สารบัญ
บทบรรณาธิการ
ห้าม (รอ) เวลา
หาเรื่องมาเล่า
หลายชีวิต ซุนยัตเซ็น
สรณ ขจรเดชกุล
Marxism vs. Subaltern Studies :วิวาทะระหว่าง VivekChibberกับ Partha Chatterjee
ภาคิน นิมานนรวงศ์
The May 2014 Coup: The Ninth Month in the Ninth Reign
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
ปฏิกิริยา
การเมือง ศีลธรรม และความปรารถนา ปัญหา และข้อคิดเห็นบางประการต่อบทความเรื่อง “คำสัญญาของความปรารถนา” ของทวีศักดิ์ เผือกสม
อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง
หมู่บ้านโลก
กับดักรายได้ปานกลางกับอนาคตของชนบทไทย
เนตรดาว เถาถวิล
ทุนนิยาม
นัยของการเป็นดีทรอยต์แห่งตะวันออก
เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
บทความปริทัศน์
ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย บทสนทนาว่าด้วยชนชั้นกลางและการเปลี่ยนผ่านใน “ชนบท”
ตฤณ ไอระยา
ทัศนะวิพากษ์
อะไรเปลี่ยน อะไรไม่เปลี่ยนในพลวัตของรัฐไทย
ไชยันต์ รัชชกูล
“ระบอบทักษิณ” ในฐานะผู้ปลดปล่อยความปรารถนาของคนในสังคมไทย
ธนศักดิ์ สายจำปา
วุฒิสภา : ป้อมปราการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ธนาพล อิ๋วสกุล
รายงานพิเศษ
จากวิวาทะการเปลี่ยนผ่านจาก “ศักดินา” สู่ “ทุนนิยม” สู่บททดลองเสนอว่าด้วย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในฐานะรูปแบบรัฐกระฏุมพีของไทย
ชัยธวัช ตุลาธน
หน้าซ้ายในประวัติศาสตร์
กำเนิดและจุดจบของสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.)
สรณ ขจรเดชกุล
คำแถลงไขการปิด สปท.
คำชี้แจงเนื่องจากการยุติออกอากาศ สปท.
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอในการปิดการกระจายเสียง
บทบรรณาธิการ
ห้าม (รอ) เวลา
ปรากฏการณ์จากวิกฤตการเมืองปี 2556 -> รัฐประหารพฤษภาคม 2557-> ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2559 ตามโรดแมปของคณะรัฐประหาร อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นอีกวงรอบหนึ่งของ “วงจรอุบาทว์” ของการเมืองไทย ซึ่งมักเริ่มต้นจากการเกิดวิกฤตการเมือง นำไปสู่การรัฐประหาร แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จัดการเลือกตั้ง ก่อนจะเกิดวิกฤตการเมืองอีก แล้วจบลงด้วยการก่อรัฐประหารใหม่และฉีกรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นความเคยชินของชนชั้นนำไทยในการใช้รัฐประหารเป็นเครื่องมือในการ “ห้ามเวลา” หรือหยุดความเปลี่ยนแปลงให้เป็นคุณแก่ตัวเอง
การใช้อำนาจที่ติดอาวุธโดยกองทัพ ซึ่งไชยันต์ รัชชกูลบอกเราว่าคงเป็น “อำนาจชี้ขาด” ของการเมืองไทยอยู่ในปัจจุบันนั้น ยังดำเนินไปควบคู่กับกระบวนการอื่น ทั้งที่นุ่มนวลแนบเนียน ทั้งที่กระด้างโจ่งแจ้ง ดังที่ธนศักดิ์ สายจำปา ในบทความ “ระบอบทักษิณ” ในฐานะผู้ปลดปล่อยความปรารถนาของคนในสังคมไทย” ชี้ให้เราเห็นถึงการควบคุมทางสังคมผ่านการผลิตและเก็บกดปิดกั้น “ความปรารถนา” ของผู้คน เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นปกครองและรัฐไทย หรือดังที่ธนาพล อิ๋วสกุล ในบทความ “วุฒิสภา : ป้อมปราการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ชี้ให้เราเห็นถึงที่มาและความพยายามในการสร้างวุฒิสภาให้เป็นสถาบันการเมืองอัน “เป็นกลาง” และปลอด “การเมือง” เพื่อเป็นฐานที่มั่นในการต้านทานนักการเมืองจากการเลือกตั้ง
ทว่าในโลกความเป็นจริง แม้แต่ในวงจรอุบาทว์ซ้ำซากเอง แต่ละวงรอบก็หาได้เหมือนเดิมไม่ การรัฐประหารแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนเดิม ผลลัพธ์และผลพวงของรัฐประหาร รวมถึงการต่อต้านรัฐประหารแต่ละครั้งก็ต่างกันออกไป เช่นเดียวกับการเมืองของ “ความปรารถนาแบบเก่า” ที่สุดท้ายย่อมต้องถูกท้าทายจากความปรารถนาใหม่ เช่นเดียวกับฐานที่มั่นของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่สุดท้ายย่อมต้องเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเลี่ยงไม่ได้จากความเปลี่ยนแปลงของสังคม
อย่างไรก็ดี ภายใต้ ความเปลี่ยนแปลง ในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่แน่นอนหนึ่งก็มี ความไม่เปลี่ยนแปลง ในประวัติศาสตร์ช่วงยาวดำรงอยู่
สิ่งที่ไชยันต์ รัชชกูล ได้เตือนให้เห็นในบทสัมภาษณ์ “อะไรเปลี่ยน อะไรไม่เปลี่ยนในพลวัตของรัฐไทย” ก็คือ แม้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่เราต้องตระหนักว่านั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับไหนและอย่างไร เพราะหากพิจารณาพลวัตทางประวัติศาสตร์ของรัฐจากประวัติศาสตร์ช่วงยาว เขาเห็นว่าชนชั้นปกครอง (ruling class) ของไทย ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ กลับยังเป็นคนกลุ่มเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าลักษณะของรัฐจะเปลี่ยนไปอย่างไร
ส่วนบททดลองนำเสนอของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ว่าด้วยเรื่อง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในฐานะที่เป็นรูปแบบกระฎุมพีของไทย (ดูรายงานของ ชัยธวัช ตุลาธน “จากวิวาทะการเปลี่ยนผ่านจาก “ศักดินา” สู่ “ทุนนิยม” สู่บททดลองเสนอ ว่าด้วย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในฐานะรูปแบบรัฐกระฎุมพีของไทย”) ก็พยายามชี้ให้เห็นรูปแบบสังคมของเราที่มีรากฐานย้อนไปในยุคก่อนทุนนิยมอันแตกต่างไปจากแบบแผนของฟิวดัลยุโรป ซึ่งเป็นบริบทใหญ่ของความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และทางการเมืองในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เข้าใจระบอบการเมืองที่เป็นจริงของไทย ฐานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์แบบใหม่ รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
กระนั้นก็ตาม โลกวันนี้ย่อมไม่เหมือนกับโลกเมื่อวาน และชีวิตของมนุษย์สำคัญอยู่ที่การปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและโลกภายนอก
ดังนั้น ด้านหนึ่ง การ “ห้ามเวลา” เพื่อหยุดความเปลี่ยนแปลง จึงย่อมฝืนกับความเป็นจริงของสังคมและธรรมชาติของมนุษย์
แต่อีกด้านหนึ่ง สังคมก็ย่อมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นไปเองตามกาลเวลา หากแต่เป็นตัวมนุษย์ที่ชี้ขาดความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย ฉะนั้น การหยุดนิ่ง เพื่อ “รอ” ให้ “เวลา” มาเปลี่ยนแปลงโลกเอง จึงเป็นโลกทัศน์ที่น่ากังขาไม่ต่างจากการห้ามเวลาเพื่อหยุดความเปลี่ยนแปลง
กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ไม่เคยมีเผด็จการที่ไหนล้มลงไปเอง และไม่มีสังคมใหม่ที่จะดีได้ด้วยการนั่งรอให้เผด็จการล้มลงไปเองแล้วไปลงสนามเลือกตั้งอีกครั้ง มีแต่การต่อสู้ ต่อรอง เรียนรู้ และเข้าไปช่วงชิงปฏิสังสรรค์กับการเมืองที่เป็นจริงอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ระบอบการเมืองที่เปิดโอกาสให้ทุกพลังทางสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างเสรี จึงจะปรากฏเป็นจริง