สารบัญ
บทบรรณาธิการ
ถือเจ้ามากกว่าราษฎร
ทัศนะวิพากษ์
ตุลาการผู้ “ถือนายมากกว่าเจ้า” : คดีพญาระกาและเรื่องเล่านอกขนบประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ความกำกวมและกํ้ากึ่งของระบอบและรูปแบบรัฐไทย
รอมฎอน ปันจอร์
ทฤษฎีเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย : อนาคตของการไล่กวด
อะกิระ ซุเอะฮิโระ เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ)
เพอร์รี่ แอนเดอร์สัน ว่าด้วยปัญหารัสเซียกับยูเครน
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
บทความปริทัศน์
การก่อเกิดและคลี่คลายขยาย(สลาย)ตัวของเครือข่ายกษัตริย์
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
บทบรรณาธิการ
ถือเจ้ามากกว่าราษฎร
ผู้พิพากษา/ตุลาการที่เป็น “ตัวแทน” ของความเที่ยงธรรม เป็นผู้อำนวยความยุติธรรมให้กับราษฎรนั้น เป็นสิ่งที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนหน้านั้นแม้ว่าสยามจะมีกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายตราสามดวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้ชำระจากกฎหมายเก่าที่มีมาแต่ครั้งโบราณ ทว่าวิธีการไต่สวนจำเลยตามระบบจารีตนครบาลก็มิได้มีความ “ศิวิไลซ์” แต่อย่างใด ยังมีการลงโทษด้วยการทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งระบบศาลก็แยกย่อยไปอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ มีผู้นับประเภทได้ถึง 14 ศาลด้วยกัน มิพักต้องกล่าวถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ที่เป้าหมายในการทำงานหาใช่เพื่อผดุงความยุติธรรมไม่ ดังที่บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ ประมุขมิสซังสยามตะวันออก (2384-2405) ได้บันทึกไว้ว่า “ทางที่ดีที่สุดที่จะชนะคดีก็คือสัญญาว่าจะให้เงินก้อนใหญ่แก่ข้าราชการผู้มีอิทธิพล ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีของท่าน” ด้วยระบบการพิจารณาคดีแบบบ้านป่าเมืองเถื่อนเยี่ยงนี้ การยื่นเงื่อนไขเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาติมหาอำนาจซึ่งสอดแทรกเข้ามาในการทำสนธิสัญญาการค้ากับสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมิใช่เรื่องที่ควรต้องแปลกใจแต่อย่างใด
แม้จะกล่าวได้ว่า “นิติศาสตร์สมัยใหม่” ของไทยเป็นผลของการปฏิรูปกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็ไม่ได้ทำให้กระบวนการยุติธรรมของสยามในเวลานั้นหรือไทยในเวลานี้ “ศิวิไลซ์” ขึ้นจริงๆ สักเท่าไร
นิติศาสตร์สมัยใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นในบริบทสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างความอลหม่านให้กับองค์อธิปัตย์ของรัฐกึ่งเก่ากึ่งใหม่อยู่ไม่น้อย ดังที่บทความ “ตุลาการผู้ ‘ถือนายมากกว่าเจ้า’ : คดีพญาระกาและเรื่องเล่านอกขนบประวัติศาสตร์กฎหมายไทย” ของสมชาย ปรีชาศิลปกุล เผยให้เห็นการงัดข้อกันระหว่าง “กระฎุมพีตุลาการ” กับ “กษัตริย์” รัชกาลที่ 5 ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งฝ่ายแรกถึงขั้นชักชวนกันตบเท้าลาออกเพื่อแสดงการประท้วงเมื่อเห็นว่า “นาย” ของตนคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) ไม่ได้รับความเป็นธรรมในคดีพญาระกา ซึ่งทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงกริ้วสุดขีดถึงขั้นลั่นวาจาว่า “เปนอย่างอัปรีย์ที่สุดแล้ว…ถือนายมากกว่าเจ้า”
สมชายชี้ให้เห็นว่ากรณีดังกล่าวสะท้อนความตึงเครียดที่เกิดขึ้นภายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กล่าวคือ ระบบการศึกษาและระบบราชการสมัยใหม่ที่รัชกาลที่ 5 ใช้เป็นเครื่องมือในการรวมศูนย์อำนาจ ท้ายที่สุดกลับสร้าง “กระฎุมพีข้าราชการ/ตุลาการ” ผู้ยึดโยงผลประโยชน์และค่านิยมของตนเข้ากับ “นาย” ในระบบราชการสมัยใหม่ มากกว่าที่จะยึดโยงกับพระมหากษัตริย์แบบขุนนางเก่า สิ่งที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างขึ้น จึงย้อนกลับมาสั่นคลอนตัวระบอบเสียเอง พูดง่ายๆ ก็คือ ตุลาการเหล่านี้สับสนว้าวุ่นใจว่าตนควรภักดีกับใคร ระหว่าง “นาย” ผู้ที่สามารถกำหนดความก้าวหน้าในอาชีพของตน กับ “เจ้า” ผู้มีอำนาจสูงสุดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บทตอนนี้จบลงตรงที่รัชกาลที่ 5 ให้บทเรียนสั่งสอนกระฎุมพีตุลาการเหล่านี้ว่า “อย่าหือกับพระเจ้าแผ่นดิน”
กระนั้นก็ตาม หากมองอีกมุมหนึ่งและมองไปข้างหน้านับจากบทตอนนี้อีกราวสองทศวรรษ เหตุการณ์กรณีคดีพญาระกาเป็นเสมือนสัญญาณเตือนล่วงหน้าของการปฏิวัติ 2475 ที่ก่อการโดย “กระฎุมพีราชการ” ในนามคณะราษฎร ซึ่งปิดม่านอวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงและสถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คราวนี้ฝ่ายเจ้าถูกบอกว่า “อย่าหือกับราษฎร”
อย่างไรก็ดี ระบอบที่คณะราษฎรพยายามก่อร่างสร้างขึ้นเป็นเพียงหน่ออ่อนที่ดำรงอยู่ได้ไม่นานนัก แล้วถูกโต้กลับจากสถาบันกษัตริย์และฝ่ายนิยมเจ้า “รัฐเร้นลึก” ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ถือกำเนิดขึ้น โดยมีเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งคือฝ่ายตุลาการ ซึ่งสมชายชี้ว่ากลายเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ซึ่งเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดหลังทศวรรษ 2500 และทำให้คดีพญาระกาต้องกลายเป็นประวัติศาสตร์นอกขนบเพราะเข้ากันไม่ได้กับประวัติศาสตร์กฎหมายไทยกระแสหลัก ที่สถานะของผู้พิพากษาในการทำหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์จะขัดแย้งแตกต่างจากกษัตริย์ผู้เป็นเจ้าของอำนาจแท้จริงไม่ได้
ถึงจุดนี้ คงเดาได้ไม่ยากว่านิติศาสตร์สมัยใหม่ในรัฐเร้นลึกคงไม่ได้ “ศิวิไลซ์” ขึ้นสักเท่าไร เห็นได้จากปรากฏการณ์ที่บรรดาผู้พิพากษาตัดสินไปในทางลิดรอนสิทธิการประกันตัวของเยาวชนและประชาชนที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จนตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 แม้คดียังไม่ถูกตัดสินก็ตาม
กระนั้นพึงตั้งข้อสังเกตว่า ตุลาการ “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” นั้นจะตั้งมั่นอยู่ได้ก็ด้วยการค้ำยันของแนวคิด “ราชนิติธรรม” ซึ่งธงชัย วินิจจะกูล เสนอว่า “ได้รับการส่งเสริมขนานใหญ่ในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาท่ามกลางการเมืองแบบกษัตริย์นิยมและวัฒนธรรมหลงใหลคลั่งไคล้เจ้า ค้ำจุนด้วยประวัติศาสตร์แบบราชานิตินิยมและความคิดว่าด้วยธรรมราชา” ทว่าบรรยากาศที่เจ้าองค์ปัจจุบันเสื่อมความนิยมและมนต์ขลังลงไปมาก ความชอบธรรมของตุลาการ “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” โดยเฉพาะในการตัดสินที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเจ้าอย่างคดี 112 ย่อมถูกสั่นคลอนตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทั่งมีคำกล่าวที่แสดงให้เห็นอาการอันวิปริตผิดเพี้ยนของสภาวการณ์ในปัจจุบัน นั่นคือ“เราต้องเรียกร้องให้ศาลปฏิบัติตามกฎหมาย”
อาจกล่าวได้ว่า ความตึงเครียดในระบอบที่กำลังยื้อยุดกันระหว่าง “สาธารณรัฐจำแลง” กับ “เสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในห้วงเวลานี้ ไม่น่าจะน้อยกว่ากรณี “ถือนายมากกว่าเจ้า” ในคดีพญาระกา หากต่างกันตรงที่ว่า กระฎุมพีตุลาการในยุคนี้ดูเหมือนจะ “ถือเจ้ามากกว่าราษฎร” จึงไม่เคารพรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การไม่ให้ประกันเป็นเสมือนการกำราบด้วยวิธีบอกกลายๆ ว่า “อย่าหือกับเจ้า” ท้ายที่สุดแล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าของอะไรหรือไม่ คงต้องรอให้อนาคตเป็นผู้ย้อนกลับมามอง