Sale 10%

เมื่อสยามพลิกผัน

ปกแข็ง 360.00 บาทปกอ่อน 270.00 บาท

รหัส: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

ผู้เขียน

ธงชัย วินิจจะกูล

จำนวนหน้า

256

ปีที่พิมพ์

2562

ISBN ปกอ่อน

9786167667805

ISBN ปกแข็ง

9786167667812

สารบัญ

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำผู้เขียน

บทที่ 1 กรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่ (เค้าโครงสังเขป)
บทที่ 2 ปรับตัวปรับใจเพื่ออยู่กับโลกตะวันตก : ยุทธศาสตร์ทางภูมิปัญญาที่แบ่งโลกเป็นสองส่วน และแนวคิดหลังตะวันตกนิยมในสยาม
บทที่ 3 มนุษยศาสตร์ในสังคมไทยกับความจริงสองระดับของประวัติศาสตร์ไทย
บทที่ 4 ประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ :   กรณีประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมของประเทศไทย
บทที่ 5 กุ ลอบ ลอก แต่งแบบไพร่ๆ ความผิดของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ตัดสินโดยนักประวัติศาสตร์อำามาตย์
บทที่ 6 การแก้ต่างให้พุทธศาสนากับความเป็นมาของศาสนาเปรียบเทียบในสยาม
บทที่ 7 บททดลองเสนอ : อภิสิทธิ์ปลอดความผิด (Impunity)
และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในนิติรัฐแบบไทยๆ
ประวัติผู้เขียน
ประวัติการตีพิมพ์
บรรณานุกรม
ดรรชนี

คำนำสำนักพิมพ์

หนังสือ เมื่อสยามพลิกผัน : ว่าด้วยกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความลำดับที่ 6 ของอาจารย์ธงชัยที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน นอกจากมีหลายบทความที่อ่านสนุกและออกจะแหวกแนวจากหัวข้อที่ธงชัยให้ความสนใจ ยังมีความพิเศษห้ามพลาดอยู่ตรงบทที่ 1 “กรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่ (เค้าโครงสังเขป)” ซึ่งธงชัยเขียนขึ้นใหม่และตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรก

บทที่ 1 นี้เผยให้เห็นความมุ่งหมายของผู้เขียนที่ต้องการถอดรื้อ “พิมพ์เขียว” ของการก่อร่างสร้างขอบฟ้ากะลาแลนด์ หรือก็คือทลายกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคใหม่นั่นเอง อันที่จริงบทนี้สามารถอ่านในฐานะบทนำของหนังสือทั้งชุดของธงชัยที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งจะมีทั้งหมด 7 เล่ม เพราะได้แสดงให้เห็นเค้าโครงความคิดชุดใหญ่ที่ครอบคลุมความสนใจทั้งหมดในชีวิตทางวิชาการของตัวธงชัยเอง อันมีจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519

กรอบมโนทัศน์พื้นฐาน (foundational mentality) นี้ ธงชัยแบ่งเป็น 7 ด้าน ได้แก่ 1) ภูมิกายา 2) ประวัติศาสตร์อย่างใหม่ 3) พุทธใหม่-ไสย-วิทย์ 4) คนไทย/คนอื่น 5) สังคมและระเบียบสังคม 6) เพศสภาวะ 7) สยามในสากลโลก ซึ่งอาจเปรียบได้กับ “ขอบฟ้าของกะลาสามชั้น” ที่ครอบงำความรู้สึกนึกคิดของคนไทยในปัจจุบัน ชั้นแรก เป็นชั้นในสุด คือสามเสาหลักของอัตลักษณ์ตัวตนไทยอันได้แก่ ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ ชั้นที่สอง คือสังคมไทยที่มีการแบ่งชั้นสูงต่ำตามอินทรียภาพแบบพุทธ และชั้นที่สาม คือสยาม/ไทยในความสัมพันธ์กับระเบียบโลก

ขอบฟ้าของกะลาทั้งสามชั้นได้ถูกธงชัยตั้งคำถามท้าทายและค่อยๆ รื้อทำลายลงทีละส่วนในบทความต่างๆ ของเขาที่รวมเล่มตีพิมพ์กับฟ้าเดียวกัน รวมถึงในหนังสือเล่มสำคัญคือ Siam Mapped ด้วยวิธีวิทยาแบบ postmodern และ post-colonial history ซึ่งนำทางให้เขาสังเกตเห็นความไม่เข้าร่องเข้ารอยตรงรอยต่อของกะลาชั้นต่างๆ เมื่อแรกที่มันถูกก่อร่างสร้างขึ้นมา หรือพูดให้เฉพาะเจาะจงลงไปก็คือ ราวทศวรรษ 1880 ถึง 1930 (2420-2470) ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ธงชัยเรียกว่า “เมื่อสยามพลิกผัน” สู่สมัยใหม่

ธงชัยปักหมุดศึกษาทั้งพื้นที่และเวลา (space and time) ที่สยามเกิดการปะทะปรับแปรในด้านต่างๆ โดยหยิบยกเอาเรื่องเล่าฝังหัวคนไทยมาพลิกมุมอธิบายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายอย่างดินแดนที่จะเสียไปไม่ได้สักตารางนิ้ว เรื่องชวนซาบซึ้งใจอย่างวีรกษัตริย์ผู้รักษาเอกราชของชาติ เรื่องความศิวิไลซ์ของไทยที่มีอารยธรรมเก่าแก่มาแต่สมัยสุโขทัย เรื่องตัวตนไทยที่เกิดมีขึ้นได้จากการสร้างคนอื่นในผืนดินตน เรื่องพุทธศาสนาเหนือกว่าศาสนาอื่นใดในโลก ความรู้สึกทั้งรักทั้งชังตะวันตก มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประชาธิปไตยแบบไทยๆ การปะทะกันของขนบประวัติศาสตร์สองแบบ ไปจนถึงเรื่องความคับแคบของวงวิชาการไทย และนิติรัฐแบบไทยๆ

ความพยายามของธงชัยตลอดสามทศวรรษที่จะรื้อทำลาย “ขอบฟ้ากะลา” ที่ครอบงำความรู้สึกนึกคิดของคนไทยนั้น พูดได้ว่า radical หรือขุดรากถอนโคนสุดๆ เพราะแทงลงตรงใจกลางของปัญหา แม้อาจเรียกได้ว่าเขาเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน แต่ภารกิจนี้จะสำเร็จลุล่วงหรือไม่ กะลาจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ หรือไม่ คงต้องเป็นภาระของผู้อ่าน ของคนทั้งสังคม

คำนำผู้เขียน

หนังสือนี้เป็นเล่มที่ 6 ในชุดรวมบทความของผู้เขียน ผู้ที่ติดตามมาตลอดคงได้เห็นความสนใจของผู้เขียน ซึ่งสามารถจัดหมวดหมู่ได้เป็นเล่มต่างๆ (อย่างซ้อนทับกัน) กล่าวคือ

หนึ่ง ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง (ปกเหลือง) ว่าด้วยการเมือง การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยภายใต้อำนาจการแทรกแซงของทหารและพวกนิยมเจ้า

สอง 6 ตุลา ลืมไม่ได้จำไม่ลง (ปกส้ม) ว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และความทรงจำในสังคมไทย

สาม โฉมหน้าราชาชาตินิยม (ปกน้ำเงิน) ว่าด้วยอุดมการณ์และวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่ครอบงำสังคมไทย

สี่ คนไทย/คนอื่น (ปกเขียว) ว่าด้วยความไร้สาระและอันตรายของ “ความเป็นไทย”

ห้า ออกนอกกรอบประวัติศาสตร์ไทย (ปกเลือดหมู) ว่าด้วยประวัติศาสตร์ทางเลือกและวิธีวิทยาทางเลือก

สำหรับเล่มที่ 6 นี้ เป็นงานศึกษาการก่อรูปก่อร่างของกรอบมโนทัศน์พื้นฐาน (foundational mentality) ยุคสมัยใหม่ของสยามภายใต้ภาวะกึ่งอาณานิคมที่ยังคงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน [1] อาจกล่าวได้ว่า ความสนใจของผู้เขียนต่อประวัติศาสตร์ไทยตลอดชีวิตการทำงานเน้นหนักที่เรื่องนี้ หลายบทความในเล่มก่อนๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งหรือคาบเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน

ผู้เขียนเคยปรารถนาและตั้งใจว่าจะเขียนหนังสือสักเล่มในหัวข้อนี้ แต่หลายปีผ่านไปก็ตระหนักว่าเป็นไปได้ยากเพราะเหตุผลสองประการคือ หนึ่ง แต่ละเรื่องย่อยภายใต้หัวข้อใหญ่นี้สามารถพัฒนาเป็นบทความในตัวเอง หรือบางกรณีสามารถเป็นหนังสือเล่มหนึ่งต่างหากก็ได้ สอง แต่ละบทความต้องใช้เวลาในการวิจัยและคิดกับมันนานมากพอสมควร จนถึงขณะนี้ ผู้เขียนจึงยอมรับความน่าจะเป็นว่า คงไม่สามารถผลิตหนังสือเล่มภายใต้หัวข้อนี้ได้อีก เพราะยังมีงานอีกมากที่ต้องค้นคว้าวิจัยและเขียนออกมา

ดังนั้น ผู้เขียนจึงจะถือโอกาสขอใช้หนังสือนี้เสนอให้ผู้อ่านเข้าใจภาพรวมและความคิดที่ผู้เขียนมีต่อการก่อตัวของกรอบมโนทัศน์พื้นฐานยุคสมัยใหม่ บทความที่หนึ่งหรือบทนำของเล่มนี้เขียนขึ้นใหม่เพื่อเสนอภาพรวมดังกล่าวในรูป “เค้าโครง” ทั้งหมดของโครงการ โดยทำคำอธิบายพอสมควรในแต่ละหัวข้อและในหลายประเด็น มากน้อยแล้วแต่ว่าได้ตีพิมพ์หัวข้อนั้นๆ ไปหรือยัง และเท่าที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆ ไปบ้าง แต่ที่ยังเรียกว่า “สังเขป” ก็เพราะหลายหัวข้อยังคงเป็นเพียงประเด็นอย่าง
กว้างๆ หรือเป็นสมมติฐานที่รอการค้นคว้าเพื่อพิสูจน์ และรอการอธิบายอย่างละเอียด ผู้อ่านจะเข้าใจและเห็นได้เองว่าประเด็นอะไรที่ผู้เขียนได้ทำไปแล้ว และยังมีหัวข้อสำคัญๆ อะไรอีกที่รอการค้นคว้าอยู่

นอกจากบทที่หนึ่งจะช่วยให้เข้าใจภาพรวมของการเปลี่ยนผันเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของสยาม ยังจะช่วยให้เข้าใจบทความอื่นๆ ในเล่มนี้ ทั้งสาระโดยตรงของแต่ละบท และสาระโดยนัยว่าเกี่ยวพันกับภาพใหญ่ของการเปลี่ยนผันสู่สมัยใหม่อย่างไร แม้ว่าแต่ละบทความจะเขียนขึ้นเพื่อตีพิมพ์ในวาระโอกาสต่างๆ กันในช่วงเวลาหลายปีก็ตาม

หวังว่าเค้าโครงที่เสนอในบทความแรกและบทความทั้งหลายในเล่มนี้ จะช่วยจุดประกายให้เกิดข้อคิด และเกิดคำถามที่น่าสนใจอีกมากมายสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและช่วยให้เข้าใจสังคมยุคสมัยใหม่ของไทยที่รวมถึงปัจจุบันด้วยได้ดีขึ้น

บทความในเล่มนี้ล้วนเป็นงานที่ผู้เขียนทำอย่างเพลิดเพลิน ต่างจากการเขียนเพื่อเผชิญหน้าสะสางความจริงที่แสนเจ็บปวดอย่างกรณี 6 ตุลา หรือเขียนเรื่องการเมืองอันน่าหดหู่แถมยังอาจพลาดโดนข้อหาเหลวไหลได้อีก ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผันสู่ยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะความต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่องของภูมิปัญญาต่างยุคสมัยกัน เป็นปริศนาซับซ้อนพิสดารที่ชวนให้ขบคิดอย่างไม่มีสิ้นสุด ความเพลิดเพลินทางปัญญามาจากการได้จมดิ่งลงไปคิดกับปริศนามากมาย ต้องใช้ทั้งจินตนาการและความคิดวิพากษ์วิจารณ์ไม่หยุดหย่อน

นี่คือความมุ่งหมายของมนุษยศาสตร์ไม่ใช่หรือ ?

ธงชัย

Chiba, Japan

สิ้นมิถุนา 2562

[1] ผู้เขียนเคยนำเสนอความคิดรวมๆ ในเรื่องนี้มาครั้งหนึ่งเมื่อปี 2554 ซึ่งดาริน อินทร์เหมือน เคยรายงานไว้อย่างละเอียดถูกต้อง (ดาริน อินทร์เหมือน รายงาน, “จตุสดมภ์ภูมิปัญญาไทยสมัยใหม่,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 9, ฉบับที่ 1 [มกราคม-มีนาคม 2554]) อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากนั้น ความคิดของผู้เขียนได้พัฒนาไปหลายอย่าง ถึงแม้ว่าแนวคิดหลักๆ จะไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม

ทดลองอ่าน