ข้อมูลทั่วไป
ผู้เขียน | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
---|---|
จำนวนหน้า | 496 |
ปีที่พิมพ์ | 2555 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667140 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667157 |
ปกแข็ง 495.00 บาทปกอ่อน 360.00 บาท
ผู้เขียน | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
---|---|
จำนวนหน้า | 496 |
ปีที่พิมพ์ | 2555 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667140 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667157 |
คำนำสำนักพิมพ์
คำนำผู้เขียนในการจัดพิมพ์ครั้งที่ 1
คำนำผู้เขียนในการจัดพิมพ์ครั้งที่ 2
บทที่ 1 วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์
บทนำ
1 วรรณกรรมสองชนชั้นของอยุธยา
2 ความเปลี่ยนแปลงด้านวรรณกรรมในต้นรัตนโกสินทร์
3 กระฎุมพีในเศรษฐกิจแบบส่งออก
4 วัฒนธรรมกระฎุมพีในวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์
บทสรุปและส่งท้าย
ภาคผนวก บัญชีรายชื่อวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์
บทที่ 2 สุนทรภู่ : มหากวีกระฏุมพี
บทที่ 3 อันเนื่องมาจากมหาชาติเมืองเพชร
บทที่ 4 โลกของนางนพมาศ
บทที่ 5 พระปฐมสมโพธิกถากับความเคลื่อนไหวทางศาสนาในต้นรัตนโกสินทร์
บทที่ 6 ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา
บรรณานุกรม
ที่มาภาพ
ดรรชนี
“การศึกษาประวัติศาสตร์ การเขียนประวัติศาสตร์ของเรายังไม่เริ่มต้นขึ้น”
นิธิ เอียวศรีวงศ์, “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ อาร์โนลด์ทอยน์บี”,
สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (มิถุนายน–สิงหาคม 2512) หน้า 24
ประวัติศาสตร์ “สกุลดำรงราชานุภาพ” ตามแนวทางการศึกษาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพส่งอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อการศึกษาและการเขียนประวัติศาสตร์ไทยนับตั้งแต่พุทธศตวรรษ 2450 เป็นต้นมา ประวัติศาสตร์สกุลดังกล่าวมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
– การศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์จากการกระทำของ “บุคคล” (วีรบุรุษ/วีรสตรี) โดยละเลยความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
– การมุ่งความสนใจไปยังสุโขทัยในฐานะ “รัฐในอุดมคติ” มากกว่าอยุธยาซึ่งมีความสืบเนื่องกับปัจจุบันมากกว่า
– การศึกษาประวัติศาสตร์ “ไทย” กับความสัมพันธ์กับตะวันตกอย่างคับแคบ โดยละเลยมิติความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน
– การมองประวัติศาสตร์เป็นเพียงเครื่องมือของอุดมการณ์ “ชาตินิยม” มากกว่าจะมีคุณค่าในตัวเอง
ไม่เพียงแต่วิพากษ์ประวัติศาสตร์ “สกุลดำรงราชานุภาพ” ซึ่งถือเป็นคำประกาศที่อาจหาญยิ่ง ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ งานเขียนของนิธิ (ในวัย 29 ปี) ยังแสดง พันธกิจที่จะข้ามพ้นประวัติศาสตร์ “สกุลดำรงราชานุภาพ” ซึ่งนิธิได้แสดงให้ประจักษ์เรื่อยมาอย่างคงเส้นคงวา
อีก 1 ทศวรรษต่อมานิธิได้ผลิตความเรียง 6 ชิ้น ดังปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ตีพิมพ์และเผยแพร่ในครึ่งแรกของทศวรรษ 2520 โดยเรียงตามลำดับเวลาต่อไปนี้ “ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา” (2521) “โลกของนางนพมาศ” (2522) “สุนทรภู่ : มหากวีกระฎุมพี (2524) “พระปฐมสมโพธิกถากับความเคลื่อนไหวทางศาสนาในต้นรัตนโกสินทร์” (2524) “อันเนื่องมาจากมหาชาติเมืองเพชร” (2524) และ “วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์” (2525)
ความเรียงข้างต้นอันประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่มีจุดร่วมตรงที่ ใช้ตัวบท “วรรณกรรม” ในการศึกษาประวัติศาสตร์ ดังจะเห็นว่านิธิได้ส่องสำรวจและตีความวรรณกรรมนานาประเภท อาทิ วรรณกรรมที่ผลิตในเชิงพาณิชย์ หรือ “วรรณกรรมตลาด” เช่นงานของสุนทรภู่บางชิ้น วรรณกรรมทางศาสนา เช่น มหาชาติเมืองเพชรพระปฐมสมโพธิกถา ตลอดจนวรรณกรรมราชสำนัก เช่น รามเกียรติ์ ลิลิตพระลอ กระทั่งงานบันทึกประวัติศาสตร์อย่างพระราชพงศาวดาร เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมต้นรัตนโกสินทร์ งานชิ้นนี้ยังเกิดขึ้นท่ามกลางบริบททางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีก 2 ประการคือ
1. ความเรียงทั้งหมดนี้อยู่ในช่วงเวลาที่เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ในสังคมไทย อันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญา สืบเนื่องจากขบวนการประชาชน 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เมื่อพิจารณาในเชิงปริมาณจากการสำรวจ “สถานภาพงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. 2503-2535” ของแถมสุข นุ่มนนท์ และคณะ พบว่าในระหว่างปี พ.ศ. 2516-2530 มีงานเขียนทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก มีนักศึกษาปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้านั้น หลังจากนี้ความสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ในสังคมไทยจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2530 พร้อมๆ กับการล่มสลายของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ทั้งในประเทศไทยและในระดับสากล
2. งานเขียนชิ้นนี้เป็น “วิวาทะ” กับงานเขียนประวัติศาสตร์ “สกุลฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ” ขณะที่งานเขียนของฉัตรทิพย์และคณะเสนอว่า เศรษฐกิจสยามก่อนลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี พ.ศ. 2398 นั้นเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพ การค้ายังไม่มีความสำคัญมากเนื่องจากถูกผูกขาดโดยราชสำนัก งานของนิธิชิ้นนี้ได้ชี้ให้เห็น ถึงการเติบโตของการค้าพาณิชย์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความ เปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงด้าน “โลกทรรศน์” ของผู้คนในยุคนั้นด้วย ดังปรากฏหลักฐานในตัวบทวรรณกรรมประเภทต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น
นับตั้งแต่หนังสือ ปากไก่และใบเรือ : รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527 โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์การพิมพ์ การจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันในครั้งนี้เป็นการตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 4 ในเวลาห่างกันร่วม 22 ปี ในครั้งนี้มีการรวมบทความ “ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา” เข้ามาไว้ด้วยเช่นเดียวกับ หนังสือ ปากไก่และใบเรือ พากย์ภาษาอังกฤษ หรือ Pen and Sail: Literature and History in Early Bangkok (2005)
ปากไก่และใบเรือ : รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดพิมพ์หนังสือชุดสยามพากษ์ ซึ่งเราได้คัดเลือกหนังสือที่เห็นว่ามีความสำคัญในการศึกษาทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลง ของสังคมการเมืองไทยในยุคสมัยนั้นๆ ขณะเดียวกันจุดร่วมของหนังสือชุดนี้คือการท้าทายหรือหักล้างงานศึกษาก่อนหน้านั้นด้วยข้อมูลและ/หรือกรอบทฤษฎี แน่นอนว่า ไม่มีงานวิชาการชิ้นไหนที่ปราศจากจุดอ่อนให้วิพากษ์หักล้าง ไม่เว้นแม้แต่งานที่เราได้คัดสรรมาจัดพิมพ์ แต่เราเชื่อว่าหนังสือชุด “สยามพากษ์” นี้เป็นงานที่ “ต้องอ่าน” ไม่ว่าจะเห็นพ้องต้องกันด้วยหรือไม่ก็ตาม
อนึ่ง การจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ไม่อาจสำเร็จได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลเป็นจำนวนมากที่เห็นความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คุณปวิตร ว่องวีระ ให้ คำแนะนำที่มีคุณค่าในการตรวจสอบต้นฉบับ รวมทั้งยังเป็นบรรณาธิการบทความ “ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา” ด้วยความละเอียดยิ่ง คุณกมลทิพย์ จ่างกมล คุณกิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ คุณปรีดาภรณ์ เอี่ยมแจ๋ คุณนุชจรี ใจเก่ง คุณอาทิตย์ เจียมรัตตัญญู อาจารย์เสมอชัย พูลสุวรรณ แนะนำภาพจิตรกรรมฝาผนังเพื่อใช้เป็นภาพประกอบบทความ สำนักพิมพ์สารคดีเอื้อเฟื้อภาพประกอบ คุณประชา สุวีรานนท์ ออกแบบปกหนังสือเล่มนี้และเล่มอื่นๆ ในชุดสยามพากษ์ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน อาจารย์คริสเบเกอร์ ผู้เป็นแบบอย่างในการทำงานต้นฉบับหนังสือวิชาการผ่าน Pen and Sail: Literature and History in Early Bangkok (2005)
และสุดท้ายคือ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ให้โอกาสสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันใน การจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นมา
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
ธันวาคม 2550