ข้อมูลทั่วไป
ผู้เขียน | ประชา สุวีรานนท์ |
---|---|
จำนวนหน้า | 328 |
ปีที่พิมพ์ | 2551 |
ISBN ปกอ่อน | 9789741043044 |
Original price was: 380.00 บาท.342.00 บาทCurrent price is: 342.00 บาท.
ผู้เขียน | ประชา สุวีรานนท์ |
---|---|
จำนวนหน้า | 328 |
ปีที่พิมพ์ | 2551 |
ISBN ปกอ่อน | 9789741043044 |
คำนำสำนักพิมพ์
คำนำที่ไม่เหมือนคำนำ โดย สาธิต กาลวันดวานิช
IDENTITY – 1
Pattern Recognition :คูลฮันเตอร์กับแบรนด์คัลเจอร์
Inter Goes Thai :สำนึกใหม่ในตัวพิมพ์
SR Fahtalaijone :ตัวพิมพ์กับภาพยนตร์แบบ “ไทยๆ”
Very Thai : ไกด์บุ๊กยุคโพสต์ทัวริสต์
คุณกับกู, You กับมึง : ศิลปะแห่งการทึกทัก
Colors : หลากหลาย หรือ ขายแบรนด์?
STYLE – 2
อลันเฟลทเชอร์ : ดีไซน์กับไหวพริบปฏิภาณ
แซกมายสเตอร์ : จับใจแบบจอมกวน
ปิแยร์แบร์นารด์ : คิดอย่างสมจริง ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
WAR IS OVER! : ดีไซน์เพื่อสันติภาพ
ICON – 3
ตินติน : ทเวนตี้เซนจูรี่บอย
โอลิมปิก 2012 : รอยเปื้อนราคาสี่แสนปอนด์
Earthrise : โลกทั้งใบ (ไม่ใช่) ของนายคนเดียว
สวัสดิกะ : มงคลและความชั่วร้าย
รถถัง : ปลดปล่อย หรือ ปราบปราม?
กำปั้น : ดีไซน์ที่กลายพันธุ์
Pictogram : มนุษย์ห้องน้ำกับความหมายของ 14 ตุลา
INFORMATION – 4
Running the Numbers : ตัวเลขกับรูปถ่ายร่างกายกับการมอง
London Underground Map : สำนึก มุมมองและอุดมการณ์ในแผนที่
แผนที่อุปมา : ภูมิศาสตร์ของความรู้สึก
Jewish Museum Berlin : ประวัติศาสตร์บนเส้นคด
OBJECT – 5
ที่วางถ้วยในรถยนต์ : ส่วนเกินที่แสนจำเป็น?
แปรงสีฟัน : ดีไซน์กับปัญหา “ปลายจมูก”
ฟิลิปป์สตาร์ก : ซูเปอร์ดีไซเนอร์/ศิลปิน
IDEO : ดีไซเนอร์/นักมานุษยวิทยา
Minimalism : เนื้อแท้ของการลดทอน
Le Corbusier’s Chaise Longue : ความสบายกับความ (โม) เดิร์น
บรรณานุกรม
ที่มาของภาพ
ดรรชนี
ในสังคมไทย “ดีไซน์” หรือการออกแบบ มักจะถูกจัดวางไว้สำหรับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นมัณฑนากร สถาปนิก หรือกราฟิกดีไซเนอร์ ผลของการจัดวางตำแหน่งแห่งที่เช่นนี้ ทำให้ “ดีไซน์” อยู่นอกเหนือความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ต่างจากชุดความรู้ของวิชาชีพเฉพาะทางหรือ“ช่าง” ในสาขาต่างๆ เช่น แพทย์ วิศวกร นักกฎหมาย หรือแม้แต่ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์
คอลัมน์ “ดีไซน์ คัลเจอร์” ของประชา สุวีรานนท์ เริ่มปรากฏในนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2549 ซึ่งในที่นี้ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้รวบรวมข้อเขียนดังกล่าวตั้งแต่ชิ้นแรกที่ตีพิมพ์จนถึงเดือนกรกฎาคม 2550 มาปรากฏเป็น ดีไซน์ + คัลเจอร์ ที่อยู่ในมือท่าน ณ ขณะนี้
เมื่อมองเผินๆ ดีไซน์ + คัลเจอร์ ก็คงเป็นเพียงเรื่องราวของคนในวิชาชีพออกแบบโฆษณา เพราะผู้เขียนก็เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ และเรื่องราวที่เขียนถึงก็คือความเป็นไปในวงการโฆษณา แต่เมื่ออ่านให้ลึกลงไป เราจะพบว่า ดีไซน์ + คัลเจอร์ มิได้เป็นเพียงข้อเขียนเกี่ยวกับเทคนิควิธีการในการทำงานด้านการออกแบบของผู้มีประสบการณ์เท่านั้น หาก ดีไซน์ + คัลเจอร์ พยายามจะบอกเราว่าในการทำงานสร้างสรรค์นั้น วิธีคิด วิธีมองโลกที่อยู่เบื้องหลังย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด สำคัญเสียยิ่งกว่าการรู้เทคนิควิธีการที่ดี หรือการเข้าถึงเทคโนโลยีที่พร้อมสรรพใดๆ โดยเฉพาะหากคำนึงถึงจุดมุ่งหมายในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีหรือ “จับใจ” ผู้คน
นอกจากนี้ ดีไซน์ + คัลเจอร์ ยังพาดพิงไปถึงข้อคำนึงเกี่ยวกับ จุดมุ่งหมายของศิลปะอันเป็นประเด็นสำคัญมาตลอดทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าศิลปะควรจะดำรงอยู่เพื่อศิลปะเอง หรือควรจะเป็นไปเพื่อสิ่งอื่นๆ นอกเหนือตัวศิลปะด้วย (เป็นต้นว่าสังคม) กล่าวคือในเรื่องปัญหาความสมดุลระหว่างความงามกับจุดหมายหรือรูปแบบกับเนื้อนั่นเอง เช่นเราจะเห็นตัวอย่างได้จากเรื่องเส้นแบ่งระหว่าง “ศิลปะ” กับ“พาณิชย์” ของงานกราฟิกดีไซน์
ดีไซน์ + คัลเจอร์ ยังชี้ชวนให้เราเห็นถึงสิ่งที่กว้างไกลไปกว่าเรื่องของการออกแบบ โดยมองผ่านการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสำนึกเกี่ยวกับตัวตน การสร้างความรับรู้และรูปการจิตสำนึก มิติของอุดมการณ์ การเมืองและวัฒนธรรม ฯลฯ กล่าวอีกนัยหนึ่ง นี่คือการวิเคราะห์สังคมอย่างลุ่มลึกโดยมองผ่านงานดีไซน์ และเมื่ออ่านข้อเขียนเหล่านี้จบลง เราก็อาจจะต้องกลับมาถามตัวเองว่า ดีไซน์มีผลต่อความคิดของเราถึงเพียงนี้เชียวหรือ ?
ตัวอย่างการวิเคราะห์เชื่อมโยงที่ทั้งน่าทึ่งและโต้ตอบโดยตรงต่อสังคมไทยในปัจจุบันสมัย คือคำอธิบายเมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยา ท่ามกลางความปีติยินดีของคนชั้นกลางในเมืองหลวงที่หันกลับมา “คืนดี” กับกองทัพ โดยเฉพาะพฤติกรรม “มอบดอกไม้ ถ่ายรูปกับรถถัง” บทความ “รถถัง : ปลดปล่อยหรือปราบปราม” ได้ให้บริบททางประวัติศาสตร์ของภาพลักษณ์ “รถถัง” ที่ถูกควบคุมโดยอุดมการณ์ทางการเมืองตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองจนสิ้นยุคสงครามเย็น ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และเมื่อมาอยู่ในบริบทของการรัฐประหาร 19 กันยา รถถังได้กลายเป็น “สัญญะ” ให้ผู้ที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐประหารได้หยิบฉวยใช้อย่างไร
ในฐานะสำนักพิมพ์ หากความหมายของดีไซน์จะสามารถอ่านได้แต่เพียงในทางเทคนิค ก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องพิมพ์เป็นหนังสือออกมาให้คนทั่วไปพยายามปีนบันไดเข้าใจศัพท์แสงของวงการนี้แต่อย่างใด
แต่ด้วยธรรมชาติของการสร้างงานดีไซน์ ที่ถูกเรียกร้องให้ต้องมีความเฉพาะตัวในความหมายของการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ตลอดเวลา และต้องอาศัยสัมผัสที่ไวต่อการจับอารมณ์ความรู้สึกหรือวิธีคิดของสังคมในช่วงนั้นๆ เพื่อให้บรรลุเป็นชิ้นงานที่จะสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของความงามที่สัมพัทธ์ปรับเปลี่ยนไปกับยุคสมัย และในแง่ของสารที่หวังผลในการชักจูงใจ
การสามารถย้อนกลับมาอ่านให้แตกว่า งานดีไซน์หนึ่งๆ มีรากที่มาอย่างไร ถูกหยิบใช้และส่งผลสะเทือนอย่างไร จึงไม่ใช่อะไรนอกจากการอ่านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่ถูกบันทึกไว้อย่างลุ่มลึก แยบคาย ทว่าอาจ ตรงไปตรงมา และปราศจากการครอบงำเสียยิ่งกว่าการอ่านตำราประวัติศาสตร์วัฒนธรรมฉบับทางการก็เป็นได้
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
มีนาคม 2551
คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่เปลี่ยนจากคนรุ่นใหม่กลายเป็นคนรุ่นเก่า จากรุ่นสู่รุ่นได้ต่อยอดค่านิยมแบบคนรุ่นใหม่ที่ว่า ใหม่คือดี เก่าคือเชย ยังคงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง พวกเรากลับถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าให้เร่งสปีดไปข้างหน้า อย่างไม่ลืมหูลืมตา
แก๊ดเจ็ตรุ่นใหม่ที่ตกรุ่นอย่างรวดเร็ว เช่น มือถือ เกมส์ เป็นส่วนหนึ่งของการบริโภคที่เบียดเวลาชีวิตของเราไม่ให้หยุด ฉุกคิด หรือเฉลียวใจรวมทั้งตั้งคำถามกับความทันสมัย และความเจริญที่เราเสพติด
ไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ถูกเปลี่ยนเป็นสังคมบริโภคแบบแดกด่วน (fast food) อย่างฉับพลันทันใด และกำลังมุ่งตรงไปที่ปากเหวแห่งหายนะ ขาดทั้งความรู้และความเข้าใจต่อโลกภายนอก สังคมชนิดนี้ผลิตขึ้นมาแต่คนที่ไม่แข็งแรงทางความคิด ขาดความสามารถในการตั้งคำถามและหาคำตอบ ขาดความสามารถที่จะเป็นนักทดลองกล้าเสี่ยงในการทำสิ่งใหม่ที่สร้างสรรค์
ความจริงที่ได้กล่าวมานี้ ก่อให้เกิดคำถามว่า สังคมไทยจะสร้างนวัตกรรม รวมทั้งจะสร้างบุคลากรที่จะยืนหยัดด้วยตนเอง และอย่างแข็งแรงมั่นคงบนโลกใบนี้ได้อย่างไร?
เราจะเอาอะไรไปสู้กับนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยกว่าสามสิบล้านคน กับอนาคตดีไซเนอร์อีกหลายแสนคน ที่มีอาชีพการออกแบบในทุกสาขาที่กำลังขึ้นหน้าขึ้นตาในจีน?
ยุโรปนั้นแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะการออกแบบและวิศวกรรมแทบเป็นเส้นเลือด กล้ามเนื้อ เป็นอวัยวะทุกส่วนที่ล่ำสันของประเทศแถบนั้นอยู่แล้ว อังกฤษผลิตนักออกแบบมามากมายจนแทบจะเดินชนกันตาย
ญี่ปุ่นก้าวหน้าไปไกลกว่าใครในเอเชีย ทั้งความลึกซึ้ง ความเป็นตัวของตัวเองทางการดีไซน์สมัยใหม่ เกาหลีก้าวขึ้นมายืนแถวหน้าในโลกได้ภายในเวลาไม่ถึงยี่สิบปี ฮ่องกง สิงคโปร์ ประเทศเล็กนิดเดียว แทบไม่มีพื้นที่ทำการผลิต ไม่มีทรัพยากร ก็ใช้ความพยายามเกินร้อย ด้วยงบประมาณและนโยบายเชิงรุก แย่งกันเป็นฮับ หรือศูนย์กลางของการออกแบบในแถบภาคพื้นเอเชีย
พูดอีกอย่างหนึ่ง เบื้องหลังของความสำเร็จของประเทศเหล่านี้คืออะไร?
คำตอบคือประชากรที่มีคุณภาพ ที่ประกอบด้วยคุณสมบัติที่พร้อมสำหรับความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ความเข้าใจ จินตนาการและรสนิยม คนเหล่านี้นี่แหละที่ช่วยกันขับดันประเทศของเขาไปข้างหน้า
นี่แหละ… ทำไมเราถึงต้องหัดซีเรียสกันบ้าง
ซีเรียสกับการสร้างปัญญา มีความสุขกับความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ ซึ่งหมายถึงเรียนรู้คอนเซ็ปต์ของทุกสิ่งรอบๆ ตัว เครื่องจักร นวัตกรรม เทคโนโลยี ปรัชญา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ดนตรี ศิลปะ สถาปัตยกรรม และดีไซน์
เพราะการผนึกกำลังทางปัญญาของคนไทย แทบจะเป็นหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากการเป็นประเทศเบี้ยล่างของโลก หลุดพ้นจากประเทศที่เก่งในการบริโภค เก่งอิมพอร์ต เก่งตามเทรนด์ ตามแฟชั่น เก่งลอกเลียนแบบ ไปสู่ประเทศที่เก่งความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ประดิษฐ์นวัตกรรม คิดค้นสิ่งใหม่ๆ
และถ้าเราช่วยกันสร้างคนแบบนี้ขึ้นมามากๆ จนเต็มบ้านเต็มเมืองก็ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณอีกมากมายไปจัดการกับปัญหาสังคม
เพราะบ้านเมืองจะมีคนช่วยกันสร้างมากกว่าทำลาย
ดีไซน์ + คัลเจอร์ โดยประชา สุวีรานนท์ คือความซีเรียสที่น่าสนุก ด้วยเรื่องราวในโลกของการออกแบบ
ท่ามกลางวัฒนธรรมดีไซน์ที่ก่อตัวขึ้นทั่วโลก ด้วยแง่มุมเฉพาะตัวของผู้เขียน ความรู้ใหม่ๆ ภายใต้งานออกแบบหลากหลายสาขา มิใช่ความรู้แบบในห้องเรียนดีไซน์ หรือข่าวสารแบบฟู่ฟ่าฉาบฉวยแบบว่าอะไรอินเทรนด์หรือเอาต์ไปแล้ว แต่เป็นการนำเสนอเพื่อเปิดประเด็นให้ถกเถียงเกี่ยวกับการออกแบบ กระตุ้นต่อมคิด และสร้างแรงดลใจให้กับผู้อ่าน
รวมทั้งการเปิดประเด็นแบบโยนเครื่องหมายคำถาม ไม่วางตนชี้ถูกผิด แต่เหน็บสังคมแบบเผลอๆ ก็เอาซะที ซึ่งดูจะเป็นลีลาเฉพาะของคุณประชา
ท่ามกลางกระแสทุนที่โหมกระหน่ำด้วยแฟชั่น เทรนด์และการบูชาแบรนด์อย่างเอาเป็นเอาตาย ข้อเขียนของคุณประชามีคุณลักษณะด้านลึกที่สวนกระแสอยู่ บทความหลายชิ้นใน ดีไซน์ + คัลเจอร์ ลอกเปลือกชั้นนอกออก เพื่อให้เราได้เห็นเนื้อในของผลิตภัณฑ์ การออกแบบกราฟิกและแฟชั่น ที่เคลื่อนตัวไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง
ยกตัวอย่างเช่นในบทความ “Pattern Recognition: คูลฮันเตอร์กับแบรนด์คัลเจอร์” ชี้ว่าดีไซน์เป็นเครื่องมือที่ทำให้แบรนด์มีอำนาจเหนือผู้คนในระดับจิตใต้สำนึก และกระตุ้นเตือนให้เราตระหนักชัดถึงความสำคัญ ของการเสพความรู้ ความคิด จินตนาการ แทนที่จะตกเป็นเหยื่อของการบริโภคแบรนด์ ตั้งแต่เกิดจนตายอย่างไร้สาระ
เมื่อมองจากมุมสูงและเห็นภาพใหญ่ เรื่องราวของเทรนด์แฟชั่นและดีไซน์ที่ปรากฏใน ดีไซน์ + คัลเจอร์ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเร่งรีบไขว่คว้าหามาครอบครอง แต่เป็นสิ่งน่าสนุกสนานที่จะเรียนรู้และเท่าทันภูมิปัญญาตะวันตก และอาจกระตุ้นให้เราเรียนรู้ต่อไปเพื่อยืนบนขาของเราเอง
นอกเหนือไปจากการตีความในแง่มุมใหม่ๆ เนื้อหาสาระที่อัดแน่นและมีอยู่เต็มเปี่ยมในหนังสือเล่มที่คุณกำลังถืออยู่นี้ คือการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นความรู้อีกชนิดหนึ่งที่ไม่หยุดนิ่ง เป็นความรู้ที่ดลใจให้คิดต่อไปไม่รู้จบ แม้ว่าจะไม่เคยมีใครจัดให้มันเป็นความรู้มาก่อนเลยก็ตาม
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เพียงเหมาะกับนักเรียนออกแบบหรือผู้ที่อยู่ในวงการเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับผู้ประกอบการ นักธุรกิจที่เริ่มเล็งเห็นความสำคัญของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก ในกระแสการแข่งขัน ที่แม้เราไม่อยากลงสนามก็ต้องถูกลากลงไป
เพราะในที่สุดถ้าเราไม่ใช่ผู้ล่า เราก็ต้องเป็นผู้ถูกล่า อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับนักออกแบบจำนวนหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าดีไซน์คือหัวรบที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะเจาะทะลุทะลวงตลาดใหม่ๆ ในโลก และตนเองเป็นกองทัพสำคัญที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจใหม่ของไทย
เราอาจสิ้นหวังกับสายตาที่สั้นของผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศ ของภาครัฐ ของรัฐบาล และนักการเมือง ที่มองไม่เห็นความสำคัญของดีไซน์เห็นแต่อิฐ หิน ปูน ทราย เหล็กเส้น ทางด่วน เขื่อน สาธารณูปโภค และเมกะโปรเจ็กต์ และคิดว่าจะขายข้าว ยางพารา น้ำตาล มันสำปะหลัง และของโหลของก๊อบปี้แข่งกับเพื่อนบ้าน
หากเราท้อแท้… นั่นคือความผิดของเราเองที่ไปตั้งความหวังกับคนเหล่านี้มากเกินไป
นับแต่นี้เราควรพึ่งตัวเอง เราเปลี่ยนแปลงใครไม่ได้ถ้าเราไม่เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง…
ได้เวลาเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้กันแล้วครับ !
สาธิต กาลวันตวานิช
24 ธันวาคม 2550
กรุงเทพฯ ประเทศไทย