ข้อมูลทั่วไป
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
---|---|
จำนวนหน้า | 416 |
ปีที่พิมพ์ | 2563 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667881 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667898 |
ปกแข็ง 540.00 บาทปกอ่อน 450.00 บาท
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
---|---|
จำนวนหน้า | 416 |
ปีที่พิมพ์ | 2563 |
ISBN ปกอ่อน | 9786167667881 |
ISBN ปกแข็ง | 9786167667898 |
คำนำสำนักพิมพ์
คำนำเสนอ
คำนำผู้เขียน
บทที่ 1 กราวพากย์ : ตัวตนและประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยในยุคสงครามเย็น
บทที่ 2 จากสันติภาพสู่ความขัดแย้ง : การเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
บทที่ 3 รัฐประหาร 2490 : การล่มสลายของกลุ่มปรีดีและการแตกร้าวของพันธมิตรใหม่
บทที่ 4 สู่ภาวะกึ่งอาณานิคมในยุคสงครามเย็น : การหันเข้าหาสหรัฐอเมริกากับการปราบปรามศัตรูทางการเมือง
บทที่ 5 ถนนทุกสายมุ่งสู่สหรัฐอเมริกา : การสร้างความแข็งแกร่งให้กลุ่มทหารและกลุ่มตำรวจไทย
บทที่ 6 ใกล้ยามเมื่อแสงทองส่อง : สหรัฐฯ กับแผนสงครามจิตวิทยาต่อต้านคอมมิวนิสต์
บทที่ 7 ถอยห่างจากพญาอินทรี : นโยบายเป็นกลางและการเปิดประตูสู่ประชาธิปไตยในฐานะทางออกใหม่ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
บทที่ 8 ยามเมื่อลมพัดหวน : ความพยายามหวนคืนของมิตรเก่า“จอมพล ป.-ปรีดี”
บทที่ 9 การก่อตัวของ “ไตรภาคี” : ภาวะกึ่งอาณานิคมและการล่มสลายของประชาธิปไตยไทย
บทที่ 10 บทสรุป
ประวัติผู้เขียน
บรรณานุกรม
นามานุกรม
ดรรชนี
รัฐประหาร 2490 เป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองไทยสมัยใหม่ที่หันเหออกจากการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร ดังความคิดของปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎรที่บอกว่ายุคสมัยของคณะราษฎรนั้นสิ้นสุดเมื่อมีการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่ใช่ความรับผิดชอบของคณะราษฎรอีกต่อไป[1]
งานศึกษาการรัฐประหาร 2490 ชิ้นบุกเบิกของสุชิน ตันติกุล มีข้อเสนอคล้ายกับความคิดของปรีดีคือชี้ว่า “รัฐประหาร 2490 เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงถ่ายทอดอำนาจทางการเมืองจากคณะราษฎรมาสู่คณะรัฐประหาร ซึ่งก็คือกลุ่มทหารบกนั่นเอง”[2]
ต่อมา งานศึกษาชิ้นสำคัญของทักษ์ เฉลิมเตียรณ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ[3] เปิดประเด็นว่ารัฐประหาร 2490 เป็นการเปิดยุคการเมืองสามเส้า ที่แม้จอมพล ป. พิบูลสงครามจะเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง (2491-2500) แต่ไม่มีอำนาจมากเท่าครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (2481-2487) เพราะต้องรักษาดุลยภาพทางอำนาจระหว่างสองขุนศึก คือค่ายสี่เสาเทเวศน์ที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับค่ายราชครูที่นำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ การช่วงชิงอำนาจจบลงด้วยชัยชนะของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการรัฐประหาร 2500
อย่างไรก็ตาม บทความชิ้นสั้นๆ โดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2539 โต้แย้งว่าเราไม่อาจสรุปทศวรรษดังกล่าวว่าเป็นเรื่องการเมืองสามเส้าเท่านั้น
คณะรัฐประหารยังต้องขับเคี่ยวกับพลังการเมืองที่นักวิชาการทั่วไปเรียกว่า “อนุรักษ์นิยม” (Conservatives) หรือ “นิยมเจ้า” (Royalists) พลังดังกล่าวมีรากฐานที่กว้างขวางลึกซึ้งในสังคมไทย แต่แสดงออกต่อสาธารณะในขณะนั้นที่สำคัญโดยผ่านบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งคุมรัฐสภาอยู่…
ความจริงการเมืองไทยปลายทศวรรษ 2490 ต้องถือว่าเป็นการเมืองที่มีผู้เล่นสำคัญ 5 กลุ่มครึ่ง คือ นอกจากจอมพล ป. พล.ต.อ. เผ่า และจอมพลสฤษดิ์แล้ว ยังมีสองกลุ่มสำคัญคือ พลังอนุรักษ์นิยมที่กล่าวถึงข้างต้น และพลังฝ่ายซ้ายที่มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นแกน ส่วนที่เรียกว่า “ครึ่งกลุ่ม” คือปรีดี พนมยงค์ นั่นเอง ที่เป็นเพียง “ครึ่ง” เพราะมีกำลังและบทบาทไม่มากเท่ากลุ่มอื่น และดูเหมือนจะเป็นฝ่ายถูกดึงเข้าไปเล่นด้วยมากกว่าโดดเข้าไปเอง[4]
สมศักดิ์ไม่ได้ใช้คำว่า “สถาบันกษัตริย์” ตรงๆ อาจเพราะยังมิได้มีเอกสารหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ แต่ก็ได้สื่อเป็นนัยระหว่างบรรทัดให้คนอ่านเข้าใจว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังพลังอนุรักษนิยม ซึ่งถือเป็นผู้เล่นสำคัญของการเมืองไทยในทศวรรษ 2490 นั้นหมายถึง “ศักดินา” นั่นเอง
นอกจากนั้น ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ชี้ให้เห็นว่า เมื่อสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับชัยชนะภายหลังรัฐประหาร 2500 สฤษดิ์ละทิ้งมรดกคณะราษฎรทั้งหมด แล้วหันไปโปรโมทบทบาทของสถาบันกษัตริย์ดังที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ธงชัย วินิจจะกูล กลับตั้งคำถามกับพล็อตหลักของทักษ์ เฉลิมเตียรณ ว่าสถาบันกษัตริย์ที่หมดบทบาทไปหลัง 2475 เพิ่งถูกฟื้นฟูหลังรัฐประหาร 2500 จริงหรือ โดยธงชัยนำเสนอความเห็นแย้งนี้ครั้งแรกในปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2548 หัวข้อ “ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา” ไว้ว่า
รัฐประหาร 2490 เป็นการปิดฉากคณะราษฎร นักประวัติศาสตร์มักจะให้ความสนใจกับบทบาทของผู้นำรุ่นใหม่ในกองทัพบกอย่างผิน ชุณหะวัณ และเผ่า ศรียานนท์ ข้อเท็จจริงก็คือ รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างทหารบกกับฝ่ายกษัตริย์นิยมซึ่งมีบทบาทมากมายเต็มไปหมด
อาจจัดได้ว่าปี 2490-94 เป็นยุคฟื้นฟูของกษัตริย์นิยม หลักฐานชัดเจนประการหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ที่โปรเจ้าอย่างไม่เคยมีมาก่อน เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ระบุว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นฉบับแรกที่ระบุว่าผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ และให้อำนาจพระมหากษัตริย์อีกหลายประการ เช่น ในการเลือกและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ในการประกาศภาวะฉุกเฉิน และในการอนุมัติเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น
นักประวัติศาสตร์ไทยมักเสนอว่า การฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นในยุคสฤษดิ์ แต่แท้ที่จริงเริ่มในช่วงนี้เอง[5]
ในปี 2552 ณัฐพล ใจจริง ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)”[6] ซึ่งได้รับการพิจารณาว่าอยู่ในระดับดีมาก หนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี: การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 โดยณัฐพล ใจจริง ที่อยู่ในมือผู้อ่านขณะนี้ ณัฐพลเรียบเรียงพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้นจากวิทยานิพนธ์เล่มดังกล่าว
หากย้อนกลับไปอ่านทัศนะของสมศักดิ์ที่ว่าทศวรรษ 2490 ของการเมืองไทยมีผู้เล่น 5 กลุ่มครึ่ง ผู้อ่านจะพบว่า ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ชี้ให้เห็นว่าที่จริงแล้วมี 6 กลุ่มครึ่ง แถมกลุ่มที่ 6 คือ “พญาอินทรี” ซึ่งก็คือบทบาทของสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีอำนาจมาเคียงคู่กับสหภาพโซเวียตนั้นมีอำนาจบทบาทระดับพลิกผันความเป็นไปทางการเมืองไทยในช่วงดังกล่าวเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น ณัฐพลยังฉายให้เห็นรายละเอียดของผู้เล่นแต่ละกลุ่มอย่างมีสีสันละเอียดลออ พร้อมอ้างอิงเอกสารหลักฐานมากมาย โดยเฉพาะบทบาทของสถาบันกษัตริย์และเครือข่าย ที่ก่อนหน้านี้สมศักดิ์ใช้คำกว้างๆ ว่า “ศักดินา” แต่ด้วยเอกสารหลักฐานโดยเฉพาะที่ได้จากหอจดหมายเหตุในต่างประเทศที่บันทึกเรื่องราวซึ่งเอกสารฝ่ายไทยไม่ได้บันทึกไว้—ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่าเป็นเรื่องที่ “พูดไม่่ได้” หรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม—ทำให้ณัฐพลสามารถระบุชื่อและพฤติกรรมทางการเมืองของฝ่ายเจ้าในทศวรรษ 2490 ได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งชัดเจนว่ามิได้อยู่ “เหนือ” การเมืองดังวาทกรรมที่ถูกทำให้เชื่อฝังหัวกันมาหลายทศวรรษแต่อย่างใด
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันภูมิใจที่ได้รับเกียรติให้จัดพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเล่มในโครงการหนังสือชุด “สยามพากษ์” ที่เราคัดเลือกงานที่มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทยในยุคสมัยนั้นๆ และเป็นงานที่ท้าทาย หักล้าง หรือเติมเต็มงานศึกษาก่อนหน้านั้นด้วยข้อมูลใหม่และ/หรือกรอบคิดทฤษฎีที่แตกต่างออกไป
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น เราคิดคำว่า “สยามพากษ์” ขึ้นมาจากฐานความเชื่อที่ว่าปัญญาความรู้นั้นจะงอกงามได้จากการคิดเชิงวิพากษ์ ความรู้เกี่ยวกับสยาม/ไทยก็เช่นกัน ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ดังที่นักวิชาการข้างต้นไม่ว่าจะเป็นสุชิน ตันติกุล ทักษ์ เฉลิมเตียรณ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วินิจจะกูล และณัฐพล ใจจริง ได้กระทำเป็นแบบอย่าง โดยเข้าร่วมถกเถียงเกี่ยวกับการเมืองไทยในทศวรรษ 2490 ด้วยหลักฐานข้อมูลและกรอบคิดใหม่ๆ ควรเน้นย้ำในที่นี้ด้วยว่า การวิพากษ์ถกเถียงแตกต่างอย่างลิบลับจากการมุ่งจับผิดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายหรือเซ็นเซอร์งานที่มีข้อเสนอต่างจากอุดมการณ์ความเชื่อของตน
สุดท้ายนี้ หากต้องการเข้าใจสังคมการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน งานชุด “สยามพากษ์” ซึ่งหมายรวมถึงผลงานของณัฐพล ใจจริง เล่มนี้ เป็นงานที่คนไทย “ต้องได้อ่าน” ไม่ว่าอ่านแล้วจะเห็นพ้องหรือเห็นต่างก็ตาม
หมายเหตุต้นฉบับ
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ครอบคลุมระยะเวลาตลอดทศวรรษ 2490 มีตัวแสดงจำนวนมาก โดยเฉพาะฝ่ายทหารที่มียศตามลำดับเวลา และยศดังกล่าวสัมพันธ์กับอำนาจในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย ดังนั้น ยศที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้จะสัมพันธ์กับช่วงเวลานั้นๆ ด้วย ดังเช่น สฤษดิ์ ธนะรัชต์
2490 ยศพันเอก
2491 ยศพลตรี
2493 ยศพลโท
2495 ยศพลเอก
2499 ยศจอมพล
เช่นเดียวกับการเลื่อนกรม ดังเช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์)
2465-2493 กรมขุนชัยนาทนเรนทร
2493-2495 กรมพระชัยนาทนเรนทร
2495 กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (สถาปนาหลังสิ้นพระชนม์ในปี 2494)
—
[1] สัมภาษณ์พิเศษ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ในโอกาสครบรอบ 48 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง, 24 มิถุนายน 2523 ที่เมืองอองโตนี ชานกรุงปารีส โดยสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (กรุงเทพฯ : เกษมการพิมพ์, 2523)
[2] สุชิน ตันติกุล, รัฐประหาร พ.ศ. 2490 (นครหลวง : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2515), 142.
[3] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, แปล พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และ ม.ร.ว. ประกายทอง สิริสุข (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526).
[4] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป., กรณีสวรรคต และรัฐประหาร 2500,” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก, 2544), 31-32. (พิมพ์ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ 17 พฤษภาคม 2539)
[5] ธงชัย วินิจจะกูล “ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา,” ใน ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2556) : 29-63.
[6] ณัฐพล ใจจริง, “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552).
ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ดีเยี่ยมเล่มหนึ่ง
อ่านเล่มนี้แล้วรู้สึกสว่าง อิ่มสมองอิ่มใจทำนองเดียวกับที่ได้อ่าน การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475[1] โดยนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ[2] โดยธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
หนังสือดี
ความรู้สึกอิ่มเกิดจากการได้เสพหนังสือดีๆ ที่เป็นผลงานทางปัญญาที่ยากจะทำได้ แต่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้ด้วยความสามารถพิเศษบางอย่างของคนที่ทำงานทุ่มเทอย่างอดทนเป็นเวลาหลายปี ผู้เขียนหนังสือนี้ต้องทำตัวเป็น “หนูประจำหอเอกสาร” (archive rat) เพื่อสอบสวนเอกสารชั้นต้นจำนวนมากเหลือเกิน ต้องสร้างและปรับระบบการประมวลข้อมูลที่เหมาะกับปริมาณและความซับซ้อนของข้อมูลและของเรื่องที่จะเล่า สุดท้ายต้องสามารถเล่าเรื่องในแบบที่เสมือนพาผู้อ่านย้อนเวลาไปติดตามการข่าวสารรายวันในอดีตด้วยตัวเองได้
นักประวัติศาสตร์มีหลายสไตล์หลายแบบในแง่วิธีการที่เขาถนัด แม้ทุกคนจะให้ความสำคัญกับหลักฐานและความคิดที่จะต้องนำมาประกอบการวิเคราะห์ตีความ นักประวัติศาสตร์ไทยมักให้ความสำคัญกับการทุ่มเทค้นคว้าหาหลักฐานจำนวนมากเข้ามาประกอบกัน งานในแบบนี้ที่ดีจะต้องอาศัยการประมวลข้อมูลที่เป็นระบบระเบียบสูงและการวิเคราะห์ที่ซับซ้อน ทั้งต้องสามารถเล่าเรื่องราวในอดีตที่มีหลายมิติซ้อนกันออกมาได้ราวกับหลักฐานเผยความจริงออกมาเป็นเรื่องอย่างหมดจด (ทั้งๆ ที่ตามปกติหลักฐานทุกชิ้นอยู่ท่ามกลางความสับสนยุ่งนุงนังไปหมด ไม่เคยเรียงร้อยเล่าเรื่องในตัวมันเอง) ผู้อ่านรู้สึกเสมือนท่องกลับไปในอดีตและได้อ่านข่าวติดตามเรื่องนั้นๆ ด้วยตนเอง และจะยิ่งน่าตื่นเต้นขึ้นไปอีกหากเรื่องเล่านั้นต่างจากความรู้ที่ผู้อ่านเคยมีมาก่อน อ่านแล้วจึงรู้สึกเปิดหูเปิดตาสว่างโล่งโจ้งทีเดียว
นักประวัติศาสตร์ไทยโดยมากยังผลิตงานที่ใช้ได้แต่ไม่ดีขนาดที่กล่าวมาด้วยเหตุปัจจัยสารพัด เช่น การประมวลข้อมูลไม่ซับซ้อนหลายมิติพอ โดยมากเนื่องมาจากเรียนรู้แนวคิดต่างๆ ที่ช่วยการคิดวิเคราะห์ไม่พอ ซึ่งเป็นเหตุและเป็นผลกันกับระบบการจัดการข้อมูล ข้อมูลจำนวนมากที่เขามีอยู่จึงมักถูกตีความอย่างง่ายๆ และนำมาอธิบายประเด็นที่ไม่ซับซ้อนนัก แถมโดยมากยังผลิตซ้ำความรู้ในกรอบเดิมๆ เพราะมักไม่รู้ตัวว่าตนตกอยู่ในกรอบของแนวคิดวิเคราะห์เดิมๆ (ที่ถูกสร้างมาจากอุดมการณ์เดิมๆ) อีกทั้งทักษะในการเล่าเรื่องก็มากน้อยต่างกัน นักประวัติศาสตร์จำนวนมากไม่สามารถทำได้ดีนัก
ผมอ่านงานของณัฐพล ใจจริง มาแล้วแทบทุกชิ้น เห็นได้ว่าเขาพัฒนาขึ้นอย่างมากจากชิ้นแรกๆ ซึ่งมักเป็นการตอบคำถามที่ไม่ซับซ้อนนัก การวิจัยระดับปริญญาเอกที่เรียกร้องการทำงานที่ยากกว่าปกติ เป็นระบบกว่า ซับซ้อนกว่า คิดไตร่ตรองอย่างระมัดระวังมากกว่า น่าจะเป็นเงื่อนไขผลักดันให้เขาต้องยกระดับการทำงานขึ้นไปอีก ซึ่งไม่ใช่ว่านักศึกษาทุกคนจะสามารถตอบการท้าทายเช่นนั้นได้เสมอไป
ขยายพรมแดนความรู้ (1)
ความรู้สึกสว่างเกิดจากการที่ผมได้ความรู้ใหม่ๆ บางอย่างถึงขนาดเปลี่ยนความเข้าใจที่ผมเคยมีมาก่อนหน้าเกี่ยวกับการเมืองไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองถึง 2500
ขอเริ่มจากประเด็นสำคัญที่หนังสือนี้เสนอชัดตลอดทั้งเล่ม ในขณะที่การศึกษาการเมืองไทยหลัง 2475 ก่อนหน้านี้กล่าวถึงบ้าง แต่ไม่เคยเด่นชัด นั่นคืออิทธิพลและบทบาทของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาต่อการเมืองไทย ทั้งบงการ ชักใย ผลักดัน ให้ท้าย ให้เงิน ให้อาวุธ แก่คู่ขัดแย้งในการเมืองไทย บางครั้งทำอย่างแอบแฝง แต่บ่อยครั้งทำอย่างออกหน้าออกตา ประเด็นนี้มีผู้กล่าวถึงมาก่อน แต่น้อยคนนักที่ได้ยืนยันด้วยข้อมูลอย่างจะแจ้งมากมายดังที่ปรากฏในเล่มนี้ ภาวะเช่นนี้เองทำให้ณัฐพลเรียกประเทศไทยหลังสงครามโลกถึง 2500 ว่าเป็น “กึ่งอาณานิคม” ซึ่งเป็นข้อเสนอของพวกมาร์กซิสต์ไทยมาก่อนก็จริง แต่ทว่ามักเป็นโวหารหรือการวิเคราะห์ตามทฤษฎีจนแทบเป็นสูตรสำเร็จมากกว่าเป็นการสอบสวนจากหลักฐานข้อมูล[3]
บทบาทและอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในช่วงดังกล่าวเป็นผลจากสงครามโลกครั้งที่สองต่อเนื่องกับยุคต้นของสงครามเย็น มหาอำนาจทั้งหลายต้องพยายามวางรากฐานและเครือข่ายของฝ่ายตนในการต่อสู้ระดับโลก ผู้อ่านอย่างเราท่านคงอดคิดไม่ได้ว่าแล้วประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงอื่นๆ ล่ะ ? มหาอำนาจอังกฤษในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สองและมหาอำนาจอย่างจีนในปัจจุบันกระทำการหรือมีพฤติกรรมทำนองเดียวกันหรือต่างกันอย่างไรต่อการเมืองภายในของไทย มหาอำนาจอังกฤษมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาผู้ดูแลรัฐบาลสยามอย่างออกหน้ามาตลอดปลายศตวรรษที่ 19 บางครั้งเป็นตัวแปรสำคัญในการเมืองสยาม เช่น ในวิกฤตการณ์วังหน้าเมื่อปี 2417 การหนุนหลังของอังกฤษตลอดช่วงการเผชิญหน้ากับฝรั่งเศสก่อนวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เป็นปัจจัยที่ชวนให้สยามแข็งกร้าวกับฝรั่งเศส แต่แล้วกลับบอกปัดไม่ให้ความช่วยเหลือยามคับขัน จึงทำให้วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 จบลงอย่างเจ็บปวดสำหรับเจ้ากรุงเทพฯ เราพอรู้อีกเช่นกันว่าอังกฤษยังมีอิทธิพลกับการเมืองภายในของไทยมาตลอดก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ไม่มีผู้ศึกษาในประเด็นนี้หรือขุดค้นเอกสารอย่างหนักดังที่ณัฐพลศึกษาอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาช่วงต้นสงครามเย็นในหนังสือเล่มนี้
น่าคิดต่อไปอีกว่าอิทธิพลและพฤติกรรมรวมถึงวิธีการของมหาอำนาจยังคล้ายๆ เดิม หรือเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยอย่างไรในหลายทศวรรษต่อมา การทูตเพื่อการเมืองในประเทศต่างๆ ในช่วงสงครามเย็นกับหลังจากนั้นเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะการเมืองระดับโลกและการเมืองในประเทศทั้งของไทยและของประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นเปลี่ยนไป เช่น ในยุคปัจจุบันอาจจะอาศัยการลงทุน สัญญาการค้า และการเช่าท่าเรือหรือตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมากกว่าการชักใยการเมืองซึ่งมักได้ไม่คุ้มเสีย
ขยายพรมแดนความรู้ (2)
ความรู้สึกสว่างอย่างมากมาจากความรู้ใหม่เกี่ยวกับบทบาทและปฏิบัติการทางการเมืองของราชสำนักและฝ่ายเจ้าในช่วงสิบกว่าปีนับจากหลังสงครามจนถึง 2500 ซึ่งอ่านจบแล้วผมต้องขอสารภาพว่า “ไม่นึกว่าจะทำถึงขนาดนี้” !
เราลองมาทบทวนกันก่อนว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์และความรู้ว่าด้วยการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองถึง 2500 ที่ทำกันใน 50 ปีที่ผ่านมา (คือนับจากทศวรรษ 2510) เป็นอย่างไร จึงจะเข้าใจว่าความรู้ใหม่ในหนังสือเล่มนี้คืออะไร
ความรู้แบบที่หนึ่ง ซึ่งเริ่มต้นแพร่หลายในทศวรรษ 2510 ภายใต้บรรยากาศการต่อต้านเผด็จการทหารที่แพร่หลายในหมู่ปัญญาชนเสรีนิยมซึ่งนับว่าเป็นพวกหัวก้าวหน้าในต้นทศวรรษ 2510 ความเข้าใจอดีตในแบบนี้ถือว่า 2475 เป็นการยึดอำนาจทำรัฐประหารครั้งแรกของพวกทหาร สอดคล้องกับประกาศสละราชสมบัติของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่ถือว่า 2475 เป็นเพียงการเปลี่ยนคณะบุคคลที่ครองอำนาจแค่นั้นเอง ทัศนะนี้จึงมักถือว่าระบอบทหารของไทยเริ่มต้นเมื่อ 2475 จากนั้นแข็งแกร่งขึ้นภายใต้รัฐบาลฟาสซิสต์ของจอมพล ป. พิบูลสงครามก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ตามมาด้วยการรัฐประหารโดยกองทัพอีกหลายครั้ง
ในกรอบและโครงเรื่องประวัติศาสตร์แบบนี้ การต่อสู้กับคณะราษฎรเท่ากับการต่อสู้กับทหาร จึงเท่ากับเป็นฝ่ายประชาธิปไตย เช่น กบฏบวรเดชและความพยายามของรัชกาลที่ 7[4] แต่ทว่าการรัฐประหาร 2490 กลับไม่มีความสำคัญเป็นพิเศษแต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงการรัฐประหารโค่นรัฐบาลพลเรือนครั้งหนึ่งในหลายครั้งทั้งก่อนหน้าและหลังจากนั้น ความเข้าใจอดีตในแบบนี้ยังเป็นบริบทสำหรับตีความปรากฏการณ์หลายกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เช่น หลายคนถือว่ารัฐธรรมนูญ 2492 เป็นฉบับที่ก้าวหน้าที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยเพราะพวกเจ้าพยายามจำกัดอำนาจทหาร (การตีความแบบนี้มองข้ามความจริงที่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญแรกที่สถาปนาแนวคิดเรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นครั้งแรกที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าพระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะที่จะละเมิดมิได้[5]) ในประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบที่หนึ่งนี้ การเมืองช่วง 2490 ถึง 2500 จึงเป็นความขัดแย้งแย่งอำนาจกันระหว่างฝักฝ่ายในกองทัพ จนกลายเป็นการเมืองสามเส้าระหว่างจอมพล ป. ผิน+เผ่า และสฤษดิ์[6] โดยมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังทุกฝ่ายที่สามารถต่อต้านคอมมิวนิสต์ได้ดีที่สุด แทบไม่มีใครกล่าวถึงบทบาททางการเมืองของฝ่ายเจ้าและพระมหากษัตริย์ในการเมืองช่วงนั้นเลย
ความเข้าใจประวัติศาสตร์แบบนี้แพร่หลายในหมู่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายหลัง 2516 ด้วยเช่นกัน ในขณะนั้นพวกเขาถือว่าศัตรูตัวหลักคือระบอบทหาร การวิพากษ์วิจารณ์ “ศักดินา” อย่างแรง ก็เพราะศักดินาหนุนขุนศึกและทั้งหมดเป็นบริวารของจักรวรรดินิยมอเมริกา ฝ่ายซ้ายยังไม่เข้าใจหรือไม่ได้ให้น้ำหนักต่อบทบาททางการเมืองโดยตรงของพวกเจ้าและแทบไม่เอ่ยถึงบทบาทของกลุ่มนี้ในช่วง 2490 ถึง 2500 เลยเช่นกัน
ไม่น่าแปลกใจเลยที่ความเข้าใจประวัติศาสตร์แบบนี้ยังคงอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าจะเริ่มมาตั้งแต่ 50 ปีก่อนก็ตาม
ประวัติศาสตร์นิพนธ์และ ความรู้แบบที่สอง เริ่มปรากฏตัวในช่วงถัดมา คือนับจากประมาณครึ่งหลังของทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ความต่างจากแบบแรกที่สำคัญมากคือความรู้เกี่ยวกับ 2475 ที่เปลี่ยนไปอย่างมหันต์ ส่งผลเปลี่ยนความเข้าใจต่อรัฐประหาร 2490 แต่ทว่าความรู้การเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สองถึง 2500 ยังคงเน้นว่าเป็นการเมืองสามเส้าระหว่างจอมพล ป. ผิน+เผ่า และสฤษดิ์
ปัจจัยสองประการหรือสาแหรกสองสายที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของความรู้ประวัติศาสตร์คือ หนึ่ง การศึกษาตีความการปฏิวัติ 2475 แบบใหม่โดยนักประวัติศาสตร์หลายคนเช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล[7] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ[8] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์[9] และสำคัญที่สุดคือนครินทร์ เมฆไตรรัตน์[10] ผู้สร้างความรู้ใหม่เกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ชนิดก้าวกระโดดจากเดิม เขาชี้ให้เห็นว่า 2475 ไม่ใช่การรัฐประหาร ไม่ใช่การปฏิวัติประชาธิปไตยที่ชิงสุกก่อนห่าม มิได้เกิดจากอุดมการณ์ทางการเมืองจากภายนอกที่แปลกปลอมกับสังคมไทย แต่ทว่ามีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองและความไม่พอใจระบอบกษัตริย์ดำรงอยู่แล้วในสังคมไทยช่วงนั้น ดังนั้น การปฏิวัติ 2475 จึงไม่ใช่เป็นเพียงการลงมือของนักเรียนนอกกลุ่มนิดเดียว แต่เป็นการปฏิวัติที่มีการสนับสนุนของมวลชนมากพอสมควร 2475 จึงไม่ใช่การเริ่มต้นของระบอบทหารในประเทศไทย
อีกปัจจัยหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันและเกี่ยวพันกับปัจจัยที่หนึ่งด้วยคือ การฟื้นฟูเกียรติคุณและภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ โดยการผลักดันของชาญวิทย์ เกษตรศิริ และชาวธรรมศาสตร์หลายส่วน ในเรื่องนี้มีผู้กล่าวถึงไว้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังสือของมรกต เจวจินดา[11]
ปัจจัยสองประการนี้ประกอบกันทำให้เรื่องเล่าเกี่ยวกับ 2475 เปลี่ยนไปอย่างมาก ทั้งทำให้เข้าใจว่า 15 ปีแรกหลัง 2475 นั้นมิใช่แค่เป็นการต่อสู้กันระหว่างปีกพลเรือนกับปีกทหารของคณะราษฎรดังที่รู้กันอยู่ตามความรู้แบบที่หนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือ เป็นการต่อสู้กันระหว่างคณะราษฎรและผู้สนับสนุนทั้งหลายฝ่ายหนึ่งกับพวกนิยมเจ้าที่พยายามฟื้นอำนาจกษัตริย์อีกฝ่ายหนึ่ง ชัยชนะของฝ่ายปรีดีหลังสงครามโลกครั้งที่สองและความพยายามสถาปนาระบอบประชาธิปไตยของคณะราษฎรนับจาก 2475 จบลงด้วยการรัฐประหาร 2490
ในกรอบและเค้าโครงประวัติศาสตร์แบบนี้ การรัฐประหารโดยกองทัพที่เป็นจุดเริ่มต้นของระบอบทหารที่ต่อต้านประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องต่อมานั้นมิใช่ 2475 แต่เป็น 2490 เพราะ 2475 มิใช่การรัฐประหารต่อต้านประชาธิปไตย แต่เป็นการปฏิวัติเพื่อเริ่มประชาธิปไตย แต่ทว่ายังต้องล้มลุกคลุกคลานเผชิญกับฝ่ายต่อต้านปฏิวัติต่อมาอีกนาน นอกจากนี้ เหตุการณ์หลายอย่างหลัง 2475 เปลี่ยนความหมายไปจากความรู้แบบที่หนึ่ง เพราะควรจะต้องเข้าใจบริบทของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับพวกนิยมเจ้าหลัง 2475 ซึ่งเป็นบริบทที่ไม่มีอยู่ในแบบที่หนึ่ง ได้แก่ กบฏบวรเดชเป็นความพยายามต่อต้านการปฏิวัติ ต่อต้านประชาธิปไตย มิใช่ความพยายามสถาปนาประชาธิปไตยที่เทียบเคียงได้กับ 14 ตุลา 2516 อย่างที่มีนักวิชาการบางคนเสนอ[12] เหตุการณ์ที่เรียกกันว่ารัฐประหารเมื่อเดือนมิถุนา 2476 โดยพระยาพหลฯ มิใช่การรัฐประหารเพื่อโค่นรัฐบาลพลเรือนโดยกองทัพ แต่เป็นการปกป้องการปฏิวัติโดยกลุ่มทหารของคณะราษฎร เพื่อตอบโต้การที่รัฐบาลพลเรือนหันไปเข้าข้างฝ่ายเจ้าทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2475 ไปเมื่อเดือนเมษายนปีเดียวกัน[13] พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ซึ่งถือกันว่าเป็น “วรรคทอง” ของฝ่ายประชาธิปไตยรวมทั้งกระบวนการ 14 ตุลาด้วย กลับเป็นความเข้าใจผิดแบบกลับหัวกลับหาง[14] กล่าวคือวรรคทองนั้นเป็นปัจฉิมกถาของกษัตริย์ผู้หนุนช่วยการต่อต้านประชาธิปไตยแล้วพ่ายแพ้ รวมทั้งกรณีสมุดปกเหลืองและการกล่าวหาปรีดีอย่างผิดๆ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8
อย่างไรก็ตาม บทบาททางการเมืองของฝ่ายเจ้าระหว่าง 2490 ถึง 2500 กลับยังลื่นไหลหลุดรอดถูกมองข้ามไปได้ การเมืองสามเส้าซึ่งเป็นมรดกมาจากความรู้ประวัติศาสตร์แบบที่หนึ่งจึงยังคงเป็นคำอธิบายหลักของประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงนี้ ตัวอย่างสำคัญได้แก่หนังสือ แผนชิงชาติไทย[15] ของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ซึ่งเขียนถึงการฟื้นตัวทางการเมืองของพวก “อนุรักษ์นิยม” (หมายถึงพวกเจ้า) เป็นเพียงตอนเดียว (20 หน้า) ของหนังสือทั้งเล่ม (300 กว่าหน้า) เพราะเห็นว่าบทบาทหรือพลังอำนาจของฝ่ายเจ้ายังไม่สูงนักในการเมืองช่วงนั้น หลายเหตุการณ์ที่พวกเจ้าอยู่เบื้องหลัง (ตามคำอธิบายของณัฐพล) จึงยังถือว่าเป็นการต่อสู้กับเผด็จการจอมพล ป. (ตามคำอธิบายของ แผนชิงชาติไทย) ทั้งยังเรียกระบอบหลังการรัฐประหาร 2490 ที่ฝ่ายเจ้ากลับคืนสู่อำนาจ (ตามคำอธิบายของณัฐพล) ว่าเป็นยุคกึ่งเผด็จการของระบอบพิบูลสงคราม แต่ภายหลังการรัฐประหารปลายปี 2494 ที่จอมพล ป. ลดอำนาจฝ่ายเจ้าได้อีกครั้ง (ตามคำอธิบายของณัฐพล) ถือว่าเป็นยุคเผด็จการ
ผู้วิพากษ์วิจารณ์ระบอบกษัตริย์และการเมืองของฝ่ายนิยมเจ้ายังคงเข้าใจกันว่าการสร้างกษัตริย์แบบใหม่ที่ประชาชนนิยมและเป็นกษัตริย์ศักดิ์สิทธิ์ด้วยนั้น เริ่มต้นด้วยการสนับสนุนทั้งจากสฤษดิ์และสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นอิทธิพลจากหนังสือของทักษ์ เฉลิมเตียรณ ที่ช่วยให้เราเห็นการเติบโตทางการเมืองของกษัตริย์ ในขณะที่บทบาทของกษัตริย์และฝ่ายเจ้าช่วง 2490 ถึง 2500 กลับยังไม่มีใครกล่าวถึงนัก
ราชสำนักกับการเมืองไทย
ความรู้แบบที่สาม ซึ่งเริ่มก่อตัวในวงวิชาการในปลายทศวรรษ 2540 แต่แพร่หลายในทศวรรษ 2550 เปิดเผยให้เห็นบทบาทความสำคัญอย่างมากของกษัตริย์และฝ่ายเจ้าหลังสงครามโลกครั้งที่สองและเป็นพันธมิตรกับทหารก่อการรัฐประหาร 2490 เท่ากับว่าฝ่ายเจ้าพยายามต่อต้านการปฏิวัติ 2475 จนพ่ายแพ้ราบคาบไปประมาณ 2481 แต่เพียงชั่วระยะสั้นนิดเดียวคือประมาณ 2488 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พวกเจ้าก็สามารถเข้าสู่วงการเมืองได้อีกครั้ง ครั้น 2490 พวกเจ้าก็ร่วมก่อการรัฐประหาร นับจากนั้นก็มีบทบาททางการเมืองต่อเนื่องมาโดยตลอด มีอำนาจขึ้นลง มากน้อย หนุนทหารหรือต่อต้านทหาร และออกหน้าหรือแอบแฝงตามแต่พลวัตของดุลอำนาจ กรอบและโครงเรื่องของการเมืองหลังสงครามโลกถึง 2500 ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการเมืองสามเส้าระหว่างจอมพล ป. ผิน-เผ่า และสฤษดิ์ อีกต่อไป
ปัจจัยที่ผลักดันให้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของกษัตริย์และพวกนิยมเจ้านับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเปลี่ยนไปคือผลต่อเนื่องจากอาการ “ตาสว่าง” ที่ระบาดไปทั่วทั้งสังคมไทย เรื่องนี้มีผู้ศึกษาและกล่าวถึงมากมายในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา กล่าวคือเมื่อ “ตาสว่าง” กับปัจจุบัน จึงย้อนกลับไปสอบสวนอดีต ก็พบความรู้ประวัติศาสตร์ 2475 ตามแบบที่สอง ทำให้ความเข้าใจที่อยู่แค่ในวงวิชาการกลายเป็นความเข้าใจอย่างกว้างขวางในหมู่สาธารณชนผู้สนใจการเมือง จนมีผู้เรียกว่า
การเกิดใหม่ของ 2475 และคณะราษฎร[16] จึงนำไปสู่การตรวจสอบบทบาททางการเมืองของกษัตริย์หลัง 2475 ทุกช่วงยิ่งกว่าก่อนหน้านี้
ยิ่งทำลายประชาธิปไตยอย่างเข้มข้นขึ้นใน 10 กว่าปีหลังรัฐประหาร 2549 รวมทั้งการใช้มาตรา 112 อย่างพร่ำเพรื่อไร้เหตุผล จึงกลายเป็นบูมเมอแรงผลักดันให้ผู้คนสงสัยต่อภาวะคลั่งไคล้หลงใหลเจ้าและการเมืองของพวกกษัตริย์นิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและหลักกฎหมายที่ถือว่าพระมหากษัตริย์จะถูกละเมิดไม่ได้ ทั้งสองประการสืบย้อนได้ไปถึงรัฐธรรมนูญ 2492 และการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สองถึง 2500 นักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญในการสอบสวนประวัติศาสตร์ดังกล่าวนอกจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล[17] สมชาย ปรีชาศิลปกุล[18] คนสำคัญที่เจาะลึกถึง “ชาวสีน้ำเงิน” ก็คือณัฐพล ใจจริง[19]
นอกจากนี้ คงต้องกล่าวถึงหนังสือ The King Never Smiles[20] (TKNS) ของพอล แฮนด์ลีย์ (Paul Handley) ซึ่งเป็นชีวประวัติทางการเมืองของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 TKNS เผยชัดเจนว่าการฟูมฟักสร้างกษัตริย์ให้มีบทบาททางการเมืองเริ่มขึ้นภายใต้บริบทที่ฝ่ายเจ้าฟื้นอำนาจและมีบทบาททางการเมืองมากเหลือเกินหลังการรัฐประหาร 2490 แม้ว่าฝ่ายเจ้าจะหลุดรอดจากสายตาของนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาการเมืองไทยช่วง 2490-2500 แต่ไม่รอดสายตาของแฮนด์ลีย์ และแม้ว่าเขาจะไม่ได้อธิบายประวัติศาสตร์การเมืองอย่างเป็นระบบเพราะเพ่งเล็งที่ชีวประวัติของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นหลัก แต่ผู้อ่านสามารถเห็นได้ไม่ยากว่าฝ่ายเจ้ามีบทบาททางการเมืองในช่วงนั้นมาก ผมเป็นคนหนึ่งที่เริ่มเห็นถึงบทบาทฝ่ายเจ้าในช่วงนี้เพราะอ่าน TKNS จึงช่วยให้ผมตระหนักถึงอันตรายของวาทกรรม “พระราชอำนาจ” ในปี 2548-2549 ด้วยเพราะการทำลายประชาธิปไตยในสองยุคเทียบเคียงกันได้หลายอย่าง ถึงกระนั้นก็ตาม ผมก็ยังเข้าใจบทบาทความสำคัญของราชสำนักในช่วงก่อน 2500 ไม่มากนัก และเหมือนนักวิชาการคนอื่นๆ ที่เมื่อพูดถึงการฟื้นบทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์แล้วก็ต้องเน้นที่ยุคสฤษดิ์
ความเข้าใจของผมเปลี่ยนไปเมื่อได้อ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของณัฐพล ใจจริง ซึ่งเขาได้เขียนและแก้ไขเรียบเรียงใหม่เป็นหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ในมือท่านขณะนี้ ณัฐพลเผยให้เห็นบทบาทของกลุ่มกษัตริย์นิยมและราชสำนักที่แสวงอำนาจอย่างไม่หยุดหย่อนตั้งแต่หลังสงครามโลก ไม่ต่างจากฝ่ายอื่นๆ สำเร็จบ้างถอยบ้าง แต่ไม่เคยอวดอ้างทำตัวสะอาดอยู่เหนือการเมือง ราชสำนักมีบทบาทสำคัญทางการเมืองในหลายเหตุการณ์เพื่อพยายามโค่นรัฐบาลจอมพล ป. และเพิ่มอำนาจกษัตริย์ ราชสำนักเป็นอำนาจที่หนุนสฤษดิ์ทำรัฐประหารปี 2500 ด้วย ดังนั้น ความเชื่อว่าความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเจ้ากับคณะราษฎรยุติลงเมื่อปี 2490 ตามความรู้แบบที่สองนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะยังต่อสู้กันต่อมาจนถึง 2500 เป็นอย่างน้อย
ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี เป็นเรื่องเล่าที่ต่างจาก “การเมืองสามเส้า” อย่างมาก น่าจะทำให้ “การเมืองสามเส้า” เป็นกรอบและโครงเรื่องที่ต้องสงสัยและอาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป ผู้อ่านคงต้องใช้วิจารณญาณตัดสินเอง
ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี
เราจะถือว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการขยายต่อประวัติศาสตร์แบบที่สามนี้ให้มีคุณภาพสูงมาก หรือเราจะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกรอบและโครงเรื่องแบบที่สี่ คงเป็นเรื่องต้องติดตามกันต่อไปว่าหนังสือเล่มนี้จะก่อให้เกิดการสอบสวนประวัติศาสตร์กระแสใหม่ที่เป็นผลสืบเนื่องจากหนังสือนี้มากน้อยขนาดไหน
สภาพการเมืองตามที่หนังสือเล่มนี้เสนอ เป็นบริบทช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคมอีกหลายอย่างในช่วงนั้น ตัวอย่างเช่น ช่วยให้เราเข้าใจว่ากระแสการต่อสู้กับ “ศักดินา” มิใช่เป็นเรื่องของฝ่ายซ้ายและพรรคคอมมิวนิสต์แต่ฝ่ายเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองกระแสหลักในขณะนั้นด้วย การวิพากษ์วิจารณ์ “ศักดินา” จึงสามารถทำได้อย่างเปิดเผยแพร่หลาย โดยไม่ถูกถือว่าเป็นการต่อสู้ของฝ่ายซ้ายเสมอไป วาทกรรมว่าด้วยศักดินาซึ่งเราเคยเข้าใจว่าเป็นของฝ่ายซ้ายและพบในงานวรรณกรรมของพวกมาร์กซิสต์เท่านั้น[21] แท้ที่จริงเป็นวาทกรรมสาธารณะธรรมดาๆ คนอย่างเผ่าและจอมพล ป. ก็กล่าวถึง “ศักดินา” ในเชิงลบด้วยเช่นกัน
ประเด็นเล็กๆ อีกอย่างที่เกี่ยวกันก็คือ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราท่านหลายคนคงลำบากใจว่าจะเรียกพวกเจ้าในแง่การเมืองว่าอย่างไรดี เรามักใช้คำว่า “พวกกษัตริย์นิยม” ซึ่งพอใช้ได้แม้เป็นคำที่ประดิดประดอยไปสักนิด ในช่วงก่อน 2500 คำไทยๆ ที่ใช้เรียกพวกเจ้ากันจนเป็นปกติ ไม่ประดิดประดอย สาธารณชนรู้จักคำนี้ดี และในความหมายเหมือน “พวกกษัตริย์นิยม” คือคำว่า “ศักดินา” บทความอย่าง “โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน” ของสมสมัย ศรีศูทรพรรณ นามปากกาของจิตร ภูมิศักดิ์[22] จึงอาจดูล่อแหลมอันตรายน้อยกว่าที่เรามองจากบรรยากาศใน 20-30 ปีหลังจากนั้นภายใต้ความคลั่งไคล้หลงใหลเจ้า (Hyper-royalism) หนังสือ ฝรั่งศักดินา ของคึกฤทธิ์ ปราโมช[23] ซึ่งเราเข้าใจกันว่าเป็นการตอบโต้ฝ่ายซ้ายโดยเฉพาะ โฉมหน้าฯ ของจิตร อาจจะเป็นการตอบโต้การที่คำนี้กลายเป็นศัพท์สาธารณะในทางลบในช่วงก่อน 2500 ก็เป็นได้
สภาพการเมืองตามที่หนังสือเล่มนี้เสนอยังช่วยให้เราเข้าใจบริบทของกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ได้อย่างชัดเจนขึ้นอย่างมาก จะเป็นในแง่ใดอย่างไร ขอผู้สนใจโปรดพิจารณากันเอง การกล่าวหาปรีดี พนมยงค์ ว่ามีส่วนในกรณีสวรรคตด้วยการให้คนตะโกนในโรงหนังนั้น เป็นเพียงปลายยอดภูเขาน้ำแข็งของกระบวนการทำลายปรีดีอย่างเป็นระบบกว้างขวางจริงจังกว่านั้นมาก ภาพพจน์ของจอมพล ป. ที่เป็นผู้ร้ายในสายตาคนรุ่นผมก็เป็นมรดกของพวกศักดินา จนอดสงสัยไม่ได้ว่า มี “ผู้ร้าย” คนไหนอีกที่ประสบชะตากรรมทำนองเดียวกัน มิได้หมายความว่าจอมพล ป. และ “ผู้ร้าย” ในสายตาของพวกศักดินาเหล่านั้น แท้ที่จริงเป็นวีรบุรุษผุดผ่องน่ายกย่อง แต่หมายถึงภาพพจน์ของขุนศึกที่เลวร้ายเป็นพิเศษที่มักพ่วงไปกับชื่อ “เผ่า ศรียานนท์” หรือ “ประภาส จารุเสถียร” นั้น เขาถูกทำให้ร้ายกว่าที่ควรจะเป็นหรือเปล่า เพียงเพราะคนเหล่านี้ล้วนรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ด้วยหรือเปล่า ในทางกลับกันพวกศักดินาที่ดูราวกับเป็นเทพมือสะอาด อันที่จริงกลับเป็น “สัตว์การเมือง” ไม่ต่างจาก “ผู้ร้าย” เหล่านั้น
ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี น่าจะเป็นหลักหมายของประวัติศาสตร์การเมืองไทยเล่มสำคัญ จึงเหมาะสมแล้วที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจะถือเป็นเล่มสำคัญเล่มหนึ่งในหนังสือชุดสยามพากษ์
มหาวิทยาลัย “เซ็นเซอร์” ความรู้
แต่ในประเทศไทย บ่อยครั้งที่หนังสือดีๆ งานวิจัยดีๆ กลับไม่ได้รับเกียรติที่สมควรได้ แม้แต่จากสถาบันการศึกษาที่ถือว่าดีที่สุดในประเทศ
แวดวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ทั้งโลกรู้กันดีว่า วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทางด้านนี้บ่อยครั้งเป็นผลงานสร้างสรรค์อย่างสำคัญที่ท้าทายความรู้ที่เป็นอยู่ ผลักดันพรมแดนทางความรู้และภูมิปัญญาให้ขยับออกไป แต่ทว่าในประเทศไทยกลับถือว่าการตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกไม่สำคัญนัก เพราะถือเป็นการวิจัยชิ้นเก่าที่ทำไปแล้ว จึงนำมานับเป็นผลงานเพื่อประกอบการขอตำแหน่งทางวิชาการไม่ได้ ใครอยากทำเพื่อความพอใจของตนก็ทำไป ผลก็คือวิทยานิพนธ์ดีๆ ในภาษาไทยยังพอได้รับการตีพิมพ์บ้างเพราะผู้วิจัยต้องการเผยแพร่ (แม้ว่าจะไม่นับคะแนนก็ตาม) แต่ก็มักเป็นการตีพิมพ์โดยแทบไม่มีการลงแรงเพิ่มเพื่อแก้ไขปรับปรุง ส่วนวิทยานิพนธ์ที่ทำเป็นภาษาอังกฤษ จึงมักไม่ได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทยเพื่อสร้างเสริมวิทยาการในโลกภาษาไทย เพราะต้องลงแรงอย่างหนักมากแต่มหาวิทยาลัยไทยกลับไม่เห็นคุณค่า
ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ ประเทศนี้ไม่ถือว่าหนังสือดีคือแสงสว่าง แต่กลับถือว่าคืออันตราย จึงต้องปิดกั้นลบล้าง
วิทยานิพนธ์ที่มีความริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ ควรได้รับการต้อนรับชื่นชมเพื่อความเรืองปัญญาของสังคม อันเป็นเกียรติที่อาจารย์ที่ปรึกษา คณะ และสถาบันควรภาคภูมิใจ แต่ทว่าหากไปท้าทายหรือขัดแย้งกับอุดมการณ์หลักของชาติหรือท้าทายต่อสถาบันการเมืองหลัก จะกลับถูกถือว่าเป็นอันตราย วิทยานิพนธ์ที่ดีเยี่ยมอย่างเช่นของณัฐพล ใจจริง[24] อันเป็นฐานของหนังสือเล่มนี้ ก็ถูกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสั่งห้ามเผยแพร่หรือ “เซ็นเซอร์” เช่นกัน
มหาวิทยาลัยจึงทำหน้าที่ทั้งผลิตความรู้และปิดกั้นทำลายความรู้ด้วย ช่างน่าละอายน่ารังเกียจเหลือเกินที่มหาวิทยาลัยที่อวดตัวว่าดีที่สุดของประเทศไทยสั่ง “เซ็นเซอร์” ผลงานดีๆ ของบัณฑิตจากสถาบันของตน
นักวิชาการบางคนจึงทำตัวเป็นตำรวจความคิด (Thought Police) คอยสอดส่องเซ็นเซอร์ความรู้ที่เขาเห็นว่าอันตราย ส่งให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจัดการ ดังที่ปัญญาชนฝ่ายเจ้าคนหนึ่งลงมือแข็งขันที่จะให้เซ็นเซอร์วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ ทั้งๆ ที่วิทยานิพนธ์เล่มนี้ผ่านการสอบและอนุมัติปริญญาเรียบร้อยไปแล้ว เขาตั้งข้อกล่าวหาว่าวิทยานิพนธ์ผิดพลาดอย่างแรง ถึงกับเสนอให้ถอดถอนปริญญา ข้อกล่าวหาของเขาเจาะจงลงไปที่ความบกพร่องของณัฐพลแห่งหนึ่ง แล้วอ้างว่ามีความผิดพลาดทำนองเดียวกันอีกมากมายราว 30 แห่งด้วยกัน เพื่อพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของณัฐพลและของวิทยานิพนธ์ฉบับนั้น
ผมมีโอกาสรับรู้และตรวจสอบข้อผิดพลาดที่ถูกกล่าวหา ผมพบว่ากรณีหลักที่นักวิชาการตำรวจคนนี้กล่าวหานั้น เป็นความผิดพลาดของณัฐพลจริงเพราะเข้าใจหลักฐานผิดตีความเกินเลยไป แต่ความผิดพลาดดังกล่าว มิได้สำคัญต่อวิทยานิพนธ์ทั้งเล่มหรือบทนั้นหรือตอนนั้นแต่อย่างใด หมายความว่าณัฐพลได้เสนอหลักฐานชิ้นอื่นและข้อมูลอีกจำนวนมากในบทตอนนั้นและตลอดทั้งเล่ม เพื่อยืนยันข้อเสนอและการวิเคราะห์สำคัญๆ หากข้อความที่เป็นปัญหานั้นถูกยกออกไปหมดทั้งย่อหน้า วิทยานิพนธ์บทตอนนั้นและทั้งเล่มก็ยังนำไปสู่ข้อวิเคราะห์และข้อสรุปเหมือนเดิมทุกประการ ดังที่ณัฐพลได้แสดงให้เห็นในหนังสือเล่มนี้ซึ่งไม่มีข้อความที่ผิดพลาดดังกล่าวแล้ว
สิ่งที่ตำรวจทางวิชาการอ้างว่าผิดพลาดอีกมากมายหลายสิบแห่งนั้น ได้ตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดพลาดสักแห่งเดียว อย่างมากก็เป็นการตีความที่ดิ้นได้ตามแต่อุดมการณ์และมุมมอง จนตำรวจทางวิชาการทึกทักว่าเป็นความผิดพลาด
ในธรรมเนียมทางวิชาการทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ตามปกตินั้น การถกเถียงทางวิชาการควรทำด้วยการถกเถียง นำเสนอข้อวิเคราะห์ที่ดีกว่า และ/หรือหลักฐานที่ดีกว่าหรือการตีความที่ต่างออกไป หากมีข้อผิดพลาดก็เปิดเผยออกมา ผู้วิจัยจะยอมรับหรือแย้งคำกล่าวหาก็แถลงออกมา ผู้อ่านย่อมได้ประโยชน์ไปด้วย แต่นักวิชาการตำรวจความคิดรายนี้มิได้พยายามใช้วิธีทางวิชาการแม้แต่น้อย กลับวิ่งเต้นให้มีการใช้อำนาจของคณะหรือของมหาวิทยาลัยจัดการเซ็นเซอร์วิทยานิพนธ์เสียเลย นี่มิใช่วิธีของนักวิชาการ หรือตำรวจความคิดรู้ว่าตนใช้วิธีทางวิชาการคงไม่ได้ผล แต่ยังต้องการลบล้างความรู้ที่ตนไม่พอใจให้ได้ จึงวิ่งเข้าหาอำนาจเพื่อสั่งให้วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้เป็นโมฆะ แต่เนื่องจากได้สอบผ่านไปแล้วอนุมัติปริญญาไปแล้ว จึงใช้อำนาจสั่งห้ามเผยแพร่
พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้นึกถึงคำกล่าวที่ว่านักวิชาการฝ่ายนิยมเจ้าไม่มีน้ำยา เพราะเก่งแต่เพียงใช้อำนาจกดปราบความรู้ที่เขาไม่เห็นด้วยลงไป ในขณะที่ผลงานที่พวกเขาผลิตมักเป็นงานอาศิรวาทสดุดี (แปลว่า ประจบสอพลอเจ้า) ที่มีคุณค่าทางวิชาการต่ำ เพราะรู้ว่าในระบบวิชาการของไทย ผลงานดังกล่าวย่อมได้รับการประเมินด้วยคะแนนสูงสุดอย่างแน่นอน ความรักเจ้ากับการหากินกับเจ้าจึงมักไปด้วยกัน แยกไม่ออกว่าอย่างไหนคือศรัทธา อย่างไหนคือสอพลอ เพราะศรัทธาต่อกษัตริย์กับการสอพลอต่อกษัตริย์ดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวกันในประเทศไทย
ผมเคยตรวจวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกมาแล้วหลายสิบเล่ม เป็นของมหาวิทยาลัยระดับนำของโลกนับสิบแห่ง หากวิทยานิพนธ์มีความผิดพลาดหนักหนาสาหัสที่กระทบต่อการพิสูจน์หรือวิเคราะห์ก็ไม่ควรให้สอบผ่าน แต่แทบจะไม่มีเล่มไหนเลยที่ไม่มีข้อบกพร่องชนิดไม่หนักหนาทำนองเดียวกับณัฐพล หมายถึงข้อผิดพลาดที่ไม่มีผลกระทบต่อข้อเสนอหลักและวิธีการพิสูจน์ บ้างก็พลาดเล็กๆ น้อยๆ ให้ถือว่าสอบผ่าน อย่างมากก็ขอให้แก้อีกรอบ บ้างก็น่าอับอายเพราะไม่น่าพลาดขนาดนั้นได้ แต่ก็ถือว่ายังไม่สาหัส ควรแก้เสียก่อนจึงจะถือว่าสอบผ่าน
ตัวอย่างวิทยานิพนธ์ที่บกพร่องเช่นนี้เกิดขึ้นแม้แต่กับวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ระดับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยท่านหนึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเซ็นเซอร์งานของณัฐพลด้วยเหตุผลว่ามีความบกพร่อง (ซึ่งผมขอไม่เอ่ยชื่อ) วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้เสนอประเด็นที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับการควบคุมประชาชนของรัฐไทยผ่านการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล แต่ผู้ศึกษาต้องการสอบสวนการควบคุมประชาชนนับจากสมัยต้นอยุธยา บทที่สองและสามจึงบรรยายประวัติศาสตร์ไทยก่อนยุคสมัยใหม่ ปรากฏว่ามีความผิดพลาดเต็มไปหมด ที่ผิดพลาดอย่างไม่น่าเชื่อก็มี เช่น ระบุปีที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งจนถึงปีที่กู้อิสรภาพห่างกันถึง 100 ปีเต็ม แถมยังเขียนว่าพระนเรศวรประกาศอิสรภาพและเอาดินแดนที่เสียไปคืนมา อย่างไรก็ตาม ความบกพร่องชนิดน่าอายเหล่านี้ไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้นต่อการวิเคราะห์และข้อเสนอของวิทยานิพนธ์ เพราะประวัติศาสตร์ก่อนยุคปัจจุบันในงานชิ้นนี้ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการวิเคราะห์หรือข้อเสนอแต่อย่างใด เป็นแค่เครื่องประดับให้วิทยานิพนธ์ดูดีขึ้นเท่านั้น ความบกพร่องน่าอายแบบนี้จึงไม่ควรเป็นเหตุให้สอบตก และจะต้องไม่เป็นเหตุให้โดนกลั่นแกล้งเซ็นเซอร์อย่างเด็ดขาดเพราะข้อเสนอของวิทยานิพนธ์ยังเป็นความรู้ที่มีคุณค่า
มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในโลกส่งเสริมให้เผยแพร่วิทยานิพนธ์ที่สอบผ่านแล้ว และการเซ็นเซอร์ห้ามเผยแพร่ไม่เป็นทางเลือกไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น
มหาวิทยาลัยใดก็ตาม ถ้าหากยินดีหรือจงใจไปร่วมมือต่อต้านประชาธิปไตย หรือช่วยควบคุมจำกัดเสรีภาพของอาจารย์และนักศึกษา จำกัดกิจกรรมทางการเมืองในประชาคมมหาวิทยาลัย ย่อมไม่สมควรได้อันดับสูง
มหาวิทยาลัยใดก็ตาม ถ้าหากทำการเซ็นเซอร์ความคิดและผลงานทางวิชาการ สมควรถูกประณามและลงโทษอย่างหนัก เพราะการกระทำเช่นนั้นเท่ากับมหาวิทยาลัยได้โยนทิ้งภารกิจพื้นฐานที่สุดของสถาบันทางวิชาการ นั่นคือการสร้างสรรค์วิทยาการเพื่อแสงสว่างทางปัญญาแก่สังคม การเซ็นเซอร์และปิดกั้นทางวิชาการถือเป็นการทำบาปขั้นมหันต์ (cardinal sin) สำหรับมหาวิทยาลัย ชุมชนวิชาการทั้งหมดไม่แต่เพียงในประเทศไทยแต่ทั้งโลกด้วย จักต้องไม่ยอมนิ่งเฉยกับการกระทำน่ารังเกียจดังกล่าว สมควรร่วมมือกันทำให้มหาวิทยาลัยที่กระทำดังกล่าวร่วงลงไปอยู่ในชั้นต่ำสุดของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก
หากยังต้องการอันดับที่สูงขึ้นดีขึ้น หรือแม้กระทั่งคงอันดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะต้องเลิกการเซ็นเซอร์ หาไม่แล้วพฤติกรรมน่ารังเกียจที่มหาวิทยาลัยไม่พึงกระทำจะต้องเป็นที่รู้กันไปทั่วโลกอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว
ธงชัย วินิจจะกูล
—
[1] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2535).
[2] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543).
[3] อรัญญ์ พรหมชมภู, ไทยกึ่งเมืองขึ้น (พระนคร : อุดมธรรม, 2493).
[4] ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 14 ตุลา คณะราษฎร์กับกบฏบวรเดช (กรุงเทพฯ : ชุมนุมวิชาการอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, 2517).
[5] สมชาย ปรีชาศิลปกุล, นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง : ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2550 (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2561).
[6] ต้นแบบในการอธิบายคืองานของทักษ์ เฉลิมเตียรณ จากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก Thak Chaloemtiarana, “The Sarit Regime, 1957-1963 : The Formative Years of Modern Thai” (Ph.D.thesis, Cornell University, 1974). ต่อมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ Thak Chaloemtiarana, Thailand : The Politics of Despotic Paternalism (Bangkok : Social Science Association of Thailand, 1979) และแปลเป็นภาษาไทย ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และ ม.ร.ว. ประกายทอง สิริสุข (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526).
[7] เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหว 24 มิถุนายน 2475,” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 11, ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2525) : 62-68.
[8] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2475 การปฏิวัติของสยาม (กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น, 2535).
[9] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ.
[10] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. งานของนครินทร์เป็นผลต่อเนื่องจากวิทยานิพนธ์ของเขา “ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของการเปลี่ยนระบอบการปกครองสยาม ระหว่าง พ.ศ. 2470-2480” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2528.
[11] มรกต เจวจินดา, ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2526 (กรุงเทพฯ : โครงการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของไทยที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2543).
[12] ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 14 ตุลา คณะราษฎร์กับกบฏบวรเดช.
[13] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ “1 เมษายน 2476 : รัฐประหารครั้งแรกของไทย” การสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ภาษากับประวัติศาสตร์ไทยและความเคลื่อนไหวในวิชาประวัติศาสตร์ไทย” จัดโดยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ร่วมกับสมาคมประวัติศาสตร์ ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า นครนายก วันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ 2533
[14] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และประจักษ์ ก้องกีรติ, “พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ร.7 : ชีวประวัติของเอกสารฉบับหนึ่ง,” ใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก, 2544), 20-30.
[15] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย (กรุงเทพฯ : สมาพันธ์, 2534).
[16] ชาตรี ประกิตนนทการ, “คณะราษฎรกับรัฐประหาร 19 กันยายน” ใน สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 (กรุงเทพฯ : อ่าน, 2558) ; ธนาพล อิ๋วสกุล, “การเกิดครั้งที่ 3 ของคณะราษฎร ?,” the101.world, 4 กรกฎาคม 2560, https://www.the101.world/the-rebirth-of-2475-spirit.
[17] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง.
[18] สมชาย ปรีชาศิลปกุล, นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง.
[19] ณัฐพล ใจจริง, ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2556).
[20] Paul M. Handley, The King Never Smiles : A Biography of Thailand’s Bhumibol Adulyadej (New Haven: Yale University Press, 2006).
[21] Craig J. Reynolds, Thai Radical Discourse : The Real Face of Thai Feudalism Today (Ithaca, NY : Southeast Asia Program, Cornell University Southeast Asia Program Publications, Cornell University, 1987) หรือในภาษาไทย เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ส, ความคิดแหวกแนวของไทย : จิตร ภูมิศักดิ์ และโฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน, แปล อัญชลี สุสายัณห์ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2534)
[22] บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน วารสารนิติศาสตร์ ฉบับรับศตวรรษใหม่ 2500 แล้วหายไปหลังรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2501 แต่หลัง 14 ตุลา มีการตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเล่ม จิตร ภูมิศักดิ์, โฉมหน้าศักดินาไทย (ชมรมหนังสือแสงตะวัน, 2517).
[23] คึกฤทธิ์ ปราโมช, ฝรั่งศักดินา (พระนคร : ก้าวหน้า, 2511).
[24] ณัฐพล ใจจริง, “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552).
การเมืองไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองหรือในยุคสงครามเย็นตอนต้นเปรียบเสมือนยุคสมัยแห่งความคลุมเครือในประวัติศาสตร์การเมือง แม้จะมีหนังสือที่ศึกษาช่วงเวลาดังกล่าวอยู่บ้าง แต่มีจำนวนน้อยชิ้นและปราศจากการศึกษาอย่างเฉพาะเจาะจง ทั้งๆ ที่ช่วงสมัยดังกล่าวถือเป็นรอยต่อระหว่างยุครุ่งเรืองของคณะราษฎร (2475-2490) กับยุคการเถลิงอำนาจของกองทัพสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2500) ผู้เป็นทหารกลุ่มใหม่ที่ตัดขาดจากความเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ 2475 และผู้นำจากคณะราษฎร สำหรับผู้เขียนแล้วการเมืองไทยในช่วงเวลาดังกล่าวน่าพิสมัยเป็นอย่างยิ่ง
สาเหตุที่ช่วงสมัยดังกล่าวมีการศึกษาน้อยอาจเป็นผลมาจากการถูกประเมินว่าเป็นเพียงยุคเผด็จการทหารสมัยหนึ่ง ที่เป็นเพียงรอยต่อมาสู่ระบอบเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์เท่านั้น ประการที่สอง อาจเกิดจากความยากลำบากในการหาหลักฐาน กล่าวคือ ในไทยมีเอกสารชั้นต้นในช่วงเวลาดังกล่าวน้อย อีกทั้งเรื่องราวสำคัญๆ บางอย่างที่จะเป็นกุญแจไขความเข้าใจปรากฏการณ์ช่วงนั้นกลับกลายเป็นความลับที่รู้กันในแวดวงแคบๆ และไม่มีการบันทึกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในเอกสารราชการไทย เป็นต้น หรือแม้กระทั่งเรื่องราวข่าวสารทั่วไปที่เกิดขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ควรจะพบในหนังสือพิมพ์แต่ไม่สามารถเป็นไปได้ เนื่องจากคุณภาพของกระดาษหนังสือพิมพ์ขณะนั้นเกือบทั้งหมดมีคุณภาพต่ำ ทำให้หนังสือพิมพ์สมัยนั้นจำนวนมากไม่สามารถรักษารูปทรงเอกสารไว้ได้ และมักย่อยสลายลงเป็นเยื่อกระดาษอย่างง่ายดายทันทีที่นักวิจัยหยิบจับขึ้นอ่าน หรือไม่ก็อาจป่นเป็นผงอยู่ในกล่องเอกสารนั่นเอง คงเหลือแต่เพียงข่าวตัดจำนวนหนึ่งที่เป็นการสรุปข่าวตามความสนใจของกระทรวงทบวงกรมเท่านั้น ส่งผลให้ขาดข้อมูลในการค้นคว้าในระดับกว้างไปอย่างน่าเสียดาย อันถือเป็นความยากลำบากในการศึกษาการเมืองไทยในห้วงเวลานั้นเป็นอย่างยิ่ง
ไม่แต่เพียงอุปสรรคจากข้อจำกัดของเอกสารไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้อจำกัดของกรอบการวิเคราะห์ของทฤษฎีความรู้ทางรัฐศาสตร์แบบสหรัฐฯ ในยุคสงครามเย็น อันมีเพดานในการวิเคราะห์ที่ทำให้การศึกษาต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมามองข้ามตัวแสดงทางการเมืองบางตัวไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น หนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี เล่มนี้หาใช่เป็นการศึกษาการเมืองไทยโดดๆ แต่เป็นความพยายามในการจัดวางการเมืองไทยลงในบริบทหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือห้วงแห่งสงครามเย็น (Cold War) อันมีสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจสำคัญของโลก เพื่อเข้าใจความสลับซับซ้อนของบทบาทมหาอำนาจที่มีต่อการดำรงอยู่ของระบอบการเมืองหนึ่งๆ รวมทั้งความรุ่งเรืองและร่วงโรยของกลุ่มการเมืองต่างๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ แหล่งข้อมูลที่ผู้เขียนใช้ศึกษาค้นคว้านั้นมาจากเอกสารหลายแหล่ง ทั้งเอกสารฝ่ายไทย เอกสารจดหมายเหตุในหอจดหมายเหตุแห่งชาติไทยที่ท่าวาสุกรี กองบรรณสาร กระทรวงการต่างประเทศ บันทึกความทรงจำในหนังสืองานศพบุคคลสำคัญ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น นอกเหนือจากเอกสารฝ่ายไทยแล้ว ผู้เขียนยังใช้ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุในต่างประเทศเพื่อปะติดปะต่อภาพให้คมชัดยิ่งขึ้น เช่น เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ มลรัฐแมริแลนด์ (NARA : National Archives and Record Administration) หอจดหมายเหตุประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ (The Dwight D. Eisenhower Presidential Library, Museum and Boyhood Home) มลรัฐแคนซัส หอสมุดแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ (Library of Congress) วอชิงตัน ดี. ซี. และหอจดหมายเหตุแห่งสหราชอาณาจักร (PRO : Public Records Office) ลอนดอน หรือปัจจุบันเรียก TNA : The National Archives ทั้งนี้ เอกสารจดหมายเหตุจากต่างประเทศเป็นกลุ่มเอกสารที่มีความสำคัญยิ่งในการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากเอกสารฝ่ายไทย โดยเฉพาะที่เอกสารฝ่ายไทยไม่สามารถบันทึกได้ หรือไม่รับทราบข้อมูลดังกล่าวนั้น เอกสารในหอจดหมายเหตุต่างประเทศเหล่านี้เป็นรายงานของหน่วยงานราชการ ทั้งเอกสารระดับสูงในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ เช่น เอกสารการจัดทำนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ บันทึกการสนทนาของประธานาธิบดี รัฐมนตรีต่างประเทศ นักการเมืองระดับสูงกับบุคคลต่างๆ ข้อเสนอแนะจากฝ่ายการเมืองของประธานาธิบดี รวมทั้งบันทึกการสนทนา รายงานทางการทูต บันทึกการสนทนากับแหล่งข่าวของสถานทูต รายงานของหน่วยสืบราชการลับ รายงานทางการทหาร ข่าวตัด ข่าวแปล เอกสารสำคัญที่เจ้าหน้าที่สถานทูตจัดเก็บจากประเทศที่มีถิ่นพำนัก เป็นต้น เอกสารจากหอจดหมายเหตุในต่างประเทศนั้น บางส่วนผู้เขียนเดินทางไปเก็บรวบรวมข้อมูลเอง บางส่วนได้รับการอนุเคราะห์เพิ่มเติมจากนักศึกษาไทยและคณาจารย์ชาวไทยชาวต่างประเทศอีกหลายท่านที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทย
หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนเขียนและเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยอิงกับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” ของผู้เขียนที่นำเสนอต่อคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2552 ผู้เขียนได้ปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ให้มีความถูกต้องตามข้อท้วงติงของหลายท่าน
อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มดังกล่าวจะไม่สามารถสำเร็จลงได้ หากปราศจากคณาจารย์ที่ให้ความรู้และให้ความเมตตาแนะนำผู้เขียนมาอย่างยาวนาน ได้แก่ รศ. ดร. กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ศ. ดร. ลิขิต ธีรเวคิน รศ. ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ศ. ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ศ. ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู ศ. ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ศ. ดร. อนุสรณ์ ลิ่มมณี รศ. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ผศ. สุวิมล รุ่งเจริญ ศ. ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ศ. ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศ. ดร. เกษียร เตชะพีระ ศ. ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ศ. ดร. นิติและ รศ. ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ รศ. ดร. วีระ สมบูรณ์ รศ. ดร. อรทัย ก๊กผล คุณเสถียร จันทิมาธร คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว คุณจุฬาลักษณ์ ภู่เกิด Yoshifumi Tamada SØren Ivarsson Eiji Murashima Kevin Hewison Tyrell Haberkorn รศ. ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผ.ศ. วันวิชิต บุญโปร่ง ผศ. ร.ท. เทอดสกุล ยุญชานนท์ ผศ. ดร. เกษม เพ็ญภินันท์ รศ. เวียงรัฐ เนติโพธิ์ รศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร ผศ. ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์จีรพล เกตุจุมพล รศ. วีณา เอี่ยมประไพ อาจารย์ศิวพล ละอองสกุล ดร. ธนาพล ลิ่มอภิชาต ผศ. วันวิชิต บุญโปร่ง คุณกษิดิศ อนันทนาธร อาจารย์สุระ พัฒนะปราชญ์ รศ. ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์วารุณี โอสถารมย์ ผศ. ดร. ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล รศ. ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล ผศ. ดร. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ผศ. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล อาจารย์มารดารัตน์ สุขสง่า อาจารย์ ดร. ตฤณ ไอยะรา คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ คุณกมลทิพย์ จ่างกมล คุณธนาพล อิ๋วสกุล คุณเด่นดวง วัดละเอียด พี่จิ๋ม หลา David Dettmann และคุณลี ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เขียนในด้านต่างๆ มานานหลายปี ขอบคุณคุณปรัชญากรณ์ ลครพล ที่อนุเคราะห์รูปสวยๆ ให้ ขอบพระคุณครอบครัวพิบูลสงคราม ที่ให้การต้อนรับผู้เขียนด้วยความเมตตาอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ขอบคุณอย่างมากสำหรับ อัญชลี มณีโรจน์ สังคม จิรชูสกุล และนฤมล กระจ่างดารารัตน์ ทีมกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ทุ่มเทในการทำงานจัดทำต้นฉบับที่ยุ่งเหยิงให้อย่างประณีตด้วยความเหน็ดเหนื่อยที่สุด รวมทั้งความช่วยเหลือจากบุคคลจำนวนมากที่ผู้เขียนมิอาจเอ่ยนามทุกคนได้ครบ ด้วยความขอบคุณอย่างสุดซึ้ง
สุดท้ายที่จะลืมมิได้คือ เอ๋—ผู้เป็นกำลังใจและได้แบ่งเบาภาระงานบ้านในหลายปีที่ผ่านมา เพลิน—ผู้เติมรอยยิ้มให้ยามอ่อนล้า และคุณค่าจากงานหนังสือเล่มนี้ขอยกให้กับพ่อและแม่ ผู้เป็นครูคนแรกของผู้เขียน