ข้อมูลทั่วไป
ผู้เขียน | ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ |
---|---|
จำนวนหน้า | 304 |
ปีที่พิมพ์ | 2561 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667683 |
ปกแข็ง 405.00 บาทปกอ่อน 315.00 บาท
ผู้เขียน | ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ |
---|---|
จำนวนหน้า | 304 |
ปีที่พิมพ์ | 2561 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667683 |
สารบัญตาราง
คำนำสำนักพิมพ์
คำนำพิมพ์ครั้งแรก
คำนำพิมพ์ครั้งที่สอง
คำนำฉบับแปลภาษาไทย
บทที่หนึ่ง ชาติพลาสติก
บทที่สอง ย้อนรอย “ความเป็นไทย”
บทที่สาม ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
บทที่สี่ กลุ่มต่อต้านชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทย-พม่า
บทที่ห้า การค้ายาเสพติด
บทที่หก การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของพม่า
บทที่เจ็ด บทสรุป
บทส่งท้าย
ประวัติผู้เขียน
บรรณานุกรม
ดรรชนี
หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งในขณะนั้นและจนถึง บัดนี้พำนักอยู่ที่ต่างประเทศ ได้ติดต่อมายังสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เพื่อนำเสนอ หนังสือ A Plastic Nation: The Curse of Thainess in Thai-Burmese Relations (University Press of America, 2005)ฉบับแปลของตนเองที่มีชื่อภาษาไทยว่า ชาติพลาสติก : ความสัมพันธ์ไทย-พม่า ผ่าน “ความเป็นไทย”
ถึงแม้ว่าสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจะตีพิมพ์งานวิชาการด้านต่างๆ แต่ก็ต้องยอมรับข้อจำกัดที่ว่าเราไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะพม่า ดังนั้น เราจึงได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ลลิตา หาญวงษ์ ที่ช่วยอ่านต้นฉบับและให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมในการปรับปรุงแก้ไขหนังสือเล่มนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้เพิ่มเติมบทส่งท้ายเข้ามาในฉบับแปลเป็นภาษาไทยครั้งนี้ด้วย
สำหรับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ แม้ที่ผ่านมาจะมีงานจำนวนมากที่ศึกษา “ความเป็นไทย/ชาตินิยมไทย” ในโลกวิชาการทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ แต่ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือการชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าศัตรูคู่แค้นในความรู้สึกนึกคิดของคนไทยที่ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานผ่านแม่บทประวัติศาสตร์กระแสหลัก ที่มีความลื่นไหลแปรเปลี่ยนไปตามบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ปวินศึกษาการสร้างความเป็นไทยในช่วงปี 2531 ถึง 2543 ซึ่งเป็นเวลาที่สังคมการเมืองไทยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่พม่าเริ่มเข้าสู่ระบอบเผด็จการที่เข้มข้นขึ้นหลังการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในเหตุการณ์ 8888 สำหรับ ประเทศไทย ช่วงปี 2531 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในด้านความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ กล่าวคือเป็นการเปิดสู่โลกที่นำโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งชูนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า (กับรัฐบาลเผด็จการมือเปื้อนเลือดพม่า) นโยบายนี้ส่งผลให้เกิดความลื่นไหลระหว่างมิตรกับศัตรู พม่าซึ่งเคยเป็นศัตรู (แม้จะไม่ประกาศ) กลับกลายมาเป็นมิตร ขณะที่มิตรเดิมคือชนกลุ่มน้อย ซึ่งรัฐบาลไทยเคยสนับสนุนให้ต่อต้านรัฐบาลพม่ากลับกลายเป็นคนอื่น ซ้ำร้ายนานวัน เข้าชนกลุ่มน้อยจำนวนหนึ่งกลับกลายมาเป็นศัตรูของรัฐไทย โดยเฉพาะในประเด็นที่ เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติด ในขณะเดียวกัน การเมืองในพม่าเองก็หาได้หยุดนิ่ง ชนกลุ่มน้อยจำนวนหนึ่ง อดีตมิตรของไทยที่บัดนี้กลับกลายเป็นศัตรู ได้หันกลับไปผูกมิตรกับรัฐบาลทหารพม่า เหล่านี้คือตัวอย่างเล็กน้อยที่ผู้เขียนนำเสนอไว้อย่างมี อรรถรส
สำหรับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน การตีพิมพ์หนังสือ ชาติพลาสติก: ความ สัมพันธ์ไทย-พม่า ผ่าน “ความเป็นไทย”ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ฉบับแปลเป็นภาษาไทยในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งทอดความรู้จากโลกภาษาอังกฤษ สู่ผู้อ่านชาวไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการยืนยันถึงเสรีภาพในการแสดงออกท่ามกลางความหวาดกลัวในยุครัฐบาลเผด็จการ คสช. อีกด้วย
ในปี 2549 หนังสือเล่มนี้ A Plastic Nationได้รับการวิพากษ์จากนักประวัติศาสตร์ไทย ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ผู้ที่ได้ผลิตงานเขียนเกี่ยวกับการตีความความเป็นไทยแบบใหม่ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนได้ค้นหาถึงความเกี่ยวโยงระหว่างโฉมหน้าที่หลากหลายของความเป็นไทยที่มีต่อความสัมพันธ์ที่บิดเบี้ยวระหว่างไทยกับพม่า ธงชัยได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ความคิดในหมู่คนไทยที่ว่าประเทศไทยมีความพิเศษและความเฉพาะตัว ที่ไม่เหมือนประเทศใดในโลกนั้น เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ซึ่งได้รับการค้ำจุนจากกรณีที่ไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของต่างชาติ การมีสถาบันกษัตริย์ที่มีความชาญฉลาด และมีอาหาร รอยยิ้ม หาดทรายสวยงาม หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เราจะเชื่อ ในจุดหนึ่ง อาจจะไม่ผิดที่จะเชื่อเช่นนั้น เพราะคงไม่มีสองประเทศไหนในโลกที่มีลักษณะที่เหมือนกันเช่นนี้ แต่เมื่อความคิดนี้ทะลวงลึกไปสู่การบริโภคของสังคม ถูกกระตุ้น โดยการเมืองและวาทกรรมทางวิชาการ ความเชื่อในลักษณะเฉพาะนี้ดังที่เห็นในกรณีความเป็นไทย และลักษณะที่ไม่อาจละเมิดได้ กลายมาเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง และหลักปฏิบัติทางสังคมที่มีพลังและอันตราย” (Pacific Affairs: 2006)
ข้อสังเกตนี้ยังสามารถใช้ได้อยู่ในปัจจุบันเมื่อเราพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าในทศวรรษที่ผ่านมา หนังสือเล่มนี้ได้วิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีในบริบทของความเป็นไทยในช่วงปี 2531-2544 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นแสดงให้เห็นว่า กระบวนการสร้างชาติยังไม่จบ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2544 หลังจากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายและได้เริ่มเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ของไทย รวมถึงการเปลี่ยนโฉมหน้าของความเป็นไทย ทักษิณอยู่ในตำแหน่งนานถึง 6 ปีและได้กลายมาเป็นผู้สร้างลัทธิชาตินิยมที่มีทักษะไม่ด้อยไปกว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามและหลวงวิจิตรวาทการ เราสามารถที่จะอธิบายถึงทักษะนั้นได้อย่างไร กล่าวคือ ทักษิณรื้อฟื้นวันที่รุ่งเรืองของชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกลายมาเป็นคำนิยามของความเป็นไทยภายในชั่วข้ามคืน หากเราอ้างอิงถึงบทความของอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ในงานเขียนเรื่อง “การสร้าง ‘ความเป็นไทย’กระแสหลัก และ ‘ความจริง’ที่ ‘ความเป็นไทย’ สร้าง” นั้น เราอาจกล่าวได้ว่า ทักษิณได้พยายามสร้าง “ความจริง” ชุดใหม่เพื่อเสริมเพิ่มเติม “ความจริง” ชุดเก่า ที่ได้รับอิทธิพลจากนักคิด อาทิ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่มองว่า “สังคมที่ไม่มีการเมือง” คือความจริงที่สะท้อนความเป็นไทย[1] จากจุดนี้ ทักษิณได้สร้าง “สังคมที่ตั้งอยู่บนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ” ที่กลายมาเป็น “ความจริง” อย่างน้อยก็ในช่วงที่ทักษิณอยู่ในอำนาจ ดังนั้น บทบาทของพม่าในฐานะศัตรูทางประวัติศาสตร์ที่ถูกวาดโดยรัฐบาลชวน หลีกภัย ก่อนหน้านั้นได้อันตรธานหายไปทันที สำหรับทักษิณ ความเป็นไทยคือการส่งเสริมธุรกิจกับ “ระบอบพม่า” (ซึ่งในบริบทนี้หมายถึงระบอบทหารที่อยู่ภายใต้การครอบงำทางกองทัพพม่า) ผลลัพธ์ก็คือ ทักษิณได้กำหนดนโยบายที่อ่อนโยนต่อพม่าเพราะไม่ต้องการสร้างความไม่พอใจให้กับผู้มีอำนาจในพม่า แม้ว่านโยบายเช่นนั้นอาจจะส่งผลต่อการเปิดโปงความจอมปลอมของนโยบายของเขาเอง และอาจส่งผลต่อความเป็นไทยที่เขาสร้างขึ้น มิตรภาพที่สร้างใหม่กับพม่าจะให้ประโยชน์แก่ไทยหรือไม่ นี่คือคำถามสำคัญ แต่สิ่งที่ไม่อาจโต้เถียงได้ก็คือความสำเร็จของทักษิณในการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตนเองผ่านกิจการหลายประเภทในพม่า โดยเฉพาะในโครงการโทรคมนาคมขนาดใหญ่
ในการสร้างความเป็นไทยเพื่อให้ตอบสนองต่อมุมมองใหม่ของเขาที่มีต่อพม่า ทักษิณได้ลดความสำคัญของค่านิยมหลัก อาทิ ประชาธิปไตยและการเคารพในสิทธิมนุษยชน แต่กลับส่งเสริมและเน้นค่านิยมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ในกระบวนการนี้ ทักษิณอัดฉีดการลงทุนมหาศาลในพม่าและให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอื่นๆ อีกมาก ตัวอย่างเช่น ทักษิณได้อนุมัติเงินกู้ยืมระยะยาวแก่พม่าเป็นจำนวนเงิน 4 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการยกระดับระบบสาธารณูปโภคและโทรคมนาคม แต่ที่น่าสนใจก็คือ เงินทุนจำนวนมากก้อนนี้ตกไปอยู่ในมือของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่นจํากัด ของทักษิณ ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่าและสิทธิผูกขาดการซื้อขายอุปกรณ์โทรคมนาคม นอกจากนี้ ทักษิณยังได้ให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลทหารพม่าโดยผ่าน “กระบวนการกรุงเทพฯ” (Bangkok Process) ดังที่ทักษิณได้อ้างไว้ว่า การเป็นมิตรกับพม่านั้นไม่จำเป็นต้องเป็นอุปสรรคต่อการแสดงความเป็นไทย อย่างไรก็ตาม นโยบายเชิงพาณิชย์นี้ประสบความล้มเหลวในการสร้างอิทธิพลที่แท้จริงเหนือพม่า เพราะขาดหลักการด้านศีลธรรม และถูกรบกวนด้วยความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในส่วนของทักษิณ ในทางตรงข้าม พม่าต่างหากที่สามารถจับทักษิณ “เป็นตัวประกัน” และสามารถชักใยนโยบายของไทยให้เป็นประโยชน์ต่อระบอบพม่าเอง เมื่อทักษิณกล่าวว่าประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อพม่า แต่ความจริงตามแนวพรมแดนยังมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ
เช่นเดียวกับผู้นำที่หิวกระหายอำนาจและเงินที่ผ่านมาในอดีต ทักษิณยังคงอธิบายนโยบายที่มีต่อพม่าของเขาว่าเป็นการแสดงออกซึ่งความเป็นไทยที่แท้จริง ในโลกแห่งความเป็นไทยของทักษิณ พม่าคือประเทศยากจน ล้าหลัง และต้องการความช่วยเหลือจากไทย แต่เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความพยายามที่ล้มเหลวในการโน้มน้าวให้พม่าเริ่มการปฏิรูปอย่างจริงจังนั้น เป็นเพราะนโยบายหลอกลวงของทักษิณที่มีต่อพม่า ที่สำคัญกว่านั้น เป็นเพราะการใช้ความเป็นไทยตามอำเภอใจของทักษิณเอง นโยบายพม่าของเขาเน้นที่ผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้นำ จึงมีความอ่อนแอและไม่สามารถกดดันพม่าได้เมื่อไทยต้องการ แต่ก็ไม่เป็นประเด็นที่น่าประหลาดใจเพราะทักษิณเอง แม้ว่าจะได้รับการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย แต่ก็มีพฤติกรรมที่เอนเอียงไปทางเผด็จการ นโยบายต่างประเทศของทักษิณเป็นกระจกสะท้อนลักษณะการบริหาร ประเทศ และความกลวงของความเป็นชาติของเขาเองด้วย
ทักษิณต้องลงจากตำแหน่งเพราะรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2549 คณะรัฐประหารปฏิเสธความเป็นไทยของทักษิณ มองว่ามันถูกทำให้เปรอะเปื้อนด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว แต่การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพในระยะสั้นนี้ไม่ประสบความสำเร็จในการยุติการใช้ประโยชน์จากความเป็นไทยของผู้นำ สมัคร สุนทรเวช ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐบาลทหารพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้คืนอำนาจกลับไปสู่การเลือกตั้ง สมัครดำเนินรอยตามทักษิณทันทีในการประกาศความเป็นมิตรกับพม่าและต่อต้านการคว่ำบาตร การยึดติดของไทยต่อกฎไม่ตามก้นฝรั่ง ในการปกป้องรัฐบาลทหารพม่า สมัครบรรยายถึงพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ว่าเป็นคนที่เคร่งศาสนา และกล่าวด้วยว่า การสังหารหรือปราบปรามประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งปกติ การสร้างพม่าแบบใหม่นี้อาจจะตอบสนองต่อผลประโยชน์ในหลาย ๆ ด้านของผู้นำไทย แต่มันได้ตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับความหมายของความเป็นไทย สมัครไม่เห็นว่ามีอะไรผิดในการสั่งให้มีการปราบปรามที่โหดร้ายต่อนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น ความเป็นไทยของเขาจึงถูกใช้ในการให้ความชอบธรรมแก่การสังหารและปราบปรามชาวพม่าของรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติเช่นกัน
ความสัมพันธ์ไทยต่อพม่าในที่สุดก็ได้เดินทางครบวงจรอย่างสมบูรณ์ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาสู่อำนาจทางการเมือง (ต่อจากรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) จากนั้น แนวคิดของความเป็นไทยได้รับการปรับอีกครั้ง ความรักต่อประชาธิปไตยได้กลายมาเป็นลักษณะของความเป็นชาติ ซึ่งนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แย่ลงระหว่างไทยกับพม่า ในยุคประชาธิปัตย์นี้ ไม่เพียงแต่ผู้นำการเมืองต้องต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามเพื่อพิสูจน์ว่าความเป็นไทยของเขามีความเป็นไทยมากกว่าคนอื่นในการมีปฏิสัมพันธ์กับพม่า แต่ยังต้องต่อสู้เพื่อสร้างอิทธิพลเหนือความเห็นของสาธารณะว่าพรรคประชาธิปัตย์เหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนความเป็นไทยในช่วงที่การเมืองของไทยต้องประสบกับวิกฤตของความแตกแยกอย่างฝังรากลึก ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าและความขัดแย้งทางการเมืองภายในของไทยได้เตือนสติให้เราเห็นว่า ในที่สุด ความเป็นไทยยังคงเป็นแนวคิดที่ว่างเปล่า สามารถถูกชักจูงได้ง่ายได้เพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้นำทางการเมืองที่หลากหลาย
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
สิงคโปร์
ตุลาคม 2552]
[1]สายชล สัตยานุรักษ์, “การสร้าง ความเป็นไทย” กระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเป็นไทย” สร้าง,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3, ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2548) : 40-67.
ในที่สุด หนังสือเรื่อง A Plastic Nation: The Curse of Thainess in Thai-Burmese Relationsก็ได้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งไทยศึกษาอย่างเต็มตัว โดยได้รับการแปลเป็นภาษาไทย โดยมีผมเป็นผู้แปลเอง และได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ในการจัดพิมพ์และออกวางจำหน่าย ทั้งนี้ ผมต้องขอขอบคุณผู้รีวิวหนังสือเล่มนี้ฉบับภาษาไทย พร้อมให้ข้อคิดและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงให้ทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนไปในความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ หนังสือเล่มนี้ฉบับดั้งเดิมเป็นภาษาอังกฤษ ได้รับการแปลงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมภายใต้ชื่อเรื่อง “Thainess : Hegemony and Power: A Study of Thai Nationhood and Its Implications on Thai-Burmese Relations, 1988-2000” จากมหาวิทยาลัยที่ผมจบการศึกษามา นั่นคือ School of Oriental and African Studies (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อปี 2545 ฉบับที่ออกมาเป็นหนังสือครั้งแรกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ University Press of America ในปี 2548 จากนั้น ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 จากสถาบัน Institute of Southeast Asian Studies ของ สิงคโปร์ในปี 2553 เล่มที่แปลเป็นภาษาไทยนี้ ผมได้เพิ่มเติมส่วนคำนำนี้และบทส่งท้ายสั้น ๆ สรุปถึงสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า ในช่วงต่อจากที่ผมได้ ทิ้งไว้ในหนังสือต้นฉบับ และวิเคราะห์ว่า แนวคิด “ความเป็นไทย” ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้หรือไม่และอย่างไร
ในระหว่างที่ผมศึกษาเรื่องความเป็นไทยในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่านั้น ผมได้วิเคราะห์สามประเด็นหลักที่มีความเกี่ยวโยงกับแนวคิดการสร้างชาติของไทยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับเพื่อนบ้าน ในส่วนของพม่านั้น ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ผมหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นที่ประจักษ์ว่า ความเป็นไทยเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมทัศนคติบางอย่างในผู้นำไทยต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่มีกับพม่า ในหลายครั้ง พม่าคือศัตรูหมายเลขหนึ่ง ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ พม่ายังคงแสดงบทบาทการเป็นอริสำคัญที่ทำลายกรุงเก่า-อยุธยาของไทย นอกเหนือไปจากการตอกย้ำถึงความยาวนานของความเป็นชาติไทยในประวัติศาสตร์ การวาดภาพพม่าให้เป็นอริก็เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำไทยในการดำเนินนโยบายต่อต้านพม่าบนการปลุกระดมความรักชาติ (patriotism) ในหลายครั้งเพื่อเรียกร้องให้ประชาชนคนไทยยอมเสียสละตัวเองเพื่อต่อสู้กับภัยที่มาจากต่างประเทศ และขณะเดียวกัน ในการยอมรับต่อความจำเป็นของการมีอยู่ของระบอบการเมืองทหารหรือเผด็จการ เพราะเชื่อว่า เป็นระบอบเดียวที่สามารถพาชาติพ้นภัยได้ ทั้งหมดนี้ ผู้นำไทยอธิบายทัศนคติดังกล่าวผ่านความเป็นไทย คอนเซ็ปต์ความเป็นไทยจึงมีลักษณะรวบอำนาจ (authoritative) กลายมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (sacred) ที่ค้ำจุนสถาบันหลักของชาติ ใครก็ตามที่ทำลายหรือย่ำยีความเป็นไทย คนเหล่านั้นต้องถูกกำจัดไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม เมื่อพม่าถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของภัยต่อความเป็นไทย จึงสมควรต้องถูกกำจัดไปด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ความเป็นไทยมีความไหลลื่น (fluid) และเปลี่ยนแปลงง่าย (malleable) ไม่มีลักษณะตายตัว ขึ้นอยู่กับการหล่อหลอม ปั้นแต่ง ของผู้นำไทย เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของผู้นำในแต่ละยุค จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ทำไม นโยบายของไทยต่อพม่าจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงจากขั้วหนึ่งไปยังขั้วตรงข้าม จากศัตรูอันดับหนึ่งของชาติกลายมาเป็นพันธมิตร จากอริที่เคยเผากรุงเก่า กลายเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยในยุคต่อมา ในกระบวนการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพม่านี้ ความเป็นไทยถูกนำมาใช้ในการให้ความชอบธรรมกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความเป็นไทยถูกเปลี่ยนความหมายหน้าที่ และความรับผิดชอบ สิ่งที่ผู้นำเคยคิดว่า เป็นหัวใจของชาติกลับถูกเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือเรื่องนี้ A Plastic Nationหรือ ชาติพลาสติก เพราะต้องการสื่อความหมายว่า ความเป็นชาติของไทยผกผันไปตามผลประโยชน์ของผู้นำ เป็นสิ่งประดิษฐ์ของปลอม เป็นพลาสติกที่หล่อให้เป็นรูปแบบใด ๆ ก็ได้ แต่ยังคงอานุภาพที่ร้ายแรงและยังมีความศักดิ์สิทธิ์ไม่ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบหรือความรับผิดชอบใด
ในหนังสือเล่มนี้ ผมได้ศึกษาความสัมพันธ์ไทย-พม่าระหว่างปี 2531-2542 ช่วงที่ศึกษานี้ ผมได้พบเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งในความหมายของความเป็นไทยและผลกระทบที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ที่ไทยมีต่อพม่า ปี 2531 เป็นปีเริ่มต้นของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เกิดการเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญ ทั้งในด้านการเมืองภายในที่ไทยหลุดพ้นจากรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และมีการเลือกตั้งที่นำไปสู่รัฐบาลพลเรือน ขณะที่การเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคก็เห็นเด่นชัด สงครามเย็นใกล้จะสิ้นสุด กำแพงเบอร์ลินถูกโค่น จากนั้นไม่นานจักรวรรดิของสหภาพโซเวียตก็แตกสลาย ประเทศเพื่อนบ้านที่ตกอยู่ในการครอบงำของคอมมิวนิสต์เริ่มหาหนทางในการนำเสนอตัวเองในรูปแบบใหม่ (reinvent) พลเอกชาติชายจึงได้เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ความเป็นไทยเพื่อให้สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวในภูมิภาค จากสนามรบในอินโดจีนกลายเป็นสนามการค้า จากอริกลายเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และความเป็นไทยที่เคยตั้งอยู่บนความสำคัญของความมั่นคงแห่งชาติ กลายมาเป็นความเป็นไทยที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แนวคิดนี้ได้รับการผลิตซ้ำในยุคของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่หล่อหลอมความเป็นไทยแบบใหม่ แบบที่ “โกอินเตอร์” โลกไร้พรมแดน แบบที่ธุรกิจนำการเมือง แต่ความเป็นไทยทั้งแบบของชาติชายและทักษิณถูกปฏิเสธจากกลุ่มอำนาจเดิม ผลที่ปรากฏก็คือการทำรัฐประหารล้มทั้งสองรัฐบาล (ในความเป็นจริงคือทั้งสามรัฐบาล หากรวมรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วย) สิ่งที่ปรากฏขึ้นจากนั้น คือการดึงเอาความเป็นไทยกลับไปสู่ความหมายเดิมที่เต็มไปด้วยชาตินิยมแบบสุดโต่ง ความรักสถาบันกษัตริย์แบบสุดโต่ง (จนมีกำเนิดศัพท์ใหม่ “ไฮเปอร์รอยัลลิสต์”) และหมกมุ่นหลงใหล (obsession) ต่อการยึดติดกับหลักกฎหมาย (แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมจะตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองไปแล้ว) ความเคร่งครัด ระเบียบ และวินัยตามแนวทางของกองทัพ (ส่วนหนึ่งเพราะไทยอยู่ภายใต้ระบอบทหารในขณะนี้) ดังที่ปรากฏให้เห็นล่าสุดถึงอุดมการณ์ “ไทยนิยม” ที่ได้รับการเผยแพร่และสนับสนุนโดยรัฐบาล คสช.
ประเด็นที่ผมพูดถึงในหนังสือเล่มนี้ ได้แก่ กลุ่มต่อต้านชนกลุ่มน้อยในพม่า ปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน และกรณีการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของพม่าในปี 2540 ในประเด็นแรกนั้น ในช่วงที่มีสงครามกลางเมืองในพม่า ไทยได้ให้การสนับสนุนชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มตามแนวพรมแดน โดยเปลี่ยนให้พื้นที่ที่ปกครองโดยชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เป็นรัฐกันชน (buffer states) เพื่อป้องกันภัยที่มาจากพม่า ในการให้ความช่วยเหลือนี้ ไทยเป็นส่วนหนึ่งของการส่งผ่านอาวุธไปยังชนกลุ่มน้อย สร้างเศรษฐกิจตามแนวชายแดนเพื่อให้ชนกลุ่มน้อยมีรายได้ในการค้ำจุนสงครามกลางเมืองต่อไป การดำเนินนโยบายรัฐกันชนนี้สอดคล้องกับความเป็นไทยที่ตั้งอยู่บนการกำหนดให้พม่าเป็นศัตรูสำคัญทั้งในยุคประวัติศาสตร์และในห้วงแห่งสงครามเย็น (แม้ในความเป็นจริงผู้นำทหารไทยยังมีความสัมพันธ์ปกติกับผู้นำทหารพม่าก็ตาม) แต่ การวาดภาพให้พม่าเป็นภัยแห่งชาติได้รับการค้ำจุนจากการมีอยู่ของสงครามกลางเมืองในพม่าเอง และการที่ไทยได้ประโยชน์จากสงครามกลางเมืองนั้น ผมเองได้มีโอกาสลงไปทำงานวิจัยในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอก และได้สัมภาษณ์นักรบชนกลุ่มน้อยหลายคนต่างเห็นพ้องกันว่า ไทยเองมีส่วนส่งเสริมให้สงครามกลางเมืองพม่าคงอยู่ ส่วนหนึ่งเพื่อที่จะพิสูจน์ความเป็นไทย แต่ในที่สุด ก็เพื่อคงไว้ซึ่ง ผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้นำ เมื่อมีการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ชนกลุ่มน้อยที่เคยเป็นมิตรกลับกลายมาเป็นศัตรู กรุงเทพฯ ได้เปิดการค้ากับย่างกุ้ง ซึ่งกลายมาเป็นมิตรใหม่ ขณะที่ชนกลุ่มน้อยที่ไทยเคยอุ้มชูกลับกลายเป็นเป็นภาระทางการเมือง และสังคม ความเป็นไทยแบบเดิมที่มองพม่าในทางลบ กลับเปลี่ยนแปลงไป ความเป็นไทยแบบใหม่เข้าแทนที่ แม้พม่าจะยังล้าหลัง ด้อยพัฒนา แต่พม่ายังต้องการความช่วยเหลือจากไทย และการให้ความช่วยเหลือพม่านี้ คือความเป็นไทยแบบใหม่ในยุคเศรษฐกิจนำการเมือง
ในประเด็นที่สอง เรื่องการค้ายาเสพติดนั้น ส่วนสำคัญคือผลกระทบที่มาจาก การสร้างรัฐกันชน การค้ายาเสพติดนำมาซึ่งเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการค้ำจุนสงครามกลางเมือง ในกระบวนการนี้ มีผู้มีอิทธิพลของไทย ทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจเข้าไป เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ไทยกลายมาเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นตลาดนัดยาเสพติดที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก แต่ภายใต้การเมืองสกปรกแบบนี้ ความเป็นไทยถูกนำมาใช้ในการฟอกขาวผู้มีอำนาจของไทย ความเป็นไทยถูกผูกกับหลักพุทธศาสนาที่ใช้อธิบายถึงความขาวสะอาดและศีลธรรมของผู้ปกครอง เริ่มต้นจากวาทกรรมที่ว่า ยาเสพติดไม่มี “พื้นที่” ในความเป็นไทย ยาเสพติดคือ “สิ่งแปลกปลอม” ที่มาจากภายนอก (extrinsic) แม้เยาวชนไทยจะติดยาเสพติดอย่างแพร่หลาย แต่เยาวชนเหล่านี้ เป็นเหยื่อของผู้ค้าที่มาจากต่างประเทศ เมื่อยาเสพติดถูกเปลี่ยนให้เป็น “สิ่งภายนอก” มันเป็นการปกปิดภาพที่มืดดำให้กับผู้ค้าภายใน และเป็นอีกครั้งหนึ่ง ทั้งพม่าและชนกลุ่มน้อยคือ “คนอื่น” (othernesses) ในความเป็นไทย เป็น “คนอื่น” ที่จ้องทำลายความเป็นไทยโดยการมอมเมาเยาวชนไทยด้วยยาเสพติด แม้ว่าในความเป็นจริง การค้ายาเสพติดก็มีต้นตอจากผู้ค้าภายในเช่นกัน
ในประเด็นสุดท้ายเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของพม่า ประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากชุมชนระหว่างประเทศอย่างมาก ประการแรก เนื่องจากพม่าเองในขณะนั้นยังอยู่ภายใต้ระบอบทหารที่โหดร้าย ตะวันตกยังมองว่าไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมนานาชาติ (pariah state) ทั้งยังไม่นับรวมว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ยังถูกจองจำในบ้านพักตัวเอง ประการที่สอง เกี่ยวข้องกับความต้องการอาเซียนที่ต้องการให้สังคมโลกมององค์การของตัวเองอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งโดยผ่านการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (solidarity) ของประเทศในภูมิภาค นั่นคือการนำเอาพม่าเข้ามาเป็นสมาชิก (พร้อมๆ กับลาว และต่อ มาอีกสองปี คือในปี 2542 กัมพูชาก็เข้าเป็นสมาชิกเช่นเดียวกัน) ทั้งๆ ที่พม่ายังไม่มี ความพร้อม ทั้งในแง่การขาดการปฏิรูปทางการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น การรับพม่าเป็นสมาชิกอาเซียนจึงได้รับการต่อต้านจากหลายประเทศในตะวันตก ในทางกลับกัน ไทยกลับให้การสนับสนุนพม่าอย่างเต็มที่ในการเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน โดยการเปลี่ยนท่าที่เดิมของความเป็นอริ ไปสู่การสร้างภราดรภาพผ่านอาเซียน ในจุดนี้ นอกจากความเป็นไทยจะเป็นเรื่องของการแสดงอัตลักษณ์แห่งชาติแล้ว ยังเป็นการแสดงออก (expression) ต่อความต้องการในภูมิภาคด้วย ความเป็นไทยแบบใหม่ที่อิงภูมิภาคนิยม (regionalism) ถูกนำมาใช้ในการต่อต้านตะวันตก การผูกขาดทางอุดมการณ์ของฝรั่ง และการปลดปล่อยประเทศหรือภูมิภาคจากการครอบงำทางการเมืองระหว่างประเทศ แม้ว่าในความเป็นจริง ไทยจะหวังผลประโยชน์ทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจจากพม่า อันเป็นผลมาจากสมาชิกภาพของพม่าในอาเซียนก็ตาม
หลังจากที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าได้เปลี่ยนไปมาก ผมได้สรุปส่วนเพิ่มเติมนี้ไว้ในบทส่งท้ายของหนังสือเล่มนี้ ความสัมพันธ์ทวิภาคีได้เปลี่ยนไป ยุคทักษิณนำมาซึ่งนโยบายต่างประเทศแบบใหม่ แม้จะอื้อฉาว แต่ก็เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานและความต้องการสร้างความเป็นเจ้า (hegemony) ของไทยในภูมิภาค ในยุคนี้ความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับพม่ามีความราบรื่นมากขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากการที่ไทยเองก็มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากเกิดรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ในปี 2549 ไทยก็ตกอยู่ในวิกฤตการเมืองจนถึงปัจจุบัน จากจุดนั้น ได้เกิดรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 คราวนี้โค่นรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ที่มีบทลงเอยโดยยิ่งลักษณ์ได้เดินทางหนีออกจากไทย แม้ช่วงทักษิณ การทูตของไทยมีความคึกคัก แต่หลังจากสิ้นสุดยุคทักษิณแล้ว รัฐบาลไทยในหลายๆชุดให้ความสนใจกับประเด็นทางการเมืองภายในเท่านั้น ในด้านนโยบายการต่างประเทศจะมีก็แต่เพียงต้องคอยตอบคำถามประเทศในตะวันตกเกี่ยวกับความคืบหน้าของปัญหาการเมืองภายในเป็นหลักเท่านั้น จนมาถึงไทยในยุค คสช. การต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถวัดความอยู่รอดของรัฐบาลทหาร ไทยได้ใช้ความสำคัญของที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในการสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ที่มีกับมหาอำนาจ ในบริบทนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและจีน เมื่อไทยถูกกดดันจากประเทศตะวันตกอย่างมากกลับเป็นแรงผลักดันให้ไทยหันไปสู่จีนมากขึ้น และการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพม่าเป็นส่วนหนึ่งของความอยู่รอดของระบอบทหารของไทย
ในพม่าเองก็มีการเปลี่ยนแปลง กองทัพตัดสินใจเดินออกจากการเมือง แม้จะไม่ออกไปอย่างเต็มตัว (เพราะกองทัพยังคงที่นั่งในรัฐสภาไว้มากถึงร้อยละ 25) แต่ก็เป็นการเปิดทางให้ระบอบการปกครองค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่ความเป็นพลเรือนมากขึ้น (civilianisation) มีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี คือในปี 2553 และอีกครั้งในปี 2558 ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคเอ็นแอลดีของซูจีได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เนื่องจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ทำให้ซูจีไม่สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ จึงนับว่าการเมืองพม่ายังไม่นิ่ง ยังมีประเด็นที่ท้าทายรัฐบาลของซูจีอย่างมาก รวมไปถึงความสัมพันธ์ที่มีกับกองทัพ และที่สำคัญไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ที่มีต่อชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะในกรณีของชาวโรฮิงญา
ความเป็นไทยเปลี่ยนโฉมไปตามกาลเวลาและระบอบการปกครอง ระยะเวลาของการศึกษาในหนังสือเล่มนี้ เมื่อผู้อ่านได้อ่านสาระที่อยู่ข้างในเล่ม จะเห็นการเปลี่ยนแปลงนั้น จวบจนวันนี้ แม้ความเป็นไทยเปลี่ยนแปลงไป แต่การฉวยประโยชน์จากความเป็นไทยของผู้นำยังไม่เคยเปลี่ยน ความเป็นไทยในวันนี้ต่างไปจากความเป็นไทยภายใต้ทักษิณ แต่ขณะเดียวกันก็มีความเหมือนกับยุคที่มีเผด็จการครองเมืองใน อดีต ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถปั้นแต่งได้ใหม่ ดึงให้ยืด ลดให้หด ตามความต้องการของรัฐไทย และในที่สุด ความเป็นไทยยังสามารถนำเอามาอธิบายความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับพม่าได้ แม้แต่ในยุคปัจจุบันเช่นกัน แต่เนื่องจากส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้อยู่ใน ช่วงปี 2531-2543 ผมจึงขอยุติการวิเคราะห์ไว้เพียงในห้วงเวลานั้น บทส่งท้ายเป็นแต่ การสรุปเพียงสั้น ๆ เพื่ออัปเดตสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศและการ เปลี่ยนความหมายของความเป็นไทย นับตั้งแต่ยุคทักษิณจนถึงยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่ากำลังหันไปทิศทางใด และตกอยู่ในวาทกรรมความเป็นไทยมากน้อยแค่ไหนในวันนี้ เพื่อพิสูจน์ว่า ความเป็นชาติไทยยังมีความเป็นพลาสติก จอมปลอม และเป็นเครื่องมือของผู้นำอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
รองศาสตราจารย์
ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
มหาวิทยาลัยเกียวโต
30 เมษายน 2561