ่มท้องนาที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งสองคนไม่รู้ว่าเหตุใดพวกตนจึงถูกจับ ใครเป็นคนแจ้งความกับตำรวจ เกี่ยวกับกิจกรรมอะไร หรือว่าเหตุใดพวกตนจึงมาลงเอยอยู่ที่เดียวกันกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และศัตรูของชาติอย่างพวกเรา คนพี่กังวลใจ เขายืนยันหลายครั้งว่าเขาไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์
ยังมีกรณีแบบนี้อีกหลายคน ในช่วงเวลายากลำบากและในสถานที่ที่ไม่น่าเป็นไปได้นี้ พวกเรากลายเป็นกัลยาณมิตร แม้ว่าจะดีกว่านี้หากเราได้พบกันในสถานการณ์อื่น หนังสือเล่มนี้นำพาความทรงจำมากมายของช่วงเวลาที่ชีวิตของเราพานพบกันกลับมา ผมคิดถึงคนเหล่านี้
ผมยังจำได้ว่าได้อ่านข่าวเกี่ยวกับผู้ที่ถูกลอบสังหารในช่วงปีเหล่านั้นที่ไทเรลกล่าวถึงแทบทุกคน ผมรู้จักบางคนเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่แค่รู้ชื่อโดยไม่รู้จักหน้าค่าตาหรือรับรู้ในเชิงสถิติเท่านั้น ช่วงเวลานั้นเป็นยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ตามด้วยช่วงเวลาที่ผู้คนถูกบอกให้ลืมเสียเพื่อความสมานฉันท์สามัคคี เพื่อประเทศจะได้ก้าวไปข้างหน้า ไม่กี่ปีมานี้ การสังหารหมู่ 6 ตุลาถูกพูดถึงในทางสาธารณะบ่อยขึ้นแม้ว่าจะยังเป็นการพูดแบบระมัดระวังและจำกัดโดยมักจะต้องเลือกใช้คำอย่างละเอียดรอบคอบ กระนั้นก็ตาม การลอบสังหารและการกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ที่ถูกถือว่าเป็น “ภัยสังคม” ซึ่งหนังสือเล่มนี้สนใจศึกษาก็ยังถูกมองข้ามไป
ในนามของความสามัคคี ชื่อและเรื่องราวของผู้คนเหล่านี้ถูกกวาดซุกไว้ใต้พรมชีวิตจริงและจิตวิญญาณของพวกเขาอาจจะไม่มีวันได้เป็นที่รับรู้อีกเลย แม้กระทั่งกับลูกหลานของพวกเขาด้วยในบางกรณี ความยุติธรรมก็ถูกกลบฝังไปด้วยเช่นกัน เพราะการปรองดอง “แบบไทยๆ” คือการสละทิ้งความยุติธรรมและการยับยั้งการใช้หลักนิติธรรมที่อาจกล่าวโทษชนชั้นผู้ปกครองและเครือข่ายของพวกเขา อันเป็นกลุ่มที่อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2510 ว่าเป็นผู้กระทำผิดได้ ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาล รัฐสภา และผู้คนมากี่รุ่นก็ตาม การปรองดองแบบไทยๆ นั้นเป็นเหมือนพ่อที่บอกลูกๆ ให้เข้านอนแล้วหลับเสียหลังจากได้ทำโทษลูกอย่างโหดร้ายโทษฐานที่ดื้อไม่ฟังคำสั่ง อาชญากรรมเป็นเรื่องภายในครอบครัว ลูกที่ดีจะต้องไม่ร้องไห้เพราะถูกทำร้าย
จนเรื่องนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง และอีกครั้ง ครั้งล่าสุดในปี 2553 ในขณะที่หนังสือเล่มนี้ในพากย์ภาษาอังกฤษกำลังจัดทำใกล้เสร็จสิ้น และเป็นอีกครั้งที่คาดว่าจะมีการปรองดองโดยปราศจากความยุติธรรม ในไม่ช้า ชีวิตและจิตวิญญาณที่สูญเสียไปจะเหลือเพียงชื่อที่ไร้ใบหน้าแล้วกลายเป็นสถิติไปในที่สุด จากนั้นเรื่องราวของพวกเขาก็จะถูกทำให้เงียบหายไปเช่นกัน
ฮาเบอร์คอร์นเขียนหนังสือเพื่อป้องกันไม่ให้ชีวิตเลือนหายไปสู่การลืมเลือนเธอเล่าเรื่องราวซึ่งนำผู้ที่ถูกลืมกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เธอทำอย่างนั้นแบบที่นักวิชาการที่ดีเท่านั้นที่จะทำได้ ด้วยความช่ำชอง ด้วยความละเอียดอ่อน ด้วยความเข้าใจลึกซึ้งและเธอยังมีใจรักอีกด้วย นี่ไม่ได้เป็นเพียงการเขียนรำลึกแสดงความเคารพเหยื่อแบบง่ายๆ เท่านั้น ไม่ใช่เลย วิธีการที่ดีที่สุดในการจดจำผู้ที่ถูกลืมดังที่หนังสือเล่มนี้ได้ทำให้เห็นก็คือการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดรอบคอบและการตีความแม้กระทั่งรายละเอียดที่เล็กมากจนคนอื่นแทบมองไม่เห็นเพื่ออธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านี้ และสังคมไทยได้จัดการกับชีวิต จิตวิญญาณ และเรื่องราวของพวกเขาอย่างไร นี่ไม่ใช่คำกล่าวรำลึกมรณกรรม แต่เป็นการมองเข้าไปในสังคมไทย ลึกลงไปในใบหน้า ลึกลงไปในดวงตาเพื่อทำความเข้าใจด้านตรงข้ามของยิ้มสยาม ฮาเบอร์คอร์นแสดงให้เห็นว่าเหตุใดชาวนาและนักศึกษาจึงลุกขึ้นมาท้าทาย ทำไมพวกเขาถึงถูกปิดปาก และทำไมจึงมีการลอบสังหารและกักขังตามอำเภอใจ หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงให้ปากเสียงแก่ผู้ที่ถูกปิดปากเท่านั้น แต่ยังตั้งคำถามสำคัญต่อสังคมไทยและประวัติศาสตร์ไทยอีกด้วย
ผมหวังว่าสักวันหนึ่ง สังคมไทยจะมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะเผชิญกับคำถามเหล่านี้
ธงชัย วินิจจะกูล